เอกิเบ็ง
เอกิเบ็งราคา 1000 เยนที่จำหน่ายในสถานีรถไฟโตเกียว | |
ประเภท | อาหารกล่อง |
---|---|
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง | ญี่ปุ่น |
เอกิเบ็ง (ญี่ปุ่น: 駅弁; โรมาจิ: Ekiben) หรือข้าวกล่องรถไฟเป็นอาหารกล่อง (เบ็นโต) ที่มีจำหน่ายบนขบวนรถไฟและสถานีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น และมักจะมีตะเกียบหรือช้อนแบบใช้แล้วทิ้งแถมมาให้ กล่องเอกิเบ็งอาจทำด้วยพลาสติก ไม้ หรือเซรามิก หลายสถานีในประเทศญี่ปุ่นจำหน่ายเอกิเบ็งที่ทำจากอาหารประจำท้องถิ่น
เอกิเบ็งเริ่มวางจำหน่ายตามสถานีรถไฟช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อผู้โดยสารที่เดินทางเป็นระยะทางไกลจำเป็นต้องรับประทานอาหาร ยอดขายเอกิเบ็งถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนเสื่อมความนิยมเนื่องจากการเดินทางทางอากาศได้รับความนิยมมากกว่า และรถไฟใช้ความเร็วสูงมากขึ้นทำให้ระยะเวลาเดินทางสั้นลง อย่างไรก็ตาม เอกิเบ็งบางชนิดยังคงหาซื้อได้ตามแผงจำหน่ายในสถานีรถไฟ ที่ชานชาลา หรือบนขบวนรถ บางชนิดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบลวดลายเป็นพิเศษเพื่อเป็นของที่ระลึกหรือของสะสม
ประวัติ
[แก้]คำว่าเอกิเบ็งเป็นคำประสมระหว่าง เอกิ (ญี่ปุ่น: 駅; โรมาจิ: eki) ซึ่งแปลว่าสถานีรถไฟ และ เบ็ง (ญี่ปุ่น: 弁; โรมาจิ: ben) ซึ่งย่อมาจากเบ็นโตหรืออาหารกล่อง[1] ในสมัยก่อนที่จะมีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น ผู้เดินทางมักจะห่ออาหารไปเองหรือซื้อเบ็นโตที่มีจำหน่ายตามร้านน้ำชา นอกจากนี้ โรงละครคาบูกิยังจำหน่ายอาหารกล่องที่เรียกว่า มากูโนอูจิเบ็นโต ระหว่างนักแสดงกำลังพักระหว่างเปลี่ยนฉาก เมื่อกิจการรถไฟเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่น เอกิเบ็งจึงเกิดขึ้นตาม เชื่อกันว่าเอกิเบ็งมีจำหน่ายครั้งแรกที่สถานีรถไฟอุตสึโนมิยะใน พ.ศ. 2428 เมื่อเปิดเดินรถเชื่อมต่อกับสถานีอูเอโนะในกรุงโตเกียว[2] เอกิเบ็งยุคแรกมีเพียงโอนิงิริห่อในใบไผ่อ่อนเท่านั้น[2] แนวคิดการจำหน่ายอาหารที่สถานีรถไฟเริ่มแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และใน พ.ศ. 2431 เอกิเบ็งแบบมาตรฐานซึ่งประกอบด้วยข้าวและกับข้าวสองสามอย่างเริ่มวางจำหน่ายที่สถานีรถไฟฮิเมจิ[3] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลายสถานีเริ่มจำหน่ายเอกิเบ็งที่ปรุงจากอาหารในท้องถิ่น และเอกิเบ็งกลายมาเป็นเบ็นโตแบบเฉพาะที่แตกต่างจากเบ็นโตทั่วไป เอกิเบ็งบางชนิดสามารถหาซื้อได้แค่ที่บางสถานีในท้องถิ่นนั้น ๆ เท่านั้น[4] ตัวอย่างที่รู้จักกันดีได้แก่ อิกาเมชิ หรือหมึกยัดไส้ข้าวที่มีวางจำหน่ายที่สถานีรถไฟโมริ จังหวัดฮกไกโด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะจากเอกิเบ็งเป็นอาหารขึ้นชื่อของภูมิภาค[1]
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเดินทางทางรถไฟได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และความนิยมเอกิเบ็งยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากอิทธิพลของละครซึ่งสร้างจากมังงะเกี่ยวกับตัวละครที่เดินทางตระเวนชิมเอกิเบ็งทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่จุดสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ประมาณการว่าการบริโภคเอกิเบ็งในแต่ละวันอยู่ที่ 12 ล้านกล่อง[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อการเดินทางทางอากาศได้รับความนิยม และขบวนรถไฟที่เร็วกว่าเดิมเริ่มแพร่หลาย รถไฟด่วนหลายขบวนเช่นชิงกันเซ็งยังลดจำนวนสถานีรายทางที่จอด เอกิเบ็งก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากระยะเวลาเดินทางสั้นลง และโอกาสจำหน่ายยากขึ้น[5] บางสถานีไม่มีเอกิเบ็งจำหน่ายแล้ว[1] จำนวนผู้ผลิตเอกิเบ็งลดลงกว่าร้อยละ 50 จาก พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2551 บางพื้นที่เอกิเบ็งกลายเป็นของฝากประจำท้องถิ่นที่มีภาชนะบรรจุเป็นลักษณะเฉพาะ[3][6]
นอกเหนือจากสถานีรถไฟแล้ว เอกิเบ็งยังมีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจัดเทศกาลเอกิเบ็งประจำปี ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2509 งานเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเคโอที่สถานีรถไฟชินจูกุในกรุงโตเกียว และห้างสรรพสินค้าฮันชิงที่นครโอซากะ[1]
คลังภาพ
[แก้]-
เอกิเบ็งชนิดต่าง ๆ ที่มีขายที่สถานีรถไฟ
-
ร้านจำหน่ายเอกิเบ็งบนชานชาลาสถานีรถไฟคามากูระ
-
ข้าวกล่องรถไฟลักษณะคล้ายคลึงกันในประเทศไต้หวัน
-
ตัวอย่างเอกิเบ็งที่จำหน่ายที่สถานีรถไฟฮิโรชิมะ
-
ข้าวกล่องสุกียากี้พร้อมชุดให้ความร้อนที่จำหน่ายที่สถานีรถไฟโยเนซาวะ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Ekiben: Taste the Romance of Travel". Tokyo Restaurants Guide.
- ↑ 2.0 2.1 Yoko Hani (January 5, 2003). "Japan's own meals on wheels". The Japan Times.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Lombardi, Linda (July 15, 2015). "Ekiben! Japanese Food on Japanese Trains and Beyond". Tofugu.
- ↑ Shun Gate (April 29, 2017). "Ekiben Reflects the taste, culture and passion of each region". Tokyo Business Today.
- ↑ "Junshin Hayashi; Shinobu Kobayashi, Ekibengaku koza" (ภาษาญี่ปุ่น). Shueisha, Japan. 2000-09-01. ISBN 9784087200522. สืบค้นเมื่อ 2008-06-26.
- ↑ Amy Chavez (November 3, 2015). "The cutest, must-have bento lunchboxes you can buy and eat on the train". Sora News 24.