ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ใกล้กับศาลากลางจังหวัดลพบุรี
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์26 ตุลาคม พ.ศ. 2199 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 (31 ปี 260 วัน)
ราชาภิเษก26 ตุลาคม พ.ศ. 2199
ก่อนหน้าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
ถัดไปสมเด็จพระเพทราชา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)
สมุหนายก
พระราชสมภพ16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175
พระราชวังหลวง
สวรรคต11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 (56 พรรษา)
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมืองลพบุรี
พระมเหสีพระกษัตรีย์
พระพันปี (ไม่ปรากฏพระนาม)
พระราชบุตรกรมหลวงโยธาเทพ
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (เป็นที่ถกเถียง)
ราชวงศ์ปราสาททอง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
พระราชมารดาพระราชเทวี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฟัง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ฟัง เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 และพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ปราสาททอง โดยรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากทรงได้เจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในด้านการค้า มีการนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในประเทศไทยครั้งแรก ทำให้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ที่ทรงได้รับพระสมัญญานามว่าเป็น “มหาราช”

พระราชประวัติ

พระราชสมภพ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2176) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระราชเทวีไม่ปรากฏพระนาม[1] คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระชนนีของพระองค์ชื่อพระสุริยา[2] ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุพระนามว่าพระอุบลเทวี[3] และหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุพระนามว่าพระนางศิริธิดา[4] และมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาคือกรมหลวงโยธาทิพ (หรือพระราชกัลยาณี)[5][6][7]

พระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นเครือญาติกัน หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่าพระมารดาของพระนารายณ์เป็น "...พระขนิษฐาต่างมารดาของพระเจ้าปราสาททอง"[4] แต่งานเขียนของนิโคลาส์ เดอ แซร์แวส ระบุว่า มารดาเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม[8] ส่วนพระราชบิดาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ฟาน ฟลีต ระบุว่า เป็นลูกของน้องชายพระราชมารดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม[9]

พระองค์มีพระนมที่คอยอุปถัมภ์อำรุงมาแต่ยังทรงพระเยาว์คือเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของพระเจ้าปราสาททองเช่นกัน[4] กับอีกท่านหนึ่งคือพระนมเปรม ที่ฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง (François Henry Turpin) ระบุว่าเป็นเครือญาติของสมเด็จพระนารายณ์[10]

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในสมเด็จเจ้าฟ้าไชย และยังมีพระอนุชาต่างพระมารดาอีก ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ (เจ้าฟ้าง่อย[11]) เจ้าฟ้าน้อย พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา

ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระองค์มีพระนามาภิไธยเดิมว่า พระนรินทกุมาร[12] หรือ คำให้การชาวกรุงเก่า เรียกว่า พระสุรินทกุมาร[2] เมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระนารายณ์ หรือ พระเจ้าลูกเธอพระนารายณ์ราชกุมาร[13] ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

  • เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย
  • เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

การครองราชย์

พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยทูตยุโรป
ตราพระราชลัญจกร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ โดยหลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสรรเพชญ์บรมมหาจักรพรรดิศวร ราชาธิราชราเมศวรธรธราธิบดี ศรีสฤษดิรักษ์สังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลคุณอัคนิตวิจิตรรูจี ตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาธิบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์ องค์เอกาทศรุท วิสุทธิยโสดม บรมอัธยาศัย สมุทยดโรมนต์ อนันตคุณวิบุลยสุนทรธรรมิกราชเดโชชัย ไตรโลกนาถบดินทร์ อรินทราธิราช ชาติพิชิตทิศทศพลญาณ สมันตมหันตผาริตวิชัยไอศวรรยาธิปัตย์ ขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฎรัตนโมลี ศรีประทุมสุริวงศ์ องค์สรรเพชญ์พุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้า[14]

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน ด้วยเหตุผลว่า ทั้งสองรัชกาลนี้มีศัตรูมากมายรายรอบพระองค์ เนื่องจากการเข่นฆ่าฟันล้างบางพระราชวงศ์ด้วยกันมาหลายครั้งหลายหน รวมทั้งเรื่องของเสนาบดีใหม่และเก่า[15]

