กุยฮุย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุยฮุย (กัว นฺหวี่หวาง)
郭女王
ภาพวาดกุยฮุยจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง29 มิถุนายน ค.ศ. 226 – 14 มีนาคม ค.ศ. 235
ก่อนหน้าเปียนซี
ถัดไปกวยทายเฮา
จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง31 ตุลาคม ค.ศ. 222[a] – 29 มิถุนายน ค.ศ. 226
ถัดไปมอซือ
ประสูติ8 เมษายน ค.ศ. 184[b]
สวรรคต14 มีนาคม ค.ศ. 235(235-03-14) (50–51 ปี)[c]
คู่อภิเษกโจผี
พระนามหลังสวรรคต
จักรพรรดินีเหวินเต๋อ (文德皇后 เหวินเต๋อหฺวางโฮ่ว)
พระราชบิดากุยเฮง
พระราชมารดาต่งชื่อ

กุยฮุย (8 เมษายน ค.ศ. 184[b] – 14 มีนาคม ค.ศ. 235[c]) หรือ กัว นฺหวี่หวาง (จีน: 郭女王) พระนามอย่างเป็นทางการคือ จักรพรรดินีเหวินเต๋อ (จีน: 文德皇后) เป็นจักรพรรดินีแห่งรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน อภิเษกสมรสกับโจผี จักรพรรดิองค์แรกแห่งวุยก๊ก

ภูมิหลังครอบครัวและสมรสกับโจผี[แก้]

กุยเฮง (郭永 กัว หย่ง) บิดาของกุยฮุยมาจากสืบเชื้อสายจากขุนนางชั้นผู้น้อยในท้องถิ่น เมื่อกุยฮุยยังเยาว์มีชื่อเสียงในเรื่องสติปัญญา กุยเฮงผู้บิดาประทับใจในความสามารถของบุตรสาวจึงตั้งชื่อรองที่มีความแปลกว่า "นฺหวี่หวาง" (มีความหมายว่า "กษัตริย์หญิง") บิดามารดาของกุยฮุยเสียชีวิตเมื่อกุยฮุยอายุ 5 ปี กุยฮุยกลายมาเป็นข้ารับใช้ในบ้านของคนผู้หนึ่งที่มีบรรดาศักดิ์ถงตีโหว (銅鞮侯) ในที่สุดกุยฮุยก็ได้เป็นสนมคนหนึ่งของโจผีขณะเมื่อโจผีเป็นรัชทายาทของโจโฉที่เป็นวุยอ๋อง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่ากุยฮุยมาเป็นสนมของโจผีได้อย่างไร กุยฮุยกลายเป็นคนโปรดของโจผีอย่างรวดเร็ว โจผีชอบกุยฮุยมากถึงขั้นเริ่มเหินห่างจากเอียนซีผู้เป็นชายาซึ่งก็มีชื่อเสียงในเรื่องความงาม กุยฮุยให้คำแนะนำอันหลักแหลมเกี่ยวกับการเมืองแก่โจผีในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งเรื่องการเป็นผู้สืบทอดระหว่างโจผีกับเหล่าน้องชาย ชีวประวัติของกุยฮุยยังระบุอีกว่าเมื่อโจผีได้เป็นรัชทายาทในที่สุด กุยฮุยมีส่วนอย่างมากในการวางแผนให้โจผีเป็นรัชทายาท เอียนซีจึงสูญเสียความโปรดปรานจากโจผีไปโดยสิ้นเชิง เอียนซียังบ่นว่าโจผีชอบหญิงอื่นมากกว่าตน หลังโจผีขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งวุยก๊กในช่วงปลายปี ค.ศ. 220 (หลังบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สละราชย์ให้ตน) โจผีจึงบังคับให้เอียนซีฆ่าตัวตายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 221 ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 222 โจผีสถาปนากุยฮุยเป็นจักรพรรดินี

ในฐานะจักรพรรดินี[แก้]

หลังจากุยฮุยขึ้นเป็นจักรพรรดินี กล่าวกันว่ากุยฮุยเป็นผู้นำที่ดีของเหล่าสนมในวัง ปฏิบัติต่อเหล่าสนมเป็นอย่างดีและอบรมตามสมควรเมื่อสนมประพฤติไม่เหมาะสมพร้อมทั้งเก็บงำความผิดไม่ให้รู้ถึงโจผี กุยฮุยยังเป็นผู้ใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์ ในปี ค.ศ. 226 กุยฮุยทำตามคำขอร้องของจักรพรรดินีพันปีหลวงเปียนซีผู้เป็นพระสัสสุ (แม่สามี) ในการเกลี้ยกล่อมโจผีให้ละเว้นโทษให้โจหองแม้ว่าโจผีจะเคยแค้นโจหองมาแต่ก่อน

