ข้ามไปเนื้อหา

ประชาธิปไตยเสรีนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เสรีประชาธิปไตย)
รัฐสภาของประเทศฟินแลนด์ (Eduskunta) - มีประเทศและอาณาเขตหลายแห่งที่เรียกได้ว่า มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นแห่งแรก รัฐ Grand Duchy of Finland (ก่อนจะเป็นประเทศฟินแลนด์) ได้มีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449

ประชาธิปไตยเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (อังกฤษ: Liberal democracy) หรือบ้างเรียก ประชาธิปไตยแบบตะวันตก เป็นทั้งคตินิยมทางการเมืองและระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่ง ที่การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจะดำเนินการใต้หลักเสรีนิยม คือ การพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปจะระบุไว้ในกฎหมาย ระบอบมีลักษณะเฉพาะ คือ

การนิยามระบบดังกล่าวในทางปฏิบัติ บ่อยครั้งจะกำหนดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจประมวลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือยังไม่ประมวลขึ้น (เช่น สหราชอาณาจักร) ก็ได้ เพื่อวางเค้าโครงอำนาจของรัฐบาลและประดิษฐานสัญญาประชาคม หลังมีความแพร่หลายมากขึ้นตลอดครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ได้กลายเป็นระบบการเมืองที่ใช้กันมากที่สุดในโลก[1]

รัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมมีหลายรูปแบบ อาจเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือสาธารณรัฐ และอาจเป็นระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี หรือระบบกึ่งประธานาธิบดีก็ได้

ระบอบนี้ปกติจะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั่วไป คือให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ประชากรที่ถึงวัยทุกคนโดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์ เพศ การถือครองทรัพย์สิน เชื้อชาติ อายุ (สูงสุด) เพศสภาพ รายได้ สถานภาพทางสังคมหรือศาสนา แต่ในอดีตประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมก็เคยมีการจำกัดสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน แม้ในปัจจุบัน บางประเทศที่จัดให้เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ไม่ได้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั่วไปอย่างแท้จริง เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐส่วนใหญ่ตัดสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน ข้อมูลของ Coppedge และ Reinicke พบว่าประเทศร้อยละ 85 ในโลกมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั่วไป หลายประเทศกำหนดให้ต้องมีเอกสารพิสูจน์รูปพรรณก่อนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจที่แท้จริงคือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิ์ ไม่ใช่พลเมืองทุกคน

รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะนิยามความเป็นประชาธิปไตยของรัฐ จุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญบ่อยครั้งมองว่า เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐบาล ระบอบนี้ เน้นการแยกใช้อำนาจ ความเป็นอิสระของตุลาการ และระบบดุลอำนาจระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐ และมักจะเน้นความสำคัญว่า รัฐต้องทำตามหลักนิติธรรม อำนาจของรัฐบาลจะเป็นเรื่องชอบธรรมก็ต่อเมื่อเป็นไปตามกฎหมายที่เขียน ผ่านการยอมรับ แล้วเปิดเผยเป็นสาธารณะ และเมื่อบริหารตามกฎระเบียบที่วางไว้ ประเทศหลายประเทศใช้ระบบสหพันธรัฐ ซึ่งแยกใช้อำนาจแบบแนวตั้งด้วย เพื่อป้องกันการใช้อำนาจผิด ๆ และเพิ่มส่วนร่วมของประชาชนโดยแบ่งอำนาจระหว่างเทศบาลเมือง สภาจังหวัด และรัฐบาลประเทศ เช่น ในเยอรมนี รัฐบาลกลางมีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่รัฐบาลรัฐ (Länder) เป็นผู้บริหารอำนาจหลายอย่าง[ต้องการอ้างอิง]

สิทธิเสรีภาพ

[แก้]

ในทางปฏิบัติแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็จำกัดเสรีภาพบางอย่างด้วย มีข้อจำกัดตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น เรื่องลิขสิทธิ์และการหมิ่นประมาท อาจจำกัดการพูดต่อต้านประชาธิปไตย ความพยายามบั่นทอนสิทธิมนุษยชน และการโปรโหมตหรือให้เหตุผลเพื่อการก่อการร้าย มีข้อจำกัดเช่นนี้เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหรัฐช่วงสงครามเย็นซึ่งมากกว่าในยุโรป ปัจจุบันมักจะใช้จำกัดองค์กรที่มองว่า โปรโหมตการก่อการร้ายจริง ๆ หรือยั่วยุให้กลุ่มต่าง ๆ เกลียดชังกัน ตัวอย่างรวมทั้งกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย การปิดการออกอากาศทางดาวเทียมของฮิซบุลลอฮ์ โดยมีผู้คัดค้านว่า การจำกัดอาจมากเกิน และอาจไม่มีการพิจารณาทางตุลาการที่ยุติธรรมและควรได้รับ

เหตุผลสามัญสำหรับกฎหมายเหล่านี้ก็คือ เพื่อการอยู่รอดของประชาธิปไตยและเพื่อเสรีภาพเอง ยกตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการพูดที่สนับสนุนการสังหารหมู่ จะบั่นทอนสิทธิการมีชีวิตและความปลอดภัย ความเห็นจะต่างกันในเรื่องว่า ระบบจะต้องปกป้องศัตรูของประชาธิปไตยในกระบวนการทางประชาธิปไตยแค่ไหน

ถ้าบุคคลจำนวนน้อยถูกจำกัดเสรีภาพเพราะเหตุผลเช่นนี้ ประเทศนั้น ๆ ยังอาจพิจารณาได้ว่า เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่ก็มีคนคัดค้านว่า นี้ต่างกันโดยแค่จำนวนไม่ได้ต่างกันโดยลักษณะ จากอัตตาธิปไตยที่ตามลงโทษศัตรู เพราะเพียงแค่มีคนที่ได้รับผลจำนวนน้อยกว่า และข้อจำกัดรุนแรงน้อยกว่า ส่วนคนอื่น ๆ ก็ย้ำว่า ประชาธิปไตยก็ยังต่าง คืออย่างน้อยโดยทฤษฎี ศัตรูของประชาธิปไตยยังได้รับการพิจารณาทางกฎหมายตามหลักนิติธรรม

อย่างไรก็ดี รัฐที่พิจารณาว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยังมีข้อจำกัดในการพูดต่อต้านประชาธิปไตย เช่น การปฏิเสธฮอโลคอสต์[ต้องการอ้างอิง] การพูดให้เกลียด การพูดในเรือนจำ ซึ่งมองว่าเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูด สมาชิกองค์กรทางการเมืองที่สัมพันธ์กับระบอบเผด็จการก่อน ๆ (เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิฟาสซิสต์ หรือระบอบนาซี) ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ออกคะแนนเสียงหรือไม่ให้ดำรงตำแหน่งบางอย่าง การเลือกประพฤติอาจถูกห้าม เช่น เจ้าของธุรกิจปฏิเสธไม่ให้บริการบุคคลเนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ หรือรสนิยมทางเพศ ยกตัวอย่างในแคนาดาเช่น สำนักพิมพ์ที่ปฏิเสธไม่ให้บริการต่อกลุ่มรักร่วมเพศทั้งถูกปรับ เสียค่าทนายตัวเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับกฎหมายของอีกฝ่ายโดยคำสั่งศาล[2]

สิทธิที่พิจารณาว่าเป็นรากฐานสำคัญในประเทศหนึ่ง อาจจะเป็นอะไรที่แปลกในอีกประเทศหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญของแคนาดา อินเดีย อิสราเอล เม็กซิโก และสหรัฐ ต่างรับประกันไม่ให้ถูกฟ้องซ้ำทางอาญาเนื่องจากความผิดเดียวกัน (double jeopardy) ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่มีในประเทศอื่น ๆ อนึ่ง ระบบที่เลือกตั้งลูกขุน (เช่น สวีเดน) จะมองระบบตุลาการที่เกี่ยวข้องกับการเมืองบางส่วนว่า เป็นองค์ประกอบหลักสำหรับภาระรับผิดชอบของรัฐบาล แต่นี่เป็นเรื่องแปลกในระบบที่ใช้ลูกขุนพิจารณาคดีเพื่อกันอิทธิพลจากนักการเมือง และคล้าย ๆ กัน คนอเมริกันจำนวนมากพิจารณาสิทธิในการเก็บและถืออาวุธ ว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิในการปฏิวัติรัฐบาลที่ใช้อำนาจผิด ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่ยอมรับว่านี่เป็นสิทธิพื้นฐาน และหลายประเทศรวมทั้งสหราชอาณาจักรยังมีกฎหมายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับมีปืนส่วนตัว

เงื่อนไขเบื้องต้น

[แก้]

แม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนของระบอบการปกครอง เสรีภาพทั้งส่วนบุคคลและทางเศรษฐกิจพอประมาณ ที่มีผลขยายจำนวนคนชั้นกลางจนกลายเป็นประชาสังคมที่เจริญรุ่งเรืองและแพร่ไปอย่างกว้างขวาง บ่อยครั้งมองว่า เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของประชาธิปไตยเสรีนิยม (Lipset 1959) ในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมประเพณีการปกครองโดยเสียงส่วนมาก การเลือกตั้งเสรีอย่างเดียวจะไม่พอให้เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย จะต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ใหญ่กว่านั้น และการสร้างสถาบันเพื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีประเทศตัวอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่นในลาตินอเมริกา ที่ดำรงระบอบประชาธิปไตยได้เพียงแค่ชั่วคราวหรืออย่างจำกัด จนกระทั่งวัฒนธรรมทั่วไปเปลี่ยนแปลงแล้วสร้างสภาวะที่ประชาธิปไตยสามารถเจริญงอกงามได้[ต้องการอ้างอิง]

แง่มุมกุญแจสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็คือแนวคิดเกี่ยวกับ "ฝ่ายค้านที่จงรักภักดี" คือแม้ว่า ฝ่ายตรงข้ามจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ยอมอดทนและยอมรับบทบาทสำคัญทางการเมืองอันเป็นไปตามกฎหมายที่แต่ละฝ่ายมีส่วนได้ ซึ่งเป็นเรื่องเปลี่ยนได้ยากในวัฒนธรรมของประเทศที่การเข้าสู่อำนาจตามประวัติมักจะอาศัยความรุนแรง แก่นสารของหลักนี้ก็คือ ทุกฝ่ายในระบอบประชาธิปไตยต้องเทิดทูนคุณค่าพื้นฐานของมันเหมือน ๆ กัน

กฎพื้นฐานของสังคมต้องสนับสนุนให้อดทน สุภาพ และมีมรรยาทในการอภิปรายต่อหน้าธารกำนัล ในสังคมเช่นนี้ ผู้ที่พ่ายแพ้ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงเมื่อการลงคะแนนเลือกตั้งยุติแล้ว และอำนวยให้อำนาจเปลี่ยนมือได้โดยสันติภาพ โดยผู้แพ้ก็จะรู้สึกปลอดภัยด้วยความเข้าใจได้ว่า ตนจะไม่เสียชีวิตหรือเสรีภาพ และจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ต่อไป คือ พวกเขาไม่ได้จงรักภักดีต่อนโยบายโดยเฉพาะ ๆ ของรัฐบาล แต่ต่อความชอบธรรมตามกฎหมายของรัฐและของกระบวนการประชาธิปไตยเอง

กำเนิด

[แก้]

ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีแหล่งกำเนิดและได้ชื่อมาจากยุโรปสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 18 ที่เรียกว่ายุคเรืองปัญญา ในเวลานั้น รัฐส่วนมากในยุโรปเป็นราชาธิปไตย โดยพระราชาหรือขุนนางมีอำนาจทางการเมือง แต่ประชาธิปไตยในฐานะระบอบการปกครอง ไม่ได้รับพิจารณาอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยคลาสสิกโบราณแล้ว เพราะความเชื่อทั่วไปว่า ประชาธิปไตยไม่เสถียรโดยธรรมชาติและจะสร้างความยุ่งเหยิงในนโยบายของรัฐ เพราะประชาชนจะเปลี่ยนใจไป ๆ มา ๆ และว่า ประชาธิปไตยขัดแย้งกับธรรมชาติมนุษย์ เพราะมองว่า มนุษย์ตามธรรมชาติชั่วร้าย รุนแรง และจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อควบคุมความหุนหันพลันแล่นที่ก่อความเสียหาย ส่วนพระราชาชาวยุโรปก็ทรงถือว่า อำนาจของพระองค์เป็นสิทธิที่มาจากพระเป็นเจ้า และแม้แต่ความสงสัยต่อสิทธิเพื่อปกครองของพระองค์ก็เท่ากับเป็นการดูหมิ่นศาสนา

ความคิดในกรอบเช่นนี้ต่อมาถูกคัดค้านโดยกลุ่มปัญญาชนเล็ก ๆ ในยุคเรืองปัญญาผู้เชื่อว่า

  • กิจของมนุษย์ควรทำตามเหตุผล ตามหลักเสรีภาพและหลักความเท่าเทียมกัน
  • มนุษย์ทั้งหมดเกิดมาเท่าเทียมกัน และดังนั้น อำนาจทางการเมืองไม่สามารถมีเหตุเพียงจาก "เลือดขุนนาง" จากความสัมพันธ์แบบอภิสิทธ์กับพระเป็นเจ้า หรือลักษณะอื่นทั้งหมดที่อ้างว่า ทำให้บุคคลหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่ง
  • รัฐบาลมีไว้เพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ตรงกันข้าม
  • กฎหมายควรบังคับใช้ต่อทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งเป็นแนวคิดซึ่งต่อมาเรียกว่า หลักนิติธรรม

แนวคิดเหล่านี้เริ่มปฏิบัติในประเทศอังกฤษในคริสต์ทศวรรษที่ 17[3] โดยคำร้องขอสิทธิที่ผ่านเป็นกฎหมายในปี 2171 และกฎหมาย Habeas Corpus Act ที่ผ่านในปี 2172 ก็ได้ให้เสรีภาพบางอย่างต่อข้าแผ่นดิน ส่วนไอเดียเกี่ยวกับพรรคการเมือง ได้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเป็นกลุ่มอภิปรายสิทธิการมีผู้แทนทางการเมือง (Putney Debates) ในปี 2190

หลังจากสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างปี 2185-2194 และการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปี 2231 บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองก็ผ่านเป็นกฎหมายในปี 2232 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพบางอย่าง บัญญัติบังคับให้มีการเลือกตั้งเป็นประจำ ตั้งกฎเสรีภาพในการพูดในรัฐสภา และจำกัดอำนาจของพระราชา ซึ่งรับรองว่า โดยไม่เหมือนยุโรปโดยมากในยุคนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์จะไม่มีชัย[4][5] และเปลี่ยนแปลงสังคมอังกฤษอย่างสำคัญเพราะกำหนดฐานะบุคคลในสังคม และเพราะรัฐสภามีอำนาจยิ่งขึ้นเทียบกับพระราชา[6][7]

โดยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักปรัชญาชั้นแนวหน้าได้พิมพ์ผลงานที่เผยแพร่ไปทั่วยุโรปและที่อื่น ๆ ไอเดียและความเชื่อเหล่านี้ได้ให้แรงดลใจแก่การปฏิวัติอเมริกันและการปฏิวัติฝรั่งเศส ให้กำเนิดอุดมการณ์เสรีนิยม และสร้างรูปแบบรัฐบาลที่พยายามประยุกต์ใช้หลักของนักปรัชญายุคเรืองปัญญาให้เป็นภาคปฏิบัติ แต่ว่า รูปแบบของรัฐบาลปฏิวัติทั้งสองก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตามความหมายทุกวันนี้ โดยข้อแตกต่างสำคัญที่สุดก็คือ สิทธิการลงคะแนนเสียงที่ยังจำกัดต่อชนกลุ่มน้อย และความเป็นทาสที่ถูกกฎหมาย อนึ่ง ความพยายามของชาวฝรั่งเศสก็คงอยู่ได้ไม่นาน แม้จะกลายเป็นต้นแบบที่ระบอบประชาธิปไตยต่อ ๆ มาบูรณาการ และเนื่องจากผู้สนับสนุนรูปแบบรัฐบาลเช่นนี้ตอนนั้นเรียกว่า พวกเสรีนิยม (liberal) รัฐบาลของพวกเขาต่อมาก็เลยรู้จักกันว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยม (liberal democracy)

ช่วงที่ประชาธิปไตยเสรีนิยมกำลังเกิด พวกเสรีนิยมได้ถูกมองว่า เป็นผู้มีแนวคิดสุดโต่งและเป็นคนอันตราย เป็นภัยต่อทั้งสันติภาพและเสถียรภาพในระดับสากล ส่วนพวกราชาธิปไตยนิยมแบบอนุรักษนิยมผู้ต่อต้านทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ก็มองตัวเองว่าเป็นผู้ปกป้องประเพณีค่านิยมและกฎธรรมชาติ และข้อวิจารณ์ประชาธิปไตยของพวกเขาก็ได้ข้อพิสูจน์เมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ต ขึ้นยึดอำนาจในสาธารณรัฐฝรั่งเศส เปลี่ยนรัฐเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง แล้วออกพิชิตยุโรปโดยมาก เมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ในที่สุด จึงเกิดตั้งพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ในยุโรปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเสรีนิยมและประชาธิปไตย อย่างไรก็ดีโดยไม่นานนัก อุดมคติประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมก็กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสาธารณชน และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบบราชาธิปไตยทั่วไปก็ตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยทัพ

ต่อมา ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็กลายเป็นห้องทดลองประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป ในแคนาดา รัฐบาลที่มีภาระรับผิดชอบต่อรัฐสภาก็เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1840 ตลอดจนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนรัฐบาลแบบรัฐสภาที่ประชาชนชายเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงแบบลับ ก็เกิดขึ้นเริ่มต้นที่ทศวรรษ 1850 ส่วนหญิงต่อมาจึงได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเริ่มที่ทศวรรษ 1890[8]

ทั้งการปฏิรูปและการปฏิวัติช่วยเปลี่ยนประเทศยุโรปโดยมากให้เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม แล้วคติเสรีนิยมก็ยุติเป็นความเห็นสุดโต่งแล้วกลายเป็นเรื่องกระแสหลักทางการเมือง ในขณะเดียวกัน คติแบบไม่เสรีนิยมจำนวนหนึ่งก็ได้พัฒนาขึ้น โดยรับเอาแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยเสรีนิยมให้เป็นส่วนของคติ อันชี้ว่า พิสัยความคิดทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว คือ ราชาธิปไตยธรรมดากลายเป็นมุมมองสุดโต่ง ในขณะที่ประชาธิปไตยเสรีนิยมกลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยที่สุดของศตวรรษที่ 19 ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ไม่ใช่แนวคิด "เสรีนิยม" อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่สนับสนุนโดยคตินิยมต่าง ๆ มากมาย หลังจาก สงครามโลกครั้งที่ 1 และโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาธิปไตยเสรีนิยมก็กลายเป็นเรื่องเด่นในบรรดาทฤษฏีการปกครองทั้งหลาย โดยบัดนี้ก็มีมุมมองทางการเมืองมากมายที่สนับสนุนแนวคิดเช่นนี้

แม้ว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมจะเริ่มมาจากคนเสรีนิยมยุคเรืองปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับเสรีนิยมก็เป็นเรื่องถกเถียงกันตั้งแต่ต้น โดยกลายเป็นปัญหาในศตวรรษที่ 20[9] คือ คติของเสรีนิยม โดยเฉพาะในรูปแบบคลาสสิก นิยมความเป็นส่วนตัว (คือ ปัจเจกนิยม) มาก ดังนั้นจึงนิยมจำกัดอำนาจของรัฐเหนือบุคคล โดยเปรียบเทียบกัน บางคนมองประชาธิปไตยว่าเป็นอุดมคติแบบชุมชนนิยม ที่เล็งการเพิ่มอำนาจให้แก่ชุมชน ดังนั้น ประชาธิปไตยเสรีนิยมอาจมองได้ว่า เป็นการออมชอมกันระหว่างปัจเจกนิยมกับกระแสชุมชนนิยมของประชาธิปไตย ผู้เห็นอย่างนี้บางครั้งชี้ไปยังระบบประชาธิปไตยแบบไม่เสรี หรืออัตตาธิปไตยแบบเสรี ว่าเป็นหลักฐานว่า เสรีภาพ/เสรีนิยมที่กำหนดในรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับระบอบประชาธิปไตย

ในนัยตรงกันข้าม ก็มีมุมมองว่า เสรีภาพ/เสรีนิยมในรัฐธรรมนูญกับระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงแค่เข้ากันได้ แต่จำเป็นเพื่อจะมีทั้งสองอย่างได้จริง ๆ เพราะทั้งสองเกิดจากแนวคิดพื้นฐานของความเสมอภาคทางการเมือง มีการยืนยันด้วยว่า ทั้งเสรีภาพและความเสมอภาคจำเป็นในประชาธิปไตยเสรีนิยม[10]

ส่วนองค์การนอกภาครัฐ ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House)[11] ปัจจุบันนิยามประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่ปกป้องเสรีภาพของพลเมือง

แผนที่สะท้อนการสำรวจขององค์การนอกภาครัฐที่ได้ทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐ "ฟรีดอมเฮาส์"[11] เกี่ยวกับเสรีภาพในโลกปี 2558 (พิมพ์ปี 2559) ซึ่งมีสหสัมพันธ์ระดับสูงกับค่าต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย[12] แต่ค่าประเมินเหล่านี้บางครั้งถูกคัดค้านและเป็นเรื่องสร้างข้อโต้แย้ง[13]
  เสรี
  กึ่งเสรี
  ไม่เสรี
เปอร์เซ็นต์ของประเทศทั้งหมดที่อยู่ในแต่ละหมวด จากรายงานของ "ฟรีดอมเฮาส์"[11] ปี 2516 จนถึง 2556
  เสรี (90)   กึ่งเสรี (58)   ไม่เสรี (47)
ประเทศที่ระบายสี น้ำเงิน ระบุว่าเป็น ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ในงานสำรวจพิมพ์ในปี 2559 ขององค์การนอกภาครัฐ "ฟรีดอมเฮาส์"[11] คือ "เสรีภาพในโลก (Freedom in the World)" เป็นข้อมูลสำหรับปี 2558[1]

ประชาธิปไตยเสรีนิยมในโลก

[แก้]

มีทั้งองค์การและนักรัฐศาสตร์ ที่ทำรายการรัฐที่เสรีและไม่เสรี ทั้งในปัจจุบันและกลับไปในอดีต 2-3 ศตวรรษ โดยที่รู้จักดีที่สุดอาจจะเป็น "ข้อมูลชุดองค์การทางการเมือง (Polity Data Set)"[14] และรายการที่ทำโดย "ฟรีดอมเฮาส์"[11]

องค์การต่าง ๆ เช่น "ฟรีดอมเฮาส์" มีมติร่วมกับกลุ่มปัญญาชนว่า รัฐในสหภาพยุโรปและอื่น ๆ รวมทั้ง นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐ อินเดีย แคนาดา[15][16][17][18][19] เม็กซิโก อุรุกวัย คอสตาริกา อิสราเอล แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์[20] เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม โดยแคนาดามีแผ่นดินใหญ่สุด และอินเดียมีประชากรมากสุด[21]

