การเกณฑ์ทหารในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

ชายไทยเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด หรือสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด หรือมีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อเวลาผ่านไปหรืออายุครบตามที่กำหนดทหารกองหนุนก็จะถูกปลดพ้นราชการทหาร ในระหว่างที่เป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนนั้น อาจถูกเรียกพลได้ตามที่กระทรวงกลาโหมเห็นสมควร และอาจถูกระดมพลได้หากมีพระราชกฤษฎีกา

ชายไทยจำนวนมากไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการเพราะผ่านการเรียนรักษาดินแดนครบสามปี หรืออาจมีเหตุได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันได้ตามที่กฎหมายกำหนดทำให้ไม่ต้องไปรับการตรวจเลือกหรือไปในวันตรวจเลือก แต่ถูกคัดออกเสียก่อน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนรักษาดินแดน หรือ เรียนไม่ครบหลักสูตรตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ไม่จบชั้นปีที่ 3) หรือ ผ่อนผันครบกำหนดแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกเข้ากองประจำการเต็มขั้น โดยถูกจำแนกออกเป็นสี่จำพวกตามความสมบูรณ์ของร่างกาย หากมีผู้ประสงค์สมัครใจเข้ากองประจำการเต็มจำนวนที่รับแล้ว ก็จะไม่มีการจับสลาก ส่วนในกรณีที่มีผู้สมัครไม่พอและมีคนให้เลือกมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็จะใช้วิธีจับสลากใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

แม้จะมีบทลงโทษที่ร้ายแรง ก็มีรายงานการช่วยให้พ้นจากการรับราชการทหารกองประจำการด้วยวิธีนานาประการอยู่เนือง ๆ ซึ่งหลายครั้งก็เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม ในช่วงปีหลังมีความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส กล่าวว่า หากตนได้รับเลือกตั้งจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร[1]

การนับอายุ[แก้]

ในเรื่องการรับราชการทหารมีวิธีนับอายุต่างออกไปจากวิธีการนับอายุตามกฎหมายอื่น โดยกำหนดให้ถ้าเกิดในพุทธศักราชใดให้ถือว่ามีอายุครบหนึ่งปีบริบูรณ์เมื่อสิ้นพุทธศักราชที่เกิดนั้น ส่วนการนับอายุต่อไปให้นับเฉพาะปีที่สิ้นพุทธศักราชแล้ว

การลงบัญชีทหารกองเกินและการรับหมายเรียกครั้งแรก[แก้]

ใบสำคัญ สด. ๙ แสดงการขึ้นทะเบียนเป็นทหาร

ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี บริบูรณ์ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น [2] ที่อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่โดยจะได้รับใบสำคัญ สด. ๙ เมื่อลงบัญชี ณ อำเภอใดแล้ว อำเภอนั้นจะเป็นภูมิลำเนาทหารของทหารกองเกินผู้นั้น ภูมิลำเนาทหารเป็นภูมิลำเนาเฉพาะไม่เกี่ยวข้องกับทะเบียนบ้านหรือสำมะโนครัว การจะย้ายภูมิลำเนาทหารต้องกระทำที่อำเภอแยกต่างหากจากการย้ายภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร ทหารกองเกินที่ย้ายทะเบียนราษฎร์จะย้ายภูมิลำเนาทหารด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่มีหน้าที่แจ้งต่อนายอำเภอทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน[3] หากไม่แจ้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภูมิลำเนาทหารมีความสำคัญต่อทหารกองเกินอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ที่ทหารกองเกินต้องไปรับการตรวจเลือก ในแต่ละท้องที่ก็มีจำนวนทหารกองเกินและความต้องการของฝ่ายทหารที่กำหนดมาต่างกัน การอยู่ในภูมิลำเนาทหารที่ต่างกันจึงมีผลต่อการตรวจเลือกเข้ารับกองประจำการ และเป็นช่องทางให้มีผู้หลีกเลี่ยงการเป็นทหารใช้หลบเลี่ยงไปได้

ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น [4] โดยจะได้รับหมายเรียก สด. ๓๕ เพื่อให้มารับการตรวจเลือกในปีถัดไป

ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ขึ้นบัญชีทหารกองเกินหรือไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ผู้นั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกิน หรือ มารับหมายเรียกแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [5]

การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ[แก้]

ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น ในวันตรวจเลือกนั้นนอกจากหลักฐานทางทหารและบัตรประจำตัวประชาชนแล้วให้นำหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย [6]

ผู้ใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกหรือมาแต่ไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จเพื่อรับหลักฐานใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด. ๔๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี [7] ผู้กระทำความผิดตามข้อนี้นี่เองที่มักเรียกกันว่า หนีทหาร

ผู้มาเข้ารับการตรวจเลือก หากไม่สามารถใช้สิทธิ์ผ่อนผัน จะถูกกรรมการตรวจเลือกแบ่งออกเป็น 4 จำพวก ได้แก่ [8]

  1. คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี
  2. ไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ
  3. คนที่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ใน 30 วัน
  4. พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้

ตามกฎกระทรวงดังกล่าวบุคคลที่จะรับราชการทหารได้ต้องมีขนาดรอบตัว 76 เซนติเมตรขึ้นไปเวลาหายใจออก และสูงตั้งแต่ 146 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ทางทหารจะได้ประกาศอีกครั้งในแต่ละปี ว่าจะคัดบุคคลที่มีขนาดใดขึ้นไป ซึ่งมักจะสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ในช่วงระยะเวลานั้นชายไทยที่อยู่ในอายุเกณฑ์ทหารอาจยังมิได้มีขนาดร่างกายเช่นในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]

วิธีการคัดเลือกจะเลือกจากคนจำพวกที่ 1 ก่อน หากคนจำพวกที่ 1 ไม่พอให้เลือกจากคนจำพวกที่ 2 ด้วย หากคนจำพวกที่ 2 ไม่พอให้นำคนที่ผ่อนผันอยู่มาคัดเลือกด้วยตามขั้นตอนข้างต้น (แบ่งเป็น 4) จำพวก หากมีคนเกินกว่าจำนวนที่ทางทหารต้องการให้จับสลาก โดยแบ่งออกเป็นใบดำและใบแดงซึ่งเขียนแผนกของกองประจำการไว้ เป็นที่มาของการจับใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงต้องเข้ารับราชการทหารในกองประจำการ โดยจะได้หมายนัดเข้ารับราชการทหาร (สด. ๔๐)

คนจำพวกที่ 3 และ 4 ในการตรวจเลือกจะไม่ถูกส่งตัวเข้ากองประจำการ คนจำพวกที่ 3 ให้มาตรวจเลือกในคราวถัดไป เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกแล้วยังเป็นคนจำพวกที่ 3 อยู่ 3 ครั้งให้งดเรียก คนจำพวกที่ 3 เมื่อมาตรวจเลือกจะได้ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 3 (สด. ๔) ส่วนคนจำพวกที่ 4 ได้รับใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด. ๕)

ทุกคนต้องได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือก สด. ๔๓ ในวันตรวจเลือกจากกรรมการตรวจเลือกเท่านั้น หากได้รับในวันอื่นหรือจากบุคคลอื่นให้สันนิษฐานว่าเป็นของปลอม ผู้นำไปใช้มีความผิดตามกฎหมาย [9] และถือว่าผู้นั้นไม่ได้มาเข้ารับการตรวจเลือกอย่างถูกต้อง

ผู้มีสิทธิถูกเกณฑ์สามารถขออาสารับราชการ หรืออาจเลือกอยู่ในสลาก ผู้ที่อาสาจะผ่านการทดสอบทางกายและจิตใจ รวมทั้งการทดสอบปัสสาวะเพื่อหายาเสพติด ในปี 2561 ในจำนวนการตรวจ 182,910 คน พบ 12,209 คน (6.7%) ที่พบสารเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน ฝิ่น เป็นต้น ผู้ที่ตรวจพบสารเสพติดจะรับราชการในกองทัพที่ที่จะได้รับการบำบัดยาเสพติด ส่วนผู้ที่พบสารเสพติดแต่ไม่ถูกเกณฑ์ทหารจะเข้ารับการบำบัดในจังหวัดบ้านเกิด[10] ผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบทางกายและจิตใจจะถูกปล่อยตัวทันที

