ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
SET
ประเภทตลาดหลักทรัพย์
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์13°45′49″N 100°34′03″E / 13.763738°N 100.56737°E / 13.763738; 100.56737
ก่อตั้งเมื่อ30 เมษายน พ.ศ. 2518 (48 ปี)
บุคลากรสำคัญพิชัย ชุณหวชิร[1]
พิเชษฐ สิทธิอำนวย
สกุลเงินบาทไทย
จำนวนการจดทะเบียน821
มูลค่าตามราคาตลาด18.679 ล้านล้านบาทสำหรับ SET และ 521,000 ล้านบาทสำหรับ mai (15 มีนาคม 2566)
ดัชนีดัชนีเซต
ดัชนีเซต 50 และดัชนีเซต 100
เว็บไซต์www.set.or.th
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ภาพรวมหน่วยงาน
หน่วยงานก่อนหน้า
  • บริษัท ตลาดหุ้นกรุงเทพ จำกัด
สำนักงานใหญ่93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Stock Exchange of Thailand, SET) เป็นตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518[2] ทำหน้าที่เป็นตลาดรองเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุน ของบริษัทต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ และ เพื่อให้สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้โดยสะดวก ปัจจุบันการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ประวัติ[แก้]

ก่อนที่จะมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมานั้น ประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง"บริษัทลงทุน"ในปี พ.ศ. 2503 โดยกลุ่มเอกชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศได้จัดตั้งสถาบันการเงินประเภทบริษัทจัดการลงทุน (Investment Management Company) ขึ้นดำเนินการในลักษณะกองทุนรวม (Mutual Fund) โดยให้ใช้ชื่อว่า กองทุนรวมไทย (Thai Investment Fund) หรือ TIF ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 กลุ่มอุตสาหกิจไทยเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้งกิจการดำเนินงานในลักษณะสถานปริวรรตหุ้นที่เรียกว่าตลาดหลักทรัพย์โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ตลาดหุ้นกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Stock Exchange)

ตลาดหุ้นกรุงเทพดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกชุมนุมเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหุ้นที่มีอยู่ขณะนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ตลาดหุ้นอย่างแท้จริง คือ การซื้อขายหุ้นที่สมาชิกกระทำให้ลูกค้านั้นมิได้กระทำในตลาดหุ้น แต่จะกระทำที่สำนักงานของสมาชิกแต่ละคน นอกจากนี้การบริหารตลาดหุ้นก็ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ อุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีทุนในปริมาณจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจในด้านนี้ได้อย่างกว้างขวางเพียงพอและไม่คึกคักเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานในการจัดตั้งที่ดีการซื้อขายในตลาดหุ้นกรุงเทพ ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนักมูลค่าการซื้อขายมีเพียง 160 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2511 และ 114 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2512 การซื้อขายมีปริมาณลดลงเป็น 46 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2513 และลดลงเหลือ 28 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2514 การซื้อขายหุ้นกู้มีมูลค่าถึง 87 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2515 แต่การซื้อขายหุ้นก็ยังไม่เป็นที่สนใจ โดยมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ต่ำที่สุดมีเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น และ ในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ต้องปิดกิจการลง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าตลาดหุ้นกรุงเทพไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบกับประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ในเรื่องตลาดทุน การพัฒนาบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเกิดจากเงินทุนของเจ้าของกิจการเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีเงินไม่เพียงพอก็กู้ยืมจากสถาบันการเงินที่มีอยู่ในขณะนั้น

ในปี พ.ศ. 2510 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญศาสตราจารย์ซิดนีย์ เอ็ม. รอบบินส์ (Sydney M.Robbins) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตลาดทุน และเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการเงิน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยศึกษาโครงสร้างตลาดเงินและตลาดทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 ก็ได้เสนอรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในเอกสารชื่อ"A Capital Market in Thailand" หรือ "ตลาดทุนในประเทศไทย" รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงปริมาณหลักทรัพย์และผู้สนใจซื้อขายหลักทรัพย์ในขณะนั้นว่ามีอยู่จำนวนมาก รวมทั้งมีปัญหากฎหมายและอื่น ๆ อีกหลายประการ และได้เสนอแนะหลักการและแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาตลาดทุนของประเทศไทยไว้  

ในปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทโดยการแก้ไข "ประกาศคณะปฏิวัติที่ 58 เกี่ยวกับการควบคุมธุรกิจ การค้า ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชน" การแก้ไขดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลสามารถกำกับดูแล การดำเนินงานของบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม

ผลจากข้อเสนอแนะของศาสตราจารย์ซิดนีย์ เอ็ม. รอบบินส์ ทางคณะกรรมการมีความเห็นว่าควรรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยให้อยู่ที่เดียวกัน และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นวีธีการประมูลซื้อขายด้วย ในที่สุดกระทรวงการคลังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งตลาดหุ้น และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมทุนในประเทศ ตามมาด้วยการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับรายได้เพื่อให้สามารถนำเงินออมมาลงทุนในตลาดทุนได้ เมื่อได้เตรียมการต่าง ๆ แล้วจึงได้เปิดทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 และทำพิธีเปิดตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และได้ทำการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็นจากเดิม "Securities Exchange of Thailand" มาเป็น "Stock Exchange of Thailand" (SET) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534

ในปี พ.ศ. 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกโดยมีเพียงประเทศเคนยาที่ให้ผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์แย่กว่าประเทศไทย

ที่ทำการและห้องค้า[แก้]

นับแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยมีที่ทำการมาแล้วสี่แห่ง โดยแห่งแรกตั้งอยู่ที่ห้อง 412 ชั้น 4 อาคารศูนย์การค้าสยาม เลขที่ 965 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นับแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2518 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ตลท.ย้ายที่ทำการเป็นครั้งแรก ไปยังอาคารสินธร เลขที่ 130-132 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน[3] ต่อมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2541 ตลท.ย้ายที่ทำการ มายังอาคารเลขที่ 62 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองตัน เขตคลองเตย ซึ่งเป็นตึกอาคารของ ตลท.เอง[4] แต่เช่าที่ดินกรรมสิทธิ์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559 [5] ตลท.ได้ย้ายที่ทำการไปยังตึกแห่งใหม่ มีรั้วกำแพงติดกับบริเวณของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (เดิมเป็นป กุ้งเผา รัชดา[6]) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์ธุรกิจตลาดทุน โดยในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีอาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่อีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกในประเทศไทย ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เวลา 14.00 น.

