ชาวโยดะยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไทยโยเดีย)

โยดะยา
ယိုးဒယားလူမျိုး
รูปที่อาจเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่ปรากฏในเอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมด้วยภาพเขียน[ก]
ประชากรทั้งหมด
35 คน (เฉพาะสายเลือดบริสุทธิ์)[1]
มากกว่า 200 คน (พ.ศ. 2560)[1][2][3]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศพม่า ประเทศพม่า
ภาษา
ภาษาพม่า (เดิมใช้ภาษาไทย)
ศาสนา
ศาสนาพุทธ

ชาวโยดะยา หรือ ชาวอยุธยาในพม่า[4][5] (พม่า: ယိုးဒယားလူမျိုး, เอ็มแอลซีทีเอส: Yodaya lu myui:; โยดะยา หลุ มฺโย) เป็นคำที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวสยามจากอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอพยพเข้ามาประเทศพม่า มีทั้งอพยพไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์พม่าโดยสมัครใจ บ้างก็เป็นเชลยซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อเกิดสงคราม

เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ชาวอยุธยาในพม่าค่อย ๆ ผสมปนเปไปกับสังคมพม่า บ้างก็โยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม[6][7][8] พวกเขาเลิกพูดภาษาไทยและหันไปพูดภาษาพม่า จนกระทั่งทินมองจี นักวิชาการชาวพม่าผู้มีเชื้อสายโยดะยาเขียนบทความสั้นชื่อ "สุสานกษัตริย์ไทย" (A Thai King’s Tomb) ก่อน พ.ศ. 2538[6][7] โดยเชื่อว่าสถูปเก่าองค์หนึ่งในป่าช้าเนินล้านช้างหรือเนินกระแซ[9] (ลินซินกอง) เป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาผู้นิราศจากบัลลังก์และตกเป็นเชลยในพม่า[10] และเริ่มมีชื่อเสียงจากการที่มัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวไทยไปยังสถูปแห่งหนึ่งในป่าช้าลินซิน แต่กระแสดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาชาวอยุธยาในพม่า และมีความพยายามในการตามหาชุมชนอยุธยาที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน[11]

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2556 จึงได้มีการค้นพบชุมชนเชื้อสายอยุธยาชื่อหมู่บ้านซูกา มีประชากรราว 200 คน (พ.ศ. 2560)[1][2] และยังมีชุมชนของผู้มีเชื้อสายอยุธยา ณ บ้านมินตาซุ (ย่านเจ้าฟ้า)[12] มีประชากรเชื้อสายอยุธยาอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คน (พ.ศ. 2557)[13] ทั้งสองชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ แม้ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันได้แล้ว แต่วัฒนธรรมหลายอย่างของชาวอยุธยายังคงอยู่และส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมพม่าบางประการมาจนถึงยุคปัจจุบัน[14][15]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

กรุงศรีอยุธยาในอดีต

ชื่อ โยดะยา (พม่า: ယိုးဒယား) เป็นการออกเสียงชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยา คืออโยธยา ตามสำเนียงพม่า[16][17][18] ดังปรากฏชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยาจากจารึกบนเขาวัดวรนาถบรรพตว่า กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร อันเป็นนามเมืองเดียวกันกับเมืองของพระราม[16] โดยพม่าได้ตัดเสียง อะ ออก เพื่อความสะดวกต่อการออกเสียง[19] สอดคล้องกับบันทึกของชาวโปรตุเกสที่บันทึกชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยาว่า "โอเดีย" (Odiaa)[16] เมืองมอญเรียกว่า "เตียะเยิวเตียะเยีย"[19] อาณาจักรล้านนาเรียกว่า "โยธิยา"[20] และไทใหญ่เรียกว่า "โยตะร้า" [19] หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งใน พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปรับนามเมืองเสียใหม่ว่า ศรีอยุทธยา แปลว่า "เมืองที่รบไม่แพ้"[21][22] แต่ชาวกรุงศรีอยุธยาเองจะเรียกเมืองหลวงของตนเองว่า กรุงเทพพระมหานคร[16]

ส่วน "โยดะยา" หรือ "โยธยา" ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพม่าของชิน อน ญอ (Shin Ohn Nyo) เป็นกลอนบาลี 60 บท และบทกวีของพระอัคคสมาธิ (Shin Aggasamadhi) ที่เกี่ยวข้องกับมัคฆเทวะ (Magghadeva) นับแต่การกำเนิดพระเนมิราช หลักฐานดังกล่าวมีอายุใน พ.ศ. 2060-2071[23] ส่วนเอกสาร ตำนานเมืองเมา ฉบับภาษาไทใหญ่ ภาษาพ่าเก และภาษาคำตี้ หากอิงระยะเวลาการเสวยราชสมบัติของเจ้าเสือข่านฟ้า เมื่อ พ.ศ. 1763 เอกสารคงบันทึกหลังจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2318 ที่ชาวไทพ่าเกอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่รัฐอัสสัม ได้บันทึกชื่อกรุงศรีอยุธยาว่า "ลันจั้งโยตะร้า" คือ "ล้านช้างโยธยา"[19]

โดยคำว่า "โยดะยา" ในการรับรู้ของชาวพม่าโบราณมีความหมายสองอย่างคือ[24]

  1. หมายถึงชาวไทยจากภาคกลางและภาคใต้ของไทย ไม่นับรวมชาน (ရှမ်း) และยวน (ယွန်း)
  2. หมายถึงอาณาจักรอยุธยา และในบางกรณีอาจใช้เรียกอาณาจักรธนบุรีและรัตนโกสินทร์ด้วย

ทั้งนี้ชาวพม่าจะเข้าใจว่าชาวโยดะยาคือเชลยจากกรุงศรีอยุธยา โดยจำแนกออกจากชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ชาวยวนจากอาณาจักรล้านนาอย่างชัดเจน[24][25] ครั้นในสมัยราชวงศ์ญองย่าน จึงจัดให้ชาวโยดะยาอยู่ในกลุ่มเดียวกับชาวไทใหญ่[26][27]

ประวัติ[แก้]

คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง[แก้]

การกวาดต้อน[แก้]

รูปสำริดของเทวรูป, สิงห์ และช้างเอราวัณแบบขอมที่อยุธยาเคยนำมาจากนครธม แต่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง พม่าจึงนำกลับไปด้วย ปัจจุบันตั้งประดับอยู่ที่วัดมหามุนี เมืองมัณฑะเลย์[28][29][30]

พ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ อาณาจักรอยุธยาส่งทัพไปตีเมืองทวายในช่วงที่พระองค์กำลังตีเมืองยะไข่ พระองค์จึงเสด็จกลับราชธานีแล้วส่งทัพลงไปเมืองทวายทันที ทัพอยุธยาถอยร่นไปที่เมืองตะนาวศรี พม่าจับเชลยสยามได้จำนวนหนึ่ง[31][32] ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ส่งทัพบุกกรุงศรีอยุธยา สามารถจับพระราชอนุชา พระราชโอรส และพระชามาดาของกษัตริย์อยุธยาไปด้วย พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีพระราชโองการให้ยึดอาวุธและกระสุนปืน ทรงให้เหล่าข้าราชบริพารจับเชลยสยามทั้งชายหญิงไปเป็นรางวัลของตน ภายหลังกษัตริย์อยุธยาขอหย่าศึก พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงส่งเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์กลับอยุธยาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2091[31][32]

ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2097 แต่ทางการอยุธยากลับไม่ส่งตัวแทนเข้าเฝ้าในพระราชพิธี สร้างความไม่พอพระทัยยิ่งนัก เพราะทรงถือว่าอยุธยาเป็นประเทศราชของพม่า การกระทำเช่นนี้ทรงถือว่าเป็นกบฏ[31][32] พระองค์ทรงยกพลขึ้นเหนือเข้าทางอาณาจักรล้านนาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2100 แล้วยกทัพมาตีอยุธยาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2106 ต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2107 พระเจ้าบุเรงนองจึงเสด็จกลับพม่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2107 พร้อมกับเชลยสยามจำนวนหนึ่ง อันได้แก่ นักแสดงชายหญิง, สถาปนิก, ศิลปิน, ช่างเหล็ก, ช่างไม้, ช่างผม, คนครัว, ช่างทองแดง, ช่างย้อมสี, ช่างทอง, ช่างเครื่องเขิน, หมอช้าง, หมอม้า, นักระบำ, ช่างสี, ช่างน้ำหอม (ช่างปรุงเครื่องร่ำ), ช่างเงิน, ช่างสลักหิน, ช่างสลักปูนปั้น, ช่างแกะสลักไม้, ช่างแต่งเครื่องไม้ และช่างกลึงไม้ เมื่อเสด็จถึงหงสาวดีอันเป็นราชธานีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2106 ทรงให้ช่างฝีมือเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานภายในราชธานี[31][32]

ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2111 พระเจ้าบุเรงนองทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง แต่คราวนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2111 และเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2112 ชาวอยุธยาจำนวนมากถูกจับไปหงสาวดี ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองทำสงครามรบกับอาณาจักรล้านช้าง ก็พบว่ามีทัพสยามจากอยุธยาอันได้แก่ ทัพช้าง 300 เชือก, ทัพม้า 1,500 ตัว และไพร่พลอีก 30,000 คนเข้าร่วมทัพพม่า[33][34]

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2089 มีคณะทูตจากศรีลังกามาถึงเมืองพะสิม โดยขอให้กษัตริย์พม่าส่งทัพไปช่วยปราบพวกเดียรถีย์ในศรีลังกา พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพไป 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอยุธยา 100 คน เมื่อพวกเดียรถีย์ทราบกิตติศัพท์ของทัพพม่านี้ก็เกรงกลัวและประกาศยอมแพ้โดยไม่ทำการรบ[33][34]

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

นอกจากชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนแล้ว ยังมีชาวอยุธยาที่สมัครใจเข้าร่วมกับมอญและพม่า ดังปรากฏใน ราชาธิราช ระบุว่ามีชาวไทยจากเมืองเพชรบุรีจำนวน 500 คน ยอมสวามิภักดิ์กับพระเจ้ารามมะไตย (พ.ศ. 1866–1873) ในเอกสารดังกล่าวเรียกชาวไทยกลุ่มนี้ว่า เซมเดิงเปฺรียดเปฺร[35] นอกจากนี้ยังปรากฏใน พระบรมราชโองการพม่า ความว่า[36][37]

"ชาวอยุธยา 50 คนเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้ประจำกองม้า ให้นะ พราน สาน (Na Pran San) เป็นหัวหน้า ประทานที่ดินในการดูแลของนะ กุลา (Na Kula) เป็นที่พำนักทำการเพาะปลูก อีกกลุ่ม 125 คนมีไร นันดา (Rai Nanda) ให้อยู่ในกองม้าด้วย ยกหมู่บ้านกุกุย โกง (Kukkui Kon) บริเวณบ้านมเยะ ดุ (Mre Du) ประทานให้ไป"

