สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | เดอะบลูเบิร์ด พิราบสีน้ำเงิน (ฉายาในประเทศไทย) | |||
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1899 | |||
สนาม | คาร์ดิฟฟ์ซิตีสเตเดียม คาร์ดิฟฟ์ | |||
ความจุ | 33,316 | |||
เจ้าของ | วินเซนต์ ตัน | |||
ประธาน | เมห์เหม็ด ดัลมาน | |||
ผู้จัดการ | นีล แฮร์ริส | |||
ลีก | อีเอฟแอลแชมเปียนชิป | |||
2022–23 | แชมเปียนชิป, อันดับที่ 21 | |||
| ||||
สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี (เวลส์: Clwb Pêl-droed Dinas Caerdydd) เป็นสโมสรฟุตบอลจากประเทศเวลส์
ตั้งอยู่ที่กรุงคาร์ดิฟฟ์ ในเทศมณฑลประวัติศาสตร์กลามอร์แกน ปัจจุบันแข่งขันอยู่ในพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ โดยสโมสรลงแข่งขันในระดับลีกสูงสุดของอังกฤษรวม 17 ฤดูกาล ซึ่งช่วงที่อยู่บนลีกสูงสุดต่อเนื่องยาวนานที่สุดอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1921 ถึง 1929
สโมสรก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ในชื่อสโมสรฟุตบอลริเวอร์ไซด์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ ซิตี ในปี ค.ศ. 1908 ต่อมาได้เข้าร่วมในเซาเทิร์น ฟุตบอลลีก ในปี ค.ศ. 1910 และได้เข้าสู่อิงกลิชฟุตบอลลีก ในปี ค.ศ. 1920 โดยคาร์ดิฟฟ์ ซิตี ได้รับการบันทึกว่าเป็นสโมสรฟุตบอลจากนอกประเทศอังกฤษสโมสรแรกและสโมสรเดียวจนถึงปัจจุบันที่สามารถคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้สำเร็จ โดยทำได้ในปี ค.ศ. 1927 ด้วยการเอาชนะอาร์เซนอลได้ในรอบชิงชนะเลิศ นอกจากนี้ยังเป็นสโมสรฟุตบอลนอกประเทศอังกฤษสโมสรแรกที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลลีกคัพ นอกจากนี้สโมสรยังสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วย เวลส์ คัพ ได้ถึง 22 สมัย มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์รองจากสโมสรฟุตบอลเร็กซ์แฮม
ปัจจุบันสโมสรใช้สนามคาร์ดิฟฟ์ซิตี สเตเดียมเป็นสนามเหย้า โดยย้ายมาจากสนามเหย้าเดิมคือสนามนิเนียน พาร์ก ในปี ค.ศ. 2009 และมีคู่แข่งสำคัญในภาคใต้ของเวลส์อย่างสวอนซี ซิตี ซึ่งการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมมีชื่อเรียกว่า เซาท์เวลส์ดาร์บี นอกจากนี้ยังเป็นคู่แข่งสำคัญในฐานะสโมสรที่อยู่ในบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศเวลส์และประเทศอังกฤษกับบริสตอล ซิตี โดยคาร์ดิฟฟ์เปรียบเสมือนตัวแทนจากเวลส์และบริสตอล ซิตี เปรียบเสมือนตัวแทนจากอังกฤษ และมีชื่อเรียกการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมนี้ว่า เซเวิร์นไซด์ ดาร์บี
ในฤดูกาล 2013-14 อยู่ภายใต้การคุมทีมของมัลกี มักคาย โดยมักคายนำทีมคาร์ดิฟฟ์ซิตีได้เป็นรองแชมป์ ลีกคัพ หลังจากเสมอกับสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล อยู่ 2-2 แต่แพ้ด้วยการยิงจุดโทษไป 3-2 และนำทีมคาร์ดิฟฟ์ซิตีไปเล่นรอบเพลย์ออฟในการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษ แต่ก็แพ้เวสต์แฮมยูไนเต็ดไปทั้ง 2 นัด และในที่สุดเขาสามารถนำสโมสรคาร์ดิฟฟ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษได้สำเร็จด้วยการเป็นแชมป์เดอะแชมเปียนส์ชิพ อันดับที่ 1 ในฤดูกาล 2012-13 ในต้นปี 2014 มักคายถูกปลดออกเนื่องจากทำผลงานได้ไม่ดี และอูเลอ กึนนาร์ ซูลชาร์ อดีตกองหน้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ได้รับหน้าที่ผู้จัดการแทน[1]
คาร์ดิฟฟ์ซิตีเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในระดับพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งในฤดูกาล 2018–19 หลังจากจบฤดูกาลในลีกเดอะแชมเปียนส์ชิพด้วยอันดับที่ 2
ประวัติ
[แก้]ยุคก่อตั้ง (ค.ศ.1899–1920)
[แก้]สโมสรก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลริเวอร์ไซด์[2] โดยการก่อตั้งสโมสรมีขึ้นที่บ้านของวอลเตอร์ บาร์ทลีย์ วิลสัน ซึ่งเป็นช่างทำภาพพิมพ์หินในเมืองคาร์ดิฟฟ์[3] เพื่อเป็นการรวมผู้เล่นจากสโมสรคริกเก็ตริเวอร์ไซด์ไว้ด้วยกัน ในช่วงแรกสโมสรแข่งขันกับทีมในละแวกท้องถิ่นใกล้เคียงที่สนามโซเฟีย การ์เดนส์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะในบริเวณริเวอร์ไซด์ ย่านเก่าแก่และเป็นชุมชนแออัดของเมืองคาร์ดิฟฟ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 สโมสรได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในคาร์ดิฟฟ์แอนด์ดิสตริกต์ลีก [4]
