การปฏิวัติซินไฮ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติซินไฮ่ (การปฏิวัติจีน)

วันดับเบิลเท็นในเซี่ยงไฮ้ บนถนนหนานจิงหลังการก่อการกำเริบเซี่ยงไฮ้ ประดับตกแต่งด้วยธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพซึ่งเป็นธงที่ใช้ในการปฏิวัติจีน
วันที่10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912
(4 เดือน 2 วัน)
สถานที่
จีน
ผล
คู่สงคราม

 ราชวงศ์ชิง

ราชวงศ์ชิง พรรคนิยมราชวงศ์[1]

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) ฝ่ายสาธารณรัฐ ถงเหมิงฮุ่ย
รัฐบาลทหารหูเป่ย์แห่งสาธารณรัฐจีน
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธาณรัฐจีน
สนับสนุน

  • ชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก
สนับสนุนเงินทุนทางทหาร
 สหรัฐ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ราชวงศ์ชิง จักรพรรดินีหลงยฺวี่ พระพันปีหลวง
ราชวงศ์ชิง องค์ชายไจ้เฟิง (ฉุนชินหวัง),
ราชวงศ์ชิง จักรพรรดิผู่อี๋,
ราชวงศ์ชิง หยวน ซื่อไข่,
ราชวงศ์ชิง เฟิ่งเกาจาง
ราชวงศ์ชิง หม่าอันเหลียง,
ราชวงศ์ชิง ต้วนฉีรุ่ย,
ราชวงศ์ชิง หยางเจิ้งซิน,
ราชวงศ์ชิง หม่าฉี,
อภิชนราชวงศ์ชิงอื่นอีกมาก
ซุน ยัตเซ็น,
เฉิน ฉีเหม่ย์
หวงซิง,
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) ซ่งเจียวเหริน,
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) หลี่ หยวนหง
สหรัฐโฮเมอร์ ลีอาห์
กำลัง
200,000 100,000
ความสูญเสีย
~170,000 ~50,000
การปฏิวัติซินไฮ่
"การปฏิวัติซินไฮ่" เขียนแบบอักษรจีน
ภาษาจีน辛亥革命
ความหมายตามตัวอักษร"Xinhai (stem-branch) revolution"

การปฏิวัติซินไฮ่ (จีน:辛亥革命อังกฤษ: Xinhai (Hsinhai) Revolution) หรืออีกชื่อว่า การปฏิวัติ ค.ศ. 1911 หรือการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติซึ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน การปฏิวัตินี้ได้ชื่อว่าซินไฮ่เพราะมีขึ้นใน ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับอักษรซินไฮ่ในแผนภูมิสวรรค์ในปฏิทินจีน[2]

การปฏิวัติประกอบด้วยการกบฏและการก่อการกำเริบหลายครั้ง จุดเปลี่ยนคือ การก่อการกำเริบวูชางเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการกับขบวนการคุ้มครองทางรถไฟที่ผิด การปฏิวัติสิ้นสุดลงด้วยการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้าย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 อันเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิจีนอายุกว่า 2,000 ปี และจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบสาธารณรัฐของจีน[3]

โดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติครั้งนี้เป็นปฏิกิริยาต่อสามปัจจัยหลัก: (1) ความเสื่อมของรัฐชิงและความไม่สามารถปฏิรูปและนำพาจีนสู่ความทันสมัยเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายของต่างชาติ, (2) เพื่อย้อนความเสื่อมโทรมภายใน และ (3) ความไม่พอใจของชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ต่อชนกลุ่มน้อยแมนจูที่เป็นชนชั้นปกครอง กลุ่มต่อต้านชิงใต้ดินหลายกลุ่มและด้วยการสนับสนุนจากนักปฏิวัติจีนพลัดถิ่น ได้พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิง สงครามกลางเมืองระยะสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมายุติลงด้วยการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างหยวน ซื่อไข่ ผู้มีอิทธิพลทางทหารในสมัยปลายราชวงศ์ชิง และซุน ยัตเซ็น ผู้นำถงเหมิงฮุย (สหสันนิบาต) หลังราชสำนักจีนโอนอำนาจไปยังสาธารณรัฐที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ การสถาปนารัฐบาลผสมเฉพาะกาลได้มีขึ้นร่วมกับรัฐสภา อย่างไรก็ดี อำนาจทางการเมืองในรัฐบาลแห่งชาติใหม่ในกรุงปักกิ่งนั้น ไม่นานได้ถูกผูกขาดโดยหยวนและนำไปสู่การแบ่งแยกทางการเมืองและยุคขุนศึกนานอีกหลายทศวรรษ รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูจักรวรรดิหลายครั้ง

ปัจจุบัน ทั้งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันและสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่มองว่าตนเป็นผู้สืบทอดการปฏิวัติซินไฮ่และยังคงเคารพอุดมการณ์ของการปฏิวัติ รวมทั้งชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม การทำให้จีนทันสมัยและความสามัคคีแห่งชาติ วันที่ 10 ตุลาคมในไต้หวันเป็นวันดับเบิลเท็น (Double Ten Day) วันชาติของสาธารณรัฐจีน ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊า วันเดียวกันนี้ยังมักเฉลิมฉลองเป็นวันครบรอบการปฏิวัติซินไฮ่[4] ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากยังเฉลิมฉลองในไชนาทาวน์ทั่วโลก

สาเหตุ[แก้]

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภัยพิบัติและความทุกข์ยากของชนชาวจีนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางสังคมก็รุนแรงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากการปกครองที่ล้มเหลวของราชวงศ์ชิง

ขุนนางและชนชั้นสูงในราชสำนักชิงตั้งแต่บนลงล่างที่อยู่ในสถานการณ์ง่อนแง่นได้ทำการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ หรือที่เรียกว่า 'การปฏิรูป 100 วัน' แต่ทว่าประสบความล้มเหลว

และในเวลาเดียวกันนั้น พลังแห่งการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนที่มี 'ดร.ซุนจงซาน' (หรือ ซุน ยัตเซ็น 孫中山 หรือ 孫日新) เป็นตัวแทนได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นผู้นำการปฏิวัติประชาชนอย่างกล้าหาญ

ค.ศ. 1894 ดร.ซุน ยัตเซ็น เริ่มก่อตั้งคณะปฏิวัติซิ่งจงฮุ่ย (興中會) และพยายามริเริ่มก่อตั้งประเทศที่ปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น

การลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง[แก้]

กระแสหลักของการลุกฮือส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิวัติของดร.ซุน ยัตเซ็นรวมทั้งกลุ่มย่อยต่างๆ

การลุกฮือบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ไม่เคยรวมเข้าด้วยกันกับ ถงเหมิงฮุ่ย ดร.ซุนยัตเซ็นอาจมีส่วนร่วมในการลุกฮือ 8-10 ครั้ง การลุกฮือทั้งหมดล้มเหลวก่อนสำเร็จในการลุกฮือที่อู่ชาง

ธงท้องฟ้าสีครามกับดวงตะวันสาดส่อง ธงที่ใช้ในการลุกฮือที่กวางโจวครั้งแรกเพื่อเคลื่อนไหวล้มล้างราชวงศ์ชิง

การลุกฮือที่กวางโจวครั้งแรก[แก้]

ลู่ เฮาตง แกนนำการลุกฮือที่กวางโจวครั้งแรก

ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ย, ซึ่งมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่ฮ่องกงวางแผนการก่อการลุกฮือขึ้นที่เมืองกวางโจวครั้งแรก (廣州起義) ขบวนการดังกล่าวได้มีแกนนำคือ ลู่ เฮาตง ผู้ซึ่งได้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบธงที่ใช้ในการลุกฮือ หรือ ธงท้องฟ้าสีครามกับดวงตะวันสาดส่อง (ต่อมาภายหลังคือธงชาติของสาธารณรัฐจีน)[5] เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ยนำโดย เหยิงกวานและดร.ซุนยัตเซ็นนำเจิ้งเหอเหลียงและลู่เฮาตงเดินทางไปยังเมืองกวางโจวเพื่อเตรียมยึดเมืองเป็นฐานที่มั่น อย่างไรก็ตามแผนการของพวกเขารั่วไหลรู้ไปถึงทางราชสำนักชิงเข้า[5]

