สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | ปีศาจแดง[1] ผีแดง (ในภาษาไทย) | |||
ชื่อย่อ | แมนยูไนเต็ด ยูไนเต็ด[2][3] | |||
ก่อตั้ง | 1878 1902 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด | ในชื่อ สโมสรฟุตบอลนิวตันฮีตแอลวายอาร์|||
สนาม | โอลด์แทรฟฟอร์ด | |||
ความจุ | 74,140 ที่นั่ง[4] | |||
เจ้าของ | Manchester United plc (เอ็นวายเอสอี: MANU) | |||
ประธานร่วม | โจเอล และ อัฟราม เกลเซอร์ | |||
ผู้จัดการ | รูแบน อามอริม | |||
ลีก | พรีเมียร์ลีก | |||
2023–24 | อันดับที่ 8 จาก 20 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (อังกฤษ: Manchester United Football Club) เป็นสโมสรฟุตบอลตั้งอยู่ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดในเกรเทอร์แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันแข่งขันในพรีเมียร์ลีกซึ่งเป็นลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ สโมสรมีฉายา "ปีศาจแดง" ก่อตั้งในชื่อสโมสรฟุตบอลนิวตันฮีตแอลวายอาร์ใน ค.ศ. 1878 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดใน ค.ศ. 1902 และย้ายไปเล่นที่สนามเหย้าปัจจุบันอย่างโอลด์แทรฟฟอร์ดใน ค.ศ. 1910
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในสโมสรที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลมากที่สุดในฟุตบอลอังกฤษ[5] โดยชนะเลิศลีก 20 สมัย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด, เอฟเอคัพ 13 สมัย, ลีกคัพ 6 สมัย และเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 21 สมัย ซึ่งก็เป็นสถิติสูงสุดเช่นกัน ยูไนเต็ดยังชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัย, ยูฟ่ายูโรปาลีก 1 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 1 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 สมัย โดยในฤดูกาล 1998–99 สโมสรกลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษที่คว้าทริปเปิลแชมป์ระดับทวีปยุโรป[6] และในฤดูกาล 2016–17 หลังจากที่ชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก พวกเขากลายเป็นหนึ่งในห้าสโมสรที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของยูฟ่าครบทั้งสามรายการ
แมตต์ บัสบีผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1945 สร้างทีมด้วยค่าเฉลี่ยอายุของผู้เล่นในทีมชุดใหญ่เพียง 22 ปี ซึ่งในยุคนั้นได้รับการขนานนามว่าบัสบีเบบส์ บัสบีพาสโมสรชนะเลิศลีกสูงสุดสามสมัยในทศวรรษ 1950 และยังเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ร่วมแข่งขันฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ภัยพิบัติทางอากาศมิวนิกเมื่อ ค.ศ. 1958 คร่าชีวิตผู้เล่นแปดคน อย่างไรก็ตาม บัสบีสร้างทีมขึ้นมาใหม่ด้วยผู้เล่นชื่อดังอย่าง จอร์จ เบสต์, เดนิส ลอว์ และ บ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อสามประสานศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาชนะเลิศลีกสูงสุดอีกสองสมัยก่อนที่ใน ค.ศ. 1968 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะกลายเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ชนะเลิศยูโรเปียนคัพ ภายหลังการอำลาทีมของบัสบี สโมสรไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนจนกระทั่งการมาถึงของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งพาทีมชนะเลิศถ้วยรางวัล 38 ใบในฐานะผู้จัดการทีม ซึ่งรวมพรีเมียร์ลีก 13 สมัย, เอฟเอคัพ 5 สมัย และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 สมัยในระหว่าง ค.ศ. 1986 ถึง 2013 ซึ่งเป็นปีที่เขาประกาศเกษียณตัวเอง[7][8][9]
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[10][11] และมีสโมสรคู่ปรับคือ ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ซิตี, อาร์เซนอล และลีดส์ยูไนเต็ด แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกในฤดูกาล 2016–17 ด้วยรายได้ต่อปีเป็นจำนวน 676.3 ล้านยูโร[12] และเป็นสโมสรที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่สามของโลกใน ค.ศ. 2019 เป็นมูลค่า 3.15 พันล้านปอนด์ (3.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)[13] ณ ค.ศ. 2015 สโมสรเป็นเครื่องหมายการค้าฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก คาดว่ามีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[14][15] หลังจากที่ได้มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1991 สโมสรได้กลับมาเป็นบริษัทเอกชนจากการที่มัลคอม เกลเซอร์ซื้อกิจการเมื่อ ค.ศ. 2005 ด้วยมูลค่าเกือบ 800 ล้านปอนด์ ซึ่งเงินที่ถูกกู้กว่า 500 ล้านปอนด์นี้กลายเป็นหนี้ของสโมสร[16] และตั้งแต่ ค.ศ. 2012 หุ้นบางส่วนของสโมสรถูกเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก แม้ว่าตระกูลเกลเซอร์จะยังคงมีบทบาทเป็นเจ้าของและควบคุมสโมสร
ประวัติ
ช่วงแรก (1878–1945)
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1878 ในชื่อสโมสรฟุตบอลนิวตันฮีตแอลวายอาร์ (อังกฤษ: Newton Heath LYR Football Club) โดยพนักงานแผนกตู้โดยสารและตู้สินค้าของโรงซ่อมบำรุงรถไฟแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ที่นิวตันฮีต[17] ในช่วงแรก ทีมแข่งขันกับแผนกและบริษัทรถไฟอื่น ๆ แต่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1880 พวกเขาแข่งขันในนัดแรกที่มีการบันทึกไว้ โดยสวมเสื้อสีประจำบริษัทอย่างสีเขียวและสีทอง นัดนั้น พวกเขาพ่ายแพ้ต่อทีมสำรองของโบลตันวอนเดอเรอส์ด้วยผลประตู 6–0[18] ต่อมาใน ค.ศ. 1888 สโมสรกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของเดอะคอมบิเนชัน ลีกฟุตบอลระดับภูมิภาค แต่หลังจากยุบลีกในช่วงเวลาผ่านไปเพียงฤดูกาลเดียว นิวตันฮีทเข้าร่วมฟุตบอลอัลไลแอนซ์ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ โดยแข่งขันสามฤดูกาลก่อนที่ลีกจะถูกรวมเข้ากับฟุตบอลลีก ส่งผลให้สโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 1892–93 ในเฟิสต์ดิวิชัน ณ เวลานั้น พวกเขาแยกตัวออกจากบริษัทรถไฟและนำคำว่า "แอลวายอาร์" ออกจากชื่อ[17] สองฤดูกาลถัดมา สโมสรตกชั้นสู่เซคันด์ดิวิชัน[17]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 สโมสรติดหนี้เป็นจำนวน 2,670 ปอนด์ หรือเท่ากับ 290,000 ปอนด์ใน ค.ศ. 2020[nb 1] จนมีคำสั่งให้เลิกกิจการ[19] กัปตันทีม แฮร์รี สแตฟเฟิร์ด ได้ไปพบกับนักธุรกิจท้องถิ่นสี่คน ซึ่งรวมถึงจอห์น เฮนรี เดวีส์ (ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นประธานสโมสร) ทุกคนยินดีที่จะลงทุนเงิน 500 ปอนด์เพื่อแลกกับผลประโยชน์โดยตรงในการบริหารสโมสร พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อสโมสรในภายหลัง[20] ทำให้ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1920 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ[21][nb 2] เออร์เนสต์ มังแนล ผู้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1903 พาทีมจบรองชนะเลิศในเซคันด์ดิวิชันใน ค.ศ. 1906 จนได้เลื่อนชั้นสู่เฟิสต์ดิวิชัน ซึ่งพวกเขาชนะเลิศใน ค.ศ. 1908 นับเป็นแชมป์ลีกสมัยแรกของสโมสร พวกเขาเริ่มต้นฤดูกาลถัดมาด้วยการชนะเลิศแชริตีชีลด์เป็นสมัยแรกเป็นสโมสร[22] ก่อนที่จะจบฤดูกาลด้วยการชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นสมัยแรกของสโมสรเช่นเดียวกัน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศเฟิสต์ดิวิชันเป็นสมัยที่สองใน ค.ศ. 1911 แต่หลังจบฤดูกาลถัดมา มังแนลออกจากสโมสรและเข้าร่วมแมนเชสเตอร์ซิตี[23]
ใน ค.ศ. 1922 ซึ่งมีการแข่งขันฟุตบอลใหม่มาแล้วสามปีหลังจากที่หยุดไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สโมสรตกชั้นสู่เซคันด์ดิวิชัน และได้เลื่อนชั้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1925 พวกเขาตกชั้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1931 ทำให้สโมสรจึงกลายเป็นโยโย่คลับ สโมสรจบอันดับที่ 20 ในเซคันด์ดิวิชันเมื่อ ค.ศ. ค.ศ. 1934 นับเป็นอันดับต่ำที่สุดตลอดกาล ต่อมาเมื่อจอห์น เฮนรี เดวีส์ ผู้อุปการคุณหลัก เสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1927 สถานะการเงินของสโมสรย่ำแย่จนอาจล้มละลายหากไม่ได้เจมส์ ดับเบิลยู. กิบสัน ผู้ซึ่งลงทุนเงิน 2,000 ปอนด์และเข้าควบคุมกิจการสโมสรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1931[24] ต่อมาในฤดูกาล 1938–39 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการแข่งขันฟุตบอลก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สโมสรจบอันดับที่ 14 ในเฟิสต์ดิวิชัน[24]
ยุคของบัสบี (1945–1969)
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 การกลับมาแข่งขันฟุตบอลอีกครั้งทำให้มีการแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่ คือ แมตต์ บัสบี ผู้เรียกร้องอำนาจการคุมทีมสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งการเลือกผู้เล่น การซื้อขายผู้เล่น และการฝึกซ้อม[25] บัสบีพาทีมจบอันดับที่สองในลีกใน ค.ศ. 1947, 1948 และ 1949 และชนะเลิศเอฟเอคัพใน ค.ศ. 1948 ต่อมาใน ค.ศ. 1952 สโมสรชนะเลิศเฟิสต์ดิวิชันเป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปี[26] พวกเขายังชนะเลิศลีกสองสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1956 และ 1957 โดยผู้เล่นชุดนั้นมีอายุเฉลี่ยเพียง 22 ปี สื่อมวลชนได้ขนานนามทีมว่า "เดอะบัสบีเบปส์" เพื่อเป็นเกียรติแก่บัสบีที่ให้โอกาสผู้เล่นเยาวชนของเขา[27] ต่อมาใน ค.ศ. 1957 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลายเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่เข้าร่วมแข่งขันยูโรเปียนคัพ แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากฟุตบอลลีกซึ่งปฏิเสธการเข้าร่วมของเชลซีในฤดูกาลก่อนหน้า[28] ยูโรเปียนคัพครั้งนั้น ยูไนเต็ดตกรอบรองชนะเลิศหลังจากที่แพ้เรอัลมาดริด โดยก่อนหน้านี้ พวกเขาเอาชนะอันเดอร์เลคต์ ทีมชนะเลิศลีกเบลเยียม ด้วยผลประตู 10–0 นับเป็นผลชนะสูงสุดตลอดกาลของสโมสร[29]
ในฤดูกาลถัดมา ระหว่างเดินทางกลับจากการแข่งขันยูโรเปียนคัพรอบก่อนรองชนะเลิศที่เอาชนะเรดสตาร์ เบลเกรด เครื่องบินที่มีผู้เล่นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เจ้าหน้าที่ และนักข่าว เกิดอุบัติเหตุในตอนที่บินขึ้นหลังเติมเชื้อเพลิงที่มิวนิกในเยอรมนี จนเกิดภัยพิบัติทางอากาศมิวนิกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 ภัยพิบัตินี้มีผู้เสียชีวิต 23 คน โดยมีผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแปดคน ได้แก่ เจฟฟ์ เบนต์, โรเจอร์ ไบร์น, เอ็ดดี โคลแมน, ดังคัน เอดเวิดส์, มาร์ก โจนส์, เดวิด เพ็กก์, ทอมมี เทย์เลอร์ และบิลลี วีลัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก[30][31]
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม จิมมี เมอร์ฟี รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมในช่วงที่บัสบีรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ เขาพาทีมซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นตัวสำรองเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพซึ่งพวกเขาพ่ายแพ้ต่อโบลตันวอนเดอเรอส์ ในช่วงเหตุการณ์ร้ายแรงนี้เอง ยูฟ่าได้เชิญสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1958–59 พร้อมกับวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ แม้ว่าสมาคมฟุตบอลจะอนุมัติให้เข้าร่วม แต่ฟุตบอลลีกตัดสินว่าสโมสรไม่ควรเข้าร่วมแข่งขันเพราะไม่ผ่านการคัดเลือก[32][33] บัสบีสร้างทีมขึ้นใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960 โดยซื้อผู้เล่นอย่างเดนิส ลอว์และแพต เครแรนด์ ที่จะมาเล่นร่วมกันกับผู้เล่นดาวรุ่งหลายคนซึ่งรวมถึงจอร์จ เบสต์ พวกเขาชนะเลิศเอฟเอคัพได้ใน ค.ศ. 1963 ฤดูกาลถัดมา พวกเขาจบอันดับที่สองในลีก จากนั้นชนะเลิศลีกใน ค.ศ. 1965 และ 1967 ต่อมาใน ค.ศ. 1968 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลายเป็นสโมสรแรกของอังกฤษ (และสโมสรที่สองของบริติช) ที่ชนะเลิศยูโรเปียนคัพหลังเอาชนะไบฟีกาด้วยผลประตู 4–1 ในนัดชิงชนะเลิศ[34] โดยทีมชุดนั้นมีผู้เล่นที่ได้รางวัลผู้เล่นแห่งปีของยุโรปสามคน ได้แก่ บ็อบบี ชาร์ลตัน, เดนิส ลอว์ และจอร์จ เบสต์[35] พวกเขาเป็นตัวแทนจากยุโรปในการแข่งขันอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 1968 ที่พบกับเอสตูเดียนเตสจากอาร์เจนตินา พวกเขาพ่ายแพ้ด้วยผลประตูรวม หลังจากที่แพ้ในเลกแรกที่บัวโนสไอเรส ก่อนที่จะเสมอด้วยผลประตู 1–1 ที่โอล์ดแทรฟฟอร์ดในอีกสามสัปดาห์ถัดมา บัสบีลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1969 และวิล์ฟ์ แมคควินเนสส์ ผู้ฝึกสอนทีมสำรองและอดีตผู้เล่นของสโมสร เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแทน[36]
1969–1986