และปรากฏในพงศาวดารอีกว่า[38][39]

"สะ ละ วัต (Sa La Wat) พร้อมด้วยช้าง 5 เชือก และชาวอยุธยา 100 คนมาถึงพระนครเมื่อ 28 กรกฎาคม 2238 และเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [พม่า]"

ในวรรณคดี ธัญวดีอเยด่อโป่ง หรือ วรรณคดียอพระเกียรติราชายะไข่ ระบุว่าหลังการกวาดต้อนชาวอยุธยาไปไว้เมืองพะโคของพระเจ้าบุเรงนอง มีขุนนางอยุธยาสองคนพี่น้องคือ พระสมิง และพระคุณไส เข้าไปรับราชการกับกษัตริย์ยะไข่ ได้รับความชอบมาก กษัตริย์ยะไข่โปรดให้พระสมิงไปกินเมืองเป็นการตอบแทน และเอกสารเดียวกันนั้นยังกล่าวถึงการเทครัวชาวโยดะยา 3,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสมุน (Bya Tha Mun) พระอนุชากษัตริย์อยุธยา พร้อมกับปืนใหญ่ชื่อพระยุทธสาร เทวรูปสัมฤทธิ์พระรามและหนุมานของชาวโยดะยาที่พะโคไปถวายกษัตริย์ยะไข่[40] นอกจากนี้ยังมีชาวอยุธยาถูกขายเป็นทาสในตลาดเบงกอล ในหนังสือ City of Djinns ของวิลเลียม ดัลริมเพิล (William Dalrymple) อ้างจากจดหมายเหตุเก่าช่วงรัชกาลจักรพรรดิออรังเซพซึ่งครองประเทศร่วมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของอยุธยา ความว่า ในตลาดเก่าเดลี "...มีนางทาสเขมรจากแดนเลยแม่น้ำอิรวดี..." (Khmer girl concubines from beyond the Irawady) และกล่าวอีกว่า จักรพรรดินีโมกุลเสด็จ "ประทับบนหลังช้างมหึมาจากกรุงหงสาวดี" (mounted on a stupendous Pegu elephant) ไมเคิล ไรท์อธิบายว่านี่อาจจะเป็นนางทาสและช้างดีจากกรุงศรีอยุธยา[41]

ทัน ทุนได้สรุปเกี่ยวกับชาวอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า "บรรดาเชลยสงครามและช่างฝีมืออยุธยาถูกจับไปพม่า พวกเชลยเหล่านี้ถูกใช้ให้ไปทำไร่ไถนา บางส่วนก็ถูกส่งไปขายเป็นทาสในตลาดเบงกอล แต่เนื่องจากชื่อเสียงในความเก่งกล้าและความจงรักภักดี บางคนได้โปรดให้เป็นทหารรักษาประตูวังและประตูเมือง พวกช่างฝีมือเข้ารับราชการในราชสำนักโดยเฉพาะ บางครั้งก็มีการลุกฮือของทาสพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ปราบได้โดยง่าย...พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนานั้นถูกส่งไปทางเหนือ (โมนยวา, มินบู, ปะกัน, ซะไกง์, ชเวโบ และตะแย) พวกนี้ผสมปนเปไปกับชนพื้นเมืองโดยง่าย และภายในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนต่อมา ก็จะลืมเทือกเถาเหล่ากอว่ามาจากอยุธยาหมด"[42][43]

คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[แก้]

การกวาดต้อนและการสวามิภักดิ์[แก้]

ใน พ.ศ. 2310 พระเจ้ามังระทรงยึดกรุงศรีอยุธยาได้ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เสด็จสวรรคต พม่าได้ทำการเผากรุงศรีอยุธยาปล้นชิงทรัพย์สินในพระนคร บังคับราษฎรทั้งภิกษุทั้งฆราวาสให้แจ้งที่อยู่ทรัพย์สิน ผู้ขัดขืนต้องเผชิญโทษทัณฑ์ต่าง ๆ แล้วให้จับผู้คน รวมถึงพระราชวงศ์ ข้าราชการ สมณะ ไปคุมขังไว้ โดยพระสงฆ์ให้กักไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนฆราวาสให้ไว้ตามค่ายของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย[44] คำนวณแล้ว ปรากฏว่า เชื้อพระวงศ์ถูกกวาดต้อนไปกว่า 2,000 พระองค์[45] รวมจำนวนผู้ถูกพม่ากวาดต้อนไปนั้นมากกว่า 30,000[14][46][47]– 100,000 คน[48][49] อันรวมไปถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและกรมขุนวิมลพัตร[50] เชลยส่วนใหญ่คือประชากรที่อยู่รายรอบกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ อ่างทอง, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี, นนทบุรี, ปราจีนบุรี, และธนบุรี[51] มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาถูกกวาดต้อนไปด้วย เป็นต้นว่าบุคคลเชื้อสายเปอร์เซียและพราหมณ์[52][53] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่า ความว่า "...สั่งให้เผาพระนครและปราสาททั้ง ๓ องค์ และให้เผาอารามและวิหารเสียให้หมดด้วย และสั่งให้ทำลายกำแพงเมือง และบรรดาเข้าของที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีพระไตรปิฎก คือ พระธรรมวินัย เป็นต้น สั่งให้ทำลายเสียแล้วก็กลับมายังพระนครแห่งตน..."[54] ทำให้เกิดภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด มีราษฎรอยุธยาจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากการสู้รบ ป่วยไข้ หรืออดอาหารตายจำนวนมากถึง 200,000 คน[47][49] ด้วยเหตุนี้ราษฎรอยุธยาจำนวนมากอพยพหนีพม่าไปไกลถึงเมืองเขมรและเมืองพุทไธมาศ เฉพาะเมืองพุทไธมาศมีคนไทยอาศัยรวมกันกว่า 30,000 คน[55] และมีชาวเมืองสวรรคโลกอพยพเข้าไปเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของพม่า[56] นอกจากจะกวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้ามังระยังทรงกวาดต้อนเชลยสยามจากเมืองสุโขทัย, สวรรคโลก และพิษณุโลกเข้าสู่อาณาจักรเป็นจำนวนมาก[6][7][57] ส่วนใน พงศาวดารเมืองสงขลา ระบุไว้อีกว่า "...พม่าตีแตกมากระทั่งถึงเมืองชุมพร ไชยา พวกกองทัพมากวาดเอาครอบครัวไทยไปเป็นอันมาก..."[58]

และยังพบว่าชาวสยามจำนวนไม่น้อยเข้ากับฝ่ายพม่า เพราะทางการอยุธยานั้นขาดประสิทธิภาพในการปกครอง ดังปรากฏในบันทึกบาทหลวงฝรั่งเศสว่า "...เกิดเสียงลือกันขึ้นด้วยว่ากองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทยซึ่งได้รับความเดือดร้อน เอาใจออกหาก จากไทยไปเข้ากับพม่า..."[59] ส่วน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวไว้ว่า "...พวกพลทหารพลเมืองอยุทธยาทั้งปวงก็ได้รับความคับแค้นอดอยากคับแค้นอยู่ทุกผู้ทุกคนแล้วจึงได้เข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ที่กองทัพเราทุกวันมิได้ขาด เราก็ได้ทราบกิจราชการของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาหมดแล้ว..."[47]

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

ต่อมาเชลยชาวสยามและชาวยวนนั้น ทางการพม่าได้จัดให้ตั้งบ้านเรือนในตำบลระแหงใกล้คลองชเวตชอง ส่วนตำบลมินตาซุใต้คลองชเวตชองได้ให้เจ้านายยวนและอยุธยาประทับ[60] ซึ่งชุมชนชาวอยุธยานั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรจึงเกิดเป็นย่านโยดะยา, ตลาดโยดะยา และศาลพระรามขึ้นในชุมชน[60] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารโกนบอง ความว่า[61]

"...ครั้นพระเจ้าช้างเผือกอังวะทรงได้อาณาจักรอยุธยาอันไพศาล มีแดนอยุธยา โยนก สมพระทัยแล้ว พระองค์มิได้ทอดทิ้งให้เหล่าพระมเหสี พระราชธิดา พระราชกนิษฐา และพระราชนัดดาของเจ้าพระนครอยุธยาให้ได้ยาก พระองค์โปรดให้กักตัวไว้ให้อยู่แต่บริเวณเรือนภายในราชธานี แล้วมอบหมายให้เหล่าอำมาตย์พม่าเป็นผู้ถวายงานกันไปแต่ละพระองค์ พระราชโอรส พระราชอนุชา และพระราชนัดดาล้วนเป็นชาย พระองค์โปรดจัดที่พำนักในเรือนชั้นนอก และพระราชทานอาหาร เสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภคต้องตามธรรมเนียมไทยจนพอเพียง ขึ้นชื่อว่าอำมาตย์ ผู้ดี ไพร่ ที่เป็นชาวอยุธยา กษัตริย์พม่าโปรดจัดย่านให้ตั้งบ้านเรือนอยู่กินอาศัยสิ้น..."

วัดโยดะยาในป่าช้าล้านช้าง เมืองอมรปุระ ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในจุดถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[62] แต่เป็นที่ถกเถียง เพราะหลักฐานพม่ากล่าวเพียงว่าได้ถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ป่าช้าล้านช้างเท่านั้น[63][64]

เชลยชาวอยุธยาเหล่านี้ได้ตั้งชุมชนตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในเมืองอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ซึ่งมีตั้งแต่บรรพชิต ช่างฝีมือต่าง ๆ นักดนตรี และนาฏกร[13] เจ้านายอยุธยาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากกษัตริย์พม่า[49] โดยสามารถแบ่งเชลยออกเป็นสามกลุ่มหลักดังนี้[24][65]

  1. พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าของกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ พระราชอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระราชภาคิไนย ให้ตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระราชวังหลวงของอังวะ ลูกหลานของเจ้านายเหล่านี้ที่เป็นหญิงได้ถวายตัวเป็นพระสนมของพระมหากษัตริย์พม่า หลายคนเป็นถึงเจ้าจอมมารดา มีเจ้านายสืบเชื้อสายโยดะยาจนถึงรัชกาลพระเจ้ามินดง
  2. พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในของกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา พระราชภาคิไนย และพระสนมประทับอยู่ในพระราชวังหลวงของอังวะ เจ้านายฝ่ายในจำนวนหนึ่งถวายตัวเป็นพระสนมพระมหากษัตริย์พม่า
  3. เชลยสามัญชาวอยุธยา ตั้งบ้านเรือนรอบนอกพระราชวังหลวงอังวะ คนที่ชำนาญเชิงช่างไปอยู่เมืองซะไกง์ เชลยที่ชำนาญด้านการเกษตรไปอยู่เมืองมินบู, ซะเลน และซะกุ ครั้นมีการย้ายเมืองหลวง ชาวโยดะยาก็อพยพตามไปด้วย ทำให้พบชุมชนโยดะยาตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองอังวะ, ซะไกง์, อมรปุระ และมัณฑะเลย์

ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาซึ่งผนวชเป็นสมณเพศนั้นทรงจำพรรษา ณ ตึกปองเล[61] ดังปรากฏใน จารึกเจดีย์ทรายมหาวาลุกะ ความว่า[6][7]

"...ราว พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าช้างเผือก ตั้งพระนครอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อชาวเชลยจากอยุธยา สุโขทัย และเชียงใหม่ถูกจับกุมมาที่นี่ รวมทั้งพระราชวงศ์ ขุนนางต่าง ๆ ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากนครอังวะที่ระแหงและมินตาซุใกล้กับคลองที่เรียกว่าชเวตชอง รวมทั้งเจ้าฟ้าดอก กษัตริย์ผู้ต้องนิราศจากราชบัลลังก์ พระองค์อุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดปองเล และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙..."

ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในสมณเพศจึงกลายเป็นที่พึ่งทางใจของเชลยอยุธยาในพม่ามาแต่นั้น[66] ในรัชกาลพระเจ้าปดุง มีการย้ายราชธานีจากอังวะไปอมรปุระ เชื้อพระวงศ์อยุธยาจึงย้ายไปประทับที่พระราชวังแห่งใหม่ด้วย[67]

ยุคหลังอยุธยา[แก้]

รูปนักแสดงยามะซะตอฝ่ายอสุรพงศ์ช่วงศตวรรษที่ 19
รูปวิถีชีวิตชาวพม่าช่วงศตวรรษที่ 19 เผยให้เห็นชายไว้ผมแกละคนหนึ่ง

ในช่วงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีการก่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ ชาวไทยในปริมณฑลของกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นว่า กำแพงเพชร พิษณุโลก สวรรคโลก และระแหงราวสามแสนคนอพยพไปกรุงอังวะ เพราะได้ยินข่าวลือว่าทหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกสังหารคนตายเกลื่อนท้องนา[66] ในขณะที่เชลยอยุธยาในกรุงอังวะเองก็มิได้ชื่นชมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้เคยเป็นข้าเก่าของกษัตริย์อยุธยาเท่าไร ด้วยเห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากพระนครเพื่อไปตั้งค่ายต่างหาก พวกเขาจึงรู้สึกไม่มั่นใจที่จะกลับไปพึ่งพระบารมีของกษัตริย์ใหม่[66]

ทั้งนี้ยังมีเชลยอยุธยาบางส่วนได้มีโอกาสหวนกลับมาตุภูมิอีกครั้ง ดังกรณีของกรมขุนรามินทรสุดา พระภาติยะในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชซึ่งพลัดพรากบ้านเกิดไปบวชชีอยู่เมืองทวายเนื่องจากตกเป็นเชลย ภายหลังทรงได้รับการช่วยเหลือจากมังจันจ่าสามารถกลับมาตุภูมิได้สำเร็จ[68][69] ส่วนจอห์นและหญิงคนหนึ่งที่ทายาทเป็นชั้นหลานเหลนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่พลัดไปเมืองมะริด อพยพกลับสยามและตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนกุฎีจีน โดยหญิงที่เป็นทายาทเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้นเป็นยายของแองเจลินา ทรัพย์ ภรรยาของโรเบิร์ต ฮันเตอร์[70] และอีกกรณีหนึ่งคือมหาโคและมหากฤชซึ่งกลับมาแผ่นดินไทยหลังพลัดพรากไปสี่สิบปี ต้องทนรอนแรมเดินทางอย่างยากลำบากกลับเข้าไทย โดยกล่าวว่าที่กลับมาแผ่นดินเกิดเพราะ "คิดถึงบ้าน"[71]

แม้จะมีบางส่วนพยายามหาทางกลับมาตุภูมิ แต่ก็มีเชลยอยุธยาจำนวนไม่น้อยที่พึงใจในอิสระเมื่อได้อยู่ในเขตขัณฑ์ของพม่าแม้ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกไปแล้วก็ตาม เพราะพวกเขาสามารถประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงดูตนเอง และมิต้องคอยทำงานถวายแก่เจ้านายสยาม ดังปรากฏใน เอกสารเฮนรี เบอร์นี เล่ม 1 ซึ่งเฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ได้กล่าวถึงเชลยอยุธยาที่อยู่ในพม่า ความว่า[72]

"...นอกจากนี้ข้าพเจ้า [เฮนรี เบอร์นี] ยังเคยได้ยินคนกล่าวว่า ถ้าหากให้เชลยทั้งสอง [คือเชลยพม่าในสยาม และเชลยสยามในพม่า] เลือกตามชอบว่าจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนหรือไม่ ก็จะปรากฏว่าพวกเชลยสยามที่เราจับได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ถูกพม่าจับได้มาแต่ก่อนจะเลือกอยู่ที่เดิมไม่กลับกรุงสยาม เพราะอยู่ที่นั่นต่างก็ทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ แต่ถ้าหากกลับมาอยู่กรุงสยามแล้วต้องทำงานให้แก่เจ้านายหรือแก่พระเจ้าอยู่หัว แต่ในทำนองตรงกันข้าม เชลยพม่าที่ถูกคนสยามจับมาได้ จะอยากกลับไปอยู่กับรัฐบาลอังกฤษด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน..."

เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนประเทศพม่า ทรงพบกับเจ้าหญิงแห่งตะรังงา (Htayanga) พระราชธิดาในพระเจ้ามินดง กับพระนางสุสิริกัลยา ซึ่งสืบสันดานมาจากเจ้านายอยุธยา ตามพระนิพนธ์ในหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ความว่า "...พระองค์หญิงดาราตรัสบอกว่าเธอเป็นเชื้อไทย ด้วยสกุลจอมมารดาของเธอเป็นไทย ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าต้นสกุลเป็นเจ้าชาย [ถูกกวาด] ไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังเยาว์ ถ้าเช่นนั้นคิดตามเวลา พระองค์เจ้าหญิงดาราก็คงเป็นชั้น ๔ หรือชั้น ๕ ต่อมาจากต้นสกุล..."[73][74]

ปัจจุบัน[แก้]

เจ้าหญิงตะรังงา (ที่สี่จากซ้าย) เจ้านายพม่าเชื้อสายโยดะยา ฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2498

ผู้สืบเชื้อสายชาวสยามจากอยุธยาได้กลืนหายไปกับชาวพม่าซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ พวกเขาหันไปใช้ภาษาพม่าและวัฒนธรรมพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวโยดะยาในเมืองซะไกง์ซึ่งนิยมสมรสกับชาวพม่า[75] ส่วนกลุ่มที่อาศัยอยู่ริมคลองชเวตะชองซึ่งอาศัยร่วมกับชาวไทใหญ่, ไทยวน และล้านช้างได้แต่งงานผสมปนเปกัน ปัจจุบันผู้ที่ถือตัวว่าเป็นชาวโยดะยาจะมีเชื้อสายไทใหญ่อยู่ด้วย วัฒนธรรมและวิถีชีวิตก็จะเป็นแบบไทใหญ่มากกว่าโยดะยา[76] ส่วนวัฒนธรรมไทยที่ยังคงดำรงอยู่ในยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้นคือโขนละครในราชสำนัก เช่นรามเกียรติ์และอิเหนา จนได้รับความนิยมในกลุ่มเจ้านายพม่า[77] แต่หลังจากที่พม่าตอนเหนือถูกรวมเข้ากับอังกฤษ คณะละครเหล่านี้ก็แตกฉานซ่านเซ็น บ้างก็ออกไปตั้งคณะละครของตนเอง บ้างก็ไปถวายงานให้เจ้าฟ้าไทใหญ่[78] หรือบางส่วนก็เลิกเป็นละครไปเลย ซึ่งละครเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนสมัยใหม่[78]

นายแพทย์ทินมองจี หนึ่งในลูกหลานโขนละครชาวสยามที่อาศัยในมัณฑะเลย์ มักได้ยินปู่เล่าให้ฟังเสมอว่า "อย่าลืมว่าเธอเป็นคนไทย"[6][7] ขณะที่ดอเนวอู นักข่าวชาวพม่าคนหนึ่ง ก็เคยฟังยายชื่อดอตาวเล่าเรื่องราวเก่า ๆ ว่าตระกูลของตนมีเชื้อสายตูเก๊าหรือผู้ดีจากอยุธยา โดยมีบรรพบุรุษเป็นหญิงชื่อแม่ประดู่[79] ลูกหลานของชาวอยุธยาในพม่านี้ไม่เข้าในลัทธิรักชาติของไทย[80][81] แต่พวกเขายังรำลึกอยู่ว่าไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง[6][7] ลูกหลานอยุธยาสูญหายไปเกือบหมดแล้ว หลายคนย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมและแต่งงานผสมปนเปไปกับชาวพม่า[6][7] คงเหลือแต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไว้ผมจุกและแกละ[2] สถาปัตยกรรมภายในวัด[82] และศาลพระราม[6][7] ขณะที่วัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เพลงโยดะยา, จิตรกรรมโยดะยา และอาหารการกินแบบโยดะยายังคงอยู่ไม่หายไปไหน[83]