อนึ่ง สำหรับห้องค้า ซึ่งจะมีกระดานไฟฟ้าแสดงรายการหุ้นขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับตรวจสอบข้อมูลราคาหุ้น รวมไปถึงตัววิ่งข้อมูลราคาซื้อขายตลาดหุ้นผ่านสื่อโทรทัศน์บางแห่ง มิได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด หากแต่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ มักดำเนินการจัดสร้างขึ้น ภายในสำนักงานของตนเอง โดยส่วนมากจะตั้งอยู่ภายในอาคารสินธร ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าใช้สำรวจราคาหุ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ บล.แต่ละแห่งกำหนดไว้[ต้องการอ้างอิง]

การดำเนินงานหลัก[แก้]

การรับหลักทรัพย์จดทะเบียน[แก้]

การให้บริการระบบการซื้อขายหลักทรัพย์[แก้]

  • ระบบซื้อขายหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยคอมพิวเตอร์ [Automated System For the Stock Exchange of Thailand:ASSET] (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555) (ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ตลท.ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบซื้อขาย เป็น SET CONNECT) เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทสมาชิกและผู้ลงทุน โดยคำสั่งชื้อขายหลักทรัยพ์ที่ส่งเข้ามาจากบริษัทสมาชิก ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์จะทำการจับคู่คำสั่งซี้อขายโดยอัตโนมัติ (Automatic Order Matching:AOM) ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์การจัดลำดับของราคาและเวลา โดยคำสั่งซื้อขายที่มีลำดับราคาและเวลาที่ดีที่สุดจะถูกจับคู่ซื้อขายก่อนหลังจากที่มีการจับคู่คำสั่งซื้อขายแล้ว ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์จะยืนยันรายการซื้อขายดังกล่าวกลับไปยังบริษัทสมาชิก เพื่อให้ทราบผลในทันที รวมทั้งจัดให้มีระบบสำรองกรณีระบบเกิดขัดข้อง

นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายรองที่เรียกว่า Put-through (PT) ซึ่งเป็นการที่บริษัทสมาชิกผู้ซื้อและบริษัทสมาชิกผู้ขายได้เจรจาตกลงการซื้อขายกันก่อนแล้ว จึงให้บริษัทสมาชิกผู้ขายเป็นผู้บันทึกรายการซื้อขายเข้ามาในระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และให้บริษัทสมาชิกผู้ซื้อเป็นผู้รับรองรายการซื้อขายดังกล่าว

    • AOM : วิธีการซื้อขายแบบจับคู่คำสั่งอัตโนมัติ เป็นวิธีการซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายส่งคำสั่งซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์เข้ามายังระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯจะเรียงลำดับและจับคู่คำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติด้วยหลักการราคาและเวลาที่ดีที่สุดซึ่งหมายความว่าคำสั่งซื้อที่มีราคาสูงที่สุดและคำสั่งราคาขายที่ราคาต่ำที่สุดจะถูกจัดคู่ซื้อขายก่อน
    • PT : เป็นวิธีซื้อขายแบบมีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นวิธีการซื้อขายที่บริษัทหลักทรัพย์ผู้ซื้อและผู้ขายทำความตกลงซื้อขายหุ้นกันเอง เมื่อตกลงซื้อขายกันได้แล้วก็จะบันทึกรายละเอียดของรายการซื้อขายดังกล่าวผ่านระบบการซื้อขายเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบ ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอนุญาตให้ใช้การซื้อขายแบบ PT สำหรับการซื้อขายรายใหญ่ (Big Lot Trading) หรือเป็นการซื้อขายหุ้นที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ [7]
  • สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย
    • NP (Notice Pending) :เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าบริษัทจดทะเบียนนั้นยังไม่ได้ส่งงบการเงินหรือรายงานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯตามระยะเวลาที่กำหนด หรือตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงหรือรายงานเพิ่มเติมจากบริษัทจดทะเบียน
    • NR (Notice Received) :เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับการชี้แจงข้อมูลหรือรายงานจากบริษัทจดทะเบียนที่ขึ้นเครื่องหมาย NP แล้ว และจะขึ้นเครื่องหมาย NR เป็นเวลา 1 วัน
    • H (Trading Halt) :เป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้นเป็นการชั่วคราว โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งรอบการซื้อขาย
    • SP (Trading Suspension) :เป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้นเป็นการชั่วคราว โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย
    • XD (Excluding Dividend) :เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ณ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายในงวดนั้น หากผู้ลงทุนต้องการจะได้สิทธิในเงินปันผลดังกล่าว จะต้องซื้อหุ้นนั้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XD
    • XR (Excluding Right) :เป็นเครื่องหมายแสดงว่า ณ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญจากการเพิ่มทุนในครั้งนั้นของบริษัท หากผู้ลงทุนต้องการได้สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะต้องซื้อหุ้นนั้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR
    • XW (Excluding Warrant) :เป็นเครื่องหมายแสดงว่า ณ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XW ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีสิทธิในการได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์หรือวอแรนท์
    • XA (Excluding All) :เป็นเครื่องหมายแสดงว่า ณ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XA ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับทั้งเงินปันผล ดอกเบี้ย และ สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทได้ประกาศจ่ายและจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้น ๆ เครื่องหมายนี้จึงเหมือนกับเป็นเครื่องหมาย XD รวมกับ XR หรือ XW รวมกับ XR
  • กระดานการซื้อขายหลักทรัพย์หน่วยการซื้อขายและช่วงราคา
    • กระดานหลัก (Main Board)
    • กระดานหน่วยย่อย (Odd Board)
    • กระดานพิเศษ (Special Board)
    • กระดานรายใหญ่ (Big Lot Board)
    • กระดานต่างประเทศ (Foreign Board)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดจำนวนหุ้นที่จะทำการซื้อขายบนกระดานหลัก เป็นหน่วยการซื้อขาย (Board Lot) โดยทั่วไป 1 หน่วยการซื้อขายจะเท่ากับ 100 หุ้น เท่ากันทุกหลักทรัพย์เช่นการซื้อขายหลักทรัพย์ ABC จำนวน 10 หน่วยการซื้อขายจะเท่ากับ 1,000 หุ้น ยกเว้นหลักทรัพย์มีราคาปิดตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกันจะกำหนดให้ 1 หน่วยการซื้อขายเท่ากับ 50 หุ้น ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการซื้อขายหุ้นเป็นเศษของหน่วยการซื้อขาย เช่น 15 หุ้น, 77 หุ้น จะต้องซื้อขายบนกระดานหน่อยย่อย (Odd Lot Board)

ข้อกำหนดการซื้อขายหลักทรัพย์ตามช่วงราคา ขึ้นอยู่กับระดับราคาซื้อขายของแต่ละหลักทรัพย์ในขณะนั้น ๆ ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ตั้งแต่ช่วงราคาละ 0.01 บาท จนถึง 2.00 บาท ช่วงราคา (เริ่มใช้ตั้งแต่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป)

