สมุทรโฆษคำฉันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมุทรโฆษคำฉันท์
กวี3 ท่าน (ดูเนื้อเรื่อง)
ประเภทนิทาน
คำประพันธ์คำฉันท์
ความยาว2,218 บท
ยุคอยุธยา -รัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งพ.ศ. 2200? - 2392
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจาก วรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นเรื่องที่แต่งดีเป็นเยี่ยมในกระบวนคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมขนาดย่อม มีความยาว ของเนื้อเรื่อง 2,218 บท (นับรวมแถลงท้ายเรื่อง 21 บท ) กับโคลงท้ายเรื่องอีก 4 บท

สมุทรโฆษคำฉันท์นับเป็นหนึ่งในวรรณคดีไทย ที่มีประวัติอันยาวนาน สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงช่วงต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเนื้อหาแบบนิยายไทยทั่วไป ที่มีความรักและการพลัดพราก กวีได้สอดแทรกขนบการแต่งเรื่องไว้อย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ยังใช้วรรณคดีเล่มนี้สำหรับการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมด้วย

ประวัติและผู้แต่ง[แก้]

สมุทรโฆษคำฉันท์มีผู้แต่งสามท่าน ซึ่งแต่งในยุคสมัยต่างๆ กัน ดังนี้

  • พระมหาราชครู แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่แต่งตั้งปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ คาดว่าน่าจะอยู่ในราว พ.ศ. 2200 ท่านได้แต่งไว้ 1,252 บท นับตั้งแต่ต้น จนถึงตอน "งานสยุมพรพระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี" ด้วยกาพย์ฉบัง ที่ว่า
พระเสด็จด้วยน้องลีลาส ลุอาศรมอาส-
นเทพลบุตรอันบนฯ
  • สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง 205 บท แต่ไม่จบเรื่อง ก็สวรรคตเสียก่อน ทรงแต่งตั้งแต่ตอน "พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีไปใช้บน" (แก้บน) จนถึง ตอนที่พิทยาธรสองตนรบกัน (ตนหนึ่งตกลงไปในสวน) แต่ยังรบไม่จบ ทรงแต่งจนถึงสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 ที่ว่า
แต่นี้พี่อนุช(ะ)ถึงแก่กรรม(ะ)พิกล เรียมฤๅจะยากยล พธู
ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็นฯ
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระนิพนธ์ต่อจากนั้นจนจบเรื่อง นับได้ 861 บท หลังจากที่ค้างอยู่นานถึง 160 ปี (นับจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2231) เนื่องจากไม่มีผู้ใดกล้าแต่งต่อ โดยได้ทรงพระนิพนธ์เป็นสองช่วง และสุดท้ายก็จบเรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2392 (จ.ศ. 1211) ดังโคลงสี่สุภาพท้ายเรื่องที่ 4 บท ที่ทรงเล่าไว้ชัดแจ้ง ดังนี้
จวบจุลศักราชได้ พรรษา สหัสแฮ
สองสตพรรษเอกา ทศอ้าง
กุกกุฏสังวัจฉรา กติกมาส หมายเฮย
อาทิตย์ดลฤถีข้าง ปักษ์ขึ้นปัญจมีฯ
รังสรรค์ฉันท์เสร็จสิ้น สุดสาร
สมุทรโฆษต่อตำนาน เนิ่นค้าง
รจิตเรื่องบิพิสดาร อดีตเหตุ แสดงเฮย
โดยพุทธพจนรสอ้าง อรรถแจ้งแถลงธรรมฯ

(จุลศักราช 1211 ปีระกา เดือนสิบสอง วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ)

เนื้อเรื่อง[แก้]

เนื้อเรื่องสมุทรโฆษนั้น เป็นการดัดแปลงมาจากสมุทรโฆษชาดก ในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาต แต่เนื้อหาในเรื่องที่พระราชครูแต่งนั้น แตกต่างไปจากชาดกอยู่บ้าง ทว่าเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแต่ง พระองค์ได้ดำเนินตามปัญญาสชาดกจนจบเรื่อง

คำประพันธ์[แก้]

คำประพันธ์ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ระบุไว้ในชื่อของหนังสือเล่มนี้อยู่แล้ว ว่าเป็น คำฉันท์ นั่นคือ ประกอบด้วยฉันท์ และกาพย์

กวีทั้งสามได้แต่งฉันท์ตามขนบฉันท์โบราณ กล่าวคือ เสียงหนักเบา (ครุ ลหุ) มิได้กำหนดจากเสียงสระเสียงยาวหรือเสียงสั้นอย่างในชั้นหลัง หากแต่เน้น “หนักเบา”จากเสียง ฉันท์ทั้งหมดนี้ขึ้นเพื่อการอ่านทำนองเสนาะ ที่มีจังหวะจะโคนไพเราะ โดยมีการใช้เลขกำกับจำนวนคำในแต่ละบาทของฉันท์นั้น

คำฉันท์ในเรื่อง ไม่ได้ระบุชนิด แต่บอกจำนวนคณะเอาไว้ เช่น 11, 12 เป็นต้น เลขระบุฉันท์และกาพย์ มีดังนี้

กาพย์

ฉันท์

  • อินทรวิเชียรฉันท์11
  • โตฏกฉันท์12
  • วสันตดิลกฉันท์14
  • มาลินีฉันท์15
  • สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19
  • สัทธราฉันท์21
  • สุรางคนางค์ฉันท์28

ภาษาที่ใช้[แก้]

ด้วยวรรณกรรมเรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาเก่า อ่านเข้าใจไม่ง่ายนัก ทั้งยังมีฉันท์อยู่หลายตอน ซึ่งนิยมแต่งด้วยคำภาษาบาลีและสันสกฤต ทั้งยังมีเขมรแทรกอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นหนังสือที่อ่านยากจนเกินไป และยังมีหลายตอนที่ใช้ภาษาไทยอย่างง่ายๆ อย่างเข้าใจได้ดีแม้ในปัจจุบัน

ความสำคัญของสมุทรโฆษคำฉันท์[แก้]

สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นวรรณกรรมชิ้นแรกๆ ของไทย ที่มีขนบการเล่าเรื่องที่ละเอียด คล้ายกับบทละคร มีการเล่าเรื่องโดยสังเขปไว้ในตอนต้น เล่าเรื่องเบิกโรงที่เล่น ก่อนเล่าเรื่องจริง โดยเฉพาะการเล่นเบิกโรงนั้น บ่งบอกถึงประวัติการละเล่นของไทยได้เป็นดี เช่น การเล่นหัวล้านชนกัน เล่นชวาแทงหอก เล่นจระเข้กัดกัน เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน สมุทรโฆษคำฉันท์ ยังเป็นวรรณกรรมคำสอน ที่นำนิทานอิงธรรม มาแต่งด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ใช้อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน และมีคติธรรม นอกจากนี้ นักวรรณคดีบางท่านยังอ้างว่า เป็นการแต่งเพื่อเฉลิมฉลองงานพระชนมายุครบ 25 พรรษาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย

บางตอนจากสมุทรโฆษคำฉันท์[แก้]

พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีเสด็จป่าหิมพานต์
บรรพตรจเรขประไพ ช่องชั้นไฉไล
คือช่างฉลุเลขา
วุ้งเวิ้งเพิงตระพักเสลา หุบห้องคูหา
แลห้วงแลห้วยเหวลหาร
พุน้ำชำเราะเซาะธาร ไหลลั่นบันดาล
ดั่งสารพิรุณธารา
เงื้อมง้ำโชงกชง่อนภูผา พึงพิศโสภา
เปนชานเปนช่องปล่องปน
สีสลับยยับพรรณอำพน เหลืองหลากกาญจน
แลขาวคือเพชรรัศมีฯ