คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
Faculty of Pharmacy, Mahidol University
สถาปนา7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 (55 ปี)
คณบดีรศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ
ที่อยู่
447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
วารสารวารสารเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
สี  สีเขียวมะกอก
สถานปฏิบัติสถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน
เว็บไซต์www.pharmacy.mahidol.ac.th

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ในยุคของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งแรกก่อตั้งใช้ชื่อว่า คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เนื่องจากในเวลานั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้โอนย้ายสังกัดคณะเภสัชศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อนหน้าแล้ว (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยมหิดล" จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล" ในปี พ.ศ. 2515 ได้โอนคณะเภสัชศาสตร์เดิม ที่ถูกโอนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กลับไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตัดสร้อย "พญาไท" ของคณะใหม่ออกกลายเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เช่นในปัจจุบัน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ขาดแคลนกำลังเภสัชกรในประเทศ จึงได้บรรจุแผนพัฒนาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยมี อาจารย์ เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นผู้ก่อตั้ง และให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นั้นดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็น 10 ภาควิชา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในระดับปริญญาตรีเปิดทำการสอนในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 ปี นอกจากนี้ทางคณะฯ ยังส่งเสริมงานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการเภสัชศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการโอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยยังใช้พื้นที่เดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งอัตรากำลังผลิตเภสัชกรได้ปีละประมาณ 50 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อสัดส่วนการสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ แม้ในระยะหลังได้เปิดรับและสามารถผลิตเภสัชกรได้ปีละ 100 คนก็ยังประสบปัญหาการใช้ยาของประชาชนในร้านยาที่จ่ายยาผิดไปจากใบสั่งแพทย์ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยและผู้ซื้อยาไปใช้ กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาและได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เรื่องการเพิ่มจำนวนนักศึกษาเภสัชสาสตร์ให้มากขึ้น โดยมีหนังสือที่ 2695/2505 ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอให้เพิ่มจำนวนนักศึกษาสาขาวิชาเภสัชศาสตร์และให้เตรียมการโอนย้ายคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้นกลับเข้าสังกัดเดิมคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาใน พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเริ่มโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์คณะที่สองขึ้นที่วิทยาเขตพญาไท

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยใช้ชื่อว่า "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" [1]เนื่องจาก ณ ช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีคณะเภสัชศาสตร์อยู่แล้วหนึ่งแห่ง (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) โดยโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่นี้ ได้บรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 และตามนโยบายและโครงการของรัฐบาลในแผนกพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2510-2514 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเภสัชกรอันเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่ขาดแคลนอยู่ในขณะนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ให้นายแพทย์ชัชวาลน์ โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนาม “ มหิดล “ ให้เป็นชื่อมหาวิทยาลัย โดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเปลี่ยนโอนสังกัดไปเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล" ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ได้โอนย้ายกลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง คณะจึงได้ตัดสร้อย "พญาไท" หลังชื่อคณะ มาเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เช่นในปัจจุบัน [2]

บุคคล[แก้]

ทำเนียบคณบดี[แก้]

ตั้งแต่เปิดทำการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณบดีดำรงตำแหน่งในสังกัดต่างๆของคณะ ตามลำดับต่อไปนี้

คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ (รักษาการ) พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2513
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
2. อาจารย์ เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2515
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
2. อาจารย์ เภสัชกร ประดิษฐ์ หุตางกูร พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2526
3. ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง สุคนธ์ พูนพัฒน์ พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2530
4. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ปราณี ใจอาจ พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2534
5. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง พจนีย์ สุริยะวงค์ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536
6. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จันทรา ชัยพานิช พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540
7. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง อรพรรณ มาตังคสมบัติ พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2544
8. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมพล ประคองพันธ์ พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2546
9. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ (รักษาการ) พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2547
8. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมพล ประคองพันธ์ พ.ศ. 2547
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ พ.ศ. 2547
11. ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร อำพล ไมตรีเวช พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2551
12. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จุฑามณี สุทธิสีสังข์ พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2559 [3]
13. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563 [4]
14. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร สุรกิจ นาฑีสุวรรณ พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน

การเรียนการสอน[แก้]

ภาควิชา[แก้]

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมี 10 ภาควิชา และ 1 ศูนย์การศึกษาดังนี้

คณาจารย์[แก้]

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีจำนวนบุคลากรสายวิชาการรวมทั้งสิ้น 102 คน ในจำนวนนี้กำลังศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ 10 คน โดยได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ 5 คน, รองศาสตราจารย์ 29 คน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 17 คน, อาจารย์ 39 คน, และผู้ช่วยอาจารย์ 12 คน บุคลากรเหล่านี้สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาเอก 81 คน, เทียบเท่าปริญญาเอก 4 คน, ปริญญาโท 11 คน, และปริญญาตรี 6 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนดังนี้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 83.33 %, ปริญญาโท 10.78 % และปริญญาตรี 5.88 % ข้อมูล ณ วันที่ 06/10/2559

หลักสูตร[แก้]

ปริญญาตรี[แก้]

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรวิชาชีพได้รับการรับรอง มาตรฐานจากสภาเภสัชกรรม มีเป้าหมายในการผลิตเภสัชกรที่มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีงามในการ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพชั้นสูง การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับ 21st century skill outcomes ในระดับสากล ชั้นปีที่ 1-4 เน้นความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน ชั้นปีที่ 5 และ 6 สามารถเลือกเรียนด้านเภสัชอุตสาหการ (การผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ) และด้านบริบาลทางเภสัชกรรม (การดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ร้านขายยา งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานวิชาชีพในแหล่งฝึกงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาระดับแนวหน้าของประเทศ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่เป็นสถานพยาบาลชั้นนำของประเทศรวมถึงร้านยา คุณภาพ การสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง และต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 225 หน่วยกิต

ปริญญาโท[แก้]

ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ , สาขาวิชาเคมี หรือ สาขาวิชาชีววิทยา จากสถาบันฯ ในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 75% ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีรายละเอียดดังนี้

หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรการจัดการสุขภาพมหาบัณฑิต

เป็นหลักสูตรร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยการจัดการ, บัณฑิตวิทยาลัย และ คณะเภสัชศาสตร์

ปริญญาเอก[แก้]

ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเคมี หรือสาขาวิชาชีววิทยา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันฯในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

อันดับของคณะ[แก้]

จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]