อำเภอมวกเหล็ก
อำเภอมวกเหล็ก | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Muak Lek |
ย่านตลาดมวกเหล็กกับบรรยากาศยามเย็น | |
คำขวัญ: เนื้อนุ่ม นมดี กะหรี่ปั๊บดัง คลังเครื่องหนัง วังรีสอร์ต ยอดน้ำตก | |
แผนที่จังหวัดสระบุรี เน้นอำเภอมวกเหล็ก | |
พิกัด: 14°39′20″N 101°11′54″E / 14.65556°N 101.19833°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สระบุรี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 681.4 ตร.กม. (263.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 56,360 คน |
• ความหนาแน่น | 82.71 คน/ตร.กม. (214.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 18180, 18220 (เฉพาะตำบลซับสนุ่น), 30130 (เฉพาะตำบลลำพญากลางและตำบลลำสมพุง) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1911 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอมวกเหล็ก หมู่ที่ 3 ถนนเทศบาล ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 18180 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
มวกเหล็ก เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสระบุรี แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแก่งคอย
ประวัติศาสตร์
[แก้]ในอดีตอำเภอมวกเหล็กเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแก่งคอย กระทรวงมหาดไทยเห็นควรในการแบ่งเขตการปกครองของอำเภอแก่งคอยออกมาเป็น อำเภอมวกเหล็ก โดยรวมพื้นที่ตำบลมวกเหล็ก ตำบลคำพราน และตำบลแสลงพัน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511 โดยไม่ผ่านการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ[1] ที่มาของชื่ออำเภอมวกเหล็กมีอยู่สองความคิด ความคิดแรกมวกเหล็กเป็นชื่อของเถาไม้ชนิดหนึ่งที่ ขึ้นอยู่ทั่วไปริมลำธารแห่งนี้ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า มวกเหล็ก ความคิดหนึ่งเล่าว่าเคยพบหมวกเหล็กของนักรบโบราณที่ลำธารแห่งมวกเหล็กนี้ จึงเรียกว่า บ้านหมวกเหล็ก ต่อมาคนที่นี่เรียกเป็น มวกเหล็ก[2]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอลำสนธิ (จังหวัดลพบุรี)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสีคิ้วและอำเภอปากช่อง (จังหวัดนครราชสีมา)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองนครนายก (จังหวัดนครนายก)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแก่งคอยและอำเภอวังม่วง
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอมวกเหล็กแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 80 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | ภาษาไทย | ภาษาอังกฤษ | จำนวนหมู่บ้าน |
---|---|---|---|
1. | มวกเหล็ก | Muak Lek | 13 หมู่บ้าน |
2. | มิตรภาพ | Mittraphap | 10 หมู่บ้าน |
3. | หนองย่างเสือ | Nong Yang Suea | 14 หมู่บ้าน |
4. | ลำสมพุง | Lam Somphung | 10 หมู่บ้าน |
5. | ลำพญากลาง | Lam Phaya Klang | 18 หมู่บ้าน |
6. | ซับสนุ่น | Sap Sanun | 15 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอมวกเหล็กประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลมวกเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลมวกเหล็กและตำบลมิตรภาพ
- องค์การบริหารส่วนตำบลมวกเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมวกเหล็ก (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลมวกเหล็ก)