ในปี 2561 กองทัพไทยเปิดรับคัดเลือกกว่า 500,000 คน โดยโควตารวมมีประมาณ 104,000 คน เป็นกองทัพบก 80,000 คน กองทัพเรือ 16,000 คน และกองทัพอากาศ 8,700 คน ในวันคัดเลือก มีผู้อาสารับราชการ 44,800 คน ที่เหลืออีกประมาณ 60,000 ตำแหน่งจะให้ผู้ที่เหลือ 450,000 คนเข้าจับสลาก ทำให้ความน่าจะเป็นรวมของการจับได้ใบแดง (ถูกเกณฑ์) คิดเป็นประมาณ 13%[11]

การยกเว้นและการผ่อนผัน[แก้]

มีบุคคลบางจำพวกที่ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติสามประเภท ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น และบุคคลที่ไม่ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือก สองประเภทนี้ไม่ต้องไปรับการตรวจเลือกเลย ส่วนบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันต้องเข้ารับการตรวจเลือกทุกปี

ประเภท ได้แก่
บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ [12]

(1) พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายมหายานที่มีสมณศักดิ์

(2) คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้

บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ [13]

(1) พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายมหายาน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง

(2) นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

(3) บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร

(4) นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม

(5) ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

(6) นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

(7) นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม

บุคคลที่ไม่เข้ารับการตรวจเลือกก็ไม่ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงขัดขืนการตรวจเลือก [14]

(1) ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง

(2) นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(3) ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบหรือการสงคราม อันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม

(4) บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม

(5) เกิดเหตุสุดวิสัย

(6) ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น

(7) ป่วยไม่สามารถจะมาได้ โดยให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก

กรณีตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะคราวจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

บุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก ถ้ามีจำนวนทหารกองเกินที่จะรับราชการเป็นทหารกองประจำการได้มากกว่าจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันแก่บุคคลดังต่อไปนี้ [15]

(1) บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู แต่ถ้ามีบุตรหลายคนจะต้องเข้ากองประจำการพร้อมกัน คงผ่อนผันให้คนเดียวตามแต่บิดาหรือมารดาจะเลือก ถ้าบิดาหรือมารดาไม่สามารถจะเลือกได้ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณาผ่อนผันให้หนึ่งคน

(2) บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่หรือน้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู

(3) บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้อ้างสิทธิตาม (1) หรือ (2) แห่งมาตรานี้ ต้องร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอท้องที่ก่อนวันตรวจเลือกเข้ากองประจำการไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีพิเศษซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ร้องและผู้ร้องต้องร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกตามมาตรา 30 อีกครั้งหนึ่ง นายอำเภอต้องสอบสวนหลักฐานไว้เสียก่อนวันตรวจเลือก เพื่อคณะกรรมการตรวจเลือกจะได้ตัดสินได้ทันที การขอผ่อนผันตาม (3) ให้แจ้งผ่านทางสถานศึกษา

ถ้าไม่สามารถจะผ่อนผันพร้อมกันทั้งสามประเภทได้ เพราะจะทำให้คนไม่พอจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันคนประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 รวมกันก่อน ถ้าคนยังเหลือจึงผ่อนผันคนประเภทที่ 3 ถ้าจำนวนคนในประเภทใดจะผ่อนผันไม่ได้ทั้งหมดต้องให้คนประเภทนั้นจับสลาก

การรับหมายเรียกครั้งถัดไป[แก้]

หากทหารกองเกินซึ่งมีอายุยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ในปีที่จะเข้ากองประจำการไม่พอ ให้เรียกทหารกองเกินซึ่งมีอายุถัดจากอายุยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไปตามลำดับ โดยเรียกผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก ผู้หลีกเลี่ยงขัดขืน ผู้พ้นจากฐานะยกเว้นหรือผ่อนผัน ผู้ที่รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 หรือ ผู้ถูกจัดเข้าเป็นคนจำพวกที่ ๓ มาตรวจเลือกอีก[16]

ระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการ[แก้]