ระดับราคาเสนอซื้อ ช่วงราคา (บาท)
ต่ำกว่า 2 บาท 0.01
ตั้งแต่ 2 บาท แต่ต่ำกว่า 5 บาท 0.02
ตั้งแต่ 5 บาท แต่ต่ำกว่า 10 บาท 0.05
ตั้งแต่ 10 บาท แต่ต่ำกว่า 25 บาท 0.10
ตั้งแต่ 25 บาท แต่ต่ำกว่า 100 บาท 0.25
ตั้งแต่ 100 บาท แต่ต่ำกว่า 200 บาท 0.50
ตั้งแต่ 200 บาท แต่ต่ำกว่า 400 บาท 1.00
ตั้งแต่ 400 บาทขึ้นไป 2
  • ช่วงเวลาในการซื้อขายหลักทรัพย์

ช่วงเวลาในการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ทุกวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์) คือ

  • 1 ช่วงการซื้อขายรอบเช้า (Morning Session) ตั้งแต่เวลาเปิดตลาดช่วงเช้าที่ได้ทำการสุ่มเลือกเวลาในช่วง 9.55-10.00 น. จนถึงปิดตลาดรอบเช้าเวลา 12.30 น.
  • 2 ช่วงการซื้อขายรอบบ่าย (Afternoon Session) ตั้งแต่เวลาเปิดตลาดที่ได้จากการสุ่มเลือกเวลาในช่วง 14.25-14.30 น. จนถึงเวลาในการปิดการซื้อขายประจำวันที่ได้จากการสุ่มเลือกเวลาในช่วง 16.35-16.40 น.

โดยผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ก่อนเวลาทำการในแต่ละรอบล่วงหน้า 30 นาที คือส่งคำสั่งซื้อขายในรอบเช้าได้ตั้งแต่เวลา 9.30 น. และในรอบบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น. ซึ่งเรียกว่าช่วง Pre-opening เพื่อนำคำสั่งทั้งหมดมาเรียงลำดับและคำนวณหาราคาเปิด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้เปิดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์นอกเวลาทำการ (Off-hour Trading) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20-25 นาที นับตั้งแต่เวลาปิดการซื้อขายประจำวันที่ได้จากการสุ่มเลือก ไปจนถึงเวลา 17.00 น. เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุนในวันนั้น ๆ ให้เหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามตลาดระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนให้กับผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์มีการขึ้นลงผันผวนอย่างรุนแรง ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดให้ราคาเสนอซื้อเสนอขายในแต่ละวันสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายในวันทำการก่อนหน้า แต่มีข้อยกเว้นในกรณีดังนี้

  • เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก
  • เป็นการซื้อขายวันแรกที่มีการขึ้นเครื่องหมาย XD, XR, XS และ XA
  • เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีการซื้อขายติดต่อกันเกินกว่า 15 วันทำการ
  • หลักทรัพย์นั้นมีราคาต่ำกว่า 1 บาท
  • Circuit Breaker

หากภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการที่เรียกว่า Circuit Breaker ที่จะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบสถานการณ์และมีเวลาไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนต่อไป โดย Circuit Breaker จะทำงานตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาดังนี้

  • เมื่อดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนั้นลดลงในอัตราร้อยละ 10 ของดัชนีราคาหุ้นในวันทำการก่อนหน้า ระบบการซื้อขายจะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลา 30 นาที
  • เมื่อดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนั้นลดลงในอัตราร้อยละ 20 ของดัชนีราคาหุ้นในวันทำการก่อนหน้า ระบบการซื้อขายจะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
  • การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์

หลังทำการซื้อขายหลักทรัพย์แล้วผู้ซื้อและผู้ขายมีหน้าที่ต้องชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ภายในวันทำการที่ 2 หลังการซื้อขาย (T+2) ยกเว้นตราสารหนี้ที่จะต้องชำระราคาและส่งมอบในวันทำการที่ 2 หลังการซื้อขาย (T+2) โดยใช้ระบบชำระราคาแบบยอดสุทธิ (Net Clearing) และส่งมอบหลักทรัพย์โดยวิธีหักโอนหลักทรัพย์ทางบัญชีระหว่างบริษัทสมาชิก ระบบหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวดำเนินการโดย บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด

การคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุน[แก้]

  • กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัทจดทะเบียน
  • การกำกับดูแลและตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์
  • การดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทสมาชิก

การเผยแพร่และให้บริการสารสนเทศเพื่อการลงทุน[แก้]

  • ระบบบริการข้อมูลหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • สิ่งพิมพ์และเอกสารเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • ห้องสมุดมารวย
  • สถานีโทรทัศน์ Money Channel
  • S-E-T Call Center

การส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ลงทุน[แก้]

ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute:TSI) เพื่อส่งเสริมความรู้ในด้านการเงินการลงทุนแก่ผู้ลงทุนเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการบริหารจัดการการเงิน อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคต ตลอดจนพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ โดยยึดหลักความมีจริยธรรมควบคู่กับความเป็นมืออาชีพที่จะให้บริการแก่ประชาชน โดยให้ความรู้ผ่านกิจกรรมอบรมและสัมนาในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเช่น หนังสือ วารสาร และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตลอดจนร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นพันธมิตรจัดตั้ง"มุมความรู้ตลาดทุน" (SET CORNER) ซึ่งเป็นเสมือนห้องสมุดสาขาย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด เพื่อทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่สื่อความรู้และรายการสาระบันเทิงสอดแทรกความรู้ ที่เน้นเนื้อหาสาระด้านการจัดการการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปยังผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจอย่างแพร่หลายผ่านสื่อต่าง ๆ และจัดตั้งช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "มันนีแชนแนล" เมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อให้ความรู้ข่าวสารเศรษฐกิจและการลงทุน

บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ[แก้]