ประชาธิปไตยเสรีนิยมโดยมากจำกัดอยู่กับประเทศตะวันตก ยกเว้น ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ โรมาเนีย ไต้หวัน บัลแกเรีย "ฟรีดอมเฮาส์" พิจารณาว่า รัฐบาลที่โดยทางการเรียกว่า "ประชาธิปไตย" ในแอฟริกาและสหภาพโซเวียตเดิม มีการปฏิบัติที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ปกติเพราะว่ารัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งสูง ประเทศเช่นนี้หลายประเทศไม่เสถียร ส่วนรัฐบาลที่โดยทางการไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น รัฐที่มีพรรคการเมืองเดียวและระบบเผด็จการ จะสามัญมากกว่าในเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

ประเภท

[แก้]
ระบอบการปกครองของรัฐต่าง ๆ ในโลก1
     สาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีแบบสมบูรณ์2      สาธารณรัฐระบบกึ่งประธานาธิบดี2
     สาธารณรัฐระบบรัฐสภาที่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติ      สาธารณรัฐระบบรัฐสภา2
     ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรัฐสภา      ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีหัวหน้ารัฐบาล แต่พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจบริหาร และ/หรือ นิติบัญญัติอย่างสำคัญ
     สมบูรณาญาสิทธิราชย์      รัฐพรรคการเมืองเดียว
     ระบอบปัจจุบันยังไม่มีนิยามไว้ในรัฐธรรมนูญ (เช่น เป็นรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน)      ประเทศที่ไม่เข้ากับระบบใด ๆ ข้างต้น
1ข้อมูลตามบทความรายชื่อประเทศตามระบอบการปกครองของวิกิพีเดีย ดูแหล่งอ้างอิงได้ในหน้าดังกล่าว 2แผนที่ดังกล่าวนำเสนอเฉพาะระบอบการปกครองโดยนิตินัย ไม่ใช่ระดับประชาธิปไตยโดยพฤตินัย

ผู้แทนตามคะแนนเสียงที่เหนือกว่า กับผู้แทนตามสัดส่วนการเลือกพรรค

[แก้]

ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (Plurality voting) จะให้ตำแหน่งแก่ผู้ได้คะแนนเสียงมากสุด คือ พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมากสุด จะได้ตำแหน่งผู้แทนของท้องถิ่นนั้น แต่ก็มีการเลือกตั้งแบบอื่น เช่น การมีผู้แทนตามสัดส่วน (proportional representation) ซึ่งให้จำนวนตำแหน่งตามสัดส่วนคะแนนแก่พรรคที่ผู้ออกเสียงเลือก โดยอาจนับคะแนนจากทั่วประเทศหรือเพียงในท้องถิ่น ความแตกต่างหลักระหว่างสองระบบนี้ก็คือ จะให้มีผู้แทนของท้องถิ่นในประเทศ หรือจะให้ประชากรทั้งประเทศระบุว่าใครจะเป็นผู้แทน

บางประเทศเช่น เยอรมนีและนิวซีแลนด์ แก้ความขัดแย้งของสองระบบนี้ โดยกำหนดจำนวนตำแหน่งเลือกตั้งจากทั้งสองระบบในสภาล่างแห่งประเทศ จำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลที่ท้องถิ่นเลือก โดยที่เหลือให้ต่อพรรคต่าง ๆ ตามสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนนทั่วประเทศ ระบบนี้มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า mixed member proportional representation (การมีผู้แทนตามสัดส่วนแบบสมาชิกผสม)

ส่วนออสเตรเลียใช้ระบบผสมอีกแบบหนึ่ง โดยสภาล่างให้เลือกตั้งแบบ preferential voting (หรือ Ranked voting systems) ที่ผู้เลือกให้คะแนนผู้สมัครรับเลือกตามลำดับ และสภาสูงให้เลือกตั้งแบบมีผู้แทนพรรคตามสัดส่วนที่เลือกในแต่ละรัฐ ผู้สนับสนุนระบบนี้อ้างว่า จะได้รัฐบาลที่เสถียรกว่า และมีพรรคต่าง ๆ หลายหลาก เพื่อทบทวนการดำเนินงานของรัฐบาล

ระบบประธานาธิบดีกับรัฐสภา

[แก้]

ระบบประธานาธิบดีเป็นระบบสาธารณรัฐที่รัฐบาลฝ่ายบริหารจะเลือกตั้งต่างหากจากฝ่ายรัฐสภา เทียบกับระบบรัฐสภาที่มีฝ่ายบริหารขึ้นกับรัฐสภาโดยตรงหรือโดยอ้อม บ่อยครั้งผ่านการลงมติไว้วางใจ ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีได้กลายเป็นที่นิยมในลาตินอเมริกา แอฟริกา และส่วนต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียตเดิม โดยตามสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างหลัก

ส่วนราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (โดยรัฐสภาที่ผ่านการเลือกตั้งมีอำนาจกว่า) จะนิยมในยุโรปเหนือและในอดีตอาณานิคมที่ได้อิสรภาพโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา โดยอาณานิคมเดิมของอังกฤษบางแห่งรวมทั้งแอฟริกาใต้ อินเดีย ไอร์แลนด์ และสหรัฐ ได้ถือเอารูปแบบอื่นของรัฐบาลเมื่อได้อิสรภาพ และมีประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ระบบนี้ด้วยรวมทั้งสเปน เอเชียตะวันออก ประเทศไทยเป็นครั้งคราว และประเทศเล็ก ๆ หลากหลาย ส่วนระบบรัฐสภาแบบอื่นจะนิยมในสหภาพยุโรปและประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ

ปัญหาและข้อขัดแย้ง

[แก้]

ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยตรง

[แก้]

เนื่องจากประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงเป็นระบบที่ไม่เอาใจใส่ความต้องการของประชาชนทั่วไปโดยตรงยกเว้นช่วงเลือกตั้ง เพราะผู้แทนจำนวนน้อยเป็นผู้ตัดสินใจและออกนโยบายการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกครองชีวิตประชาชน นักทฤษฎีอภิสิทธิชน (Elite theory) จึงอ้างว่า ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนรวมทั้งประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นเพียงแค่หน้าฉากของคณาธิปไตย[22] และนักทฤษฎีทางการเมืองทรงอิทธิพลก็ได้แสดงประชาธิปไตยเสรีนิยมว่าเป็นพหุธิปไตย (Polyarchy)[23] ซึ่งแปลว่า การปกครองโดยคนหลายคน เทียบกับ Oligarchy (แปลเป็นภาษาไทยว่า คณาธิปไตย) ซึ่งแปลว่า การปกครองโดยคนน้อยคน เพราะเหตุนี้และอื่น ๆ ผู้คัดค้านระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม จึงสนับสนุนระบอบการปกครองอื่น ๆ เช่น ประชาธิปไตยโดยตรง

ส่วนผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือแบบมีผู้แทนให้เหตุผล 3 อย่างเพื่อระบอบการปกครองเยี่ยงนี้

  1. ประโยชน์ของคนส่วนน้อยและเสรีภาพส่วนบุคคลต้องป้องกันจากเสียงของคนข้างมาก ดังที่ เจมส์ แมดิสัน ผู้มีชื่อว่าเป็นบิดาของรัฐธรรมนูญสหรัฐ (และประธานาธิบดีคนที่ 4) ได้กล่าวไว้ว่า "แหล่งความขัดแย้งที่สามัญและคงยืนที่สุดคือการกระจายทรัพย์สินที่หลากหลายและไม่เท่าเทียมกัน ผู้มีทรัพย์สินและผู้ไม่มี ย่อมมีความสนใจ/ผลประโยชน์ในสังคมที่ไม่เหมือนกันตลอดกาล" เพื่อป้องกันคนส่วนน้อย ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของที่ดิน ไม่ให้ถูกกดขี่ไม่ให้ความสำคัญโดยคนส่วนใหญ่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคนไม่มีที่ดิน จึงต้องมีข้อกำหนดซึ่งเรียกว่า republic (โดยหมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความเท่าเทียมกัน[24] / มีความรู้ / สามารถทำการอย่างหนึ่งได้อย่างเป็นอิสระ[25]) คือในมุมมองนี้ การปกครองแบบไม่จำกัดโดยคนส่วนมาก อาจนำไปสู่การกดขี่คนส่วนน้อย
  2. ผู้นำที่ได้รับเลือกอาจใส่ในปัญหาต่าง ๆ มากกว่า และเป็นผู้สามารถกว่าผู้ลงคะแนนเลือกตั้งโดยทั่วไป
  3. จะต้องใช้ความพยายามและเวลามาก ถ้าทุกคนจะต้องรวมรวมข้อมูล ปรึกษา และลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ โดยมาก

ส่วนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรงก็มีเหตุผลต่าง ๆ ที่โต้แย้ง โดยมีสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศตัวอย่างที่มีองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่ใช้งานได้จริง ๆ[26]

ปัจจุบันนี้ ประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมจำนวนมากมีองค์ประกอบของประชาธิปไตยโดยตรง เช่น การออกเสียงประชามติ (referendum), plebiscite, การริเริ่มออกกฎหมาย (initiative), การเลือกถอนตำแหน่ง (recall election), และรูปแบบต่าง ๆ ของ ประชาธิปไตยแบบอภิปราย (deliberative democracy) อนึ่ง รัฐจำนวนหนึ่งในสหรัฐก็มีการดำเนินการที่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง ประเทศอุรุกวัยก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง และประเทศอีกหลายประเทศอื่น ๆ ก็มีการออกเสียงประชามติ แม้ในระดับที่น้อยกว่าสวิตเซอร์แลนด์

เป็นเผด็จการของคนมีทรัพย์สิน

[แก้]

พวกมาร์กซิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยม และนักอนาธิปไตยให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมภายใต้ทุนนิยมจะสัมพันธ์กับชนชั้นโดยโครงสร้าง และดังนั้น ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยหรือมีส่วนร่วมจากประชาชนได้จริง ๆ และควรเรียกว่าประชาธิปไตยของกระฎุมพี เพราะโดยที่สุดแล้ว นักการเมืองจะต่อสู้เพื่อสิทธิของชนชั้นกระฎุมพีเท่านั้น

ตามมาร์กซ การมีผู้แทนที่ดูแลผลประโยชน์ของตน จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลที่ชนแต่ละชั้นสามารถซื้อ (เช่น ให้สินบน การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อมวลชน การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ การบริจาคให้พรรคการเมืองและเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค) ดังนั้น ผลประโยชน์ของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม จึงถูกทุจริตอย่างเป็นระบบอาศัยความมั่งคั่งของชนชั้นซึ่งรวยพอที่จะได้การเป็นตัวแทน และเพราะเหตุนี้ ประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคภายใต้อุดมคติทุนนิยมจึงจะบิดเบือนและต่อต้านประชาธิปไตยเสมอ โดยดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของระบบการผลิต

ตามมาร์กซ ชนชั้นกระฎุมพีจะรวยยิ่ง ๆ ขึ้นตามความมุ่งมั่นเพื่อยึดเอามูลค่าส่วนเกินจากแรงงานสร้างสรรค์ของชนชั้นกรรมาชีพ ความมุ่งมั่นนี้จะผูกมัดชนชั้นกระฎุมพีให้รวบรวมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพิ่มสัดส่วนมูลค่าส่วนเกินที่ได้โดยเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ คือกดข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับลูกจ้างให้ใกล้กับระดับความยากจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ข้อบังคับนี้ก็จะแสดงอย่างบังเอิญให้เห็นข้อจำกัดอันชัดเจนของเสรีภาพของกระฎุมพี และแม้แต่ข้อจำกัดของชนชั้นกระฎุมพีเอง)