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิเคยได้เป็นพระมหากษัตริย์ "ทรงธรรม" หรือ "ธรรมราชา" ในสายตาของทวยราษฎร์เลยแม้แต่น้อย ดังปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า ที่มีการเปรียบเทียบพระองค์กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็จะพบว่าเชลยไทยชื่นชมพระมหากษัตริย์พระองค์หลังเสียมากกว่า นอกจากนี้ยังปรากฏในเอกสารของชาวตะวันตกที่ยืนยันความไม่เป็นที่นิยมของราษฎรอย่างชัดแจ้ง ทั้งนี้ก็เพราะตลอดรัชสมัยของพระองค์ล้วนมีการสงครามทั้งกับต่างประเทศและการปราบกบฏภายในประเทศ ชาวนาจึงต้องถูกเกณฑ์ไปรบหรืออาจทนทุกข์เพราะความแร้นแค้นของภาวะสงคราม ยังความทุกข์สู่ทวยราษฎร์และไม่มีประโยชน์อันใดต่อชาวนา[16]

การเสด็จสวรรคต

แผนผังเมืองหลวงแห่งลพบุรีของสมเด็จพระนารายณ์ ("Louvo" ในภาษาฝรั่งเศส)

สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนักในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2231 ไม่สามารถว่าราชการได้[17] ต่อมาได้เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี[18] รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ภายหลัง สมเด็จพระเพทราชา โปรดให้อัญเชิญพระบรมศพจากลพบุรีสู่กรุงศรีอยุธยาผ่านทางเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย

เหตุการณ์ในรัชสมัย

ตั้งโรงพิมพ์หลวงครั้งแรกในสมัยอยุธยา

เมื่อ พ.ศ. 2205 สังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่มาพำนักในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในขณะนั้นได้นำระบบการพิมพ์แบบฝรั่งเข้ามาใช้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก โดยแต่งและแปลหนังสือศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย 26 เล่ม หนังสือไวยากรณ์ไทย บาลี และพจนานุกรมไทย อย่างละ 1 เล่ม พร้อมสร้างศาลาเรียนที่เกาะมหาพราหมณ์ข้างเหนือกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพอพระทัยระบบการพิมพ์แบบฝรั่งของสังฆราชหลุยส์ ลาโน จึงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้น ณ ศาลาดิน ใกล้วัดปืน เมืองลพบุรี โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นผู้จัดการโรงพิมพ์หลวง[19]

ต่อมาปี พ.ศ. 2213 ปีแอร์ ลองครัว (Pierre Langrois) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้คิดจัดตั้งโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือไทยด้วยเนื่องจากกระดาษและค่าจ้างแรงงานในกรุงศรีอยุธยามีราคาถูก โดยให้ฝรั่งเศสจัดส่งช่างแกะตัวพิมพ์ มีชาวกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระองค์ที่รู้เรื่องการพิมพ์อยู่บ้าง เช่น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หลวงกัลยาราชไมตรี และขุนศรีวิสารวาจาได้เรียนรู้การพิมพ์เมื่อคราวเป็นราชทูตไปกรุงฝรั่งเศส[19]

โรงพิมพ์หลวงในกรุงศรีอยุธยาดำเนินการพิมพ์ได้ไม่นานนักก็ต้องยุติลงด้วยเหตุเกิดเหตุกบฏขึ้นเสียก่อน การสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2231 และสมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงไม่โปรดฝรั่ง[20]: 465 

การตั้งโรงพิมพ์หลวงปรากฏในบันทึกของ ฟ. ฮีแลร์ ว่า:-

ที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นได้ด้วย นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์ชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของท่านสังฆราชลาโน ถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี เป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้วพระเจ้าแผ่นดินต่อมาไม่ทรงโปรดของฝรั่ง การพิมพ์จึงเลยทรุดโทรมแต่นั้นมา[20]: 461–462 

