พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

พิกัด: 14°47′59.950″N 100°36′35.039″E / 14.79998611°N 100.60973306°E / 14.79998611; 100.60973306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
พิพิธภัณฑ์ในส่วนพระที่นั่งพิมานมงกุฎ
แผนที่
ชื่อเดิม
ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน
ก่อตั้ง11 ตุลาคม พ.ศ. 2467; 99 ปีก่อน (2467-10-11)
ที่ตั้งภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ถนนสรศักดิ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
พิกัดภูมิศาสตร์14°47′59.950″N 100°36′35.039″E / 14.79998611°N 100.60973306°E / 14.79998611; 100.60973306
ประเภทพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ผลงานโบราณวัตถุในจังหวัดลพบุรี[1]
ผู้ดูแล กรมศิลปากร
ผู้อำนวยการนิภา สังคนาคินทร์[2]
เว็บไซต์www.finearts.go.th/somdetphranaraimuseum/

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เดิมชื่อ ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีการแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็นสามอาคารซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและพระราชฐานชั้นใน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งจันทรพิศาล และหมู่ตึกพระประเทียบ[3] ในอาคารเหล่านี้ได้จัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์ที่พบภายในจังหวัดลพบุรีและใกล้เคียง รวมทั้งมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อันแสดงถึงวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำภาคกลาง[4][5] ส่วนอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารทรงปั้นหยาสีเขียว ตั้งแยกออกมาต่างหากในเขตพระราชฐานชั้นนอกใกล้กับประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์ด้านถนนสรศักดิ์ เดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี[6]

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดวันพุธ–วันอาทิตย์ เวลา 09.00–16.00 น. เสียค่าเข้าชมในอัตราชาวไทย 30 บาท และชาวต่างประเทศ 150 บาท กรณีนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ และนักบวชไม่เสียค่าธรรมเนียม[5][7]

ประวัติ[แก้]

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไปตรวจราชการที่เมืองลพบุรี ทรงพบว่ามีโบราณวัตถุกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทรงมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุขึ้น โดยใช้พื้นที่ของพระที่นั่งจันทรพิศาลภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์สำหรับจัดแสดง[3] ใช้ชื่อว่า ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 2504[8]

ทั้งนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารเพิ่มอีกได้เพราะตั้งอยู่ภายในโบราณสถาน จึงต้องทำการบูรณะอาคารเก่าเพื่อยังประโยชน์ใช้สอยของพิพิธภัณฑ์ เช่นการซ่อมแซมหมู่ตึกพระประเทียบ และการซ่อมแซมทิมดาบซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง[2]

วัตถุที่จัดแสดง[แก้]

ภาชนะดินเผารูปควาย สมัยก่อนประวัติศาสตร์
  • เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงภายในพระที่นั่งจันทรพิศาล ว่าด้วยพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีภาพเหตุการณ์สำคัญในรัชกาล และโบราณวัตถุจากสมัยดังกล่าว[5][8]
  • โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (3,500–4,000 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา สัมฤทธิ์ และโลหะ เป็นต้น[9]
  • วัฒนธรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยโบราณวัตถุและศาสนวัตถุของทวารวดีและจากรัฐที่ทำการค้าด้วย เช่น ภาชนะดินเผา ตะคันดินเผา เครื่องประดับ กำไล ต่างหู จารึกภาษามอญโบราณ จารึกภาษาสันสกฤต จารึกภาษาบาลี และจารึกอักษรปัลลวะ รวมไปถึงสิ่งของตามความเชื่อดั้งเดิมก่อนรับศาสนาจากอินเดีย เช่น ตุ๊กตาดินเผา[10]
  • ศิลปะเขมรและสมัยลพบุรี (1,400–1,800 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยโบราณวัตถุอิทธิพลขอมจากปราสาทขอมในลพบุรี เช่น ศิลาจารึก เศียรพระโพธิสัตว์ และทับหลังที่ได้ปรางค์สามยอด ปรางค์แขก และพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ[10]
  • ศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยพระพุทธรูป แผงพระพิมพ์ เครื่องถ้วยต่าง ๆ และอาวุธโบราณ[10]
  • พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3 ประกอบด้วยพระแท่นบรรทมจากพระราชวังจันทรเกษม เงินพดด้วงประทับตรามงกุฎ เหรียญกษาปณ์ทองคำตรามงกุฎ บรรณาการ และเครื่องใช้ต่าง ๆ[5][11]
  • วิถี ผู้คน ตัวตน คนลพบุรี[5] จัดแสดงภายในโรงครัวของหมู่ตีกพระประเทียบ จัดเรื่องวิถีชีวิตของคนไทยภาคกลางและคนลพบุรีในอดีต มีเครื่องใช้จัดแสดงไว้ เช่น เตา หม้อ ครก กระจ่า กระต่ายขูดมะพร้าว การทอผ้า การปั้นหม้อดินเผา และการทำดินสอพอง เป็นต้น[11][3]