ดังนั้น ตามมาร์กซ การเลือกตั้งรัฐสภาเป็นเพียงแต่ความพยายามที่ไร้ความจริงใจและทำอย่างเป็นระบบ เพื่อหลอกลวงประชาชนด้วยการอนุญาตให้เลือกตั้งเป็นบางครั้งบางคราว เพื่อเพียงรับรองตัวแทนที่กำหนดล่วงหน้าก่อนของคนชนชั้นกระฎุมพี เพื่อทำการสนับสนุนผลประโยชน์ของตน เมื่อเลือกตั้งแล้ว รัฐสภาเช่นนี้ โดยเป็นอำนาจเผด็จการของคนชั้นกระฎุมพี ก็จะออกกฎหมายที่สนับสนุนผลประโยชน์ของผู้ที่เลือกตั้งตนจริง ๆ ซึ่งก็คือคนชั้นกระฎุมพี

วลาดีมีร์ เลนิน เคยให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมใช้เพียงเพื่อให้ภาพลวงตาว่ามีประชาธิปไตย ในขณะที่ดำรงอำนาจเผด็จการของชนชั้นกระฎุมพี โดยสรุปก็คือ การเลือกตั้งของประชาชนไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ว่า มีอำนาจการตัดสินใจว่าใครในชนชั้นปกครอง จะได้ทำการแบบไม่เป็นตัวแทนให้ประชาชนในรัฐสภา[27]

ค่าใช้จ่ายเพื่อหาเสียงในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนจะเป็นกลไกอำนวยประโยชน์ให้คนรวย โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐยาธิปไตย ที่บุคคลจำนวนน้อยมากมีอิทธิพลจริง ๆ ต่อนโยบายของรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์โบราณ ตำแหน่งราชการบางอย่างจะตั้งประชาชนขึ้นโดยสุ่ม เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของเศรษฐยาธิปไตย อาริสโตเติลกล่าวถึงศาลในเอเธนส์ซึ่งเลือกตุลาการโดยสุ่ม ว่าเป็นประชาธิปไตย[28] ในขณะที่กล่าวถึงการเลือกตั้งว่าเป็นคณาธิปไตย[29]

นักสังคมนิยมบางคนยังโจมตีแม้กระทั่งประชาธิปไตยเสรีนิยมด้วยว่า เป็นละครตลกไม่จริงใจมุ่งหมายไม่ให้มวลชนเข้าใจว่า ความต้องการของตนจะไม่มีผลอะไรในกระบวนการทางการเมือง และเป็นการสมรู้ร่วมคิดเพื่อเร้ามวลชนให้วุ่นวายโดยเป็นแผนการทางการเมืองบางอย่าง บางคนก็ยืนยันว่า กระบวนการทางการเมืองเช่นนี้ส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทำสัญญากับผู้สนับสนุนที่มั่งคั่ง โดยจะเสนอออกฎหมายอำนวยผลประโยชน์ถ้าตนได้รับเลือก เป็นการสืบสานการสมรู้ร่วมคิดเพื่อผูกขาดส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเช่นนี้ (Campaign finance reform) ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ถึงกระนั้น ศ. สาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกคนหนึ่งก็ได้อ้างในหนังสือของเขาว่า การใช้จ่ายเพื่อหาเสียงไม่สามารถประกันได้ว่าจะได้รับเลือก โดยเปรียบเทียบชัยชนะการเลือกตั้งของคู่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้สมัครแข่งกันเองอย่างซ้ำ ๆ เพื่อตำแหน่งเดียวกัน (ซึ่งมักจะเกิดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ) ที่มีการใช้จ่ายระดับต่าง ๆ กัน เขาสรุปว่า "ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายชนะ สามารถตัดการใช้จ่ายครึ่งหนึ่งแล้วจะเสียคะแนนเสียงไปเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกัน ผู้แพ้ ถ้าเพิ่มการใช้จ่ายเป็นทวีคูณ สามารถหวังคะแนนเสียงเพิ่มเข้าข้างตนเองได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน"[30] แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า การตอบเช่นนี้ไม่ตรงประเด็นของนักสังคมนิยม คือ ประชาชนที่มีเงินน้อยหรือไม่มีเลย จะไม่มีทางได้ตำแหน่งทางการเมืองได้เลย ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้โดยเพียงข้อสังเกตว่า ไม่ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มเป็นทวีคูณหรือลดลงครึ่งหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนโอกาสชนะของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดย 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สื่อแสดงมุมจำกัด

[แก้]

ผู้วิจารณ์บทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมอ้างว่า การมีคนจำนวนน้อยเป็นเจ้าของสื่อ ก่อความบิดเบือนที่สำคัญในกระบวนการประชาธิปไตย ในหนังสือ การผลิตความยินยอม - เศรษฐกิจทางการเมืองของสื่อมวลชน (Manufacturing Consent: The Political Economy of the Mass Media) โนม ชอมสกีและผู้ร่วมเขียนได้ให้เหตุผลตามแบบจำลองโฆษณาชวนเชื่อของตนว่า[31] สื่อของธุรกิจจะจำกัดมุมมองที่ต่าง ๆ กัน จึงมีผลเผยแพร่เพียงพิสัยมุมมองที่จำกัดของอภิสิทธิชน นี่เป็นผลโดยธรรมชาติของความเชื่อมต่อกันที่ใกล้ชิดระหว่างธุรกิจทรงอิทธิพลกับสื่อ และดังนั้น สื่อจะแสดงมุมมองที่จำกัดโดยเฉพาะของกลุ่มชนที่พอจ่ายสื่อได้[32]

ชอมสกีกับผู้ร่วมเขียนยังได้ชี้ด้วยว่า ผู้บุกเบิกสื่อแรก ๆ ที่ทรงอิทธิพลยังมีมุมมองค้านประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน คือต่อต้านไม่ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนออกนโยบายของรัฐ[33] นักข่าวนักวิจารณ์ทางการเมืองอเมริกันผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง (Walter Lippmann) ได้กล่าวในหนังสือ (The Phantom Public) ในปี 2468 ว่าอภิสิทธิชนหาวิธีเพื่อ ขังสาธารณชนไว้เพื่อผู้มีอำนาจจะได้ "เป็นอิสระจากฝูงสัตว์ที่กำลังกระทืบโรงและส่งเสียงร้องอย่างงวยงง"[34] ในขณะที่ "บิดา" ของการประชาสัมพันธ์/การโฆษณาชวนเชื่อ (Edward Bernays) ได้สืบหาวิธีเพื่อ "อบรมฝึกใจของสาธารณชนเท่ากับที่กองทหารอบรมฝึกกายทหาร"[35]

ส่วนฝ่ายป้องกันประชาธิปไตยเสรีนิยมก็โต้ตอบให้เหตุผลว่า เสรีภาพในการพูดที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ทำให้องค์กรทั้งเพื่อผลกำไรและไม่แสวงผลกำไรสามารถอภิปรายประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้ และการรายงานข่าวของสื่อในประชาธิปไตยก็เพียงแค่สะท้อนความนิยมของสาธารณชน ไม่ใช่เพราะถูกตรวจข่าว โดยเฉพาะในรูปแบบใหม่ ๆ ของสื่อเช่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่มากเพื่อจะเข้าถึงผู้ฟังจำนวนมาก ถ้ามีความสนใจต่อไอเดียที่เสนอ

ผู้ลงคะแนนเสียงมาน้อย

[แก้]

จำนวนผู้มาออกคะแนนเสียงน้อย ไม่ว่าเพราะเหตุหมดความเชื่อ เฉยเมย หรือพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ อาจมองได้ว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะถ้าไม่สมส่วนกับกลุ่มประชากรนั้น ๆ แม้ว่า ระดับการมาออกคะแนนเสียงจะต่างกันมากระหว่างประเทศประชาธิปไตยในปัจจุบัน และระหว่างการเลือกตั้งหลายแบบหลายระดับภายในประเทศเดียวกัน แต่เมื่อถึงบางจุด ก็อาจจะก่อคำถามว่า นี่เป็นเจตจำนงของประชาชน หรือเป็นตัวบ่งชี้ปัญหาบางอย่างในสังคม หรือในกรณีสุด ๆ เป็นตัวบ่งชี้ความชอบธรรมของการเลือกตั้ง

การรณรงค์ให้ออกมาใช้เสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลหรือองค์กรอื่น ๆ อาจเพิ่มการออกมาใช้เสียง แต่ควรจะแยกแยะระหว่างการรณรงค์ทั่วไปที่เพิ่มการออกเสียง และการรณรงค์ของพรรคเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง พรรค หรือเหตุใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ หลายประเทศบังคับให้ออกเสียงลงคะแนน โดยมีการปรับลงโทษไม่เหมือนกัน ผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า วิธีนี้เพิ่มความชอบธรรม ดังนั้น จึงเพิ่มการยอมรับการเลือกตั้งของประชาชน ประกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบุคคลที่ได้รับผล และลดค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ให้ออกเสียง ส่วนเหตุผลคัดค้านรวมทั้งการจำกัดเสรีภาพ ค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้กฎหมาย การเพิ่มจำนวนบัตรเสียหรือการไม่ลงคะแนน และการลงคะแนนมั่ว[36]

ส่วนทางเลือกรวมทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งสำหรับผู้ไม่สามารถไป ณ สถานที่เลือกตั้งมากขึ้น หรือวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้ลงคะแนนเสียงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์

อำนวยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา

[แก้]

เพราะเหตุทางประวัติศาสตร์ รัฐหลายรัฐไม่เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ คืออาจจะมีการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจนทางชาติพันธุ์ ทางภาษา ทางศาสนา หรือทางวัฒนธรรม โดยบางกลุ่มอาจจะเป็นปฏิปักษ์กันอย่างชัดเจน ดังนั้น ประชาธิปไตย ซึ่งโดยทฤษฎีเปิดให้มวลชลมีส่วนร่วมตัดสินใจ ก็เปิดให้ใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อจัดการศัตรู

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเกิดประชาธิปไตยแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในรัฐกลุ่มโซเวียต จึงตามด้วยสงครามในยูโกสลาเวียเดิม ในเขตคอเคซัส และในมอลโดวา อย่างไรก็ดี บางคนก็เชื่อว่า การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการเพิ่มจำนวนรัฐประชาธิปไตย ก็ติดตามมาด้วยการลดจำนวนสงครามเบ็ดเสร็จ สงครามระหว่างรัฐ สงครามชาติพันธุ์ และสงครามปฏิวัติอย่างน่าทึ่ง โดยลดจำนวนผู้อพยพลี้ภัยและผู้ที่ถูกขับออกจากบ้านเรือนของตน (นับทั่วโลก ไม่จำกัดเพียงประเทศในกลุ่มโซเวียตเดิม) แต่แนวโน้มเช่นนี้ก็สามารถอธิบายได้ว่า มาจากการยุติสงครามเย็น หรือความหมดสภาพของสงครามเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นสงครามที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตได้เป็นผู้ให้เชื้อโดยมาก[37]

ดูข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มที่หัวข้อเสียงข้างมากนิยม และทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย

ในหนังสือ โลกติดไฟ - การส่งออกประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีได้ให้กำเนิดการเกลียดชังทางชาติพันธุ์และการไร้เสถียรภาพของโลกได้อย่างไร (World on Fire: How Exporting Free Market Democracy Breeds Ethnic Hatred and Global Instability) ศ. นิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยลได้ยกประเด็นคือ

