ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004
ห้วยแก้ว - พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว19.4 กิโลเมตร (12.1 ไมล์)
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 (ต่อเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ - ดอยสุเทพ) ช่วงตั้งแต่ประตูเมืองเชียงใหม่ ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่เรียกว่า ถนนห้วยแก้ว แต่ช่วงอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยถึงดอยสุเทพเรียกว่า ถนนทางขึ้นดอยสุเทพ หรือ ถนนศรีวิชัย ปัจจุบัน ช่วงประตูเมืองเชียงใหม่ถึงสวนรุกขชาติห้วยแก้วเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีเกาะกลาง ช่วงผ่านหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่มีขนาด 4 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลาง ขึ้นไปบนภูเขาที่สูงชัน ผ่านดอยสุเทพ จนถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ถึงทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพมีขนาด 3 ช่องจราจร และช่วงพระธาตุดอยสุเทพถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์มีขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางที่อยู่ในความควบคุมของแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 สำนักงานทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) รวม 19.4 กิโลเมตร

สำหรับผู้ริเริ่มก่อสร้างถนนทางขึ้นสู่ดอยสุเทพคือ ครูบาศรีวิชัย ได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงเป็นผู้ขุดจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์[1] ใช้เวลาก่อสร้าง 5 เดือน 22 วัน กระทั่งวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 จึงเปิดถนนให้รถขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้นเป็นถนนดินลูกรัง มีระยะทาง 11.530 กิโลเมตร

ถนนสายนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย โดยวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี จะเป็นวันครบรอบในการทำพิธีลงจอบแรก สร้างถนนศรีวิชัยขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ เรียกว่า งานทำบุญจอบแรกครูบาศรีวิชัย นอกจากนี้ในช่วงก่อนวันวิสาขบูชา 1 วันของทุกปี จะมีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งถนนสายนี้ในยามค่ำคืนจะใช้ประกอบพิธีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพเพื่อแสวงบุญ ตั้งแต่ค่ำถึงรุ่งเช้า[2]

สถานที่สำคัญบนเส้นทาง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. บุญเสริม ศาสตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520) อดีตลานนา กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์
  2. ถนนขึ้นดอยสุเทพ หรือ ถนนศรีวิชัย เก็บถาวร 2008-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สถานีวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 100 จ.เชียงใหม่