ทางราชสำนักจึงเริ่มจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวปฏิวัติรวมถึงลู่เฮาตงซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวในเวลาต่อมา[5] การพยายามยึดเมืองกวางโจวครั้งแรกจึงจบลงด้วยความล้มเหลว ภายใต้แรงกดดันจากราชสำนักชิงทำให้รัฐบาลของฮ่องกงภายใต้อาณานิคมอังกฤษสั่งห้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้าสู่ดินแดนเป็นเวลาห้าปี ดร.ซุนยัตเซ็นต้องหลบลี้ภัยและได้ทำการเคลื่อนไหวปฏิวัติใต้ดินและระดมทุนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, แคนาดาและสหราชอาณาจักร

ในปี ค.ศ. 1901 หลังจากการลุกฮือ เหยิงกวานถูกลอบสังหารโดยนักฆ่าที่ถูกจ้างจากราชสำนักชิงในฮ่องกง[6]

การลุกฮืออันชิ่ง[แก้]

รูปปั้นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณความความดีของ ชิว จิ่น วีรสตรีที่อุทิศชีวิตเพื่อปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง

เมื่อการลุกฮือที่กวางโจวครั้งแรกประสบความล้มเหลว ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1905 ดร.ซุนก่อตั้งสมาคมสหมิตร (ถงเหมิงฮุ่ย 同盟會) ขึ้นที่กรุงโตเกียว สมาคมสหมิตรเสนอโครงร่างการปฏิวัติไว้ว่า

"กำจัดชนกลุ่มน้อยทางเหนือ (ชาวแมนจู) ฟื้นฟูประเทศจีน ก่อตั้งสาธารณรัฐ แบ่งเฉลี่ยกรรมสิทธิ์ที่ดิน" (驅除韃虜, 恢復中華, 創立民國, 平均地權)

ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 สฺวี ซีหลิน ได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง กวงฝูฮุ่ย นำการจลาจลในเมืองอันชิ่ง, มณฑลอานฮุย ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "การลุกฮือที่อันชิ่ง"[7] สฺวี ซีหลินในขณะนั้นได้เป็นข้าราชการตำรวจและหัวหน้ากรมของราชสำนักชิง เขาได้ตัดสินใจแปรพักต์มาเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายปฏิวัติขบวนการถงเหมิงฮุ่ยในภายหลัง เขานำการจลาจลที่ลอบสังหารผู้ว่าราชการมณฑลอานฮุย, เอิงหมิง (恩銘) ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในราชสำนักชิง[7] การก่อการจบลงด้วบความพ่ายแพ้ของสฺวีซีหลินหลังจากการต่อสู้สี่ชั่วโมง สฺวีซีหลินและกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับและทหารองครักษ์ของเอิงหมิงได้ทำการประหารชีวิตพวกเขาอย่างโหดร้ายทารุณด้วยการควักหัวใจและตับของเขาออกและกินพวกเขา[7]

ญาติของสฺวีซีหลิน ชิว จิ่น นักสตรีนิยมและสตรีนักปฏิวัติได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถงเหมิงฮุ่ย ชิวจิ่นได้ออกตีพิมพ์สตรีรายเดือน มีชื่อว่า “วารสารสตรีรายเดือน” สนับสนุนนโยบายการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัตเซ็นและยังมีนโนบายสนับสนุนสิทธิสตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในจีน ทำให้เธอเป็นนักสตรีนิยมคนแรกที่บุกเบิกความเสมอภาคเท่าเทียมของสิทธิสตรีในจีน เมื่อสฺวีซีหลินถูกประหารอย่างโหดร้าย เธอจึงได้เตรียมกำลังเพื่อทำการลุกฮือปฏิวัติต่อ แต่เธอกลับถูกราชสำนักชิงจับกุมเสียก่อนและถูกประหารชีวิตตัดหัวในไม่กี่วันต่อมา[7]

การปฏิวัติครั้งแรก[แก้]

เหล่าชนชั้นปกครองต้าชิงรู้สึกว่าการจะรักษาระบบการเมืองให้คงสภาพเดิมต่อไปนั้นเป็นเรื่องยาก จึงประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี ค.ศ. 1908 ในปีเดียวกันฮ่องเต้กวงสวี่ตี้ (光緒帝) และพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后) สิ้นพระชนม์ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวายก็ได้สถาปนาฮ่องเต้น้อยผู่อี๋ (ปูยี 溥儀) ขึ้นครองราชย์

วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 ดร.ซุน และ หวงซิง (黃興) นำมวลชนลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติที่เมืองกว่างโจว ปฏิบัติการครั้งนั้นล้มเหลว มีผู้ก่อการเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมามีการนำร่างผู้เสียชีวิต 72 คนไปฝังไว้ที่เนินหวงฮัว ในประวัติศาสตร์เรียกว่า '72 วีรบุรุษเนินหวงฮัว'

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ราชสำนักชิงได้ขายสิทธิอำนาจการเดินรถไฟให้กับชาติมหาอำนาจ ทำให้ราชวงศ์ถูกตราหน้าว่าเป็นทรราชยอมขายชาติ ยังเหตุให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ชาวจีนผู้รักชาติ นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านขึ้นใน 4 มณฑลคือ หูหนาน หูเป่ย เสฉวนและกวางตุ้ง ราชสำนักชิงจึงนำกองทัพเข้าปราบปรามทันที

เพลิงแห่งการปฏิวัติ[แก้]

การก่อการปฏิวัติของมณฑลต่างๆของจีนเพิ่อต่อสู้โค่นล้มราชสำนักชิงในช่วงปฏิวัติปี ค.ศ. 1911
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 12 ตุลาคม
13-19 ตุลาคม (ไม่มี)
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 20–26 ตุลาคม
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 27 ตุลาคม–2 พฤศจิกายน
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 3–9 พฤศจิกายน
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 10–16 พฤศจิกายน
  เข้าร่วมการปฏิวัติ 17–23 พฤศจิกายน
  มณฑลที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง
  ไม่เข้าร่วมการปฏิวัติ

ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วประเทศเกิดกระแสทวงคืนเส้นทางรถไฟไม่หยุดหย่อนนั้น ได้เกิดกลุ่มปฏิวัติ 2 กลุ่ม คือ เหวินเซียะเซอ (文學社) และก้งจิ้นฮุ่ย (共進會) เตรียมก่อการครั้งใหญ่ที่เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย ผู้นำทั้งสองกลุ่มล้วนเป็นสมาชิกสมาคมถงเหมิงฮุ่ยทั้งสิ้นและแฝงตัวอยู่ในกองทัพซินจวินแห่งหูเป่ย ทหารจำนวน 1 ใน 3 และนายทหารระดับล่างล้วนแล้วแต่เป็นคนของทั้งสองกลุ่มนี้รวม ๆ แล้วมีจำนวนคนกว่า 5,000–6,000 คน

กองทัพฝ่ายปฏิวัติเข้าเมืองอู่ฮั่น
กองทัพฝ่ายปฏิวัติสู้รบกับกองทัพราชวงศ์ชิงที่เมืองฮั่นโข่ว

ต่อมาพวกเขาได้ตัดสินใจปฏิบัติการณ์ร่วมกันโดยมี เจี่ยงอี้อู่ (蔣翊武) แห่งกลุ่มเหวินเซียะเซอเป็นผู้บัญชาการ ซุนอู่ (孫武) แห่งกลุ่มก้งจิ้นฮุ่ยเป็นเสนาธิการ กำหนดเปิดฉากการปฏิวัติขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1911 แต่เวลาต่อมาได้ยืดเวลาออกไปเนื่องจากเตรียมตัวไม่พร้อม

การรบที่เมืองฮั่นโข่ว
กองทัพฝ่ายราชวงศ์ชิงขณะทำการสังเกตการณ์
กองทัพราชวงศ์ชิงออกจากประตูเมืองเข้าสู้กับฝ่ายปฏิวัติ

วันที่ 9 ตุลาคม ขณะที่ซุนอู่ผลิตระเบิดอยู่ที่กลุ่มก้งจิ้นฮุ่ยที่ตั้งอยู่ที่เมืองฮั่นโข่วเขตเช่าของรัสเซีย ได้เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้น ซุนอู่ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป ทางการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเอกสาร ตราทางราชการและธงของขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย

รุ่ยเฉิง (瑞澂) ข้าหลวงใหญ่ในราชสำนักชิงประจำมณฑลหูเป่ยและหูหนาน รู้สึกถึงสถานการณ์รุนแรง จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วเมืองทันทีและมีการกวาดจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับคณะปฏิวัติ

เจี่ยงอี้อู่และหลิวฟู่จี ผู้บัญชาการสูงสุดรู้ว่าที่ฮั่นโข่วเกิดเรื่อง แผนการปฏิวัติอาจถูกเปิดโปง ในสภาวการณ์อันล่อแหลมพวกเขาจึงตัดสินใจอย่างเฉียบขาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการก่อนกำหนด จึงยิงปืนใหญ่ขึ้นที่ประตูจงเหอเพื่อเป็นสัญญาณ และส่งประกาศคณะปฏิวัติอย่างลับ ๆ ตามค่ายทหารต่าง ๆ ของกองทัพซินจวิน

ในคืนนั้นกองบัญชาการของกลุ่มปฏิวัติถูกปิดล้อม หลิวฟู่จีและเผิงฉู่ฟานถูกจับกุม เจี่ยงอี้อู่หนีไปได้ เช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 10 ตุลาคม หลิวฟู่จี เผิงฉู่ฟาน และอีกหลายคนถูกยิงเป้า กลุ่มปฏิวัติขาดผู้บัญชาการพวกเขาจึงเชื่อมสัมพันธ์กันเองและชูธงปฏิวัติอย่างเด็ดเดี่ยว

สงปิ่งคุน (熊秉坤) คนของกลุ่มปฏิวัติที่แฝงตัวในฐานที่มั่นที่ 8 ค่าย 8 ของกองทัพซินจวินที่เมืองอู่ชาง จึงฉวยโอกาสดำเนินการอย่างฉับพลัน และเรียกแกนนำขบวนการปฏิวัติมาประชุมหารือ กำหนดก่อการปฏิวัติในเวลา 1 ทุ่มตรงของคืนวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911

สงปิ่งคุนนำกองทัพปฏิวัติสังหารนายทหารที่ทำการต่อต้าน 9 นาย และนำทหาร 40 นายเข้ายึดครองคลังเก็บอาวุธที่ฉู่ว่างไถ หลังจากยึดคลังอาวุธได้จึงส่งจดหมายไปยังกลุ่มปฏิวัติกลุ่มอื่น ๆ ให้มาชุมนุมกันที่ฉู่ว่างไถ ส่วนสงปิ่งคุนและอู๋จ้าวหลินนำกองทัพบุกโจมตีจงตูสู่ (หน่วยงานของผู้สำเร็จราชการเมือง) ของมณฑลหูเป่ยและหูหนาน

รุ่ยเฉิงอาศัยทหาร 3,000 นายที่อยู่เฝ้ารักษาการณ์จงตูสู่ อิงชัยภูมิที่ได้เปรียบทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น กองทัพปฏิวัติแบ่งกำลังทหารออกเป็น 3 สาย ออกโจมตีอย่างดุเดือด 3 ด้าน กองทหารปืนใหญ่เดินทางมาสนับสนุน จงตูสู่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รุ่ยเฉิงสั่งให้คนเจาะกำแพงที่อยู่ล้อมรอบออก แล้วขึ้นเรือรบหนีไปยังฮั่นโข่ว

หลังจากการต่อสู้อันดุเดือดเป็นเวลาหนึ่งคืน กองทัพปฏิวัติก็เข้าควบคุมเมืองอู่ชาง จากค่ำคืนของวันที่ 11 จนถึงเช้าตรู่วันที่ 12 กองทัพซินจวินในเมืองฮั่นโข่ว และฮั่นหยางได้ทยอยกันลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติ 3 อำเภอในอู่ฮั่นถูกกองทัพปฏิวัติครอบครองทั้งหมด การปฏิวัติที่อู่ชางได้รับชัยชนะ

หลังเกิดการปฏิวัติที่อู่ชาง มณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนจำนวนมากต่างทยอยกันประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชสำนักชิง การปกครองอันเสื่อมทรามของราชวงศ์ชิงจึงใกล้ถึงการอวสานเต็มที

การรุกของฝ่ายปฏิวัติ[แก้]