เมื่อพยายามสร้างประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีในที่ ๆ คนส่วนน้อยมีอำนาจครอบครองทางเศรษฐกิจ ผลที่ได้แทบไม่เคยพลาดก็คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ซึ่งมักออกเป็น 3 รูปแบบ ประการแรกก็คือ ปฏิกิริยาต่อต้านเศรษฐกิจ/ตลาด โดยเล็งที่ความมั่งคั่งของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจครอบครองทางเศรษฐกิจ ประการที่สองก็คือ ปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตย โดยกลุ่มอำนาจที่เข้าข้างคนส่วนน้อย ประการที่สามก็คือความรุนแรง บางครั้งในระดับล้างเผ่าพันธุ์ ต่อคนส่วนน้อยเอง[38]

อำนวยระเบียบจุกจิกของราชการและกฎหมาย

[แก้]

ข้อวิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยที่คงยืนจากพวกอิสรนิยมและกษัตริย์นิยมก็คือ ระบบสนับสนุนให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกเปลี่ยน/ออกกฎหมายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะที่ทำอย่างน้ำท่วมป่า ซึ่งมองว่า เป็นอันตรายหลายอย่าง

กฎหมายใหม่อาจจำกัดสิ่งที่เคยเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล กฎหมายที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วทำให้คนพร้อมเชื่อฟังกฎหมายทั่วไปทำตามกฎหมายได้ยาก ซึ่งอาจเชื้อเชิญให้หน่วยบังคับกฎหมายต่าง ๆ ใช้อำนาจผิด ๆ การเพิ่มความซับซ้อนกฎหมายเรื่อย ๆ ตามที่อ้าง ขวางกฎธรรมชาติที่เรียบง่ายและเป็นจริงตลอดกาล แม้จะไม่มีมติในบรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ว่า กฎธรรมชาติที่ว่านี้คืออะไร แต่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ชี้ถึงระเบียบซับซ้อนจุกจิกของราชการและของกฎหมายที่เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการ เช่นที่พบในรัฐคอมมิวนิสต์ก่อน ๆ ระบบราชการของประชาธิปไตยเสรีนิยมบ่อยครั้งถูกตำหนิว่า ชักช้าและซับซ้อนเมื่อต้องตัดสินใจ

สนใจแค่เรื่องใกล้ ๆ

[แก้]

ตามนิยามปัจจุบันแล้ว ระบอบจะอำนวยให้เปลี่ยนรัฐบาลได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสร้างข้อวิจารณ์ว่า รัฐบาลสนใจแต่เรื่องใกล้ ๆ เพราะภายใน 4-5 ปีก็จะเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาวิธีชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งสนับสนุนให้ออกนโยบายที่ให้ประโยชน์ในระยะสั้น ๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (หรือแก่นักการเมืองที่ทำประโยชน์ให้ตัวเอง) ก่อนจะเลือกตั้งครั้งต่อไป แทนนโยบายที่ไม่นิยมแต่มีประโยชน์ในระยะยาว แต่ข้อวิจารณ์นี้สมมุติว่า เป็นไปได้ที่จะพยากรณ์อนาคตระยะยาวของสังคม ซึ่งนักปรัชญาบางท่าน (เช่น Karl Popper) วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดแบบประวัติศาสตร์นิยม ซึ่งไม่ควรเชื่อถือ

นอกจากเพราะการเลือกตั้งเป็นประจำ ความสนใจแต่เรื่องใกล้ ๆ อาจเป็นผลของการคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงการรณรงค์เพื่อนโยบายลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มความว่างงานในระยะสั้น ๆ (ว่าจะให้ผ่านดีหรือไม่) แต่ความเสี่ยงเช่นนี้ก็มีทั่วไปในระบอบการปกครองอื่น ๆ ด้วย

นักทุนนิยมแบบอนาธิปไตยคนหนึ่ง (Hans-Herman Hoppe) อธิบายเหตุของการมองแค่ใกล้ ๆ ของรัฐบาลประชาธิปไตย ว่าเป็นการเลือกทำอย่างสมเหตุผลของกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบัน ในการหาผลประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มได้ประโยชน์มากที่สุด เขาเทียบกันราชาธิปไตยแบบสืบพระราชสกุล ที่พระราชาจะทรงสนใจรักษาคุณค่าของสมบัติ (คือ ประเทศ) ของพระองค์ในระยะยาว ซึ่งถ่วงดุลพระประสงค์ที่จะได้รายได้มากที่สุดในระยะสั้น เขาให้หลักฐานคือบันทึกอัตราภาษีตามประวัติศาสตร์ของพระราชตระกูลอังกฤษบางสกุลที่ 20-25%[39] เทียบกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมบางประเทศที่ 30-60% ซึ่งดูจะยืนยันเหตุผลนี้[40]

ประชาชนไม่มีอิทธิพล จึงไม่รู้เรื่องการเมือง

[แก้]

ทฤษฎีทางเลือกของสาธารณชน (Public choice theory) เป็นสาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นักการเมือง และข้าราชการจากมุมมองของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ งานหนึ่งศึกษาปัญหาว่า ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนมีอิทธิพลน้อยมาก และดังนั้น อาจไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ อย่างสมเหตุผล เพราะความพยายามเพื่อจะรู้มีค่าสูงกว่าประโยชน์ที่ได้จากความรู้ [ต้องการอ้างอิง] ซึ่งอาจทำให้กลุ่มรณรงค์กฎหมายเพื่อผลประโยชน์เฉพาะเรื่อง ได้การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือได้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อตนแต่เป็นความเสียหายต่อสังคม[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ดี กลุ่มเช่นนี้ก็อาจมีอิทธิพลเท่าหรือมากกว่าในสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย[ต้องการอ้างอิง]

นิยมเสียงข้างมาก สามารถกดขี่ชนกลุ่มน้อย

[แก้]

เผด็จการโดยเสียงข้างมากเป็นแนวคิดแสดงความกลัวว่า รัฐบาลประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งออกกฎหมายสะท้อนความเห็นของคนส่วนมาก สามารถกดขี่ข่มเหงคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้โดยเฉพาะ เช่นคนที่มั่งคั่ง มีทรัพย์สิน มีอำนาจ หรือคนส่วนน้อยทางด้านเชื้อชาติ ทางชาติพันธุ์ ทางชนชั้น หรือทางสัญชาติ

โดยทฤษฎีก็คือ คนส่วนมากหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประชาชนประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด แต่ถ้าไม่บังคับโดยกฎหมายให้ลงคะแนนออกเสียง ก็จะเป็นส่วนมากของคนที่เลือกออกเสียง ดังนั้น ถ้ากลุ่มผู้ออกเสียงเป็นคนกลุ่มน้อย ก็จะสามารถกดขี่คนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งในนามของคนกลุ่มมาก แต่ว่า เหตุผลเช่นนี้สามารถอ้างได้ในประชาธิปไตยทุกประเภท

เทียบกับระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่บังคับให้ประชาชนทุกคนลงคะแนนเสียง ในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ความมั่งคั่งและอำนาจมักรวมอยู่ในมือของชนชั้นอภิสิทธิ์ส่วนน้อย ผู้มีอำนาจอย่างสำคัญครอบงำกระบวนการทางการเมือง ดังนั้นจึงอ้างว่า ในประเทศประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน คนกลุ่มน้อยนี้เป็นผู้ออกนโยบายโดยมาก และอาจกดขี่คนกลุ่มน้อย หรือแม้แต่กดขี่คนกลุ่มมากในนามของคนกลุ่มมากเอง ประเทศเผด็จการโดยพฤตินัยหลายประเทศก็บังคับให้ลงคะแนนเลือกตั้งที่ "ไม่เสรีและไม่ยุติธรรม" เพื่อเพิ่มความชอบธรรมของระบอบการปกครอง เช่น เกาหลีเหนือ[41][42]

ตัวอย่างของคนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่โดยหรือในนามของคนกลุ่มมากอาจรวมทั้ง

  • คนที่มีโอกาสถูกเกณฑ์ทหารเป็นคนกลุ่มน้อย ด้วยเหตุผลทางสังคมหรือฐานะ
  • คนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งบ่อยครั้งใช้เงินและอิทธิพลเพื่อชักใยกระบวนการทางการเมืองต่อต้านผลประโยชน์ของประชากรที่เหลือ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยโดยรายได้และโดยโอกาสเข้าถึงผู้ออกนโยบาย/กฎหมายได้
  • ประเทศยุโรปหลายประเทศได้ออกฎหมายห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวภายในโรงเรียนรัฐ คนคัดค้านเห็นว่านี่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา ส่วนคนสนับสนุนเห็นว่า นี่เป็นไปตามหลักการแยกกิจกรรมของรัฐออกจากกิจกรรมทางศาสนา
  • การห้ามงานลามกโดยปกติจะกำหนดโดยสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
  • การมีอาวุธส่วนตัว (เช่น ไม้กระบอง ไม้กระบองสองข้างมีโซ่เชื่อม สนับมือ พริกไทยพ่น ปืน เป็นต้น) เป็นอาชญากรรมอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ (เช่น สหราชอาณาจักร เบลเยียม ไทย เป็นต้น) โดยการทำให้เป็นอาชญากรรมตามอำเภอใจเช่นนี้อาจมีแรงดลใจเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสังคม เพื่อลดความรุนแรงโดยทั่วไป ลดจำนวนฆาตกรรม หรืออาจมีเหตุทางศีลธรรม ทางชนชั้น หรือในฐานะพ่อปกครองลูก
  • ยาเสพติดเพื่อความผ่อนคลาย เช่น คาเฟอีน บุหรี่ และสุรา บ่อยครั้งจัดเป็นอาชญากรรมหรือของต้องห้ามโดยคนส่วนใหญ่ ดั้งเดิมตามแรงจูงใจเกี่ยวกับเชื้อชาติ ชนชั้น ศาสนา หรือในฐานะพ่อปกครองลูก[43][44][45][46]
  • การปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศ คือพฤติกรรมทางเพศของคนรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมในประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากจนกระทั่ง 2-3 ทศวรรษก่อน แต่ในบางประเทศก็ยังคงเป็นอาชญากรรม โดยสะท้อนประเพณีทางศาสนาหรือทางเพศของคนส่วนใหญ่
  • สังคมประชาธิปไตยกรุงเอเธนส์และสหรัฐในระยะต้นมีทาส
  • คนส่วนใหญ่มักหักรายได้จากคนส่วนน้อยที่มั่งคั่งโดยภาษีอัตราก้าวหน้าตามรายได้ โดยตั้งใจว่า คนรวยจะมีภาระทางภาษีที่หนักกว่าเพื่อประโยชน์สังคม
  • ในสังคมประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนในประเทศตะวันตกที่ร่ำรวย คนจนจะเป็นคนส่วนน้อย และอาจไม่มีอำนาจใช้ระบบรัฐเพื่อปรับกระจายรายได้ เมื่อคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนมากต่อต้านนโยบายเช่นนั้น ถ้าคนจนแบ่งเป็นชนชั้นต่ำอย่างชัดเจน คนส่วนมากอาจใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อถอนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยพฤตินัย
  • ตัวอย่างที่บ่อยครั้งอ้างในเรื่อง "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" ก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ขึ้นสู่อำนาจผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ชอบธรรม คือพรรคนาซีได้ส่วนแบ่งคะแนนเสียงมากที่สุดในสาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในปี 2476 แต่บางคนก็อาจพิจารณาตัวอย่างว่านี้เป็น "เผด็จการโดยคนกลุ่มน้อย" เนื่องจากเขาไม่เคยได้คะแนนเสียงส่วนมากของประชาชนทั้งหมดจริง ๆ แต่นี่ก็เป็นวิธีสามัญในระบบประชาธิปไตยที่ตัดสินการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่ออกเหนือกว่า ดังนั้น การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ก็ยังอยู่ในประเด็น แต่ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่เลิกล้มระบบประชาธิปไตยไปแล้ว อนึ่ง รัฐธรรมนูญไวมาร์ได้อนุญาตให้ใช้อำนาจเผด็จการและให้พักหลักต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียงหรือเลือกตั้งในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนผู้สนับสนุนแสดงว่า มีมาตรการความปลอดภัยหลายอย่างในรัฐประชาธิปไตยเพื่อป้องกัน "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เช่น การมีกฎรัฐธรรมนูญที่ป้องกันสิทธิของประชาชนทั้งหมด โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจะต้องได้การตกลงจากเกินกว่าครึ่งของผู้แทน ได้การตกลงจากตุลาการและลูกขุนที่เห็นด้วยว่ามาตรฐานทางหลักฐานและกระบวนการได้ทำอย่างสมบูรณ์ ได้การลงคะแนนเสียงเห็นด้วยสองครั้งโดยผู้แทนจากการเลือกตั้งสองครั้ง หรือบางครั้งได้การออกเสียงประชามติ และบ่อยครั้ง ข้อแม้เหล่านี้ต้องทำอย่างผสม การแยกใช้อำนาจเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ก็จะทำให้คนส่วนน้อยทำตามอำเภอใจได้ยากขึ้น ซึ่งหมายความว่า แม้คนส่วนมากจะยังสามารถบังคับคนส่วนน้อยอย่างถูกกฎหมาย (โดยอาจจะไม่ถูกต้องตามจริยธรรม) แต่คนส่วนน้อยนี้จะเป็นคนกลุ่มเล็กมากโดยทางปฏิบัติ เพราะการเร้าให้คนส่วนใหญ่ตกลงร่วมใจปฏิบัติการเยี่ยงนั้นเป็นเรื่องยาก

