โอเซจิ
โอเซจิ (ญี่ปุ่น: 御節, お節; โรมาจิ: osechi) หรือ โอเซจิเรียวริ (ญี่ปุ่น: 御節料理, お節料理; โรมาจิ: osechiryōri) (เรียวริ แปลว่า การทำอาหาร) เป็นสำรับอาหารสำหรับเทศกาลปีใหม่ในญี่ปุ่น เป็นขนบประเพณีที่มีมาตั้งแต่ยุคเฮอัง โอเซจิ นั้นจะถูกจัดเรียงอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยม 3-4 กล่องที่เรียกว่า จูบาโกะ (ญี่ปุ่น: 重箱) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกล่องเบ็นโต จูบาโกะจะถูกซ้อนเก็บไว้ทั้งก่อนการใช้งานและหลังใช้งาน โอเซจินั้นมักรับประทานร่วมกับโทโซะ
ชาวญี่ปุ่นจะรับประทานโอเซจิเรียวริกันในช่วงเวลา 3 วันหลังวันขึ้นปีใหม่ (1 มกราคม) ซึ่งนิยมรับประทานโอเซจิเรียวริเป็นมื้อแรกของปีพร้อมกับครอบครัว
ประวัติ
[แก้]จากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณที่ว่า ในเทศกาลสำคัญจะต้องถวายอาหารแด่เทพเจ้าเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองไปกับเทพเจ้า ในยุคเฮอังได้มีการกำหนดวันที่จะถวายอาหารไว้อยู่หนึ่งวัน แล้วเทพเจ้าก็จะประทานพรโชคลาภให้อยู่ 5 เทศกาลนั่นคือ วันที่ 7 มกราคม เทศกาลจินจิตสึ (人日), วันที่ 3 มีนาคม เทศกาลโจชิ (上巳) หรือเทศกาลดอกท้อ (แต่มักเรียกกันว่า วันเด็กหญิง), วันที่ 5 พฤษภาคม เทศกาลทังโงะ (端午) หรือวันเด็กผู้ชาย, วันที่ 7 กรกฎาคม เทศกาลทานาบาตะ (七夕) และวันที่ 9 กันยายน เป็นวันโจโย (重陽) หรือเทศกาลดอกเบญจมาศ
จุดกำเนิดของ โอเซจิ นั้นมาจากการที่ทั้งครอบครัวมาถวายอาหารต่อเทพเจ้าพร้อมกัน เรียกสำรับอาหารนั้นว่า โอเซ็กกุ (お節供) อันเป็นที่มาของคำว่า โอเซจิ นอกจากนี้ ยังมีคำเรียกโอเซจิเป็นอย่างอื่นด้วย คือ เซ็กกุ (節供), เซจิเอะ (節会) และ เซ็ตสึนิจิ (節日)
ก่อนหน้ายุคเอโดะ โอเซจิไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างในปัจจุบัน เมื่อมีการเฉลิมฉลองกันในหมู่ชนชั้นซามูไรก็จะมีการจัดอาหารมงคลสำหรับการฉลองใส่จูบาโกะ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาหารได้ถูกจัดลงไปในกล่องเช่นนี้ การที่กล่องมีหลายชั้นนั้นแสดงถึงการเฉลิมฉลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงจัดอาหารโอเซจิใส่กล่องไม้ทาแล็กเกอร์ซ้อนกันอยู่ โดยในแต่ละชั้นก็จะบรรจุอาหารที่แตกต่างกันไปอย่างมีระเบียบ
ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการรับประทานโอเซจินี้ก็ยังคงอยู่ แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ส่วนมากทำโอเซจิไม่เป็น แต่ถึงกระนั้นชาวญี่ปุ่นก็ยังสืบทอดการรับประทานอาหารพิเศษในวันปีใหม่นี้อยู่ โดยการซื้อโอเซจิสำเร็จรูปจากร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า
ตัวอย่างอาหาร
[แก้]อาหารในโอเซจิ แต่ละอย่างมีความหมายพิเศษของมันเพื่อการฉลองปีใหม่ ตัวอย่างบางส่วนเป็น:
- ไดได (橙) หรือส้มจี๊ดญี่ปุ่น ไดไดนั้นมีความหมาย คือ "จากรุ่นสู่รุ่น" เมื่อเขียนแบบคันจิ จะเขียนได้ว่า 代 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาสำหรับเด็กในวันขึ้นปีใหม่
- ดาเตมากิ (伊達巻/ 伊達巻き) หรือไข่เจียวม้วน ซึ่งมีลักษณะการเจียวไม่เหมือนกับไข่เจียวธรรมดา อาจจะผสมไปด้วยกุ้งหรือปลาบด เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาสำหรับวันมหามงคล
- คามาโบโกะ (蒲鉾) เนื้อปลาบดนึ่งเป็นก้อน จะถูกหั่นแล้วจัดวางสลับกันเป็นชิ้นสีแดง (หรือชมพู) และขาว จากสีนั้นมีความหมายถึงอาทิตย์อุทัยของญี่ปุ่น
- คาซูโนโกะ (数の子) หรือไข่ปลาแฮร์ริง คาซุ มีความหมายว่า "จำนวน" ส่วน โนโกะ มีความหมายว่า "เด็ก" หรือก็คือ "เด็กจำนวนมาก" ในเทศกาลปีใหม่นั่นเอง
- คมบุ (昆布) เป็นสาหร่ายประเภทหนึ่ง มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า "โยโรโกบุ" (喜ぶ) ซึ่งมีความหมายว่า "ยินดี"
- คูโรมาเมะ (黒豆) หรือถั่วเหลืองดำ มีความนุ่มกำลังดี มาเมะ มีความหมายว่า "สุขภาพ" ซึ่งก็คือปรารถนาให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
- โคฮากูนามาซุ (紅白なます) เป็นผักสีขาว-แดง ที่นิยมทำเป็นก้อน ซึ่งทำมาจากแคร์รอตซอยและผักกาดหัวซอย และแช่ในน้ำส้มสายชูชนิดพิเศษ
- ไท (鯛) หรือปลาบรีมทะเลสีแดง ไทมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า เมเดไต สัญลักษณ์ของเทศกาลอันเป็นมงคล
- อาวาซูเกะ (粟漬) ปลาโคโนชิโระก่อนที่จะเจริญเติบโตเต็มที่ ต้มแล้วหมักในน้ำส้มสายชู ใส่สีเหลืองที่ทำจากดอกการ์ดิเนีย เป็นการขอพรให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีไม่มีอุปสรรค
- เอบิ (エビ) กุ้งซึ่งปรุงรสด้วยสาเกและซอสถั่วเหลือง
ที่มา
[แก้]- "โอะเซะจิ เรียวริ." ญี่ปุ่น: ภาพประกอบสารานุกรม. Ed. Alan Campbell & David S. Noble. โตเกียว: Kōdansha, 1995.
- โอเซจิเรียวริ อาหารแด่เทพเจ้าครั้งแรกของปี เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Japan World Mook Series