ใน พ.ศ. 2373 นายทหารชาวอังกฤษเดินทางไปพบชุมชนชาวโยดะยาขนาดน้อยชื่อบ้านปูเด ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ และพบชุมชนโยดะยาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโมนยวา ซึ่งทั้งสองบ้านนี้มีการก่อสร้างเจดีย์สร้างฐานสูงแคบแบบไทยและแบบไทใหญ่[84] นอกจากนี้ อู้จีโก่ นักวิชาการพม่าได้ค้นพบชุมชนโยดะยาแห่งหนึ่งชื่อบ้านซูกา (มาจากคำบาลีว่า สุขะ) ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2556[2] เดิมเป็นหมู่บ้านของเชลยอยุธยาที่ประดิษฐ์ดอกไม้ไฟ ซึ่งอาจเป็นหมู่บ้านอยุธยาเพียงแห่งเดียวที่ยังรักษาสายเลือดอยุธยาไว้ได้ เพราะตั้งแต่อพยพเข้ามาก็ไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน จะต้องออกเรือนกับคนเชื้อสายโยดะยาด้วยกันเท่านั้น หากไม่สามารถสมรสได้ ก็จะครองโสดอย่างเคร่งครัด ใน พ.ศ. 2565 พบหญิงโยดะยาบ้านซูการาว 40 คน ยังครองตนเป็นโสด[85] หากมีผู้ชายนอกหมู่บ้านเข้ามาในหมู่บ้านจนดึกดื่นก็จะถูกชาวบ้านซูกาปาหินไล่[1] ชาวบ้านที่นี่ยังรักษาคำไทยไว้เป็นภาษาลับสำหรับสื่อสารในชุมชน[2][3] โดยใน พ.ศ. 2560 ยังหลงเหลือบุคคลที่มีเชื้อสายอยุธยาบริสุทธิ์ 35 คน[1] จากจำนวนคนในหมู่บ้านราวสองร้อยคน โดยถือเป็นชาวอยุธยารุ่นที่ 11[2][3] ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือปลูกนาข้าวและถั่ว มีมวนยาเส้นและเย็บปักถักร้อยเป็นอาชีพเสริม[86] ไม่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์[85] ขณะที่กลุ่มชาวโยดะยาบ้านมินตาซุ (ย่านเจ้าฟ้า)[12] ในมัณฑะเลย์มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คนใน พ.ศ. 2557[13] และเมืองซะกุมีชุมชนโยดะยาและไทใหญ่อาศัยร่วมกันชื่อหมู่บ้านไต (ไตคือไท) แต่พูดภาษาโยดะยาหรือไทใหญ่ไม่ได้แล้ว[79] ในงานเขียน "มกุฎราชกุมารเชื้อสายไทย" (A Crown Prince of Thai Origin) ของนายแพทย์ ทินมองจี ระบุว่ายังมีเจ้าหญิงพม่าสองพระองค์ ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าชายทอง (Maung Htaung) พระราชโอรสในพระเจ้าแสรกแมง กับนางอี่ภู่หญิงชาวโยดะยา ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ในย่างกุ้ง[87]

วัฒนธรรม[แก้]

ภาษา[แก้]

แต่เดิมชาวโยดะยาจะใช้ภาษาไทยสำเนียงอยุธยา ซึ่งจะออกเหน่อกว่าภาษาไทยมาตรฐานในปัจจุบัน[88][89] และมีหลักฐานบ่งว่ายังใช้ภาษาไทยพูดอยู่จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[90] มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอยุธยาหลังพระพุทธรูปขนาดน้อยในวัดยาดะนา เมืองอังวะ บันทึกไว้ว่า "ลูกปลีก มีขาพ พราม" แปลว่า "การทำบุญจากหมู่บ้านพะราม" และพบอักษรไทยใต้ภาพนรกภูมิภายในกู่วุดจีกูพญาภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู เขียนอธิบายใต้ภาพไว้ว่า "สังคาตตนรก"[26][27] จากหลักฐานทั้งสอง แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของภาษาและอักษรไทยในขณะนั้น[1] นอกจากนี้ยังมีชาวสยามคนหนึ่งชื่อนายจาดออกจากแผ่นดินสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสอนภาษาไทยแก่บุตรธิดาขุนนางพม่าในรัชกาลพระเจ้ามินดง ดังปรากฏในคำให้การนายจาด[91] ที่ยังระบุว่าในช่วงเวลานั้นยังมีการใช้ภาษาไทยในหมู่พระสงฆ์ แต่พบว่าคนโยดะยาเริ่มพูดไทยไม่ได้แล้ว ดังปรากฏความตอนหนึ่ง ความว่า[76]

"...ข้าพเจ้าได้ขึ้นพักอยู่ที่บ้านเจ้าท่าคืน ๑ รุ่งขึ้นมีพม่าที่เป็นพ่อค้าเศรษฐีแลขุนนางแต่ล้วนเป็นเชื้อชาติไทย พากันมาเยี่ยมเยียน ทักถามข่าวทุกข์แลสุขวันยันค่ำจึงสิ้นคนมาเยี่ยมเยียน ครั้นเวลาค่ำ ๒ ทุ่ม มองสวัสดีเศรษฐีใหญ่ในเมืองพม่า แค่เป็นหลานเหลนเชื้อชาติไทยครั้งกรุงเก่า เอารถเทียมม้าเทศคู่หนึ่งมาเชิญข้าพเจ้าให้ไปอยู่บ้านเขา ข้าพเจ้าก็ไปอยู่บ้านมองสวัสดี ๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ มีพระสงฆ์มาเยี่ยมเยียนทักถามข่าวทุกข์แลสุขโดยภาษาไทยหลายองค์..."

ภาษาไทยของชาวโยดะยายังปรากฏอยู่ในเพลงต่าง ๆ เช่น เพลงเอเอชูเย่ไช ซึ่งเป็นเนื้อเพลงไทยเดิมที่คาดว่าเป็นเพลงเดียวกับฉุยฉาย[92] แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี กลับกลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความเพราะร้องกันปากต่อปากจึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน[93] นอกจากนี้ยังเหลือร่องรอยชื่อสถานที่เป็นภาษาไทยคือทะเลสาบเต๊ตเต (Tet Thay) ในเมืองอมรปุระ มีชื่อเดิมที่เชื่อว่าเป็นภาษาโยดะยาว่า แนก๊กตอ (Ne Kotho) แต่ไม่ทราบคำไทยเดิมหรือทราบความหมาย[6][7] และอีกแห่งคือคลองชเวตาเชา ตั้งอยู่ในอมรปุระเช่นกัน มีชื่อเดิมเป็นภาษาโยดะยาว่าคลองไนกุสน (คลองนายกุศล) เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโยดะยาขนาดใหญ่[83]

ในกาลต่อมาลูกหลานชาวโยดะยาเริ่มละทิ้งภาษาไทยและออกเสียงแปร่ง รับอิทธิพลอย่างสูงจากภาษาพม่าโดยเฉพาะไวยากรณ์[1] การออกเสียงคำศัพท์ก็ต่างออกไปจากภาษาไทยมาตรฐาน แม้จะมีรากศัพท์เดียวกัน[85] ดังกรณีมหาโคและมหากฤช ซึ่งมหาโคเป็นเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าราวสี่สิบปี ส่วนมหากฤชเป็นบุตรชายที่เกิดในพม่า ทั้งสองอพยพกลับเข้ามาแผ่นดินสยามในยุครัตนโกสินทร์ แต่พูดไทยไม่ชัดเจน จนต้องให้ทั้งสองพูดภาษาพม่าแล้วให้ล่ามพม่ามาแปลภาษาให้[71] ล่วงมาในปัจจุบันลูกหลานชาวโยดะยาเลิกใช้ภาษาไทยดังกล่าวไปแล้ว โดยหันไปพูดภาษาพม่าแทน ภาษาไทยจึงมิได้ตกทอดสู่คนรุ่นหลัง ๆ แต่มีชาวโยดะยาบางส่วนที่ยังอนุรักษ์ภาษาไทยเอาไว้ เช่นที่บ้านซูกา (มาจากคำบาลีว่า สุขะ) จะใช้คำศัพท์ของภาษาไทยเป็นภาษาลับใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้าน[2][3] เช่นคำว่า พ่อ เรียกว่าอะบ๊ะ, ขนม เรียกขนม, กล้วย เรียกก้วย, อ้อย เรียกน้าออ, กินข้าว เรียกกินข้าวหรือปุงกิน, น้ำอบ เรียกนะโอบ[1][85] ซึ่งเหลือเพียงคนรุ่นเก่าเท่านั้นที่จะเข้าใจคำเหล่านี้ได้[86] ทั้งนี้พวกเขาไม่สามารถพูดภาษาโยดะยาให้เป็นประโยคได้อีกต่อไป เพราะแทบไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน[2]

ใน พ.ศ. 2359 นายแพทย์แอดอนีแรม จัดสัน (Adoniram Judson) และแอนน์ แฮเซลไทน์ "แนนซี" จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีแบปทิสต์ชาวอเมริกันซึ่งเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในย่างกุ้ง ได้ศึกษาภาษาไทยจากเชลยสยามซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[90] ในเวลาเดียวกันนั้นจอร์จ เอช. ฮอฟ (George H. Hough) ช่างพิมพ์ ได้เข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในประเทศพม่า และได้หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2359 โดยใช้ต้นแบบจากที่นางจัดสันศึกษา ก่อนตีพิมพ์พระกิตติคุณมัทธิวขึ้นแต่บัดนี้ได้สูญหายไปแล้ว ถือได้ว่าชาวโยดะยาในพม่าอาจเป็นผู้ทำให้เกิดตัวพิมพ์อักษรไทยยุคแรก ๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอักษรไทยที่ใช้ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน[90]

ศาสนา[แก้]

ชาวโยดะยานับถือศาสนาพุทธ มีคติความเชื่อที่แตกต่างไปชาวพุทธพม่าทั่วไป เช่น คติการก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นสักการบูชา, คติการสร้างพระเจดีย์สามองค์ และคติการสร้างศาลบูชาพระราม (ต่างจากชาวพม่า เพราะโดยทั่วไปชาวพม่าจะบูชานะ)[6][7][60] ปัจจุบันยังมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนหกของทุกปี ณ ชุมชนระแหงโหม่งตีสุในมัณฑะเลย์ ประเพณีนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระเจ้าปดุงใน พ.ศ. 2325-2329 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้มีเชื้อสายสยามก่อเจดีย์ทรายตลอดริมคลองชเวตชอง[6][7] จะมีการก่อพระเจดีย์สูง 25 ฟุตภายในวันเดียว มีการนิมนต์พระสงฆ์ 54 รูปนั่งบนอาสนะ และพระพุทธรูปหนึ่งองค์ประดิษฐานไว้บนโต๊ะหมู่ ส่วนอุบาสกอุบาสิกาจะถวายเครื่องคาวหวาน และเครื่องไทยทานเบื้องหน้าพระสงฆ์[94] ปัจจุบันมีพระเจดีย์ทรายตั้งอยู่ในมัณฑะเลย์สี่องค์ ได้แก่ตำบลระแหงโหม่งตีสุ, ตำบลดาตัน, ตำบลมินตาซุ และปุเลง่วยยอง[95] ปัจจุบันแม้จะไม่หลงเหลือลูกหลานเชลยอยุธยาแล้ว ชาวพม่าในท้องถิ่นต่างเข้าใจว่าประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวพม่าทั่วไป หากแต่เป็นของชาวโยดะยาในอดีต และพวกเขามีหน้าที่อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป[8] ทุกวันนี้ชาวโยดะยาในมัณฑะเลย์จะพบปะกันเป็นประจำในทุกวันเข้าพรรษา[96]

ชาวโยดะยาในบ้านซูกาเคร่งครัดในศาสนาพุทธอยู่ระดับหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ แต่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทน[85] หลังเรื่องราวของหมู่บ้านชาวโยดะยาเผยแพร่สู่สาธารณชนชาวไทยแล้ว ชาวโยดะยาบ้านซูกามีความประสงค์ที่จะได้พระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ไทยยุคปัจจุบันไปประดิษฐานที่วัดซูกากลางตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดโยงพวกเขาเข้ากับแผ่นดินแม่ ชาวไทยในประเทศไทยจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปโดยจำลองแบบจากพระพุทธชินราชและพระศรีอริยเมตไตรย ก่อนส่งมอบในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และมีโครงการที่จะทอดผ้าป่าให้แก่วัดซูกากลางในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566[97]

