ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เอ็นบีที 2 เอชดี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 14: บรรทัด 14:
| key people = {{bulleted list
| key people = {{bulleted list
| อภินันท์ จันทรังษี<br/>{{เทาเล็ก|อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์}}
| อภินันท์ จันทรังษี<br/>{{เทาเล็ก|อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์}}
| พิชญา เมืองเนาว์<br/>{{เทาเล็ก|ผู้อำนวยการ สทท.}}
| พิชญา เมืองเนาว์<br/>{{เทาเล็ก|ผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย}}
}}
}}
| slogan = ทีวีเพื่อประชาชน
| slogan = ทีวีเพื่อประชาชน

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:08, 30 เมษายน 2559

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
ประเทศไทย ไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย ประเทศไทย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์/สถานีวิทยุ
ช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล
ประเภทบริการสาธารณะ
คำขวัญทีวีเพื่อประชาชน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 236 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ576i (16:9 คมชัดปกติ/แพล)
1080i (16:9 คมชัดสูง)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของกรมประชาสัมพันธ์
สำนักนายกรัฐมนตรี
บุคลากรหลัก
  • อภินันท์ จันทรังษี
    อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
  • พิชญา เมืองเนาว์
    ผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
ช่องรอง
ประวัติ
เริ่มออกอากาศระบบแอนะล็อก:
1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 (38 ปี)
ระบบดิจิทัล:
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 (9 ปี)
ระบบดาวเทียมและดิจิทัล:
2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (8 ปี)
ชื่อเดิมสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
(2528 - 2551)
ลิงก์
เว็บไซต์tv11.prd.go.th
tv11.thaibell.com
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
แอนะล็อกช่อง 11 (วีเอชเอฟ)
ดิจิทัลช่อง 2 (มักซ์#1 : พีอาร์ดี)
เคเบิลทีวี
ช่อง 2
ทีวีดาวเทียม
ช่อง 2
สื่อสตรีมมิง
PRDชมรายการสด
STATชมรายการสด

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: สทท.; อังกฤษ: The National Broadcasting Services of Thailand; ชื่อย่อ: เอ็นบีที, NBT) หรือชื่อเดิมคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (ชื่อย่อ: สทท.11, ช่อง 11; อังกฤษ: Television of Thailand Channel 11 ชื่อย่อ: TVT.11) เป็นหน่วยงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบาล มีสถานะเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เป็นผู้กำกับดูแล โดยมีการเปลี่ยนชื่อ พร้อมปรับปรุงระบบการบริหารงาน และรูปแบบของสถานีฯ เพื่อให้สมเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีฯ ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป และในวันที่ใช้ชื่อเอ็นบีทีมาครบ 1 ปี ก็เปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ของสถานีฯ ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติ

สืบเนื่องจากที่ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจกา (Japan International Cooperation Agency; JICA) ให้การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียง และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ภายในห้องส่ง (Studio) แก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เพื่อให้ มสธ.นำไปใช้ก่อตั้ง ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ (Educational Broadcasting Production Center; EBPC) ของมหาวิทยาลัยฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2525-2527 ทว่าขณะนั้น ประเทศไทยไม่มีสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เพื่อรองรับเนื้อหาที่ผลิตขึ้นจากศูนย์ผลิตรายการฯ ดังกล่าว ต่อมาในวันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีลงมติให้กรมประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่าย ให้แก่สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ

จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ นำเครื่องส่งโทรทัศน์สีของกรมประชาสัมพันธ์ จากสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาใช้แพร่ภาพชั่วคราว ด้วยระบบวีเอชเอฟความถี่สูง ทางช่องสัญญาณที่ 11 (Band3, VHF CH-11) จากอาคารศูนย์ระบบโทรทัศน์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จัดตั้งขึ้นเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) และเริ่มต้นทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก ประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528[1] ก่อนจะแพร่ภาพเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเวลา 16:30-21:00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2529 แต่ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเครื่องส่งโทรทัศน์มีกำลังส่งต่ำ เป็นผลให้ดำเนินการแพร่ภาพออกอากาศได้ไม่สะดวก ดังนั้น ศาสตราจารย์ ยามาซากิ, ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิคม ทาแดง ซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินการก่อตั้ง ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ มสธ. ร่วมกันจัดทำร่างโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาอนุมัติวงเงิน 2,062 ล้านเยน (ขณะนั้นคิดเป็นประมาณ 300 ล้านบาท) แบบให้เปล่าผ่านไจกา เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ จัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์ ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ถึงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 รวมระยะเวลาประมาณ 9 เดือน โดยระหว่างนั้น สทท.ยุติการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินการโอนย้ายระบบออกอากาศดังกล่าว

