สนธิสัญญานานกิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญานานกิง
สัญญาสันติภาพ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและความเป็นมิตรไมตรีระหว่างพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรกับจักรพรรดิแห่งจีน[1]
การลงนามและประทับตราในสนธิสัญญานานกิง
ประเภทสนธิสัญญาสันติภาพ
วันลงนาม29 สิงหาคม ค.ศ. 1842
ที่ลงนามนานกิง จีน
วันตรา29 สิงหาคม ค.ศ. 1842
ผู้ลงนาม ฉีอิง

อีหลี่ปู้

สหราชอาณาจักร เฮนรี พอตทิงเจอร์
ภาคี ประเทศจีน
สหราชอาณาจักร จักรวรรดิอังกฤษ
Treaty of Nanking ที่ วิกิซอร์ซ

สนธิสัญญานานกิง (จีนตัวย่อ: 南京条约; จีนตัวเต็ม: 南京條約; พินอิน: Nánjīng Tiáoyuē) เป็นสนธิสัญญาที่ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 เป็นจุดสิ้นสุดของสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1839-42) ระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์และจีนราชวงศ์ชิง ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี

ด้วยความตื่นตัวในความพ่ายแพ้ทางทหารของจีน ประกอบกับการที่อังกฤษส่งเรือรบซึ่งวางตัวจะโจมตีเมือง ผู้แทนจากทั้งอังกฤษและราชวงศ์ชิงได้เจรจากันบนเรือเอชเอ็มเอส คอร์นวอลลิส ซึ่งทอดสมออยู่ที่นานกิง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 ผู้แทนเจรจาฝ่ายอังกฤษ เซอร์เฮนรี พอตทิงเจอร์ และผู้แทนเจรจาฝ่ายจีน ฉีอิง และอีหลี่ปู้ ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว สนธิสัญญามีเนื้อหา 13 มาตรา และมีผลบังคับใช้โดยสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียและจักรพรรดิเต้ากวงในอีกเก้าเดือนต่อมา

เงื่อนไข[แก้]

การค้ากับต่างประเทศ[แก้]

จุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาคือเพื่อเปลี่ยนแปลงเค้าโครงการค้ากับต่างประเทศซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1760 (ระบบกว่างโจว) สนธิสัญญาดังกล่าวได้ยกเลิกการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศของสิบสามโรงงาน (มาตรา 5) ในกว่างโจว และให้เปิดเมืองท่า 5 แห่งค้าขายกับต่างประเทศแทน ได้แก่ กว่างโจว (เกาะชามีม กระทั่ง ค.ศ. 1943) อามอย (เซียะเหมิน กระทั่ง ค.ศ. 1930) ฝูโจว หนิงโบ และเซี่ยงไฮ้ (จนถึง ค.ศ. 1943)[2] ที่ซึ่งชาวอังกฤษได้รับอนุญาตให้ค้าขายได้อย่างเสรี อังกฤษยังได้รับสิทธิ์ในการส่งกงสุลไปยังเมืองท่าสนธิสัญญาได้ ซึ่งได้รับสิทธิ์ให้ติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นจีน (มาตรา 2) สนธิสัญญาดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขว่าการค้าในเมืองท่าสนธิสัญญาควรจะมีการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่แน่นอน ซึ่งได้รับการตกลงระหว่างอังกฤษและรัฐบาลราชวงศ์ชิง (มาตรา 10)

ค่าปฏิกรรมสงครามและการเลิกระดมพล[แก้]

ราชวงศ์ชิงถูกบีบบังคับให้จ่ายเงินเป็นมูลค่าหกล้านดอลล่าร์เงินเป็นค่าฝิ่นที่ถูกยึดโดยหลิน ซีซู ใน ค.ศ. 1839 (มาตรา 4) อีกสามล้านดอลล่าร์เป็นค่าชดเชยหนี้ที่พ่อค้าจีนในกว่างโจวติดหนี้พ่อค้าอังกฤษ (มาตรา 5) และอีกสิบสองล้านดอลล่าร์เป็นค่าปฏิกรรมสงครามชดเชยความเสียหายจากสงคราม (มาตรา 6) รวมเป็นมูลค่า 21 ล้านดอลล่าร์ โดยจะต้องผ่อนชำระจนหมดในเวลาสามปีและราชวงศ์ชิงชิงจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีหากชำระเงินไม่เป็นไปตามกำหนด (มาตรา 7)

