ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ5 ธันวาคม พ.ศ. 2447
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์15 กันยายน พ.ศ. 2502 (54 ปี)
วังสวนผักกาด จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พระราชทานเพลิง22 ธันวาคม พ.ศ. 2502
เมรุ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
หม่อมหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
พระบุตรหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ราชสกุลบริพัตร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระมารดาหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร
ศาสนาพุทธ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพบกไทย
ชั้นยศ พลตรี

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (5 ธันวาคม พ.ศ. 2447 – 15 กันยายน พ.ศ. 2502) อดีตอุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารไทยทนุ เมื่อปี พ.ศ. 2492

พระประวัติ

[แก้]

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร (ราชสกุลเดิม ไชยันต์) เป็นพระภาดาในรัชกาลที่ 8 ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2447 มีพระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติที่ หม่อมเจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ทรงศึกษาชั้นต้นที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นที่ประทับของราชสกุลบริพัตร หรือที่ชาวต่างชาติสมัยนั้นให้ฉายาว่า "บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้" จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และศึกษาต่อที่วิทยาลัยแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีสาขาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ในสำนักไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2472 ทรงรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ก่อนจะกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 เพื่อตามเสด็จพระบิดาและครอบครัวไปประทับยังเมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย และเมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นการสืบตำแหน่งจากพระบิดา จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2502 ที่วังสวนผักกาด ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตร ในวันที่ 22-23 ธันวาคม ปีเดียวกัน[1]

นอกจากนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ยังทรงดำรงตำแหน่ง สภานายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในประเทศอังกฤษ และ สภานายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในประเทศไทยพระองค์แรก[2]

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (ราชสกุลเดิม เทวกุล; พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และประทับที่วังสวนผักกาด มีพระธิดาองค์เดียวคือหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

การศึกษา

[แก้]

พระเกียรติคุณ

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศสถาปนาขึ้นเป็น พระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ตั้งแต่พระประสูติกาลได้หนึ่งเดือน และต่อมาสมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระนามเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และประกาศยกขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โดยลำดับ ครั้นครงเจริญพระวัยขึ้น พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ก็ยิ่งเป็นที่สนิทสิเนหาของสมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช ได้ทรงพระกรุณาใช้สอยใกล้ชิดพระองค์เป็นเนืองนิจ ในส่วนคุณวุฒิการศึกษานั้ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ก็ได้ทรงรับการศึกษามาเป็นอย่างดี สมควรแก่พระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ กล่าวคือ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454 - พ.ศ. 2461 ได้ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาสามัญในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 6 ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษ ในระหว่างปี พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2468 ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนแฮโรว์ จนจบหลักสูตร แล้วจึงได้เข้าศึกษาในหอไครสต์เชอช แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จนสำเร็จได้รับเกียรติปริญญาตรี ในวิชาปรัชญา วิชารัฐศาสตร์ และวิชาเศรษฐศาสตร์ แล้วเสด็จกลับเข้ามายังกรุงเทพฯ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2468 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารให้เป็น ร้อยตรี นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปี พ.ศ. 2473 ได้ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดี ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ปี พ.ศ. 2474 ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเลขานุการกระทรวง รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นอำมาตย์ตรี และเลื่อนยศทหารเป็น ร้อยโท นายทหารพิเศษในสังกัดเดิม

ครั้นในปี พ.ศ. 2476 ได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิทยาการเพิ่มเติม ณ ประเทศอังกฤษอีก ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งเดิม ได้ทรงรับเกียรติปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ. 2478 ได้ทรงสอบได้เนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2480