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เวลา 10:00 นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ[2] จากนั้นเป็นต้นมาจึงกำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาจึงเริ่มกลับมาออกอากาศ ข่าวภาคเช้า ข่าวภาคค่ำ รายการเพื่อการศึกษา และรายการประเภทอื่น ไปยังสถานีเครือข่ายส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการ และนำเสนอรายการที่เป็นสาระความรู้ โดยเฉพาะด้านการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี มาโดยตลอด ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้น สทท.11 ในส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการถ่ายทอดรายการเป็นส่วนมาก และบางช่วงเวลาจะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาค ดำเนินการถ่ายทอดรายการของตนเฉพาะท้องถิ่นไป แล้วแต่ช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงระยะเวลาแรกๆ สทท.11 มักถูกมองข้ามจากผู้ชมส่วนใหญ่ เนื่องด้วยความเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งไม่มีรายการที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ โดยเฉพาะรายการประเภทบันเทิง เช่นละครโทรทัศน์หรือเกมโชว์ และประกอบกับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่อาจหารายได้ด้วยการโฆษณา จึงทำให้ประเภทรายการที่ออกอากาศทาง สทท.11 มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้มีผู้ติดตามรับชมจำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2539 สทท.11 มีข้อเสนอให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ สามารถแสดงภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าบนหน้าจอโทรทัศน์ได้ นอกจากนั้นก็ยังต่อยอดจากข้อเสนอข้างต้น ด้วยการผลิตภาพยนตร์โฆษณาของสถานีฯ เพื่อออกอากาศด้วยตนเอง อนึ่ง สทท.11 เริ่มมีชื่อเสียงในการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา จากการริเริ่มนำเทปการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพมาออกอากาศในระยะหนึ่ง และถ่ายทอดสดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2543 จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สทท.11 ก็กลับมามีชื่อเสียงในเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อร่วมกับบริษัท ทศภาค จำกัด บริษัทลูกที่ประกอบกิจการโฆษณาในเครือไทยเบฟเวอเรจ, สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีภาพยนตร์โฆษณาระหว่างการแข่งขัน ซึ่งหลังจากนั้น สทท.11 ก็ดำเนินการถ่ายทอดสดกีฬาอีกหลายรายการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง กรณีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2002 นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ของวงการโทรทัศน์ไทยในขณะนั้น เนื่องจากตามธรรมเนียมปกติที่ผ่านมา การถ่ายทอดโทรทัศน์ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินช่องต่างๆ มักรวมตัวกันในนามโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่ในประเทศไทย และหารายได้ทดแทนค่าลิขสิทธิ์ ด้วยการเสนอภาพยนตร์โฆษณาสินค้าบริการต่างๆ คั่นระหว่างการถ่ายทอด

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลง สทท.11 เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงาน และตอบสนองเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีฯ ดังนั้นในวันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. สทท.11 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (National Broadcasting Services of Thailand; NBT) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้จดทะเบียนสมาชิกกับสหภาพวิทยุ-โทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union; ABU) และเปลี่ยนสีประจำสถานีเป็นสีแดง พร้อมกันนั้น ยังเริ่มออกอากาศรายการรูปแบบใหม่ เพื่อให้สมเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสถานีและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ เอ็นบีทีจะนำเสนอข่าวที่ผลิตโดยกองบรรณาธิการข่าวของสถานีฯ เอง ซึ่งแยกออกมาจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบัน คือ สำนักข่าวแห่งชาติ) ต่างจากในยุค สทท.11 ซึ่งจะนำเสนอข่าวที่ผลิตจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์แทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นำอดีตผู้ประกาศข่าวหลายคนของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ไม่เข้าร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยมาทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตวงพร อัศววิไล, จอม เพชรประดับ, จิรายุ ห่วงทรัพย์, ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ เป็นต้น ซึ่งเอ็นบีทีนำเสนอภาพลักษณ์สถานีโทรทัศน์ข่าวสาร โดยให้เวลานำเสนอข่าวในผังรายการ มากกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน และปรับรูปลักษณ์ของสถานีฯ เพื่อให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งในช่วงแรก เอ็นบีทีถูกจับตาอย่างยิ่งจากหลายฝ่าย จากการประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ปัจจุบันคือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ในลักษณะของ "สงครามสื่อโทรทัศน์ภาครัฐ" เนื่องจากเอ็นบีทีนำเสนอความเป็นทีวีสาธารณะของภาครัฐบาล ขึ้นรับมือกับไทยพีบีเอส ที่ประกาศตัวเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยไปก่อนหน้า และนอกจากนี้ เอ็นบีทียังถูกจับตามองอย่างยิ่งในแง่มุมของการเสนอข่าว ซึ่งมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอ็นบีทีนำเสนอข่าวในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลเป็นพิเศษ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จากสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อมาจึงมีนโยบายปฏิรูปสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยจัดประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัยผสมผสานกับความเป็นไทย และจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที โดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้เปิดตราสัญลักษณ์ใหม่ และเปิดตัวสถานีฯ ในฐานะสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จากนั้นจึงมีการเลิกสัญญาบริษัทผลิตข่าว ซึ่งเดิมเป็นของ บริษัท ดิจิตอลมีเดียโฮลดิ้ง จำกัด มาประมูลใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก จากการประกวดราคานี้ได้แก่บริษัท โพสต์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กระทั่งต่อมา สทท.เรียกเวลารายการข่าวมาผลิตเองทั้งหมด