หลังจากจบอันดับที่แปดในฤดูกาล 1969–70 และเริ่มต้นฤดูกาล 1970–71 ได้อย่างย่ำแย่ สโมสรเกลี้ยกล่อมให้บัสบีกลับมารับหน้าที่ผู้จัดการทีมชั่วคราว ส่วนแม็กกินเนสส์กลับไปเป็นผู้จัดการทีมสำรอง ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 แฟรงก์ โอแฟร์เรลล์เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีม แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึง 18 เดือน ทอมมี ดอเชอร์ตีก็เข้ารับตำแหน่งแทนในเดือนธันวาคม ค.ศ.1972[38] ดอเชอร์ตีช่วยให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรอดจากการตกชั้นได้ในฤดูกาลนั้น แต่ใน ค.ศ. ค.ศ. 1974 ทีมก็ต้องตกชั้นไป ทำให้ผู้เล่นสามประสานอันได้แก่ เบสต์, ลอว์ และชาร์ลตัน ย้ายออกจากสโมสร[34] ทีมเลื่อนชั้นกลับมาได้ภายในฤดูกาลเดียวและยังเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพใน ค.ศ. 1976 แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับเซาแทมป์ตัน พวกเขาเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งใน ค.ศ. 1977 โดยสามารถเอาชนะลิเวอร์พูล ด้วยผลประตู 2–1 อย่างไรก็ตาม สโมสรปลดดอเชอร์ตีออกจากตำแหน่งหลังมีข่าวเชิงชู้สาวกับภรรยาของนักกายภาพสโมสร[36][39]
เดฟ เซ็กตันเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแทนดอเชอร์ตีในฤดูร้อน ค.ศ.1977 แม้ว่าเขาจะเซ็นสัญญาผู้เล่นหลายคน รวมทั้งโจ จอร์แดน, กอร์ดอน แม็กควีน, แกรี เบลีย์ และเรย์ วิลกินส์ แต่ทีมก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จ พวกเขาจบอันดับที่สองในฤดูกาล 1979–80 และแพ้อาร์เซนอลในเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1979 สโมสรปลดเซ็กตันออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. 1981 แม้ว่าเขาจะพาทีมชนะเจ็ดนัดสุดท้ายของฤดูกาลก็ตาม[40] สโมสรแต่งตั้งรอน แอตกินสันเป็นผู้จัดการทีม เขาทำลายสถิติซื้อตัวผู้เล่นในบริติชด้วยการเซ็นสัญญากับไบรอัน ร็อบสันจากเวสต์บรอมมิชอัลเบียน ภายใต้การคุมทีมของแอตกินสัน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศเอฟเอคัพสองครั้งในช่วงสามปี คือใน ค.ศ. 1983 และ 1985 ต่อมาในฤดูกาล 1985–86 หลังจากชนะ 13 นัดและเสมอ 2 นัดใน 15 นัดแรกของฤดูกาล สโมสรมีความหวังที่จะชนะเลิศลีก แต่สุดท้ายต้องจบเพียงอันดับสี่เท่านั้น ฤดูกาลถัดมา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน สโมสรอยู่ในอันดับที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น ทำให้สโมสรปลดแอตกินสันออกจากตำแหน่ง[41]
ยุคของเฟอร์กูสัน (1986–2013)
อเล็กซ์ เฟอร์กูสันและผู้ช่วยของเขา อาร์ชี น็อกซ์ ที่มาจากแอเบอร์ดีน เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในวันเดียวกันกับที่แอตกินสันถูกปลดออก[42] และพาสโมสรจบอันดับที่ 11 ในลีก[43] แม้ว่าสโมสรจะจบอันดับที่ 2 ในฤดูกาล 1987–88 แต่ในฤดูกาลถัดมา สโมสรกลับไปจบอันดับที่ 11 เหมือนเดิม[44] มีรายงานว่าเฟอร์กูสันจะถูกไล่ออก ก่อนที่ใน ค.ศ. 1990 สโมสรจะชนะเลิศเอฟเอคัพเหนือคริสตัลพาเลซในนัดชิงชนะเลิศที่แข่งใหม่ (หลังจากที่เสมอกัน 3–3) ทำให้เฟอร์กูสันได้ทำหน้าที่ต่อ[45][46] ฤดูกาลถัดมา แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพเป็นสมัยแรก ทำให้ได้เข้าร่วมแข่งขันยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1991 และสามารถเอาชนะเรดสตาร์ เบลเกรด ทีมชนะเลิศยูโรเปียนคัพ ด้วยผลประตู 1–0 ในนัดชิงชนะเลิศที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ต่อมาใน ค.ศ. 1992 สโมสรเข้าชิงชนะเลิศลีกคัพเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน โดยทีมเอาชนะนอตทิงแฮมฟอเรสต์ด้วยผลประตู 1–0 ที่สนามกีฬาเวมบลีย์[41] ต่อมาใน ค.ศ. 1993 สโมสรชนะเลิศลีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1967 และในปีถัดมา สโมสรชนะเลิศลีกสองสมัยติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1957 และยังชนะเลิศเอฟเอคัพ นับเป็นดับเบิลแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร[41] ยูไนเต็ดกลายเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่คว้าดับเบิลแชมป์ได้สองครั้งหลังจากที่พวกเขาชนะเลิศทั้งสองรายการอีกครั้งในฤดูกาล 1995–96[47] ก่อนที่ป้องกันแชมป์ลีกอีกหนึ่งสมัยในฤดูกาล 1996–97 ขณะที่ยังมีการแข่งขันเหลือเพียงนัดเดียว[48]
ในฤดูกาล 1998–99 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลายเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศพรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก หรือ "ทริปเปิลแชมป์" ได้ในฤดูกาลเดียวกัน[49] โดยในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ 1999 ยูไนเต็ดตามหลังอยู่ 1–0 แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ เท็ดดี เชอริงงัมและอูเลอ กึนนาร์ ซูลชาร์ ทำประตูแซงเอาชนะไบเอิร์นมิวนิกได้อย่างปาฏิหาริย์ ถือเป็นหนึ่งในการกลับมาเอาชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[50] สโมสรยังชนะเลิศอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพหลังจากที่เอาชนะปัลเมย์รัสด้วยผลประตู 1–0 ที่โตเกียว[51] เฟอร์กูสันได้รับยศอัศวินจากคุณประโยชน์ของเขาที่มีต่อฟุตบอล[52]
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศลีกอีกครั้งในฤดูกาล 1999–2000 และ 2000–01 และจบอันดับที่สามในฤดูกาล 2001–02 ก่อนที่จะกลับมาชนะเลิศอีกครั้งในฤดูกาล 2002–03[54] พวกเขาชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นสมัยที่ 11 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ในฤดูกาล 2003–04 ด้วยการชนะมิลล์วอลล์ด้วยผลประตู 3–0 ในนัดชิงชนะเลิศที่มิลเลนเนียมสเตเดียมในคาร์ดิฟฟ์[55] ต่อมาในฤดูกาล 2005–06 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ กว่าทศวรรษ[56] อย่างไรก็ตาม สโมสรสามารถจบอันดับที่สองในลีกและเอาชนะวีแกนแอทเลติกในฟุตบอลลีกคัพนัดชิงชนะเลิศ สโมสรชนะเลิศพรีเมียร์ลีกอีกครั้งในฤดูกาล 2006–07 และในฤดูกาลถัดมา สโมสรชนะเลิศลีกอังกฤษเป็นสมัยที่ 17 ก่อนที่จะคว้ายูโรเปียนดับเบิลแชมป์ด้วยการยิงลูกโทษเอาชนะเชลซีด้วยผลประตู 6–5 ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ 2008 ที่มอสโก โดยไรอัน กิกส์ลงเล่นเป็นนัดที่ 759 ให้กับสโมสรในนัดนี้ ทำลายสถิติลงเล่นมากที่สุดให้กับสโมสรที่บ็อบบี ชาร์ลตัน เคยทำไว้[57] ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 สโมสรชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2008 และฟุตบอลลีกคัพ ฤดูกาล 2008–09 อีกทั้งยังชนะเลิศพรีเมียร์ลีกเป็นสมัยที่สามติดต่อกัน[58][59] ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2009 สโมสรขายคริสเตียโน โรนัลโดให้กับเรอัลมาดริดด้วยค่าตัวสถิติโลก 80 ล้านปอนด์[60] ต่อมาใน ค.ศ. 2010 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเอาชนะแอสตันวิลลาในลีกคัพที่เวมบลีย์ด้วยผลประตู 2–1 ทำให้สโมสรป้องกันแชมป์ฟุตบอลถ้วยแบบแพ้คัดออกได้เป็นครั้งแรก[61]
หลังจบอันดับที่สองรองจากเชลซีในฤดูกาล 2009–10 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลับมาชนะเลิศลีกเป็นสมัยที่ 19 ได้ในฤดูกาล 2010–11 หลังจากที่บุกไปเสมอกับแบล็กเบิร์นโรเวอส์ด้วยผลประตู 1–1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2011[62] ต่อมาสโมสรชนะเลิศลีกเป็นสมัยที่ 20 ในฤดูกาล 2012–13 หลังจากที่เปิดบ้านเอาชนะแอสตันวิลลาด้วยผลประตู 3–0 เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2013[63]
2013–ปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 เฟอร์กูสันประกาศว่าเขาจะเกษียณจากตำแหน่งผู้จัดการทีมหลังจบฤดูกาล แต่จะยังคงเป็นผู้อำนวยการและทูตของสโมสร[64][65] วันถัดมา สโมสรประกาศว่า เดวิด มอยส์ ผู้จัดการทีมของเอฟเวอร์ตัน จะรับหน้าที่ต่อจากเขาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ด้วยสัญญาหกปี[66][67][68] สิบเดือนถัดมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2014 ไรอัน กิกส์รับหน้าที่เป็นผู้เล่น-ผู้จัดการทีมชั่วคราวหลังจากที่มอยส์ถูกปลดออกเนื่องจากผลงานอันย่ำแย่ โดยสโมสรไม่สามารถป้องกันแชมป์ลีกและไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1995–96[69] อีกทั้งยังไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในยูโรปาลีก ถือเป็นครั้งแรกที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในการแข่งขันระดับทวีปยุโรปนับตั้งแต่ ค.ศ. 1990[70] วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 มีการยืนยันว่าลูวี ฟัน คาลจะเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแทนมอยส์ด้วยสัญญาสามปี โดยมีกิกส์เป็นผู้ช่วย[71] มัลคอล เกลเซอร์ หัวหน้าตระกูลเกลเซอร์ผู้เป็นเจ้าของสโมสรได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2014[72]
ในฤดูกาลแรกของฟัน คาล แม้ว่าเขาจะพายูไนเต็ดกลับไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกครั้งจากการจบอันดับที่สี่ในลีก แต่ในฤดูกาลที่สองของเขา ยูไนเต็ดกลับตกรอบแบ่งกลุ่ม[73] อีกทั้งยังจบเพียงอันดับที่ห้า ไม่สามารถลุ้นแชมป์ลีกได้เป็นฤดูกาลที่สามติดต่อกัน แม้ว่าเขาจะเซ็นสัญญาผู้เล่นค่าตัวแพงเข้ามาก็ตาม ในฤดูกาลเดียวกัน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นสมัยที่ 12 นับเป็นถ้วยรางวัลแรกของพวกเขานับตั้งแต่ ค.ศ. 2013[74] แม้ว่าทีมจะชนะเลิศ สโมสรกลับปลดฟัน คาล ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมในอีกสองวันต่อมา[75] โดยโชเซ มูรีนโย เข้ารับตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ด้วยสัญญาสามปี[76] ในฤดูกาลนั้น ยูไนเต็ดจบอันดับที่หกพร้อมกับชนะเลิศอีเอฟแอลคัพเป็นสมัยที่ห้า และชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีกเป็นสมัยแรก เช่นเดียวกับการชนะเลิศเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์เป็นสมัยที่ 21 ในนัดแรกที่มูรีนโยคุมทีม[77] แม้ว่าจะไม่จบในสี่อันดับแรก แต่ยูไนเต็ดสามารถผ่านเข้าสู่แชมเปียนส์ลีกได้จากการชนะเลิศยูโรปาลีก เวย์น รูนีย์ทำประตูที่ 250 ให้กับยูไนเต็ด แซงหน้าเซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน ในฐานะผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสร ก่อนที่เขาจะออกจากสโมสรหลังจบฤดูกาลเพื่อย้ายกลับเอฟเวอร์ตัน ฤดูกาลถัดมา ยูไนเต็ดจบอันดับที่สองในลีก นับเป็นอันดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ. 2013 แต่ทีมมีคะแนนตามหลังคู่ปรับอย่างแมนเชสเตอร์ซิตีถึง 19 แต้ม มูรีนโยพาสโมสรเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นครั้งที่ 19 ก่อนที่จะแพ้ให้กับเชลซี 1–0 ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ซึ่งยูไนเต็ดอยู่อันดับที่หกของตารางโดยมีคะแนนตามหลังอันดับที่หนึ่งอย่างลิเวอร์พูล 19 แต้ม และตามหลังพื้นที่แชมเปียนส์ลีก 11 แต้ม สโมสรปลดมูรีนโยออกจากตำแหน่งหลังจากที่เขาคุมทีมได้ 144 นัด วันถัดมา อดีตผู้เล่นในตำแหน่งกองหน้าของสโมสร อูเลอ กึนนาร์ ซูลชาร์เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมรักษาการจนจบฤดูกาล[78] ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2019 ซูลชาร์รับตำแหน่งผู้จัดการทีมถาวรด้วยสัญญาสามปี หลังจากทำผลงานอันยอดเยี่ยมด้วยการชนะการแข่งขัน 14 จาก 19 นัดแรก[79]
ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2021 ยูไนเต็ดได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมการแข่งขันเดอะซูเปอร์ลีก ร่วมกับสโมสรชั้นนำในยุโรปอีก 11 ทีม เพื่อคานอำนาจกับสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากแฟนบอล, สปอนเซอร์, สโมสรชั้นนำ และรัฐบาลอังกฤษ ส่งผลให้พวกเขาต้องยกเลิกแผนดังกล่าวในสองวันถัดมา[80][81] เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลาออกของ เอ็ด วู้ดวาร์ด ประธานกรรมการบริหารของสโมสร ตามมาด้วยการประท้วงของแฟนบอลบริเวณสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างยูไนเต็ดและลิเวอร์พูลต้องถูกเลื่อนออกไป โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่มีการเลื่อนเกมการแข่งขันเนื่องจากการประท้วงของแฟนบอล[82][83]
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ยูไนเต็ดเอาชนะเซาแทมป์ตันด้วยผลประตู 9–0 ถือเป็นสถิติร่วมในการชนะด้วยผลประตูมากที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก[84] แต่พวกเขาสิ้นสุดการแข่งขันในฤดูกาล 2020–21 ด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศยูโรปาลีก หลังจากแพ้จุดโทษบิยาร์เรอัลซึ่งเป็นการจบฤดูกาลโดยไม่สามารถคว้าถ้วยรางวัลใดมาครองเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน[85] ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 อูเลอ กึนนาร์ ซูลชาร์ ได้ยุติบทบาทการเป็นผู้จัดการทีม[86] ไมเคิล แคร์ริก อดีตผู้เล่นของสโมสรรับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมรักษาการในการแข่งขันสามนัดต่อมา ก่อนที่ รัล์ฟ รังนิค จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวจนจบฤดูกาล 2021–22[87]
ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2022 สโมสรแต่งตั้ง เอริก เติน ฮัค เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในฤดูกาล 2022–23 โดยเซ็นสัญญาไปถึง ค.ศ. 2025 พร้อมเงื่อนไขในการขยายสัญญาเพิ่มเติม[88] เติน ฮัค ชนะเลิศถ้วยรางวัลแรกกับสโมสรในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 โดยเอาชนะนิวคาสเซิลยูไนเต็ดในรอบชิงชนะเลิศอีเอฟแอลคัพ ด้วยผลประตู 2–0[89] ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2023 ยูไนเต็ดแพ้ลิเวอร์พูลที่สนามแอนฟีลด์ด้วยผลประตู 7–0 ซึ่งเป็นการแพ้ที่ขาดลอยที่สุดสำหรับการเจอกันระหว่างสองสโมสร[90] เติน ฮัค พาทีมจบอันดับสามในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022–23 และยังเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ แต่แพ้แมนเชสเตอร์ซิตีด้วยผลประตู 2–1 ต่อมา ยูไนเต็ดจบอันดับแปดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023–24 ซึ่งเป็นอันดับที่ย่ำแย่ที่สุดในลีกสูงสุดของสโมสรตั้งแต่ฤดูกาล 1989–90 แต่สโมสรยังชนะเลิศเอฟเอคัพสมัยที่ 13 จากการชนะแมนเชสเตอร์ซิตีด้วยผลประตู 2–1 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก[91] เติน ฮัค ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2024 จากการพาสโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 2024–25 ได้ย่ำแย่ โดยชนะได้เพียงสามนัดจากการแข่งขันเก้านัดแรก[92] สโมสรมอบหมายให้ รืด ฟัน นิสเติลโรย ทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชั่วคราว[93] ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 รูแบน อามอริม ผู้จัดการทีมสปอร์ติงลิสบอนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024[94]
ตราสโมสรและสีชุดแข่งขัน
ตราสัญลักษณ์ของสโมสรมีที่มาจากตราประจำสภานครแมนเชสเตอร์ ส่วนที่ยังคงอยู่จากตราดั้งเดิมที่ปรากฏในตราปัจจุบันคือรูปเรือใบเต็มลำ[95] รูปปีศาจมาจากฉายาของสโมสร "ปีศาจแดง" ปีศาจนี้ปรากฏบนรายการโทรทัศน์ของสโมสรและผ้าพันคอในทศวรรษ 1960 และถูกนำไปใส่ในตราสโมสรเมื่อ ค.ศ. 1970 อย่างไรก็ตาม ตรานี้ยังไม่ปรากฏบนอกเสื้อจนกระทั่งใน ค.ศ. 1971[95]
เครื่องแบบของนิวตันฮีตเมื่อ ค.ศ. 1879 สี่ปีก่อนที่สโมสรจะลงแข่งขันครั้งแรก มีบันทึกว่าเป็น 'ชุดสีขาวและสีน้ำเงิน'[96] ภาพถ่ายของทีมนิวตันฮีตใน ค.ศ. 1892 แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นสวมเสื้อสี่ส่วนสีแดงและขาวและกางเกงนิกเกอร์บอกเกอส์สีน้ำเงินเข้ม[97] ต่อมาระหว่าง ค.ศ. 1894 และ 1896 ผู้เล่นสวมเสื้อสีเขียวและสีทอง[97] ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเสื้อสีขาวและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเข้มใน ค.ศ. 1896[97]
หลังจากเปลี่ยนชื่อสโมสรใน ค.ศ. 1902 สีชุดแข่งของสโมสรเปลี่ยนเป็นเสื้อสีแดง กางเกงสีขาว และถุงเท้าสีดำ ซึ่งกลายเป็นชุดเหย้ามาตรฐานของทีม[97] มีการเปลี่ยนแปลงของชุดเล็กน้อยจนกระทั่งใน ค.ศ. 1922 เมื่อสโมสรนำเสื้อสีขาวที่มีรูปตัว "วี" สีแดงเข้มรอบคอ คล้ายกับเสื้อที่สวมในเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1909 พวกเขาคงไว้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเหย้าจนถึง ค.ศ. 1927[97] สำหรับช่วงเวลาใน ค.ศ. 1934 เสื้อชุดเหย้ากลายเป็นเสื้อลายขวางสีเชอร์รีสลับขาว แต่ในฤดูกาลถัดมาสโมสรนำเสื้อสีแดงกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากที่สโมสรจบอันดับที่ 20 ในเซคันด์ดิวิชันซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดของสโมสร ส่วนเสื้อลายทางถูกลดบทบาทเป็นเพียงชุดตัวเลือก[97] ถุงเท้าสีดำเปลี่ยนเป็นสีขาวตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ถึง 1965 ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีแดงในขณะที่สีขาวใช้ในบางโอกาส และใน ค.ศ. 1971 สโมสรกลับไปใช้ถุงเท้าสีดำ กางเกงสีดำและถุงเท้าสีขาวจะสวมคู่กับเสื้อเหย้าเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่ใส่ในนัดเยือนกรณีที่ชุดของทีมตรงกับชุดของคู่แข่ง สำหรับฤดูกาล 2018–19 กางเกงสีดำและถุงเท้าสีแดงกลายเป็นตัวเลือกหลักสำหรับชุดเหย้า[98] ตั้งแต่ฤดูกาล 1997–98 สโมสรใช้ถุงเท้าสีขาวในเกมยุโรปที่มักแข่งขันในคืนกลางสัปดาห์ เพื่อช่วยในการมองเห็นของผู้เล่น[99] ชุดเหย้าในปัจจุบันประกอบด้วยเสื้อสีแดงพร้อมเครื่องหมายสามแถบของอาดิดาสบนไหล่ กางเกงสีขาว และถุงเท้าสีดำ[100]
ชุดเยือนของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมักเป็นเสื้อสีขาว กางเกงสีดำและถุงเท้าสีขาว ยกเว้นในบางครั้งที่มีการใช้ชุดสีดำล้วนตัดด้วยสีน้ำเงินและสีทองระหว่าง ค.ศ. 1993 ถึง 1995 กับเสื้อสีกรมท่าที่มีแถบสีเงินแนวนอนในช่วงฤดูกาล 1999–2000[101] และชุดเยือนในฤดูกาล 2011–12 ซึ่งใช้เสื้อสีฟ้าที่มีแขนเสื้อแถบลายเส้นสีกรมท่าและสีดำ พร้อมกับกางเกงสีดำ และถุงเท้าสีน้ำเงิน[102] ชุดเยือนสีเทาล้วนที่ใช้ในช่วงฤดูกาล 1995–96 ถูกยกเลิกหลังจากที่ได้สวมเพียงห้านัด นัดสุดท้ายที่ใช้ชุดนี้คือนัดที่พบกับเซาแทมป์ตัน โดยอเล็กซ์ เฟอร์กูสันบังคับให้ทีมเปลี่ยนไปสวมชุดที่สามในช่วงครึ่งหลัง เพราะผู้เล่นอ้างว่ามีปัญหาในการมองหาเพื่อนร่วมทีม จนทำให้ยูไนเต็ดไม่สามารถเอาชนะในนัดที่สวมชุดนี้[103] ใน ค.ศ. 2001 ซึ่งมีการฉลองครบรอบ 100 ปีในชื่อ "แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด" มีการจำหน่ายชุดเยือนสีขาวและทองแบบกลับด้านได้ แม้ว่าในนัดแข่งขันจริงจะไม่สามารถกลับด้านเสื้อได้[104]
ชุดที่สามของสโมสรมักเป็นสีน้ำเงินล้วน โดยครั้งล่าสุดที่ใช้คือฤดูกาล 2014–15[105] บางครั้งชุดที่สามเป็นสีอื่น เช่น เสื้อแบ่งครึ่งสีเขียวและสีทองที่ใช้ระหว่าง ค.ศ. 1992 ถึง 1994 เสื้อลายทางสีน้ำเงินและสีขาวที่ใส่ในฤดูกาล 1994–95, 1995–96 และ 1996–97 ชุดสีดำที่ล้วนใส่ในฤดูกาล 1998–99 ที่ได้ทริปเปิลแชมป์ และเสื้อสีขาวแถบแนวนอนสีดำและสีแดงที่ใส่ในฤดูกาล 2003–04 และ 2005–06[106] ตั้งแต่ฤดูกาล 2006–07 ถึง 2013–14 ชุดที่สามจะเป็นชุดเยือนของฤดูกาลก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผู้สนับสนุนของสโมสรในฤดูกาล 2006–07 และ 2010–11 ก็ตาม ชุดที่สามในฤดูกาล 2008–09 เป็นชุดสีฟ้าล้วนที่ผลิตขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีของความสำเร็จในยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1967–68[107]
วิวัฒนาการของชุด
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
- หมายเหตุ
สนาม
1878–1893: นอร์ทโรด
ในช่วงแรก นิวตันฮีตเล่นที่สนามนอร์ทโรดใกล้กับย่านรถไฟ เดิมมีความจุประมาณ 12,000 ที่นั่ง แต่เจ้าหน้าที่ของสโมสรเห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นไม่เพียงพอต่อสโมสรในการเข้าร่วมฟุตบอลลีก[108] ทำให้มีการขยายสนามใน ค.ศ. 1887 และ 1891 นิวตันฮีตใช้เงินสำรองขั้นต่ำเพื่อซื้ออัฒจันทร์สองฝั่ง โดยแต่ละฝั่งจุผู้ชมได้ 1,000 คน[109] แม้ในนัดแรก ๆ จะยังไม่มีการบันทึกจำนวนผู้เข้าชมที่นอร์ทโรด แต่สถิติผู้เข้าชมสูงสุดที่มีการบันทึกไว้อยู่ที่ประมาณ 15,000 คนในนัดการแข่งขันเฟิสต์ดิวิชันที่พบกับซันเดอร์แลนด์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1893[110] นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกจำนวนผู้เข้าชมที่ใกล้เคียงกันในนัดกระชับมิตรที่พบกอร์ตันวิลลาเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1889[111]
1893–1910: สนามแบงก์สตรีต
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1893 หลังจากที่เจ้าของนอร์ทโรดอย่างดีนและแคนอนแห่งแมนเชสเตอร์ที่รู้สึกว่าการที่สโมสรคิดค่าเข้าสนามนั้นไม่เหมาะสม ได้ขับไล่สโมสรออกไป เลขานุการ เอ. เอช. อัลบัต ได้จัดหาสนามแบงก์สตรีตในเคลย์ตัน[112] ในช่วงแรก สนามยังไม่มีอัฒจันทร์ จนกระทั่งในช่วงต้นฤดูกาล 1893–94 ได้มีการก่อสร้างอัฒจันทร์สองฝั่งแรก ฝั่งหนึ่งอยู่ในแนวตามยาวของสนาม ส่วนอีกฝั่งตั้งอยู่ที่ปลายสนามฝั่ง "แบรดฟอร์ดเอนด์" ซึ่งอยู่หลังประตู ในฝั่งตรงข้ามซึ่งก็คือ "เคลย์ตันเอนด์" ได้มีการก่อสร้างอัฒจันทร์ที่รองรับได้หนึ่งพันคน[112] การแข่งขันในลีกนัดแรกของนิวตันฮีตที่แบงก์สตรีตในนัดที่พบกับเบิร์นลีย์เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1893 มีผู้เข้าชม 10,000 คนที่เห็นอัลฟ์ ฟาร์มันทำแฮตทริกช่วยให้ทีมเอาชนะด้วยผลประตู 3–2 อัฒจันทร์ฝั่งที่เหลือสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเกมลีกนัดถัดมาที่พบกับนอตทิงแฮมฟอเรสต์ในอีกสามสัปดาห์ถัดมา[112] ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1895 ในนัดที่ก่อนที่จะพบกับแมนเชสเตอร์ซิตี สโมสรได้ซื้ออัฒจันทร์ความจุ 2,000 ที่นั่งจากสโมสรบรอตันเรนเจอส์ในลีกรักบี้ และสร้างอัฒจันทร์อีกฝั่งบน "รีเซิร์ฟไซด์" (ตั้งชื่อให้แยกออกจาก "ป็อปปูลาร์ไซด์") อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางสภาพอากาศทำให้มีผู้เข้าชมในนัดของแมนเชสเตอร์ซิตีเพียง 12,000 คน[113]
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งปิดสนามแบงก์สตรีตชั่วคราวใน ค.ศ. 1902 กัปตันทีม แฮร์รี สแตฟฟอร์ต ระดมทุนให้กับสโมสรในนัดเยือนถัดไปที่จะพบกับบริสตอลซิตี และหาสนามชั่วคราวที่ฮาร์ปูร์เฮย์ในนัดถัดไปของทีมสำรองที่จะพบกับพาดิแฮม[114] ต่อมาเมื่อมีการลงทุนด้านการเงิน ประธานสโมสรคนใหม่ จอห์น เฮนรี เดวีส์ จ่ายเงิน 500 ปอนด์เพื่อสร้างอัฒจันทร์แห่งใหม่ความจุ 1,000 ที่นั่งที่แบงก์สตรีต[115] ภายในสี่ปี สนามมีอัฒจันทร์ครบทั้งสี่ด้าน ทำให้รองรับผู้เข้าชมได้ประมาณ 50,000 คน ผู้เข้าชมบางส่วนสามารถรับชมเกมได้จากระเบียงบนอัฒจันทร์หลัก[115]
1910–ปัจจุบัน: โอลด์แทรฟฟอร์ด
หลังจากที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศลีกสมัยแรกใน ค.ศ. 1908 และชนะเลิศเอฟเอคัพในปีถัดมา มีความเห็นว่าแบงก์ตรีตนั้นมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับความทะเยอทะยานของเดวีส์[115] ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1909 หกสัปดาห์หลังจากที่สโมสรชนะเลิศเอฟเอคัพสมัยแรก มีการตั้งชื่อสนามเหย้าแห่งใหม่ของสโมสรว่าโอลด์แทรฟฟอร์ดโดยมีการซื้อที่ดินราคา 60,000 ปอนด์ อาร์คิบัลด์ ลีตช์ ผู้เป็นสถาปนิก ได้รับงบประมาณ 30,000 ปอนด์ในการก่อสร้าง แผนดั้งเดิมคือการสร้างสนามให้มีความจุ 100,000 ที่นั่ง แต่งบประมาณที่จำกัดทำให้ต้องลดความจุเหลือเพียง 77,000 ที่นั่ง ตัวอาคารสนามก่อสร้างโดยเมสเซอร์ เบรเมลด์ และสมิทออฟแมนเชสเตอร์ สถิติผู้เข้าชมสูงสุดที่สนามแห่งนี้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1939 ในการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศที่วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์พบกับกริมส์บีทาวน์ โดยมีผู้เข้าชม 76,962 คน[116]
การทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สองสร้างความเสียหายให้กับสนามเป็นส่วนมาก โดยอุโมงค์กลางในอัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่หลงเหลือในพื้นที่ส่วนนั้น หลังสงคราม สโมสรได้รับค่าบูรณะจากคณะกรรมาธิการความเสียหายจากสงครามด้วยจำนวนเงิน 22,278 ปอนด์ ในขณะที่มีการซ่อมแซมสนาม ทีมลงเล่นนัดเหย้าที่สนามเมนโรดของแมนเชสเตอร์ซิตี โดยยูไนเต็ดต้องจ่ายค่าเช่าสนาม 5,000 ปอนด์ต่อปีพร้อมกับส่วนแบ่งเงินค่าเข้าสนามคิดเป็นร้อยละที่กำหนดไว้[117] การปรับปรุงสนามในขั้นต่อมารวมถึงการประกอบหลังคา โดยประกอบครั้งแรกที่อัฒจันทร์ฝั่งสเตรตฟอร์ด ต่อมาจึงประกอบที่อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันออก เดิมหลังคาค้ำจุนด้วยเสาซึ่งบดบังการมองเห็นของผู้สนับสนุน ทำให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างค้ำจุนเป็นคานแทน อัฒจันทร์ฝั่งสเตรตฟอร์ดเป็นอัฒจันทร์ฝั่งสุดท้ายที่เปลี่ยนโครงสร้างค้ำจุนเป็นคาน โดยปรับปรุงเสร็จในฤดูกาล 1993–94[36] เสาสี่เสาความสูง 180-ฟุต (55-เมตร) สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 40,000 ปอนด์และเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1957 แต่ละเสาติดตั้งไฟสองสว่าง 54 ดวง โครงสร้างเหล่านี้ถูกรื้อถอนใน ค.ศ. 1987 และแทนที่ด้วยระบบไฟส่องสว่างที่ฝังในหลังคาของแต่ละอัฒจันทร์ ซึ่งใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[118]
ข้อกำหนดของเทย์เลอร์รีพอร์ตที่กำหนดให้สนามต้องติดตั้งเก้าอี้ครบทุกที่นั่ง ทำให้ความจุของโอลด์แทรฟฟอร์ดลดลงเหลือเพียง 44,000 ที่นั่งใน ค.ศ. 1993 ต่อมาใน ค.ศ. 1995 อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือได้ปรับปรุงใหม่เป็นแบบสามชั้น ทำให้ความจุของสนามเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 ที่นั่ง หลังจบฤดูกาล 1998–99 มีการเพิ่มชั้นที่สองให้กับอัฒจันทร์ฝั่งทิศตะวันออกและฝั่งทิศตะวันตก ทำให้ความจุของสนามเพิ่มขึ้นเป็น 67,000 ที่นั่ง ต่อมาระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 มีการเพิ่มเก้าอี้ 8,000 ที่นั่งบนชั้นที่สองของมุมอัฒจันทร์ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือและฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นั่งใหม่บางส่วนเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2006 โดยมีผู้เข้าชมในสนาม 69,070 คน กลายเป็นสถิติใหม่ของพรีเมียร์ลีก[119] สถิตินี้ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2007 เมื่อมีผู้เข้าชม 76,098 คน รับชมเกมที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเอาชนะแบล็กเบิร์นโรเวอส์ด้วยผลประตู 4–1 ในนัดนั้นมีเพียง 114 ที่นั่ง (ร้อยละ 0.15 ของความจุทั้งสนามที่ 76,212 ที่นั่ง) ที่ไม่มีผู้ชม[120] ต่อมาใน ค.ศ. 2009 มีการปรับปรุงที่นั่งจนทำให้ความจุของสนามลดลง 255 ที่นั่ง จนเหลือเพียง 75,957 ที่นั่ง[121][122] แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่สองของทวีปยุโรปรองจากโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์[123][124][125]