เหตุผลอีกอย่างก็คือ คนส่วนมากและคนส่วนน้อยอาจไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันในประเด็นต่าง ๆ กัน คือ บุคคลอาจจะเห็นร่วมกับคนส่วนมากในบางเรื่อง เห็นร่วมกับคนส่วนน้อยในบางเรื่อง และความเห็นก็อาจเปลี่ยนได้ ดังนั้น สมาชิกของคนส่วนมากอาจจำกัดการกดขี่คนส่วนน้อย เพราะตัวอาจจะเป็นคนส่วนน้อยเองในอนาคต

เหตุผลสามัญที่สามก็คือ แม้จะเสี่ยง การปกครองโดยเสียงข้างมากก็ยังดีกว่าระบบอื่น ๆ และดีกว่าเผด็จการโดยคนกลุ่มน้อย อนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวก็ล้วนสามารถเกิดในรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้ โดยมีปัญหาเพิ่มว่า คนกลุ่มน้อยสามารถกดขี่ข่มเหงคนส่วนมากได้

ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอ้างว่า หลักฐานเชิงประสบการณ์ทางสถิติแสดงอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลประชาธิปไตยในระดับสูงกว่า ใช้ความรุนแรงและการสังหารหมู่ภายในประเทศน้อยกว่า ซึ่งบางครั้งเรียกว่ากฎของรัมเมล (Rummel's Law) อันอ้างว่า ประชาชนมีเสรีภาพแบบประชาธิปไตยยิ่งน้อยเท่าไร ผู้ปกครองก็มีโอกาสฆ่าประชาชนสูงยิ่งขึ้นเท่านั้น

สร้างเสถียรภาพทางการเมือง

[แก้]

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ เป็นระบบที่ประชาชนสามารถเปลี่ยนผู้ดำเนินการของรัฐได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนมูลฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับรัฐบาล ดังนั้น ระบบประชาธิปไตยจึงสามารถลดความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า แม้ตนอาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายปัจจุบัน แต่ก็จะได้โอกาสเปลี่ยนคนที่อยู่ในอำนาจ หรือเปลี่ยนนโยบายที่ตนไม่เห็นด้วย ซึ่งดีกว่าระบบที่ต้องใช้ความรุนแรงเปลี่ยนสถานภาพ

บางคนก็คิดว่า เสถียรภาพทางการเมืองอาจเกินไปถ้ากลุ่มที่อยู่ในอำนาจเป็นพวกเดียวกันเป็นเวลานาน แต่ว่า นี่ก็สามัญกว่าในระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยเสรีนิยมก็คือ ผู้ต่อต้านระบอบ (คือ ผู้ต้องการเลิกล้มระบอบ) ไม่ค่อยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สนับสนุนใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีเสถียรภาพในตัว และจะล้มล้างได้ก็ต่อเมื่อใช้อำนาจนอกกฎหมาย ในขณะที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ระบบตั้งซ้อนทับบุคคลผู้ไม่เห็นด้วยจนขยับไม่ได้ แม้จะมีการอ้างว่าระบอบมีความเป็นกลาง

ในอดีต เคยกลัวกันว่า ผู้นำที่ต้องการอำนาจเผด็จการและสามารถได้รับเลือกตั้ง อาจชักใยระบบได้ง่าย ๆ แต่ว่า จำนวนรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เลือกนักเผด็จการขึ้นสู่อำนาจมีน้อยมาก และเมื่อเกิดขึ้น ก็มักจะเกิดหลังวิกฤติการณ์สำคัญทีทำให้คนจำนวนมากไม่มั่นใจในระบบ หรือเกิดในประชาธิปไตยที่เพิ่งตั้งขึ้นหรือยังดำเนินการได้ไม่ดี ตัวอย่างรวมทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และนโปเลียน ผู้ตอนแรกได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง แล้วในที่สุดก็จักรพรรดิ

ไม่มีประสิทธิผลช่วงสงคราม

[แก้]

โดยนิยาม ประชาธิปไตยเสรีนิยมหมายความว่าอำนาจไม่ได้รวมศูนย์ ดังนั้น นี่อาจเป็นข้อเสียเปรียบในช่วงสงคราม เมื่อจำเป็นต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นใจเดียวกัน ฝ่ายนิติบัญญัติปกติจะต้องยินยอมก่อนจะเริ่มยุทธการรุกรานทางทหาร แม้ว่าบางที ฝ่ายบริหารก็สามารถทำได้แต่ต้องแจ้งฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าถูกโจมตี ปกติไม่จำเป็นต้องได้ความยินยอมเพื่อเริ่มยุทธการป้องกันตัว อนึ่ง ประชาชนอาจจะลงคะแนนเสียงไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร

อย่างไรก็ดี งานวิจัยกลับแสดงว่า ประชาธิปไตยมีโอกาสชนะสงครามมากกว่ารัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย คำอธิบายหนึ่งยกเหตุให้ "ความโปร่งใสของระบบการปกครองและเสถียรภาพของสิ่งที่ต้องการ เมื่อกำหนดได้ ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถร่วมมือกับพันธมิตรในการทำสงครามได้ดีกว่า" งานวิจัยอื่นยกเหตุให้แก่การระดมทรัพยากรได้ดีกว่า หรือการเลือกสงครามที่มีโอกาสชนะสูง[47]

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์คู่หนึ่งให้ข้อสังเกตว่า การเน้นความเป็นตัวของตัวเองในสังคมประชาธิปไตยหมายความว่า ทหารจะต่อสู้โดยมีความริเริ่มและความเป็นผู้นำดีกว่า[48] เพราะว่า นายทหารในระบอบเผด็จการมักจะแต่งตั้งตามความจงรักภักดีทางการเมือง ไม่ใช่สมรรถภาพทางการทหาร และอาจมาจากชนชั้นที่เล็กมาก หรือจากกลุ่มศาสนา/ชาติพันธุ์ที่สนับสนุนการปกครอง

ผู้นำของรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอาจตอบสนองอย่างรุนแรงต่อคำวิจารณ์หรือความไม่เชื่อฟัง ซึ่งอาจทำให้ทั้งพลทหารและนายทหารกลัวที่จะคัดค้านหรือทำการโดยไม่ได้รับคำสั่งโดยตรง การไร้ความริเริ่มเช่นนี้ อาจเสียหายเป็นพิเศษในสงครามยุคปัจจุบัน ทหารฝ่ายตรงข้ามอาจจะยอมแพ้อย่างง่าย ๆ กว่าต่อรัฐประชาธิปไตย เพราะหวังการปฏิบัติที่ดีโดยเปรียบเทียบได้มากกว่า เปรียบเทียบกับนาซีเยอรมนีที่ประหารทหารโซเวียต 2 ใน 3 ที่จับได้ และเกาหลีเหนือที่ประหารทหารอเมริกันที่จับได้ในช่วงสงครามเกาหลีถึง 38%

มีข้อมูลและการแก้ปัญหาที่ดีกว่า

[แก้]

ระบอบประชาธิปไตยอาจให้ข้อมูลเพื่อออกนโยบายได้ดีกว่า เพราะว่า ระบอบเผด็จการอาจเพิกเฉยข้อมูลที่ไม่ชอบใจได้ง่ายกว่า แม้ข้อมูลจะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่ามีปัญหา ระบอบประชาธิปไตยยังมีระเบียบการเปลี่ยนผู้นำหรือนโยบายซึ่งไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ในระบอบอัตตาธิปไตย ปัญหาอาจดำเนินไปได้ยาวกว่า และวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาจสามัญกว่า[49]

ช่วยลดคอร์รัปชัน

[แก้]

งานวิจัยของธนาคารโลกแสดงว่า หลักการเมืองสำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อจำกัดคอร์รัปชัน หลักรวมทั้ง ระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว รัฐสภา ความเสถียรภาพทางการเมือง และเสรีภาพของสื่อข่าว ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับคอร์รัปชันที่น้อยกว่า[50] กฎหมายเสรีภาพในการได้ข้อมูลข่าวสาร เป็นสิ่งสำคัญต่อภาระรับผิดชอบและความโปร่งใสของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายสิทธิเพื่อได้ข้อมูล (Right to Information Act) ของอินเดีย "ได้ก่อให้เกิดขบวนการของมวลชนในประเทศ ซึ่งกำลังทำระบบราชการที่บ่อยครั้งทุจริตให้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ แล้วเปลี่ยนดุลอำนาจโดยสิ้นเชิง"[51]

การก่อการร้ายน้อยกว่า

[แก้]

งานศึกษาหลายงาน[ต้องการอ้างอิง] ได้สรุปว่า การก่อการร้ายสามัญที่สุดในประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองในระดับกลาง ๆ โดยหมายถึงประเทศที่กำลังเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย เพราะประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการที่เข้มแข็ง ตลอดจนรัฐที่ให้เสรีภาพทางการเมืองมากกว่า มีก่อการร้ายน้อยกว่า[52]

เศรษฐกิจดีกว่า และวิกฤติการณ์ทางการเงินน้อยกว่า

[แก้]

โดยสถิติแล้ว รัฐประชาธิปไตยสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อประชากรที่สูงกว่า อย่างไรก็ดี ก็มีข้อขัดแย้งว่า ควรให้เครดิตเรื่องนี้ต่อระบอบประชาธิปไตยได้แค่ไหน คือ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยจะแพร่หลายก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมและการเริ่มระบบทุนนิยม ในนัยตรงกันข้าม การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้เกิดก่อนในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในเวลานั้นภายในอาณาเขตของตน (แม้ว่า ประชาธิปไตยจะจำกัดมากและไม่ได้ใช้ในอาณานิคมซึ่งเป็นแหล่งสร้างความร่ำรวย)