พระราชบุตร

กรมหลวงโยธาเทพ ภาพพิมพ์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวที่เกิดกับพระอัครมเหสี[21] คือ เจ้าฟ้าสุดาวดี ที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงโยธาเทพ" ถือเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมคู่แรก พร้อมกับเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ พระขนิษฐา[22] พระราชธิดาพระองค์ดังกล่าวมีพระราชอำนาจสูงมาก โดยจากหลักฐานของลาลูแบร์ได้กล่าวว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ "...ดำรงอิสริยยศเยี่ยงพระมเหสี..."[23] และบางครั้งชาวตะวันตกก็เรียกแทนว่าเป็น "ราชินี"[24] และหากมีผู้ใดเสกสมรสด้วยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็ย่อมได้รับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์มากขึ้นด้วย[25]

นอกจากนี้ยังมีปรากฏในพงศาวดารที่เขียนในสมัยหลังว่าพระองค์มีพระราชโอรสลับคือหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) ที่แพร่หลายมากที่สุดในราชสำนัก ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า เกิดจากพระราชชายาเทวี มีนามเดิมว่าเจ้าจอมสมบุญ ภายหลังได้มอบราชบุตรดังกล่าวกับเจ้าพระยาสุรศรี (พระเพทราชา)[26] ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า เกิดกับนางนักสนมที่ชื่อนางกุสาวดี เมื่อนางตั้งครรภ์ก็ได้ส่งนางไปอยู่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (คือพระเพทราชา)[27] ส่วน พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) กลับให้ข้อมูลที่ต่างออกไปว่า มีพระนามเดิมว่า มะเดื่อ เกิดจากพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ภายหลังทรงให้พระเพทราชาไปดูแล ด้วยทรงละอายพระทัยที่เสพสังวาสกับนางลาว[28]

ในพงศาวดารของไทยปรากฏว่าพระองค์ไม่ทรงยกย่องพระโอรสลับพระองค์ใดที่เกิดกับพระสนมมีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ แต่ทรงหมายพระทัยให้มีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีสืบราชสมบัติเสียมากกว่า ดังปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า[29]

ครั้นต่อมาพระนารายน์ทรงพระปริวิตกด้วยหาพระราชโอรสสืบราชตระกูลมิได้ จึงรับสั่งให้พระอรรคมเหษีตั้งสัตยาธิษฐานขอพระโอรส แต่นางนักสนมทั้งปวงนั้นมิได้รับสั่งขอ ด้วยไม่วางพระไทยกลัวจะเปนขบถอย่างพระสีสิงห์ [พระศรีศิลป์] ที่สุดนางนักสนมคนใดมีครรภ์ขึ้นก็ให้รีดเสีย มิได้เกิดโอรสธิดาได้

ส่วนใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งถ่ายมาจากคำให้การชาวกรุงเก่าก็อธิบายไว้ดุจกัน แต่ได้ขยายความดังกล่าวว่า[30]

อันพระนารายณ์นั้นได้ขัดเคืองพระศรีศิลปกุมารแต่ครั้งนั้นมาว่าเปนขบถ เพราะเหตุว่ามิใช่ลูกของพระองค์ที่เกิดกับพระมเหษี จึงจะไม่เปนขบถ...อันพระมเหษีนั้นก็มีแต่พระราชธิดา มิได้มีเปนกุมาร พระองค์จึงรักษาศีลาจารวัตรปฏิบัติโดยธรรมสุจริต จะขอให้ได้พระโอรสอันเกิดในครรภ์พระมเหษี ก็มิได้ดั่งพระทัยปราร์ถนา จึงทรงพระโกรธ ครั้นเมื่อทรงพระโกรธขึ้นมา จึงตรัสกับพระสนมกำนัลทั้งปวงว่า ถ้าใครมีครรภ์ขึ้นมาแล้วจะให้ทำลายเสีย กูมิให้ได้สืบสุริยวงศต่อไป ต่อเมื่อเกิดในครรภ์พระมเหษี กูจึงจะมอบโภคัยศวรรยทั้งปวงให้ตามใจกูปรารภ ครั้นพระสนมกำนัลรู้ตัวว่ามีครรภ์ก็ต้องทูลพระองค์ ครั้นทราบก็ให้ทำลายเสียอย่างนั้นเปนหนักหนา

