การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กฟผ.)
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
Electricity Generating Authority of Thailand
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 (54 ปี)[1]
หน่วยงานก่อนหน้า
  • การไฟฟ้ายันฮี
  • การลิกไนท์
  • การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 53 หมู่ที่ 2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ[2], ประธานกรรมการ
  • เทพรัตน์ เทพพิทักษ์[3], ผู้ว่าการ
  • ณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง, รองผู้ว่าการอาวุโส
ต้นสังกัดกระทรวงพลังงาน
หน่วยงานลูกสังกัด
เว็บไซต์http://www.egat.co.th

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. (อังกฤษ: Electricity Generating Authority of Thailand ย่อว่า EGAT) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศไทย

ในปี 2564 กฟผ. มีรายได้ 556,331 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 59,000 ล้านบาท มีกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 374,525 ล้านบาท[4]

ในสิ้นปี 2565 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด ลำดับที่ 9[5]

ประวัติ[แก้]

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริเวณบางกรวย

จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 โดยการรวมหน่วยงาน ด้านการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน[6] มีฐานะเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีสาระสำคัญโดยสรุปคือ

  • ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า หรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว และให้มีอำนาจใช้สอยและครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสำรวจหาแหล่งพลังงาน ตลอดจนสถานที่สำหรับใช้ในการผลิตหรือพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยชดใช้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  • ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับคุณภาพไฟฟ้า เทคนิคทางวิศวกรรม และความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ในกรณีที่เอกชน ประสงค์จะเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • กฟผ. มีสิทธิเพิ่มวงเงินในการกู้ยืมและในการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการมีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินออกจากบัญชีได้ทุกกรณี โดยไม่จำกัดวงเงินโดยสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ส่วนสาระสำคัญที่ยังคงเดิม คือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะกรรมการกับกรรมการ (ซึ่งต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมือง) และคณะกรรมการเหล่านี้เป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. จึงเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีคอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ กฟผ. เข้าโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่งทำให้ กฟผ. มีความคล่องตัวในการบริหารงานได้มากขึ้น

ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งให้นาย เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยให้มีผลในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อนุมัติ

หน้าที่[แก้]

กังหันลม กฟผ. ภูเก็ต

กฟผ. มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ใช้พลังงานไฟฟ้ารายอื่นตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งประเทศใกล้เคียง และดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนงานอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกิจการของ กฟผ. โดยมีนโยบายหลักคือการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงเชื่อถือได้ และราคาเหมาะสม

กฟผ. ยังทำหน้าที่บริหารกิจการและวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ที่กำหนดให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์การและการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2535 เรื่องแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. เริ่มจากปี พ.ศ. 2535 สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2539 มีเป้าหมายการดำเนินงาน คือ เปลี่ยนแปลง กฟผ. เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) และกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยรัฐยังคงถือหุ้นใหญ่

กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีมาเป็นลำดับ ได้แก่ การจัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กและโรงไฟฟ้าเอกชน การเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ สำหรับการเปลี่ยน กฟผ. เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) เป็นให้ กฟผ. จัดตั้งบริษัทย่อยทยอยจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อมีความพร้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้น ไป

กิจการในสังกัด[แก้]

ข้อวิจารณ์[แก้]

ในปี 2565 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ตีพิมพ์บทความวิจารณ์ว่า กฟฝ. เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดของประเทศและยังเป็นนายหน้าค้าไฟฟ้า ทำให้มีกำไรสูงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอันดับรองลงมา 12 รายรวมกัน โดย กฟฝ. เป็นผู้ผูกขาดสายส่งไฟฟ้า จึงมีอำนาจรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนมาขายต่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 ใน 3 ของกำลังผลิต 42,000 เมกะวัตต์ อีกทั้งมีการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่อีก 2 รายจากทั้งหมด 7 ราย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-13. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทย เล่ม 141 ตอนพิเศษ 76 ง วันที่ 15 มีนาคม 2567
  3. ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16
  4. 4.0 4.1 "กังขา กฟผ. นายหน้าค้าไฟฟ้า ฟันกำไรอื้อ". ฐานเศรษฐกิจ. 14 December 2022. สืบค้นเมื่อ 19 December 2022.
  5. ปตท.แชมป์ ส่งรายได้เข้ารัฐมากสุด 1.89 หมื่นล้านบาท
  6. พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-16. สืบค้นเมื่อ 2011-11-19.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]