งานทางสถิติหลายงานสนับสนุนทฤษฎีว่า ทุนนิยมระดับสูงกว่า วัดโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) แบบต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยที่เป็นอิสระเป็นร้อย ๆ งานได้ใช้[53] เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่งคั่งโดยทั่วไป ลดความยากจน และเป็นเหตุต่อการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย แต่นี่เป็นความโน้มเอียงทางสถิติ ดังนั้น จึงมีข้อยกเว้นเป็นกรณี ๆ เช่น ประเทศมาลี ซึ่งจัดว่า "เสรี" โดยฟรีดอมเฮาส์ แต่กลับเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือกาตาร์ซึ่งโต้แย้งได้ว่ามีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อประชากรสูงสุด แต่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ยังมีงานศึกษาอื่น ๆ ที่แสดงว่า ประชาธิปไตยเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และมีบางงานที่ไม่พบผลลบหรือพบผลลบที่น้อยมาก[54][55][56][57][58][59]

ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศต่าง ๆ เช่น สวีเดนและแคนาดาปัจจุบันมีคะแนนต่ำกว่าชิลีและเอสโตเนียในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสวีเดนและแคนาดากลับมี GDP ต่อประชากรที่สูงกว่า แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะงานศึกษาต่าง ๆ แสดงผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และดังนั้น GDP ต่อประชากรในอนาคตจะสูงกว่าถ้ามีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า อนึ่ง ตามดัชนี สวีเดนและแคนาดาเป็นประเทศทุนนิยมระดับสูงสุดในโลก เนื่องจากปัจจัยเช่นหลักนิติธรรม สิทธิทางทรัพย์สินที่เข้มแข็ง และข้อจำกัดต่อการค้าเสรีที่น้อยมาก ส่วนผู้คัดค้านอาจอ้างว่า ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจและวิธีการอื่น ๆ ไม่ได้วัดระดับทุนนิยมจริง ๆ

บางท่านอ้างว่า เศรษฐกิจที่เติบโตจากการให้อำนาจแก่ประชาชน จะช่วยเปลี่ยนประเทศต่าง ๆ เช่นคิวบา ให้เป็นประชาธิปไตย แต่บางคนก็โต้แย้งเรื่องนี้ คือ แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้ก่อให้เกิดประชาธิปไตยในอดีต แต่ก็อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ในอนาคต เพราะผู้เผด็จการอาจจะรู้จักเลี้ยงเศรษฐกิจให้เติบโตโดยไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น[60][61]

การส่งออกน้ำมันหรือแร่ระดับสูงสัมพันธ์กับระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างมีกำลัง ซึ่งเป็นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในตะวันออกกลาง คือผู้เผด็จการที่ร่ำรวยเยี่ยงนี้สามารถจับจ่ายเพื่อความมั่นคงและเพื่อให้ประโยชน์ที่ลดการจลาจลของประชาชน ดังนั้น ความมั่งคั่งเช่นนี้จะไม่ติดตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม แต่ในเศรษฐกิจที่เจริญเพราะเหตุอื่น ความมั่งคั่งอาจเปลี่ยนแปลงสังคม[62]

งานวิเคราะห์อภิมานปี 2549 พบว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่มีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลโดยอ้อมที่สำคัญและมีกำลัง คือ ประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการสะสมทรัพย์ที่สูงกว่า ภาวะเงินเฟ้อที่น้อยกว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีกว่า และดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า แต่ก็มีหลักฐานด้วยว่ามันสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ใหญ่กว่า และกับข้อจำกัดต่อการค้าระหว่างประเทศมากกว่า[63]

ถ้าไม่นับเอเชียตะวันออก ใน 45 ปีที่ผ่านมา รัฐประชาธิปไตยที่ยากจนมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น 50% เร็วกว่ารัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น ประเทศประชาธิปไตยในเขตทะเลบอลติก บอตสวานา คอสตาริกา กานา เซเนกัล ได้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยรวมทั้งแองโกลา ซีเรีย อุซเบกิสถาน และซิมบับเว[49] ในความวิบัติทางการเงินที่แย่ที่สุด 80 เหตุการณ์ เพียงแค่ 5 เหตุการณ์เท่านั้นที่เกิดในประเทศประชาธิปไตย และเช่นกัน รัฐประชาธิปไตยที่ยากจนมีโอกาสครึ่งหนึ่งของรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ GDP ต่อประชากรจะลดลง 10% ภายในปีเดียว[49]

มีทุพภิกขภัยและผู้อพยพลี้ภัยน้อยกว่า

[แก้]

ศ. อมรรตยะ เสน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่า รัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพไม่เคยมีปัญหาทุพภิกขภัยขนาดใหญ่[64] วิกฤติการณ์ผู้อพยพลี้ภัยได้เกิดในรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเกือบทั้งหมด เมื่อตรวจดูกรณีผู้อพยพลี้ภัยภายใน 20 ปีที่ผ่านมา โดย 87 กรณีแรกเกิดในอัตตาธิปไตย[49]

พัฒนามนุษย์ได้ดีกว่า ยากจนน้อยกว่า เป็นต้น

[แก้]

ประชาธิปไตยสัมพันธ์กับค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่สูงกว่า และกับค่าดัชนีความยากจนมนุษย์ที่ต่ำกว่า ประชาธิปไตยมีโอกาสให้ระบบการศึกษาที่ดีกว่า การคาดหมายคงชีพที่ยืนนานกว่า จำนวนเสียชีวิตทารกที่ต่ำกว่า น้ำที่ดื่มได้ และบริการสุขภาพที่ดีกว่าระบอบเผด็จการ ซึ่งไม่ใช่จากการช่วยเหลือของต่างประเทศ หรือการให้งบประมาณสูงกว่าเทียบกับ GDP แต่เป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ได้ดีกว่า[49]

ตัวบ่งชี้ทางสุขภาพหลายตัว (การคาดหมายคงชีพ จำนวนเสียชีวิตของทารก จำนวนเสียชีวิตของมารดา) มีค่าสหสัมพันธ์และนัยสำคัญทางสถิติกับประชาธิปไตย เหนือกว่ากับ GDP ต่อประชากร กับขนาดของรัฐบาล หรือกับความไม่เสมอภาคกันทางรายได้[65]

ในประเทศคอมมิวนิสต์ก่อน ๆ หลังจากที่เสื่อมลงในระยะต้น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดได้เพิ่มการคาดหมายคงชีพมากที่สุด[66]

ทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย

[แก้]

งานวิจัยหลากหลายที่ใช้ข้อมูลต่าง ๆ กัน นิยามต่าง ๆ กัน และการวิเคราะห์ทางสถิติต่าง ๆ กัน ต่างพบหลักฐานสนับสนุน ทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย (Democratic peace theory) [ต้องการอ้างอิง] งานศึกษาเบื้องต้นสุดพบว่า รัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมไม่เคยทำสงครามกับกันและกัน งานวิจัยต่อ ๆ มาได้ขยายทฤษฎีนี้โดยพบว่า รัฐประชาธิปไตยมีจำนวนข้อพิพาทระหว่างรัฐที่ใช้กำลังทหารระดับ MID (ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตน้อยกว่า 1,000 คนในการสู้รบ) น้อยกว่า อนึ่ง MID ที่เกิดระหว่างรัฐประชาธิปไตยเป็นเหตุแห่งความตายน้อยกว่า และรัฐประชาธิปไตยก็มีสงครามกลางเมืองน้อยกว่า[67][68]

มีข้อโต้แย้งหลายอย่างต่อทฤษฎีนี้ รวมทั้งการมีหลักฐานปฏิเสธอย่างน้อยก็เท่า ๆ กับหลักฐานที่ยืนยันทฤษฎี, มีกรณีที่ต่างจากปกติถึง 200 กรณี, ไม่ปฏิบัติต่อ "ประชาธิปไตย" โดยเป็นแนวคิดหลายมิติ, และสหสัมพันธ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุ[69]

การสังหารหมู่โดยรัฐน้อยกว่า

[แก้]