ในปี ค.ศ. 1905 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ได้ยกฐานะเมืองของคาร์ดิฟฟ์ขึ้นเป็นเมืองที่มีฐานะเป็นนครในสหราชอาณาจักร สโมสรจึงได้ยื่นเรื่องต่อสมาคมฟุตบอลเซาท์เวลส์และมอนมัทเชียร์เพื่อเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นคาร์ดิฟฟ์ ซิตี[2] แต่คำขอในกรณีดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติเนื่องจากสโมสรลงแข่งขันในระดับที่ต่ำเกินไป สโมสรจึงได้เข้าร่วมในเซาท์เวลส์ อเมเจอร์ลีก ในปี ค.ศ. 1907 และได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อสโมสรได้ในปีต่อมา[5][6]
เมื่อสโมสรมีความเติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงได้ไปขอเข้าร่วมแข่งขันในดิวิชัน 2 ของเซาเทิร์น ฟุตบอลลีก แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากสภาพสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามโซเฟีย การ์เดนส์ ไม่ผ่านมาตรฐาน หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 2 ปี สโมสรมีโอกาสได้เล่นฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับสโมสรฟุตบอลจากประเทศอังกฤษอย่างมิดเดิลส์เบรอ, บริสตอล ซิตี และ คริสตัล พาเลซทำให้เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนบอลมากขึ้น ต่อมาสโมสรได้ตัดสินใจสร้างสนามเหย้าเป็นของตนเองเพื่อที่จะสามารถไปแข่งขันในลีกที่ใหญ่กว่าเดิมได้โดยวอลเตอร์ บาร์ทลีย์ วิลสัน ผู้ก่อตั้งสโมสรได้หาพื้นที่สำหรับสร้างสนามใหม่ในคาร์ดิฟฟ์และบริเวณใกล้เคียง และมาได้ที่ดินสำหรับสร้างสนามแห่งใหม่จากข้อเสนอของจอห์น แมนเดอร์ สมาชิกสภาเทศบาลเมือง ที่เสนอให้ใช้ที่ดินบริเวณแทนยาร์ด เลน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนสโลเปอร์และสถานีรถไฟ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และใช้เป็นที่สำหรับเก็บรวบรวมขยะและบางส่วนสำหรับแบ่งให้เช่า[7]โดยเขาเสนอให้สโมสรใช้พื้นที่ดังกล่าวโดยคิดค่าเช่าเดือนละ 90 ปอนด์
ในการบูรณะพื้นที่เดิมที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมและการก่อสร้างสนามแห่งใหม่นี้ขึ้น พันโท ลอร์ด นิเนียน คริชตัน-สจ๊วร์ต ได้นำทรัพย์สินของตัวเองเป็นประกันกับธนาคารให้กับสโมสร เมื่อสนามก่อสร้างเสร็จสโมสรจึงได้ตั้งชื่อสนามเพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกถึงการช่วยเหลือในครั้งนี้ของเขาว่า นิเนียน พาร์ก และสโมสรได้ใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 (ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พันโท ลอร์ด นิเนียน คริชตัน-สจ๊วร์ต ได้ถูกพลซุ่มยิงของจักรวรรดิเยอรมันลอบยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิตในยุทธการลูส์ ที่ฝรั่งเศส ทางสโมสรจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ของเขาไว้ที่หน้าสนาม)
หลังจากย้ายมาใช้สนามนิเนียน พาร์ก สโมสรได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมในดิวิชัน 2 ของเซาเทิร์น ฟุตบอลลีก[8]และแต่งตั้งผู้จัดการทีมอย่างเป็นทางการคนแรกคือ เดวี แม็คดูกอลล์ ซึ่งเป็นผู้เล่นชาวสกอตแลนด์ ของสโมสร โดยสโมสรมอบหมายให้เป็นผู้เล่น-ผู้จัดการทีม[9]และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4 ต่อมาสโมสรตัดสินใจเปลี่ยนผู้จัดการทีมโดยแต่งตั้งเฟรเดริก สจ๊วต ซึ่งเคยคุมทีมสต๊อกพอร์ต เคาน์ตีเข้ามาทำหน้าที่แทนเดวี แม็คดูกอลล์ โดยเฟรเดริก สจ๊วต เข้ามายกระดับสโมสรให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เช่น มีการเซ็นสัญญากับผู้เล่นที่เคยเล่นในระดับฟุตบอลลีกหลายรายเข้ามาร่วมทีม และสามารถสร้างผลงานคว้าแชมป์ เวลส์คัพ ได้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1911–12 ก่อนที่จะคว้าแชมป์เซาเทิร์นฟุตบอลลีก ดิวิชัน 2 ได้ในฤดูกาล 1912–13 