นอกจากนี้บาทหลวงเดอ แบส และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ได้กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับเลี้ยงดูเด็กเล็กเลี้ยงดูในพระราชวังหลายคนโดยเลี้ยงดุจลูกหลวง แต่หากเด็กคนใดร้องไห้อยากกลับไปหาพ่อแม่เดิมก็ทรงอนุญาตส่งตัวคืน[31] แต่ลาลูแบร์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "...พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเลี้ยงไว้จนกระทั่งเด็กนั้นมีอายุได้ 7 ถึง 8 ขวบ พ้นนั้นไปเมื่อเด็กสิ้นความเป็นทารกแล้วก็จะไม่โปรดอีกต่อไป..." แต่มีเพียงคนเดียวที่โปรดปรานคือ พระปีย์ ทั้งยังโจษจันกันว่านี่อาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ก็มี[32][33] ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงวางเฉยกับเรื่องพระปีย์เป็นโอรสลับเสียด้วย[34]

ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า พระองค์มีพระราชโอรสหนึ่งพระองค์พระนามว่า เจ้าฟ้าน้อย เมื่อโสกันต์แล้วพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้าอภัยทศ แต่ในจดหมายเหตุและคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวต้องกันว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มีพระราชโอรส เจ้าฟ้าอภัยทศพระองค์นี้เป็นพระราชอนุชาของพระองค์

พระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองเมาะตะมะ สิเรียม ย่างกุ้ง หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

การต่างประเทศ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะทูต นักบวชคณะเยสุอิต และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่สมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระบรมราชวิเทโศบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่าง ๆ เหนือกว่าชาวเอเซียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ศาสนาคริสต์ และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี พระยาพระคลัง และออกพระศรีพิพัทธ์รัตนราชโกษาได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศฝรั่งเศส[35]

ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ชาวฮอลันดาได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ แต่เพื่อป้องกันมิให้ฮอลันดาข่มเหงไทยอีก สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่มีความรู้ทางการช่าง และต้องการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการจัดกิจการเหล่านี้ ข้าราชการฝรั่งที่ทำราชการมีความดีความชอบในการปรับปรุงขยายการค้าของไทยขณะนั้นคือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งกำลังมีข้อขุ่นเคืองใจกับบริษัทการค้าของอังกฤษที่เคยคบหาสมาคมกันมาก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงดำเนินการเป็นคนกลาง สนับสนุนทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับทางราชการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ราชทูตสยามนำโดยโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซาย ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686)

ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กำลังมีพระทัยระแวงเกรงฮอลันดายกมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือฝรั่งเศสในยุคนั้นก็มิใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระบรมราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามี พระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

วรรณกรรมในรัชกาล

ชาวสยามวาดโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ทูตชาวฝรั่งเศส

สมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ คือ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์)

วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่น

  • สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนตอนต้นเชื่อกันว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งแต่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชนิพนธ์ต่อ โดยเริ่มที่ตอน พิศพระกุฎีอาศรมสถานตระกาลกล ไปจนถึง ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็น
  • คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) เป็นผลงานของขุนเทพกวี สันนิษฐานว่าแต่งในคราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เมื่อ พ.ศ. 2216 เป็นต้น
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ไม่ทราบผู้แต่ง แต่มีการระบุว่าเกิดจากการที่มีรับสั่งใน จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) ให้คัดจดหมายเหตุต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
  • ตำราพระโอสถพระนารายณ์[36] ตำรายาสมัยอยุธยาซึ่งยังไม่ได้รวบรวมเป็นคัมภัร์ ประกอบด้วยตำรับยาแพทย์แผนไทย จีน อินเดีย และฝรั่ง วันคืนตั้งประโอสถคือระหว่างปีกุน จุลศักราช ๑๐๒๑ ถึงปีฉลู จุลศักราช ๑๐๒๓ (พ.ศ. 2202–24)[37][38] ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชื่อแพทย์หลวงในสมัยอยุธยาซึ่งเป็นแพทย์ชั้นครู (คุรุแพทย์) จำนวน 8 คน คือ ออกพระสิทธิสารพราหมณ์เทศเจ้ากรมหมอยาขวา ออกพระแพทยพงษาเจ้ากรมโรงพระโอสถ พระแพทยโอสถฝรั่ง ออกขุนประสิทธิโอสถจีน ออกขุนทิพยจักรเจ้ากรมหมอยาขวา พระฤๅษี (ไม่ปรากฏนาม) เมสีหมอฝรั่ง และนายเพ็ชรปัญญา (หมอเชลยศักดิ์) นับเป็นตำรับยาที่ถูกรวบรวมขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย[39]: 123 
  • กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ[40] กล่าวถึงชายหญิงแต่งกายสวยงามชมการละเล่นมหรสพในงานเฉลิมการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน
  • จินดามณี[40]

ชื่อสถานที่อันเนื่องด้วยพระปรมาภิไธย

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระราชลัญจกร
การทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

