สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักวิชาแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Institute of Medicine
Suranaree University of Technology
Logo of Institute of Medicine
ชื่อย่อสพ. / IM
สถาปนาโครงการจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์
15 ธันวาคม พ.ศ. 2536 (30 ปี)
ได้รับการรับรองจากแพทยสภา
9 สิงหาคม พ.ศ. 2550 (16 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
คณบดีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุธรรม ปิ่นเจริญ
ที่อยู่
สี  สีเขียว
มาสคอต
คทาแห่งแอสคลีเพียส
สถานปฏิบัติอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ (F9) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
เว็บไซต์https://beta.sut.ac.th/im

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อังกฤษ : Institute of Medicine, Suranaree University of Technology) เป็นสำนักวิชาแพทยศาสตร์ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามการจัดตั้ง และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ถัดจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[1]

ประวัติ[แก้]

เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้มีมติให้ทบวงมหาวิทยาลัยเพิ่มการรับนักศึกษาแผนปกติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 อีกปีละ 340 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้พิจารณาให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นสำนักวิชาหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 22 เล่ม 110 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เสนอโครงการจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อขออนุมัติดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2536 คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 ได้ลงมติเห็นชอบในหลักการ และให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดทำรายละเอียดความพร้อมและความเป็นไปได้ของโครงการ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2537 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทในช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2549 ต่อมารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ได้จัดทำโครงการจัดตั้งระบบวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในเดือนมกราคม 2538 ซึ่งประกอบด้วย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และศูนย์การแพทย์ โดยในระยะแรกจะจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และศูนย์การแพทย์ เพื่อผลิตแพทย์ พยาบาล และเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรอุดมศึกษาที่ขาดแคลนมาก

ต่อมาในปี 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จึงให้ชะลอโครงการดังกล่าวไว้ก่อน โดยในปี 2541 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 5 หลักสูตร ซึ่งสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการประชุมครั้งที่ 8/2541 วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ได้ให้ความเห็นชอบ ดังนี้ 1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2541) 2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2541) 3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2541) 4. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2541) 5. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2541)

ในปีการศึกษา 2542 สำนักวิชาแพทยศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี (4 ปี) จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นสถาบันแพทยศาสตร์ในกำกับของรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสถาบันแพทย์แห่งที่ 12 ของประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นโดยมีข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ซึ่งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 22 เล่ม 110 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 คณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 8/2550 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ได้มีมติรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2550) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีการศึกษา 2549 มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในโครงการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงสาธารณสุข โดยรับนักศึกษารุ่นละ 48 คน และต่อมาปี 2550 ได้รับนักศึกษาจาก 2 โครงการ คือ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่ม และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ในปี 2553 ได้มีการเปิดให้บริการ ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในเวลาต่อมา

ทำเนียบคณบดี[แก้]

รายนามคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศ.เกียรติคุณ พล.ต.หญิง พญ.วณิช วรรณพฤกษ์ - อดีตคณบดี
2. ศาสตราจารย์[2] นายแพทย์สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ - อดีตคณบดี
3. อาจารย์ นายแพทย์ ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล -อดีตคณบดี
4. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุธรรม ปิ่นเจริญ -คณบดี (ปัจจุบัน)

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

ปัจจุบัน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดทำการเรียนการสอน 3 หลักสูตร ใน 3 สาขาวิชา ดังต่อไปนี้

หลักสูตรที่เปิดสอนในสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.)

  • สาขาวิชาแพทยศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต (นานาชาติ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วท.ด.)

  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต (นานาชาติ)

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต[แก้]

  • ระยะเวลาการศึกษา

ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี และเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี

  • ระบบการศึกษา

เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี และตามแผนการการจัดการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดังนี้ แผนการศึกษาชั้นปีที่ 1, 2, และ 3 : จัดการศึกษาเป็นระบบไตรภาค (trimester) แผนการศึกษาชั้นปีที่ 4, 5, และ 6 : จัดแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มและหมุนเวียนกลุ่มนักศึกษาเรียนบรรยายวิชาเป็นรายสัปดาห์จนครบตามรายวิชา และหน่วยกิตที่กำหนดตลอดปีการศึกษา

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต[แก้]

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดรับนักศึกษาแพทย์ จำนวน 80 คน รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด คือ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และ ชัยภูมิ โดยวิธีรับตรงของมหาวิทยาลัย โดยทำการสอบข้อเขียนในเดือนธันวาคม ประกอบด้วย 5 วิชาคือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และอังกฤษ

สถานที่จัดการเรียนการสอน[แก้]

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ
  • ชั้นปีที่ 1 เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เรียนที่อาคารเรียนรวม 1และ2 ของมหาวิทยาลัย
  • ชั้นปีที่ 2-3 เรียนวิชาปรีคลีนิค เรียนที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ ซึ่งอยู่ในสังกัดของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • ชั้นปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลีนิค โรงพยาบาลบุรีรัมย์และสุรินทร์

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์[แก้]

โรงพยาบาลที่ผลิตแพทย์ร่วมกับสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) มีทั้งสิ้น 3 โรงพยาบาล โดยได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก" ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมผลิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในสังกัดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โรงพยาบาล จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โรงพยาบาล จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]