การสนับสนุน
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีจำนวนผู้เข้าชมเกมเหย้าโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในยุโรป[126] สโมสรมีฐานสนับสนุนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมากกว่า 200 แห่งที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในอย่างน้อย 24 ประเทศ[127] สโมสรใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนนี้ผ่านการทัวร์ฤดูร้อนทั่วโลก บริษัทการบัญชีและกลุ่มที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมกีฬาอย่างดีลอยต์ประมาณการว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีผู้สนับสนุน 75 ล้านคนทั่วโลก[10] สโมสรเป็นทีมกีฬาที่มีผู้ติดตามบัญชีเครือข่ายสังคมสูงเป็นอันดับที่สามของโลก (รองจากบาร์เซโลนาและเรอัลมาดริด) โดยมีผู้ติดตามเฟซบุ๊กมากกว่า 72 ล้านคน ณ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020[11][128] การศึกษาใน ค.ศ. 2014 เปิดเผยว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีผู้สนับสนุนที่ส่งเสียงดังที่สุดในพรีเมียร์ลีก[129]
ผู้สนับสนุนมีตัวแทนจากสองหน่วยงานอิสระ ได้แก่ สมาคมผู้สนับสนุนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอิสระ (อังกฤษ: Independent Manchester United Supporters' Association; IMUSA) ซึ่งเชื่อมโยงกับสโมสรอย่างใกล้ชิดผ่านทางฟอรัมผู้สนับสนุน[130] และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดซัพพอร์เทอส์ทรัสต์ (อังกฤษ: Manchester United Supporters' Trust; MUST) หลังจากการเข้าซื้อกิจการของตระกูลเกลเซอร์ใน ค.ศ. 2005 กลุ่มผู้สนับสนุนได้ก่อตั้งสโมสรแยกออกมาคือ สโมสรฟุตบอลยูไนเต็ดออฟแมนเชสเตอร์ อัฒจันทร์ฝั่งทิศตะวันตกของโอลด์แทรฟฟอร์ด "สเตรตฟอร์ดเอนด์" เป็นอัฒจันทร์ฝั่งเหย้าและเป็นอัฒจันทร์ดั้งเดิมของกลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรที่ส่งเสียงดังที่สุด[131]
คู่แข่ง
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีทีมคู่แข่งคือ อาร์เซนอล, ลีดส์ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ซิตี ซึ่งนัดที่พวกเขาพบกันเรียกว่าแมนเชสเตอร์ดาร์บี[132][133]
การแข่งขันกับลิเวอร์พูลมีรากฐานจากการแข่งขันระหว่างเมืองในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งแมนเชสเตอร์มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขณะที่ลิเวอร์พูลเป็นเมืองท่าสำคัญ[134] ทั้งสองสโมสรเป็นทีมจากอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทั้งการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติ ถ้วยรางวัลที่พวกเขาชนะเลิศเมื่อนำมารวมกัน ได้แก่ ลีก 39 สมัย, ยูโรเปียนคัพ 9 สมัย, ยูฟ่าคัพ 4 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5 สมัย, เอฟเอคัพ 21 สมัย, อีเอฟแอลคัพ 16 สมัย, ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 1 สมัย และเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 37 สมัย[135][136][137] การพบกันของทั้งคู่ถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอลและนัดการแข่งขันที่มีชื่อเสียงที่สุดในฟุตบอลอังกฤษ[138][139][140][141][142] อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กล่าวใน ค.ศ. 2002 ว่า "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมคือการสกัดลิเวอร์พูลออกจากความสำเร็จ"[143]
"ศึกกุหลาบ" กับลีดส์ มีสาเหตุจากสงครามแห่งดอกกุหลาบที่ต่อสู้กันระหว่างราชวงศ์แลงคัสเตอร์กับราชวงศ์ยอร์ก โดยแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นตัวแทนของแลงคาเชียร์และลีดส์เป็นตัวแทนของยอร์กเชียร์[144]
ความเป็นคู่แข่งกับอาร์เซนอลเป็นผลมาจากการแข่งขันหลายนัดระหว่างทั้งสองทีม โดยผู้จัดการทีม อเล็กซ์ เฟอร์กูสันและอาร์แซน แวงแกร์ต่างต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ด้วยจำนวนแชมป์ 33 สมัยของทั้งสองทีมรวมกัน (แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 20 สมัยและอาร์เซนอล 13 สมัย) การแข่งขันนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในนัดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์[145][146]
ตราสินค้าระดับโลก
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้รับการขนานนามว่าเป็นตราสินค้าระดับโลก โดยใน ค.ศ. 2011 แบรนด์ไฟแนนซ์ประเมินมูลค่าเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องของสโมสรไว้ที่ 412 ล้านปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 39 ล้านปอนด์ และยังประเมินมูลค่ามากกว่าตราสินค้าอันดับที่สองอย่างเรอัลมาดริด 11 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ ยังให้คะแนนความแข็งแกร่งของตราสินค้าไว้ที่ระดับ AAA (แข็งแกร่งมาก)[147] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 นิตยสารฟอบส์จัดอันดับให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่อันดับที่หนึ่งในรายชื่อทีมกีฬาที่มีมูลค่าตราสินค้ามากที่สุดสิบอันดับแรก โดยให้มูลค่าเครื่องหมายการค้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ที่ 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[148] ในขณะที่ดีลอยต์ฟุตบอลมันนีลีกจัดอันดับให้สโมสรอยู่อันดับที่สาม (รองจากเรอัลมาดริดและบาร์เซโลนา)[149] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2013 สโมสรกลายเป็นทีมกีฬาทีมแรกของโลกที่มีมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[150] นิตยสารฟอบส์ระบุว่าสโมสรมีมูลค่าสูงถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าทีมกีฬาที่มีมูลค่าเป็นอันดับที่สองถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[150] สี่ปีถัดมา มูลค่าของสโมสรเรอัลมาดริดสูงกว่ายูไนเต็ด แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2017 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลับสู่อันดับสูงสุดในรายชื่อของฟอบส์ด้วยมูลค่า 3.689 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[151]
จุดแข็งหลักของตราสินค้าระดับโลกของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมาจากการสร้างทีมขึ้นใหม่ของแมตต์ บัสบี และความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติทางอากาศที่มิวนิก จนทำให้เกิดการสรรเสริญทั่วโลก[131] ทีม "ที่เป็นเอกลักษณ์" ซึ่งรวมผู้เล่นอย่างบ็อบบี ชาร์ลตัน และน็อบบี สติลส์ (ผู้เล่นทีมชาติอังกฤษชุดชนะเลิศฟุตบอลโลก), เดนิส ลอว์ และจอร์จ เบสต์ ได้นำการเล่นเกมรุก (ตรงข้ามกับการเล่นเกมรับอย่าง "คาเตนัชโช" ที่ทีมชั้นนำของอิตาลีในยุคนั้นนิยมใช้) ซึ่ง "เป็นที่จับใจของมหาชนชาวอังกฤษ" มาใช้[152] ทีมของบัสบีเริ่มเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีของสังคมตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1960 จอร์จ เบสต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ฟิฟท์บีเทิล" จากทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา เป็นนักฟุตบอลคนแรกที่มีภาพลักษณ์นอกสนามจากสื่ออย่างมีนัยสำคัญ[152]
ในฐานะสโมสรฟุตบอลอังกฤษแห่งที่สองที่ได้มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1991 สโมสรได้ระดมทุนอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะนำไปพัฒนากลยุทธ์เชิงพาณิชย์ของสโมสรต่อไป การมุ่งเน้นของสโมสรในการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์และกีฬา ทำให้เกิดผลกำไรในอุตสาหกรรมที่มักจะขาดทุนอย่างหนัก[153] ความแข็งแกร่งของตราสินค้าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเกิดจากความสนใจจากสื่อนอกสนามที่มีต่อผู้เล่นรายบุคคลอย่างแรงกล้า โดยเฉพาะเดวิด เบคแคม (ผู้ซึ่งพัฒนาตราสินค้าระดับโลกของตนเองอย่างรวดเร็ว) ความสนใจนี้ก่อให้เกิดความสนใจที่มากขึ้นในกิจกรรมที่สนาม และสร้างโอกาสที่จะมีผู้สนับสนุน ซึ่งมูลค่าที่ได้มาจากการรับชมโทรทัศน์[154] ในช่วงที่เบคแคมอยู่กับสโมสร ความนิยมในเอเชียของเขานำไปสู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของสโมสรในภูมิภาคนั้นของโลก[155]
เนื่องจากอันดับในลีกที่สูงขึ้นส่งผลให้สโมสรได้รับค่าลิขสิทธิ์ทางโทรทัศน์มากขึ้น ผลงานความสำเร็จในสนามจึงสร้างรายได้ให้กับสโมสรมากขึ้นเช่นกัน นับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้รับส่วนแบ่งรายได้จากข้อตกลงการออกอากาศของบีสกายบีมากที่สุด[156] แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังเป็นสโมสรอังกฤษที่มีรายได้เชิงพาณิชย์สูงที่สุดตลอดมา โดยในฤดูกาล 2005–06 กลุ่มการค้าของสโมสรทำรายได้ 51 ล้านปอนด์ ในขณะที่เชลซีทำรายได้ 42.5 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลทำรายได้ 39.3 ล้านปอนด์ อาร์เซนอลทำรายได้ 34 ล้านปอนด์ และนิวคาสเซิลยูไนเต็ดทำรายได้ 27.9 ล้านปอนด์ ผู้สนับสนุนหลักใกล้ชิดที่สำคัญคือบริษัทอุปกรณ์กีฬาอย่างไนกี้ ซึ่งดำเนินการขายสินค้าของสโมสรโดยเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นส่วนมูลค่า 303 ล้านปอนด์ตลอดเวลา 13 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ถึง 2015[157] ในแผนการเงินและการรับสมาชิกสโมสรของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด วันยูไนเต็ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสโมสร สามารถซื้อสินค้าและบริการได้หลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีสื่อของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อย่างเช่น รายการโทรทัศน์เฉพาะของสโมสร เอ็มยูทีวี ที่ขยายฐานผู้สนับสนุนไปยังพื้นที่ที่อยู่ไกลกว่าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด[10]
ผู้สนับสนุน
ช่วงปี | ผู้ผลิตชุดแข่งขัน | ผู้สนับสนุนบนเสื้อ (อก) | ผู้สนับสนุนบนเสื้อ (แขน) |
---|---|---|---|
1945–1975 | อัมโบร | — | — |
1975–1980 | แอดไมรัล | ||
1980–1982 | อาดิดาส | ||
1982–1992 | ชาร์ปอิเล็กทรอนิกส์ | ||
1992–2000 | อัมโบร | ||
2000–2002 | โวดาโฟน | ||
2002–2006 | ไนกี้ | ||
2006–2010 | เอไอจี | ||
2010–2014 | เอออน | ||
2014–2015 | เชฟโรเลต | ||
2015–2018 | อาดิดาส
| ||
2018–2021 | โคเลอร์ | ||
2021–2022 | ทีมวีเวอร์[158] | ||
2022–2024 | ดีเอ็กซ์ซี เทคโนโลยี | ||
2024– | สแนปดรากอน |
ในช่วงต้นฤดูกาล 1982–83 ชาร์ปอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้สนับสนุนรายแรกที่ปรากฏบนเสื้อแข่งของสโมสร โดยทำสัญญามูลค่า 500,000 ปอนด์ เป็นระยะเวลาห้าปี สัญญานี้สิ้นสุดลงหลังจบฤดูกาล 1999–2000 เมื่อโวดาโฟนทำสัญญากับสโมสร 30 ล้านปอนด์เป็นระยะเวลาสี่ปี[159] โวดาโฟนยินดีที่จ่ายเงิน 36 ล้านปอนด์ ในการขยายสัญญาอีกสี่ปี แต่หลังจากผ่านไปสองฤดูกาล มีการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดเพื่อที่จะเน้นการสนับสนุนในแชมเปียนส์ลีก[159]
ในช่วงต้นฤดูกาล 2006–07 บริษัทประกันภัยอเมริกัน เอไอจีทำสัญญาสี่ปีด้วยมูลค่า 56.5 ล้านปอนด์ ทำให้เป็นสัญญาที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2006[160][161] ต่อมาในช่วงต้นฤดูกาล 2010–11 บริษัทประกันภัยต่ออเมริกา เอออน กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสร โดยทำสัญญาสี่ปีด้วยมูลค่าประมาณ 80 ล้านปอนด์ ทำให้เป็นสัญญาผู้สนับสนุนบนเสื้อแข่งที่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดประกาศว่าได้ทำสัญญาผู้สนับสนุนบนเสื้อซ้อมเป็นครั้งแรก โดยทำสัญญาสี่ปีกับดีเอชแอลด้วยค่ามูลค่าที่ได้รับรายงานอยู่ที่ 40 ล้านปอนด์ สัญญานี้เชื่อกันว่าทำให้มีผู้สนับสนุนบนเสื้อซ้อมเป็นครั้งแรกในฟุตบอลอังกฤษ[162][163] สัญญากับดีเอชแอล มีระยะเวลาปีกว่าก่อนที่สโมสรจะซื้อสัญญาคืนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 แม้ว่าบริษัทจะยังเป็นหุ้นส่วนโลจิสติกส์อย่างเป็นทางการของสโมสร[164] เอออนทำสัญญาเป็นผู้สนับสนุนบนเสื้อซ้อมในเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 ด้วยมูลค่า 180 ล้านปอนด์ เป็นระยะเวลากว่าแปดปี โดยยังรวมถึงการซื้อสิทธิ์ในการตั้งชื่อศูนย์ฝึกซ้อมแทรฟฟอร์ด[165]
ผู้ผลิตชุดแข่งรายแรกของสโมสรคืออัมโบร ต่อมาใน ค.ศ. 1975 แอดไมรัลสปอตส์แวร์เข้ามาแทนที่ในฐานะผู้ผลิตชุดแข่งด้วยสัญญาห้าปี[166] อาดิดาสเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตชุดแข่งใน ค.ศ. 1980[167] ก่อนที่อัมโบรจะกลับมาผลิตชุดแข่งเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1992[168] อัมโบรผลิตชุดแข่งให้กับสโมสรเป็นเวลาสิบปี ก่อนที่ไนกี้จะเซ็นสัญญาด้วยมูลค่าอันเป็นสถิติโลกที่ 302.9 ล้านปอนด์โดยมีผลถึง ค.ศ. 2015 บริษัทขายเสื้อจำลองได้ถึง 3.8 ล้านตัวในช่วง 22 เดือนแรก[169][170] นอกจากไนกี้และเชฟโรเลตแล้ว สโมสรยังมีผู้สนับสนุนในระดับรองลงมาอย่างเอออนและบัดไวเซอร์[171]
วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 ยูไนเต็ดเซ็นสัญญาเจ็ดปีกับบริษัทรถยนต์อเมริกันอย่างเจเนรัลมอเตอร์ ซึ่งเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนบนเสื้อแทนเอออนตั้งแต่ฤดูกาล 2014–15 สัญญาการสนับสนุนบนเสื้อแข่งมีมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือมีมูลค่าประมาณ 559 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลากว่าเจ็ดปี) โดยแสดงสัญลักษณ์ของเชฟโรเลตซึ่งเป็นตราสินค้าของเจเนรัลมอเตอร์[172][173] ไนกี้ประกาศว่าพวกเขาจะไม่ขยายสัญญาในการผลิตชุดให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดหลังจบฤดูกาล 2014–15 โดยให้เหตุผลว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น[174][175] นับตั้งแต่เริ่มฤดูกาล 2015–16 อาดิดาสได้ผลิตชุดแข่งให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยสัญญาอันมีระยะเวลาเป็นสถิติโลกที่ 10 ปี พร้อมมูลค่าอย่างน้อย 750 ล้านปอนด์[176][177] บริษัทสุขภัณฑ์ห้องน้ำอย่างโคเลอร์กลายเป็นผู้สนับสนุนแรกที่ปรากฏบนแขนเสื้อแข่งของสโมสรนับตั้งแต่ฤดูกาล 2018–19[178]
ความเป็นเจ้าของและฐานะทางการเงิน
บริษัทรถไฟแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์เป็นผู้จัดหาเงินทุนให้กับสโมสรในช่วงที่เพิ่งก่อตั้ง ต่อมาสโมสรกลายเป็นบริษัทจำกัดใน ค.ศ. 1892 และขายหุ้นส่วนมูลค่าหนึ่งปอนด์ให้กับผู้สนับสนุนท้องถิ่นผ่านการสมัคร[20] ต่อมาใน ค.ศ. 1902 นักธุรกิจท้องถิ่นสี่คนผู้ลงทุนเงิน 500 ปอนด์ เพื่อกอบกู้สโมสรจากการล้มละลาย กลายเป็นเจ้าของหลัก โดยหนึ่งในนั้นเป็นประธานสโมสรคนถัดไปอย่างจอห์น เฮนรี เดวีส์[20] เมื่อเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1927 สโมสรต้องพบกับภาวะล้มละลายอีกครั้ง แต่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1931 เจมส์ ดับเบิลยู. กิบสัน ได้เข้ามากอบกู้สโมสรด้วยเงินลงทุน 2,000 ปอนด์ และได้สิทธิ์ควบคุมสโมสร[24] กิบสันแต่งตั้งให้อลัน บุตรชายของเขา ขึ้นเป็นคณะกรรมการบริหารใน ค.ศ. 1948[179] แต่อลันเสียชีวิตในอีกสามปีถัดมา ตระกูลกิบสันยังคงสถานะความเป็นเจ้าของสโมสรผ่านทางลิลเลียน ภรรยาของเจมส์[180] แต่อดีตนักฟุตบอลอย่างฮาโรลด์ ฮาร์ดมัน ได้รับตำแหน่งเป็นประธานสโมสร[181]
หลังจากที่สโมสรแต่งตั้งหลุยส์ เอ็ดเวิดส์ เพื่อนของแมตต์ บัสบี ขึ้นเป็นคณะกรรมการบริหารเพียงไม่กี่วันหลังจากภัยพิบัติทางอากาศมิวนิก เขาเริ่มซื้อหุ้นสโมสรด้วยการลงทุนเงินประมาณ 40,000 ปอนด์ และรวบรวมหุ้นได้ร้อยละ 54 จนได้ถือหุ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1964[182] เมื่อลิลเลียน กิบสันเสียชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1971 อลัน กิบสัน ได้รับหุ้นของเธอ และขายหุ้นของเขาให้กับมาร์ติน บุตรชายของหลุยส์ เอ็ดเวิดส์ใน ค.ศ. 1978 ต่อมา มาร์ติน เอ็ดเวิดส์กลายเป็นประธานสโมสรหลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1980[183] ผู้ประกอบการสื่ออย่างโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ พยายามซื้อสโมสรใน ค.ศ. 1984 แต่ราคาที่เสนอไม่ตรงกับที่เอ็ดเวิดส์ต้องการ[183] ต่อมาใน ค.ศ. 1989 ประธานสโมสร มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ พยายามขายสโมสรให้กับมิชาเอล ไนตัน ด้วยมูลค่า 20 ล้านปอนด์ แต่การขายไม่สำเร็จและไนตันเข้าร่วมคณะกรรมการบริหารแทน[183]
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 (ระดมเงินได้ 6.7 ล้านปอนด์)[184] ต่อมาใน ค.ศ. 1998 มีการเสนอซื้อกิจการอีกครั้งโดยบริษัทถ่ายทอดสดบริติชสกายของรูเปิร์ต เมอร์ดอช จนทำให้เกิดการก่อตั้ง กลุ่มหุ้นส่วนยูไนเต็ดต่อต้านเมอร์ดอช (อังกฤษ: Shareholders United Against Murdoch) ซึ่งปัจจุบันคือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดซัพพอร์เทอส์ทรัสต์ กลุ่มนี้ส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนซื้อหุ้นส่วนของสโมสรเพื่อพยายามป้องกันการครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร คณะกรรมการของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยอมรับข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่า 623 ล้านปอนด์[185] แต่การซื้อกิจการครั้งนี้ถูกสั่งห้ามโดยคณะกรรมาธิการการผูกขาดและการควบรวมกิจการในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1999[186] อีกไม่กี่ปีถัดมา เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่างอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการสโมสร กับจอห์น แมกเนียร์และเจ. พี. แมกมานัส พันธมิตรแข่งม้าที่ค่อย ๆ กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนหลัก ในกรณีพิพาทอันเกิดจากการแก่งแย่งชิงม้าร็อกออฟยิบรอลตาร์ แมกเนียร์กับแมกมานัสพยายามขับไล่เฟอร์กูสันออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม และคณะกรรมการตอบสนองด้วยการเข้าหานักลงทุนเพื่อพยายามลดการครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ของชาวไอริชทั้งสอง[187]
ความเป็นเจ้าของของเกลเซอร์
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 มัลคอล์ม เกลเซอร์ซื้อหุ้นร้อยละ 28.7 ที่ถือโดยแมกมานัสและแมกเนียร์ ต่อมาเขาถือครองส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมผ่านเครื่องมือในการลงทุนบริษัทเรดฟุตบอลเพื่อซื้อกิจการสโมสรด้วยการกู้ยืมเงินประมาณ 800 ล้านปอนด์ (หรือ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)[188] เมื่อการซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ สโมสรจึงออกจากตลาดหลักทรัพย์[189] เงินที่ซื้อกิจการส่วนใหญ่เป็นเงินที่ตระกูลเกลเซอร์กู้มา หนี้สินจึงถูกโอนมาเป็นหนี้ของสโมสร จนสโมสรมีหนี้ติดตัวถึง 540 ล้านปอนด์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ถึง 20[190][191][16]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 สโมสรได้ทำการรีไฟแนนซ์ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 660 ล้านปอนด์ แต่ดอกเบี้ยที่จ่ายประจำปีลดลงร้อยละ 30 เหลือเพียง 62 ล้านปอนด์ต่อปี[192][193] ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 สโมสรติดหนี้ 716.5 ล้านปอนด์ (1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)[194] และได้รีไฟแนนซ์เพิ่มเติมผ่านการออกตราสารหนี้มูลค่า 504 ล้านปอนด์ ทำให้พวกเขาสามารถชำระหนี้สินแทบทั้งหมดที่ติดค้างธนาคารนานาชาติเป็นจำนวนเงิน 509 ล้านปอนด์[195] ดอกเบี้ยรายปีที่ต้องชำระให้กับผู้ถือตราสารหนี้ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 มีมูลค่าประมาณ 45 ล้านปอนด์ต่อปี[196] แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้าง แต่หนี้ของสโมสรทำให้ผู้สนับสนุนที่จะไปรับชมที่สนามรวมกลุ่มประท้วงที่โอลด์แทรฟฟอร์ดและศูนย์ฝึกซ้อมแทรฟฟอร์ดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2010[197][198] กลุ่มผู้สนับสนุนแนะนำให้ผู้สนับสนุนที่ประท้วงสวมเสื้อสีเขียวและสีทอง อันเป็นสีของนิวตันฮีต ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม มีรายงานว่า กลุ่มแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดซัพพอร์เทอส์ทรัสต์จัดประชุมกับกลุ่ม "อัศวินสีแดง" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่ร่ำรวย โดยวางแผนเพื่อซื้อการถือครองส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมของตระกูลเกลเซอร์คืน[199] หนี้ของสโมสรพุ่งสูงถึง 777 ล้านปอนด์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007[200]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 เชื่อกันว่าตระกูลเกลเซอร์ได้เข้าไปทาบทามเครดิตสวิสในการเตรียมการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 600 ล้านปอนด์) ซึ่งจะช่วยให้สโมสรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านปอนด์[201] อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 สโมสรประกาศว่ามีแผนเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กแทน[202] ในช่วงแรก มีการตั้งเป้าขายในราคาระหว่าง 16 ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น แต่ในช่วงที่เริ่มเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ราคาลดลงเหลือ 14 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลหลังจากได้รับเสียงวิจารณ์แง่ลบจากนักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีตและการเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์อันน่าผิดหวังของเฟซบุ๊กในเดือนพฤษภาคม แม้จะมีการลดราคา แต่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็มีมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก[203]
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กอนุญาตให้ผู้ที่ถือหุ้นต่างกันมีสิทธิ์การออกเสียงไม่เท่ากัน โดยหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชน ("ระดับเอ") มีสิทธิ์ในการลงคะแนนน้อยกว่าหุ้นที่เกลเซอร์ถือ ("ระดับบี") ถึง 10 เท่า[204] ในช่วงแรก (ค.ศ. 2012) มีการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเพียงร้อยละ 10[205] และในปี ค.ศ. 2019 ตระกูลเกลเซอร์ยังคงมีสิทธิ์ในการควบคุมสโมสรมากที่สุด เนื่องจากถือหุ้นร้อยละ 70 ขณะที่อำนาจการลงคะแนนเสียงสูงขึ้น[206]
ใน ค.ศ. 2012 เดอะการ์เดียน รายงานว่าสโมสรมีรายจ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นของตระกูลเกลเซอร์ 500 ล้านปอนด์[207] ต่อมาใน ค.ศ. 2019 มีรายงานว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสโมสรด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านปอนด์[191] และในช่วงสิ้นปี สโมสรมีหนี้สุทธิเกือบ 400 ล้านปอนด์[208]
ใน ค.ศ. 2023 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้รับการเสนอราคาหลายครั้งเพื่อซื้อสโมสร เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เจ้าของ INEOS และจัสซิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี ชีคชาวกาตาร์เป็นผู้เข้าร่วมประมูลที่ประกาศความสนใจต่อสาธารณะ[209]
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2023 มีการประกาศว่าแรตคลิฟฟ์ได้ซื้อหุ้น 25% ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และบริษัท INEOS Sport ของเขากำลังเข้าควบคุมการดำเนินงานด้านฟุตบอล[210] ในขณะที่เกลเซอร์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ผู้เล่น
ผู้เล่นทีมชุดใหญ่
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ปล่อยยืม
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
ผู้เล่นชุดสำรองและชุดเยาวชน
รายชื่อผู้เล่นชุดอายุไม่เกิน 21 ปีและชุดเยาวชนที่มีหมายเลขเสื้อในทีมชุดใหญ่
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกปล่อยยืมตัว
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นแห่งปีเซอร์แมตต์ บัสบี
ทีมงานผู้ฝึกสอน
ตำแหน่ง | ทีมงาน |
---|---|
ผู้จัดการ | รูแบน อามอริม |
ผู้ช่วยผู้จัดการ | การ์ลุช ฟือร์นังดึช[224] |
ผู้ฝึกสอนอาวุโสทีมชุดแรก | |
ผู้ฝึกสอนทีมชุดแรก | แดร์เรน เฟลตเชอร์ |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | ฌอร์ฌึ วีตัล |
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | เครก มอว์สัน[225] |
หัวหน้าฝ่ายสมรรถภาพ | ริชาร์ด ฮอว์กินส์ |
ผู้ฝึกสอนด้านสมรรถภาพ | เปาโล กัวดิโน ชาร์ลี โอเวน[226] |
ผู้ฝึกสอนเชิงพละกำลังของทีมชุดแรก | ไมเคิล เคลกก์[227] |
นักวิทยาศาสตร์การกีฬาของทีมชุดแรก | เอ็ดเวิร์ด เลง[227] |
หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทีมชุดแรก | |
หัวหน้าฝ่ายเยาวชน | นิก ค็อกซ์ |
ผู้จัดการทีมรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี | ทราวิส บินเนียน[228] |
ผู้จัดการทีมรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี | อดัม ลอว์เรนซ์ |
ทำเนียบผู้จัดการทีม
ช่วงปี[229] | ชื่อ | หมายเหตุ |
---|---|---|
1878–1892 | ไม่ทราบ | |
1892–1900 | เอ. เอช. ออลบัต | |
1900–1903 | เจมส์ เวสต์ | |
1903–1912 | เออร์เนสต์ แมงนอลล์ | |
1912–1914 | จอห์น เบนต์ลีย์ | |
1914–1921 | แจ็ก ร็อบสัน | |
1921–1926 | จอห์น แชปแมน | |
1926–1927 | ลาล ฮิลดิตช์ | ผู้เล่น-ผู้จัดการทีม |
1927–1931 | เฮอร์เบิร์ต แบมเล็ตต์ | |
1931–1932 | วอลเทอร์ คริกเมอร์ | |
1932–1937 | สกอตต์ ดังแคน | |
1937–1945 | วอลเทอร์ คริกเมอร์ | |
1945–1969 | แมตต์ บัสบี | |
1958 | จิมมี เมอร์ฟี | ผู้จัดการทีมรักษาการ |
1969–1970 | วิลฟ์ แมกกินเนสส์ | |
1970–1971 | แมตต์ บัสบี | |
1971–1972 | แฟรงก์ โอฟาร์เรลล์ | |
1972–1977 | ทอมมี ดอเคอร์ที | |
1977–1981 | เดฟ เซ็กส์ตัน | |
1981–1986 | รอน แอตคินสัน | |
1986–2013 | อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน | |
2013–2014 | เดวิด มอยส์ | |
2014 | ไรอัน กิกส์ | ผู้เล่น-ผู้จัดการทีมชั่วคราว |
2014–2016 | ลูวี ฟัน คาล | |
2016–2018 | โชเซ มูรีนโย | |
2018–2021 | อูเลอ กึนนาร์ ซูลชาร์ | รักษาการถึงวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2019 |
2021 | ไมเคิล แคร์ริก | ผู้จัดการทีมรักษาการ |
2021–2022 | รัล์ฟ รังนิค | ผู้จัดการทีมชั่วคราว[230] |
2022–2024 | เอริก เติน ฮัค | |
2024 | รืด ฟัน นิสเติลโรย | ผู้จัดการทีมชั่วคราว[231] |
2024– | รูแบน อามอริม |
การจัดการ
- เจ้าของ: ตระกูลเกลเซอร์ผ่านเรดฟุตบอลแชร์โฮลเดอร์ลิมิเต็ด[232]
บริษัท แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จำกัด