ในยุคที่ สทท กำลังจะก้าวสู่การแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 สถานีได้เปลี่ยนอักษรย่อที่กำกับด้านล่าง จากอักษรไทยเป็นอักษรอังกฤษ และทดลองออกอากาศผ่านโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ โดยระยะแรกออกอากาศในอัตราส่วน 4:3 โดยมีแถบสีม่วงอยู่ที่บริเวณด้านซ้ายและขวาของหน้าจอ แต่ต่อมาได้ปรับอัตราส่วนจอเป็น 16:9 แต่ในปีเดียวกัน กรมประชาสัมพันธ์ ประสบปัญหาโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลที่ล่าช้า ประกอบกับการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคา ประมูลโครงข่าย และขั้นตอนการจัดระเบียบข้าราชการ นำไปสู่การเลื่อนเปิดใช้โครงข่ายทีวีดิจิตอลออกไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 กรมประชาสัมพันธ์ ได้เปิดใช้โครงข่ายทีวีระบบดิจิตอล ตั้งแต่ที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ทยอยเปิดใช้โครงข่ายในอนาคต ระนาบเดียวกัน มีการปรับรูปแบบรายการข่าวใหม่ด้วยรูปแบบห้องส่งใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าช่องโทรทัศน์บริการธุรกิจ เช่น ฉากกำแพงวิดิทัศน์ (Video Wall) ขนาดใหญ่ โดยใช้ฉากหลังเป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆในประเทศไทย หรือ ฉากที่มีข้อความรณรงค์ต่างๆ

โครงสร้างการบริหาร

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย บริหารงานแบบองค์กรราชการ จัดแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 ส่วน 2 ฝ่าย และ 1 กลุ่ม คือ

  • ส่วนจัดและควบคุมรายการ มีหน้าที่ จัดสรร และควบคุมเนื้อหารายการ รวมถึงการออกอากาศรายการต่างๆ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
  • ส่วนผลิตรายการ มีหน้าที่ ผลิตรายการเพื่อป้อนให้กับ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อการออกอากาศต่อไป
  • ส่วนเทคโนโลยี มีหน้าที่ กำกับดูแลในด้านเทคโนโลยีการออกอากาศ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น
    • ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ บริหารงานทั่วๆ ไป เช่น ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายบุคคล เป็นต้น
    • ฝ่ายแผนงานและประสานงาน มีหน้าที่ วางแผนงาน และประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
      • กลุ่มงานวิชาการ มีหน้าที่ ศึกษา ค้นคว้า และ ประสานงาน ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน โดยได้จัดทำโครงการ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัย และบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์

ที่ทำการ

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เริ่มเปิดทำการในอาคารเลขที่ 90-91 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ต่อมา สทท.ทยอยดำเนินการย้ายฐานปฏิบัติงาน ไปยังอาคารที่ทำการหลังใหม่ ซึ่งก่อสร้างขึ้นภายในบริเวณเดียวกับที่ทำการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) เลขที่ 236 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันย้ายมาอย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนอาคารหลังเดิม สทท.โอนให้เป็นที่ทำการของ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ จนถึงปัจจุบัน