  • ประโยชน์ต่อการจัดสรรเงินออมและการลงทุนในระยะยาว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในตลาดทุนและตลาดการเงินไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ และเป็นกลไกหรือตัวกลางในการระดมเงินออมหรือเงินทุนส่วนเกินจากภาคครัวเรือนมาจัดสรรสู่ภาคการผลิตที่ต้องการเงินทุน ทำให้การออมและการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้มีเงินออมมีแรงจูงใจในการออมและมีทางเลือกในการออมและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเงินออมเข้าสู่ระบบการเงินผ่านกลไกตลาดทุนมากขึ้น ก็จะมีช่องทางและโอกาสในการระดมทุนระยะยาวในตลาดทุนเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การใช้ทรัพยากรหรือเงินออมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยตรง
  • ประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจ การระดมเงินทุนจากตลาดทุนโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของธุรกิจต่าง ๆ นอกเหนือจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยทั่วไป ทำให้กิจการนั้นสามารถระดมเงินทุนระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้ตามที่ต้องการโดยไม่ต้องมีภาระจากดอกเบี้ยเงินกู้และสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของ
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ การที่บริษัทจดทะเบียนสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนโดยการออกหลักทรัพย์และเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปนั้น ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้มีเงินออมที่จะได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ที่เสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว
  • ช่วยขยายฐานภาษีของรัฐบาล เนื่องจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดเอ็ม เอ ไอ เป็นกิจการที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานและโปร่งใส มีระบบบัญชีที่ดีรวมทั้งมีการจัดทำงบการเงินและรายงานผลการดำเนินงานที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการเปิดเผยขัอมูลไปยังผู้ลงทุนและผู้ทีเกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย ซึ่งข้อมูลและรายงานทางการเงินดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการวิเคราะห์การลงทุนและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทในการวิเคราะห์การลงทุนและติดตามฐานะทางการเงินของธุรกิจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเป็นข้อมูลฐานภาษีที่ถูกต้องและจะช่วยให้การจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างสะดวก ถูกต้องและครบถ้วนอีกด้วย
  • ช่วยลดภาระหนี้ต่างประเทศ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อต้องการระดมทุนนั้น นับเป็นการระดมเงินทุนโดยผ่านตลาดทุนในประเทศเพื่อธุรกิจภายในประเทศ เงินทุนที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ระดมมาได้นั้น จะถูกใช้ไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจประเภทใหม่หรือขยายกิจการ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยตอบสนองความต้องการเงินทุนของธุรกิจภายในประเทศซึ่งนอกจากจากจะลดความต้องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศแล้ว ยังช่วยลดความต้องการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศได้อีกด้วย
  • เป็นดัชนีชี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นทั้งแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่สนใจของธุรกิจที่ต้องการเงินทุน และผู้ที่มีเงินออมที่ต้องการจะลงทุนรวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการระดมเงินทุนและจัดสรรเงินทุนระยะยาวให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้นภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในขณะนั้น ๆ จะมีความสำคัญและสัมพันธ์กับทิศทางและแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกลไกตลาดทุนในขณะนั้นจะสะท้อนถึงความต้องการเพื่อการลงทุนของภาคการผลิตและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการและภาวะของตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นดัชนีชี้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง

สัญลักษณ์และชื่อตลาดหลักทรัพย์[แก้]

การตั้งชื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และการกำหนดตราสัญลักษณ์ประจำองค์กรเกิดจากแนวคิดของหยิน-หยาง จากการบอกเล่าของคุณศุกรีย์ แก้วเจริญ ซึ่งเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนแรก

ผมไปเยี่ยมท่านไกรศรี นิมมานเหมินท์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่านได้พาผมไปโรงงานเซรามิกที่สันกำแพง ที่นี่เขามีสัญลักษณ์เป็นตราปลาตัวผู้ตัวเมียไล่กันเป็นวงกลมอยู่ในจาน ความหมายก็คือ หยินและหยาง เป็นสิ่งคู่กันแต่มันแตกต่างกัน และต้องเป็นไปตามวัฏจักรวนเวียนอย่างนี้ เหมือนความมืดกับความสว่าง เปรียบเสมือนตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องมีอุปสงค์และอุปทานคู่กัน และกลไกตลาดย่อมหมุนเวียนขึ้นลง จึงได้นำมาเป็นโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสีทองและสีดำ เพื่อจะสะท้อนความคิดและเป็นการเตือนผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ตระหนักว่า ตลาดทุนมีขึ้นมีลงและหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่คงที่ ส่วนการตั้งชื่อภาษาไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ภาษาอังกฤษ Securities Exchange of Thailand นั้นเป็นความตั้งใจที่จะใช้ชื่อภาษาอังกฤษอย่างนี้ ไม่ใช่ความผิดพลาดอะไร เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคแรกทำหน้าที่ 2 อย่าง ทั้งกำกับดูแลและเป็นตลาดแลกเปลี่ยนชื้อขายหลักทรัพย์ หากดูแผนพัฒนาตลาดทุนระยะยาวได้มองไว้ข้างหน้าเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตจะต้องมีการแยกหน่วยงานกำกับการซื้อขายและดูแลพัฒนาตลาดทุนออกจากกันต่อไป

รายนามผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ[แก้]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 ศุกรีย์ แก้วเจริญ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2518 29 มิถุนายน พ.ศ. 2521
2 ณรงค์ จุลชาต 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 6 สิงหาคม พ.ศ. 2523
3 ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 1 กันยายน พ.ศ. 2523 31 มีนาคม พ.ศ. 2525
4 สิริลักษณ์ รัตนากร 1 สิงหาคม พ.ศ. 2525 31 สิงหาคม พ.ศ. 2528
5 ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ 16 กันยายน พ.ศ. 2528 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535
6 เสรี จินตนเสรี 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539
7 สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
8 วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ 15 กันยายน พ.ศ. 2542 31 สิงหาคม พ.ศ. 2544
9 กิตติรัตน์ ณ ระนอง 10 กันยายน พ.ศ. 2544 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
10 ภัทรียา เบญจพลชัย 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
11 จรัมพร โชติกเสถียร[3] 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
12 เกศรา มัญชุศรี 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
13 ดร.ภากร ปีตธวัชชัย[8] 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน

บริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ[แก้]

  • บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด
  • บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท สยามดีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท เซ็ทเทรด ดอตคอม (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด (สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม มันนี่ แชนแนล)
  • บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด

ภาษีเงินปันผล[แก้]

เมื่อผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ถูกต้อง ในส่วนนี้จึงสรุปการเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อเป็นข้อมูลดังปรากฏต่อไปนี้

  • ภาษีอากรของผู้ลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
    • บุคคลธรรมดา
      • หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 ถ้าได้รับเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด
      • เลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 หรือเลือกนำเงินปันผลไปรวมเสียภาษีปลายปี ถ้าได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม
      • ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าได้รับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
    • นิติบุคคล
      • หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 ถ้าผู้มีเงินได้ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน
      • ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าผู้มีเงินได้เป็นบริษัทจดทะเบียนและได้ถือหุ้นเป็น เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนจ่าย และ 3 เดือนหลังจ่ายเงินปันผล จากบริษัทไทยหรือกองทุนรวม
      • ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าผู้มีเงินได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนจ่าย และ 3 เดือนหลังจ่ายเงินปันผล และบริษัทดังกล่าวมิได้ถือหุ้นในบริษัท ผู้มีเงินได้
      • ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าได้รับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • ภาษีอากรของผู้ลงทุนต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
    • ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10[9]

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2529[แก้]

  • 17 มีนาคม พ.ศ. 2519 – ดัชนีปิดที่ 76.43 จุดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - เหตุการณ์ 6 ตุลา ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -0.47จุดคิดเป็น-0.59% ปิดที่ 79.33 จุด
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2520 - ดัชนีปิดที่ 105.42 จุดลดลง​ -6.73 จุด ลดลง -6.00%
  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 - ดัชนีปิดที่ 179.81 จุดลดลงมากถึง -5.70% ภายหลัง​พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์​เป็นนายกรัฐมนตรี​เพียง7วัน
  • 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 - ดัชนีปิดที่ 240.20 จุดลดลง -6.31%
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2522 – บริษัทราชาเงินทุนถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เรียกวิกฤตการณ์ราชาเงินทุน[ต้องการอ้างอิง]
  • 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 - ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 146.11 จุด[10] ต่ำที่สุดในรอบหนึ่งปีอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ราชาเงินทุน
  • 14 กันยายน พ.ศ. 2525 - ดัชนีปิดที่ 131.89จุดลดลง​ -6.88 จุด ลดลง-4.96%

พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2539[แก้]

  • 19 ตุลาคม พ.ศ. 2530 – ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดต่ำลงอย่างรวดโดยลดลงกว่า 509.32 จุดในวันเดียว (เรียก วันจันทร์ทมิฬ) มีผลถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนหมดความเชื่อมั่นจนมีการสั่งขายหุ้นเป็นจำนวนมากโดยดัชนีเปิดตลาดวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ที่ 472.86 จุด และ ดัชนีปิดตลาดที่ 459.01 จุด ลดลง -​13.85 จุดภายในวันเดียว
  • วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ดัชนีลดลงอีก -​36.64 จุดปิดที่ 422.37 จุด คิดเป็น -7.98%
  • วันที่ 21 ตุลาคม ปิดที่ 391.44 จุดลดลง -30.93 จุด ลดลง -7.32%
  • วันที่ 26 ตุลาคม ปิดที่ 368.18 จุดลดลง -31.31 จุด ลดลง -7.84%
  • วันที่ 27 ตุลาคม ปิดที่ 336.68 จุดลดลง -31.50 จุด ลดลง -8.56%
  • วันที่ 28 ตุลาคม ปิดที่ 330.80 จุดลดลง -5.88 จุด ลดลง -1.75%
  • วันที่ 29 ตุลาคม ปิดที่ 307.62 จุดลดลง -23.18 จุด ลดลง -7.01%
  • วันที่ 30 ตุลาคม ปิดที่ 299.83 จุดลดลง -7.79 จุด ลดลง -2.53%
  • วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ดัชนีปิดตลาดที่ 253.98 จุด
  • วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และ ดัชนีปิดตลาดที่ 243.97 ลดลง 10.01 จุด ต่ำสุดในรอบปี[11]
  • 11​ มกราคม​ พ.ศ. 2531- เกิดข่าวลือเรื่อง​การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยใน คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 44 จากแรงกดดันของ​ กลุ่ม 10 มกรา​ ดัชนีลดลง -19.76 จุด หรือ -6.04%
  • 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 - ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง -21.76 จุด หรือ - 5.41% ปิดที่ 380.29 จุด
  • 13 ตุลาคม พ.ศ. 2532 - เกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลกเรียกว่า Friday the 13th mini-crash โดยดัชนีดาวน์โจนส์ลงไปกว่า 190.58 จุด -6.91% ด้านตลาดหุ้นไทย ได้รบผลกระทบในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ดัชนีปิดตลาดวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ที่ 705.60 จุด ดัชนีปิดตลาดวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2532 661.45 จุด ลดลง 44.15 จุดลดลง 6.26%[12]
  • 2 สิงหาคม พ.ศ. 2533 – เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ส่งผล ให้ ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ดัชนีปิดตลาดที่ 1009.04 จุด ลดลง จากวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2533 -88.48 จุด คิดเป็น -8.06% จุด ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ดัชนีปิดที่ 922.35 จุด ลดลง -86.69 จุด คิดเป็น -8.59% และลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ดัชนีปิดตลาดที่ 544.30 จุดต่ำสุดในรอบหนึ่งปี
  • 22 สิงหาคม พ.ศ. 2533 มีข่าวการสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลัง ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลด กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย [13]ซึ่งภายหลังข่าวดังกล่าวดัชนีปรับลดลงใน วันที่ 22 สิงหาคม ปิดที่ 795.40 จุดลดลง -8.61% วันที่ 23 สิงหาคม ดัชนีปิดที่ 735.39 จุดลดลง -60.01 จุด -7.54%
  • 24 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ซัดดัม ฮุสเซน ปรากฏตัวทางโทรทัศน์พร้อมตัวประกันชาวอังกฤษ ซึ่ง ซัดดัม ฮุสเซน ปฏิเสธไม่ให้ออกนอกประเทศอิรัก ส่งผลให้ดัชนีปิดที่ 695.81จุด ลดลง -5.38% วันที่ 26 สิงหาคม ประมวล สภาวสุ ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • 17 กันยายน พ.ศ. 2533 น้ำมันดิบภายในประเทศปรับตัวสูงมากจาก​สงครามอ่าวเปอร์เซีย[14] ส่งผลให้ในวันที่ 17 กันยายน ดัชนีปิดที่702.48จุด ลดลง-7.57% และ วันที่ 20 กันยายน ดัชนีปิดที่ 647.35 จุด ลดลง-5.72%
  • 25 กันยายน พ.ศ. 2533 ภายหลังเหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พ.ศ. 2533 ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 613.95 จุด ลดลง -5.12%
  • 4 ตุลาคม พ.ศ. 2533 การรวมประเทศเยอรมนี​และพายุอีราพัดเข้าจังหวัดอุบลราชธานีส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ดัชนีปิดที่ 671.99จุด ลดลง-5.86%
  • 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ภายหลังมาร์กาเรต แทตเชอร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 พฤศจิกายน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน -37.01 ปิดที่ 601.85 จุดลดลง-5.81%
  • 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 - เกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 ดัชนีปิดตลาดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่ 791.64 จุด ดัชนีปิดตลาดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่ 734.24 จุด ลดลงไปถึง -57.4 จุดหรือ -7.25%
  • 20​ สิงหาคม​ ​พ.ศ. 2534 - ความพยายามรัฐประหารในสหภาพโซเวียต พ.ศ. 2534 มีผลให้ดัชนีปิดลดลง-42.89 จุด​หรือ-6.44% ปิดที่​ 622.81 จุด
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 - ดัชนีปิดตลาดที่ 717.62 จุดลดลง -43.36 หรือ-5.70% เนื่องจากมีการชุมนุมที่อาคารรัฐสภาไทย
  • 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 - ดัชนีปิดตลาดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่ 732.89 จุด ดัชนีปิดตลาดวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่ 667.84 จุด ลดลง 65.05 จุด หรือ 8.88% ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • 4 มกราคม พ.ศ. 2537 – ดัชนีราคาหุ้นได้สร้างจุดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีปิดตลาดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2537 ที่ 1,753.73 จุด เพิ่มขึ้น 70.88 จุด หรือ 4.21% ค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไร 31.49
  • 7 มกราคม พ.ศ. 2537 - ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลง -92.51 จุด หรือ-5.55% ต่อมาวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2537 ดัชนีหุ้นไทยลดลงถึง -117.30 จุด ปิดที่ 1487.76 จุด ลดลงมากถึง -7.77%
  • 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 - ภายหลังประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ฉบับที่ 3 มีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าว[15] ดัชนี ลดลง -99.00 จุด หรือลดลง -6.86%
  • 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 - ดัชนีปิดที่ 1322.85 จุด ลดลง -69.96 จุด -4.99 % เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศเม็กซิโก
  • 7 ตุลาคม พ.ศ. 2539 - ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลดลง -60.26 จุด หรือ 6% ปิดที่ 944.63 จุด ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด อนึ่ง นายสุขวิช รังสิตพล ประกาศลาออกจาก เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ในวันนี้
  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 - ดัชนีปรับตัวลดลงเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 โดยลดลง -58.39 จุด หรือ -5.83%

พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2549[แก้]

  • 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 – รัฐบาลไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท นับเป็นจุดเริ่มของวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540
  • 27 ตุลาคม พ.ศ. 2540 – ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดต่ำลงอย่างรวดโดยลดลงกว่า 554.26 จุดในวันเดียว โดยตลาดปิดทำการเวลา 15.30 น. ก่อนเวลาปิดทำการปกติ เรียก The October 27th 1997 Mini-Crash[16]ด้านตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบโดยในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดที่ 491.01 ลดลง-2.99จุดคิดเป็น-0.61% และในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ดัชนีปิดตลาดที่ 460.80 ลดต่ำลง 30.21 จุด หรือ 6.15%[17]
  • 25 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ภายหลังประเทศไทยขอเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ดัชนีปรับตัวลดลง -29.98 จุด ปิดที่ 529.61 จุด หรือลดลง -5.36%
  • 8 ธันวาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงการคลังร่วมกับองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ประกาศผลการพิจารณาแผนฟื้นฟู 58 สถาบันการเงิน และให้ปิดดำเนินการทั้งสิ้น 56 แห่ง
  • 5 มกราคม พ.ศ. 2541 จากการสั่งปิดดำเนินกิจการของสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 56 แห่งอาทิ ธนาคารมหานคร ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -32.61 จุด หรือ -6.54% ภายในวันดังกล่าว
  • 10-12 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เกิดวิกฤตค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก[18] ส่งผลให้ตลาดหลัทรัพย์ปรับตัวลดลง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2541 -16.15 จุด หรือ -5.24% ปิดที่ 292.10 จุดและลดลงต่อเนื่อง ในวันที่ 11 มิถุนายน -2.80% และ 12 มิถุนายน -1.60%
  • 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เกิดวิกฤตค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -15.98 จุด หรือ -5.72%
  • 4 กันยายน พ.ศ. 2541 – ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้สร้างจุดต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี โดยในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2541 ดัชนีปิดตลาดที่ 207.40 จุด และวันที่4 กันยายน พ.ศ. 2541 ดัชนีปิดตลาดที่ 207.31 จุด ลดลง 0.09 จุด หรือ 0.04%[19]
  • 10-12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้จัดตั้ง ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อเป็นตลาดรองสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541[20] ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวนอย่างมากโดย ในวันที่ 10 พฤศจิกายน -27.23 จุด -7.48 % ปิดที่ 336.62 จุด วันที่ 11 พฤศจิกายน ปรับเพิ่ม 19.64 จุด หรือ เพิ่มขึ้น 5.83 % ปิดที่ 356.26 จุด และในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ปรับตัวลดลง -23.20 จุด หรือ -6.51% ปิดที่ 328.28 จุด
  • 5 มกราคม พ.ศ. 2543 - ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม ในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งสุงขึ้น นักลงทุนแห่เทขายหุ้นในวันดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดหุ้นไทยดัชนีลดลง 32.61 จุด ดัชนีปิดตลาดที่ 465.85 จุด ลดลงจากวันก่อน -6.54%
  • 22 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2543 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -28.92 จุด ลดลงมากถึง -7.08% ปิดที่ 379.43 จุด สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่อ่อนตัวลง[21]
  • 17 เมษายน พ.ศ. 2543 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -21.57 จุด ลดลงมากถึง -5.20% ปิดที่ 392.88 จุด
  • 13 กันยายน พ.ศ. 2544 - ภายหลังเกิดวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ตลาดหุ้นไทยในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ปิดที่ 330.37จุด ตลาดหุ้นไทยในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2544 ดัชนีลดลง 22.2 จุด ปิดตลาดที่ 308.17 จุด ลดลง -6.27% วันที่14 กันยายน พ.ศ. 2544 ดัชนีลดลงอีก 20.07 จุด ปิดตลาดที่ 288.10จุด ลดลง -6.51% และในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 ดัชนีลดลงอีก 17.49 จุด ปิดตลาดที่ 270.61จุด -6.07% มูลค่าตามราคาตลาดของตลาดหุ้นไทยระหว่าง11 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึง 20 กันยายน พ.ศ. 2544 เสียหายกว่า 2.51 แสนล้านบาท[22]
  • 8 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - เกิดสงครามในอัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2544–2557) โดยวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ดัชนีปิดที่ 280.88 จุด และวันที่8 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ดัชนีปิดที่ 277.28 ลดลง 2.6 จุด -1.07% ก่อนลงไปต่ำสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ดัชนีปิดที่ 267.63 จุด ลดลง 3.27จุด -1.21%
  • 23 มกราคม พ.ศ. 2549 – มูลค่าการซื้อขายสิ้นวันอยู่ที่ 94,062.04 ล้านบาท เป็นมูลค่าการซื้อขายที่สูงเป็นอันดับที่ 4 ของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย โดยเป็นมูลค่าการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กว่า 57,058.10 ล้านบาท ให้กลุ่มเทมาเสกโฮลดิ้งส์ ประเทศสิงคโปร์[ต้องการอ้างอิง]
  • 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 – ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อป้องกันกันเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่งผลให้ผู้ลงทุนต่างชาติตื่นตระหนกพากันเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก โดยดัชนีลดลงกว่า 142.63 จุดหรือ 19.52% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในวันเดียวในประวัติศาสาตร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนปิดตลาดที่ลบ 108.41 จุด หรือลดลง 14.84% และมีการใช้มาตรการ Circuit Breaker เป็นครั้งแรกของตลาดในช่วงเวลา 11.26 น.ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีลดลงกว่า 74.06 หรือ 10.14%[ต้องการอ้างอิง]

พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2559[แก้]

