เรือไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรือไทย คือเรือในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

มีจารึกในภาษาจาม พบในเมืองนาตรังประเทศเวียดนาม ราวศตวรรษที่ 12 เป็นหลักฐานกล่าวถึงชนชาติสยามซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจรู้จักการใช้เรือเป็นชาติแรก แต่หลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินเรือของคนไทยปรากฏอยู่บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1822-1843) แห่งกรุงสุโขทัย หลักที่ 4 ด้านที่ 4 กล่าวว่าการเดินทางด้วยเรือและถนน แสดงว่า มีการสร้างเรือมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว สันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นมีการต่อเรือจากไม้ซุงทั้งต้น รวมไปถึงเรือที่ใช้ไม้กระดานต่อกันแล้วชันยา เดินทางไปมาหาสู่กันอย่างแพร่หลาย

อีกหลักฐานที่พบในประเทศไทยมีปรากฏอยู่หลายแห่งเช่น การพบภาพเขียนสีโบราณรูปขบวนเรือที่ถ้ำนาค ในอ่าวพังงา เป็นภาพขบวนเรือเขียนด้วยสีแดงบนผนังถ้ำ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพเรือขุดรุ่นแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม โดยที่หัวเรือและท้ายเรือเป็นรูปโค้งเหมือนพระจันทร์เสี้ยว หรือที่ถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ก็พบหลักฐานภาพเขียนสีเป็นรูปเรืออยู่บนผนังถ้ำ มีอยู่ประมาณ 70 ภาพ เป็นเรือรูปแบบต่างๆ เช่นเรือสำเภา เรือโป๊ะจ้าย เรือใบสามเสา เรือฉลอมท้ายญวน เรือกำปั่นใบ เรือลำบั้นแปลง เรือใบสองเสาที่ใช้กรรเชียง เรือใบอาหรับ เรือฉลอม รวมถึงเรือใบที่ใช้กังหันไอน้ำและเรือกลไฟ โดยภาพเรือสำเภาจีนสามเสาและเรือใบแบบอาหรับเป็นภาพวาดรูปเรือที่ใช้ใบที่เก่าที่สุด สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20

หลักฐานจารึก จดหมายเหตุจีน ตำนานและพงศาวดารระบุว่า พุทธศตวรรษที่ 18 มีบันทึกการรวมเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมออกไปสู่ภายนอก กระทั่งมีการสถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วแผ่อำนาจรวบรวมแว่นแคว้นเข้าเป็นอาณาจักร ช่วงนั้นการติดต่อค้าขายระหว่างจีนและไทยเราใช้ “เรือสำเภา” เป็นหลัก และในสมัยอยุธยาตอนต้นเรือสำเภาจีนก็มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานอารยธรรม จากหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับชาติตะวันตก ได้มีโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาในเมืองมะละกา ได้ส่ง “ดูอาร์เต เฟอร์นาน-เดส” เป็นผู้แทนเดินทางมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับราชสำนักโดยใช้พาหนะในการเดินทางคือ “เรือสำเภาจีน”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยอยุธยา ทำให้เกิดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เช่นเรือสำเภาและเรือกำปั่น มีอู่ต่อเรือหลวงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที้ประชาชนต่างอาศัยเรือเล็กเรือน้อยสัญจรไปมาหนาตา ถึงขนาดที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกเอาไว้

“ในแม่น้ำลำคลองเต็มไปด้วยเรือ จะไปไหนต่อไหนไหนก็เจอแต่เรือแน่นขนัดไปหมด จนไม่สามารถแหวกทางผ่านกันได้หากไม่ชำนาญ ทั้งที่เรือแน่นขนัดจอแจเช่นนี้ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่ง” และจากบันทึกของชาวเปอร์เซีย เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า ชะห์รินาว ซึ่งแปลว่า เมืองเรือ หรือ นาวานคร[1]

ยุคทองของการเดินทางด้วยเรือรุ่งเรืองถึงขีดสุดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแม่น้ำลำคลองไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าและคมนาคม แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการเพาะปลูก การอุปโภค บริโภค และอื่น ๆ ในสมัยนี้จึงมีการขุดคลองเป็นจำนวนมากเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยเรือ

ประเภทของเรือไทย[แก้]