ศ. อเมริกันคนหนึ่ง (ผู้สนับสนุนทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย) อ้างว่า รัฐบาลประชาธิปไตยสังหารหมู่ประชาชนน้อยกว่า[70] และเช่นกัน ก็ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสังหารหมู่เหตุการเมือง น้อยกว่าด้วย[71]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Freedom in The World report" (PDF). Freedom House. 2016.
  2. "Christian Business Ordered to Duplicate Homosexual Activist". Concerned Women for America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-28.
  3. Kopstein, Jeffrey; Lichbach, Mark; Hanson, Stephen E., บ.ก. (2014). Comparative Politics: Interests, Identities, and Institutions in a Changing Global Order (4, revised ed.). Cambridge University Press. pp. 37–9. ISBN 1139991388. Britain pioneered the system of liberal democracy that has now spread in one form or another to most of the world's countries
  4. "Britain's unwritten constitution". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-12. สืบค้นเมื่อ 2015-11-27. The key landmark is the Bill of Rights (1689), which established the supremacy of Parliament over the Crown.... The Bill of Rights (1689) then settled the primacy of Parliament over the monarch’s prerogatives, providing for the regular meeting of Parliament, free elections to the Commons, free speech in parliamentary debates, and some basic human rights, most famously freedom from ‘cruel or unusual punishment’.
  5. "Constitutionalism: America & Beyond". Bureau of International Information Programs (IIP), U.S. Department of State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2014-10-30. The earliest, and perhaps greatest, victory for liberalism was achieved in England. The rising commercial class that had supported the Tudor monarchy in the 16th century led the revolutionary battle in the 17th, and succeeded in establishing the supremacy of Parliament and, eventually, of the House of Commons. What emerged as the distinctive feature of modern constitutionalism was not the insistence on the idea that the king is subject to law (although this concept is an essential attribute of all constitutionalism). This notion was already well established in the Middle Ages. What was distinctive was the establishment of effective means of political control whereby the rule of law might be enforced. Modern constitutionalism was born with the political requirement that representative government depended upon the consent of citizen subjects.... However, as can be seen through provisions in the 1689 Bill of Rights, the English Revolution was fought not just to protect the rights of property (in the narrow sense) but to establish those liberties which liberals believed essential to human dignity and moral worth. The "rights of man" enumerated in the English Bill of Rights gradually were proclaimed beyond the boundaries of England, notably in the American Declaration of Independence of 1776 and in the French Declaration of the Rights of Man in 1789.
  6. Heater, Derek (2006). "Emergence of Radicalism". Citizenship in Britain: A History. Edinburgh University Press. pp. 30–42. ISBN 9780748626724.
  7. Blainey, Geoffrey (2004). A Very Short History of the World. Penguin Books. ISBN 9780713998221.
  8. Schmitt, Carl (1985). The Crisis of Parliamentary Democracy. Cambridge: MIT Press. pp. 2, 8 (chapter 1). ISBN 978-0-26-219240-8.
  9. Doomen, Jasper (2014). Freedom and Equality in a Liberal Democratic State. Brussels: Bruylant. pp. 88, 101. ISBN 978-2-80-274623-2.
  10. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Freedom House เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ได้รับทุน 66-85% จากรัฐบาลกลางสหรัฐระหว่างปี 2549-2558 เพื่อทำงานสนับสนุนและวิจัยในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน องค์กรทำรายงานประจำปีรวมทั้ง
    • รายงานเสรีภาพในโลก (Freedom in the World Report) ซึ่งประเมินเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของพลเรือน เป็นรายงานที่นักรัฐศาสตร์ นักข่าว และผู้ออกนโยบายรัฐ อ้างอิงบ่อย ๆ
    • รายงาน เสรีภาพของนักข่าว (Freedom of the Press) และ เสรีภาพของอินเทอร์เน็ต (Freedom of Net) ซึ่งตรวจตราการตรวจพิจารณา (การเซ็นเซอร์) การคุกคามและความรุนแรงต่อนักข่าว และการเข้าถึงข้อมูลได้ของประชาชน
    แม้ว่า องค์การจะถูกตำหนิโดยกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้ง รัสเซีย จีน คิวบา ซูดาน พร้อมทั้งนักรัฐศาสตร์และนักปฏิบัติการทางการเมืองของสหรัฐเอง แต่ว่า งานวิเคราะห์ของนักวิชาการพวกหนึ่ง (Kenneth A. Bollen) ไม่พบความเอนเอียงอย่างเป็นระบบของดัชนีที่เป็นผลงาน ส่วนอีกงานหนึ่ง (Mainwaring et. al) พบความเอนเอียงอย่างเป็นระบบสองอย่าง แม้ว่าค่าที่ได้เกี่ยวกับประเทศลาตินอเมริกาจะสัมพันธ์กับที่พบในงานวิเคราะห์ของกลุ่มอื่น ๆ
  11. Casper, Gretchen; Tufis, Claudiu (2002). "Correlation versus Interchangeability: The Limited Robustness of Empirical Findings on Democracy using Highly Correlated Datasets" (PDF). Pennsylvania State University: Faculty paper. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-09-28.
  12. Bollen, K.A. (1992). Jabine, T.B.; Pierre Claude, R. (บ.ก.). Political Rights and Political Liberties in Nations: An Evaluation of Human Rights Measures, 1950 to 1984. Human Rights and Statistics. University of Pennsylvania Press. ISBN 0-8122-3108-2.
  13. "Policy Data Set". systemicpeace.org.
  14. Seyla Benhabib, Democracy and difference: contesting the boundaries of the political
  15. Alain Gagnon,Intellectuals in liberal democracies: political influence and social involvement
  16. Yvonne Schmidt, Foundations of Civil and Political Rights in Israel and the Occupied Territories
  17. William S. Livingston, A Prospect of purple and orange democracy
  18. Steven V. Mazie,Israel's higher law: religion and liberal democracy in the Jewish state
  19. Mulgan, Richard; Peter Aimer (2004). "chapter 1, page 17". Politics in New Zealand (3rd ed.). Auckland University Press. pp. 344 pages. ISBN 1-86940-318-5. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  20. "India Awakens - Fueled by high-octane growth, the world's largest democracy is becoming a global power. Why the world will never be the same". Time. 2006-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-15. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.
  21. Hyland, James L (1995). Democratic theory: the philosophical foundations. Manchester, England, UK; New York, New York, USA: Manchester University Press ND. p. 247.
  22. Dahl, RA. Democracy and Its Critics. Yale University Press. p. 222.
  23. "republic", Concise Oxford English Dictionary (8th ed.), United Kingdom: Oxford University Press, 1990, 2 a society with equality between its members (the literary republic). Republic Day the day on which the foundation of a republic is commemorated; in India 26 January
  24. "republic", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11th ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, 2 : a body of persons freely engaged in a specified activity <the republic of letters>
  25. Knoepfel, Peter; Papadopoulos, Yannis; Sciarini, Pascal; Vatter, Adrian; Häusermann, Silja, บ.ก. (2014). Handbuch der Schweizer Politik. Handbuch der Schweizer Politik - Manuel de la politique suisse (ภาษาเยอรมัน และ ฝรั่งเศส) (5th ed.). Zürich, Switzerland: Verlag Neue Zürcher Zeitung, NZZ libro. ISBN 978-3-03823-866-9.
  26. Marx, Karl (1871). "The civil war in France".{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  27. อาริสโตเติล (4th century BC). Politics. 2.1273b. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  28. อาริสโตเติล (4th century BC). Politics. 4.1294b. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  29. Levitt, Steven; Dubner, Stephen J. (2006). Freakonomics: A Rogue Economist Explores the Hidden Side of Everything. HarperCollins. p. 14. ISBN 978-0-06-124513-8.
  30. Herman, Edward S (1996-07). "The Propaganda Model Revisited". Monthly Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-06. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help) ตามเว็บไซต์ Chomsky.info
  31. Curran, James; Seaton, Jean (1997). Power Without Responsibility: the Press and Broadcasting in Britain. London: Routledge. p. 1.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  32. Chomsky, Noam; Steingart, Gabor (2008-10-10). "The United States Has Essentially a One-Party System". Der Spiegel Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-28. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) as reproduced on the Chomsky.info website
  33. Lippmann cited by Beissel, Henry (Winter 2005). "Mutation or Demise: The Democratization of Democracy". Living with Democracy.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  34. "Propaganda by Edward Bernays". Historyisaweapon.com. 1928. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.
  35. "International IDEA | Compulsory Voting". Idea.int. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  36. . Marshall, Monty G; Gurr, Ted Robert (2005). "Peace and Conflict 2005: A Global Survey of Armed Conflicts, Self-Determination Movements, and Democracy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-06. สืบค้นเมื่อ 2006-08-18.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) CS1 maint: unfit URL (ลิงก์) For illustrating graphs, see "Global Conflict Trends - Measuring Systematic Peace". Center for Systemic Peace. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-16. สืบค้นเมื่อ 2006-02-19.
  37. Chua, Amy (2002). World on Fire: How Exporting Free Market Democracy Breeds Ethnic Hatred and Global Instability. Doubleday. ISBN 0-385-50302-4.
  38. Bartlett, Robert (2000). England Under the Norman and Angevin Kings: 1075-1225. Oxford, UK: Clarendon Press. pp. 165–68. ISBN 0-19-822741-8. 25% tax in England in the 12th century
  39. Hoppe, Hans-Herman (2001). Democracy: The God That Failed. Transaction Publishers. ISBN 978-0765808684.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  40. "DPRK Holds Election of Local and National Assemblies". People's Korea. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-31. สืบค้นเมื่อ 2008-06-28.
  41. "The Parliamentary System of the Democratic People's Republic of Korea" (PDF). Constitutional and Parliamentary Information. Association of Secretaries General of Parliaments (ASGP) of the Inter-Parliamentary Union. p. 4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-03. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  42. Kyvig, David E (1979). Repealing National Prohibition. Chicago: The University of Chicago Press. pp. 6–10. ISBN 0-226-46641-8.
  43. Weil, Andrew; Rosen, Winifred (1993). From Chocolate to Morphine. New York: Houghton Mifflin. pp. 11–12. ISBN 0-395-66079-3. Everybody is willing to call certain drugs bad, but there is little agreement from one culture to the next as to which these are. In some societies, all nonmedical drugs other than alcohol, tobacco and caffeine are viewed with suspicion by the majority. ... Some yogis in India use marijuana ritually, but teach that opiates and alcohol are harmful. Muslims may tolerate the use of opium, marijuana and qat ..., but are very strict in their exclusion of alcohol.
  44. McNamara, Joseph (1994). "Why We Should Call Off the War on Drugs". Questioning Prohibition. Brussels: International Antiprohibitionist League. p. 147. The drug war has become a race war in which cops, most of them white, arrest non-whites for drug crimes at four to five times the rate whites are arrested.
  45. Marks, John (1994). "The Paradox of Prohibition". Questioning Prohibition. Brussels: International Antiprohibitionist League. p. 161. Havelock Ellis wrote at the turn of the century on his visit to America of the zeal of the Christian missionaries during the 19th century ... In an obscure southwestern state he happened across some upset missionaries who ... had come up against some Amerindians who ate cacti as part of their sacrament much as the Christians use wine. The hallucinogen in the cacti, which the Indians interpreted as putting them in communion with their God, rendered them, said the distraught missionaries, "Resistant to all our moral suasions". The missionaries had recourse to the state legislature and cactus eating was forbidden. Between the turn of the century and the First World War these laws were generalised to all states of the Union and to all substances, including alcohol. The Americans adopted prohibition in response to a strong religious lobby for whom all intoxicants were direct competitors for the control over the minds of men.
  46. Choi, Ajin (2004). "Democratic Synergy and Victory in War, 1816-1992". International Studies Quarterly. 48 (3): 663–82. doi:10.1111/j.0020-8833.2004.00319.x.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  47. Dan, Reiter; Stam, Allan C. (2002). Democracies at War. Princeton University Press. pp. 64–70. ISBN 0-691-08948-5.
  48. 49.0 49.1 49.2 49.3 49.4 "The Democracy Advantage: How Democracies Promote Prosperity and Peace". Carnegie Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-28.
  49. Lederman, Daniel; Loaza, Normal; Soares, Rodrigo Res (2001-11). "Accountability and Corruption: Political Institutions Matter". World Bank Policy Research Working Paper No. 2708. สืบค้นเมื่อ 2006-02-19. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) (SSRN 632777)
  50. "Right to Information Act India's magic wand against corruption". AsiaMedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-26. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  51. "Harvard Gazette: Freedom squelches terrorist violence". News.harvard.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  52. "Published Work Using Economic Freedom of the World Research". Free the World. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-20. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.
  53. Bergren, Nicclas (2002). "The Benefits of Economic Freedom: A Survey" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-08-22. สืบค้นเมื่อ 2006-09-01.
  54. Dawson, John W (1998). "Review of Robert J. Barro, Determinants of Economic Growth: A Cross-Country Empirical Study". Economic History Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-20. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.
  55. Farr, W Ken; Lord, Richard A; Wolfenbarger, J Larry (1998). "Economic Freedom, Political Freedom, and Economic Well-Being: A Causality Analysis" (PDF). Cato Journal. 18 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-02-03. สืบค้นเมื่อ 2005-04-11.
  56. Wu, Wenbo; Davis, Otto A (2003). "Economic Freedom and Political Freedom" (PDF). Encyclopedia of Public Choice. มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน, National University of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-05-24. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.
  57. Vásquez, Ian (2001). "Ending Mass Poverty". Cato Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-24.
  58. Lundström, Susanna (April 2002). "The Effects of Democracy on Different Categories of Economic Freedom" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-05-24. สืบค้นเมื่อ 2006-02-19.
  59. de Mesquita, Bruce Bueno; Downs, George W (2005). "Development and Democracy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-20.
  60. Single, Joseph T; Weinstein, Michael M; Halperin, Morton H (2004-09-01). "Why Democracies Excel". เดอะนิวยอร์กไทมส์ - Foreign Affairs.
  61. Ross, Michael Lewin (2001). "Does Oil Hinder Democracy?". World Politics. 53 (3): 325–61. doi:10.1353/wp.2001.0011.
  62. Doucouliagos, H; Ulubasoglu, M (2006). "Democracy and Economic Growth: A meta-analysis". School of Accounting, Economics and Finance Deakin University Australia.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  63. อมรรตยะ เสน (1999). "Democracy as a Universal Value". Journal of Democracy. Johns Hopkins University Press. 10 (3): 3–17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-27. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  64. Álvaro, Franco; Álvarez-Dardet, Carlos; Ruiz, Maria Teresa (2004). "Effect of democracy on health: ecological study (required)". British Medical Journal. 329 (7480): 1421–23. doi:10.1136/bmj.329.7480.1421. PMC 535957. PMID 15604165.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  65. McKee, Marin; Nolte, Ellen (2004). "Lessons from health during the transition from communism". British Medical Journal. 329 (7480): 1428–29. doi:10.1136/bmj.329.7480.1428. PMC 535963. PMID 15604170.
  66. Håvard, Hegre; Ellington, Tanja; Gates, Scott; Gleditsch, Nils Petter (2001). "Towards A Democratic Civil Peace? Opportunity, Grievance, and Civil War 1816-1992". American Political Science Review. 95: 33–48. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-09.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  67. Ray, James Lee (2003). A Lakatosian View of the Democratic Peace Research Program From Progress in International Relations Theory, edited by Colin and Miriam Fendius Elman (PDF). MIT Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-06-25. สืบค้นเมื่อ 2017-06-22.
  68. Haas, Michael (2014). Deconstructing the 'Democratic Peace': How a Research Agenda Boomeranged. Los Angeles, CA: Publishinghouse for Scholars.
  69. Rummel, RJ (1997). Power Kills. New Brunswick, NJ: Transaction Books.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) [ต้องการเลขหน้า]
  70. Harff, Barbara (2003). "No Lessons Learned from the Holocaust?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]