ส่วนคติการนับถือศาลพระราม สามารถพบได้ตามชุมชนโยดะยา ซึ่งต่างจากชาวพม่าที่จะบูชานะ สาเหตุที่ชาวโยดะยานับถือพระราม ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเป็นลูกหลานของเชลยโขนละครที่ถูกกวาดต้อนมา ภายในศาลจะมีการบรรจุพระมหาฤๅษีไว้ขวาสุด ตามด้วยพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน พร้อมเครื่องบูชา[6][7][98] ส่วนศาลพระรามในบ้านซูกานั้นยังคงรูปแบบเดียวกับศาลพระภูมิของไทยคือมีเสาเดียว ต่างจากศาลนะของพม่าซึ่งจะมีสี่เสา[1][2] ปัจจุบันในมัณฑะเลย์มีศาลาไหว้ครูเรียกว่ายามะนะกันสำหรับผู้เรียนนาฏศิลป์ใช้สำหรับบูชา ภายในศาลาจะเก็บหัวโขนต่าง ๆ ไว้[85][99] ชาวโยดะยายังคงบูชาพระรามมาจนถึงปัจจุบัน และยังเข้าใจว่าชาวไทยในประเทศไทยก็คงบูชาพระรามด้วย[1]

ชาวโยดะยาหลายคนแปรสภาพตนเองให้กลมกลืนไปกับสังคมพม่า ดังปรากฏความว่า "เมื่อฤดูฝน (พ.ศ. 2274) น้ำ (ในแม่น้ำมยิเงในอังวะ) เซาะพังทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเมืองอังวะพัง ผู้ชำนาญชาวอยุธยาเสกมนต์ให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางแล้วนำทรายขึ้นมาถมฝั่งแม่น้ำตามเดิม"[42][43]

อาหาร[แก้]

ร้านขนมครกแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง

อาหารการกินอย่างอยุธยาที่มีอิทธิพลในอาหารพม่า เช่น ลอดช่อง ขนมครก ข้าวมัน และอาหารที่ใช้กะทิ[99] นอกจากนี้อาหารพม่ายังรับอิทธิพลอื่น ๆ จากอาหารไทยเช่น การใช้น้ำปลา สำรับอาหารประเภทต้มยำ ทั้งยังรับอาหารไทยร่วมสมัยเข้าไปด้วย ซึ่งอาหารเหล่านี้จะถูกปรุงในวาระพิเศษของชุมชนเพื่อถวายพระสงฆ์หรือปรุงขายทั่วไปในตลาดซึ่งมีมานาน[100] อาหารโยดะยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือซุปโยดะยา ซึ่งดัดแปลงจากต้มยำของไทย ถือเป็นอาหารพิเศษที่มีตามร้านอาหารชั้นนำ แต่จากวัตถุดิบในท้องถิ่นและระยะเวลากว่าสามร้อยปี ทำให้อาหารชนิดนี้ต่างไปจากแผ่นดินแม่ โดยมีลักษณะคล้ายแกงจืดไข่น้ำ มีรสเปรี้ยวนำ เค็มตาม และเผ็ดเล็กน้อย[101] และมีอาหารพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากเชลยโยดะยาอีกได้แก่ คะโนนโดะ (ခနုံထုပ်), ชเวยีนเอ้ (ရွှေရင်အေ), โหมะน์และส้อง (မုန့်လက်ဆောင်း) และโหมะน์ตี (မုန့်တီ)[102] โดยโมะน์ตีแบบอยุธยา (ယိုးဒယားမုန့်တီ) พบได้เฉพาะบ้านมินตาซุ เมืองมัณฑะเลย์[103] โดยเฉพาะโหมะน์และส้องซึ่งตกทอดจากลอดช่องในสมัยอยุธยา ถือเป็นของหวานที่หารับประทานได้ทั่วไป[104]

ในชุมชนโยดะยาบ้านซูกายังคงรักษาการทำขนมแบบไทยไว้ อย่างเช่น ขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โรยด้วยถั่วบด น้ำตาล หน้าตาคล้ายครองแครงกรอบ[86] ขนมทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งโรยด้วยมะพร้าวขูดฝอยลักษณะใกล้เคียงกับขนมต้มขาว[86] และขนมอีกชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งปั้นเป็นวงกลม ก่อนนำไปทอดคล้ายขนมวง เรียกว่ามงรัดเกล้า รับประทานเคียงกับน้ำจิ้มรสออกหวาน[86] และจะรับประทานมะม่วงสุกหวานในตอนท้าย[86]

ส่วนชุมชนโยดะยาในมัณฑะเลย์ยังทำขนมไทยออกขาย เป็นต้นว่าขนมครก ลอดช่อง และหม้อแกง[13]

นาฏกรรม[แก้]

ยามะซะตอซึ่งได้รับการตกทอดจากเชลยอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2310

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 พม่าได้กวาดต้อนเชลยศึกฝีมือดีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นช่างฝีมือต่าง ๆ นางละคร และนักดนตรีเพื่อมาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของพม่า บรรดาเชื้อพระวงศ์อยุธยาที่เบื่อหน่ายชีวิตในราชธานีได้ริเริ่มคณะละครแบบไทยขึ้นจนเป็นที่นิยมยิ่งในราชสำนักพม่า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การร่ายรำอันเก่าแก่ของอยุธยา และโรงละครโอ่โถงงดงาม เป็นที่สะดุดตาของเจ้านายพม่าในความแปลกแต่น่าหลงใหล ส่งผลให้ละครสยามเป็นที่นิยมในชนชั้นปกครอง[105] นาฏกรรมของเชลยโยดะยาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของพระองค์เจ้าประทีป พระราชธิดาในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามังระ ขอแสดงนาฏศิลป์อยุธยาถวายพระราชสวามี พระเจ้ากรุงอังวะทรงสนพระทัยมาก จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าเบญวัยและนายจะ เจ้าเมืองอมรวดี (ปัจจุบันคือเมียวดี) ศึกษานาฏศิลป์อยุธยาจากเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ฝ่ายในอยุธยาผู้เก่งกาจด้านนาฏกรรม[106]

แต่เดิมการแสดงแบบโยดะยาจะใช้ภาษาไทยและชาวอยุธยาในการแสดงเท่านั้น ดังข้อมูลจาก อู้นุ เจ้ากรมมหรสพของพม่า รายงานไว้ว่า "...สมัยรัชกาลพระเจ้าช้างเผือก การแสดงละครโยดะยาก็ล้วนแต่ใช้ชาวโยดะยาแท้ ๆ แสดงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนางสีดาหรือบุษบาก็ล้วนเป็นนางเอกชาวโยดะยา ทั้งยังใช้บทร้องบทเจรจาซึ่งเป็นภาษาโยดะยาอีกด้วย ซึ่งบรรดาผู้ชมทั้งหลายเข้าใจก็แต่เพียงท่าทางมือแขนและสีหน้าที่แสดงออกเท่านั้นไม่มีอะไรไปมากกว่านี้..."[107] ครั้นรัชสมัยพระเจ้าจิงกูจา มีกวีเอกคนหนึ่ชื่ออู โท เขียนบทกวีเรื่องรามเกียรติ์ด้วยภาษาพม่าอันไพเราะอ่อนหวาน ต่อมาพระนางตะเคง พระมเหสีเอกผู้เป็นกวี ทรงส่งเสริมการแสดงพระรามชาดกหรือยามะซะตอในราชสำนัก ทรงเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนางสีดา จากเดิมที่นุ่งผ้าอย่างชาวสยามเปลี่ยนเป็นใส่เสื้อทับแขนยาวแบบพม่าและนุ่งผ้าทะเมงแทน โดยให้เหตุผลว่าการนุ่งผ้าแบบอยุธยานั้นดูไม่เป็นผู้หญิงเท่าที่ควร[108] ต่อมาในสมัยพระเจ้าบาจีดอได้มีการแปลบทละครสยามเรื่องอิเหนา เกิดเป็นละครคู่แข่งกับพระรามชาดก แต่พระรามชาดกก็ยังเป็นที่นิยม[109] กระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้ามินดงผู้เคร่งครัดในพระศาสนา การแสดงละครถูกมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จึงเสื่อมความนิยมไปแต่นั้น[110]

ในบันทึกของบาทหลวงซันแกร์มาโน (Sangermano) ชาวอิตาลี ผู้พำนักในพม่าช่วง พ.ศ. 2281-2351 อธิบายถึงการร่ายรำไว้ว่า "...ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นนักรำเหล่านี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นกลุ่มของคนวิกลจริตเสียอีก..."[111] และบันทึกการเดินทางของมาร์ควิสและมาร์เชอนิสแห่งดัฟเฟอรินและอังวะเมื่อ พ.ศ. 2428 กล่าวถึงการแสดงพระรามชาดก ความว่า "...เจ้าชายนักรบแห่งยุคมหากาพย์ [คือพระราม] แต่งกายด้วยอาภรณ์รัดตัวด้วยเครื่องประดับที่เป็นประกายวาววับ มีผ้าที่จีบอย่างน่าประหลาดตรงช่วงขาทั้งสอง สวมชฎาที่มีทรงประหนึ่งมงกุฎหรือเจดีย์..."[111]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ เที่ยวเมืองพม่า ทรงอธิบาย "เพลงโยเดีย" และ "รำอย่างโยเดีย" ไว้ว่า "...เล่าถึงวิธีรำอย่างโยเดีย ซึ่งเขาจะเล่นให้ฉันดูในวันนั้น แล้วกลับเข้าไปนั่งเตียง พวกนางกำนัลก็ลุกขึ้นรำเข้ากับร้องเพลง "โยเดีย" การที่รำฟ้อนเข้ากับร้องเพลงโยเดีย เห็นจะซักซ้อมกันในตอนกลางวันวันนั้นหลายเที่ยว ตัวนางระบำสัก ๑๐ คน ต้องมีนางผู้ใหญ่ที่เป็นครูออกมายืนกำกับและร้องนำอยู่ในวงด้วย เพลงที่ร้องก็สังเกตได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยจริง เพราะเพลงพะม่ามักมีทำนองกระโชกไม่ร้องเรื่อยเหมือนเพลงไทย [...] มองโปซินรำท่าพระรามถือศรมีกระบวนเสนาตาม มองโปซินรำคนเดียวเป็นท่าเดินนาดกรายเข้ากับจังหวะปี่พาทย์ ดูก็พอสังเกตได้ว่าเป็นท่าละครไทย เพราะช้ากว่าและไม่กะดุ้งกะดิ้งเหมือนละครพะม่า..."[112]

