ไทยใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไทยใต้
คนใต้
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ไทย ประเทศไทย (ภาคใต้)
มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย (รัฐเกอดะฮ์, รัฐปะลิส, รัฐเปรัก และรัฐปีนัง)
ประเทศพม่า ประเทศพม่า (ภาคตะนาวศรี)
ภาษา
ไทยถิ่นใต้
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ส่วนน้อยศาสนาอิสลาม
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยสยาม · มอญ · ไทยเชื้อสายมลายู · มาเลเซียเชื้อสายสยาม (ซัมซัม· ไทยเชื้อสายจีน · พม่าเชื้อสายไทย

ชาวไทยใต้[1] เอกสารเก่าเรียก ชาวนอก[2][3][4][5] ส่วนชาวมลายูเรียกว่า ชาวสยาม (เซียม ในภาษามลายู และ ซีแย ในภาษามลายูปัตตานี)[ก] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู พบได้ทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ชาวไทยใต้ตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา และบางอำเภอในจังหวัดปัตตานี และชาวไทยใต้ตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร[1] ทั้งยังพบชุมชนชาวไทยใต้ในบางพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์[8] ทางตอนใต้ของภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า[9] และทางภาคเหนือของรัฐปะลิส รัฐเกอดะฮ์ รัฐเปรัก และรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ชาวไทยใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และยึดอาชีพทำไร่ ทำสวน และประมงเป็นหลัก[1]

ประวัติ[แก้]

จากการศึกษาของรองศาสตราจารย์ ดร. วิภู กุตะนันท์ พบว่า ดีเอ็นเอของชาวไทยสยามในภาคกลางกับชาวไทยใต้ คล้ายกับดีเอ็นเอของชาวมอญ อีกทั้งชาวไทยสยามและชาวไทยใต้บางส่วนยังมีดีเอ็นเอตรงกับชาวอินเดียตอนใต้ อันแสดงถึงการผสมผสานทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 600-700 ปีก่อน ซึ่งตรงกับยุคอาณาจักรอยุธยา[10] การติดต่อกับชนต่างชาติของชาวไทยใต้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ภาคใต้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเดินเรือในมหาสมุทร เชื่อมต่ออารยธรรมระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก[11] ด้วยเหตุนี้ชาวไทยใต้จึงมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับหลายชนชาติ เช่น มลายู จีน อินเดีย อาหรับ เขมร และชนพื้นเมืองอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายู[1][3]

ปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียและอาหรับในภาคใต้ ก่อน พ.ศ. 700 หรือราว 2,000 ปีก่อน ชนกลุ่มนี้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาโซโรอัสเตอร์ มุ่งการค้าขายแถบบริเวณปากแม่น้ำ[12] ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 16 มีชาวมลายูจากเกาะสุมาตราและหมู่เกาะอื่น ๆ อพยพเข้าสู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย ยังหลงเหลืออิทธิพลของวัฒนธรรมลายูอยู่ดาษดื่น เช่น ภูมินาม ศาสนสถาน และประเพณีของชาวมลายูพุทธ ยังตกทอดอยู่ในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน[13] เบื้องต้นอาณาจักรสุโขทัยเริ่มขยายอิทธิพลลงสู่หัวเมืองภาคใต้เมื่อช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[14] ตำนานนครศรีธรรมราช อ้างว่า มีการส่งเจ้าเมืองชาวไทยไปปกครองเมืองตานี (ปัตตานี) เมืองสาย (สายบุรี) เมืองกลันตัน เมืองปะหัง เมืองไทร (เกอดะฮ์) และเมืองอะแจ (อาเจะฮ์)[15]

ครั้นในระยะต่อมาชาวไทยใต้และบ้านเมืองถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา และเริ่มรับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองราชธานี จึงรับเอาประเพณีจากศูนย์กลางเข้ามาปรับใช้โดยแฝงเข้ามาในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ และศาสนาพุทธ[16] โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ได้ยกเลิกเจ้าประเทศราช แล้วส่งขุนนางจากหัวเมืองเหนือเข้าไปปกครอง ซึ่งพบหลักฐานศิลาจารึกในยุคดังกล่าว ถูกบันทึกด้วยอักขรวิธีอย่างคนจากหัวเมืองเหนือ[17] การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชาวไทยและมลายูยังคงดำเนินต่อไป[15] และจากสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยา กับรัฐสุลต่านซิงกอรา และอาณาจักรปัตตานี ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรไปมาจากการเป็นเชลยสงครามอยู่เสมอ ดังพบว่ามีชุมชนชาวไทยอยุธยาตั้งบ้านเรือนในเมืองปัตตานี[18]

วัฒนธรรม[แก้]

มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ ที่มีสำเนียงห้วนสั้น และคำศัพท์บางคำเป็นของตนเอง แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นกลาง ด้านอาหารโดดเด่นด้านความเผ็ดร้อน เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา น้ำบูดู ข้าวยำ คั่วกลิ้ง และผักเหนาะ[1] และยังมีศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียง เช่น มโนราห์ ละครชาตรี ละครนอก และโขนละครวังพระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว[4][19] ด้วยเหตุนี้ชาวไทยใต้จึงถูกเรียกว่า ชาวนอก มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา ด้วยมองว่าเป็นคนต่างชาติต่างภาษากับกลุ่มไทยสยาม[3][4]