พงศาวลี

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 273
  2. 2.0 2.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92-93
  3. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 339
  4. 4.0 4.1 4.2 M.L. Manich Jumsai (เขียน) ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน (แปล). สมเด็จพระนารายณ์ และโกษาปาน. กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว, 2531, หน้า 17
  5. วรชาติ มีชูบท. "โรงเรียนยุพราชพระราชวังสราญรมย์". จดหมายเหตุวชิราวุธ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-23. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. จารุณี ฐานรตาภรณ์ (มีนาคม 2550). "กรุงเทพมหานครกับภูมิหลังการสร้างวัง" (PDF). วารสารยุติธรรมปริทัศน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, หน้า 23
  8. นิโคลาส์ เดอ แซร์แวส (เขียน) สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. พระนคร:ก้าวหน้า. 2506, หน้า 225
  9. ดู Van Vliet, Jeremias. The Short History of the Kings of Siam. Bangkok:The Siam Society. 1975, p. 94 อ้างใน นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2545, หน้า 27
  10. "...พระเพทราชามีเชื้อสายกษัตริย์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระนารายณ์..." อ้างใน ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (เขียน), สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 72-77
  11. "ด้วยเหตุที่เจ้าฟ้าอภัยทศมีพระวรกายพิการง่อยเปลี้ย คนทั่วไปจึงมักเรียกพระองค์ตามอย่างปากตลาดว่า 'เจ้าฟ้าง่อย'" อ้างใน สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 99, 116
  12. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 413
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 277
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 290
  15. เผ่ทอง ทองเจือ, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  16. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, หน้า 38
  17. วันสวรรคตของ 66 กษัตริย์, หน้า 252
  18. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 155
  19. 19.0 19.1 อัมพร ทีขะระ และคณะ. (2541). หนังสือเก่า หนังสือที่ระลึกงานแสดงนิทรรศการและการประกวดหนังสือหายากในโอกาสครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช งานมหกรรมการพิมพ์และหนังสือ '98 Printed and Book Fair '98 1-7 กันยายน 2541 ณ อาคารตรีศร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 101 หน้า. หน้า 4. ISBN 978-974-6-42552-0
    • เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ. (2555). "กงสุลฝรั่งเศสฟ้องหมอบลัดเลย์ฐานหมิ่นประมาท", เรื่องอื้อฉาวและคดีความในอดีต. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. 272 หน้า. หน้า 56. ISBN 978-616-9-06303-2
    • กำธร สถิรกุล. (2527). ลายสือไทย ๗๐๐ ปี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 262 หน้า. หน้า 98. ISBN 978-974-0-01824-7
    • กำธร สถิรกุล. (2515). หนังสือและการพิมพ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 390 หน้า. หน้า 196.
  20. 20.0 20.1 คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย. (2565). "กำเนิดการพิมพ์และโรงพิมพ์ในสยาม", สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. 792 หน้า. หน้า 25. ISBN 978-974-0-21768-8
  21. ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2553. หน้า 161
  22. "สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่". จุลลดา ภักดีภูมินทร์. 14 พฤษภาคม 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
  23. สุภัตรา ภูมิประภาส (กันยายน 2552). "นางออสุต:เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 94
  24. สปอร์แดช มอร์แกน (เขียน), กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 205
  25. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. หน้า 84
  26. คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี:มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547, หน้า 33-35
  27. คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี:มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547, หน้า 96-97
  28. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. 2504, หน้า 91-94
  29. คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี:มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547, หน้า 96
  30. คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547, หน้า 32-33
  31. เดอะ แบส (เขียน), สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน. นนทบุรี:ศรีปัญญา. 2550, หน้า 100-101
  32. เดอ ลาลูแบร์ (เขียน), สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า. 2510, หน้า 43
  33. นิโกลาส์ แซร์แวส (เขียน) สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี:ศรีปัญญา. 2550, หน้า 199-200
  34. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 99, 116
  35. "Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-19. สืบค้นเมื่อ 2014-01-11.
  36. กรมศิลปากร. (2508). ตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายจอน ศุภลักษณ์ ณ เมรุวัดแก้วฟ้าล่าง วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘. (พิมพ์ครั้งที่ 7). พระนคร: ชวนพิมพ์. 104 หน้า.
  37. ภัทรพร สิริกาญจน. (2556). "การแพทย์แผนไทย : คุณค่าและความสำคัญทางพุทธปรัชญา และลัทธิหลังนวยุค", วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 19(1): 211. มกราคม-มีนาคม 2557. อ้างใน การประชุมสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน วันพุธที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖.
  38. ทรงสรรค์ นิลกำแหง และสมชัย บวรกิตติ. (2545). "โรคภัยไข้เจ็บในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช", วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 27(3): 858. (กรกฎาคม-กันยายน 2545).
  39. กำพล จำปาพันธ์. (2563). "ตำราพระโอสถพระนาราย์กับสังคมเมืองท่านานาชาติในประวัติศาสตร์อยุธยา-อุษาคเนย์ ช่วงคริสต์วรรษที่ ๑๗-๑๘", มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยส ตำรา SEX. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. 336 หน้า. ISBN 978-974-0-21717-6
  40. 40.0 40.1 โชษิตา มณีใส. (2551). "สุภาษิต (ประดิษฐ์) พระร่วง", วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 33(3):160. (กรกฎาคม-กันยายน 2551).
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

หนังสืออ่านเพิ่ม

  • Cruysse, Dirk van der (2002). Siam and the West. Chiang Mai: Silkworm
  • Marcinkowski, M. Ismail (2005). From Isfahan to Ayutthaya: Contacts between Iran and Siam in the 17th Century. With a foreword by Professor Ehsan Yarshater, Columbia University . Singapore: Pustaka Nasional
  • Muhammad Rabi' ibn Muhammad Ibrahim, J. O'Kane (trans.) (1972). The Ship of Sulaiman. London: Routledge
  • Smithies, M. (1999). A Siamese Embassy Lost in Africa, 1686. Chiang Mai: Silkworm
  • Smithies, M., Bressan, L., (2001). Siam and the Vatican in the Seventeenth Century. Bangkok: River
  • Smithies, M., Cruysse, Dirk van der (2002). The Diary of Kosa Pan: Thai Ambassador to France, June-July 1686. Seattle: University of Washington Press
  • Wyatt, DK (1984). Thailand: A Short History. Chiang Mai: Silkworm
ก่อนหน้า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถัดไป
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2199)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2199-2231)
สมเด็จพระเพทราชา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2231-2246)
จมื่นศรีเสารักษ์
พระมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2199)
หลวงสรศักดิ์