ส่วนอานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยา คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงยามะซะตอว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับนาฏศิลป์ไทยมาก ดังปรากฏความว่า "ท่วงท่าวิจิตรอ่อนช้อยแบบนี้ ค่อนข้างจะแตกต่างจากระบำพม่าที่คุ้นเคย ซึ่งการตั้งวง และการจีบแบบนี้ สะท้อนความเป็นนาฏศิลป์อยุธยาได้อย่างชัดเจนมาก เพราะในรูปแบบของพม่าจะมีลักษณะการรำที่เป็นเหลี่ยมมากกว่า จะไม่เป็นวงโค้งแบบนี้"[106]

ปัจจุบันการแสดงนาฏกรรม พระรามชาดก และ อิเหนา ยังคงดำรงอยู่ในประเทศพม่า โดยการแสดง พระรามชาดก ยังแสดงโดยคณะละครโขนโยดะยาที่เมืองพยาโปนจัดหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทงของไทย ส่วน อิเหนา เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุด ชะแลเปียวอวาไน โดยจะมีการขับร้องประกอบเครื่องดนตรีมัตตาลา (คล้ายระนาดเอก) กับซองเกาะ (พิณแบบพม่า)[113]

ดนตรี[แก้]

วงดนตรีและนักแสดงยามะซะตอช่วงศตวรรษที่ 19
วงดนตรีและนักแสดงช่วงศตวรรษที่ 19 สังเกตนักดนตรีเด็กคนท้ายไว้ผมจุก

ในพงศาวดารฉบับอูกาลา และพงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวไว้ตรงกันว่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้มีนักแสดงและนักดนตรีอยุธยาเข้ามาในหงสาวดีแล้วในเวลานั้น หลังสิ้นรัชกาลดังกล่าวก็ปรากฏว่าดนตรีอยุธยาถูกบรรเลงร่วมกับดนตรีประเภทอื่น ๆ ในพระราชพิธีต่าง ๆ[23] มีการใช้เครื่องดนตรีจากอยุธยา 7 ชิ้น รวมกันเป็นมหรสพเรียกว่า "โยดะยาซายง์" ซึ่งมีร่องรอยการผสมวงปี่พาทย์ตามขนบอยุธยาตอนปลาย[114]

โดยปรกติแล้วในราชสำนักพม่าจะใช้นักแสดงและนักดนตรีมืออาชีพชาวอยุธยาในการแสดง โดยมีบทเพลงและบทเจรจาเป็นภาษาไทย ทว่าผู้ชมชาวพม่านั้นมีความประสงค์จะรับฟังเป็นภาษาพม่าเพื่ออรรถรส ใน พ.ศ. 2332 พระเจ้าปดุงทรงตั้งกรรมการแปลงานเหล่านี้โดยเฉพาะ มีการแปลงบทเพลงรามเกียรติ์และอิเหนาเป็นภาษาพม่า แต่มีบทเพลงจำนวนแปดเพลงที่เจ้าชายเปียงสี (Pyinhsi) พระราชโอรสทรงนิพนธ์ตามทำนองเพลงอยุธยา[115] (ส่วนชื่อในวงเล็บอ้างจากโยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง)[92] ได้แก่

คำขึ้นต้นภาษาพม่า ชื่อไทย เทียบคำไทย
ยเวตานยา สยานเตง
Frangtin
ฝรั่งเต้น (พยันติน)
เนงยวนคาเหมาน เคะโมง
Khemun
แขกมอญ
ตอตองชเว คเมง
Khamein
เขมร (ขมิ้น)
ตอมะเยงเชลาน ทเน้า
Tanauk
ท่านอก (ตะนาว)
ปานมะเยงเล ปเยงชา
Flengchaa
เพลงช้า
คายปานโซง ทดวน
Htatunt
โทน (ทบทวน)
มอโยงเหโวง ชวนชาน
Chut Chant
ฉุยฉาย (เชิดฉาน)
มายมอนพยา อูเซะ
Ngusit/Ngu Ngi
งูเง็ก (งุหงิด)

ในจำนวนนี้มีสองเพลงเท่านั้นที่เป็นเพลงไทยคือเพลงฝรั่งเต้นและเพลงช้าจากการสอบเนื้อร้องเมื่อ พ.ศ. 2493 ส่วนใน บทเพลงพม่ายุคจารีตฉบับที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐให้จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2497 โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานกล่าวไว้ว่า[115]

"แม้ว่าเราเคยใช้คำว่า ฝรั่งเต้น, แขกมอญ, เขมร, ท่านอก, เพลงช้า, ฉุยฉาย, ญญิต ตั้งแต่วันวานตราบเท่าทุกวันนี้ แต่คำเหล่านี้นอกจากจะมิได้ปรากฏในพจนานุกรมไทยแล้ว คนไทยระดับผู้นำยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากยกเว้นเพลงช้าและฝรั่งเต้นแล้ว คำเหล่านี้ไม่ใช่คำในภาษาไทย และแม้แต่คำที่เหมือนกับคำยืมก็มิได้มีปรากฏในพจนานุกรมภาษาไทยเช่นกัน ดังนั้น จึงได้เลี่ยงการใช้คำเหล่านี้ในบทที่ว่าด้วยเพลงไทย"

ขณะที่งานวิจัย โยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชล และปัญญา รุ่งเรืองอธิบายว่าเพลงโยธยามีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โกนบอง พบร่องรอยเพลงที่ใช้ทำนองและภาษาไทยคือเพลงเอเอชูเย่ไชหรือฉุยฉาย ส่วนเพลงไทยที่ใช้บทขับร้องเป็นภาษาพม่า ได้แก่ เพลงพยันติน, แขกมอญ, ขมิ้น, ตะนาว, เพลงช้า, ทบทวน, เชิดฉาน, งุหงิด, กะบี่ และมโหตี และพบว่าเพลงโยธยากับดนตรีไทย มีจังหวะและทำนองสม่ำเสมอเชื่อมโยงกัน[92]

ทั้งนี้เพลงเอเอชูเย่ไช (Ei Ei Chu Yei Chai) เป็นเพลงไทยเดิม มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี ก็กลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความหมาย เพราะร้องกันปากต่อปากมาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน[93] จากงานวิจัยของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง พบว่าตรงกับเพลงฉุยฉายของไทย[92]

นอกจากนี้เพลงโยดะยายังส่งผ่านจากพม่าเข้าสู่ราชสำนักเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่จะเรียกเพลงดังกล่าวว่า "เพลงม่าน" ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาหรือการฟ้อนก่ำเบ้อ มนตรี ตราโมทเคยวิจารณ์ทำนองเพลงของการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาไว้ว่า "…ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มา แต่จะมีสำเนียงแบบพม่า..."[116][117]

สถาปัตยกรรม[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปสิบสองนักษัตรตามคติอยุธยาที่เจดีย์เจาก์ตอจี
รูปแกะสลักครุฑยุดนาคศิลปะผสมที่พระอารามบากะยา

หลังการกวาดต้อนเชลยสยามเข้ามาในแดนพม่า เชลยหลายคนเป็นช่างฝีมือขั้นสูงได้ฝากผลงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาทิ้งไว้ ดัง พ.ศ. 2134 ในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงโปรดให้รื้อประตู รวมทั้งหอป้อมข้างบนประตูออก แล้วสร้างใหม่ตามอย่างอยุธยา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจสร้างโดยเชลยผู้มีฝีมือเชิงช่างจากอยุธยา[42][118] ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังแบบอยุธยาส่งอิทธิพลในแผ่นดินพม่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 ในแถบเมืองซะไกง์ มีนบู และมัณฑะเลย์[119]

โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของช่างอยุธยาในพม่าคือ การใช้สีแดงชาดในจิตรกรรม, การใช้เส้นสินเทาหรือแถบหยักฟันปลาคั่นภาพ, ลายพรรณพฤกษาหรือลายกระหนกแบบอยุธยา, ภาพเครื่องทรงหรือลักษณะของเทพนม, ลักษณะของภาพเรือนยอดหรือเจดีย์ทรงเครื่องอย่างอยุธยา, ภาพพระพุทธเจ้าและเทวดาที่มีพระพักตร์อย่างอยุธยา ซึ่งลักษณะเหล่านี้สามารถเทียบเคียงกับศิลปกรรมช่วงปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยพุทธศตวรรษที่ 22-24 ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย[26][27] จากการสำรวจใน พ.ศ. 2550 พบว่าศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบอยุธยาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 24[120] ปรากฏอยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น พะโค, ซะไกง์, อังวะ, อมรปุระ, มินบู, เซกู, โมนยวา และมัณฑะเลย์[26] ทั้งยังพบว่าศิลปกรรมอย่างไทยนั้นได้รับความนิยมอย่างยิ่ง[121] ก่อให้เกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีในการสร้างจิตรกรรม ศิลปกรรมอย่างไทยสู่ช่างพื้นเมืองชาวพม่า[120] โดยพบหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงอิทธิพลของช่างจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่คำบอกเล่า สมุดดำ จิตรกรรมฝาผนัง งานปูนปั้นประดับผนัง งานแกะสลักเครื่องไม้ และงานจำหลักหินทราย[26][27] และยังหลงเหลือสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาในพม่า ได้แก่

  • เจดีย์เจาก์ตอจี (Kyauktawgyi Pagoda) เมืองอมรปุระ มีภาพจิตรกรรมบนเพดานและฝาผนัง แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวพม่าและชาวโยดะยา[6][7][2] และภาพเทพพนม[121] ปัจจุบันภาพลบเลือน และบางส่วนถูกทาสีทับ[86]
  • วัดมหาเตงตอจี (Maha Thein Taw Gyi Temple) เมืองซะไกง์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอยุธยาอย่างชัดเจน รวมทั้งภาพพระพุทธรูปขัดสมาธิศิลปะไทย[6][7][2][13] แต่ปัจจุบันจิตรกรรมบางส่วนถูกปูนโบกทับไปแล้ว[2][122] รวมทั้งมีความเสียหายของภาพที่เกิดการจากการรั่วซึมของหลังคา[121]
  • วัดเยตาพันจอง (Yethaphan Kyaung Temple) หรือวัดมะเดื่อ[123] เมืองอังวะ พบว่าเบื้องหลังพระพุทธรูป มีการแกะสลักลวดลายกระหนกแบบอยุธยา[14] และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้มะเดื่อฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[123]
  • พระอารามบากะยา (Bagaya Monastery) เมืองอังวะ มีรูปแกะสลักครุฑยุดนาคศิลปะผสมไทย-พม่า[86][121][124]
  • วัดยาดะนา (Yadana Temple) เมืองอังวะ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยช่างพม่า[121] เช่น ก่อสร้างด้วยไม้ วิหารก่อด้วยอิฐและเสาปูนแบบอยุธยา และฐานชุกชีศิลปะผสมไทย-พม่า[86]
  • เจดีย์จุฬามณี ภายในวัดร้างแห่งหนึ่งในเมืองอังวะ มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุม มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมไทย[26][27]
  • กู่วุดจีกูพญา ภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู พบจิตรกรรมอยุธยาภายในกู่ทั้งเก้าห้อง[24][120]
  • พบงานศิลปกรรมอยุธยาภายในวัดแห่งหนึ่งที่เมืองซะเลน[24]
  • ภาพจำหลักหินเรื่องรามเกียรติ์ เมืองโมนยวา ศิลปกรรมอย่างไทยโดยฝีมือช่างพม่า[120]
  • แผ่นแกะสลักเครื่องไม้ภายในพระราชวังหงสาวดี เมืองพะโค ลักษณะลายกระจัง ใกล้เคียงกับลายกระจังบุษบก[26][27]