กองทัพฝ่ายปฏิวัติใน การลุกฮือที่อู่ชาง กำลังทำการรบในยุทธการหยางเซีย

ภายหลังจากคณะปฏิวัติที่นำโดยกองทัพซวินจินยึดเมืองอู่ชางได้ ขณะนั้นคณะปฏิวัติเห็นควรที่จะมีผู้นำทางทหารที่มีบารมีมาควบคุมสถานการณ์เบื้องต้น จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรผลักดันให้ 'หลีหยวนหง' ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่รักษาเมืองอู่ชาง หลีหยวนหง (黎元洪 ค.ศ. 1864–1928) เกิดที่มณฑลหูเป่ย ในครอบครัวผู้ดีมีฐานะ เมื่ออายุ 14 ปี ได้ติดตามบิดามาค้าขายที่มณฑลจื๋อลี่ ครั้นอายุ 19 ปี เขามีความสนใจด้านการทหารจึงเข้าเรียนวิชาทหารเรือ เมื่อจบการศึกษาจึงเข้าประจำการณ์ที่เรือรบกว่างเจี่ย

ระหว่างสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1894–1895) เรือรบกว่างเจี่ยถูกทัพเรือญี่ปุ่นยิงจนล่มลงที่ทะเลหวงไห่ (ทะเลเหลือง) แต่หลีหยวนหงรอดมาได้ ภายหลังได้รับทุนให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อที่ญี่ปุ่น เมื่อจบแล้วจึงกลับมาใช้ความรู้พัฒนากองทัพเรือจีนจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่อมาจึงเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารนครอู่ชาง จากชื่อเสียงอันโด่งดังจึงทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็นผู้กุมอำนาจทางทหารในช่วงนาทีสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในช่วงเวลานั้น ดร.ซุนติดภาระกิจสำคัญที่ต่างประเทศ เพื่อระดมทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นทุนในการปฏิวัติ ดร.ซุนได้ทราบข่าวการปฏิวัติที่อู่ชางขณะที่โดยสารรถไฟในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีความปลาบปลื้มยินดี แต่ท่านกังวลเรื่องท่าทีของชาติมหาอำนาจจึงไม่เดินทางกลับประเทศจีนทันที

ดร.ซุนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องเจรจาหยั่งท่าทีของชาติมหาอำนาจในการรับรองสาธารณรัฐจีน โดยเฉพาะอังกฤษที่มีแหล่งข่าวน่าเชื่อถือว่า อังกฤษให้การสนับสนุนขุนศึกภาคเหนือผู้หนึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขุนศึกผู้นั้นมีนามว่า 'หยวนซื่อข่าย' (袁世凱 )

การเจรจาและชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติ[แก้]

กองทัพฝ่ายปฏิวัติบุกเข้าประตูเมืองนานกิง
ทหารของฝ่ายปฏิวัติยึดประตูเมืองเซี่ยงไฮ้

วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1911 ราชสำนักชิงในสภาพจนตรอกได้แต่งตั้ง หยวน ซื่อข่าย เป็นผู้แทนพระองค์มีอำนาจเต็มที่ในการสั่งการปราบปรามกบฏ หยวน ซื่อข่าย แต่งตั้ง เฝิง กั๋วจาง (馮國璋) เป็นแม่ทัพกองทัพที่ 1 บุกถล่มภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งคนแอบเจรจาต่อรองอย่างลับ ๆ กับคณะปฏิวัติ

กองทัพภาคเหนือใช้แสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าปิดล้อมเมืองฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง และหยุดทัพไว้เพื่อทำการเจรจาต่อรอง แต่ทว่าคณะปฏิวัติปฏิเสธข้อเสนอของ หยวน ซื่อข่าย

วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 กองทัพหยวนซื่อข่ายเผด็จศึกกองทัพปฏิวัติด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ จนทัพปฏิวัติต้องล่าถอย กองทัพหยวนซื่อข่ายสามารถยึดเมืองฮั่นโข่วอย่างง่ายดาย

หลี หยวนหง แต่งตั้งหวงซิงเป็นแม่ทัพหน้าในการรับศึก แต่ก็เพียงแต่ในนามเท่านั้น เพราะไม่ได้มอบอำนาจการบังคับบัญชาทหารให้เต็มที่และไม่สนับสนุนด้านยุทธปัจจัยเท่าที่ควร กองทัพปฏิวัติจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

