ข้ามไปเนื้อหา

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดเชียงใหม่
ประเภทรถไฟรางเบา
จำนวนสาย3 สาย (โครงการ)
จำนวนสถานี37 (โครงการ)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง38.89 กม. (โครงการ)

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่และชานเมืองเชียงใหม่ โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ[1] แผนแม่บทรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่แบ่งออกเป็นสามสายทั้งแบบระดับดินและใต้ดิน มูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 95,321 ล้านบาท[2] ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ภูมิหลัง

[แก้]
  1. ปี 2536 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมและดูแลในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะระบบราง หรือรถไฟฟ้าในขณะนั้นได้เปิดเผยโครงการการจัดสร้างระบบขนส่งในหัวเมืองใหญ่ 8 เมือง อันได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งดูเหมือนว่าโครงการที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดในตอนนั้นก็คือโครงการของจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการทำแผนพัฒนาและสำรวจเส้นทางที่เหมาะสมกับประชาชนแล้วเสร็จ[3]เเรื่องการมีรถไฟฟ้าในเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ต่อเนื่องนั้น เป็นสิ่งที่พูดถึงอย่างจริงจังในการศึกษาเพื่อจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะสำหรับเมืองเชียงใหม่  ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้ว 4 ครั้ง[4]  ได้แก่
  2. ปี พ.ศ. 2537-2543 ดำเนินการโดยการทางพิเศษ ที่ขณะนั้นมีอำนาจในระบบขนส่งสาธารณะ มีการนำเสนอถึงการนำรถไฟฟ้าใต้ดินมาใช้ ในรูปแบบรถไฟรางเบา ในขณะนั้นมีการวางไว้ระบบรถไฟฟ้าไว้หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ที่ดูเป็นไปได้สุดคือเชียงใหม่[5] มีการได้ดำเนินการถึงขั้นมีการออกแบบในรายละเอียด[6]แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดการปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบของการทางพิเศษขึ้น  โดยมีการจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร  หรือ รฟม. ขึ้นมารับผิดชอบงานด้านรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งในเวลานั้นทาง รฟม. ได้มุ่งให้ความสำคัญในการจัดสร้างระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก จึงทำให้ไม่ได้สานต่อโครงการนี้
  3. ปี พ.ศ. 2548  ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  หรือ สนข. มีการดำเนินการถึงขั้นออกแบบในรายละเอียดของระบบรถไฟฟ้าสำหรับเมืองเชียงใหม่  แต่หลังจากทำการศึกษาเสร็จสิ้นก็เกิดการรัฐประหาร  มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลในหลายๆ ด้าน  ทำให้โครงการนี้ไม่ได้รับการผลักดันต่อ
  4. ปี พ.ศ. 2557  ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)  มีการยกระบบรถไฟฟ้าขึ้นเป็นหนึ่งในตัวเลือก  แต่การดำเนินการยังไม่ได้คืบหน้ามากนัก  และยุติลงหลังจากกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข. ศึกษาเพื่อจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะสำหรับเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2559
  5. ปี พ.ศ. 2559  ดำเนินการโดย สนข.  ซึ่งได้นำเสนอแผนแม่บท ประกอบด้วยรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Light Rail Transit (LRT) 3 เส้นทาง และระบบ Feeder ที่เป็นรถเมล์โดยสารสาธารณะ 14 เส้นทาง มีระยะทางรวมประมาณ 210 กม. โดยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ได้มีมติให้ รฟม. ดำเนินการออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อก่อสร้างต่อไป
  6. ปี พ.ศ. 2565  ดร. ประชัน หันชัยเนาว์ รองประธานชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าเชียงใหม่ ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ถึงแยกแม่เหียะ ระยะทาง 15.7 กม. คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2568 ด้านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดการณ์ว่ารถไฟฟ้าเชียงใหม่จะเปิดบริการเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2571[7] [8]
  7. ปี พ.ศ. 2567 รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ผลักดันรถไฟฟ้าเชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการหลังวงแหวนแล้วเสร็จ[9][10]

เส้นทาง

[แก้]
เส้นทาง มูลค่าลงทุน
(ล้านบาท)
ระยะทาง (กิโลเมตร) จำนวนสถานี ต้นทาง ปลายทาง
สายสีแดง 28,726.80 16.50 16 โรงพยาบาลนครพิงค์ แยกแม่เหียะสมานสามัคคี
สายสีน้ำเงิน 30,399.82 10.47 13 สวนสัตว์เชียงใหม่ แยกศรีบัวเงินพัฒนา
สายสีเขียว 36,195.04 11.92 10 แยกรวมโชคมีชัย ท่าอากาศยานเชียงใหม่
รวม 95,321.66 38.89 37*

หมายเหตุ: * กรณีนับสถานีร่วมเป็นหนึ่งสถานี

ปัญหาและอุปสรรค

[แก้]

มีการคัดค้านจากประชาชนบางส่วนในการก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ (elevated railway) หรือรถไฟลอยฟ้า ด้วยเหตุผลว่าอาจจะบดบังและทำลายทัศนียภาพของเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองเก่าและพื้นที่ใกล้ดอยสุเทพ และคัดค้านการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตที่จะเสนอให้เป็นแหล่งมรดกโลก ได้แก่ พื้นที่ในเขตกำแพงเมืองเก่า พื้นที่เมืองเก่าในเขตแนวกำแพงดิน และพื้นที่ในเขตเวียงสวนดอก[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกา กำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. 2562 เล่ม 136 ตอนที่ 44 ก. วันที่ 6 เมษายน 2562.
  2. ลุยสร้างรถไฟฟ้าหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช พิษณุโลก มูลค่า 1.8 แสนล้าน ข่าวสด. 17 ตุลาคม 2561.
  3. https://thestandard.co/chiangmai-public-transit-master-plan/
  4. บุญส่ง สัตโยภาส. "เชียงใหม่จะมีระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไร?" เก็บถาวร 2017-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. "กว่า 2 ทศวรรษ 'รถไฟฟ้าเชียงใหม่' กำลังจะมาจริงหรือ? โครงการที่รอมาตั้งแต่แอม เสาวลักษณ์ ออกอัลบั้มแรก". THE STANDARD. 2017-11-01.
  6. ดำเนินการถึงขั้นมีการออกแบบในรายละเอียด[ลิงก์เสีย]
  7. ครม.รับทราบการดำเนินงานของ รฟม. รถไฟฟ้า 3 โครงการเร็วกว่าแผนงานที่กำหนด
  8. ครม.รับทราบผลการดำเนินงานของ รฟม.ในปีงบประมาณ 2564
  9. ""นายกฯ" ดัน "รถไฟฟ้าเชียงใหม่" ยกระดับคมนาคม-ท่องเที่ยว หลังวงแหวนเสร็จ". komchadluek. 2024-01-11.
  10. พี่ตั๊ก (2024-01-12). "คมนาคม ชงบิ๊กโปรเจ็กต์ ระบบขนส่งเชียงใหม่". มิติหุ้น | ชี้ชัดทุกการลงทุน.
  11. อิศรา กันแตง. "การทำงานของคณะทำงานผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก (ตอนที่ 2)". เก็บถาวร 2017-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ดูเพิ่ม

[แก้]