เนมิราช
นิมิ (สันสกฤต: निमि) หรือไทยมักเรียก เนมิราช ถือกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรวิเทหะหรือมิถิลา เป็นพระโอรสของพระเจ้าอิกษวากุ เป็นพระเจ้าหลานเธอของพระเจ้ามนูไววัสวัต และเป็นเชื้อสายของพระเจ้าชนก[1]
เอกสารฮินดู
[แก้]พฤหัทวิษณุปุราณะ[2] และ วิษณุปุราณะ[3] กล่าวว่า พระเจ้าเนมิราชเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งวิเทหะ
ตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเนมิราชทรงบูชายัญ โดยเชิญฤษีวสิษฐะมาเป็นประธาน แต่ฤษีกำลังบูชายัญถวายพระอินทร์อยู่ จึงทูลว่า จะมาได้หลังจากบูชายัญให้พระอินทร์เสร็จแล้ว ขอให้พระเจ้าเนมิราชทรงรอก่อน พระมหากษัตริย์เสด็จจากไปโดยมิได้ตอบประการใด ฤษีวสิษฐะจึงเข้าใจว่า พระองค์ทรงยินดีที่จะรอ
แต่เมื่อฤษีเสร็จพิธีบูชายัญถวายพระอินทร์ และรุดไปยังปะรำพิธีของพระเจ้าเนมิราช ปรากฏว่า พระเจ้าเนมิราชทรงเริ่มพิธีของพระองค์ไปแล้ว ฤษีจึงโกรธและสาปพระมหากษัตริย์ว่า ให้ทรงพ้นจากร่างสังขารบัดเดี๋ยวนั้น พระเจ้าเนมิราชจึงพ้นออกจากพระวรกายขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ ไปประทับอยู่กับพระอินทร์ถึง 9,000,000 ปี จนพิธียัญของพระเจ้าเนมิราชบนโลกมนุษย์นั้นดำเนินไปลุล่วง เหล่านักบวชจึงร้องขอเทวดาให้ส่งพระเจ้าเนมิราชกลับสู่พระกาย พระเจ้าเนมิราชจึงได้สู่พระนครและครองแผ่นดินโดยธรรมต่อไปอีก 84,000 ปี
เอกสารพุทธ
[แก้]เอกสารฝ่ายพุทธเอ่ยถึงพระเจ้าเนมิราชแห่งวิเทหะซึ่งเสด็จท่องไปในสวรรค์และนรกด้วยราชรถวิเศษ เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาอันเป็นเอกสารภาษาบาลีหลังสมัยพระไตรปิฎก[4] ความว่า พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง พระนามว่า มาฆเทวะ รับสั่งให้ช่างตัดพระเกศาทูลพระองค์ทันทีที่เห็นพระเกศาหงอกขาว ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่พบได้ทั่วไปในวรรณกรรมอินเดียโบราณ[5] อันย้อนหลังไปถึงแนวคิดอินเดียโบราณเรื่องช่วงเวลาของชีวิต[6] ต่อมา เมื่อช่างเห็นพระเกศาหงอกเป็นเส้นแรกจึงทูลพระองค์ให้ทรงทราบ พระเจ้ามาฆเทวะจึงทรงสละราชสมบัติออกไปผนวชเป็นฤษี โดยรับสั่งให้พระโอรสประพฤติเยี่ยงอย่างพระองค์เมื่อเกศาแรกหงอก เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้ามาฆเทวะก็ได้ประสูติใหม่ในเทวโลก ทรงเห็นลูกหลานของพระองค์ประพฤติเยี่ยงอย่างพระองค์สืบ ๆ มา ภายหลัง พระเจ้ามาฆเทวะทรงจุติลงมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในราชวงศ์เดิมของพระองค์ มีพระนามว่า เนมิราช พระเจ้าเนมิราชทรงปกครองไพร่ฟ้าเรื่อยมา จนกระทั่งพระอินทร์ ซึ่งฝ่ายพุทธมักเรียก ท้าวสักกะ อัญเชิญให้เสด็จไปเที่ยวท่องสวรรค์และนรกด้วยราชรถวิเศษที่มีช่างตัดพระเกศากลับชาติมาเกิดเป็นสารถี ตอนจบของเรื่อง มีการระบุว่า พระเจ้ามาฆเทวะหรือเนมิราชก็คืออดีตชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า ส่วนช่างตัดพระเกศาหรือสารถีเป็นอดีตชาติหนึ่งของพระอานนท์ ศิษย์คนสนิทของพระพุทธเจ้า[7]
เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในเอกสารต้นพุทธกาลหลายฉบับ ทั้งในพระไตรปิฎกและเอกสารหลังสมัยพระไตรปิฎก[8][9] นักวิชาการยังเปรียบเทียบเรื่องพระเจ้าเนมิราชกับมหากาพย์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่อง อินเฟอร์โน ของดันเต อาลีกีเอรี[10][8]
เอกสารเชน
[แก้]เอกสารของศาสนาเชนมีเรื่องของพระมหากษัตริย์พระนาม นามิ ซึ่งเนื้อหาคล้ายคลึงกับในเอกสารของศาสนาพุทธ[11]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Anthropology of Ancient Hindu Kingdom. Author – Makhan Jha
- ↑ Brihad Vishnupurana in Mithila Mahatma Khand
- ↑ Vishnupurana, Book IV
- ↑ Appleton 2016, pp. 139–40, 164 n.9.
- ↑ Bloomfield, Maurice (1916). "On Recurring Psychic Motifs in Hindu Fiction, and the Laugh and Cry Motif" (PDF). Journal of the American Oriental Society. 36: 57–8. doi:10.2307/592669.
- ↑ Appleton 2016, p. 140.
- ↑ Appleton 2016, p. 139, 165 n.14.
- ↑ 8.0 8.1 Analayo, Bhikkhu (2017). "The Repercussions Of Lack Of Proper Governance" (PDF). ใน Mahinda, D. (บ.ก.). Justice and Statecraft: Buddhist Ideals Inspiring Contemporary World. Nāgānanda International Buddhist University. pp. 126–7.
- ↑ Appleton 2016, p. 139.
- ↑ Rhys Davids, C. A. F. (15 March 2011). "Review: The Jātaka, or Stories of the Buddha's Former Births. Vol. VI. Translated by E. B. Cowell and W. H. D. Rouse, M.A., Litt.D. Cambridge, 1907". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain & Ireland. 40 (2): 595. doi:10.1017/S0035869X00080837.
- ↑ Appleton 2016, p. 140–1.