ตำแหน่ง | ชื่อ[233] |
---|---|
ประธานร่วม | อัฟราม เกลเซอร์ โจเอล เกลเซอร์ |
ประธานกรรมการบริหาร (รักษาการ) | ฌ็อง-โกลด บล็อง[234] |
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน | คลิฟฟ์ เบตี[235] |
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ | โคเลต รอช[236] |
กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร | ไบรอัน เกลเซอร์ เควิน เกลเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ ดาร์วี เกลเซอร์ แคสวิตซ์ โรเบิร์ต เลย์โต จอห์น ฮุกส์ แมนู ซอนีย์ |
สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ตำแหน่ง | ชื่อ |
---|---|
ประธานกิตติมศักดิ์ | มาร์ติน เอ็ดเวิดส์[237] |
ผู้อำนวยการ | เดวิด กิลล์ ไมเคิล เอเดลสัน เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน[238] |
ผู้อำนวยการฟุตบอล | แดน แอชเวิร์ธ |
ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค | เจสัน วิลค็อกซ์ |
เลขานุการสโมสร | เรเบกกา บริเตน[239] |
ผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินงานฟุตบอล | เดวิด แฮริสัน[240] |
เกียรติประวัติ
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปยุโรปในแง่ของจำนวนถ้วยรางวัล[241] ถ้วยรางวัลแรกของสโมสรคือแมนเชสเตอร์คัพ ซึ่งพวกเขาชนะเลิศในสมัยที่ใช้ชื่อว่านิวตันฮีตแอลวายอาร์เมื่อ ค.ศ. 1886[242] ต่อมาใน ค.ศ. 1908 สโมสรชนะเลิศลีกเป็นสมัยแรก และชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นสมัยแรกในปีถัดมา หลังจากนั้น พวกเขาชนะเลิศลีกสูงสุด 20 สมัย นับเป็นสถิติสูงสุด การชนะเลิศลีกสูงสุดนี้รวมถึงการชนะเลิศพรีเมียร์ลีก 13 สมัย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเช่นกัน นอกจากนี้พวกเขาชนะเลิศเอฟเอคัพ 13 สมัย มากที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากอาร์เซนอล (14 สมัย) การชนะเลิศในรายการเหล่านี้ทำให้สโมสรได้เข้าร่วมแข่งขันเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ (ชื่อเดิมคือเอฟเอแชริตีชีลด์) มากที่สุด 30 ครั้ง การแข่งขันนี้จัดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาลโดยเป็นการพบกันระหว่างผู้ชนะเลิศลีกกับผู้ชนะเลิศเอฟเอคัพจากฤดูกาลก่อนหน้า แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศรายการนี้มากที่สุด 21 สมัยจากการเข้าร่วม 30 สมัย โดยรวมถึงการเสมอสี่ครั้งซึ่งถ้วยรางวัลจะถูกแบ่งให้กับสองสโมสรร่วมกัน
สโมสรมีช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จภายใต้การคุมทีมของแมตต์ บัสบี โดยเริ่มจากชนะเลิศเอฟเอคัพใน ค.ศ. 1948 และขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการเป็นสโมสรแรกจากอังกฤษที่ชนะเลิศยูโรเปียนคัพใน ค.ศ. 1968 และในช่วงปีก่อนหน้านี้ สโมสรชนะเลิศลีก 5 สมัย ช่วงที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุดคือทศวรรษ 1990 ภายใต้การคุมทีมของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยชนะเลิศลีก 5 สมัย, เอฟเอคัพ 4 สมัย, ลีกคัพ 1 สมัย, แชริตีชีลด์ 5 สมัย (ชนะเลิศร่วม 1 สมัย), ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1 สมัย และอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 1 สมัย พวกเขายังคว้าดับเบิลแชมป์ (ชนะเลิศพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพในฤดูกาลเดียวกัน) อีกสามครั้งในช่วงทศวรรษนี้ ก่อนที่พวกเขาจะคว้าดับเบิลแชมป์เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1993–94 เคยมีการคว้าดับเบิลแชมป์ในฟุตบอลอังกฤษเพียงห้าครั้ง ดังนั้นเมื่อพวกเขาคว้าดับเบิลแชมป์ครั้งที่สองในฤดูกาล 1995–96 พวกเขาจึงกลายเป็นสโมสรแรกที่คว้าดับเบิลแชมป์ได้สองครั้งซึ่งเรียกกันว่า "ดับเบิลดับเบิล"[243] ต่อมาเมื่อพวกเขาชนะเลิศยูโรเปียนคัพ (ปัจจุบันคือยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก) เป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1999 พร้อมกับชนะเลิศพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ พวกเขาได้กลายเป็นสโมสรแรกจากอังกฤษที่คว้าทริปเปิลแชมป์ การชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งนั้นทำให้พวกเขาได้เข้าร่วมการแข่งขันอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ซึ่งพวกเขาชนะเลิศ จนกลายเป็นสโมสรเดียวจากบริติชที่ชนะเลิศรายการนี้ได้ การชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกสมัยใน ค.ศ. 2008 ทำให้พวกเขาได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2008 ซึ่งพวกเขาก็ชนะเลิศจนกลายเป็นทีมเดียวจากบริติชที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้จนถึง ค.ศ. 2019
ถ้วยรางวัลล่าสุดของสโมสรคือ เอฟเอคัพฤดูกาล 2023–24 จากการชนะแมนเชสเตอร์ซิตีด้วยผลประตู 2–1 นอกจากนี้ จากการชนะเลิศ ยูฟ่ายูโรปาลีกฤดูกาล 2016–17 ทำให้ยูไนเต็ดกลายเป็นสโมสรที่ห้าที่ชนะทริปเปิลแชมป์ยุโรป อันประกอบไปด้วยยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, คัพวินเนอร์สคัพ และยูฟ่าคัพ/ยูโรปาลีก ต่อจากยูเวนตุส, อายักซ์, ไบเอิร์นมิวนิก และเชลซี[244][245]
ประเภท | การแข่งขัน | จำนวนครั้ง | ฤดูกาล |
---|---|---|---|
ระดับประเทศ | ดิวิชันหนึ่ง/พรีเมียร์ลีก[nb 3] | 20 | 1907–08, 1910–11, 1951–52, 1955–56, 1956–57, 1964–65, 1966–67, 1992–93, 1993–94, 1995–96, 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2000–01, 2002–03, 2006–07, 2007–08, 2008–09, 2010–11, 2012–13 |
ดิวิชันสอง[nb 3] | 2 | 1935–36, 1974–75 | |
เอฟเอคัพ | 13 | 1908–09, 1947–48, 1962–63, 1976–77, 1982–83, 1984–85, 1989–90, 1993–94, 1995–96, 1998–99, 2003–04, 2015–16, 2023–24 | |
ฟุตบอลลีกคัพ/อีเอฟแอลคัพ | 6 | 1991–92, 2005–06, 2008–09, 2009–10, 2016–17, 2022–23 | |
เอฟเอแชริตีชีลด์/เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ | 21 | 1908, 1911, 1952, 1956, 1957, 1965*, 1967*, 1977*, 1983, 1990*, 1993, 1994, 1996, 1997, 2003, 2007, 2008, 2010, 2011, 2013, 2016 (* ร่วม) | |
ระดับทวีปยุโรป | ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก | 3 | 1967–68, 1998–99, 2007–08 |
ยูฟ่ายูโรปาลีก | 1 | 2016–17 | |
ยูโรเปียนซูเปอร์คัพ | 1 | 1991 | |
ยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ | 1 | 1990–91 | |
ระดับโลก | ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก | 1 | 2008 |
อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ | 1 | 1999 |
- สถิติ
- s สถิติร่วม
ดับเบิลและทริปเปิลแชมป์
- ดับเบิลแชมป์
- ลีกและเอฟเอคัพ (3): 1993–94, 1995–96, 1998–99
- ลีกและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (2): 1998–99, 2007–08
- ลีกและอีเอฟแอลคัพ (1): 2008–09
- อีเอฟแอลคัพและยูฟ่ายูโรปาลีก (1): 2016–17
- ทริปเปิลแชมป์
- ลีก, เอฟเอคัพ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (1): 1998–99
การแข่งขันในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างเอฟเอแชริตีชีลด์/เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ (ปัจจุบันถูกยกเลิก), ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก หรือยูฟ่าซูเปอร์คัพ จะไม่ถูกนับรวมในดับเบิลหรือทริปเปิลแชมป์[246]
สโมสรฟุตบอลหญิงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดซัพพอร์ตเตอส์คลับเลดีส์เริ่มดำเนินการในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และมีการรับรองให้เป็นทีมฟุตบอลหญิงชุดใหญ่ของสโมสรอย่างไม่เป็นทางการ พวกเขาเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งลีกฟุตบอลหญิงภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือใน ค.ศ. 1989[247] ทีมกลายเป็นหุ้นส่วนของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 2001 และกลายเป็นทีมฟุตบอลหญิงอย่างเป็นทางการของสโมสร อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 2005 หลังจากที่มัลคอล์ม เกลเซอร์ซื้อกิจการสโมสร สโมสรยุบทีมฟุตบอลหญิงเพราะเห็นว่า "ไม่เกิดประโยชน์"[248] ใน ค.ศ. 2018 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมแข่งขันในลีกฟุตบอลหญิงระดับสองของอังกฤษนับตั้งแต่ฤดูกาลแรกของสโมสร[249][250][251][252][253]
เชิงอรรถ
- ↑ UK Retail Price Index inflation figures are based on data from Clark, Gregory (2017). "The Annual RPI and Average Earnings for Britain, 1209 to Present (New Series)". MeasuringWorth. สืบค้นเมื่อ December 2, 2021.
- ↑ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวันประชุมและการเปลี่ยนชื่อสโมสรแตกต่างกัน โดยแหล่งข้อมูลทางการของสโมสรอ้างว่าเกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน แต่จากรายงานของแมนเชสเตอร์อีฟนิงโครนิเคิล ฉบับวันที่ 25 เมษายน ระบุว่า การประชุมเกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน
- ↑ 3.0 3.1 นับตั้งแต่ ค.ศ. 1992 พรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกระดับสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ ส่วนฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันและเซคันด์ดิวิชันกลายเป็นลีกระดับสองและสามแทน นับตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เฟิสต์ดิวิชันกลายเป็นแชมเปียนชิปและเซคันด์ดิวิชันกลายเป็นลีกวัน
ดูเพิ่มเติม
อ้างอิง
- ↑ "Premier League Handbook Season 2015/16" (PDF). Premier League. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 September 2015. สืบค้นเมื่อ 23 May 2016.
- ↑ "Man United must aim for top four, not title challenge – Mourinho". Reuters. 2 November 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-11. สืบค้นเมื่อ 2020-09-28.
- ↑ "Marcus Rashford's 92nd minute winner enough for Man United to scrape a win at Bournemouth". independent.
- ↑ "Premier League Handbook 2020/21" (PDF). Premier League. p. 28. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ McNulty, Phil (21 September 2012). "Liverpool v Manchester United: The bitter rivalry". BBC Sports.
- ↑ "BBC ON THIS DAY – 14 – 1969: Matt Busby retires from Man United". BBC News.
- ↑ "The 49 trophies of Sir Alex Ferguson – the most successful managerial career Britain has ever known". The Independent. London: Independent Print. 8 May 2013. สืบค้นเมื่อ 30 October 2015.
- ↑ Stewart, Rob (1 October 2009). "Sir Alex Ferguson successful because he was given time, says Steve Bruce". The Daily Telegraph. London: Telegraph Media Group. สืบค้นเมื่อ 11 May 2011.
- ↑ Northcroft, Jonathan (5 November 2006). "20 glorious years, 20 key decisions". The Sunday Times. London: Times Newspapers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-09. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Hamil (2008), p. 126.
- ↑ 11.0 11.1 "Barça, the most loved club in the world". Marca. Retrieved 15 December 2014
- ↑ Wilson, Bill (23 January 2018). "Manchester United remain football's top revenue-generator". BBC News (British Broadcasting Corporation). สืบค้นเมื่อ 14 April 2018.
- ↑ "The Business Of Soccer". Forbes. สืบค้นเมื่อ 16 August 2019.
- ↑ "Manchester United is 'most valuable football brand'". BBC News (British Broadcasting Corporation). 8 June 2015. สืบค้นเมื่อ 8 June 2015.
- ↑ Schwartz, Peter J. (18 April 2012). "Manchester United Again The World's Most Valuable Soccer Team". Forbes Magazine. สืบค้นเมื่อ 5 May 2012.
- ↑ 16.0 16.1 Maidment, Neil (15 June 2015). "Could the Glazers lose their public enemy No.1 tag at Manchester United?". Reuters. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Barnes et al. (2001), p. 8.
- ↑ James (2008), p. 66.
- ↑ Tyrrell & Meek (1996), p. 99.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Barnes et al. (2001), p. 9.
- ↑ James (2008), p. 92.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 118.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 11.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 Barnes et al. (2001), p. 12.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 13.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 10.
- ↑ Murphy (2006), p. 71.
- ↑ Glanville, Brian (27 April 2005). "The great Chelsea surrender". The Times. London: Times Newspapers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-05. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Barnes et al. (2001), pp. 14–15.
- ↑ "1958: United players killed in air disaster". BBC News. British Broadcasting Corporation. 6 February 1958. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Barnes et al. (2001), pp. 16–17.