การจัดแสดง[แก้]

พระที่นั่งพิมานมงกุฎ[แก้]

พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง คือเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อประมาณ 3,500–4,000 ปีมาแล้ว จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี ในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ แหล่งโบราณคดีบ้านดงมะรุม แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ และ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ และเครื่องประดับที่ทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงโบราณคดีบ้านท่าแค จ. ลพบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500–1,000 ปี

พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1[แก้]

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 700–1400 จำแนกเป็นเรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐาน และการดำรงชีวิต อักษร-ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบในจังหวัดลพบุรี โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหรียญ ตราประทับ จารึก ฯลฯ

พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2[แก้]

จัดแสดงนิทรรศการถาวร 4 เรื่อง คือ เรื่องประวัติศาสตร์และศิลปกรรมภาคกลางของประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16–18 หรือสมัยอิทธิพลศิลปะเขมร โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมแบบต่างๆ ที่พบในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คือ ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ประเทศไทย (ศิลปะศรีวิชัย) ศิลปะทางภาคเหนือศิลปะล้านนาและศิลปะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การแสดงเครื่องถ้วยที่พบในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องถ้วยแบบต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และศิลปโบราณวัตถุ พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ศิลปกรรมอยุธยา–รัตนโกสินทร์) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูป บานประตูไม้แกะสลัก ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม เหรียญตรา ผ้า เครื่องเงิน-ทอง เครื่องถ้วย ฯลฯ

พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3[แก้]

แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ

พระที่นั่งจันทรพิศาล[แก้]

พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง คือ

  1. เรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ที่ชาวต่างประเทศได้วาดไว้ และโบราณวัตถุที่มีอายุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมไปถึงการติดต่อกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส ในสมัยนั้นเป็นต้น
  2. เรื่องศาสนวัตถุต่าง ๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19–24 (สมัยอยุธยา–รัตนโกสินทร์) จัดแสดงตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ตาลปัตร สมุดไทย

หมู่ตึกพระประเทียบ[แก้]

หมู่ตึกพระประเทียบ เป็นนเขตพระราชฐานชั้นใน สมัยรัชกาลที่ 4 มี 8 หลัง ได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง ได้แก่

  1. เรื่องชีวิตไทยภาคกลาง (พิพิธภัณฑ์ชาวนา) จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง
  2. เรื่องหนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่ของจังหวัดลพบุรีที่ได้จากวัดตะเคียน และวัดสำราญ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. "Somdet Phra Narai National Museum". Thailand Tourism Directory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2019.
  2. 2.0 2.1 "กระเสออเจ้าแรงไม่ตก! พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น." มติชนออนไลน์. 11 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
  3. 3.0 3.1 3.2 "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์". สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2019.
  4. หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 100–102.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์". มิวเซียมไทยแลนด์. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
  6. พงศกร แก้วกระจ่าง (7 กันยายน 2559). "อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์". สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
  7. "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
  8. 8.0 8.1 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 96.
  9. หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 98.
  10. 10.0 10.1 10.2 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 99.
  11. 11.0 11.1 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 102.

บรรณานุกรม[แก้]

  • นิภา สังคนาคินทร์, บ.ก. (2560). หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี (3 ed.). กรุงเทพฯ: นะรุจ.