การแสดงมโนราห์

ความเป็นอื่นของคนไทยใต้ยังปรากฏให้เห็นจากทัศนะของคนไทยสยามจากภาคกลางในยุคก่อน สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงบันทึกถึงชาวนอกไว้ว่า "...พูดภาษาไทยก็เป็นเสียงชาวนอกแลมักมีกิริยาขึงขังแข็ง…ท่าทางเป็นคนเรียบร้อย หงิม ๆ และเป็นคนมีกิริยาโบราณ แลกิริยาป่า ๆ ..."[5] ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยถึงเรื่องนี้ว่า "...เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังไม่ได้สาบสูญ คงเป็นบ้านเมืองอยู่บัดนี้ และเป็นชาติไทยแท้ ยังหลงไปว่าเป็นชาวนครชาวนอก นับเข้าใน 12 ภาษาได้..."[3] ส.พลายน้อย อ้างถึงเอกสารเก่า ที่ระบุถึง "คนสี่จำพวก" ที่โบราณถือว่าเป็นคนโกงคบไม่ได้ ได้แก่ โค ขะ ละ สุ โดยได้ขยายความว่า โค คือโคราชหรือนครราชสีมา ขะ คือ เขมร ละ คือลคร หมายถึงนครศรีธรรมราช และ สุ หมายถึงสุพรรณบุรี โดยอธิบายเฉพาะคนนครไว้ว่า พูดกำกวมเก่ง หากฟังโดยไม่เฉลียวก็ว่าคนนครโกหก อย่างไรก็ตาม ส.พลายน้อย แสดงทัศนะว่าไม่ควรเหมารวมว่าคนเมืองนั้นไม่ดีหรือคบไม่ได้ เพราะทุกเมืองย่อมมีทั้งคนที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป[20] ในยุคหลังก็ยังให้คำอธิบายเกี่ยวกับอุปนิสัยของชาวไทยใต้ว่า "...หยิ่งในศักดิ์ศรี ชอบประพฤติตนเป็นคนหน้าใหญ่ใจเติบ เป็นคนกว้างขวาง พูดจาไม่มีหางเสียงห้วน ๆ รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง ทันคน..."[11]

ศาสนา[แก้]

ชาวไทยใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[1] แต่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู ศาสนาผี ศาสนาอิสลาม เคร่งครัดในจารีตทางเพศสภาพ ทั้งยังรับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังจากเขมร ชวา มลายู อินเดีย และจีน[11] มีขนบธรรมเนียมประเพณีเฉพาะตน เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีห่มผ้าขึ้นธาตุ และประเพณีชักพระ[1] ชาวไทยใต้ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีตายาย หมอครูมโนราห์ และพระเกจิที่มีชื่อเสียงในศาสนาพุทธ[5] โดยมีการแบ่งตามการนับถือศาสนาออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มชาวไทยพุทธตั้งแต่จังหวัดชุมพร ลงไปจนถึงจังหวัดพัทลุง และสงขลา ส่วนชาวไทยมุสลิม คือบริเวณจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ไปจนถึงนราธิวาส[16]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ในภาษามลายูปัตตานี คำว่า ซีแย (سيٍّي) แปลว่า "คนสยาม" หรือ "ไทยพุทธ"[6][7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ (2555). รักษ์วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ (PDF). ปทุมธานี: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก. p. 12.
  2. อุดมสมบัติ (จัน), หลวง. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ. พระนคร : ศิวพร. 2505, หน้า 136
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สุจิตต์ วงษ์เทศ (9 สิงหาคม 2561). "ชาวนอกอยู่ภาคใต้ คนเมืองในอยู่ภาคกลาง". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 วันพระ สืบสกุลจินดา (23 เมษายน 2566). "เจาะลึกโขนละคร วังพระเจ้านครศรีธรรมราช จากกรุงธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย (7 กุมภาพันธ์ 2555). "ตัวตนของคนใต้". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. นูรียัน สาแล๊ะ (เมษายน–กันยายน 2549). ลักษณะ "ความเป็นมลายู" ที่ปรากฏในเรื่องสั้นไทยฝีมือชาวใต้ (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 1(1). p. 121–123.
  7. เกรียงไกร เกิดศิริ, ดร. และคณะ (2560). "ความเป็นมลายู" ความหมายที่สัมพัทธ์กับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา รัฐ และความรู้สึก (PDF). ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย. p. 32–33.
  8. ฉันทัส ทองช่วย, ดร. (17 ตุลาคม 2561). "ภาษาไทยถิ่นใต้: ความหลากหลายและประสานกลมกลืน". สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. วรพจน์ วิเศษศิริ และคณะ (2565). "การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยของคนไทยพลัดถิ่นบ้านสิงขร มณฑลตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา". มหาวิทยาลัยนเรศวร. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "วิภู กุตะนันท์ พบคำตอบ 'คนไทยมาจากไหน' บนเกลียวดีเอ็นเอ". The Momentum. 29 ธันวาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย (1 กุมภาพันธ์ 2555). "คนใต้มาจากไหน?". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ครองชัย หัตถา (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558). พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (PDF). สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 15(1). p. 10.
  13. ครองชัย หัตถา (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558). พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (PDF). สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 15(1). p. 11.
  14. ชัยวิวัฒน ลาไป (12-18 กรกฎาคม 2547). "ภาคใต้ในอดีต". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. 15.0 15.1 ครองชัย หัตถา (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558). พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (PDF). สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 15(1). p. 13.
  16. 16.0 16.1 "ประเพณีราษฎร์ภาคใต้". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 6 มิถุนายน 2559. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. ชะเอม แก้วคล้าย (17 ตุลาคม 2018). "พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้". สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2021.
  18. ครองชัย หัตถา (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558). พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (PDF). สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 15(1). p. 14-15.
  19. สุจิตต์ วงษ์เทศ (5 มกราคม 2566). "โนราภาคใต้ ไปจากภาคกลาง สมัยอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 348-349