กุยฮุยไม่มีพระโอรสกับโจผี โอรสองค์โตของโจผีคือโจยอยซึ่งเกิดกับเอียนซีจึงถือเป็นทายาทโดยสันนิษฐาน แต่เพราะเหตุที่เกิดขึ้นกับเอียนซีจึงทำให้โจยอยไม่ได้รับการตั้งเป็นรัชทายาท แต่ตั้งเป็นเพียงเพงงวนอ๋อง (平原王 ผิงยฺเหวียนหวาง) (มีบันทึกที่ไม่สอดกล้องกันว่าโจยอยได้รับการเลี้ยงโดยกุยฮุย หรือโดยหลี่กุ้ยเหริน (李貴人) สนมคนหนึ่งของโจผี) ขณะที่กุยฮุยเป็นจักรพรรดินี มีความสัมพันธ์ที่มีไมตรีต่อโจยอย ไม่มีหลักฐานว่ากุยฮุยคัดค้านโจผีที่กำลังประชวรหนักในการตั้งโจยอยเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 226 โจผีสวรรคตไม่นานหลังจากนั้น โจยอยขึ้นครองสืบราชบัลลังก์

ในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวง[แก้]

จักรพรรดิโจยอยแม้ว่าจะเชิดชูเกียรติเอียนซีพระมารดาที่ล่วงลับในฐานะจักรพรรดินี แต่ก็ยังให้เกียรติกุยฮุยพระมารดาบุญธรรมในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวง รวมถึงพระราชทานทรัพย์และตำแหน่งให้กับสมาชิกในตระกูลของกุยฮุย กุยฮุยสิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 235[c] และได้รับการฝังพระศพในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 235 ด้วยเกียรติอย่างจักรพรรดินีเคียงคู่โจผีผู้เป็นพระสวามี ตระกูลของกุยฮุยยังคงได้รับเกียรติจากจักรพรรดิโจยอยผู้เป็นพระโอรสบุญธรรม

อย่างไรก็ตาม สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกุยฮุยยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์ บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ (แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุป) ระบุว่าครั้งหนึ่งในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอย สนมหลี่กุ้ยเหรินในจักรพรรดิโจผีทูลโจยอยเรื่องที่กุยฮุยมีส่วนสำคัญในการเสียชีวิตของเอียนซี และทูลต่อไปว่าหลังการเสียชีวิตของเอียนซี เป็นกุยฮุยที่เสนอให้ฝังศพของเอียนซีโดยมีผมคลุมใบหน้าและในปากเต็มไปด้วยแกลบ เพื่อว่าแม้เมื่อเอียนซีเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะพูดบ่นได้อีก โจยอยทรงกริ้วและเสด็จไปพบกุยฮุย กุยฮุยไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระองค์มีส่วนร่วม โจยอยจึงบังคับให้กุยฮุยกระทำอัตวินิบาตกรรม ขณะที่โจยอยทำการฝังพระศพของกุยฮุยด้วยเกียรติอย่างจักรพรรดินี ก็ให้นำพระเกศาคลุมพระพักตร์ (เพื่อไม่ให้กุยฮุยเห็นแสงตะวันได้อีก) และให้ในพระโอษฐ์เต็มไปด้วยแกลบ (เพื่อไม่ให้กุยฮุยตรัสอะไรได้อีกในปรโลก)

อย่างไรก็ตาม แม้หลังการสิ้นพระชนม์ของกุยฮุย ตระกูลของกุยฮุยก็ยังคงได้รับความโปรดปรานจากโจยอยโดยเฉพาะกัว เปี่ยว (郭表) ลูกพี่ลูกน้องของกุยฮุยซึ่งได้สืบทอดบรรดาศักดิ์จากกุยเฮงบิดาของกุยฮุยและได้รับการเลื่อนยศเป็นขุนพล

หมายเหตุ[แก้]

  1. วันเกิงจื่อ เดือน 9 ของศักราชอ้วยโช่ปีที่ 3 จากพระราชประวัติโจผีในจดหมายเหตุสามก๊ก
  2. 2.0 2.1 ในเว่ย์ชูโดยหวาง เฉินและคนอื่น ๆ บันทึกว่ากุยฮุยเกิดในวันอี๋เหม่า เดือน 3 ของศักราชจงผิงปีที่ 1 ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[1] เทียบได้กับวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 184 ในปฏิทินกริโกเรียน
  3. 3.0 3.1 3.2 พระราชประวัติโจยอยในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่ากุยฮุยสิ้นพระชนม์ในวันติงซื่อ เดือน 2 ของศักราชชิงหลงปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจยอย[2] เทียบได้กับวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 235 ในปฏิทินกริโกเรียน

อ้างอิง[แก้]

  1. (后以汉中平元年三月乙卯生.) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  2. ([青龍三年二月]丁巳,皇太后崩。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
  • Chen, Shou; Pei, Songzhi (March 1999). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States with Pei Songzhi's Commentary. แปลโดย Crowell, William Gordon; Cutter, Robert Joe (annotated ed.). University of Hawaii Press. ISBN 0824819454.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
ก่อนหน้า กุยฮุย ถัดไป
ราชวงศ์ใหม่ จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
(ค.ศ. 222–226)
มอซือ
(จักรพรรดินีเหมา)
โจเฮา (จักรพรรดินีเฉา เจี๋ย)
แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
จักรพรรดินีจีน (ภาคเหนือ/ภาคกลาง)
(ค.ศ. 222–226)