เครือข่ายในส่วนภูมิภาค

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย มีสถานีโทรทัศน์เครือข่ายในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง และภาคใต้ 6 แห่ง โดยในแต่ละสถานี จะมีการเชื่อมโยงรับส่งสัญญาณกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนกลาง ด้วยระบบดาวเทียม โดยที่ทางสถานีฯ ได้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 6

รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง

ตราสัญลักษณ์

ในบางโอกาสจะใช้ตราราชการของกรมประชาสัมพันธ์ เช่นในการเปิดสถานีเริ่มออกอากาศประจำวัน ส่วนระหว่างออกอากาศรายการต่างๆ จะใช้ตัวพิมพ์อักษรย่อ “สทท.11” อยู่บนมุมจอล่างทางขวามือเท่านั้น โดยใช้ตั้งแต่เริ่มทดลองออกอากาศ ในปี พ.ศ. 2528 จนเมื่อถึงยุคหลังจาก พ.ศ. 2535 จึงเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์ของสถานีฯ กำกับบนมุมจอล่างทางขวามือ ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย มีการเปลื่ยนแปลงอยู่ถึง 6 ครั้ง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2528-2530

สทท.11 เริ่มมีการออกแบบตราสัญลักษณ์ สำหรับใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์สถานีฯ และบนหน้าไมโครโฟนข่าว ตั้งแต่ช่วงทดลองออกอากาศ เป็นเส้นทแยงมุมจากขวาบนลงซ้ายล่าง แบ่งเป็นสามช่อง แต่ละช่องมีสามแม่สีแสงคือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงินเป็นพื้นหลัง มีตัวเลข 1 สีดำสองตัว ซ้อนเหลื่อมกัน ทับอยู่ด้านบน ถัดจากตัวเลขไปทางซ้าย มีตัวอักษรย่อ สทท. ตัวเล็กกำกับอยู่ ทั้งหมดอยู่ในกรอบโค้งมนแบบจอโทรทัศน์ โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้แค่ 2 ปี จึงทำการเปลี่ยนแปลง

พ.ศ. 2530-2544

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 สทท.11 ออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยใช้กรอบลักษณะจอโทรทัศน์เช่นเดิม แต่เปลี่ยนแปลงลักษณะภายใน กล่าวคือ พื้นหลังสุดเป็นเส้นตรงสีน้ำเงิน ขนานตามแนวนอน บริเวณใจกลางของตราสัญลักษณ์ มีเลข 1 สองตัว ตัวทางซ้ายเป็นสีเขียว ตัวทางขวาเป็นสีแดง โดยพื้นที่ทางซ้ายของตัวเลขทางซ้าย เป็นเส้นตรงขนานสีเขียว และพื้นที่ทางขวาของตัวเลขทางขวา เป็นเส้นตรงขนานสีแดง ตามขนาดของตัวเลข ด้านล่างของตัวเลขทั้งสอง มีอักษรย่อ สทท. สีดำกำกับไว้ด้วย ซึ่งตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้มาถึง 14 ปี แล้วเปลี่ยนแปลง

พ.ศ. 2544-2551

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2544 สทท.11 เปลี่ยนรูปแบบตราสัญลักษณ์ในรายละเอียดใหม่ โดยปรับปรุงจากการใช้เส้นขนานตามแนวนอน เป็นแถบสีสดใส โดยใช้สีตามสัญลักษณ์เดิม พร้อมนี้ ได้เปลี่ยนตัวเลข 1 ทั้งสองตัว เป็นสีขาว เดินเส้นขอบสีดำ และตัวอักษรย่อ สทท. เปลี่ยนเป็นสีขาวด้วย ซึ่งใช้อยู่เป็นระยะเวลา 7 ปี ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที

พ.ศ. 2551-2552

ในปี พ.ศ. 2551 สทท.11 เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จึงออกแบบตราสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ โดยเน้นภาพลักษณ์ที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยความหมายของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว อธิบายได้ดังนี้

  • วงกลมสีน้ำเงิน หมายถึง ศูนย์กลางแห่งข้อมูลข่าวสาร ส่วนสีน้ำเงิน หมายถึงความหนักแน่นเป็นกลาง ส่วน สามเหลี่ยมใต้วงกลม หมายถึง ความเที่ยงตรง เป็นกลาง ในการนำเสนอข่าว อย่างไม่หยุดนิ่ง
  • วงรี 3 วง สื่อถึงแผนที่โลกที่แผ่ออกเป็น 2 มิติ หมายถึง การนำเสนอเหตุการณ์สำคัญจากทั่วทุกมุมโลก
  • ตัวอักษรภาษาอังกฤษ NBT ใช้สีขาว หรือโปร่งใส หรือเป็นวาวแสงคล้ายแก้ว หมายถึง ความโปร่งใสในการนำเสนอข่าวสาร ที่สามารถตรวจสอบได้[3]