ปัจจุบันชาวโยดะยาในหมู่บ้านซูกายังคงรักษารูปแบบการสร้างบ้านแบบเรือนไทยยกใต้ถุน มีชานพัก มียุ้งข้าว ต่างไปจากรูปแบบการตั้งเรือนของชาวพม่า[86] พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่บ่งถึงอิทธิพลของอยุธยาได้ โดยสังเกตได้จากยอดพระเกศ และพระนลาฏ ซึ่งต่างออกไปจากพระพุทธรูปแบบพม่า[85] รวมทั้งยังมีการตั้งศาลพระรามทำนองเดียวกับศาลพระภูมิตามคติไทยคือมีเสาเดียว[1][2]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

  • เรื่องสั้น ผมเป็นคนโยเดีย (พ.ศ. 2530) เขียนโดยเสนีย์ เสาวพงศ์ มีเนื้อหากล่าวถึงผู้เขียนขณะเป็นทูตอยู่ในประเทศพม่า ระหว่างที่เขากำลังนั่งดื่มกาแฟ ก็มีเด็กที่กำลังเตะฟุตบอลอยู่วิ่งเข้ามาหาพร้อมกับพูดภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่นว่า "ผมเป็นคนโยเดีย ผมอยากพบคุณ" จากเขาก็วิ่งกลับไปเตะบอลต่อ เสนีย์ก็นิ่งไป[125]
  • ภาพยนตร์ สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์ (พ.ศ. 2545) กำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นเรื่องราวของกล่อมและเนียนสามีภรรยาเชลยโยดะยาที่ถูกต้อนไปเมาะตะมะ ทว่ากล่อมตายระหว่างการสู้รบที่ลำน้ำกษัตริย์ เนียนจึงออกตามหาสามีแต่กลับถูกโจรป่าขืนใจจนตายที่ลำน้ำกษัตริย์ หลังจากนั้นเนียนกลายเป็นวิญญาณไปสิงในร่างเสือและรอการกลับมาของชายคนรัก[126]
  • ภาพยนตร์ ถึงคน..ไม่คิดถึง (พ.ศ. 2559) กำกับโดยชาติชาย เกษนัส เป็นเรื่องราวของปิ่น หญิงชาวไทยที่พบจดหมายของย่าที่เป็นชาวพม่า เธอจึงเดินทางตามร่องรอยแห่งรักต่างชนชั้นของย่าที่ประเทศพม่า ณ ที่นั่นทำให้เธอพบว่าตัวเธอมีเชื้อสายพม่า[127] และเธอพบชายชราชาวโยดะยาคนหนึ่งที่อยู่พม่ามานานจนไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าตนคิดถึงประเทศไทย[128]
  • นวนิยายเรื่อง Irrawaddy เกลียวกระซิบ (พ.ศ. 2561) เขียนโดยพงศกร จินดาวัฒนะ เป็นเรื่องราวของมินมิน หญิงเชื้อสายโยดะยารุ่นที่สิบ ที่ย้อนเวลากลับไปเมื่อ พ.ศ. 2310 ไปพบกับเจ้าหญิงดาราซึ่งเป็นเจ้าหญิงโยดะยาในพม่า การกระทำของเจ้าหญิงในอดีตจะส่งผลต่อมินมินในยุคปัจจุบัน[129]
  • ละครโทรทัศน์ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (พ.ศ. 2565) กำกับโดยชาติชาย เกษนัส เป็นเรื่องราวของนุชนาฏ หญิงไทยที่ไปทำงานในย่างกุ้งและล้มป่วยจากเนื้องอกในสมอง วันหนึ่งเธอซื้อหนังสือ อิเหนาฉบับพม่า ไปอ่านและร่ายรำตามภาพในหนังสือ เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าตนเองไปอยู่ในร่างของปิ่น สาวใช้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนางรำหลวงในราชสำนักเจ้านายฝ่ายในโยดะยา[130][131]

ชาวโยดะยาที่มีชื่อเสียง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

เอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมด้วยภาพเขียน บันทึกโดยจอ เทง ราชเลขาธิการและพระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง บันทึกไว้ว่า

"ในรัชกาลสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [คือพระเจ้ามังระ] เมืองรัตนปุรตติยธานี [อังวะ] ไปตีกรุงศรีอยุธยา สามารถตีกรุงศรีอยุธยาและจับพระมหากษัตริย์อัญเชิญมาที่พม่า ในรัชสมัยของพระอนุชาในสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [พระเจ้าปดุง] สมัยอมรปุระ เสด็จมาประทับที่อมรปุระและสวรรคตในสมณเพศ ทำพิธีพระศพและถวายพระเพลิงที่สุสานลินซิงกง ภาพนี้คือพระเจ้าเอกาทัสส์"

