เจ้าเสือข่านฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าเสือข่านฟ้า
อาณาจักรเมืองมาวหลวง

ครองราชย์ พ.ศ. 1854 ถึง พ.ศ. 1907
ประสูติ พ.ศ. 1833
สวรรคต พ.ศ. 1907
งานสำคัญ ผู้รวบรวมรัฐไทใหญ่ให้เป็นหนี่งเดียว

เจ้าเสือข่านฟ้า (ภาษาไทใหญ่ :เจาเสอข่านฟ่า;ภาษาไทใต้คง:ᥓᥝᥲ ᥔᥫᥴ ᥑᥣᥢᥱ ᥜᥣᥳเจาเสอข่านฟ่า) หรือเจ้าหลวงเสือข่านฟ้าทรงเป็นวีระบุรุษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่เพราะทรงรวบรวมรัฐไทใหญ่ต่างๆที่เป็นอิสระต่อกันให้มาเป็นอาณาจักรเดียวกันภายใต้ชื่ออาณาจักรเมืองมาวหลวง ในรัชสมัยนี้อาณาจักรเมืองมาวหลวงมีอำนาจเกรียงไกรและเจริญรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์ไทใหญ่

พระราชประวัติ[แก้]

เจ้าเสือข่านฟ้าเป็นพระราชโอรสในเจ้าหลวงขุนผางคำกับพระนางอ่อนโดยมีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมกัน 3 พระองค์คือ

  1. ขุนอ้ายงำเมือง
  2. ขุนยี่ข่างคำ(เสือข่านฟ้า)
  3. ขุนสามหลวงฟ้า

หลังจากที่พระราชบิดาสวรรคตแล้ว เสนาอำมาตย์ได้ยกขุนยี่ข่างคำเป็นเจ้าฟ้าปกครองเมืองมาว[1] ต่อมา โดยเริ่มขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 1854 เมื่อพระชนมายุได้ 21 ปี เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็ มีพระนามว่าเสือข่านฟ้า และทรงสร้างเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองแจ้ไฮ่ และในอีก 2 ปีต่อมาก็ทรงย้ายไปสร้างเวียงแจ้ล้านอีก เพราะเป็นพื้นที่ ชัยภูมิทางยุทธศาสตร์

หลังจากที่ได้ทรงย้ายเมืองหลวงแล้ว พระองค์จึงดำริที่จะรวบรวมรัฐชนเผ่าไทใหญ่ ซึ่งตั้งเมืองอยู่กระ จัดกระจายกันไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่ขึ้นตรงต่อกัน ให้มาเป็นรัฐเดียวกัน ดังนั้น พระองค์จึงทรงเริ่มออกศึก เพื่อรวบรวมรัฐไทใหญ่ ให้เป็นเอกภาพ เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า ทรงทำให้รัฐไทยใหญ่ต่าง ๆ เข้ามารวมเป็นอาณาจักรเดียวกันที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ได้ทรงย้ายไปสร้างเมืองใหม่ที่ทุ่งปางหมากอู๋ เรียกว่าเวียงท่าสบอู๋ และทรงสิ้นพระชนม์ที่นั่นในปีพ.ศ. 1907

การรวบรวมรัฐไทใหญ่[แก้]

รวบรวมอาณาจักรแสนหวี เวียงแสนแจ้[แก้]

พระองค์ได้ส่งสาสน์ไปยังเจ้าท้าวน้อยแข่ ผู้ครองอาณาจักรแสนหวี[2]เวียงแสนแจ้ เพื่อปรึกษาหารือใน เรื่องการรวมรัฐ แต่เจ้าท้ายน้อยแข่มิทรงยอมรับ และไม่มาปรึกษาหารือเพื่อการดังกล่าวด้วย เป็นเหตุให้เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าพร้อมด้วยเจ้าสามหลวงฟ้า พระอนุชา ยกทัพไปตีเวียงแสนแจ้ จนเป็นเวียงแสนแจ้ได้รับความเสียชาวเมืองจึงขอร้องให้เจ้าท้าวน้อยแข่ยอมมอบตัวให้แก่เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า อาณาจักรแสนหวีเวียงแสน แจ้ได้รวมเข้าในเมืองมาวหลวงมาตั้งแต่นั้นมา

รวบรวมเวียงจุนโก เมืองมีด และเชียงดาว[แก้]

เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าได้ทรงส่งสาล์นไปยังเวียงจุนโก เมืองมีด และเชียงดาว[3] เพื่อเชื้อเชิญเจ้าฟ้าผู้ปกครองเมือง มายังเวียงแจ้ล้าน ซึ่งผู้ปกครองเมืองดังกล่าวในสมัยนั้น คือ เจ้าไตขืน เจ้าไตไก่ เจ้าไตเต่า เจ้าไตแตง และขุนสามอ่อน ไม่ยอมปฏิบัติตาม และยังได้จับราชทูต 7 คนประหารชีวิต โดยรอดชีวิตมาได้ 3 คน และได้ส่งทหารไปเผาทำลายบ้านเมืองทางใต้ของเมืองมาวทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ ท้ายสุด ชาวเมืองขอร้องให้เจ้าไตขืนยอมแพ้ ชาวเมือง ก็ยอมสวามิภักดิ์ แม่ทัพนายกองจึงจับเจ้าไตขืนมอบให้เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า และในปีต่อมาก็ได้เข้า ยึดหัวเมือง ใหญ่ทางตอนใต้เมืองมาว อันได้แก่ ยองห้วย จ๋ามกา เมืองปาย และเมื่องอื่น ๆ บริเวณนั้น

รวบรวมหัวเมืองยูนนาน[แก้]

พ.ศ. 1860 เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าได้ยกทัพใหญ่ขึ้นเหนือไปยังยูนนาน เจ้าเมืองแสหอตู้แห่งยูนนานจึงได้ออกมาเจรจา เพื่อไม่ให้เกิดการสงคราม และได้มอบหัวเมืองทั้ง 4 ให้คือ เมืองแส[4] เมืองหย่งชาง เมืองหมูอาน เมืองปูขว้าน แล้วพระองค์ก็เดินทางกลับเมืองมาว

รวบรวมหัวเมืองไทยวน[แก้]

หลังจากที่กลับจากยูนนาน เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าก็ทรงยกทัพไปทางทิศตะวันออก เพื่อรวบรวมรัฐชน เผ่าไตในทิศตะวันออก และทรงยึดหัวเมืองไทยวน ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงตุง ลำพูน และละกอน[5]

รวบรวมเมืองเวสาลี[แก้]

พ.ศ. 1862 เจ้าเสือข่านฟ้าพร้อมด้วยพระอนุชาคือเข้าสามหลวงฟ้า และแม่ทัพ 3 คน คือ ฟ้าหลวงเท้าฟ้าหล่อ ฟ้าหลวงเท้าเสือเย็น ฟ้าหลวงท้าวหาญก่าย ยกทัพไปทางทิศตะวันตกตีเมืองเวสาลี หรือแคว้นอัสสัม และยกให้พระอนุชาครองเมือง

ยกทัพไปพม่า[แก้]

พ.ศ. 1905 เจ้าเสือข่านฟ้าพร้อมด้วยพระโอรส คือ เจ้าชายเปี่ยมฟ้า และแม่ทัพ 3 คน คือ ฟ้าหลวงเท้าฟ้าหล่อ ฟ้าหลวงเท้าเสือเย็น ฟ้าหลวงท้าวหาญก่าย ยกทัพไปทางทิศตะวันตกตีเมืองตะโก้ง[6] เมืองสะแกง[7]และหัวเมือง พม่าอื่น ๆ และสามารถยึดได้ทั้งหมดปี พ.ศ. 1905

หมายเหตุ[แก้]

  1. เมืองมาวปัจจุบันคือเมืองรุ่ยลี่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไทและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน
  2. เมืองแสนหวีปัจจุบันคือเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานในสหภาพพม่า
  3. เมืองเชียวดาวปัจจุบันคืออำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ในประเทศไทย
  4. เมืองแสปัจจุบันคือเมืองต้าหลี่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ ต้าหลี่มณฑลยูนนาน
  5. เมืองละกอนปัจจุบันคือจังหวัดลำปางในประเทศไทย
  6. เมืองตะโก้งปัจจุบันคือเมืองย่างกุ้งในสหภาพพม่า
  7. เมืองสะแกงในปัจจุบันคือเมืองสะกาย เขตสะกายในสหภาพพม่า

อ้างอิง[แก้]

  • Daniels, Christian (2006) "Historical memories of a Chinese adventurer in a Tay chronicle; Usurpation of the throne of a Tay polity in Yunnan, 1573-1584," International Journal of Asian Studies, 3, 1 (2006), pp. 21-48.
  • Elias, N. (1876) Introductory Sketch of the History of the Shans in Upper Burma and Western Yunnan. Calcutta: Foreign Department Press. (Recent facsimile Reprint by Thai government in Chiang Mai University library).
  • Liew, Foon Ming. (1996) "The Luchuan-Pingmian Campaigns (1436-1449): In the Light of Official Chinese Historiography". Oriens Extremus 39/2, pp. 162-203.
  • Wade, Geoff (1996) "The Bai Yi Zhuan: A Chinese Account of Tai Society in the 14th Century," 14th Conference of the International Association of Historians of Asia (IAHA), Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand [Includes a complete translation and introduction to the Ming travelogue "Bai-yi Zhuan", a copy can be found at the Thailand Information Center at Chulalongkorn Central Library]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]