บุคคลที่ตรวจเลือกเข้ามาเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ โดยปกติมีระยะเวลาสองปี [17] แต่สำหรับผู้มีคุณวุฒิต่างๆ อาจมีระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการน้อยกว่าสองปีได้ [18][19]

ประเภท ร้องขอ (สมัคร) ไม่ร้องขอ (จับได้ใบแดง)
  • ข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร
  • ข้าราชการตุลาการ ดาโต๊ะยุติธรรม ข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นข้าราชการธุรการและรับเงินเดือนประจำตั้งแต่ชั้นตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
  • ข้าราชการอัยการ
  • ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับเงินเดือนประจำตั้งแต่ชั้นตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
  • พนักงานเทศบาลซึ่งรับเงินเดือนประจำตั้งแต่ชั้นตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
  • ผู้สำเร็จชั้นอุดมศึกษาหรือผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นอุดมศึกษา(ปวท.,ปวส.,อนุ ฯ , ฯลฯ)
  • ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 2
6 เดือน 1 ปี
ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 1 1 ปี 1 ปี 6 เดือน
ผู้สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 หรือผู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นที่กล่าวนั้น (ม.8, ม.ศ.5, ม.6, ปวช., ฯลฯ) 1 ปี 2 ปี

การเรียกพล การระดมพล[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 , ชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ นำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ และถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพแล้ว ทางราชการมีสิทธิ์เรียกพลเพื่อตรวจสอบสภาพ , ตรวจสอบบัญชีรายชื่อ หรือ เพื่อฝึกวิชาทหาร ได้ทุกเวลา ซึ่งถ้ามีการเรียกพล ทางอำเภอจะส่งหมายเรียกไปที่บ้านของผู้นั้น เพื่อนัดวัน เวลา และ สถานที่ ซึ่งผู้ถูกเรียกพล ต้องมารายงานตัวตาม วัน เวลา และ สถานที่ที่กำหนดไว้ โดยมีกำหนดการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร 10 ปี ตามเงื่อนไขของระบบการกำลังพลสำรอง ซึ่งการเรียกพลจะกระทำจนถึงอายุ 29 ปีบริบูรณ์ ถ้าหากทหารกองหนุนท่านใดหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษ ตาม พ.ร.บ. การรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

ทหารกองหนุนท่านใดที่กำลังเรียนรักษาดินแดนต่อในชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 สามารถขอผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารได้ โดยต้องนำ สด.8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) และ เอกสารขอผ่อนผันมายื่นที่อำเภอให้เรียบร้อยอย่างถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามวิธีการผ่อนผันที่ถูกต้อง จะถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้สำเร็จนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ไม่ได้ผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกพลเช่นกัน

การปลดเป็นทหารกองหนุนและพ้นราชการทหาร[แก้]

ทหารกองประจำการเมื่ออยู่ในกองประจำการจนครบกำหนดแล้วแล้วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1

ผู้ถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในสองกรณีข้างต้นจะได้รับหนังสือสำคัญ สด. 8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) โดยเป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 1 เจ็ดปี ทหารกองหนุนชั้นที่ 2 สิบปี ทหารกองหนุนชั้นที่ 3 หกปี ตามลำดับก่อนที่จะพ้นราชการทหารประเภทที่ 1

ทหารกองเกิน ที่ไม่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหาร หรือไม่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 แต่จับฉลากได้ใบดำ ก็ไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ หรือทหารกองประจำการที่กระทำความผิดจนกระทั่งมีโทษถึงติดคุก รอลงอาญา เมื่อมีอายุครบกำหนดปลดแล้ว ให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ตามลำดับ คือ อายุสามสิบปีบริบูรณ์เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 2 อายูสี่สิบปีบริบูรณ์เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 3 ตามลำดับ และเมื่ออายุสี่สิบหกปีบริบูรณ์ให้พ้นราชการทหารประเภทที่ 2

ทหารกองหนุนไม่ต้องรับหมายเรียกเพื่อตรวจเลือกเข้ากองประจำการ แต่อาจถูกเรียกพลหรือระดมพลได้

การแก้ไขระบบกำลังพลสำรอง[แก้]

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขระบบกำลังพลสำรอง โดยชายไทยเพศที่สามต้องเข้ามารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบยอด, ฝึกวิชาทหาร, ทดลองความพรั่งพร้อม หรือระดมพลในแต่ละกรณี และกำลังพลสำรองทั้งที่มาจากนายทหารประทวนกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3), นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5), ทหารกองประจำการ ที่รับราชการในกองประจำการครบกำหนด และปลดเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายแล้ว หรือทหารกองหนุนประเภทที่ 2 จะต้องถูกสุ่มเพื่อเข้ารับการเรียกพลในแต่ละปี โดยจะเน้นเรียกผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แล้วมาเข้ารับการฝึก โดยนายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้าง ที่เป็นกำลังพลสำรองมาเข้ารับการฝึกและต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายและต้องรับโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ทางกองทัพบกจะทำการสุ่มเรียกกำลังพลสำรองจำนวน 2.5 % จาก กำลังพลสำรองทั้งหมด มาเข้ารับการฝึกกำลังสำรองเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยผู้ที่ไม่ต้องเข้ารับการเรียกพล จะต้องมีเหตุจำเป็นเท่านั้น ผู้ใดหลีกเลี่ยง จะต้องรับโทษตามกฎหมาย [20]

พระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกำลังพลสำรองและกิจการกำลังพลสำรองให้มีความเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนกลุ่มบุคคลที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ บริหารจัดการ ประกอบด้วย นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง ทหารกองหนุนประเภทที่ 1, 2 และทหารกองเกิน ที่กระทรวงกลาโหมจัดเก็บรายชื่อไว้ในรูปบัญชีต่างๆ ปัจจุบันมีประมาณ 13 ล้านนายเศษ กระทรวงกลาโหมจะรับสมัครหรือคัดเลือกจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้น เพื่อบรรจุลงในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหาร และเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “กำลังพลสำรอง” กำหนดเวลาที่กำลังพลสำรองมีรายชื่อบรรจุอยู่ในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหาร กำหนดไว้ 6 ปี  เมื่อครบ 6 ปี กำลังพลสำรองสามารถสมัครเข้าเป็นกำลังพลสำรองต่อได้ อีกครั้งละ 6 ปี ขอเน้นย้ำว่า กำลังพลสำรองนั้น จะอยู่ในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหารเพียงรายชื่อเท่านั้น ยังคงปฏิบัติงานตามปกติในโรงงาน บริษัท หรือห้างร้าน หรือประกอบอาชีพอิสระได้ เมื่อมีการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร กำลังพลสำรองจึงจะมาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยทหารที่ตนมีรายชื่อสังกัดอยู่ ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารหมุนเวียนเข้าทำการฝึกทบทวนความรู้ ปีละ 1 ครั้งละไม่เกิน 10 วัน

กรณีการเกณฑ์ทหารของบุคคลมีชื่อเสียง[แก้]

นักการเมือง[แก้]

บุคคลในวงการบันเทิง[แก้]