โดยวทัญญู ฟักทอง และ รศ ดร. ศานติ ภักดีคำสรุปว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตามที่เอกสารกล่าวไว้ ณ เบื้องต้น[24][132] ส่วนทิน มอง จี, มิกกี ฮาร์ต และปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส (ซึ่งน่าจะอ้างอิงจากมิกกี ฮาร์ต) อธิบายว่าภาพดังกล่าวนี้น่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมากกว่า ด้วยมองว่าอาจะเป็นความผิดพลาดของผู้เขียนที่จดพระนามผิด เพราะสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มิได้สวรรคตในสมณเพศที่พม่า[6][7][133][134]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: สายเลือดอโยธยา ?". ไทยพีบีเอส. 8 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 "รอยเวลา....มัณฑะเลย์". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 8 Aug 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "250 ปี..จิตวัญญาณไทย "ชีวิตสายเลือดโยเดีย" วิถีในเมียนมา..ไม่สาบสูญ". เดลินิวส์. 23 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "การสำรวจพื้นที่ในการจัดกิจกรรมความร่วมมือด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และโครงสร้างพระอุโบสถวัดมหาเต็งดอจี การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมา และการจัดการแสดงนาฏดุริยางคศิลป์ ณ เมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกาย". กลุ่มแผนงาน โครงการและวิเทศสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.
  5. "โครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี". ตระเวนข่าวออนไลน์. 25 Mar 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-20. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (1 Oct 2012). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-20. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (23 Dec 2016). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 นภัทร อุทัยฉาย. "ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชุมชนเมงตาสุและโมงติสุ เมืองมัณฑะเลย์ : ร่องรอยเชลยไทยสมัยอยุธยา". เนชั่นเนลจีโอกราฟิก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-08. สืบค้นเมื่อ 28 Jan 2018.
  9. วทัญญู ฟักทอง (7 Feb 2018). "'สุสานลินซินโกง' เป็นสุสานของใครและเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพรอย่างไร?". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 7 Feb 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ย้อนเส้นทางสถูป 'พระเจ้าอุทุมพร' ปมปัญหาที่รอเวลาแก้ไข !?!". ไทยรัฐออนไลน์. 20 May 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "'สถูปพระเจ้าอุทุมพร' จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า". คมชัดลึก. 6 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 "มีสถูปกษัตริย์อยุธยาอยู่ในเมียนมาร์จริงหรือ?". วอยซ์ทีวี. 31 Oct 2013. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 ผกามาศ ใจฉลาด (13 Mar 2014). "พบ 3 ปมปริศนา แกะรอยชาว 'อยุธยา' ในพม่า". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 14.2 Sirinya Wattanasukchai (2 May 2013). "On the walls in Mandalay". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 18 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "Maha Gita or Classical Music of Myanmar". Myanmar Travel Information (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-02. สืบค้นเมื่อ 2 Jun 2022.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก, หน้า 64-66
  17. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 47-48
  18. วิรัช นิยมธรรม. "โยดะยา นั้นหรือคือ "ผู้แพ้" : หากจะคิดแย้งพม่าด้วยมุมมองทางภาษา". Myanmar Studies Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-09. สืบค้นเมื่อ 10 Sep 2021.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 บรรจบ พันธุเมธา (2524). อันเนื่องด้วยชื่อ ชื่อไทยน้อยไทยใหญ่ (PDF). p. 4.
  20. กรกิจ ดิษฐาน (23 Jul 2018). "ออกพระจักรีจึงเป็นตัวแทนของโยดะยาที่คบได้ ไม่กลิ้งกลอก ภักดีต่อนายพม่า แต่คนไทยคงไม่ชอบเราถือหลักฐาน". Gypzy World. สืบค้นเมื่อ 19 Dec 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก, หน้า 67
  22. กระดานทองสองแผ่นดิน, หน้า 98-99
  23. 23.0 23.1 เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 141
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 24.5 ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (5 มีนาคม 2561). "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด: จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 72-92
  25. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 49
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 26.5 26.6 อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (9 กรกฎาคม 2561). "อิทธิพลอยุธยา งานศิลปะในความทรงจำของช่างเลือดผสม". ศิลปวัฒนธรรม. (39:9), หน้า 24-30
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (20 Jul 2018). "อิทธิพลศิลปะอยุธยาในความทรงจำของช่างเชื้อสาย "โยเดีย"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 Jul 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. "สิงห์ที่วัดพระมหามัยมุนี". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-20. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.
  29. รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. "ช้างเอราวัณที่วัดพระมหามัยมุนี". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-21. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.
  30. ปิ่น บุตรี (11 Jul 2013). ""พระมหามัยมุนี" พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 239
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 74-75
  33. 33.0 33.1 ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 242-243
  34. 34.0 34.1 ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 80-81
  35. บรรจบ พันธุเมธา (2524). อันเนื่องด้วยชื่อ ชื่อไทยน้อยไทยใหญ่ (PDF). p. 3.
  36. ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 243
  37. ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 84
  38. ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 246
  39. ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 85
  40. วัทญญู ฟักทอง (25 Feb 2019). "แกะรอย "โยดะยา" ในอาณาจักรยะไข่โบราณ". จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-14. สืบค้นเมื่อ 14 Jun 2020.
  41. ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม. (26:4), หน้า 94
  42. 42.0 42.1 42.2 ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 247
  43. 43.0 43.1 ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 87-89
  44. สามกรุง, หน้า 121-122.
  45. A history of Thailand, หน้า 23.
  46. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. หน้า 1.
  47. 47.0 47.1 47.2 ปรามินทร์ เครือทอง (22 Feb 2017). "พม่า Shutdown กรุงศรี ใครหนี ใครสู้ ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 Feb 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  48. "Salvaging a lost king". History of Ayutthaya (ภาษาอังกฤษ). 2013. สืบค้นเมื่อ 18 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  49. 49.0 49.1 49.2 ปรามินทร์ เครือทอง (20 Sep 2016). "ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  50. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 1135
  51. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 106
  52. เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค, หน้า 108
  53. จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (26 Sep 2017). "สนทนาเรื่องศาสนาพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า กับพราหมณ์ตรัณ บุรณศิริ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.
  54. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 31
  55. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 174
  56. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 32
  57. หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 96
  58. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 87
  59. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 77
  60. 60.0 60.1 60.2 หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 97
  61. 61.0 61.1 หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 99-100
  62. หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 105
  63. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 137
  64. ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (12 ตุลาคม 2561). "ตามทางทัพพม่าคราวเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 (ตอนจบ) จากอังวะสู่อมรปุระและสวรรคตในหลักฐานพม่า". ศิลปวัฒนธรรม. (39:12), หน้า 28
  65. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 123-127
  66. 66.0 66.1 66.2 โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 156
  67. "ตามรอย 'พระเจ้าอุทุมพร' และเชลยกรุงศรีฯ ถูกกวาดต้อนไปกรุงรัตนปุระอังวะ-อมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. 19 May 2020. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  68. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์., หน้า 189-190
  69. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (13 Mar 2001). "พระสัมพันธวงศ์เธอ". สกุลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-13. สืบค้นเมื่อ 24 Feb 2014.
  70. "ทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน". โพสต์ทูเดย์. 29 Mar 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-04. สืบค้นเมื่อ 7 Jun 2020.
  71. 71.0 71.1 กิเลน ประลองเชิง (28 Nov 2013). "คำให้การมหาโค". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  72. "ฝรั่งอ้าง "เชลยสยาม" ยอมตกเป็นเชลยของพม่าดีกว่ากลับมาเป็นไพร่รับใช้นายที่เมืองตัวเอง". ศิลปวัฒนธรรม. 2 Aug 2016. สืบค้นเมื่อ 3 Feb 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  73. เที่ยวเมืองพม่า, หน้า 239
  74. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  75. ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 194
  76. 76.0 76.1 ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 132
  77. Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 115
  78. 78.0 78.1 Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 130
  79. 79.0 79.1 "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: แม่ประดู่และผู้ดีแห่งมินบู". ไทยพีบีเอส. 11 Aug 2018. สืบค้นเมื่อ 18 Aug 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  80. ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 247
  81. ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 89
  82. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, รศ. ดร. และภภพล จันทร์วัฒนะกุล (18 Jan 2010). "หมู่บ้านเชลยไทย สมัยอยุธยา". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-17. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
  83. 83.0 83.1 "250 ปีปัจฉิมกาลอยุธยา: มิกกี้ ฮาร์ท สำรวจหลักฐานชุมชนชาวสยามและพระเจ้าอุทุมพรที่พม่า". ประชาไท. 4 Apr 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  84. ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 197-198
  85. 85.0 85.1 85.2 85.3 85.4 85.5 85.6 "คนไทยในเมียนมา ณ หมู่บ้านสุขะ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไทย (บางอย่าง) ไว้จนปัจจุบัน". แนวหน้า. 15 Oct 2022. สืบค้นเมื่อ 22 Apr 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  86. 86.00 86.01 86.02 86.03 86.04 86.05 86.06 86.07 86.08 86.09 "เที่ยวพม่าแบบอันซีน ตามรอยชาวโยเดียที่สาบสูญสู่แผ่นดินเมียนมา". ชิลไปไหน. 19 Jan 2018. สืบค้นเมื่อ 13 May 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  87. "มกุฎราชกุมารพม่าที่พระมารดาเป็นคนไทยจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2". ศิลปวัฒนธรรม. 28 Apr 2021. สืบค้นเมื่อ 2 May 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  88. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "สำเนียงไทยสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์กับปัญหาสำเนียงสุพรรณบุรี สำเนียงหลวงหรือพูดเหน่อ". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 229-230
  89. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 206
  90. 90.0 90.1 90.2 อักษรไทยมาจากไหน ?, หน้า 137-138
  91. พม่ารบไทย, หน้า 126
  92. 92.0 92.1 92.2 92.3 Suradit Phaksuchon; Panya Rungrueang. "Yodaya: Thai Classical Music in Myanmar Culture". MANUSYA : Journal of Humanities (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 1 Mar 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  93. 93.0 93.1 เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 145-146
  94. หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 103
  95. หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้า และสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 106
  96. ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 197-202
  97. ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ (19 May 2023). "ฟื้นฟู "สายใยโยเดีย" (โยดะยา:อยุธยา) ในเมียนมา". ไทยพับลิก้า. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  98. "สถูปปริศนาแห่งอมรปุระ". ไทยพีบีเอส. 16 Jan 2013. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  99. 99.0 99.1 โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 166
  100. องค์ บรรจุน, ดร. (6 เมษายน 2562). "ข้างสำรับพม่า : ส่วนผสมของครัวมอญ จีน อินเดีย และฝรั่ง". ศิลปวัฒนธรรม. (40:6), หน้า 32
  101. องค์ บรรจุน, ดร. (6 เมษายน 2562). "ข้างสำรับพม่า : ส่วนผสมของครัวมอญ จีน อินเดีย และฝรั่ง". ศิลปวัฒนธรรม. (40:6), หน้า 43-44
  102. "မန္တလေးက ခနုံထုပ်". The Voice (ภาษาพม่า). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-18. สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.
  103. ဘိုဘို (2019-02-22). "မန္တလေးမှာ ယိုးဒယားမုန့်တီ လစဉ်လုပ်စားသူ မိသားစု". BBC (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.
  104. ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 211
  105. Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 113-115
  106. 106.0 106.1 ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ (31 Aug 2017). "'เพลงโยทยา' นาฏศิลป์อิงเมือง อีกจิตวิญญาณอยุธยาในเมียนมา". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  107. สิทธิพร เนตรนิยม (Jan–Jun 2019). ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา : อิทธิพลนาฏกรรมพม่าในสังคมไทย ศึกษาวิเคราะห์ความหมายของชื่อชุดการแสดง บทขับร้อง และโครงสร้างของทำนองเพลง. วารสารไทยคดีศึกษา (16:1). p. 63.
  108. Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 117
  109. Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 119
  110. Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 123
  111. 111.0 111.1 Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 112
  112. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๑๐ เรื่องเที่ยวเมืองแปร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  113. PLOY (25 Jan 2022). "นาฏศิลป์และการละครที่ปรากฏอยู่ใน "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี"". ALTV. สืบค้นเมื่อ 3 Jun 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  114. "ไทย-พม่า กับความสัมพันธ์ด้าน "นาฏกรรม" ที่หยิบยืมกันไปมา". ศิลปวัฒนธรรม. 16 Apr 2020. สืบค้นเมื่อ 12 Jun 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  115. 115.0 115.1 เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 143-144
  116. สนั่น ธรรมธิ (30 Oct 2008). "นาฏดุริยการล้านนา - ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา หรือฟ้อนก่ำเบ้อ". คลังเอกสารสาธารณะ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-16. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.
  117. จักรพงษ์ คำบุญเรือง (29 Nov 2017). "ฟ้อนพื้นเมืองเชียงใหม่". เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  118. ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 86
  119. อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (08 กุมภาพันธ์ 2022). "อิทธิพลศิลปะอยุธยาตามเมืองต่าง ๆ ในความทรงจำของช่างเชื้อสาย "โยเดีย"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2023. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  120. 120.0 120.1 120.2 120.3 อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (2010). ช่างอยุธยาในเมืองพม่ารามัญ. สมาคมอิโคโมสไทย. ISBN 978-616-90599-0-5.
  121. 121.0 121.1 121.2 121.3 121.4 ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ (18 Aug 2017). "สัมผัส 'ป๊อปปูลาร์' ในพม่า กว่า 250 ปี 'ศิลปะโยเดีย'". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 27 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  122. "โบกปูนทับจิตรกรรมสมัยอยุธยา". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 4 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  123. 123.0 123.1 วิภา จิรภาไพศาล (5 Mar 2018). "ตามรอย 'สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร' จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  124. "เที่ยวมัณฑะเลย์ ตามรอยชาวโยเดียที่เมืองสกายน์". ไทยโพสต์. 6 Jul 2018. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  125. Bioscope Magazine (16 Nov 2016). "แด่ เสนีย์ เสาวพงศ์ แรงบันดาลใจในหนัง From Bangkok to Mandalay". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-14. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
  126. "ความพร่าเลือนของรัฐ-ชาติ และความทับซ้อนของศาสนา ใน 'สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์'". คนมองหนัง. 4 Oct 2016. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  127. "เรื่องย่อ "FROM BANGKOK TO MANDALAY ถึงคน…ไม่คิดถึง"". ไทยพีบีเอส. 23 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  128. ""ถึงคน..ไม่คิดถึง" มองความสัมพันธ์ "ไทย-พม่า" ในมุมใหม่ๆ". คนมองหนัง. 28 Nov 2016. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  129. "Irrawaddy เกลียวกระซิบ". อ่านเอา. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  130. "ละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี". ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 17 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  131. วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส (7 Feb 2022). "เข้าใจไทย-พม่าด้วยมุมมองใหม่ ผ่านความละเมียดละไมของละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี". The Standard. สืบค้นเมื่อ 17 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  132. "แปล พาราไบเก ฟันธงไม่ใช่ พระเจ้าอุทุมพร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 12 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.[ลิงก์เสีย]
  133. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 154
  134. "ยันเดินหน้าอนุสรณ์สถาน 'พระเจ้าอุทุมพร' แม้ถูกระงับ!". ไทยรัฐออนไลน์. 20 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.

บรรณานุกรม[แก้]

  • กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559
  • จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556
  • ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2541.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, กาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ). 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2564
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (เขียน), ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ). อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560
  • นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559
  • ปรีดี พิศภูมิวิถี. กระดานทองสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
  • พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2553
  • พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. สามกรุง. พระนคร : คลังวิทยา, 2511
  • มิคกี้ ฮาร์ท. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2561
  • ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?. กรุงเทพ : มติชน, 2548
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทย มาจากไหน ?. กรุงเทพ : มติชน, 2548
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์, รศ. ดร. (บรรณาธิการ). พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
  • องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
  • Baker, Chris, Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press.