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 15.15 น. เป็นต้นมา การแสดงตราสัญลักษณ์ของเอ็นบีทีบนจอโทรทัศน์ จะมีอักษรย่อ สทท. กำกับอยู่ด้านล่างของตราสัญลักษณ์ฯ ด้วย ซึ่งในเวลาดังกล่าว เป็นรายการหน้าต่างสังคม

พ.ศ. 2552- ปัจจุบัน

สทท.มีโครงการให้ประชาชนส่งประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ของสถานี โดยกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัย แต่คงความเป็นไทย และมุ่งสู่สากล ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือผลงานของเนติพิกัติ ตังคไพศาล กราฟิกดีไซเนอร์ จากองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งได้แนวความคิดจากตราราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ปาญจนันท์ โดยดัดแปลงเฉพาะส่วนที่เป็นสังข์ให้ทันสมัยมากขึ้น ตราสัญลักษณ์ใหม่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 19.00 น. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของชื่อเอ็นบีที ต่อมาราวเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 สทท.นำชื่อโดเมนของเว็บเพจสถานีฯ (nbttv.prd.go.th) มาวางไว้ที่ส่วนล่างของตราสัญลักษณ์ แต่ปัจจุบันนำออกไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 โดยเปลี่ยนอักษรย่อที่กำกับด้านล่าง จากอักษรไทยเป็นอักษรอังกฤษ

อนึ่ง การแสดงสัญลักษณ์ของสถานีในช่วงกลางปี 2552 ถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2553 นั้น รูปสังข์จะเป็นภาพแบบ 3 มิติ และสามารถหมุนได้ แต่ในปัจจุบันพบเห็นได้เฉพาะในแถบวิ่งข่าวของสถานี และต่อมาสัญลักษณ์บนหน้าจอกลับมาเป็นแบบ 3 มิติอีกครั้ง โดยหมุนสลับกับสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมคางหมูสีม่วง มีเลข 2 สีขาวภายใน และคำว่า HD สีขาว

พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน

สทท.ได้เริ่มใช้โลโก้ NBT HD ช่องหมายเลข2 เพื่อประชาสัมพันธ์การรับชมช่อง NBT ในระบบดิจิตอลทีวี และในระบบจานดาวเทียม ทางช่องหมายเลข2 เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ปรากฏบนสื่อโซเชี่ยลมีเดีย และเว็บไซต์ ก่อนออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยเป็นภาพสี่เหลี่ยมคางหมูสีม่วง มีเลข 2 สีขาว อยู่ภายใน (ลักษณะโดยรวมคล้ายตราสัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ "ฟรองซ์ เดอซ์" ของประเทศฝรั่งเศส) โดยสัญลักษณ์นี้ปรากฏควบคู่กับตราสัญลักษณ์เดิมที่ใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2552

คำขวัญ

  • โทรทัศน์แห่งประเทศไทย ทางเลือกใหม่ของปวงชน (1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน)
  • สถานีข่าวสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
  • สถานีข่าวสารความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555)

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวของสถานี

ในอดีต

ปัจจุบัน

ข้อวิพากษ์วิจารณ์และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานี

กระบอกเสียงรัฐบาล

ในปี พ.ศ. 2551 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย) โดยเฉพาะให้มีรายการความจริงวันนี้ ซึ่งเป็นรายการกระบอกเสียงของรัฐบาล โดยมีผู้เสียหายจากข้อเท็จจริง จนต้องออกมาฟ้องหมิ่นประมาทอยู่บ่อยครั้ง เช่นตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. รวมไปถึงสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม

การบุกยึดที่ทำการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

ไฟล์:Event NBT was attacked.jpg
ภาพขณะพันธมิตรฯ ทำลายประตูรั้ว เพื่อเข้าชุมนุมภายในเอ็นบีที เมื่อเวลา 8.30 น.
ไฟล์:Event NBT 1stTempOnAirShutdown.jpg
ภาพขณะถูกระงับการออกอากาศจากห้องส่งชั่วคราวแห่งที่ 1

เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 มีกลุ่มชายฉกรรจ์ สวมหมวกไอ้โม่งปิดหน้าอย่างมิดชิด ซึ่งอ้างตัวเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย หน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำนวนประมาณ 80 คน ได้บุกเข้ายึดอาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่งดออกอากาศรายการข่าวเช้า ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ โดยตรวจพบอาวุธปืน ไม้กอล์ฟ มีดดาบสปาตา และใบกระท่อม ในตัวกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว

จากนั้น เวลาประมาณ 06.00 น. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ขึ้นประกาศบนเวทีใหญ่ของพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ได้บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเป็นผลสำเร็จแล้ว ตนจะนำกลุ่มดาวกระจายตามไปสมทบที่สถานีฯ

ต่อมา เวลาประมาณ 08.30 น. แนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่นำโดยสมเกียรติ และอมร อมรรัตนานนท์ ได้พังประตูรั้วเข้ายึดที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตลอดจนห้องส่งกระจายเสียง และห้องส่งออกอากาศ ถือเป็นการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์โดยประชาชนครั้งแรกในประเทศไทย[4]

กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม 92.5 และ 97.0 เมกกะเฮิร์ทซ์ ตลอดจนมีความพยายามของเจ้าหน้าที่เทคนิค สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ในการนำสัญญาณโทรทัศน์ของเอเอสทีวี มาออกอากาศในคลื่นความถี่โทรทัศน์ของเอ็นบีทีแทน เป็นผลให้เอ็นบีทีไม่สามารถออกอากาศได้ในช่วงแรก แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคเปลี่ยนระบบการออกอากาศ โดยใช้สัญญาณแอนาล็อกแทนสัญญาณดิจิตอล ทำให้สามารถออกอากาศได้โดยไม่มีคลื่นแทรก ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจจึงตัดสายไฟฟ้าของเครื่องส่ง เพื่อให้เกิดความเสียหายแทน[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนความพยายามออกอากาศรายการข่าวทางเอ็นบีที อย่างต่อเนื่องของพนักงานฝ่ายข่าว นำโดยตวงพร อัศววิไล, จิรายุ ห่วงทรัพย์, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์, อดิศักดิ์ ศรีสม, วรวีร์ วูวนิช, กฤต เจนพานิชการ เป็นต้น โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ กล่าวคือ

  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากรถถ่ายทอดสดนอกสถานที่ แล้วให้สำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนกลาง ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รับสัญญาณผ่านดาวเทียม ส่งไปยังเสารับสัญญาณโทรทัศน์บนอาคารใบหยก 2 เพื่อส่งออกอากาศทั่วประเทศอีกชั้นหนึ่ง โดยออกอากาศจากห้องส่งชั่วคราว ภายในบริเวณสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาพบ จึงถูกระงับการออกอากาศไปอีก
  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาค (ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดเชียงใหม่) [ต้องการอ้างอิง] มาที่ส่วนกลาง แล้วไปตามเส้นทางเดิม
  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากรถถ่ายทอดสดนอกสถานที่เช่นเดิม โดยจัดห้องภายในศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) และต่อมาที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นห้องส่งชั่วคราว[4]

จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. วันเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศถอนกำลังออกจากสถานีฯ เนื่องจากความพยายามเชื่อมต่อสัญญาณเอเอสทีวีไม่ประสบผล แล้วไปสมทบกับกลุ่มใหญ่ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบบริเวณสถานีฯ พบว่ามีการบุกรุกเข้าไปห้องต่างๆ ภายในอาคาร สถานที่ถูกทำลายไปเป็นบางส่วน อีกทั้งมีทรัพย์สินเสียหายและสูญหายไปจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะมีการบุกรุกเข้าไปรื้อค้นสิ่งของ ภายในห้องประทับรับรอง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่มีหมายกำหนดการเสด็จทรงบันทึกเทปรายการทูบีนัมเบอร์วันวาไรตี้ ที่เอ็นบีทีในวันดังกล่าวด้วย หลังจากการตรวจสอบในเบื้องต้น จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ กลับเข้าปฏิบัติงานภายในอาคารได้[ต้องการอ้างอิง]

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และผู้ประกาศข่าวส่วนหนึ่ง ยังคงรายงานข่าวที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในช่วงคืนวันที่ 26 ต่อเช้าวันที่ 27 สิงหาคม จนกระทั่งสามารถกลับมาออกอากาศ รายการข่าวภายในสถานีได้ตามปกติ ในช่วงข่าวเที่ยง วันที่ 27 สิงหาคม[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น