ชาวซัมซัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซัมซัม
ประชากรทั้งหมด
ไม่ทราบ
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 มาเลเซีย : รัฐเกอดะฮ์และปะลิส
 ไทย : จังหวัดสตูลและสงขลา
ภาษา
ภาษาไทย (ถิ่นใต้ · ถิ่นสะกอม · ถิ่นพิเทน) · ภาษามลายู
ศาสนา
อิสลาม · พุทธ
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มาเลเซียเชื้อสายสยาม · ไทยเชื้อสายมลายู · มลายู

ซัมซัม (มลายู: Samsam) เป็นคำที่ใช้สำหรับเรียกกลุ่มชนลูกผสมระหว่างชาวไทยสยามกับชาวมลายู[1] หรือชาวจีนกับสยาม หรือกับชาวสยามกับชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายู[2] พบมากในรัฐเกอดะฮ์และปะลิส ประเทศมาเลเซีย และตามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เช่น จังหวัดตรัง, พังงา, สงขลา และสตูล[3] โดยเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาวมุสลิมจังหวัดสตูลและสงขลา[4] พวกเขามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยและมลายู ที่โดดเด่นที่สุดคือการใช้ภาษาไทยและนับถือศาสนาอิสลาม[1][2][5] แต่ก็มีบางส่วนที่ยังนับถือหรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน[2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

Achaimbault สันนิษฐานว่า "ซัมซัม" (Samsam) มาจากคำฮกเกี้ยนว่า "tcham tcham" แปลว่า "ผสม" หรือ "รวม"[2]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเข้าพระทัยว่า "ซัมซัม" เพี้ยนจากคำว่า "อิสลามสยาม"[3]

โดยชื่อซัมซัมเป็นชื่อที่ชาวไทยพุทธและชาวมลายูมุสลิมใช้เรียกเพื่อให้เกิดความแตกต่าง[3] แต่คนท้องถิ่นบางส่วนไม่ยอมรับเพราะมองว่าเป็นคำเหยียดหยัน[4] ในประเทศมาเลเซียแบ่งซัมซัมออกเป็นสองกลุ่มคือซียัมซัมซัม (Siam Samsam) คือกลุ่มชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และมาเลย์ซัมซัม (Malay Samsam) คือกลุ่มชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม[2]

ทั้งนี้หากถามว่าพวกเขาเป็นคนเชื้อสายอะไร พวกเขาจะตอบว่า "ไทย" หรือ "มลายู" อย่างใดอย่างหนึ่ง[2]

ประวัติ[แก้]

ชาวไทยสยามได้อพยพลงสู่คาบสมุทรมลายูและตั้งถิ่นฐานอยู่มาช้านาน ใน ตำนานมะโรงมหาวงศ์ อธิบายไว้ว่าชาวสยามเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่มานาน[4] และในตำนานยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทรบุรีกับสยามอย่างแน่นแฟ้นว่า พระยามะโรงมหาโพธิสัตว์ กษัตริย์แห่งไทรบุรี ส่งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ชื่อพระชีสาม (Pra Chi Sam) และนางสุตตมาน (Nang Suttaman) พระชายา ไปปกครองประเทศสยามล้านช้าง (Siam Lanchang)[6] ซึ่งในรัฐเกอดะฮ์หรือไทรบุรีก็มีหลักฐานการตั้งชุมชนของชาวสยามดำรงอยู่มานานไม่ต่ำกว่า 500 ปี[7] โดยชาวซัมซัมคือกลุ่มชนที่เป็นลูกผสมระหว่างชาวไทยสยามกับชาวมลายู หรือชาวจีนกับสยาม หรือกับชาวสยามกับชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายู[2] โดยมากซัมซัมจะอาศัยบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก[1]

Achaimbault สันนิษฐานว่าชาวซัมซัมมีบรรพบุรุษเป็นชาวสยามซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานในลังกาสุกะ (Langkasuka) และลิกอร์ (Ligor) มาแต่ดั้งเดิม[2] ส่วนอัซมัน วัน จิก (Azman Wan Chik) และซาฮาระฮ์ มะฮ์มุด (Zaharah Mahmud) สันนิษฐานบรรพบุรุษของชาวซัมซัมคือชาวมลายูปัตตานีจากเมืองจือเนาะ (Chenok) รามัน (Raman) ตีบอ (Tiba) ปาตานี (Patani) และเซอตุล (Setul)[2]