  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – เนื่องจากการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ดัชนีตกลงในวันดังกล่าว -6.48% -38.25 จุด ปิดที่ 551.8 จุด วันต่อมา -4.18% -23.09 จุดปิดที่ 528.71 จุด และในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ดัชนีลดลง -36.37 จุด -6.88% ปิดที่ 492.34จุด
  • 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ (circuit breaker) 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.35 น. เนื่องจากตลาดหุ้นไทย​ ลดลงมากกว่า 10 % เป็นครั้งที่ 2 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 14.35 น. อยู่ที่ 449.91 จุด ลดลง 50.08 จุด ลดลง 10.02 %
  • 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลง -32.37 จุด หรือ -6.96% ปิดที่ 432.87 จุด เนื่องจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์
  • 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ (circuit breaker) 30 นาที[23] ตั้งแต่เวลา 16.04 น. เวลานั้น ดัชนีร่วงลง 10% อยู่ที่ระดับ 389.58 จุด หรือลดลง 43.29 จุด หลังเปิดการซื้อขายอีกครั้งในรอบที่ 2 ดัชนียังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยปิดตลาดช่วงบ่ายที่ระดับ 387.43 จุด ลดลง 45.44 จุด หรือลดลง 10.50 % ดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์
  • 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีหุ้นไทยทรุดถึง 58.72 จุด หรือ 8.03% เวลา 14.40 น.[24] ปิดที่ 692.72 ลดลง 38.75 จุดหรือ 5.30% ภายในวันเดียว ผันผวนอย่างมากจากระดับสูงสุด 736.34 จุดและต่ำสุด 670.72 จุดในวันเดียวกัน สาเหตุมาจากการปล่อยข่าวลือในตลาดหุ้นเหตุการณ์ส่งผลให้พนักงานบริษัทเคที ซิมิโก้ และอดีตกรรมการบริษัทยูบีเอส ถูกจับ[25]
  • 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 – กลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย บุกเข้าเผาทำลายชั้นล่าง ของอาคารที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังกองกำลังทหารติดอาวุธ เข้าสลายการชุมนุมของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่แยกราชประสงค์ ทำให้การซื้อขายหุ้น ของตลาดหลักทรัพย์ เปิดเพียงครึ่งวันเช้า ต่อมา ปิดทำการในวันที่ 20 และ 21 พฤษภาคม ตามประกาศของทางราชการ ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 - วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปิดที่ 744.31 จุดลดลงจากวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 21.23 จุดหรือ-2.77% และในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตลาดหุ้นไทยดัชนีลดลง 23.02 จุด -3.09% ปิดที่ 721.29 จุดต่ำสุดในรอบสองเดือน
  • 23 กันยายน พ.ศ. 2554 – ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 958.16 จุด ลดลง 32.43 จุด หรือ -3.27% มูลค่าการซื้อขาย 50,108.85 ล้านบาท ขณะที่ TFEX หยุดซื้อขาย Silver Futures ครึ่งชั่วโมงหลังราคาร่วง 10% เป็นตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก หลังดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงหนักกว่า 400 จุดเมื่อคืน เป็นผลมาจากความวิตกกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะความผิดหวังต่อมาตรการสว็อปพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปกดดันทางจิตวิทยาการลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหมี [26]
  • 26 กันยายน พ.ศ. 2554 – ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 904.06 จุด ลดลง 54.10 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -5.65% มูลค่าการซื้อขาย 47,630.63 ล้านบาท [27] ระหว่างวันมีการร่วงลงอย่างรุนแรงถึง -90.30 จุด และปิดทำการซื้อขายชั่วคราว 5 นาที โดยเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ชี้แจงมาจากความผิดพลาดของระบบตลาดเอ็มเอไอ [28]
  • 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554 - ดัชนีปิดที่ 869.31 ลดลง 46.90จุด หรือ -5.12% เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศถอนทุนเพื่อรับมือวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป
  • 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 – ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,643.43 จุด เพิ่มขึ้น 0.03 จุด 0.001% มูลค่าการซื้อขาย 57,451.27 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 19 ปี 4 เดือน[29]
  • 2 มกราคม พ.ศ. 2557 - ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกแถลงการณ์ต่อสื่อซึ่งเขาไม่ชี้ขาดโอกาสรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 อีกหนหนึ่ง ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557 -67.94 จุด หรือ ลดลง -5.23 % ปิดที่ 1230.77 จุด
  • 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 – ระหว่างวัน ดัชนีหลักทรัพย์ไทยร่วงลงหนักถึง 138.96 จุด หรือลดลง 9.2% สุดท้ายปิดตลาด ดัชนีอยู่ที่ 1,478.49 จุด ลดลง 36.46 จุด มูลค่าการซื้อขาย 102,662.94 ล้านบาท[30] ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหาพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[31]

พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน[แก้]

