เขื่อนสิรินธร
เขื่อนสิรินธร | |
---|---|
![]() เขื่อนเมื่อมองจากแม่น้ำโดมน้อย | |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ที่ตั้ง | อำเภอสิรินธร, จังหวัดอุบลราชธานี |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 15°12′22.82″N 105°25′44.96″E / 15.2063389°N 105.4291556°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 15°12′22.82″N 105°25′44.96″E / 15.2063389°N 105.4291556°E |
เริ่มต้นการก่อสร้าง | พ.ศ. 2511 |
เจ้าของ | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
Operator(s) | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนดินเอนกประสงค์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่ในอำเภอสิรินธร (เดิมอยู่ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร) จังหวัดอุบลราชธานี[1]
ประวัติ[แก้]
เขื่อนสิรินธรเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512[2] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนามว่า เขื่อนสิรินธร โดยตัวเขื่อนและระบบส่งไฟฟ้าระยะแรก สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิรินธร[3] จากนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ส่งมอบเขื่อนสิรินธรให้อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังเช่นปัจจุบัน
ชาวบ้านประมาณ 2,000 คนต้องย้ายที่ขึ้นที่สูงเพื่อทำอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านหลายคนอ้างว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการสูญเสียที่อยู่อาศัยและได้ค่าตอบแทนแค่ 80% ของที่ดิน มากไปกว่านั้น พวกเขาอ้างว่าที่ดินใหม่มีคุณภาพแย่และมีพืชผลเจริญเติบโตไม่มาก และคลองชลประทานที่เสนอให้สร้างกลับไม่ได้สร้างเลย[4]
ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า[แก้]
เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตัวเขื่อนมีความสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 142.2 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ 3 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์ ซึ่งผลิดไฟฟ้าปีละ 90,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง[5]
เขื่อนสิรินธร มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน ซึ่งเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีกำลังผลิตติดตั้ง 45 เมกะวัตต์ และได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะมีการติดตั้งเพิ่มให้ครบ 16 โครงการทั่วประเทศ[6][7]
การใช้ประโยชน์[แก้]
นอกประโยชน์ในการผลิตกำลังไฟฟ้าแล้ว เขื่อนสิรินธรยังเป็นแหล่งประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี[8] โดยบริเวณเขื่อนได้มีการจัดสร้าง สวนสิรินธร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมีพิธีเปิดสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน[9] และมีสนามกอลฟ์อยู่ทางเหนือของทะเลสาบ[10]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "Sirindhorn Dam". Electricity Generating Authority of Thailand (EGAT). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-14. สืบค้นเมื่อ 28 June 2020.
- ↑ "เขื่อนสิรินธร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-23.
- ↑ พระราชกรณียกิจ และเหตุการณ์สำคัญ
- ↑ Imhof, Aviva. "DAM-BUSTING - anti-dam protests in Thailand". The Ecologist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2012. สืบค้นเมื่อ 6 March 2011.
- ↑ "Renovation of Small Hydropower Plants". Electricity Generating Authority of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2011. สืบค้นเมื่อ 12 March 2013.
- ↑ โซลาร์ฯ ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรใหญ่สุดในโลก! จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว กฟผ.ลุยต่อ 15 โครงการทั่วประเทศ
- ↑ “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของคนไทย
- ↑ อุบลราชธานีไกด์
- ↑ Thailand (Eyewitness Travel Guides) (1st American ed.). DK Publishing, Inc. 1997. p. 289. ISBN 0-7894-1949-1.
- ↑ Sirindhorn Reservoir (Map). Google Maps. สืบค้นเมื่อ 12 March 2013.