จอห์น ครอว์เฟิร์ด หรือยอน การะฝัด เคยเขียนถึงชาวซัมซัมเมื่อปี พ.ศ. 2369 ไว้ว่า "ซัมซัมคือคนเชื้อชาติสยามที่หันมารับศาสนาพระโมฮะหมัดและพูดภาษาซึ่งผสมจากภาษาของคนสองเชื้อชาติ"[3] พวกเขาเติบโตมากับความคุ้นเคยหรือความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอย่างไทยพุทธ เช่น ภาษา นิสัยทางวัฒนธรรม สังคม โดยเฉพาะการเต้นรำหรือการแสดงหนังตะลุง และถูกเชื่อมด้วยศาสนาอิสลามจากการแต่งงาน[5] จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในรัฐเกอดะฮ์เมื่อ พ.ศ. 2454 พบว่ามีประชากรมากกว่า 14,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของประชากรทั้งรัฐ ถูกจัดเป็นชาวซัมซัม[8]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราโชบายสำหรับการรวมชาติให้สยามเป็นปึกแผ่นและทันสมัยพอที่จะต่อต้านการคุกคามจากชาติมหาอำนาจ และมีพระราชประสงค์ให้ชาวมลายูในปัตตานีรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ ทรงกล่าวว่า "แม้ว่าเป็นชาวมลายูและมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็เป็นชาวไทยในจิตสำนึกและทัศนคติเช่นเดียวกับพลเมืองอื่น ๆ ได้..."[9] การนี้พระองค์ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตระหนักว่าสยามมิได้ประกอบขึ้นจากชาติเดี่ยว หากแต่ประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงปลูกฝังอัตลักษณ์พลเมืองไทยในพระนิพนธ์เรื่อง "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ระบุลักษณะสามประการของ "คนไทย" คือ ความรักในอธิปไตยแห่งชาติ ความยุติธรรม และความสามารถในการประสานผลประโยชน์ที่ต่างกันเพื่อความเจริญของชาติ[10] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำลัทธิชาตินิยมมาใช้ โดยทรงใช้คำขวัญว่า "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" เป็นอัตลักษณ์ใหม่ของคนไทย โดยชาติหมายถึงสยามที่มีคนชาติไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาสนาหมายถึงศาสนาพุทธ และพระมหากษัตริย์หมายถึงผู้สืบราชบัลลังก์และตัวแทนแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งอัตลักษณ์ดังกล่าวทำให้ชาวมลายูมุสลิมแถบสามจังหวัดชายแดนรู้สึกถูกคุกคามจากรัฐบาลไทย[11] จึงพยายามแยกตัว เรียกร้องเอกราช[12] และต่อต้านอำนาจรัฐไทย[9]

ขณะที่ชาวซัมซัมในจังหวัดสตูลและสงขลาต่างไปจากสามจังหวัด เพราะพวกเขามีบรรพบุรุษเลือดผสมจากไทยและมลายู แม้จะนับถือศาสนาอิสลามแต่ยังรักษาวัฒนธรรมไทยได้ในหลายมิติ[13] โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ภาษาไทยเป็นพื้น และหลายคนพูดภาษามลายูไทรบุรีไม่ได้เลย[14] ความอดทนอดกลั้นต่อนโยบายที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลไทยของชาวซัมซัมในสตูลและสงขลา ทำให้พวกเขาได้รับความไว้วางใจจากส่วนกลาง และกลายเป็นบทเรียนแก่รัฐบาลไทยในการทำเพื่อส่วนรวม[15]

วัฒนธรรม[แก้]

ภาษา[แก้]

ชาวซัมซัมในจังหวัดสตูลและสงขลาส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ และมีจำนวนน้อยมากที่ใช้ภาษามลายูไทรบุรี[14] แต่จะพบคำมลายูหลงเหลือตามชื่อสถานที่ต่าง ๆ[16] โดยชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลและสงขลากว่าร้อยละ 90 ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่[17]