ถึงแม้ว่า พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร เมื่อเสด็จกลับจากต่างประเทศตอนหลัง จะมิได้มีโอกาสทรงกลับเข้ารับราชการอีก ก็ได้ทรงดำรงพระองค์อยู่ในพระจริยาวัตรอันดีงาม ทรงรอบรู้ในศิลปวิทยาสมควรแต่ขัตติยชาติ ทรงเอาพระทัยใส่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานพระราชพิธีอยู่เนืองนิจ และทรงรับพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตามควรแก่โอกาส ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จนิวัตสู่พระนคร ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ในฐานะเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่อันสูงศักดิ์ และต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2491 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย อันเป็นตำแหน่งมีเกียรติสูง พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร ก็ได้ทรงพระอุตสาหพยายามบริหารกิจการในหน้าที่ให้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ อาทิเช่น ได้ทรงจัดสรรหน่วยพยาบาลไปช่วยราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี และเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นภายในพระนคร ก็เสด็จไปทรงบัญชาการบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และประทับแรมอยู่ที่กองอำนวยการตลอดเวลาโดยมิได้เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนพระองค์และหวาดเกรงต่อภยันตราย จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบและตระหนักในพระอุตสาหของพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร และพระราชทานกระแสพระราชนิยมมาแต่เมืองโลซันน์ ชมเชยเป็นประการต่าง ๆ

สำหรับในด้านกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ทรงช่วยเหลือสนับสนุนร่วมมือในเรื่องการศึกษาวิชาแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นอย่างดี ตลอดจนการจัดงานวันอนามัยโลก ก็ได้ทรงเอาพระทัยใส่อำนวยกิจการให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์เป็นลำดับ

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระบรมราชตระกูลมาโดยลำดับ สมกับที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงมั่นอยู่ในสุจริตสัมมาจารี มีความจงรักภักดีเด่นชัดอยู่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม เพื่อเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศแห่งราชกุลบริพัตร ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต่อไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า"พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต" นาคนาม ทรงศักดินา 11000 ตามอย่างธรรมเนียมพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง[3]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2502 ณ วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชทานน้ำสรงพระศพ ณ วังสวนผัดกาด

พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2447 — 12 มกราคม พ.ศ. 2448 : หม่อมเจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร
  • 12 มกราคม พ.ศ. 2448 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร[4]
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 6 มกราคม พ.ศ. 2454 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร[5]
  • 6 มกราคม พ.ศ. 2454 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร[6]
  • 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 — 15 กันยายน พ.ศ. 2502 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

พระยศ

[แก้]

พระยศทางทหาร

[แก้]
  • 28 มกราคม พ.ศ. 2469: นายร้อยตรีพิเศษ ประจำกรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[23]
  • 19 ตุลาคม พ.ศ. 2474: นายร้อยโทพิเศษ[24]
  • 22 เมษายน พ.ศ. 2493: พันเอก[25]
  • 10 เมษายน พ.ศ. 2500: พลตรี[26]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หมายกำหนดการ พระราชทานเพลิงพระศพ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิจ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตร พุทธศักราช 2502http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/D/116/3.PDF
  2. กำเนิดสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ file:///C:/Users/HPAIOPC07/Downloads/his_1.pdf
  3. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสถาปนาพระราชวงศ์ 6 พฤษภาคม 2494 ตอนที่ 28 เล่ม 69
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งหม่อมเจ้าเป็นองค์เจ้าหลานเธอ (พระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร์), เล่ม 21, ตอน 42, 15 มกราคม พ.ศ. 2447, หน้า 747
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงษานุวงษ์, เล่ม 27, ตอน ก, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453, หน้า 1
  6. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกพระวรวงษ์เธอ เป็นพระเจ้าวรวงษ์เธอ, เล่ม 27, ตอน ก, 8 มกราคม พ.ศ. 2453, หน้า 99
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระราชวงศ์, เล่ม 69, ตอน 28 ก, 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2495, หน้า 644
  8. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้า 1806 เล่ม 67 ตอนที่ 25, 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
  10. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 76, ตอน 103 ง, 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502, หน้า 2457
  11. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบันฝ่ายหน้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (35): 1114. 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  13. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน
  14. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
  15. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  16. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 69 (75ง): 4695. 16 ธันวาคม พ.ศ. 2495. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  17. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญราชรุจิ
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ 11 เล่ม 69 หน้า 487, 19 กุมภาพันธ์ 2495
  19. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เล่ม 70 ตอนที่ 6
  20. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 71 ตอนที่ 71 หน้า 2414, 2 พฤศจิกายน 2497
  21. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
  22. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
  23. พระราชทานยศทหารบก
  24. พระราชทานยศทหารบก
  25. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  26. ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]