- องค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมิตรภาพ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลมวกเหล็ก)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองย่างเสือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองย่างเสือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลลำสมพุง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลำสมพุงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลลำพญากลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลำพญากลางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลซับสนุ่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลซับสนุ่นทั้งตำบล
การคมนาคม
[แก้]เส้นทางที่น่าสนใจ ได้แก่
- อุโมงค์ต้นไม้ บนเส้นทางมวกเหล็ก-วังม่วง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2089
- เนินพิศวง บนเส้นทางสายมวกเหล็ก-ซับน้อยเหนือ หากจอดรถเข้าเกียร์ว่าง จะเกิดภาพลวงตามองเห็นรถเคลื่อนที่จากที่ต่ำไปยังที่สูง
เส้นทางรถไฟที่ผ่านมวกเหล็ก มี 3 สถานี
1. | สถานีรถไฟมวกเหล็ก (สถานีหลัก) | ||
2. | สถานีรถไฟผาเสด็จ | ||
3. | สถานีรถไฟหินลับ |
ทางรถยนต์
[แก้]มีทางหลวงหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และมีถนนเส้นหลัก 10 สาย ได้แก่
1. | สายมวกเหล็ก–วังม่วง | ||
2. | สายมวกเหล็ก–ซับน้อยเหนือ | ||
3. | สายซับประดู่–บ้านท่าเสา | ||
4. | สายแก่งคอย–วังม่วง | ||
5. | สายเขาไม้เกวียน–หลังสถานีรถไฟ | ||
6. | สายหมู่ 3 – บ้านมอมะเกลือ | ||
7. | สายซับตาเพ็ง | ||
8. | สายบ้านปากคลอง–บ้านดงน้ำฉ่า | ||
9. | สายหมู่ 4 – หมู่ 7 | ||
10. | สายสถานีอนามัย–บ้านหินลับ |
รถประจำทาง จำนวน 3 สาย ได้แก่
- สายกรุงเทพฯ (จตุจักร) – มวกเหล็ก
- สายมวกเหล็ก – วังม่วง
- สายสระบุรี – มวกเหล็ก – น้ำตกเจ็ดสาวน้อย
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]- ไร่องุ่น ตั้งอยู่ริมสองข้างทาง เส้นทางมวกเหล็ก-วังม่วง
- น้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นน้ำตกที่มีถึงเจ็ดชั้น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
- สวนรุกขชาติมวกเหล็กและน้ำตกมวกเหล็ก
- ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค[3] เป็นหนึ่งในฟาร์มโคนมที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นสำนักงานใหญ่ของ อ.ส.ค.[4] เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งแรกๆของประเทศไทย มีกิจกรรมเช่น ปั่นเรือปั่น ฝึกรีดนมวัวโดยการสอนของเจ้าหน้าที่ ป้อนนมลูกวัว โชว์จับวัวด้วยเชือก และมีการทัวร์ทั่วฟาร์ม ที่มีฉากหลังเป็นภูเขา และท้องฟ้า บรรยากาศที่สดชื่น มีลานหญ้ากว้างขนาดใหญ่ และจุดจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับการเดินทางมาเยือนด้วยเฮลิคอปเตอร์ บริเวณนี้เป็นที่นิยมถ่ายรูปกันเป็นอย่างมาก
เทศกาล
[แก้]- เทศกาลศาลเจ้าพ่อมวกเหล็ก เป็นการแห่เฉลิมฉลองแด่ศาลเจ้าพ่อมวกเหล็กของมวกเหล็ก ในยามค่ำคืนจะเป็นงานเทศกาลออกร้านของกิน เครื่องเล่น และมีการแสดงเช่น งิ้ว ลิเก มีขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาของทุกปี
- เทศกาลวันโคนมแห่งชาติ เป็นการเฉลิมฉลองการเกิดขึ้นของโคนมไทย จัดขึ้นในช่วงครึ่งเดือนมกราคมของทุกปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเปิดงาน ภายในเทศกาลจะมีเครื่องเล่น ของกิน และการออกร้านของเจ้าของผลิตภัณฑ์นมต่างๆ
- เทศกาลทุ่งดอกทานตะวัน เทศกาลปลูกทุ่งทานตะวันสีเหลืองสุดสายตา กับฉากหลังเป็นภูเขาปลูกขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ของทุกปี
