คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตหาดใหญ่
Faculty of Medicine
Prince of Songkla University
ชื่อย่อพ. / MED
สถาปนา6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 (51 ปี)
คณบดีรศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์
ที่อยู่
15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
วารสารสงขลานครินทร์เวชสาร
สี███ สีเขียว
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
เว็บไซต์medinfo.psu.ac.th

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อังกฤษ: Faculty of Medicine, Prince of Songkla University) เป็นคณะลำดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นโรงเรียนแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย เป็นโรงแพทย์แห่งแรกของภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาและเป็นแห่งที่ 5 ของประเทศ[1] ถัดจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปัจจุบันเปิดสอนในสายวิชาชีพแพทยศาสตร์ และสายวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา

ประวัติ[แก้]

เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขของภาคใต้ สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้ขอจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2511 และได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งได้ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งจัดเป็นคณะลำดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีประกาศลงราชกิจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515

สภามหาวิทยาลัยได้ให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกได้ จำนวน 35 คน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 โดยใช้สถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์ในการเรียนภาคทฤษฎี และระยะแรกใช้โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลา ในการเรียนภาคปฏิบัติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จ พระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2529 และพระราชทานนามของโรงพยาบาลว่า "โรงพยาบาลสงขลานครินทร์"

สาขาวิชา[แก้]

การแบ่งส่วนงานประกอบด้วยสาขาวิชาทั้งหมด 17 สาขาวิชา[2]

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)

  • แพทยศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ***
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • สาขาวิชารังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาระบาดวิทยา
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
  • สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์

ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาระบาดวิทยา
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์

หมายเหตุ *** หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นหลักสูตรที่ใช้กับนักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตไปแล้วระยะหนึ่ง และไม่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในชั้นปีที่ 4-6 โดยนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนให้ครบในรายวิชาที่เรียนในชั้นปีที่ 1-3 และเพิ่มวิชาชีพเลือกอีก 11 หน่วยกิตกับวิชาเลือกเสรีอีก 3 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรเป็น 132 หน่วยกิต ก็สามารถยื่นคำร้องขอสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้

ทำเนียบคณบดี[แก้]

คณบดี ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1. ศ.นพ.เกษม ลิ่มวงศ์
2. ร.ต.นพ.คัมภีร์ มัลลิกะมาส
3. ศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
4. รศ.นพ.อติเรก ณ ถลาง
5. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
6. ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย
7. รศ.พญ.พันธุ์ทิพย์ สงวนเชื้อ
8. รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาติ
9. รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ
10. รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ
11. รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์
12. รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์

การรับนักศึกษา[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ รับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตรบัณฑิต รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตั้งใจเรียนแพทย์ได้มีโอกาสเข้าศึกษา โดยรับนักศึกษาเฉพาะในภาคใต้ร้อยละ 50 ในปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ได้รับนักศึกษาในโครงการต่างๆดังนี้

  • โครงการรับตรงนักเรียน 14 จังหวัดภาคใต้
  • โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ไปปฏิบัติงานในชนบทของจังหวัดในภาคใต้ที่ขาดแคลนแพทย์
  • โครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มให้กับจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
  • โครงการรับนักเรียนร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)
  • โครงการกลุ่มนักเรียนช้างเผือก จำนวนรับไม่เกิน 2 คน ของโรงเรียนที่ได้กำหนดไว้ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในแต่ละปีการศึกษา
  • โครงการผลิตและพัฒนาบุคลากรภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • โครงการรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาต่างๆ เข้าศึกษา ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในแต่ละปีการศึกษา
  • โครงการผลิตแพทย์แนวปฏิรูป (เฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนอันดับ 1 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายวิทยาศาสตร์) ในจังหวัดตรัง และอันดับ 1-10 ของโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง, โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และโรงเรียนบูรณะรำลึก)
  • โครงการกระทรวงมหาดไทย โดยการคัดเลือกนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้สมัครสอบต้องมีภูมิลำเนา, บิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครอง และสำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย)

