เจ้าฟ้าน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าน้อย
เจ้าฟ้า
ประสูติพ.ศ. 2195[1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2231 (ราว 36 พรรษา)
ตำบลวัดทราก เมืองลพบุรี อาณาจักรอยุธยา
พระบุตรกรมขุนเสนาบริรักษ์
ราชวงศ์ปราสาททอง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

เจ้าฟ้าน้อย หรือ พระเยาวราช[2] (พ.ศ. 2195–2231) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เป็นเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์สืบจากพระเชษฐา ด้วยมีรูปพรรณงาม มีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี จึงเป็นที่นิยมในหมู่ทวยราษฎร์ และถูกวางตัวสำหรับเสกสมรสกับกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระภาติกา

แต่ทว่าพระองค์ลอบสังวาสกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระเพทราชา และมีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือหม่อมแก้ว เจ้าฟ้าน้อยจึงถูกโบยตามกฎหมาย หลังจากนั้นพระองค์มีพระวรกายบวม อ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และเป็นอัมพาตที่พระชิวหา ไม่สามารถตรัสสิ่งใดได้อีก และท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษ

ประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

เจ้าฟ้าน้อยเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีพระชนมายุห่างกันมากเปรียบพระเชษฐาเป็นพระชนกได้[3] แต่ คู่มือทูตตอบ ซึ่งเป็นเอกสารของราชบัณฑิตอยุธยา ระบุว่าเจ้าฟ้าน้อยมีพระชนมายุ 29 ปี ใน พ.ศ. 2224[1] พระองค์มีพระเชษฐาที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกันคือเจ้าฟ้าอภัยทศ[4]

เจ้าฟ้าน้อยเป็นเจ้านายที่มีจริยวัตรงดงาม โอบอ้อมอารี พระโฉมงามสง่าเป็นที่ประจักษ์ กอปรกับพระฉวีค่อนข้างขาวอันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวสยาม พระองค์จึงเป็นที่นิยมชมชอบในประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งในราชสำนักและราษฎรทั่วไป[3] สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเองก็ทรงชุบเลี้ยงพระองค์เป็นอย่างดี และหมายจะให้เป็นรัชทายาทแทนเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งมีพฤติกรรมอันน่าอดสู รวมทั้งจะจัดพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว[3] แต่หลังการกบฏของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่ไว้วางพระทัยในพระราชอนุชาทั้งสองอีกเลย แม้จะไม่ประหาร แต่ก็มิได้สถาปนาขึ้นเป็นวังหน้า[5]

พระองค์มีบทบาททางการเมืองระดับหนึ่ง ในเอกสารลับของฝรั่งเศสระบุว่าเจ้าฟ้าน้อยตั้งตนเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสและคริสต์ศาสนา[6] ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า "ผู้สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์สยามที่คาดกันไว้ [เจ้าฟ้าน้อย] แสดงเจตนาร้ายต่อกษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาและต่อที่ปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์ ในอนาคต จะทรงปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างเลวร้ายและจะทรงทำลายทุกอย่างที่กษัตริย์พระองค์ก่อนเคยดำริไว้ด้วยว่าผู้คนที่โปรด และเหล่าเสนาบดีคงจะกราบทูลเรื่องราวที่กษัตริย์องค์ก่อน [สมเด็จพระนารายณ์มหาราช] ทรงขาดความรอบคอบ ไปผูกไมตรี โปรดให้คนเหล่านี้ [ชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์] รวมตัวกันเพื่อจะล้มล้างศาสนา [ศาสนาพุทธ] อันเป็นที่นับถือในแว่นแคว้นของพระองค์มาเป็นเวลานานช้า เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในประเทศ"[7]

เจ้าฟ้าน้อยมีความสัมพันธ์ที่ไม่แน่ชัดกับกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระภาติกาของพระองค์ และเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในเอกสารของนายพลเดฟาร์ฌระบุถึงกรมหลวงโยธาเทพไว้ ความว่า "ได้ทรงเสกสมรสอย่างลับ ๆ กับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง"[2]

กรณีท้าวศรีจุฬาลักษณ์[แก้]

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นธิดาของพระนมเปรมในสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นน้องสาวของพระเพทราชา ได้ถวายตัวเป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวกันว่านางเป็นผู้มักมากในกามคุณ มักหาข้ออ้างออกจากพระราชฐานชั้นในเพื่อไปสังวาสกับกระทาชายต่างด้าวในหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างไม่ระมัดระวัง จนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมของนางต่างพากันขับเพลงเกริ่นความอัปรีย์ของนางผู้อื้อฉาวไปทั่วพระนคร ซึ่งผิดปรกวิสัยของชาวสยามที่รักสงบ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้นางอยู่แต่ในพระราชวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก[3]

จากการที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังที่ห้อมล้อมไปด้วยสาวสรรกำนัลใน มีเพียงแต่เจ้าฟ้าน้อยเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่นางจะสานสัมพันธ์ได้ เธอจึงหาลู่ทางในการมีปฏิสัมพันธ์ให้เจ้าฟ้าน้อยพอพระทัย จนนำไปสู่สัมพันธ์สวาทในที่สุด[3] วันหนึ่งนางลักลอบนำฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าน้อยไปไว้ในห้องส่วนตัวของเธอ หมายจะให้เจ้าฟ้าน้อยไปหาฉลองพระองค์ที่ห้องของเธอ แต่เจ้าฟ้าน้อยมิได้เฉลียวพระทัยจึงเข้าใจว่าฉลองพระองค์หายไปจริง ๆ เมื่อเรื่องถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพิโรธว่ามีคนมาขโมยทรัพย์ของพระราชอนุชาถึงในเขตพระราชฐาน และผู้ที่จะหยิบออกไปได้ก็มีแต่ผู้ที่มาจากพระราชฐานฝ่ายในเท่านั้นจึงมีรับสั่งให้ผู้คนค้นหาให้ทั่วทันที โดยเข้าค้นที่ห้องของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก่อน ก็พบฉลองพระองค์เจ้าฟ้าน้อยอยู่ในห้องอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านางทาสีจึงรีบเอาตัวรอด ชิงกราบบังคมทูลความระยำตำบอนของท้าวศรีจุฬาลักษณ์จนสิ้น หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยคดีความของเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หนึ่งในนั้นคือพระเพทราชาพี่ชายของท้าวศรีจุฬาลักษณ์เอง สุดท้ายได้วินิจฉัยว่าเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีความผิดจริง จึงพิพากษาให้ประหารท้าวศรีจุฬาลักษณ์ด้วยการโยนให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยถูกพิพากษาให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ แต่กรมหลวงโยธาทิพ พระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษว่า "[อย่าได้มี] พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด"[3] สมเด็จพระนารายณ์มิกล้าขัดคำขอร้องของพระราชขนิษฐาอันเป็นที่รัก จึงเปลี่ยนการลงทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวายแทน แล้วให้พระเพทราชาและพระปีย์ร่วมกันเฆี่ยนอย่างรุนแรงจนเจ้าฟ้าน้อยสลบไป[3]

หลังพระองค์ฟื้น ก็พบว่าพระวรกายบวม มีพระอาการอ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และมีพระอาการอัมพาตที่พระชิวหา หลายคนเชื่อว่าพระองค์แสร้งเป็นใบ้ กระนั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่และกรมหลวงโยธาเทพก็ยังสมัครรักใคร่เจ้าฟ้าน้อยอยู่[3]

ในช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ให้ประสูติพระโอรสนามว่าหม่อมแก้ว ในเอกสารของฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง (François Henri Turpin) ที่เรียบเรียงจากบันทึกของสังฆราชแห่งตาบรากา (Bishop of Tabraca) ให้ข้อมูลว่าพระโอรสนี้เป็นบุตรที่เกิดกับเจ้าฟ้าน้อย ดังความตอนหนึ่งว่า "...น้องสาว [ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น้องสาวพระเพทราชา] ผู้มีความงามมากและเป็นที่ชื่นชมของทุกคนถูกถวายตัวเป็นพระสนมและเป็นสนมเอกที่โปรดปรานคนหนึ่งด้วย แต่โชคไม่ดีที่นางมีครรภ์ เพราะเป็นชู้กับพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นความลับอยู่เป็นเวลานาน พระสนมผู้ไม่ซื่อสัตย์จึงถูกจับได้แล้วถูกลงโทษโยนให้เสือกิน"[8] หลังสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชสมบัติจึงโปรดเกล้าสถาปนาพระโอรสที่ประสูติแต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระว่า ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์[9] ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าทรงสถาปนาพระเจ้าหลานเธอพระองค์แก้วขึ้นเป็นกรมขุนเสนาบุรีรักษ์[10]

การผลัดแผ่นดิน[แก้]

ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งขณะนั้นยังทรงพระประชวรใกล้แก่กาลสวรรคต พระองค์มีเพียงพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว และพระราชโอรสบุญธรรม จนเกิดวิกฤตการณ์ขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชอนุชาเสวยราชสมบัติ[6] แม้จะมีผู้เพ็ดทูลว่าเจ้าฟ้าน้อยยังทรงแค้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ลงทัณฑ์ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ชู้รักจนถึงแก่ความตาย และกล่าวอีกว่า หากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตไปแล้ว เจ้าฟ้าน้อยจะไม่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมเกียรติ มิหนำซ้ำจะนำพระบรมศพไปประจานให้เสียด้วยเพื่อแก้แค้น[11] ด้วยเหตุนี้พระเพทราชาจึงวางอุบายเพื่อจะสำเร็จโทษเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าฟ้าน้อยทรงเป็นหนึ่งในนั้นตามกฎมนเทียรบาล[3] เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรส พระเพทราชาจึงแสร้งไปทูลเจ้านายสามพระองค์ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก และเป็นหน้าที่ของตนที่จะสถาปนาเจ้านายที่เหลือขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[12] เหล่าพระราชอนุชาและพระราชธิดาจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีด้วยความลังเล[13]

เบื้องต้นพระเพทราชาได้ถวายการต้อนรับเหล่าเจ้านายเป็นอย่างดี ก่อนลอบประหารเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ต่อมาจึงได้จับกุมพระราชอนุชาคลุมด้วยผ้ากำมะหยี่แล้วทุบด้วยท่อนจันทน์[14]วัดซาก แขวงเมืองลพบุรี[15] โดยเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษสามพระองค์ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย[16] และพระปีย์[4] แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษเป็นพระราชอนุชาสองพระองค์คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอินทรราชาหรือพระองค์อินท์ และพระราชบุตรบุญธรรมคือพระปีย์[17] ส่วนกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาทรงถูกสงวนไว้สำหรับเป็นพระมเหสีของพระเพทราชา[18][19] แต่พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน[20]

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวันถัดมา[14] พระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่[21]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93
  2. 2.0 2.1 มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex, หน้า 258
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 220-226
  4. 4.0 4.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (16 ธันวาคม 2559). "ปริศนาโบราณคดี : 'แช่แข็งสยาม' ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, หน้า 36
  6. 6.0 6.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 227
  7. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 240
  8. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (11 กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 105
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 318
  10. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 413
  11. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex, หน้า 263
  12. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 522
  13. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 18
  14. 14.0 14.1 ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 39
  15. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 416
  16. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 230
  17. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 509
  18. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 40
  19. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 231
  20. หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน, หน้า 22
  21. จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 531
บรรณานุกรม
  • กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 336 หน้า. ISBN 978-974-02-1717-6
  • ขจร สุขพานิชออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
  • เดส์ฟาร์จ, นายพล (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 120 หน้า. ISBN 978-974-02-1610-0
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 112 หน้า. ISBN 974-323-832-8
  • โบชอง, พันตรี (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 100 หน้า. ISBN 978-974-02-1111-2
  • สปอร์แตช, มอร์กาน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 280 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9