- เทศกาลถือศีลกินผัก มวกเหล็กมีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่ และมีศาลเจ้าพ่อมวกเหล็ก เมื่อถึงเทศกาลกินเจ จะมีการจัดซุ้มอาหารตามจุดต่างๆทั่วเมือง จัดขึ้นในทุกวันตรุษจีน เพื่อความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทุกชนิด จนถึงธรรมชาติ
ตลาด
[แก้]- ย่านตลาดมวกเหล็ก เป็นบริเวณก่อนถึงทางรถไฟ หากมาจากทิศใต้ บริเวณนี้เป็นตลาดที่มีครบทุกอย่าง ทั้งผักสดในตอนเช้า ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์การเกษตร ร้านกาแฟ ร้านสเต๊ก โต้รุ่ง มีร้านช่างตัดผมที่เปิดมาอย่างยาวนานมากมาย อาคารไม้ที่ดั้งเดิม และสวยงาม
- ย่านตลาดสีทองคำ เป็นย่านที่ตั้งของเทศบาลตำบลมวกเหล็ก มีร้านเช่นเดียวกับย่านตลาดมวกเหล็ก
- ย่านริมทางรถไฟ เป็นเพียงถนนสายสั้นๆริมทางรถไฟ เป็นย่านที่มีอาคารไม้แบบโบราณที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ที่สร้างโดยการรถไฟ เป็นบรรยากาศที่คลาสสิกอย่างมาก จะมีร้านค้า เช่น ร้านขนมเบเกอร์รี่ ร้านตัดผม ร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดเย็บ
- ย่านโต้รุ่ง มวกเหล็กมีโต้รุ่งอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกคือตลาดโต้รุ่งหน้าน้ำตก และตลาดโต้รุ่งริมทางรถไฟ
- ตลาดนัดวันเสาร์(ช่วงเช้า) ในช่วงเช้าของวันเสาร์เลยไปรษณีย์มวกเหล็ก จะพบกับถนนคนเดินที่ถอดยาว เต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย เป็นถนนคนเดินแห่งแรกของมวกเหล็ก และเก่าแก่ ร้านค้าในยุคก่อนยังคงอยู่ ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ชีวิต รวมตัวอยู่ที่นี่
- ถนนคนเดินมวกเหล็ก(ช่วงเย็น) ก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน พ่อค้าแม่ค้าจะเริ่มตั้งร้านของตัวเอง ริมศูนย์เพาะพันธ์ไม้มวกเหล็ก ถนนคนเดินแห่งนี้ตั้งอยู่ริมไม้สูง บรรยากาศร่มรื่นกับพระอาทิตย์ตก ร้านค้าของกินอร่อยๆ มากมาย ของใช้ที่มาจากช่างฝีมือ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ อาหารอร่อย ขนมต่างๆ
- ตลาดนัดสี่แยกต้นแค ตั้งอยู่ที่สี่แยกไฟแดงแห่งเดียวของมวกเหล็ก ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนสายมวกเหล็กวังม่วงและมวกเหล็ก-ซับน้อยเหนือ ที่นี่มีร้านของกิน วัตถุดิบทำอาหาร ของใช้ในประจำวัน อยู่มากมาย ตลาดเริ่มขึ้นช่วงเย็นทุกวันจันทร์ พฤหัส ศุกร์ และอาทิตย์
- ตลาดนัดวันพุธ ในอดีตเคยอยู่ที่ริมทางรถไฟ พ่อค้าแม่ค้าย้ายมาเช่าพื้นที่วัดมวกเหล็กนอกที่ตั้งอยู่ใกล้ ขอใช้ที่เป็นตลาดแทน ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในวัด เช่นเดียวกับตลาดนัดสี่แยกต้นแคร์ที่มีร้านค้าของกิน และวัตถุดิบทำอาหาร แต่จะมีร้านน้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด แต่จะได้เห็นความสวยงามของโบสถ์คู่กับตลาดนัดยามเย็น
ของกินท้องถิ่น
[แก้]- กะหรี่ปั๊บ เป็นขนมแบบตะวันตกผสมกับอินเดีย คาดว่าท้าวทองกีบม้าคิดค้นขึ้น เป็นขนมที่ทอดกรอบสอดไส้หลากหลายเช่น ไส้สัปปะรด ไส้พริกเผา ไส้เห็ดหอม ไส้เผือก ไส้องุ่นที่เป็นการผสมผสานกับองุ่นที่ปลูกมากในมวกเหล็ก รวมทั้งยังมีอีกหลากหลายไส้
- องุ่น ภูมิอากาศที่เหมาะสมในหน้าหนาวทำให้มีหลายคนปลูกองุ่นกัน รวมทั้งเพื่อการแวะชมสวน
การกีฬา
[แก้]ชาวมวกเหล็กมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬา พักผ่อนได้หลายแห่ง เช่น
- ฟิตเนสเทศบาลตำบลมวกเหล็ก
- สนามฟุตซอลมวกเหล็ก
- สนามบอลโรงพักมวกเหล็ก
รวมทั้งลานกีฬาและสนามเด็กเล่นอีกหลายแห่ง
ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ
[แก้]ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็กตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของถนนมิตรภาพ ก่อนถึงเทพประทานปาร์ควิว (กรณีเดินทางจากมวกเหล็ก-กรุงเทพมหานคร) ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ภายใต้งบประมาณประจำปี 2552 จำนวน 140 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2553 ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติม ได้แก่ งบประมาณไทยเข้มแข็ง จำนวน 76 ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารดังนี้
- อาคารที่พักนักกีฬา 5 ชั้น อาคารกีฬาในร่ม (กีฬามวย)
- อาคารกีฬาคนพิการ
- สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 50 เมตรพร้อมหลังคาและสระกระโดด[5] ตั้งอยู่ ที่ 329 หมู่ 4 ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีทัศนียภาพที่สวยงามท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยภูเขา มีโอโซนบริสุทธิ์เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย และตั้งอยูในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสระบุรีเหมาะสำหรับการพักผ่อนและเล่นกีฬาและให้เช่าสถานที่จัดกิจกรรม ประชุม สัมมนา ฯลฯ เป็นศูนย์กีฬาเพื่อสุขภาพ และห้องพักราคาประหยัดพร้อมสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม[6]
มวกเหล็กคัพ
[แก้]มวกเหล็กมีกิจกรรมแข่งขันกีฬา มวกเหล็กร่วมใจต้านภัยยาเสพติด ประจำทุกปี เริ่มแข่งในครั้งแรกในปี 2543 เราต้องการส่งเสริมให้คนที่นี่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ไม่ไปยุ่งกับสิ่งมอมเมา ยาเสพติด และเป็นการดูแลสุขภาพให้กับเรา ที่งานนี้มีการแข่งขัน ฟุตบอลชายและหญิง แบ่งประเภทเป็นกลุ่มบริหาร กลุ่มสตรีและแม่บ้าน และกลุ่มประชาชน ซึ่งทุกตำบลจะคัดเลือกส่งทีมเข้าแข่งขันประเภทละ 1 ทีม การแข่งขันเป็นระบบเหย้าเยือน หมุนเวียนกันไป พิธีเปิด-ปิดและนัดชิงชนะเลิศใช้สนามกีฬาของมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิกเป็นสนามกลางในกลางแข่งขัน[7]
การศึกษา
[แก้]สถาบันการศึกษาของรัฐบาล
[แก้]- โรงเรียนมวกเหล็กวิทยา
- โรงเรียนอนุบาลมวกเหล็ก
- โรงเรียนซับน้อยเหนือวิทยาคม
- โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช[8]
การศึกษาโดยเอกชน
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอมวกเหล็ก พ.ศ. ๒๕๑๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (121 ก): 1051–1053. December 31, 1968. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-03.
- ↑ "บรรยายสรุปจังหวัดสระบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-20. สืบค้นเมื่อ 2015-01-30.
- ↑ "ประวัติความเป็นมาฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-10. สืบค้นเมื่อ 2013-10-01.
- ↑ อ.ส.ค.
- ↑ ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก ไทยรัฐ
- ↑ "เกี่ยวกับศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2013-10-14.
- ↑ "การกีฬาอำเภอมวกเหล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-10. สืบค้นเมื่อ 2013-10-14.
- ↑ "ที่ตั้งโรงเรียนนายเรือกาศ ณ สนามบินมวกเหล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-11. สืบค้นเมื่อ 2013-08-25.
- ↑ "สถานที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-26.
- ↑ "โรงเรียนพีระวิทยา อำเภอมวกเหล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-10-01.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Muak Lek District