โรงพยาบาลจัตุรัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงพยาบาลจัตุรัส เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอจัตุรัส ประเภทโรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 โรงพยาบาลขนาด 120 เตียง รับการส่งต่อผู้ป่วยจาก 4 อำเภอใกล้เคียง (รพช.ลูกข่ายของ Node) ขีดความสามารถหน่วยบริการระดับ 2.2ทุติยภูมิ ระดับกลาง (Secondary Care)

โรงพยาบาลจัตุรัส
Chatturat Hospital
ชื่อย่อรพ.จัตุรัส
ชื่อย่ออังกฤษCTH
ประเภทรัฐ โรงพยาบาลชุมชน
ที่ตั้งเลขที่ 9 หมู่ 7 ถนนชัยภูมิ-สีคิ้ว
ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส
จังหวัดชัยภูมิ 36130
ประเทศไทย ประเทศไทย
ข้อมูลทั่วไป
ก่อตั้งพ.ศ. 2480
สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
มาตรฐานสถาบันรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
ผู้อำนวยการแพทย์หญิง นิธิมาวดี คำวงศ์
จำนวนเตียง122 เตียง
แพทย์16 คน
บุคลากร257 คน
เว็บไซต์โรงพยาบาลจัตุรัส
เฟซบุ๊กเรารัก รพ.จัตุรัส

ประวัติ[แก้]

โรงพยาบาลจัตุรัส อำเภอจัตุรัส เดิมมีสถานบริการคือ สุขศาลา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เปิดบริการเมื่อ พ.ศ. 2480 มีเจ้าหน้าที่ 2 คน คือผดุงครรภ์ 1 คนและผู้ช่วยแพทย์ 1 คน

พ.ศ. 2500 เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีอนามัยชั้น 2 มีเจ้าหน้าที่ให้บริการเท่าเดิม

พ.ศ. 2502 ได้สร้างสถานีอนามัยชั้น 2 ขึ้นใหม่ที่บ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ในเนื้อที่ 5 ไร่โดยการบริจาคของ นายสุทธิ นะหุตานนท์ และย้ายเจ้าหน้าที่พร้อมครุภัณฑ์ มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ใหม่

พ.ศ. 2514 เริ่มมีแพทย์มาประจำ พร้อมกับ เจ้าหน้าที่อีก 2 คน และเปลี่ยนชื่อสถานบริการเป็น สถานีอนามัยชั้น 1

พ.ศ. 2519 รัฐบาลมีนโยบายให้สร้างโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นชนบทได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้น สถานีอนามัยชั้น 1 อำเภอจัตุรัสจึงได้ยกฐานะและเปลี่ยนชื่อ เป็น โรงพยาบาลจัตุรัส โดยมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย แพทย์ 1 คน , พยาบาล 3 คน , ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน

โดยการสนับสนุนอย่างดีของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ (น.พ.สุเทพ บุญสุขำนนท์) โรงพยาบาลจัตุรัส จึงได้รับงบประมาณ 70,000 บาท ทำการก่อสร้างเรือนพักผู้ป่วยใน ซึ่งสามารถบรรจุเตียงผู้ป่วยได้ 10 เตียง และได้เจ้าหน้าที่มาเพิ่มเติม ทำให้การบริการของโรงพยาบาลดีขึ้น เป็นที่นิยมและ เชื่อถือของประชาชนชาวอำเภอจัตุรัส

ต่อมาจำนวนผู้ป่วยมารับบริการได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งปริมาณผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากต้องใช้เตียงผ้าใบเสริมแล้ว มีบ่อยครั้งที่ต้องนอนซ้อนเตียงกัน

ในวันที่ 15 เมษายน 2523 นายทองหยด จิตตวีระ รัฐมนตรีสาธารณะสุขในขณะนั้น ได้แวะเยี่ยม โรงพยาบาลจัตุรัส และได้เห็นสภาพทรุดโทรมและความคับแคบของโรงพยาบาล จึงอนุมัติเงินงบประมาณ 7,200,000 บาท ก่อสร้างโรงพยาบาลจัตุรัสขึ้นใหม่เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง

การก่อสร้างเริ่มประมาณกลางปี 2524 ในสถานที่เดิม โดยได้รับบริจาคที่ดินเพิ่มเติมจาก นายสุทธิ นะหุตานนท์ จำนวน 25 ไร่ และนางประยงค์ ปิ่นสุวรรณ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล จำนวน 2 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 32 ไร่ การก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2525

และเริ่มเปิด ดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2525 โดยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องวัสดุและครุภัณฑ์ ทางการแพทย์จากชาวอำเภอจัตุรัส และข้าราชการทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้โรงพยาบาลจัตุรัส สามารถให้บริการรับใช้ประชาชนชาวอำเภอจัตุรัส และอำเภอใกล้เคียงได้ด้วยดีตลอดมา

พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติขยายปรับเตียงจาก 60 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ได้รับงบประมาณจำนวน 14,985,800 บาท ก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 60 เตียง 2 ชั้น แบบเลขที่ 7919 ของกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติปรับระดับหน่วยบริการสุขภาพ เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 ได้รับงบประมาณจำนวน 73,890,000 บาท ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ 4 ชั้น แบบเลขที่ 8708 ของกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลแม่ข่าย Node (M2)[แก้]

โรงพยาบาลจัตุรัส เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย Node ระดับ M2 โรงพยาบาลขนาด 120 เตียง และรับการส่งต่อผู้ป่วยจากอำเภอใกล้เคียง (รพช.ลูกข่ายของ Node) เพื่อมารับบริการที่โรงพยาบาลจัตุรัส ได้แก่

  1. โรงพยาบาลบำเหน็จณรงค์
  2. โรงพยาบาลเทพสถิต
  3. โรงพยาบาลเนินสง่า
  4. โรงพยาบาลซับใหญ่

อ้างอิง[แก้]

https://r8way.moph.go.th/r8wayadmin/page/uploads_file/20210609114757.pdf เก็บถาวร 2022-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]