  • 11 มกราคม พ.ศ. 2561 - ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำสถิติปิดเหนือระดับ 1,800 จุดได้เป็นครั้งแรก ที่ระดับ 1,802.80 จุด หรือเพิ่มขึ้น 7.88 จุด มูลค่าการซื้อขาย 86,821.50 ล้านบาท ทั้งนี้ในการซื้อขายระหว่างวันดัชนีแตะระดับสูงสุดที่ 1,804.54 จุด และแตะจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,786.47 จุด[32]
  • 24 มกราคม พ.ศ. 2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำสถิติใหม่ที่ระดับ 1,838.96 จุด[33] สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการ
  • 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ปิดที่ 1,595.58 จุด นับจากวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่ดัชนีปิดที่ 1,614.14 จุด[34][35]
  • 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปิดที่ 1,548.37 จุด ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน[36]นับจากวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,561.66 จุด และ ต่ำสุดในรอบปี พ.ศ. 2561
  • 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมูลค่าการซื้อขาย 204,855.67 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์[37]
  • 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตลาดหลักทรัพย์ลดลงมาก - 5.05 % ในวันเดียวโดยปรับลดลง - 72.69 จุด ปิดที่ 1,366.41 จุด จากโรคระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019
  • 9 มีนาคม​ พ.ศ. 2563​ ตลาดหลักทรัพย์ดัชนีทำจุดต่ำสุดในรอบ 7 ปี 4 เดือน 2 สัปดาห์ ดัชนี ปิดที่ 1,255.94 จุด ลดลง - 108.63 จุด หรือ -7.96%[38] จากความกังวลโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 และสงครามราคาน้ำมันรัสเซีย–ซาอุดีอาระเบีย พ.ศ. 2563 นับจากวันที่ 24 ตุลาคม ​​พ.ศ. 2555 ที่ปิดที่ 1,290.48 จุด
  • 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมากกว่า -10 % ในเวลา 14.38 น. โดยมีการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์หยุดทำการซื้อขายในช่วงเวลา 14.38 น. ถึง 15.08 น. ดัชนีปิดที่ 1,114.91 จุด ลดลง -134.98 จุด หรือ -10.80% เนื่องจากองค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยดัชนีปิดต่ำสุดรอบ 8 ปี 1 เดือน จากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปิดที่ 1,112.91 จุด
  • 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมากกว่า -10 % ในเวลา 9.59 น. โดยมีการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์หยุดทำการซื้อขายในช่วงเวลา 9.59 น. ถึง 10.29 น. ดัชนีปิดที่ 1,128.91 จุด เพิ่มขึ้น 14.00 จุด เนื่องจากการห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐจากประเทศในเขตเชงเกน
  • 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ตลาดหลักทรัพย์ ปรับลดลง -82.83 จุด ปิดที่ 1,046.08 จุด หรือลดลง -7.34% ในวันเดียว ต่ำสุดในรอบ 8 ปี 2 เดือน 1 สัปดาห์ นับจากวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1,051.63 จุด เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของระบบธนาคารกลางสหรัฐ
  • 23 มีนาคม พ.ศ. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมากกว่า -8 % โดยมีการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์หยุดทำการซื้อขายในช่วงเวลา 15.25 น. ถึง 15.55 น. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดที่ 1,024.46 จุด ลดลง -102.78 หรือ -9.12% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี 2 เดือน 20 วัน นับจากวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555 ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1,036.21 จุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยโควิด-19
  • 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน 3 สัปดาห์ โดยดัชนีปิดที่ 1,194.95 จุด - 6.69 จุด หรือ 0.56% เนื่องจาก การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร[39]นับจาก 7 เมษายน พ.ศ. 2563 ดัชนีปิดที่ 1,214.95 จุด
  • 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมากกว่า 5% โดยนักลงทุนกังวลเรื่องการปิดจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อป้องกันโรค ปิดตลาดอยู่ที่ 1,401.78 จุด ลดลง 80.60 จุด หรือ -5.44% มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 129,430.44 ล้าน
  • 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดที่ 1,521.72 จุดลดลง -​5.94 จุด ทำสถิติ​ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน 3 วัน นับจาก 3 มีนาคม พ.ศ. 2564 ปิดที่ 1,543.40 จุด
  • 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ดัชนีลดลง -21.00 จุด ปิดที่ 1,568.69 จุด ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หนึ่งสัปดาห์ นับจาก 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564
  • 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดที่ 1,713.20 จุด ปรับขึ้น +1.62 จุด หรือคิดเป็น +0.09% สูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน 18 วัน นับจาก 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ปิดที่ 1,711.97 จุด
  • 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จากความกังวลการที่รัสเซียประกาศบุกยึดประเทศยูเครน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลดลง -33.73 จุด คิดเป็น -1.99% ปิดที่ 1,662.72 จุด
  • 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,523.49 ลดลง -49.18 จุด คิดเป็น -3.13 % ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน 8 วันจากเหตุกลุ่มการเงินเอสวีบีล่ม ธนาคาร Silvergate Bank และธนาคาร Signature Bank ล่ม [40]
  • 23 มกราคม พ.ศ. 2567 ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,356.54 จุด - 13.38 จุด หรือ -0.98% จุดจากผลกระทบสงครามอิสราเอล–ฮะมาส พ.ศ. 2566 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน 5 วัน นับจากวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563[41]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พิชัย ชุณหวชิร" ผงาดประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18
  2. ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. 3.0 3.1 การเดินทางแห่งชีวิต 30ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2548, ISBN 974-93040-2-0
  4. ตลาดหลักทรัพย์แจ้งย้ายที่ทำการ, 13 มีนาคม 2541.
  5. "หนังสือแจ้งย้ายที่ทำการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-28. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  6. "AIA Capital Center + Stock Exchange of Thailand | 42 +..." SkyscraperCity Forum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-09-08.
  7. รศ.จิรัตน์ สังข์แก้ว, รู้วิเคราะห์ เจาะเรื่องหุ้น, เจเอสบี พับลิชชิ่ง, กรุงเทพฯ ,2548, หน้า 80-81, ISBN 974-93714-1-0
  8. "คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติแต่งตั้ง ดร. ภากร ปีตธวัชชัย เป็นผู้จัดการคนที่ 13 มีผล 1 มิ.ย. 2561". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-04.
  9. ภาษีอากรจากการลงทุนในตลาดทุน
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-06-23.
  11. Thailand Stock Market (SET50)
  12. Historical data: SET Index - Thailand (^SET)
  13. เหลียวหลังแลหน้า “เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ” : 7 ทศวรรษ ปลด 4 คน
  14. 6 วิกฤติน้ำมันถึงหุ้นไทย ฉุดบรรยากาศลงทุนผันผวน
  15. ประกาศกระทรวงการคลัง
  16. A Report by the Division of Market Regulation U.S. Securities and Exchange Commission
  17. ด้านตลาดหุ้นไทยพาณิชย์
  18. เงินหยวน จะต้านกระแสวิกฤตเศรษฐกิจเอเซีย ได้นานหรือไม่
  19. "ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้สร้างจุดต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2011-06-05.
  20. "บันทึกเหตุการณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 2020-03-09.
  21. หลีกเลี่ยงหายนะ จากวิกฤติตลาดหุ้น
  22. ภายหลังเกิด วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544[ลิงก์เสีย]
  23. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลง
  24. ดัชนี SET เปิดตลาดภาคบ่ายยังร่วงไม่หยุด ทรุดตัวไปแล้วกว่า 8%
  25. ตรรวบผู้บริหารยูบีเอส-พนักงานซีมิโก้-ปล่อยข่าวทำตลาดหุ้นร่วง2ราย
  26. ""จรัมพร" แถลงสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย คาดวิกฤตรอบนี้เงินไหลออก 1.5 แสนล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-24. สืบค้นเมื่อ 2011-09-23.
  27. ดัชนีปิดตลาดหลักทรัพย์
  28. "ปลั๊กหลุด!14.36-น.จุดเปลี่ยนหุ้นที่ต้องเคลียร์!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-06. สืบค้นเมื่อ 2022-05-25.
  29. เศรษฐกิจทรุดการเมืองซ้ำ! ลาทีหุ้นปี 56
  30. หุ้นดิ่งเหว138จุด เซ่นข่าวลือ
  31. Black+Monday...สงครามการเงินเขย่ารัฐบาลตู่
  32. ตลาดหุ้นไทยปิดเหนือ 1,800 จุดครั้งแรก
  33. หุ้นไทยภาคบ่ายปิดตลาด 1,838.96 จุด บวก 7.18 จุด หรือ 0.39%
  34. หุ้นไทยปิดตลาดบ่าย พุ่งขึ้น 28.35 ดัชนีอยู่ที่ 1,614 จุด
  35. แรงเทขายหุ้นใหญ่ฉุด SET รูดหนัก 19 จุด หลุด 1,600 จุด
  36. SET ดิ่งแรง 35จุด
  37. หุ้นไทยวอลุ่ม 2 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  38. "หุ้นไทย" ภาคบ่าย ปิดตลาด 1,340.52 จุด ลบ -54.56 จุด หรือ -3.91%
  39. "ประกาศแต่งตั้ง หัวหน้าผู้รับผิดชอบ กอร.ฉ. แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง". ไทยรัฐ. 15 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
  40. หุ้นดิ่งเกือบ 50 จุด แตะจุดต่ำสุดในรอบปีครึ่ง ‘ตลท’ แจง หลังนักลงทุนโอเวอร์รีแอค
  41. หุ้นไทยปิดตลาดวันนี้ (18 พ.ย.) +14.78 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.59 จุด

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]