โหมะน์ตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โหมะน์ตี
โหมะน์ตีแบบยะไข่
มื้ออาหารเช้าหรือเที่ยง
แหล่งกำเนิดประเทศพม่า
ภูมิภาครัฐยะไข่ และภาคมัณฑะเลย์
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องอาหารพม่า
ส่วนผสมหลักข้าวเจ้า, เนื้อปลา, กะปิ, ตะไคร้, พริกไทย, กระเทียม, พริก, กระเทียมเจียว, ผักชี
จานอื่นที่คล้ายกันขนมจีน

โหมะน์ตี (พม่า: မုန့်တီ ออกเสียง: [mo̰ʊ̯ɰ̃.tì]) เป็นอาหารพม่าชนิดหนึ่ง มีวัตถุดิบหลักเป็นเส้นแป้งหมักคล้ายกับเส้นขนมจีนของประเทศไทย โหมะน์ตีในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะและวัตถุดิบที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะโหมะน์ตีแบบยะไข่ได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนโหมะน์ตีแบบมัณฑะเลย์ก็เป็นโหมะน์ตีที่มีชื่อเสียงมากเช่นกัน อย่างไรก็ตามโหมะน์ฮี่นก้าของเมืองมะละแหม่ง หรือข้าวเส้นของเมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นอาหารที่มีลักษณะใกล้เคียงกันก็อาจถูกเรียกแทนว่าโหมะน์ตีได้[1][2]

ความหลากหลาย[แก้]

  • โหมะน์ตีแบบยะไข่ (ရခိုင်မုန့်တီ) คือโหมะน์ตีของรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า มีสองรูปแบบคือแบบน้ำกับแบบแห้ง แบบน้ำทำจากซุปใส่ปลายอดจากแห้ง หอมเจียว กระเทียม ผักชี พริกแดงและพริกหนุ่ม โรยหน้าด้วยอะจอ ทอดมัน หรือแคบหมู ส่วนแบบแห้งคือนำวัตถุดิบโหมะน์ตีมายำแล้วใส่น้ำพริกหนุ่ม ทำให้โหมะน์ตีแบบแห้งนี้มีสีออกเขียว[3]
  • โหมะน์ตีแบบมัณฑะเลย์ (မန္တလေးမုန့်တီ) หรือ น่านจี้โตะ (နန်းကြီးသုပ်) คือโหมะน์ตีของเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งมีวัตถุดิบหลักเป็นเนื้อสัตว์ ต่างจากแบบยะไข่ที่จะใช้ปลาทะเล เส้นที่ใช้มีลักษณะกลมหนา เรียกว่า น่านจี้ เนื้อสัตว์นำมาทำเป็นน้ำราด พร้อมใส่ผงมาซาลา ถั่วลูกไก่ และน้ำมันต่าง ๆ เพื่อแต่งกลิ่นและรสชาติ เมื่อจะรับประทานให้ตักน้ำแกงราดบนเส้น โรยหน้าด้วยหอมเจียว ต้นหอม ถั่วลูกไก่บด ผักชี และไข่ต้ม[3]
  • โหมะน์ตีแบบทวาย (ထားဝယ်မုန့်တီ) หรือ ดะแวโหมะน์และโตะ (ထားဝယ်မုန့်လတ်သုပ်) คือโหมนะน์ตีของเมืองทวาย ทางภาคใต้ของประเทศพม่า[4] น้ำราดทำจากปลากุเราสี่หนวดหรือปลาดุกต้มกับน้ำตาลโตนดและกะทิ เมื่อเสิร์ฟจะนำน้ำราดมาราดบนเส้น ก่อนโรยหน้าด้วยมุรุกกุ[4]
  • โหมะน์ตีแบบคอเต่าง์ (ခိုတောင်မုန့်တီ) เป็นโหมะน์ตีที่เรียกตามชื่อหมู่บ้านขนาดเล็กแห่งหนึ่งในภาคซะไกง์[5] ใช้เส้นกลมใหญ่แบบน่านจี้โตะ น้ำราดทำจากหัวปลาและลูกชิ้นปลา[6] ใส่หัวไชเท้าดอง ถั่วแขก กะหล่ำปลีสับ แป้งถั่วลูกไก่ และน้ำมันกระเทียม โรยหน้าด้วยอะจอ ลูกเนียง และทอดมัน[6][7] มีมุขปาฐะว่าพระมเหสีนางหนึ่งของพระเจ้ามินดงที่กำลังทรงพระครรภ์ มีพระประสงค์ที่จะเสวยกิมิชาติ ชาวบ้านคอเต่าง์จึงทำเส้นโหมะน์ตีให้มีขนาดกลมใหญ่หนาเหมือนหนอน กลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษ[6]
  • โหมะน์ตีแบบตองอู (တောင်ငူမုန့်တီ) เป็นโหมะน์ตีของเมืองตองอู ลักษณะเป็นยำเส้น เสิร์ฟพร้อมน้ำแกงโหมะน์ฮี่นก้า มะเขือเทศดิบหั่น ถั่วแขกหั่น โรยหน้าด้วยถั่วลูกไก่ทอด และกระเทียมเจียว[8]
  • โหมะน์ตีแบบย่างกุ้ง (ရန်ကုန်မုန့်တီ) เป็นโหมะน์ตีของเมืองย่างกุ้ง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแบบยะไข่เป็นอย่างมาก หากแต่ต่างตรงที่จะเติมน้ำมันลงไปมากกว่า
  • โหมะน์ตีแบบโยดะยา (ယိုးဒယားမုန့်တီ) เป็นโหมะน์ตีของเชลยจากอาณาจักรอยุธยาในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 น้ำราดทำจากปลาแทนเนื้อสัตว์ นำเส้นขนมจีนมาหั่นเป็นชิ้นคลุกเข้ากับน้ำมันขมิ้น เสิร์ฟพร้อมหอมเจียวและถั่วฝักยาวดิบ[9] ส่วนโหมะน์ตีแบบโยดะยาที่ย่านมินตาซุ เสิร์ฟพร้อมกับแป้งถั่ว กุ้งแห้ง และน้ำเกรวีเข้มข้น[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. "မော်လမြိုင် မုန့်ဟင်းခါး (သို့) မော်လမြိုင် မုန့်တီ". MyFood Myanmar (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  2. "ကျိူင်းတုံ ခေါက်ဆင့် (ရှမ်းမုန့်တီ)". MyFood Myanmar (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  3. 3.0 3.1 "5 เมนูกินเส้นชาวเมียนมา ตามรอยจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี". ALTV. 9 มกราคม 2565. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "ထားဝယ်မုန့်တီ (ခေါ်) ထားဝယ်ရိုးရာ မုန့်လတ်သုပ်". MyFood Myanmar (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  5. "Must Eat Dishes In Mandalay". Yangon Life (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  6. 6.0 6.1 6.2 ယဉ်ယဉ်နှောင်း (2017-04-22). "ခိုတောင်ရွာက မုန့်တီ". The Voice Myanmar (ภาษาพม่า). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  7. "Our favourite Myanmar journeys". Frontier Myanmar (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-10-27. สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  8. "တောင်ငူမုန့်တီသုပ်". MyFood Myanmar (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2021-01-09.
  9. 9.0 9.1 ဘိုဘို (2019-02-22). "မန္တလေးမှာ ယိုးဒယားမုန့်တီ လစဉ်လုပ်စားသူ မိသားစု". BBC (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.