เจ้าฟ้าอภัยทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าอภัยทศ
ประสูติพ.ศ. 2185[1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2231 (ราว 46 พรรษา)
ตำบลวัดทราก เมืองลพบุรี อาณาจักรอยุธยา
ราชวงศ์ปราสาททอง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
พระมารดาพระปทุมาเทวี

เจ้าฟ้าอภัยทศ (พ.ศ. 2185–2231) หรือ พระอภัยชาติ (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[2] เอกสารบางแห่งเรียก เจ้าฟ้าง่อย[3] เพราะมีพระวรกายพิกลพิการ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ถือเป็นหนึ่งในเจ้านายผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษไปเสีย

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

เจ้าฟ้าอภัยทศ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระองค์มีพระมารดามีพระนามว่าพระปทุมาเทวี[2][4] และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีพระชนมายุห่างกันมากเปรียบพระเชษฐาเป็นพระชนกได้[5] แต่ คู่มือทูตตอบ ซึ่งเป็นเอกสารของราชบัณฑิตอยุธยา ระบุว่าเจ้าฟ้าอภัยทศมีพระชันษา 39 ปี ใน พ.ศ. 2224[1] พระองค์มีพระอนุชาที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกันคือเจ้าฟ้าน้อย[6] โดยสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระอนุชาทั้งสองพระองค์นี้ราวกับเป็นพระบิดา[7] ทั้งทรงหมายมั่นที่จะมอบราชสมบัติแด่พระอนุชาพระองค์นี้ แต่ล้มเลิกในกาลต่อมา[5][8]

พระองค์มีพระวรกายพิการ กล่าวคือมีพระเพลาอ่อนแรงทั้งสองข้างใช้การมิได้[5] บาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (ฝรั่งเศส: Pierre Lambert de La Motte) ที่เคยเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าอภัยทศในปี ค.ศ. 1668 บันทึกว่าทรงเป็นง่อย[9] บางแห่งว่าเป็นอัมพาต[10] คนทั่วไปจึงออกพระนามว่าเจ้าฟ้าง่อย[3] พระพักตร์มีไฝ[11] ทั้งมีพระอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย และโปรดเสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจ[5] ทั้งยังเคยกล่าววาจาหยาบช้าต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยไม่เกรงกลัวพระอาญา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงถูกกักในเขตพระราชฐาน แต่ก็มีพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกไปเที่ยวเตร่ในเมืองได้[5]

หลังเกิดกบฏพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่ไว้วางพระทัยในพระราชอนุชาทั้งสองอีกเลย แม้จะไม่ประหาร แต่ก็มิได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช[9] นอกจากนี้สมเด็จพระนารายณ์ยังเคยตั้งข้อกล่าวหาว่าเจ้าฟ้าอภัยทศทรงสมคบคิดกับแขกมลายูเพื่อประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุมตัวไว้เสียที่ตำหนัก[5] และในปลายรัชกาล กลุ่มขุนนางฝ่ายปกครองและประชาคมมุสลิมอิหร่านผู้เสียผลประโยชน์ ได้ให้การสนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยทศขึ้นครองราชสมบัติ และได้วางแผนก่อรัฐประหารในพระราชวัง[9] พระองค์จึงถูกกุมขังเดี่ยวภายในพระราชวังอยุธยา[12]

การผลัดแผ่นดิน[แก้]

ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งขณะนั้นยังทรงพระประชวรใกล้แก่กาลสวรรคต พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชอนุชาเสวยราชสมบัติ[10] ด้วยเหตุนี้พระเพทราชาจึงวางอุบายเพื่อจะสำเร็จโทษเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าฟ้าอภัยทศทรงเป็นหนึ่งในนั้นตามกฎมนเทียรบาล[5] เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรส พระเพทราชาจึงแสร้งไปทูลเจ้านายสามพระองค์ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก และเป็นหน้าที่ของตนที่จะสถาปนาเจ้านายที่เหลือขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[13] เหล่าพระราชอนุชาและพระราชธิดาจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีด้วยความลังเล[14] เจ้าฟ้าอภัยทศเข้าพระทัยว่าจริง จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปยังเมืองลพบุรี ครั้นไปถึงวัดพระพรหม ตำบลปากน้ำโพสพ ก็เสด็จแวะหาพระพรหมครูครู่หนึ่ง แล้วนมัสการลาลงเรือพระที่นั่งไปลพบุรี[15]

เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทศเสด็จไปถึง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตไปแล้วครู่หนึ่ง[15] เบื้องต้นพระเพทราชาได้ถวายการต้อนรับเหล่าเจ้านายเป็นอย่างดี ก่อนลอบประหารพระยาวิไชเยนทร์ ต่อมาหลวงสรศักดิ์ เป็นผู้สำเร็จการแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช ให้ข้าหลวงไปคุมพระราชอนุชาทั้งสองพระองค์และพระราชโอรสบญธรรมคลุมด้วยผ้ากำมะหยี่แล้วทุบด้วยท่อนจันทน์[16]วัดซาก (ต้นฉบับเขียนวัดทราก) แขวงเมืองลพบุรี[11][15] ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย[17] และพระปีย์[6] แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษเป็นพระราชอนุชาสองพระองค์คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอินทรราชาหรือพระองค์อินท์ และพระราชบุตรบุญธรรมคือพระปีย์[18] ส่วนกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาทรงถูกสงวนไว้สำหรับเป็นพระมเหสีของพระเพทราชา[19][20] แต่พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน[21]

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวันถัดมา[16] พระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่[22]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

ใน บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอ แบซ ระบุถึงโทสจริตของพระองค์หลายครั้ง เป็นต้นว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เคยตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสำหรับประพาสล่าสัตว์โดยทรงพระคชาธารเข้าร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าฟ้าอภัยทศทรงบังคับช้างเข้าชนกับช้างเถื่อนที่แหวกวงล้อมออกมา สมเด็จพระนารายณ์ก็เกรงว่าพระอนุชาจะเป็นอันตรายจึงทรงตรัสห้าม แต่เจ้าฟ้าอภัยทศทรงมองว่าพระเชษฐาธิราชสบประมาทพระองค์ว่าขลาดเขลา จึงแสดงพระโทสะ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงระงับโทสจริตและมิได้แสดงพระอาการโกรธกริ้วออกมา[5] และในกาลต่อมาได้มีช้างพลายตกมันออกอาละวาดในเมือง ชนสิ่งของต่าง ๆ กระจัดกระจาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงรับสั่งเจ้าฟ้าอภัยทศให้แสดงศักยภาพในการปราบช้าง แต่ทว่าเจ้าฟ้าอภัยทศทำไม่สำเร็จ ทั้งยังถูกช้างชนจนตกลงพื้น พระองค์จึงรู้สึกอับอายขายพระพักตร์[5]

นอกจากนี้บาทหลวงเดอ แบซ ยังบันทึกว่าเจ้าฟ้าอภัยทศเคยศึกษาพระคริสต์ธรรม ทรงเก็บรักษาไม้กางเขนที่มงซีเญอร์เดอเมเตโลโปลิส (Monseigneur de Métellopolis) ถวายไว้ภายในพระตำหนักส่วนพระองค์ ทาสคนหนึ่งของเจ้าฟ้าอภัยทศอ้างว่าพบเจ้าฟ้าอภัยทศทรงเคารพบูชาไม้กางเขนนี้ด้วยการกราบบ่อยครั้ง[5]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93
  2. 2.0 2.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 339
  3. 3.0 3.1 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (11 กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 99, 116
  4. คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 220-221
  6. 6.0 6.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (16 ธันวาคม 2559). "ปริศนาโบราณคดี : 'แช่แข็งสยาม' ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 225
  8. กิเลน ประลองเชิง (17 กันยายน 2552). "พงศาวดารอยุธยา". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, หน้า 36
  10. 10.0 10.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 227
  11. 11.0 11.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 416
  12. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 158
  13. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 522
  14. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 18
  15. 15.0 15.1 15.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 369
  16. 16.0 16.1 ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 39
  17. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 230
  18. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 509
  19. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 40
  20. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 231
  21. หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน, หน้า 22
  22. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 531
บรรณานุกรม
  • ขจร สุขพานิชออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
  • เดส์ฟาร์จ, นายพล (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 120 หน้า. ISBN 978-974-02-1610-0
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 112 หน้า. ISBN 974-323-832-8
  • โบชอง, พันตรี (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 100 หน้า. ISBN 978-974-02-1111-2
  • สปอร์แตช, มอร์กาน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 280 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2008) จำกัด, 2563. 488 หน้า. ISBN 978-616-514-650-0