ไดฟูกุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไดฟูกุ
ชื่ออื่นไดฟูกูโมจิ
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว, ไส้หวาน (มักเป็นถั่วแดงกวน)
รูปแบบอื่นโยโมงิไดฟูกุ, อิจิโงไดฟูกุ, ยูกิมิไดฟูกุ

ไดฟูกุโมจิ (ญี่ปุ่น: 大福餅โรมาจิDaifukumochi) หรือ ไดฟูกุ (ญี่ปุ่น: 大福โรมาจิdaifuku; แปลว่า "มหาโชคลาภ") เป็นวางาชิ (ขนมหวานญี่ปุ่นจำพวกหนึ่ง) ประกอบด้วยโมจิ (เค้กข้าวเหนียว) รูปร่างกลมขนาดเล็ก สอดไส้ด้วยไส้หวาน โดยทั่วไปเป็นไส้อังโกะ (ถั่วแดงกวนที่ทำจากถั่วอาซูกิ) ไดฟูกุเป็นวากาชิยอดนิยมในญี่ปุ่นและมักเสิร์ฟพร้อมกับชาเขียว

ไดฟูกุ (แบบธรรมดา)

ไดฟูกุมีหลายแบบ ที่พบมากที่สุดคือโมจิสีขาว สีเขียวอ่อน หรือสีชมพูอ่อนที่สอดไส้อังโกะ ไดฟูกุมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร (1.5 นิ้ว) ไดฟุกุเกือบทั้งหมดหุ้มด้วยแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด หรือแป้งมันฝรั่งชั้นบาง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไดฟูกุติดกันเองหรือติดนิ้ว แม้ว่าโมจิตสึกิจะเป็นวิธีการดั้งเดิมในการทำโมจิและไดฟูกุ แต่ก็สามารถปรุงไดฟูกุในเตาไมโครเวฟได้เช่นกัน[1]

ประวัติ[แก้]

ไดฟูกุเดิมเรียกว่า ฮาบูไตโมจิ (ญี่ปุ่น: 腹太餅โรมาจิHabutai mochi; แปลว่า เค้กข้าวลงพุง) เนื่องจากลักษณะของใส่ไส้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไดฟูกูโมจิ (ญี่ปุ่น: 大腹餅โรมาจิdaifuku mochi; แปลว่า เค้กข้าวพุงใหญ่) แล้วเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ไดฟูกูโมจิิ (ญี่ปุ่น: 大福餅โรมาจิdaifuku mochi; แปลว่า เค้กข้าวมหาโชคลาภ) บ่งถึงการนำมาซึ่งความโชคดี เนื่องจากคำว่า "ฟูกุ" (ญี่ปุ่น: โรมาจิFuku) ในภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า "ท้อง" พ้องเสียงกับคำว่า "ฟูกุ" (ญี่ปุ่น: โรมาจิFuku) ที่มีความหมายว่า "โชคลาภ" ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ไดฟูกุได้รับความนิยมและผู้คนเริ่มรับประทานไดฟูกุแบบย่าง ใช้สำหรับเป็นของขวัญในโอกาสพิธีการต่าง ๆ[2]

รูปแบบต่าง ๆ[แก้]

มาเมไดฟูกุ (ไดฟูกุถั่ว)
โยโมงิไดฟูกุ (ไดฟูกุโกฐจุฬาลัมพา)
อิจิโงไดฟูกุ (ไดฟูกุสตรอว์เบอร์รี)

บางรูปแบบยัดไส้ผลไม้ทั้งผล ผลไม้รวมและอังโกะ หรือเมลอนบด บางรูปแบบหุ้มด้วยน้ำตาลไอซิงหรือผงโกโก้

ไดฟูกุโกฐจุฬาลัมพา/โยโมงิไดฟูกุ (蓬大福, Yomogi daifuku)
รูปแบบที่ทำจากคูซาโมจิ (草餅, kusa mochi) ซึ่งเป็นโมจิที่แต่งรสโกฐจุฬาลัมพา
ไดฟูกุถั่ว/มาเมไดฟูกุ (豆大福, Mame daifuku)
รูปแบบที่ผสมถั่วอาซูกิหรือถั่วเหลืองในเนื้อแป้งโมจิ และ/หรือยัดไส้ถั่วอาซูกิ
ไดฟูกุเค็ม/ชิโอไดฟูกุ (塩大福, Shio daifuku)
รูปแบบที่ยัดไส้อังโกะที่ไม่แต่งรสหวาน มีรสเค็มเล็กน้อย
ไดฟูกุข้าวฟ่างหางหมา/อาวาไดฟูกุ (あわ大福, Awa daifuku)
รูปแบบที่ทำจากอาวาโมจิ (粟餅, Awa mochi) ซึ่งเป็นโมจิที่ผสมกับข้าวฟ่างหางหมา
ไดฟูกุสตรว์เบอร์รี/อิจิโงไดฟูกุ (イチゴ大福, Ichigo daifuku)
รูปแบบที่ใส่ผลสตรอว์เบอร์รีและยัดไส้หวาน (มักเป็นอังโกะ) ภายในโมจิกลมขนาดเล็ก บางครั้งใช้ครีมเป็นไส้หวาน เนื่องจากมีสตรอว์เบอร์รีจึงนิยมรับประทานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ อิจิโงไดฟูกุถูกคิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 นักทำขนมหลายคนอ้างว่าตนเป็นผู้คิดค้นขนม ดังนั้นต้นกำเนิดที่แท้จริงจึงคลุมเครือ
ไดฟูกุบ๊วย/อูเมไดฟูกุ (梅大福, Ume daifuku)
รูปแบบที่ยัดไส้บ๊วยเชื่อมแทนที่ไส้ถั่วอาซูกิ
ไดฟูกุกาแฟ/โคฮีไดฟูกุ (コーヒー大福, Kōhī daifuku)
รูปแบบที่ยัดไส้รสกาแฟ
ไดฟูกุมงบล็อง/มงบูรันไดฟูกุ (モンブラン大福, Monburan daifuku)
รูปแบบที่ยัดไส้เกาลัดเชื่อม (ครีมมงบล็อง) แทนที่ไส้ถั่วอาซูกิ
ไดฟูกุพุดดิง/พูรินไดฟูกุ (プリン大福, Purin daifuku)
รูปแบบที่ยัดใส้ครีมคาราเมลหรือพุดดิง (プリン พูริง) แทนที่ไส้ถั่วอาซูกิ
โมจิไอศกรีม/โมจิไอซุ (もちアイス, Mochi aisu)
รูปแบบที่ยัดไส้ไอศกรีมแทนที่ไส้ถั่วอาซูกิ

อ้างอิง[แก้]

  1. "Not-So-Stressful Microwave Mochi". The Fatty Reader. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-20. สืบค้นเมื่อ 2010-07-14.
  2. "Daifuku" (ภาษาญี่ปุ่น). Dictionary of Etymology.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]