ชีวิตนักศึกษาแพทย์[แก้]

การศึกษา[แก้]

  • ชั้นพลีเม็ดดิเคล (ปี 1) เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และเรียนทางด้านภาษาที่คณะศิลปศาสตร์
  • ชั้นพรีคลินิก (ปี 2-3) เริ่มใช้ระบบการเรียนแบบใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป โดยใช้หลักการเรียนแบบ Problem-based Learning(PBL) เป็นการเรียนแบบไม่มีการแยกเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, หรือพยาธิวิทยาเป็นรายวิชา แต่ใช้การเรียนไปเป็นระบบๆของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแทน โดยเริ่มในนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 26 เป็นรุ่นแรกของคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
  • ชั้นคลินิก (ปี 4-5) แยกเรียนเป็น 3 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (โดยแบ่งตามโควตาที่เข้ามาตั้งแต่ตอนแรกรับ)
    • หากเข้ามาโดยโควตาแพทย์ชนบท(โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม)ต้องเรียนที่โรงพยาบาลหาดใหญ่
    • หากเข้ามาโดยโควต้าแพทย์ 3 จังหวัดต้องเรียนที่โรงพยาบาลยะลา
    • หากเข้ามาโดยวิธีอื่นๆ เรียนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ทั้งหมด
  • ชั้นเอกซ์เทอร์น (ปี 6)
    • หากเรียนปี 4-5 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จะต้องมาฝึกงานเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเวลา 6 เดือน
    • หากเรียนปี 4-5 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะต้องเลือกฝึกงานตามโรงพยาบาลจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการสอนนักศึกษาแพทย์ร่วมกัน ได้แก่ โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี, โรงพยาบาลตรัง, โรงพยาบาลสงขลา, โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 6 เดือน และที่เหลืออีก 6 เดือนฝึกงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
  • เมื่อสำเร็จการศึกษารับปริญญาบัตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (พ.บ.) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้งหมด (โดยไม่มีการแบ่งแยกโรงพยาบาล) ก็เป็นอันว่าจบสิ้นในการเรียนระดับปริญญาตรี

กิจกรรม[แก้]

ราตรีนี้สีเขียว

ราตรีนี้สีเขียว (Green Night) เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรวมสายรหัสทุกสายตั้งแต่ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ไปจนถึงอาจารย์แพทย์ โดยในงานจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นโต๊ะสายรหัส จากนั้นจะมีกิจกรรมการแสดงของแต่ละชั้นปีตั้งแต่ปี1,2,3 และการแสดงของอาจารย์ ซึ่งในงานนี้จะมีกิจกรรมสำคัญคือการประกวดดาว-เดือนคณะแพทยศาสตร์คัดจาก ชาย 5 คน หญิง 5 คน ซึ่งจะมีการให้คะแนนจากกรรมการ และเปิดรับคะแนน popular vote จากดอกไม้ในงาน ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์

