ข้ามไปเนื้อหา

การหมิ่นประมาท (กฎหมายไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตามกฎหมายไทย

  • ดูหมิ่น คือ แสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยาม เช่นด่าด้วยคำหยาบคาย หรือการถ่มน้ำลาย
  • หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

กระทำต่อบุคคลธรรมดา

[แก้]

หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326)

[แก้]

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328)

[แก้]

ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือวัตถุอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ดูหมิ่นซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)

[แก้]

การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ในทางกฎหมายได้นิยามคำว่าหมิ่นประมาทไว้ว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท" ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำผิดโดยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนการหมิ่นซึ่งหน้านั้น อยู่ในหมวดลหุโทษของประมวลกฎหมายอาญา เป็น "การดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า" (มาตรานี้ไม่ได้มีกล่าวถึงความเกี่ยวข้อต่อบุคคลที่สามไว้) มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

[แก้]

การหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน

[แก้]

ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษเช่นกัน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136)

การหมิ่นประมาทศาล

[แก้]

ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษเช่นกัน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198)

การหมิ่นประมาทบุคคลสำคัญระดับชาติ

[แก้]

หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

[แก้]

ข้อหาที่เรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นความผิดที่กระทำต่อผู้ดำรงฐานะสี่อย่างของไทย ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และความผิดตามมาตรานี้มิได้เพียงกล่าวถึงการดูหมิ่นอย่างเดียว แต่รวมถึง "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" ด้วย

ถ้าได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ความผิดตามกรณีนี้ไม่ว่าจะกระทำภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรไทยก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร เพราะเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7)

การหมิ่นประมาทบุคคลสำคัญของรัฐต่างชาติ

[แก้]

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษเช่นกัน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 133)

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษเช่นกัน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 134)

กรณีศึกษา

[แก้]

ในปี 2561 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษบุคคลที่หมิ่นประมาทเจ้าฟ้าหญิง 2 พระองค์ ทั้งที่ทั้งสองพระองค์ไม่ได้เป็นผู้ร้องทุกข์เอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326[1]

พัฒนาการบทลงโทษผู้กระทำความผิดหมิ่นประมาท

[แก้]
ฐานความผิด ระวางโทษ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จำคุก/ปี ปรับ/บาท
หมิ่นประมาท ≤ 6 เดือน ≤ 1,000 กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 282

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 326

≤ 1 ≤ 2,000 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2519)
≤ 1 ≤ 20,000 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ≤ 1 ≤ 2,000 กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 282

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 328

≤ 2 ≤ 4,000 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2519)
≤ 2 ≤ 200,000 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
หมิ่นศาล ≤ 2 ≤ 1,000 กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 151
≤ 3 ≤ 6,000 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 198
1-7 2,000-14,000 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2519)
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ≤ 7 ≤ 5,000 กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 98
≤ 7 - ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 112
3 -15 - คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2519)
หมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา

ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด

≤ 3 ≤ 2,000 กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 100

(ยกเลิกไปโดยการออกใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499)

สั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจ

เพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น

≤ 10 ≤ 5,000 พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. 2470

(เป็นการแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 104)

(ยกเลิกไปโดยการออกใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499)

อ้างอิง

[แก้]