ทำให้ได้เลื่อนขึ้นไปแข่งในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก ดิวิชัน 1 และจบฤดูกาลใน 4 อันดับแรกของลีก 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลลีกต่างๆจะหยุดลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ.1915–19 [6][10]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สนามนิเนียน พาร์ก ถูกใช้เป็นลานฝึกทหารและผู้เล่นของสโมสรถูกเรียกไปเป็นทหารและต้องสู้รบในสงครามหลายราย เช่น เฟรด คีเนอร์ ผู้เล่นตำแหน่งกองหลังของทีม ที่ถูกเรียกไปประจำการและต้องสู้รบกับฝ่ายจักรวรรดิเยอรมันในยุทธการที่แม่น้ำซอม[11]ซึ่งจัดว่าเป็นสมรภูมิรบที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่มีทหารเสียชีวิตกว่า 1 ล้านนาย โดยเฟรด คีเนอร์ ได้รับบาดเจ็บหนักแต่ก็รอดชีวิตมาได้ นอกจากนี้จอห์น สตีเฟนสัน ผู้รักษาประตูตัวสำรอง[12]และ ทอม วิตตส์ ผู้เล่นดาวรุ่งของทีม ก็ถูกเรียกไปเป็นทหารด้วยเช่นกัน โดยทอม วิตตส์ เป็นผู้เล่นของสโมสรที่เสียชีวิตจากพิษบาดแผลที่ได้รับจากรบที่ลิมง-ฟงแต็น จังหวัดนอร์ ประเทศฝรั่งเศส[13]
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ฟุตบอลในประเทศอังกฤษกลับมาแข่งขันต่อหลังจากหยุดแข่งไปนานถึง 4 ฤดูกาล โดยคาร์ดิฟฟ์ ซิตี กลับมาลงแข่งขันในฤดูกาล 1919–20 ในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก ดิวิชัน 1 และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4
ค.ศ.1920-1945
[แก้]ในปี ค.ศ.1920 อิงกลิชฟุตบอลลีก ได้ขยายโครงสร้างลีกอาชีพ โดยให้เพิ่มดิวิชัน 3 จากเดิมที่มีเพียง 2 ดิวิชัน โดยคัดเลือกจากสโมสรที่แข่งขันในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก และคาร์ดิฟฟ์ ซิตี ที่ในขณะนั้นอยู่ในระดับสูงสุดของเซาเทิร์นฟุตบอลลีกได้สมัครขอเข้าร่วมอิงกลิชฟุตบอลลีก และได้รับการโหวตจากสโมสรสมาชิกให้เข้าสู่ดิวิชัน 2
วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1920 คาร์ดิฟฟ์ ซิตี ได้ลงแข่งขันในฟุตบอลลีกเป็นนัดแรก โดยเล่นเป็นทีมเยือนพบกับสโมสรฟุตบอลสต๊อกพอร์ต เคาน์ตี ที่สนามเอดเจลี พาร์ก และเป็นฝ่ายบุกมาชนะ 5–2[14]
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "คาร์ดิฟฟ์แต่งตั้งโซลชาร์คุมทัพแล้ว". เดลินิวส์. 2 January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-02. สืบค้นเมื่อ 3 January 2013.
- ↑ 2.0 2.1 Tucker, Steve (9 พฤษภาคม 2012). "The obscure story of Cardiff City's blue kit and nickname". WalesOnline. Media Wales. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2017.
- ↑ Hayes 2006, p. 208
- ↑ Grandin 2010, p. 11
- ↑ Shepherd 2002, p. 4
- ↑ 6.0 6.1 Shepherd, Richard (19 มีนาคม 2013). "1899–1920 Foundations & the Early Years". Cardiff City F.C. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2017.
- ↑ Shepherd 2007, p. 13
- ↑ "Cardiff City". Football Club History Database. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2017.
- ↑ "Playing Manager Appointed". Evening Express. 14 September 1910. p. 4.
- ↑ Shepherd 2002, pp. 14–21
- ↑ Leighton 2010, p. 46
- ↑ Lloyd 1999, p. 52
- ↑ https://www.bbc.com/news/uk-wales-45666078[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Opening Day History – Starting with success". Cardiff City F.C. 1 สิงหาคม 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2017.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Cardiff City F.C. Official website
- Bob Bank Hero – Cardiff City Online Fanzine
- แม่แบบ:BBC Football Info
- A collection of items relating to Cardiff City Football Club's historic victory against Arsenal in the 1927 FA Cup เก็บถาวร 2008-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Cardiff City stats at Football Club History Database
- Cardiff City play-off record[ลิงก์เสีย]
- สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี ที่เฟซบุ๊ก