- ↑ White, Jim (2008), p. 136.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 17.
- ↑ 34.0 34.1 Barnes et al. (2001), pp. 18–19.
- ↑ Moore, Rob; Stokkermans, Karel (11 December 2009). "European Footballer of the Year ("Ballon d'Or")". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Barnes et al. (2001), p. 19.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 110.
- ↑ Murphy (2006), p. 134.
- ↑ "1977: Manchester United sack manager". BBC News. British Broadcasting Corporation. 4 July 1977. สืบค้นเมื่อ 2 April 2010.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 20.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 Barnes et al. (2001), pp. 20–21.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 21.
- ↑ Barnes et al. (2001), p. 148.
- ↑ Barnes et al. (2001), pp. 148–149.
- ↑ "Arise Sir Alex?". BBC News. British Broadcasting Corporation. 27 May 1999. สืบค้นเมื่อ 2 April 2010.
- ↑ Bevan, Chris (4 November 2006). "How Robins saved Ferguson's job". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 2 April 2010.
- ↑ 161385360554578 (4 May 2017). "Clubs ranked by the number of times they have claimed trophy doubles".
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Golden years: The tale of Manchester United's 20 titles". 22 April 2013 – โดยทาง www.bbc.co.uk.
- ↑ "United crowned kings of Europe". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 26 May 1999. สืบค้นเมื่อ 22 June 2010.
- ↑ Hoult, Nick (28 August 2007). "Ole Gunnar Solskjaer leaves golden memories". The Daily Telegraph. London: Telegraph Media Group. สืบค้นเมื่อ 23 July 2011.
- ↑ Magnani, Loris; Stokkermans, Karel (30 April 2005). "Intercontinental Club Cup". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Hughes, Rob (8 March 2004). "Ferguson and Magnier: a truce in the internal warfare at United". The New York Times. The New York Times Company. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ "Ryan Giggs wins 2009 BBC Sports Personality award". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 13 December 2009. สืบค้นเมื่อ 11 June 2010.
- ↑ "Viduka hands title to Man Utd". BBC Sport (British Broadcasting Corporation). 4 May 2003. สืบค้นเมื่อ 14 August 2014.
- ↑ "Man Utd win FA Cup". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 22 May 2004. สืบค้นเมื่อ 9 July 2010.
- ↑ "Manchester United's Champions League exits, 1993–2011". The Guardian. Guardian News and Media. 8 December 2011. สืบค้นเมื่อ 14 August 2014.
- ↑ Shuttleworth, Peter (21 May 2008). "Spot-on Giggs overtakes Charlton". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 9 July 2010.
- ↑ McNulty, Phil (1 March 2009). "Man Utd 0–0 Tottenham (aet)". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 1 March 2009.
- ↑ McNulty, Phil (16 May 2009). "Man Utd 0–0 Arsenal". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
- ↑ Ogden, Mark (12 June 2009). "Cristiano Ronaldo transfer: World-record deal shows football is booming, says Sepp Blatter". The Daily Telegraph. London: Telegraph Media Group. สืบค้นเมื่อ 9 January 2011.
- ↑ "Rooney the hero as United overcome Villa". ESPNsoccernet. 28 February 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2010. สืบค้นเมื่อ 2 April 2010.
- ↑ Stone, Simon (14 May 2011). "Manchester United clinch record 19th English title". The Independent. London: Independent Print. สืบค้นเมื่อ 14 May 2011.
- ↑ "How Manchester United won the 2012–13 Barclays Premier League". premierleague.com. Premier League. 22 April 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2013. สืบค้นเมื่อ 22 April 2013.
- ↑ "Sir Alex Ferguson to retire as Manchester United manager". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 8 May 2013. สืบค้นเมื่อ 8 May 2013.
- ↑ "Sir Alex Ferguson to retire this summer, Manchester United confirm". Sky Sports. BSkyB. 8 May 2013. สืบค้นเมื่อ 8 May 2013.
- ↑ "David Moyes: Manchester United appoint Everton boss". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 9 May 2013. สืบค้นเมื่อ 9 May 2013.
- ↑ "Manchester United confirm appointment of David Moyes on a six-year contract". Sky Sports. BSkyB. 9 May 2013. สืบค้นเมื่อ 9 May 2013.
- ↑ Jackson, Jamie (9 May 2013). "David Moyes quits as Everton manager to take over at Manchester United". guardian.co.uk. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 9 May 2013.
- ↑ "David Moyes sacked by Manchester United after just 10 months in charge". The Guardian. Guardian News and Media. 22 April 2014. สืบค้นเมื่อ 22 April 2014.
- ↑ Hassan, Nabil (11 May 2014). "Southampton 1–1 Man Utd". British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 29 May 2014.
- ↑ "Manchester United: Louis van Gaal confirmed as new manager". BBC Sport (British Broadcasting Corporation). 19 May 2014. สืบค้นเมื่อ 29 May 2014.
- ↑ Jackson, Jamie (28 May 2014). "Manchester United owner Malcolm Glazer dies aged 86". The Guardian. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 28 May 2014.
- ↑ Wilkinson, Jack (9 December 2015). "Wolfsburg 3–2 Man Utd: Champions League exit for van Gaal's men". Sky Sports (BSkyB). สืบค้นเมื่อ 17 February 2016.
- ↑ Smith, Alan (21 May 2016). "Crystal Palace 1–2 Manchester United (aet): FA Cup final – as it happened!". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 21 May 2016.
- ↑ Stone, Simon; Roan, Dan (23 May 2016). "Manchester United: Louis van Gaal sacked as manager". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 23 May 2016.
- ↑ "Jose Mourinho: Man Utd confirm former Chelsea boss as new manager". BBC Sport. 27 May 2016. สืบค้นเมื่อ 27 May 2016.
- ↑ Veevers, Nicholas (7 August 2016). "United lift Shield after late Zlatan Ibrahimovic winner". TheFA.com. The Football Association. สืบค้นเมื่อ 20 November 2019.
- ↑ "Ole Gunnar Solskjaer: Man Utd caretaker boss will 'get players enjoying football' again". BBC Sport. 20 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
- ↑ "Ole Gunnar Solskjaer appointed Manchester United permanent manager". Sky Sports. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019.
- ↑ "Manchester United to withdraw from European Super League". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Rosetta, Vince (2021-04-20). "Manchester United figures react to Super League news". The Busby Babe (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Man Utd v Liverpool off after protest". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-24.
- ↑ "Woodward resigns as Man United vice-chairman". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-04-20.
- ↑ "Man Utd beat nine-man Southampton 9-0". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-29.
- ↑ "Solskjaer shown up as familiar failings extend Man Utd's trophy drought | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ "Club statement". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Man Utd appoint Rangnick as interim boss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-22.
- ↑ "Official statement: Erik ten Hag". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Carabao Cup final: Man Utd win first trophy since 2017 - reaction". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-02-25. สืบค้นเมื่อ 2023-02-27.
- ↑ "Liverpool smash seven past shambolic Man Utd". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-12-06.
- ↑ Millar, Colin. "Newcastle miss out on Europe, Chelsea in Conference League as Man United win FA Cup". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2024-05-25.
- ↑ "Erik ten Hag: Man Utd sack manager after defeat at West Ham". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-10-28.
- ↑ "Ruud van Nistelrooy: What to expect from Manchester United interim manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-10-28.
- ↑ "United appoint Amorim as head coach". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 95.0 95.1 Barnes et al. (2001), p. 49.
- ↑ Angus, J. Keith (1879). The Sportsman's Year-Book for 1880. Cassell, Petter, Galpin & Co. p. 182.
- ↑ 97.0 97.1 97.2 97.3 97.4 97.5 Barnes et al. (2001), p. 48.
- ↑ "Adidas launches new United home kit for 2018/19". ManUtd.com. Manchester United. 17 July 2018. สืบค้นเมื่อ 17 July 2018.
- ↑ Ogden, Mark (26 August 2011). "Sir Alex Ferguson's ability to play the generation game is vital to Manchester United's phenomenal success". The Telegraph. Telegraph Media Group. สืบค้นเมื่อ 12 May 2017.
- ↑ "Revealed: New Man Utd home kit for 2019/20". ManUtd.com. Manchester United. 16 May 2019. สืบค้นเมื่อ 17 May 2019.
- ↑ Devlin (2005), p. 157.
- ↑ "Reds unveil new away kit". ManUtd.com. Manchester United. 15 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 July 2011.
- ↑ Sharpe, Lee (15 April 2006). "13.04.96 Manchester United's grey day at The Dell". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 21 January 2012.
- ↑ Devlin (2005), p. 158.
- ↑ "United reveal blue third kit for 2014/15 season". ManUtd.com. Manchester United. 29 July 2014. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.
- ↑ Devlin (2005), pp. 154–159.
- ↑ "New blue kit for 08/09". ManUtd.com. Manchester United. 28 August 2008. สืบค้นเมื่อ 3 December 2010.
- ↑ White, Jim (2008) p. 21.
- ↑ James (2008), p. 392.
- ↑ Shury & Landamore (2005), p. 54.
- ↑ Shury & Landamore (2005), p. 51.
- ↑ 112.0 112.1 112.2 Shury & Landamore (2005), pp. 21–22.
- ↑ Shury & Landamore (2005), p. 24.
- ↑ Shury & Landamore (2005), pp. 33–34.
- ↑ 115.0 115.1 115.2 Inglis (1996), p. 234.
- ↑ Rollin and Rollin, pp. 254–255.
- ↑ White, John (2007), p. 11.
- ↑ Barnes et al. (2001), pp. 44–45.
- ↑ "Man Utd 3–0 Birmingham". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 26 March 2006. สืบค้นเมื่อ 29 January 2011.
- ↑ Coppack, Nick (31 March 2007). "Report: United 4 Blackburn 1". ManUtd.com. Manchester United. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 December 2011. สืบค้นเมื่อ 3 December 2010.
- ↑ Morgan (2010), pp. 44–48.
- ↑ Bartram, Steve (19 November 2009). "OT100 #9: Record gate". ManUtd.com. Manchester United. สืบค้นเมื่อ 3 December 2010.
- ↑ "Barclays Premier League Stats: Team Attendance – 2012–13". ESPN FC. ESPN Internet Ventures. 3 May 2013. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
- ↑ "German Bundesliga Stats: Team Attendance – 2012–13". ESPN FC. ESPN Internet Ventures. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
- ↑ "Spanish La Liga Stats: Team Attendance – 2012–13". ESPN FC. ESPN Internet Ventures. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
- ↑ Rice, Simon (6 November 2009). "Manchester United top of the 25 best supported clubs in Europe". The Independent. London: Independent Print. สืบค้นเมื่อ 6 November 2009.
- ↑ "Local Supporters Clubs". ManUtd.com. Manchester United. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2011. สืบค้นเมื่อ 3 December 2010.
- ↑ "Top 100 Facebook fan pages" เก็บถาวร 2015-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. FanPageList.com. Retrieved 23 November 2015
- ↑ "Manchester United fans the Premier League's loudest, says study". ESPN FC. ESPN Internet Ventures. 24 November 2014. สืบค้นเมื่อ 20 February 2015.
- ↑ "Fans' Forum". ManUtd.com. Manchester United. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2011. สืบค้นเมื่อ 3 December 2010.
- ↑ 131.0 131.1 Barnes et al. (2001), p. 52.
- ↑ Smith, Martin (15 April 2008). "Bitter rivals do battle". The Daily Telegraph. London: Telegraph Media Group. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Stone, Simon (16 September 2005). "Giggs: Liverpool our biggest test". Manchester Evening News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2011. สืบค้นเมื่อ 31 March 2010.
- ↑ Rohrer, Finlo (21 August 2007). "Scouse v Manc". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Smith, Adam (30 November 2016). "Leeds United England's 12th biggest club, according to Sky Sports study". Sky Sports.
- ↑ "Liverpool v Manchester United: The bitter rivalry". BBC Sport. 21 September 2012.
- ↑ "Which club has won the most trophies in Europe". 13 August 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-26. สืบค้นเมื่อ 26 September 2015.
- ↑ "The 20 biggest rivalries in world football ranked – Liverpool vs Manchester Utd". The Telegraph. 20 March 2015. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
- ↑ Aldred, Tanya (22 January 2004). "Rivals uncovered". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
- ↑ "Interview: Ryan Giggs". Football Focus. British Broadcasting Corporation. 22 March 2008. สืบค้นเมื่อ 22 March 2008.
- ↑ "Liverpool remain Manchester United's 'biggest rival' says Ryan Giggs". The Independent. 6 December 2012. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
- ↑ "The 7 Greatest Rivalries in Club Football: From Boca to the Bernabeu". The Bleacher Report. 26 November 2013. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
- ↑ Taylor, Daniel (9 January 2011). "The greatest challenge of Sir Alex Ferguson's career is almost over". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 10 July 2020.
- ↑ Dunning (1999), p. 151.
- ↑ "Arsenal v Manchester United head-to-head record". Arsenal official web. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2016. สืบค้นเมื่อ 24 April 2013.
- ↑ Hayward, Paul (31 January 2010). "Rivalry between Arsène Wenger and Sir Alex Ferguson unmatched in sport". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 24 April 2013.
- ↑ "Top 30 Football Club Brands" (PDF). Brand Finance. September 2011. สืบค้นเมื่อ 4 October 2011.
- ↑ Badenhausen, Kurt (16 July 2012). "Manchester United Tops The World's 50 Most Valuable Sports Teams". Forbes. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
- ↑ "Real Madrid becomes the first sports team in the world to generate €400m in revenues as it tops Deloitte Football Money League". Deloitte. 2 March 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2010. สืบค้นเมื่อ 22 June 2010.
- ↑ 150.0 150.1 Ozanian, Mike (27 January 2013). "Manchester United Becomes First Team Valued At $3 Billion". Forbes. สืบค้นเมื่อ 29 January 2013.
- ↑ Ozanian, Mike (6 June 2017). "The World's Most Valuable Soccer Teams 2017". Forbes. สืบค้นเมื่อ 13 October 2017.
- ↑ 152.0 152.1 Hamil (2008), p. 116.
- ↑ Hamil (2008), p. 124.
- ↑ Hamil (2008), p. 121.
- ↑ "Beckham fever grips Japan". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 18 June 2003. สืบค้นเมื่อ 20 June 2010.
- ↑ Hamil (2008), p. 120.
- ↑ Hamil (2008), p. 122.
- ↑ "แมนฯ ยู" เซ็นสปอนเซอร์ใหม่ "ทีมวิวเวอร์" 5 ปี ฟันแพงสุด 235 ล้านปอนด์เผยแพร่: 19 มี.ค. 2564 23:46 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
- ↑ 159.0 159.1 "Vodafone cuts off Manchester United". The Guardian. MediaGuardian. 23 November 2005. สืบค้นเมื่อ 24 October 2020.
- ↑ "Oilinvest to renegotiate Juventus sponsorship". SportBusiness (SBG Companies). 7 September 2006. สืบค้นเมื่อ 28 May 2007.
- ↑ "Man Utd sign £56m AIG shirt deal". BBC News. British Broadcasting Corporation. 6 April 2006. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ "DHL delivers new shirt deal". ManUtd.com. Manchester United. 22 August 2011. สืบค้นเมื่อ 22 August 2011.
- ↑ "Manchester United unveils two new commercial deals". BBC News. British Broadcasting Corporation. 22 August 2011. สืบค้นเมื่อ 22 August 2011.