  • แบ่งตามฐานะ คือเรือหลวงกับเรือราษฏร

เรือหลวง คือเรือที่ราษฎรไม่มีสิทธิ์นำมาใช้ ถือเป็นของสูง เช่นเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งศรี เป็นต้น ส่วนเรือราษฎรได้แก่เรือทั่วๆ ไปที่ใช้ตามแม่น้ำลำคลอง

ซึ่งยังอาจแบ่งออกเป็น 2 พวก คือเรือแม่น้ำพวกหนึ่ง เรือทะเลพวกหนึ่ง เรือแม่น้ำคือเรือที่ใช้ไปมาในแม่น้ำลำคลอง เป็นเรือขุดหรือเรือต่อ ได้แก่ เรือมาด เรือหมู เรือพายม้า เรือม่วง เรือสำปั้น เรืออีแปะ เรืออีโปง เรือบด เรือป๊าบ เรือชะล่า เรือเข็ม เรือสำปันนี เรือเป็ด เรือผีหลอก เรือเอี้ยมจุ๊น เรือข้างกระดาน เรือกระแชง เรือยาว เรือมังกุ เป็นต้น ส่วนเรือทะเลคือเรือที่ใช้ไปมาในทะเลและเลียบชายฝั่ง เป็นชนิดเรือต่อ ได้แก่ เรือฉลอม เรือฉลอมท้ายญวน เรือเป็ดทะเล เรือกุแหละ หรือเรือกุไหล่ เรือโล้ เรือสำเภา เรือปู เป็นต้น

  • แบ่งโดยกำลังที่ใช้แล่น เช่น เรือพาย เรือกรรเชียง เรือแจว เรือโล้ เรือถ่อ เรือใบ

ไม้ที่ใช้ทำเรือ[แก้]

ไม้ที่ใช้ทำเรือมีทั้งไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยมหรือไม้ประดู่ซึ่งมีคุณภาพดีเหมาะในการต่อและขุดทำเป็นเรือ ไม้ตะเคียนจัดเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นเรือ มีทั้งตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนหนู ตะเคียนหยก ตะเคียนไพร ฯลฯ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งลอยน้ำได้ดี ไม่ผุง่ายแม้จะแช่อยู่ในน้ำนานๆ เรือที่นิยมทำจากไม้ชนิดนี้ได้แก่ เรือมาด เรือหมู เรือสำเภา เรือสำเภาและเรือยาวที่ใช้ในการแข่งขัน

สำหรับไม้สักนั้นนิยมใช้ทำเรือสำบั้น สำเภา เรือชะล่า เรือกระแชง เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่หดแตกง่าย ส่วนไม้ประดู่มีเนื้อเหนียวเป็นพิเศษนิยมใช้ทำเรือกระแชง เรือเมล์ เรือแท็กซี่ ส่วนไม้เคี่ยมมีคุณสมบัติคล้ายไม้สักแต่เนื้อไม้แข็งกว่า มีความยืดหยุ่นและน้ำหนักมากกว่าซึ่งหายากและมีถิ่นกำเนินทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป

ประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเรือ[แก้]

ปัจจุบันแม้เรือจะลดความสำคัญ แต่ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเรือยังคงมีให้เห็น อาทิ การเล่นเพลงเรือ กฐินทางน้ำ ประเพณีชักพระภาคใต้ ประเพณีตักบาตรร้อยพระ จ.ปทุมธานี ประเพณีแข่งเรือ ประเพณีเกี่ยวกับการทอดผ้าป่าทางเรือ มีทั้งของหลวงและของราษฎร แตกต่างกันตรงขนาดและเครื่องไทยทาน และอีกหลากหลายประเพณีตามท้องถิ่น

ความเชื่อเกี่ยวกับเรือ เช่น ห้ามเหยียบหัวเรือเพราะแม่ย่านางเรือประทับตรงนั้น เป็นกุศโลบายที่ต้องการให้ใช้เรืออย่างระมัดระวัง ถนอมเพราะเรือมีราคาแพง ห้ามพายเรือยังไม่แก้โซ่ จะทำให้เรือล่ม ทั้งนี้เพราะหากกระชากเรือจากโซ่แทนการแก้ออกดีๆ จะทำให้เรือชำรุดเกิดอุบัติเหตุได้ ห้ามเหยียบเรือสองแคม ความหมายตรงๆ โดยไม่เล่นสำนวนคือการเหยียบเรือ 2 แคม จะทำให้เรือล่มหรือพลิกคว่ำเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เป็น

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2545 หน้า 116-123