พระศรีอริยเมตไตรย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระศรีอริยเมตไตรย | |
---|---|
รูปหล่อพระศรีอริยเมตไตรย จากวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี | |
สันสกฤต | मैत्रेय (ไมเตฺรย) |
บาลี | เมตฺเตยฺย |
พม่า | အရိမေတ္တေယျဘုရား (Arimeiteiya Bhura) |
จีน | 彌勒菩薩 (Mílè Púsa) |
ญี่ปุ่น | 弥勒菩薩 (Miroku Bosatsu) |
เกาหลี | 미륵보살 (Mireuk Bosal) |
มองโกเลีย | ᠮᠠᠶᠢᠳᠠᠷᠢ᠂ ᠠᠰᠠᠷᠠᠯᠲᠣ; Майдар, Асралт; Mayidari, Asaraltu |
ฉาน | ဢရီႉမိတ်ႈတေႇယႃႉ |
ไทย | พระศรีอริยเมตไตรย, พระศรีอาริย์ |
ทิเบต | Byams Pa |
เวียดนาม | Di-lặc (Bồ Tát) |
ข้อมูล | |
นับถือใน | เถรวาท, มหายาน, วัชรยาน |
พระลักษณะ | ผู้มีมหากรุณาแก่สรรพสัตว์ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระศรีอริยเมตไตรย[1] หรือพระเมตไตรย (บาลี: Metteyya, เมตฺเตยฺย; สันสกฤต: मैत्रेय, ไมเตฺรย) หรือที่นิยมเรียกว่า พระศรีอาริย์ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้สลดใจกับความชั่วก็หันมารวมกลุ่มกันทำความดี จากนั้นอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี แล้วจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป ลงมาตรัสรู้เป็น พระเมตไตรยพุทธเจ้า[2]
พุทธพยากรณ์
[แก้]พุทธพยากรณ์เกี่ยวกับ พระศรีอริยเมตไตรย พบในงานเขียนของทุกนิกายของศาสนาพุทธ ดังเช่น หลักฐานจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตรซึ่งเป็นพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยถือกันว่ารักษาเนื้อหาได้สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทุกนิกาย ดังนี้[3]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตถาคตเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้ แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้นฯ
ประวัติ
[แก้]บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เมื่อย้อนไปในยุคของพระสิริมัตตพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรยเสวยพระชาติเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าสังขจักรแห่งนครอินทปัตต์ วันหนึ่งทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาใกล้ ๆ เมืองอินทปัตต์ทรงดีพระทัยยิ่งจึงรีบเสด็จไปด้วยพระบาท หนึ่งวันพระบาททั้งสองก็แตกช้ำ วันที่สามพระชงฆ์ก็แตกยับพระโลหิตนอง วันที่สี่ไม่สามารถเสด็จต่อไปได้แต่ด้วยพระวิริยะและจิตมุ่งมั่นที่จะเข้าเฝ้าจึงกระเถิบไปด้วยพระอุระ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณทิพย์ จึงทรงจำแลงพระวรกายมาเป็นมาณพหนุ่มขับเกวียนมา จะพาพาไปถึงที่พำนักของพระพุทธเจ้า พระอินทร์ และมเหสีทั้งสี่ได้แปลงเป็นหญิงชาย นำห่อข้าวทิพย์และน้ำทิพย์มาให้เสวย
เมื่อพระองค์หายบอบช้ำจึงเสด็จไปในพระวิหาร เพียงแรกพบพระพุทธเจ้าก็ทรงสลบลงด้วยความปลื้มปิติ เมื่อฟื้นพระวรกายจึงตรัสว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า" และมิได้ตรัสอะไรได้อีกด้วยความยินดีพระทัย พระองค์ขอสดับธรรมของพระพุทธเจ้าเพียงบทเดียวเพราะไม่มีสิ่งใดถวายบูชาพระธรรมเทศนา จึงทรงตัดพระเศียร (ศีรษะ) ด้วยพระนขา (เล็บ) ถวายเป็นพุทธบูชา
การตรัสรู้
[แก้]พระประวัติของพระเมตไตรยที่มีบันทึกในเอกสารต่าง ๆ เช่น อนาคตวงศ์ สรุปได้ว่า พระโพธิสัตว์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาถือปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์ ในครรภ์ของนางเมตไตรย ภรรยาของสุพรหมพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าสังขจักร แห่งเกตุมดีนคร เมื่อประสูติได้มีนิมิต 32 ประการแล้ว ก็บังเกิดปราสาท 3 หลังเพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อพระชนมายุ 8,000 ปี ทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง 4 จึงทรงพอพระทัยในการบวช เสด็จขึ้นไปสู่ปราสาท ปราสาทก็ลอยขึ้นสู่อากาศ มาลงที่ใกล้โพธิมณฑล ท้าวมหาพรหมอัญเชิญอัฏฐบริขารมาถวาย พระโพธิสัตว์ทรงเอาพระขรรค์แก้วตัดพระเมาลี ทรงรับเครื่องอัฏฐบริขารที่ท้าวมหาพรหมนำมาถวาย ผนวชแล้วบำเพ็ญเพียร มีคนบวชตามเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ในปฐมยาม ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณในมัชฌิมยาม ทรงทำให้แจ้งทิพยจักษุญาณในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาปัจจยาการ 12 ประการ ในเวลารุ่งอรุณ ทรงบรรลุซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใต้ต้นกากะทิง
พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า มีพระฉัพพรรณรังสีจากพระวรกาย ทำให้สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ บริโภคข้าวสาลีที่เกิดจากพระพุทธานุภาพ
ยุคพระศรีอารย์
[แก้]พระศรีอริยเมตไตรยจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาในอนาคต โลกนี้จะมีความสงบสุข และพระศาสนาจะมีความรุ่งเรืองกว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าในองค์ปัจจุบันนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า และประชาชนจะมีความสุขอย่างยิ่ง คือจะไม่มีเรื่องร้อนใจเลย ทุกคนพอใจในความเป็นอยู่ ไม่มีการเบียดเบียน ตอนนอนไม่ต้องปิดประตูก็ได้ บ้านเลยไม่ต้องทำประตูก็ได้ เรื่องคนร้าย หรือขโมยก็ไม่ต้องกลัว แล้วก็คนจะเป็นคนดีเหมือนกันหมด ไม่มีคนพาล จนกระทั่งลงจากบ้าน ก็ไม่มีใครจำได้ว่าใครเป็นใคร เพราะมันดีเหมือนกันหมด มันสุภาพเหมือนกันหมด มันสวยเหมือนกันหมด จนเมื่อกลับเข้าบ้าน จึงจะจำได้ว่า นี่คือภรรยาของเรา นี่คือสามีของเรา นี่คือลูกของเรา และต้องการอะไรก็ได้ มันมีต้นไม้พิเศษที่เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทุกทิศ อยากได้อะไรก็ไปขอที่ต้นไม้ จะสะดวกสบาย แม้แต่การคมนาคม การไปการมา จนว่าน้ำในแม่น้ำนั้น จะไหลลงข้างหนึ่ง จะไหลขึ้นข้างหนึ่ง เพื่อจะสะดวกต่อการใช้เรือ อยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีอันธพาล ทุกอย่างได้อย่างใจ
ผู้ถูกอ้างว่าเป็นพระศรีอารย์
[แก้]แม้พระศรีอริยเมตไตรยจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล แต่ปัจจุบันศาสนิกชนในหลาย ๆ ศาสนาก็เชื่อและอ้างว่าผู้นำทางศาสนาของตนเป็นพระศรีอริยเมตไตรยที่พระโคตมพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ เช่น
- คริสต์ศาสนิกชนบางกลุ่มเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยคือ พระเยซู[4]
- ชาวมุสลิมบางกลุ่มเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยคือ นบีมุฮัมมัด[5]
- ชาวชีอะฮ์บางคนเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยคือ อิมามมะฮ์ดี[6]
- ผู้นับถือศาสนาบาไฮเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยคือ พระบาฮาอุลลอฮ์[7]
- ผู้นับถือลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าพระภาคหนึ่งของพระศรีอริยเมไตรยคือ พระธรรมาจารย์ลู่ จงอี[8]
- ผู้นับถือลัทธิสหชโยคะเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยคือ ศรีมาตาจี นิรมลา เทวี[9]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
หลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) วัดอินทรวิหาร
-
พระศรีอริยเมตรไตรย จิตรกรรมฝาผนังของวัดหอเชียง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
-
พระเมตไตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธารราษฏร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 (คริสต์ศตวรรษที่ 2)
-
พระเมตไตรยโพธิสัตว์และนางปรัชญาปารมิตา
-
หลวงพ่อโตเล่อซาน (พระศรีอริยเมตไตรย) วัดเป้ากั๋ว ประเทศจีน
-
พระเมตตรัยโพธิสัตว์ในพุทธศิลป์ที่คนจีนนิยมสร้างมากที่สุด (ภาพนี้ประดิษฐานที่วัดนวลนาราม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี)
-
ภาพวาดมิโรกุ โบซัตสึ (พระศรีอริยเมตตรัย) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
-
พระเมตไตรยโพธิสัตว์ตามพุทธศิลป์ญี่ปุ่น วัดโคยุจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
-
พระเมตไตรยโพธิสัตว์ วัดหยวนทง เมืองคุนหมิง ประเทศจีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2552, หน้า 290
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 17, 2550, หน้า 351
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร ท่อน ๔๘ ย่อหน้า ๔
- ↑ กีรติ บุญเจือ, พระไตรปิฎกสำหรับชาวคริสต์ (สีหนาทวรรมูลปัณณสก์ มัชณิมนิกาย) , กรุงเทพฯ : สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524
- ↑ Ali Akbair, ศาสดาพยากรณ์, มุฮัมมัด อมีน บินกาซัน แปล, กรุงเทพฯ: คณะอิควานุลมุสลิมและสมาคสยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย, 2531, หน้า 12
- ↑ ปราโมทย์ ศรีอุทัย, อิมามมะฮฺดี......... เร้นกายหรือยังไม่เกิด ตอนที่ 12 เก็บถาวร 2016-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ จามเช็ด เค ฟอสดาร์, พระพุทธศรีอริยเมตไตรย-อมิตาภา ได้ปรากฏองค์แล้ว, นฤมล นครชัย แปล, กรุงเทพฯ: ศยาม, 2547, หน้า (9)
- ↑ ปฐมธรรมาจารย์แห่งธรรมกาลยุคขาว พระบรมธรรมจารย์จินกง เก็บถาวร 2012-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังคมธรรมะออนไลน์, เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ Maitreya (The Three Mothers) Has Incarnated Herself, เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระศรีอริยเมตไตรย เก็บถาวร 2021-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
|