  • ลีโอ พุฒ นักร้อง นักแสดง และพิธีกร สมัครเข้ารับราชการทหาร 1 ปี สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2542[21]
  • ศรราม เทพพิทักษ์ ดารานักแสดงดัง เข้ารับราชการทหาร 2 ปี สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2543 หลังจากผ่อนผันจนหมดสิทธิ์[22] หลังปลดประจำการได้รับการแต่งตั้งยศสิบตรี และเป็นพรีเซ็นเตอร์ในการเชิญชวนให้ชายไทยเข้ารับราชการทหารในปีต่อ ๆ มา[23]
  • สมชาย เข็มกลัด นักร้อง และนักแสดง เข้ารับราชการทหาร 2 ปี สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2543[21]
  • ฝันดี-ฝันเด่น คู่แฝดนักร้องดูโอ้ สมัครเข้ารับราชการทหาร สังกัดกองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2545[21]
  • เจสัน ยัง นักร้อง และนักแสดง เชื้อชาติออสเตรเลีย เข้ารับราชการทหาร สังกัดกองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2547[21]
  • ภาณุ จิระคุณ (ป๊อปปี้) นักร้อง หัวหน้าวงเค-โอติก เข้ารับราชการทหาร 6 เดือน สังกัดศูนย์ฝึกทหารเรือสัตหีบ ในปี พ.ศ. 2557[22]
  • ณเดชน์ คูกิมิยะ นักแสดงและนายแบบลูกครึ่งไทย-ออสเตรีย เข้ารับการตรวจเลือกทหารในปี พ.ศ. 2557 แต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารเนื่องจากป่วยเป็นโรคหอบหืด ถึงกระนั้นก็ดีมีบุคคลหลายคนไม่พอใจอย่างมากและตั้งข้อสงสัยจับผิดในอาการป่วยของเขา[24]
  • ชินวุฒิ อินทรคูสิน เข้ารับราชการทหาร 2 ปี (ทหารเกณฑ์) สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2559[23]
  • กวิน ดูวาล นักร้องวง 3.2.1 เข้ารับราชการทหาร 1 ปี (ทหารเกณฑ์) สังกัดกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 เช่นเดียวกับชินวุฒิ (เดิมทีกวินได้รับคัดเลือกให้เข้าสังกัดจังหวัดชลบุรี) ในปี พ.ศ. 2559[25]
  • พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล นักร้องชื่อดัง เข้ารับการตรวจเลือกทหารในปี พ.ศ. 2559 แต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารเนื่องจากป่วยเป็นโรคหอบหืดและเคยมีอาการลำไส้อักเสบ[24]

การหลีกเลี่ยงเข้ารับราชการทหาร[แก้]

แม้ว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่มีขบวนการทำการสนับสนุนให้ผู้ทหารกองเกินหลบเลี่ยงการรับราชการทหารกันอย่างแพร่หลาย โดยสัสดีอำเภอเป็นตัวการสำคัญ[26] โดยมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

  1. การปลอมใบรับรองผลการตรวจเลือก สด. ๔๓
  2. การให้ระบุในใบตรวจร่างกายว่าเป็น มีความผิดปกติทางร่างกาย (ดี 1 ประเภท 2) จึงไม่ต้องไปจับใบดำใบแดง
  3. การย้ายสำมะโนครัวและภูมิลำเนาทหาร ไปยังอำเภอที่มีคนสมัครเป็นทหารเต็มแล้ว

สำหรับวิธีการตามข้อ 1 นั้น จะไม่ปรากฏต้นขั้วที่กระทรวงกลาโหม เมื่อมีการตรวจสอบก็จะพบว่าบุคคลนั้นหนีทหารและถูกดำเนินคดีได้ ส่วนวิธีการในข้อ 2-3 เป็นการใช้ช่องว่างของกฎหมายและข้อมูลภายในที่สัสดีมีอยู่ ผู้ผ่านการตรวจเลือกจะได้รับใบตรวจเลือกของจริง ถูกต้องตามกฎหมาย ตามข่าวที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2547[27]พบว่าสัสดีเรียกรับเงินจากผู้ไม่ต้องการรับราชการทหารเป็นหลักพันบาทสำหรับวิธีการในข้อ 1 และหลักหมื่นบาทสำหรับวิธีการในข้อ 2-3

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่หลบหนีไม่เข้ารับการตรวจเลือกซึ่งมักจะถูกสัสดีแจ้งความดำเนินคดี ผู้ที่หลบหนีนั้นต้องรอให้พ้นจากอายุที่ต้องรับราชการทหารคือ 30 ปีและรอให้คดีความหมดอายุความก่อนจึงจะกลับมาปรากฏตัวต่อสาธารณชนได้ มิฉะนั้นอาจถูกจับกุมและดำเนินคดีได้ อายุความในดคีหนีทหารทั่วไปมีกำหนด 10 ปี

การทำร้ายร่างกายตัวเองหรือผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องรับราชการทหารมีระวางโทษจำคุกหนึ่งปีถึงแปดปี[28] เป็นโทษที่หนักที่สุดในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และเป็นโทษเดียวในพระราชบัญญัตินี้ที่มีอายุความถึง 15 ปี

การคัดค้าน[แก้]

เกิดคำถามถึงความจำเป็นสำหรับการเกณฑ์ทหารและเรียกร้องให้มีการถกเถียงอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับประสิทธิผลและคุณค่าต่อประเทศ[29][30][31] นักวิจารณ์ยังอ้างว่าภัยคุกคามภายนอกต่อประเทศไทยในปี 2562 ไม่สำคัญ ด้านแผนความมั่นคงแห่งชาติของไทยซึ่งจัดพิมพ์ในปีเดียวกันเองก็มองว่าภัยคุกคามด้านภูมิรัฐศาสตร์ภายนอกต่อประเทศเล็กน้อยในหลายปีข้างหน้า[32] นอกจากนี้ ในปี 2563 มีการเปิดเผยว่า กองทัพใช้งบประมาณเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ถึงปีละ 14,990 ล้านบาท[33]

มีการกล่าวหาว่าทหารเกณฑ์กว่าครึ่งลงเอยด้วยเป็นทหารรับใช้ของนายทหารระดับสูง[34] หรือเป็นเสมียนในร้านค้าสหกรณ์กองทัพ[35][36]

วันที่ 4 เมษายน 2561 เพื่อนของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลติดตามเขามาขอผ่อนผันทหาร และมีการแจกแบบสอบถามแก่ผู้มารอเกณฑ์ทหารและผู้สังเกตการณ์โดยมีข้อความว่า "เราควรเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารจาก ระบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ" และ "กองทัพควรรับรองว่า พลทหารจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างเกณฑ์ทหาร 100%" จำนวน 169 ใบ พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับข้อความแรก 144 คน และเห็นด้วยกับข้อความที่สอง 25 คน [37]

องค์การนิรโทษกรรมสากลออกรายงานในปี 2562 อ้างอดีตทหารเกณฑ์ชาวไทย ระบุว่า ในกองทัพไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทหารเกณฑ์หลายกรณีเป็นเรื่องปกติ เช่น การธำรงวินัยด้วยการทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธ การล่วงละเมิดทางเพศ การลงโทษที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรี รวมทั้งการข่มขืนกระทำชำเราทหารที่เป็นเกย์[38] และในเดือนมีนาคม 2563 กล่าวหาว่าทหารเกณฑ์ของไทยเผชิญกับการละเมิดอย่างเป็นสถาบันแต่ถูกทางการทหารปิดปากอย่างเป็นระบบ[39] ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการชุมนุมปี 2563-2564 โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องจะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารด้วย[ต้องการอ้างอิง]

คดีความ[แก้]

วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ กับพวกเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 คน รุมซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายในหน่วยฝึกทหารใหม่ โดยอ้างว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีการฝึก พลทหารวิเชียรได้รับบาดเจ็บสาหัส มีอาการไตวายเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนสลาย ทำให้เสียชีวิตลงในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพลทหารวิเชียรได้สมัครเข้ารับการราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 151 ได้เข้าฝึกในหน่วยฝึกทหารใหม่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยภายหลังการเสียชีวิตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ในขณะนั้นได้ยื่นข้อเสนอขอพระราชทานคลุมธงชาติไทย เสมือนหนึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และทางครอบครัวของพลทหารวิเชียรโดนข่มขู่ด้วยวิธีต่างๆ ทําให้หลานสาวของพลทหารวิเชียรได้ลุกขึ้นสู้ในคดีความเป็นระยะเวลานานถึง 12 ปี จนชนะคดีความ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดี ร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ พร้อมพวกรวม 9 คน รุมซ้อมทรมานพลทหารวิเชียรจนเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยศาลพิพากษาจำคุก ร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้เหลือ 1 ใน 3 คือ จำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ศาลสั่งจำคุก 6 ปี โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและอยู่ในที่เกิดเหตุให้การเป็นประโยชน์ ศาลลดโทษให้เหลือจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 3 ยอมรับสารภาพ ลดโทษให้เหลือจำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 5 คนศาลสั่งจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 คนเสียชีวิตแล้ว ส่วนจําเลยที่ 10 หลบหนีตามหมายจับศาลทหาร[40]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส: ทหารเกณฑ์คือ อู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ
  2. มาตรา 16 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  3. มาตรา 12 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  4. มาตรา 25 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  5. มาตรา 44 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  6. มาตรา 27 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  7. มาตรา 45 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  8. กฎกระทรวงฉบับที่ 37 พ.ศ. 2516 ออกตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ข้อ 3
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-16. สืบค้นเมื่อ 2009-04-25.
  10. Laohong, King-Oua (20 April 2018). "12,000 draftees 'on drugs'". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 20 April 2018.
  11. Nanuam, Wassana (15 April 2018). "Image, pay draw volunteers for armed service". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 15 April 2018.
  12. มาตรา 13 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  13. มาตรา 14 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  14. มาตรา 27 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  15. มาตรา 29 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  16. กฎกระทรวงฉับที่ 9 พ.ศ. 2498
  17. มาตรา 9 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  18. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-16. สืบค้นเมื่อ 2009-04-25.
  19. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ ( พ.ศ. ๒๕๐๘ ) ออกตามความพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
  20. สนช. เห็นชอบ สุ่มเรียกกำลังพลสำรอง 2.5 % จากกำลังพลสำรองทั้งหมด ฝึก 2 เดือน[ลิงก์เสีย]
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 ลูกผู้ชายตัวจริง! ย้อนวันวาน ดาราชายไทยที่เคยรับใช้ชาติ
  22. 22.0 22.1 จากอดีตสู่ปัจจุบัน รอยยิ้ม คราบน้ำตา และดราม่า ‘ดาราไทย’ เมื่อต้องรับใช้ชาติ
  23. 23.0 23.1 "เปิดลิสต์รายชื่อ...ดาราหัวใจสตรอง! ไม่กลัวเกณฑ์ทหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-09. สืบค้นเมื่อ 2017-12-09.
  24. 24.0 24.1 "5 ซุปตาร์ รอดเกณฑ์ทหารหวุดหวิด ด้วยเหตุผลเช่นนี้!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-17. สืบค้นเมื่อ 2017-12-09.
  25. กวินท์ 321 เป็นทหารอีโก้ลด เคลียร์ใจวงแตกเหตุแย่งรองเท้า ทีเจ จริงมั้ย?
  26. นสพ. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2547
  27. นสพ. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2547
  28. มาตรา 48 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  29. "Let's stop forcing boys to be soldiers" (Opinion). The Nation. 29 สิงหาคม 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2018.
  30. "Do away with conscription" (Opinion). Bangkok Post. 24 March 2018. สืบค้นเมื่อ 29 August 2018.
  31. Draper, John; Sripokangkul, Siwach (30 September 2017). "Transform conscription to national service" (Opinion). Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 29 August 2018.
  32. Ganjanakhundee, Supalak (27 November 2019). "Thailand's New Security Highlights Threats to the Throne". ISEAS Yusof Ishak Institute. Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-05. สืบค้นเมื่อ 5 December 2019.
  33. "อภิปรายงบประมาณ 2563 อนาคตใหม่ถล่มงบกลาโหม". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 20 April 2021.
  34. "Prawit denies servant for officer policy". Bangkok Post. 18 July 2018. สืบค้นเมื่อ 18 July 2018.
  35. "Ex-private stands firm after being harassed online for criticising military". Pratchatai English. 3 พฤศจิกายน 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2017.
  36. "Conscripts aren't servants" (Opinion). Bangkok Post. 19 July 2018. สืบค้นเมื่อ 20 July 2018.
  37. "เนติวิทย์"โชว์นาฬิกายืมเพื่อนมาขอผ่อนผันเกณฑ์ทหาร
  38. ""เราก็แค่ของเล่นของพวกเขา" เปิดรายงานการล่วงละเมิดทหารเกณฑ์ในไทย". BBC ไทย. 23 March 2020. สืบค้นเมื่อ 27 March 2021.
  39. "Weeks after Korat massacre, Amnesty report describes conscript abuses". Bangkok Post. Reuters. 23 March 2020. สืบค้นเมื่อ 23 March 2020.
  40. "ศาลทหารปัตตานีสั่งจำคุก 8 ทหาร ซ้อมทรมาน "วิเชียร เผือกสม"". Thai PBS. Reuters. 26 November 2023. สืบค้นเมื่อ 26 March 2024.