บาก้าอวอร์ด

บาก้าอวอร์ด (Baka Award) เป็นการประกวดดนตรีของนักศึกษาและบุคลากรของคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การแพทย์แผนไทย และเทคนิคการแพทย์) โดยก่อนหน้านั้นมีการจัดประกวดร้องเพลงและดนตรีภายในคณะแพทยศาสตร์มาก่อนแล้วโดยใช้ชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งตั้งตามคำในบูมคณะแพทยศาสตร์ แต่ได้หยุดการประกวดไปนานหลายปี จนถึงปี พ.ศ. 2543 จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยชมรมดนตรีสากลคณะแพทยศาสตร์เป็นผู้จัด และมี ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร เป็นที่ปรึกษาการประกวด ในปีแรกการจัดเป็นการจัดภายในคณะโดยประกาศรับสมัครล่วงหน้าเป็นเวลานาน แต่มีผู้สมัครเข้ามาจำนวนน้อย จนถึงใกล้วันสมัครจึงมีผู้สมัครเข้ามาอย่างมากมายทำให้เมื่อถึงวันประกวดจริง กำหนดการแสดงต่างๆยาวนานไปจนจบตอนใกล้เวลา 2.00 นาฬิกาของอีกวัน ในครั้งนั้นมีการประกวดสองประเภทคือ โฟลค ซอง (Folk song) และประกวดร้องเพลง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้เชิญคณะพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์เข้าร่วมด้วย โดยยังคงมีสองประเภทของการแข่งขันเหมือนครั้งก่อน แต่ได้รับการตอบรับล่วงหน้ามากกว่าเดิม ทำให้มีการจัดรอบคัดเลือกก่อนหน้าที่จะแข่งขันจริง และในปลายปีเดียวกันได้มีการจัดขึ้นอีกครั้งเป็นการภายในคณะ ปีต่อมาได้เพิ่มการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ ซึ่งอาจเป็นการร้องเพลงอย่างเดียว หรือเล่นดนตรีผสมกันได้ โดยไม่จำกัดประเภทของเครื่องดนตรี และในปี พ.ศ. 2549 ได้แยกการแข่งขันวงสตริงออกจากประเภทฟรีสไตล์ ปัจจุบันการแข่งขันจึงแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือ การขับร้อง โฟล์คซอง ฟรีสไตล์ และวงสตริง โดยในรอบชิงชนะเลิศจะทำการแข่งขันทั้งสี่ประเภทนี้ตามลำดับ ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด[ต้องการอ้างอิง]

ค่ายอาสา

เป็นการจัดค่ายอาสาเพื่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนที่ห่างไกล โดยเริ่มในปีแรก พ.ศ. 2543 ที่โรงเรียนสระหมื่นแสน อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นการสร้างอาคารคารอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น และออกให้สุขศึกษาแก่ชาวบ้านแถบนั้น ในช่วงเวลาที่ นักศึกษาแพทย์ปิดภาคเรียน ปัจจุบันโรงเรียนสระหมื่นแสนได้ปิดตัวเองลงไปเนื่องจากมีนักเรียนน้อยเกินไป จากนั้นจึงได้มีจัดค่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สโมสรนักศึกษาคณะได้จัดคอนเสิร์ตเพื่อนำรายได้สมทบทุนค่ายอาสา โดยกลุ่มศิลปินที่เคยเปิดการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว ได้แก่ ศุ บุญเลี้ยง (พ.ศ. 2544) บอดี้สแลม (พ.ศ. 2545) แคลช โมเดิร์นด็อก (มกราคม พ.ศ. 2550) พาราด็อกซ์ (กันยายน พ.ศ. 2550) และฟลัวร์ (มกราคม พ.ศ. 2552)[ต้องการอ้างอิง]

รับเสื้อกาวน์

งานรับเสื้อกาวน์จะจัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี โดยนักศึกษาแพทย์ปี 3 ที่กำลังจะขึ้นชั้นคลินิกจะได้เข้าร่วมพิธีรับมอบเสื้อกาวน์จากอาจารย์แพทย์ ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์จากนั้นจึงกำหนดวันใดวันหนึ่ง เพื่อถ่ายรูปเก็บความทรงจำที่หน้าลานพระบิดาในตอนเช้า จะมีสายรหัสมาร่วมถ่ายรูป แสดงความยินดี รวมทั้งเพื่อนๆคณะอื่นได้มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง หลังจากงานรับเสื้อกาวน์ตอนเช้าแล้วสายรหัสส่วนใหญ่จะไปเลี้ยงสายกัน จากนั้นตอนกลางคืนจะมีการจัดงานพร้อมกันขึ้นเพื่อเลี้ยงสังสรรค์

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์[แก้]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง[แก้]

  1. แพทยสภา. โรงเรียนแพทย์ภายในประเทศ ที่แพทยสภารับรอง เรียงลำดับ. 18 กุมภาพันธ์ 2565
  2. ประกาศการแบ่งโครงสร้างหน่วยงานภายในส่วนงานประเภทนโยบายและบริหาร ประเภทวิชาการและประเภทอำนวยการและสนับสนุนภารกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.๒๕๖๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]