- ↑ "Manchester United buy back training kit sponsorship rights from DHL". The Guardian. Guardian News and Media. 26 October 2012. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.
- ↑ Ogden, Mark (7 April 2013). "Manchester United to sign £180m Aon deal to change name of Carrington training base". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 28 January 2014.
- ↑ "Admiral: Heritage". Admiral Sportswear. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2009. สืบค้นเมื่อ 11 July 2010.
- ↑ Devlin (2005), p. 149.
- ↑ Devlin (2005), p. 148.
- ↑ Hamil (2008), p. 127.
- ↑ "Man Utd in £300m Nike deal". BBC News. British Broadcasting Corporation. 3 November 2000. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Wachman, Richard (24 April 2010). "Manchester United fans call on corporate sponsors to back fight against Glazers". The Guardian. London: Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 14 July 2010.
- ↑ Edgecliffe, Andrew (4 August 2012). "GM in record Man Utd sponsorship deal". FT.com. สืบค้นเมื่อ 29 October 2012.
- ↑ "Chevrolet signs seven-year deal". ManUtd.com. Manchester United. 30 July 2012. สืบค้นเมื่อ 30 July 2012.
- ↑ "Premier League: Sportswear giants Nike to end Manchester United sponsorship". Sky Sports. สืบค้นเมื่อ 9 July 2014.
- ↑ Bray, Chad (9 July 2014). "Nike and Manchester United Set to End Equipment Partnership". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 9 July 2014.
- ↑ Jackson, Jamie (14 July 2014). "Manchester United sign record 10-year kit deal with Adidas worth £750m". theguardian.com. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 14 July 2014.
- ↑ De Menezes, Jack (14 July 2014). "Manchester United and adidas announce record £75m-per-year deal after Nike pull out". independent.co.uk. Independent Print. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016. สืบค้นเมื่อ 14 July 2014.
- ↑ "Kohler Unveiled as Shirt Sleeve Sponsor". ManUtd.com. Manchester United. 12 July 2018. สืบค้นเมื่อ 12 July 2018.
- ↑ Crick & Smith (1990), p. 181.
- ↑ Crick & Smith (1990), p. 92.
- ↑ White, Jim (2008), p. 92.
- ↑ Dobson & Goddard (2004), p. 190.
- ↑ 183.0 183.1 183.2 "1989: Man U sold in record takeover deal". BBC News. British Broadcasting Corporation. 18 August 1989. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Dobson & Goddard (2004), p. 191.
- ↑ Bose (2007), p. 157.
- ↑ Bose (2007), p. 175.
- ↑ Bose (2007), pp. 234–235.
- ↑ "Glazer Man Utd stake exceeds 75%". BBC News. British Broadcasting Corporation. 16 May 2005. สืบค้นเมื่อ 11 August 2007.
- ↑ "Glazer gets 98% of Man Utd shares". BBC News. British Broadcasting Corporation. 23 June 2005. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ Sabbagh, Dan (13 June 2006). "Glazers set to lighten Man Utd's debt burden". The Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-26. สืบค้นเมื่อ 26 August 2020.
- ↑ 191.0 191.1 Conn, David (17 October 2019). "Debt £511m but dividends galore: the Glazers' legacy at Manchester United". The Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2020. สืบค้นเมื่อ 26 August 2020.
- ↑ "Glazers Tighten Grip on United With Debt Refinancing". The Political Economy of Football. 8 July 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-19. สืบค้นเมื่อ 11 August 2008.
- ↑ "Manchester United reveal refinancing plans". RTÉ (Raidió Teilifís Éireann). 18 July 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2010. สืบค้นเมื่อ 24 June 2010.
- ↑ "Manchester United debt hits £716m". BBC News. British Broadcasting Corporation. 20 January 2010. สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ "Manchester United to raise £500m". BBC News. British Broadcasting Corporation. 11 January 2010. สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ Wilson, Bill (22 January 2010). "Manchester United raise £504m in bond issue". BBC News. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ Hughes, Ian (23 January 2010). "Man Utd 4–0 Hull". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ "Prime Minister Gordon Brown warns football over debts". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 25 January 2010. สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ Hassan, Nabil; Roan, Dan (30 January 2010). "Wealthy Man Utd fans approach broker about takeover". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 4 March 2010.
- ↑ "Man Utd: 10 years of the Glazers - is Old Trafford club better off?". BBC News. 12 May 2015. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ Gibson, Owen (16 August 2011). "Manchester United eyes a partial flotation on Singapore stock exchange". The Guardian. London: Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 17 August 2011.
- ↑ 1Hrishikesh, Sharanya; Pandey, Ashutosh (3 July 2012). "Manchester United picks NYSE for U.S. public offering". Thomson Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-04. สืบค้นเมื่อ 4 July 2012.
- ↑ Rushe, Dominic (10 August 2012). "Manchester United IPO: share prices cut before US stock market flotation". The Guardian. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 24 August 2012.
- ↑ Jolly, Richard (1 August 2012). "Manchester United IPO - Q&A". ESPN. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ "Glazers to sell two percent of Manchester United shares - sources". ESPN. 10 August 2017. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ Rudge, Dean (25 September 2019). "The truth behind claims Manchester United owners the Glazers are set to sell millions of shares". Manchester Evening News. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ Conn, David (22 February 2012). "Cost of Glazers' takeover at Manchester United reaches £500m". The Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2020. สืบค้นเมื่อ 26 August 2020.
- ↑ Jackson, Jamie (25 February 2020). "Manchester United's net debt rises £73.6m to £391.3m in three months". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
- ↑ "Man Utd takeover: Sir Jim Ratcliffe & Sheikh Jassim to submit new bids as deadline extended amid confusion". BBC Sport. 23 March 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 March 2023. สืบค้นเมื่อ 23 March 2023.
- ↑ "Club statement". Manchester United F.C. (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-12-24. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24.
- ↑ "Man Utd First Team Squad & Player Profiles". ManUtd.com. Manchester United. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2019. สืบค้นเมื่อ 5 July 2023.
- ↑ Nelson, Joe (3 September 2023). "Five new United squad numbers confirmed". ManUtd.com. Manchester United. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2023. สืบค้นเมื่อ 3 September 2023.
- ↑ "Transfer news: Sancho completes loan move". ManUtd.com. Man Utd. 1 September 2024. สืบค้นเมื่อ 1 September 2024.
- ↑ "Man Utd Reserves Squad & Players Profiles | U23 Roster". ManUtd.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2021. สืบค้นเมื่อ 1 February 2024.
- ↑ "Man Utd Reserves Squad & Players Profile". ManUtd.com. Manchester United. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2021. สืบค้นเมื่อ 22 November 2022.
- ↑ "Man Utd Academy Squad & Players Profile". ManUtd.com. Manchester United. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 November 2021. สืบค้นเมื่อ 3 July 2023.
- ↑ Marshall, Adam (21 August 2024). "Vitek seals season-long move". ManUtd.com. Manchester United. สืบค้นเมื่อ 21 August 2024.
- ↑ "Harrison seals season-long loan". ManUtd.com. Manchester United. 30 August 2024. สืบค้นเมื่อ 30 August 2024.
- ↑ "Bennett secures loan move". ManUtd.com. Manchester United. 29 August 2024. สืบค้นเมื่อ 29 August 2024.
- ↑ "Joe Hugill seals loan move to Wigan Athletic". ManUtd.com. Manchester United. 25 July 2024. สืบค้นเมื่อ 28 July 2024.
- ↑ "Aljofree agrees League Two loan". ManUtd.com. Manchester United. 30 August 2024. สืบค้นเมื่อ 30 August 2024.
- ↑ "Loan News: Nolan joins Inverness". ManUtd.com. Manchester United. 30 August 2024. สืบค้นเมื่อ 30 August 2024.
- ↑ "Tom Wooster arrives on loan from Manchester United". farsleyceltic.com. Farsley Celtic. 9 Aug 2024. สืบค้นเมื่อ 9 Aug 2024.
- ↑ "Amorim's coaching staff confirmed". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Man Utd appoint Craig Mawson as new assistant goalkeeping coach". ManUtd.com. Manchester United. 30 December 2019. สืบค้นเมื่อ 30 December 2019.
- ↑ "How Manchester United are getting their players fitter for the new season". Manchestereveningnews.co.uk. Manchester Evening News. 22 July 2019. สืบค้นเมื่อ 24 November 2019.
- ↑ 227.0 227.1 Marshall, Adam (6 July 2019). "Reds confirm additions to first-team staff". ManUtd.com. Manchester United. สืบค้นเมื่อ 6 July 2019.
- ↑ "Academy coaching update for 2023/24". ManUtd.com. Manchester United. 19 July 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 July 2023. สืบค้นเมื่อ 19 July 2023.
- ↑ Barnes et al. (2001), pp. 54–57.
- ↑ "Man Utd statement on Ralf Rangnick". www.manutd.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Ruud van Nistelrooy: What to expect from Manchester United interim manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-10-28.
- ↑ Red Football Shareholder Limited: Group of companies' accounts made up to 30 June 2009. Downloaded from Companies House UK
- ↑ "Board of Directors". ManUtd.com. Manchester United. สืบค้นเมื่อ 1 July 2013.
- ↑ "Manchester United's newest interim CEO Jean-Claude Blanc: Motorbikes, star players and Bjorn Borg". The New York Times (ภาษาอังกฤษ). 2024-01-20. สืบค้นเมื่อ 2024-01-31.
- ↑ "Manchester United appoints Cliff Baty as Chief Financial Officer". ManUtd.com. Manchester United. 26 October 2015. สืบค้นเมื่อ 26 October 2015.
- ↑ "The appointment of Collette Roche at Manchester United is a step forward for football – a game blighted by sexism". inews.com. iNews. 19 April 2018. สืบค้นเมื่อ 18 August 2018.
- ↑ Gardner, Neil (8 October 2009). "Martin Edwards voices concerns over Manchester United's future". The Times. London: Times Newspapers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-14. สืบค้นเมื่อ 11 June 2010.
- ↑ "Sir Alex Ferguson latest: Manager retires but will remain a director". 8 May 2013.
- ↑ "Manchester United appoint Rebecca Britain as club secretary". Manchester Evening News. 29 March 2018. สืบค้นเมื่อ 5 August 2018.
- ↑ "Harrison appointed director of football operations". ManUtd.com. Manchester United. 17 February 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2023. สืบค้นเมื่อ 17 February 2023.
- ↑ Bloomfield, Craig (13 August 2015). "Which club has won the most trophies in Europe? The most successful clubs from the best leagues revealed". talkSPORT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-26. สืบค้นเมื่อ 30 October 2015.
- ↑ Shury & Landamore (2005), p. 8.
- ↑ "On This Day: United's Historic 'Double Double'". ManUtd.com. Manchester United. 11 May 2020. สืบค้นเมื่อ 13 May 2020.
- ↑ "Manchester United win the UEFA Europa League". ManUtd.com. Manchester United. 24 May 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-01. สืบค้นเมื่อ 26 May 2017.
- ↑ "Europa League final: Manchester United on the brink of unique achievement no other English club could ever match". talkSPORT. 23 May 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-27. สืบค้นเมื่อ 28 May 2017.
- ↑ Rice, Simon (20 May 2010). "Treble treble: The teams that won the treble". The Independent. London: Independent Print. สืบค้นเมื่อ 14 July 2010.
- ↑ Wigmore, Tim. "Why Do Manchester United Still Not Have a Women's Team?". Bleacher Report.
- ↑ Leighton, Tony (21 February 2005). "United abandon women's game to focus on youth". The Guardian. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 21 August 2019.
- ↑ "Manchester United get Women's Championship licence; West Ham join top flight". BBC Sport. 28 May 2018. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
- ↑ "Manchester United granted place in Women's Championship by FA". The Independent. 28 May 2018. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
- ↑ "Manchester United Women to play in FA Women's Championship next season". ESPN. 28 May 2018. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
- ↑ "Manchester United granted FA Women's Championship place with West Ham in Super League". Sky Sports. 28 May 2018. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
- ↑ "West Ham the big winners, Sunderland key losers in women's football revamp". The Guardian. 28 May 2018. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
บรรณานุกรม
- Andrews, David L., บ.ก. (2004). Manchester United: A Thematic Study. London: Routledge. ISBN 978-0-415-33333-7.
- Barnes, Justyn; Bostock, Adam; Butler, Cliff; Ferguson, Jim; Meek, David; Mitten, Andy; Pilger, Sam; Taylor, Frank OBE; Tyrrell, Tom (2001) [1998]. The Official Manchester United Illustrated Encyclopedia (3rd ed.). London: Manchester United Books. ISBN 978-0-233-99964-7.
- Bose, Mihir (2007). Manchester Disunited: Trouble and Takeover at the World's Richest Football Club. London: Aurum Press. ISBN 978-1-84513-121-0.
- Crick, Michael; Smith, David (1990). Manchester United – The Betrayal of a Legend. London: Pan Books. ISBN 978-0-330-31440-4.
- Devlin, John (2005). True Colours: Football Kits from 1980 to the Present Day. London: A & C Black. ISBN 978-0-7136-7389-0.
- Dobson, Stephen; Goddard, John (2004). "Ownership and Finance of Professional Soccer in England and Europe". ใน Fort, Rodney; Fizel, John (บ.ก.). International Sports Economics Comparisons. Westport, CT: Praeger Publishers. ISBN 978-0-275-98032-0.
- Dunning, Eric (1999). Sport Matters: Sociological Studies of Sport, Violence and Civilisation. London: Routledge. ISBN 978-0-415-09378-1.
- Hamil, Sean (2008). "Case 9: Manchester United: the Commercial Development of a Global Football Brand". ใน Chadwick, Simon; Arth, Dave (บ.ก.). International Cases in the Business of Sport. Oxford: Butterworth-Heinemann. ISBN 978-0-7506-8543-6.
- Inglis, Simon (1996) [1985]. Football Grounds of Britain (3rd ed.). London: CollinsWillow. ISBN 978-0-00-218426-7.
- James, Gary (2008). Manchester: A Football History. Halifax: James Ward. ISBN 978-0-9558127-0-5.
- Morgan, Steve (March 2010). McLeish, Ian (บ.ก.). "Design for life". Inside United (212). ISSN 1749-6497.
- Murphy, Alex (2006). The Official Illustrated History of Manchester United. London: Orion Books. ISBN 978-0-7528-7603-0.
- Shury, Alan; Landamore, Brian (2005). The Definitive Newton Heath F.C. SoccerData. ISBN 978-1-899468-16-4.
- Tyrrell, Tom; Meek, David (1996) [1988]. The Hamlyn Illustrated History of Manchester United 1878–1996 (5th ed.). London: Hamlyn. ISBN 978-0-600-59074-3.
- White, Jim (2008). Manchester United: The Biography. London: Sphere. ISBN 978-1-84744-088-4.
- White, John (2007) [2005]. The United Miscellany (2nd ed.). London: Carlton Books. ISBN 978-1-84442-745-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์ทางการ (ในภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี และสเปน)
- เว็บไซต์สถิติอย่างเป็นทางการ
- เว็บไซต์กลุ่มผู้สนับสนุนทรัสต์อย่างเป็นทางการ
- สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่บีบีซีสปอต: ข่าวของสโมสร – ผลการแข่งขันและตารางอันดับล่าสุด
- แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ Sky Sports
- แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ Premier League
- ข้อมูลทางด้านธุรกิจของ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด: