ขัตติยะ สวัสดิผล
ขัตติยะ สวัสดิผล | |
---|---|
ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 มิถุนายน พ.ศ. 2494 อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี |
เสียชีวิต | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (58 ปี) โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพ |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | นปช. |
คู่อาศัย | ลัดดาวัลย์ พลฤทธิ์ |
คู่สมรส | นาวาเอก (พิเศษ) หญิง จันทรา สวัสดิผล |
บุตร | กิตติยา สวัสดิผล ขัตติยา สวัสดิผล นักรบ สวัสดิผล |
อาชีพ | นักเขียน นักการเมือง |
ชื่อเล่น | แดง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ยศ | พลตรี |
พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ เสธ.แดง (2 มิถุนายน พ.ศ. 2494 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[1]) เป็นทหารบกชาวไทย เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเมื่อมีคดีความการรื้อบาร์เบียร์ย่านซอยสุขุมวิท 10 และถูกพล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่กล่าวหาว่า พล.ต.อ. สันต์ มีพฤติกรรมในการใช้อำนาจโดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งทุจริตการจัดซื้อ-จัดจ้าง การทำสำนวนคดีรื้อถอนบาร์เบียร์ที่มีพฤติการณ์ช่วยเหลือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มนายชูวิทย์จากโรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือ คม...เสธ.แดง
ประวัติ
[แก้]พล.ต. ขัตติยะ เป็นชาวตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2494 โดยปู่เป็นชาวมอญย่านวัดขนอน โพธารามมอญ[2] เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ ร.อ. สนิท สวัสดิผล และนางสอิ้ง แก่นน้อย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาดังนี้
- นางจินตนา ธระเสนา (จิน)
- นางมิ่งขวัญ ทองเผือก (อึ่ง)
- นางเจียรนัย มัจกิจบริวาร (หนิง)
- พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (แดง)
พล.ต. ขัตติยะ จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ การศึกษาด้านการทหาร
- โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11
- โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 63
ได้เรียนต่อปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาปี 2528 ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำเร็จการศึกษาปี 2539 ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำเร็จการศึกษาปี 2545 ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จการศึกษาปี 2547 และจบปริญญาเอก สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นฟิลิปปินส์ สำเร็จการศึกษาปี 2551
พล.ต. ขัตติยะ สมรสกับ น.อ.พิเศษหญิง จันทรา สวัสดิผล (เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็ง) มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน คือ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล (ชื่อเล่น: เดียร์)
หลังการเสียชีวิต ได้มีผู้หญิงที่อ้างว่ามีลูกกับเสธ.แดงเปิดเผยตัวขึ้น คือนางสาวลัดดาวัลย์ พลฤทธิ์ เป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยรู้จักกับกับ เสธ.แดงในปี พ.ศ. 2546 จากนั้นทั้งคู่จึงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง จนกระทั่ง น.ส.ลัดดาวัลย์ได้ตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายออกมาในต้นปี พ.ศ. 2547 ชื่อ ด.ช.นักรบ สวัสดิผล (ชื่อเล่น: แดงน้อย) ซึ่งเป็นชื่อที่เสธ.แดงตั้งให้ โดยเสธ.แดงได้ให้การดูแลรับผิดชอบเป็นอย่างดี และในปัจจุบันได้รับการยืนยันจากศาลแล้วว่าเป็นลูกเสธ.แดงจริง[3] นอกจากนี้แล้วยังมีบุตรสาวอีกหนึ่งคน ซึ่งเป็นพี่สาวของ น.ส.ขัตติยา แต่คนละมารดา คือ น.ส.กิตติยา สวัสดิผล (ชื่อเล่น: เก๋)[4]
เสธ.แดงเคยมีเว็บไซต์ของตนเองชื่อว่า www.sae-dang.com และได้เปลี่ยนชื่อเป็น www.sae-dang.net ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองการทหารอย่างดุเดือด โดยบุคคลหรือแฟนคลับที่ชื่นชอบจะชอบเรียกชื่อ เสธ.แดง อย่างเคารพว่า "อาแดง" โดยเสธ.แดงใช้นามแฝงโต้ตอบในเว็บบอร์ดว่า "เสธ.แดง" รหัสเรียกขาน "อาชา" ปัจจุบันเว็บไซต์ได้ปิดตัวลงแล้ว โดยได้มีแฟนคลับของเสธ.แดงได้เปิดกลุ่มในเฟสบุ๊คชื่อว่า แฟนคลับเสธ.แดง
รับราชการ
[แก้]เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และเติบโตมาในเหลาทหารม้า เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในช่วงปี 2529 เป็นนายทหารติดตามของ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และเคยเป็นนายทหารคนสนิทของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรีเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 6 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 30 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในปี 2533 โดยเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกหลังมีการแปรสภาพและสถาปนาหน่วย ก่อนจะย้ายไปเป็นเสนาธิการจังหวัดทหารบกสระบุรีในปี 2534[5] ได้รับพระราชทานยศพลตรีในปี 2541[6] เคยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2543 และตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก
บทบาททางการเมือง
[แก้]บทความนี้อาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป |
พล.ต. ขัตติยะเคยได้รับหน้าที่ในราชการการเมืองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในฐานะนายทหารติดตามพล.ต. สมบัติ รอดโพธิ์ทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และส.ส.พรรคพลังธรรม ในปีถัดมาได้ทำหน้าที่นายทหารติดตาม พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี และเป็นคณะทำงานของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (พ.ศ. 2541) และรองนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2542)
ในทางการเมืองในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เสธ.แดง ก็ได้แสดงบทบาทของตนเองออกมา ในตอนแรกได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในปัญหาการฆ่าตัดตอนในสงครามกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และการปล้นปืนขึ้น ซึ่งเสธ.แดงเห็นว่าไม่ถูกต้อง รวมทั้งในประเด็นที่ เสธ. แดงได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์[7]
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2551 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล พล.ต. ขัตติยะ ก็ได้ไปปรากฏตัวใกล้ที่ชุมนุมด้วยโดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ต่อมาไม่นาน พล.ต. ขัตติยะก็ได้เปลี่ยนท่าทีใหม่โดยสิ้นเชิง ได้แสดงท่าทีและวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มพันธมิตรฯ หลังจากการนำประเด็นกรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา มาเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกนิ่งเฉยในประเด็นเขาพระวิหาร โดยพล.ต. ขัตติยะ ในช่วงแรกได้ออกมาปกป้อง พล.อ. อนุพงษ์ ทั้งในเรื่องประเด็นทุจริตยานเกราะ 8 ล้อ จากยูเครน และประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งพล.ต. ขัตติยะออกมาโต้แทนว่าพล.อ. อนุพงษ์ ท่านหน่อมแน้ม จึงโดนตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ซึ่งผลการสอบไม่มีความผิดแต่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา
ในเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เสธ.แดงได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ พล.อ. อนุพงษ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อีกครั้งว่าปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบินไม่ยอมนำกำลังออกมาช่วยรัฐบาลตามที่มีคำสั่งจากสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการปราบปรามกลุ่มพันธมิตรฯ นอกจากนี้ยังนำผู้นำเหล่าทัพไปให้สัมภาษณ์ช่อง 3 ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ บอกให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากจุด ๆ นี้เป็นต้นไป พล.ต. ขัตติยะได้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกลุ่มพันธมิตรและพลเอกอนุพงษ์ จนกระทั่งถูกคำสั่งพักราชการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ในข้อหาวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเสธ.แดงไม่ยอมรับ โดยอ้างว่ากองทัพไม่มีอำนาจในการสั่งพักราชการตน เนื่องจากตนเป็นถึงนายทหารระดับนายพล
ต่อมา พล.ต. ขัตติยะก็ได้ประกาศตัวว่า จะช่วยทำหน้าที่ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กลุ่มนปช. โดยตระเวนไปปราศรัยที่เวทีคนเสื้อแดงทั่วประเทศให้ความรู้ทางการเมืองแก่กลุ่มเสื้อแดงตามจังหวัดต่าง ๆ โดยได้มีกลุ่มทหารพรานอาสามาช่วย เสธ.แดง ในการรักษาความปลอดภัยให้กลุ่มเสื้อแดง ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหาปะทะคารมกับพล.อ. อนุพงษ์ ทางสื่อมวลชนติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยทำให้นายทหารระดับสูงในหลายส่วนของกองทัพบกได้ออกมาวิจารณ์การกระทำของ พล.ต. ขัตติยะ กล่าวหาไม่เคารพผู้บังคับบัญชาคือพล.อ. อนุพงษ์ รวมทั้งได้แสดงออกถึงการร่วมใจปกป้องศักดิ์ศรีของกองทัพด้วย
ในทางการเมือง พล.ต. ขัตติยะได้มีแนวคิดจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในชื่อ พรรคเสธ.แดง เพื่อลงเลือกตั้งในปลายปี 2550 โดยมีจุดมุ่งหมายคือ แยกอำนาจสอบสวนออกจากตำรวจและตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาดูแลแทน โดยตำรวจมีหน้าที่จับกุมและส่งตัวมาให้หน่วยงานสอบสวน แต่ไม่ได้รับการรับรองให้จดทะเบียนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยสดศรี สัตยะรรม ให้เหตุผลว่าเป็นชื่อบุคคลไม่สามารถนำมาตั้งชื่อพรรคได้ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเรื่องชื่อพรรคนี้เรื่องค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ 2 ปีเต็มไม่มีความคืบหน้า เพราะมีเรื่องเร่งด่วนรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอีกหลายเรื่อง จึงขอถอนเรื่องออกมาและมาจัดตั้งใหม่ ในนามว่า พรรคขัตติยะธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมของพระราชา
พรรคขัตติยะธรรม
[แก้]พรรคขัตติยะธรรม (อังกฤษ: Khattiyatham Party) (อักษรย่อ: ข.ต.ธ.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยการสนับสนุนของ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล โดยมี ว่าที่ร.ต. สุรภัศ จันทิมา เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก[8] ต่อภายหลังการเสียชีวิตของ เสธ.แดง บุตรสาวของ เสธ.แดง จึงได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมีนายอมฤตณรงค์บุตย์ สุรพันธ์ เป็นเลขาธิการพรรค[9]
ต่อมาใน พ.ศ. 2554 นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ได้ลาออกจากพรรค เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย จึงทำให้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่างลง และพรรคถูกยุบเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554[10]
เหตุการณ์ลอบสังหาร
[แก้]เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงด้วยอาวุธปืนเล็กยาวซุ่มยิง ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง หลังจากนั้น พล.ต. ขัตติยะ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ อาการของพล.ต. ขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น.[1] โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพพล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 17.00 น.
ผลงานด้านการเขียน
[แก้]พล.ต. ขัตติยะ มีความสามารถด้านการเขียนหนังสือที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ในสไตล์การเขียนที่คล้ายกับเล่าให้ฟัง จนทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนได้ฟังการบอกเล่ามากกว่าการอ่านในแนววิชาการ โดยใช้นามปากกาว่า ยะ ยี่เอ๋ง ซึ่ง ยะ มีที่มาจากชื่อจริงคือ ขัตติยะ ส่วน ยี่เอ๋ง มีที่มาจากตัวละครตัวหนึ่งในวรรณคดีสามก๊ก (ยี่เอ๋ง) ซึ่งเพื่อน ๆ โรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่น 22 ตั้งฉายาให้[11] เนื่องจากว่าเห็นว่ามีบุคลิกคล้ายเจ้าตัวมากที่สุด ซึ่งในสมัยที่เรียนจบแยกย้ายกันไปทำงาน พลตรีขัตติยะเคยได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ ในระหว่างการทำงานและประสบการณ์ในสนามรบ บอกเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านกันใน วารสารฟ้าหม่น โดยใช้นามปากกาว่า ยะ ยี่เอ๋ง ด้วยเช่นกัน
จนกระทั่งเมื่อ พล.ต. ขัตติยะได้มีเรื่องกับพล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้มีโอกาสได้เขียนหนังสือขึ้นมาอย่างจริงจัง คือ หนังสือ คม...เสธ.แดง ภาค 1 เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวในคดีความ และความเป็นไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขาได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเสาะหาข้อมูลมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2547 ตลอดจนเรื่องราวในสนามรบสมรภูมิต่าง ๆ ที่เขาได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ในแบบข้อมูลเชิงลึกและมีภาพประกอบจากสถานที่จริง ภาพการ์ตูนบอกเล่า รวมถึงคำบรรยายใต้ภาพที่สื่อให้จินตนาการตามอย่างสนุกสนาน ในเวลาต่อมาก็ได้เขียนภาคอื่นตามมาเป็น คม...เสธ.แดง ตั้งแต่ภาค 1–7 และภาคพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตส่วนตัวในอีกมุมหนึ่งของ เสธ.แดง ในชื่อหนังสือ ลูบคม...เสธ.แดง ที่เขียนโดยผู้ใช้นามปากกา ANGEL 007
พล.ต. ขัตติยะ ได้เขียนหนังสือค้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังเขียนไม่เสร็จ คือหนังสือ คม...เสธ.แดง ภาค 8 โดยส่วนตัวแล้ว พล.ต. ขัตติยะใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เพื่อต้องการจัดตั้งหน่วยทหารม้าอากาศให้สำเร็จ และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อต้องการลงไปแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[12]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2549 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[13]
- พ.ศ. 2542 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[14]
- พ.ศ. 2531 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[15]
- พ.ศ. 2532 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[16]
- พ.ศ. 2530 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[17]
- พ.ศ. 2550 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ไม่ปรากฏลำดับชั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ปิดตำนาน เสธ.แดง เสียชีวิตอย่างสงบ. ไทยรัฐออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2553
- ↑ เสธ.แดง-พลตรี ดร.ขัตติยะ สวัสดิผล..คนราชบุรี..ถูกปลิดชีพ
- ↑ "นางสาวลัดดาวัลย์ พลฤทธิ์ กับ ลูกชายของเสธแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-14.
- ↑ ประชาชนแห่ร่วมงานศพ “เสธ.แดง” แน่น จากเดลินิวส์
- ↑ คำสั่งกองทัพบก 1296/2533
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารชั้นนายพล" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-07. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ เสธ แดง เปิดโปงทักษิณล้มเจ้า
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคขัตติยะธรรม
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคขัตติยะธรรม
- ↑ คำสั่งนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ 107/2554 เรื่อง การเลิกพรรคขัตติยะธรรม
- ↑ จาก ยีเอ๋ง ถึง เสธ.แดง จากโอเคเนชั่น
- ↑ OnThisDay 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๖๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๔๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ กันยายน ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๖๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ส่วนตัวของ พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล เก็บถาวร 2010-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ปัจจุบันโดเมนหมดอายุลงแล้ว)
- แฟนคลับเสธ.แดง
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2494
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนศรีวิกรม์
- นิสิตเก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- ทหารบกชาวไทย
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- บุคคลจากอำเภอโพธาราม
- บุคคลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นักการเมืองไทยที่ถูกลอบสังหาร
- ชาวไทยเชื้อสายมอญ
- ผู้เขียนอัตชีวประวัติชาวไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- ชาวไทยที่ถูกลอบสังหาร
- เสียชีวิตจากอาวุธปืน
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย หลัง พ.ศ. 2544