นอกจากนี้ยังมีภาษาท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมที่เป็นลูกผสมกับชาวมลายู คือภาษาสะกอมในอำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา และภาษาพิเทนในอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี[18]

ขณะที่ชาวซัมซัมบนเกาะลังกาวีรุ่นใหม่เลิกพูดภาษาไทยแล้ว แต่ก็พอมีความรู้เกี่ยวกับคำไทยบ้าง[2]

ศาสนา[แก้]

ชาวซัมซัมส่วนหนึ่งที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวสยามแต่งงานกับชาวมลายูมุสลิมก็จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีชาวมลายูมุสลิมบางส่วนแต่งงานกับชาวไทยพุทธและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[2] กลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธมักจะผสมกลมกลืนไปกับคนไทยพุทธในท้องถิ่น[19] ในบางชุมชน เช่น บ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีประเพณีบุญข้าวใหม่ โดยจะนำข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปให้ผู้อาวุโสชาวมลายูมุสลิมในหมู่บ้านดุอาอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนมลายูของตัวเอง[20]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร กองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (2509). ชาติวงศ์วิทยา ว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย (PDF). พระนคร: อักษรเจริญทัศน์. p. 39. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 Mahamed, Noriah (2016). "Hybrid Language and Identity among the Samsam, Baba Nyonya and Jawi Peranakan Communities in North Peninsular Malaysia" (PDF). Kemanusiaan Vol. 23 (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2018.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 182
  4. 4.0 4.1 4.2 ตำนานมะโรงมหาวงศ์ พงศาวดารเมืองไทรบุรี, หน้า 4–5.
  5. 5.0 5.1 กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 183
  6. ตำนานมะโรงมหาวงศ์ พงศาวดารเมืองไทรบุรี, หน้า 93–97.
  7. บุญยงค์ เกศเทศ และนิพนธ์ ทิพย์ศรีนิมิต (มกราคม 2547). "กินเมืองคอน นอนเมืองไทร สำนึกไทยแผ่นดินเกิด". สารคดี. 19 (227): 70. ISSN 0857-1538.
  8. Thatsanawadi Kaeosanit (2016). "Dynamic Construction of the Siamese-Malaysians' Ethnic Identity, Malaysia" (PDF). A Dissertation Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy (Communication Arts and Innovation). pp. 354–355. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 ตุลาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2019 – โดยทาง Graduate School of Communication Arts and Management Innovation, National Institute of Development Administration, Thailand.
  9. 9.0 9.1 กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 181.
  10. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 185–186.
  11. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 187.
  12. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 188.
  13. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 192–193.
  14. 14.0 14.1 Arifin bin Chik (1 เมษายน 2007). "ปัญหา สตูล ปัตตานี กับวัฒนธรรมที่กำลังถูกทำลาย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2022.[ลิงก์เสีย]
  15. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 195.
  16. ประพนธ์ เรืองณรงค์. "บทผนวกเกียรติยศ". รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์, หน้า 356–357.
  17. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. "อัตลักษณ์แห่งชาติ ซัม-ซัมในจังหวัดสตูลและชาวไทยมลายูมุสลิม". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 179.
  18. ทวีพร จุลวรรณ (2016). "ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี" (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2018.
  19. อัศโตรา ชาบัต (30 มีนาคม 2558). "ใครคือชาวมลายูพุทธศรีวิชัยและลังกาสุกะ?". ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  20. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง (2552). ทักษะวัฒนธรรม (PDF). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. p. 109. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2015-05-17. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
บรรณานุกรม
  • มอนซาติโน, ไมเคิล เจ. ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย. นครศรีธรรมราช : ศูนย์หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560. 416 หน้า. ISBN 978-974-7557-60-2.
  • ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรงมหาวงศ์ พงศาวดารเมืองไทรบุรี. กรุงเทพฯ : เดอะโนว์เลจเซ็นเตอร์, 2550. 317 หน้า. ISBN 978-974-13-3518-3.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. 387 หน้า. ISBN 978-974-32-3183-4.