ราชวงศ์ชิงรับรองจะปล่อยตัวเชลยศึกชาวอังกฤษทุกคน (มาตรา 8) และให้ประกาศนิรโทษกรรมชาวจีนที่ให้ความร่วมมือกับอังฤษระหว่างสงคราม (มาตรา 9)

ในส่วนของอังกฤษ รับรองว่าจะถอนกำลังทั้งหมดจากนานกิงและคลองต้ายุ่นเหอ (คลองหลวง) หลังจากจักรพรรดิจีนทรงเห็นชอบในสนธิสัญญาดังกล่าวและได้รับเงินชำระงวดแรกแล้ว (มาตรา 12) ทหารอังกฤษจะยังคงประจำอยู่ในกู่ลั่งอวี่และโจวซานจนกระทั่งรัฐบาลชำระค่าปฏิกรรมสงครามจนหมด

การยกฮ่องกงให้แก่อังกฤษ[แก้]

ใน ค.ศ. 1841 ต้นร่างคร่าว ๆ ของสนธิสัญญาถูกส่งไปเพื่อขอคำชี้แนะจากอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ชาร์ลส์ อีเลียต โดยฉบับร่างดังกล่าวมีข้อความว่า "การยกเกาะ [islands] _____" พอตทิงเจอร์ส่งฉบับร่างเก่าของสนธิสัญญาขึ้นฝั่ง โดยมีอักษร s ถูกตัดออกจากคำว่า "เกาะ" (เปลี่ยนจากพหูพจน์เป็นเอกพจน์) และคำว่า "ฮ่องกง" ได้ถูกเติมลงไปในช่องว่างดังกล่าว[3] โรเบิร์ต มอนต์โกเมรี มาร์ติน เสนาบดีการคลังฮ่องกง ได้เขียนในรายงานอย่างเป็นทางการว่า:

หลังจากที่ได้มีการอ่านเงื่อนไขสนธิสัญญาสันติภาพ อีหลี่ปู้ ข้าหลวงอาวุโส ชะงักไปชั่วคราว รอคอยว่าจะกล่าวอะไรเพิ่มหรือไม่ และในที่สุดก็ได้กล่าวว่า "มีอะไรอีกไหม" คุณมอร์ริสันถามพันโทมัลคอล์มว่ามีอะไรเพิ่มอีกไหม และได้รับการปฏิเสธ อีหลี่ปู้ได้กล่าวปิดการเจรจาอย่างรวดเร็วและด้วยไหวพริบโดยกล่าวว่า "ทุกอย่างได้รับการยินยอม ถือว่าเป็นอันตกลง มันจบแล้ว"[3]

รัฐบาลชิงได้ตกลงที่จะยกเกาะฮ่องกงให้เป็นราชอาณานิคมของอังกฤษ โดยผนวกเข้ากับสมเด็จพระราชินีอังกฤษ "ทรงดำรงอยู่ตลอดกาล" เพื่อให้พ่อค้าชาวอังกฤษมีท่าเรือไว้สำหรับขนสินค้าขึ้นฝั่ง (มาตรา 3) ในภายหลัง พอตทิงเจอร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการฮ่องกงคนแรก

ใน ค.ศ. 1860 อาณานิคมได้ขยายออกไปรวมกับคาบสมุทรเกาลูน และใน ค.ศ. 1898 ข้อตกลงปักกิ่งที่สองได้ขยายอาณานิคมออกไปเป็นการเช่านิวเทอร์ริทอรีส์ ใน ค.ศ. 1984 รัฐบาลสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สรุปปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษต่อปัญหาฮ่องกง โดยที่อธิปไตยเหนือดินแดนที่อังกฤษเช่า ร่วมกับเกาะฮ่องกงและเกาลูน (ทางใต้ของถนนบาวน์เดอรี) ผนวกเข้าภายใต้ข้อตกลงปักกิ่ง (1860) มีกำหนดจะโอนให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997

ผลที่ตามมาและมรดก[แก้]

เนื่องจากสนธิสัญญานานกิงยังเป็นเพียงฉบับร่างและมีเพียงข้อกำหนดทั่วไปเท่านั้น ผู้แทนอังกฤษและจีนจึงได้ตกลงว่าจะมีสนธิสัญญาเสริมผนวกเข้าไปด้วยเพื่อให้ข้อตกลงต่าง ๆ มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1843 จึงได้มีการทำสนธิสัญญาโบกู เป็นสนธิสัญญาเสริมที่หูเหมิน นอกกว่างโจว

อย่างไรก็ตาม การทำสนธิสัญญาใน ค.ศ. 1842-43 ยังหลงเหลือประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปอยู่หลายประกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันยังมิได้แก้ไขสถานภาพของการค้าฝิ่น ถึงแม้ว่าสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1844 จะได้ห้ามชาวอเมริกันมิให้ขายฝิ่นอย่างชัดเจน การค้าฝิ่นยังคงดำเนินต่อไปโดยทั้งพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันที่อยู่ในบังคับทางกฎหมายของกงสุลที่ตั้งอยู่ในจีนเท่านั้น การค้าฝิ่นในภายหลังได้รับรองว่าถูกต้องตามกฎหมายตามสนธิสัญญาเทียนจิน ซึ่งจีนได้ทำขึ้นหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่สอง

สนธิสัญญานานกิงได้ยุติระบบกว่างโจวที่มีอยู่เดิมและสถาปนาเค้าโครงใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้าโพ้นทะเลของจีน ซึ่งใช้กันเรื่อยมาในอีกร้อยปีข้างหน้า จีนได้รับความเสียหายอย่างมากจากการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่ชัดเจน การให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ชาวต่างด้าว และการมอบสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวบางส่วนเป็นเพราะความได้เปรียบและบางส่วนเป็นเพราะทางการราชวงศ์ชิงไม่ทราบกฎหมายระหว่างประเทศหรือตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาว การกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 5 สูงว่าอัตราภาษีเดิม แนวคิดของการมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการมอบภาระดูแลชาวต่างประเทศให้แก่ตำรวจชาติเดียวกัน และการปฏิบัติกับชาติอื่นในสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการทำให้ชาวต่างประเทศเผชิญหน้ากันเอง ถึงแม้ว่าจีนจะได้รับอิสระในการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเองในคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังไม่ได้รับการยกเลิกอย่างเป็นทางการกระทั่ง ค.ศ. 1943[4]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Mayers, William Frederick (1902). Treaties Between the Empire of China and Foreign Powers (4th ed.). Shanghai: North-China Herald, London (1871)ld. p. 1.
  2. John Darwin, 'After Tamerlane: The Global History of Empire', p.431. (London: Allen Lane, 2007)
  3. 3.0 3.1 Martin, Robert Montgomery (1847). China: Political, Commercial, and Social; In an Official Report to Her Majesty's Government. Volume 2. James Madden. p. 84.
  4. Hsu, The Rise of Modern China: 190-92.

อ้างอิง[แก้]

  • Fairbank, John King. Trade and Diplomacy on the China Coast: The Opening of the Treaty Ports, 1842-1854. 2 vols. Cambridge, MA: Harvard University Press, 1953.
  • Têng Ssu-yü. Chang Hsi and the Treaty of Nanking, 1842. Chicago: University of Chicago Press, 1944.
  • R. Derek Wood, 'The Treaty of Nanking: Form and the Foreign Office, 1842-1843', Journal of Imperial and Commonwealth History (London) 24 (May 1996), 181-196.