หลังจากความพ่ายแพ้ทางการทหาร คณะปฏิวัติเรียกประชุมฉุกเฉินและมีมติให้ หลี หยวนหง รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่เป็นการชั่วคราว โดยมีหวงซิงเป็นรองฯ เพื่อช่วยกันกู้สถานการณ์อันย่ำแย่

วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ดร.ซุนเดินทางกลับถึงประเทศจีนที่นครซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) เพื่อหารือถึงการจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐ ในที่ประชุมได้เสนอให้ ดร.ซุนรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลใหม่ในฐานะจอมพลเป็นการชั่วคราว

และในที่ประชุมได้กล่าวถึงกรณีขุนศึกหยวนซื่อข่าย ผู้กุมอำนาจทหารที่ปักกิ่งแสดงเจตนาแน่ชัดว่าอยากเป็นประธานาธิบดี หากให้เขารับตำแหน่งนี้ เขาจะร่วมมือกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ผลจากการประชุมมีมติเบื้องต้นให้ดร.ซุน รับเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว

ก่อตั้งสาธารณรัฐจีน[แก้]

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ดร.ซุนรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ณ นครหนานจิง (นานกิง) หลี หยวนหง เป็นรองประธานาธิบดี ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารมณฑลหูเป่ย ตั้งกองบัญชาการที่เมืองอู่ชาง พร้อมกำหนดให้ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบสุริยคติ แทนระบบจันทรคติซึ่งใช้มาอย่างยาวนานตามปฏิทินเดิม นับเป็นการเริ่มต้นยุคสาธารณรัฐตามกฎหมายภายใต้สถานการณ์อึมครึม

วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1912 ขุนศึกต้วนฉีรุ่ย ( 段祺瑞 ) คนสนิทของหยวนซื่อข่าย รวบรวมรายชื่อคณะบุคคลจำนวน 47 คนยื่นฎีกาให้ฮ่องเต้สละราชสมบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสันติ

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง หยวนซื่อข่ายยังไม่ให้การยอมรับรัฐบาลหนานจิง อีกทั้งชาติมหาอำนาจหลายชาติก็ไม่ยอมรับเช่นกัน และแสดงท่าทีหนุนหลังรัฐบาลของขุนศึก หยวน ซื่อข่าย มากกว่า

จักรพรรดิผู่อี๋ทรงสละราชสมบัติ ราชวงศ์ชิงล่มสลาย[แก้]

จักรพรรดินีหลงยฺวี่ พระพันปีหลวง พระนางเป็นผู้ทรงลงพระนามาภิไธยในพระราชโองการแทนจักรพรรดิผู่อี๋ประกาศสละราชบัลลังก์
จักรพรรดิผู่อี๋หรือปูยี ประทับบนบัลลังก์มังกรที่พระราชวังต้องห้าม ในขณะทรงพระเยาว์
พระราชโองการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิผู่อี๋

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 หลงยวี่ไทเฮา (隆裕太后) พระราชมารดาเลี้ยงในฮ่องเต้เสวียนถ่ง (宣統帝 หรือปูยี) ประกาศการสละราชสมบัติของฮ่องเต้อย่างเป็นทางการ แต่มีเงื่อนไขขอให้พำนักอยู่ต่อไปในพระราชวังกู้กงและมีบรรดาศักดิ์นำหน้าเช่นเดิม เท่ากับว่าการปกครองกว่า 268 ปี ของราชวงศ์ชิงได้จบสิ้นลง

ภายหลังจากฮ่องเต้สละราชสมบัติ 1 วัน ดร.ซุนขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวและยินยอมให้หยวนซื่อข่ายรับตำแหน่งตามความต้องการ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมารับตำแหน่งที่นครหนานจิง ในระหว่างนี้ดร.ซุนจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน

หยวน ซื่อข่าย มีคำสั่งให้แม่ทัพเฉาคุน (曹錕) นำหน่วยทหารกุมกำลังก่อการจลาจลในปักกิ่งเพื่ออ้างสถานการณ์จำเป็น ไม่อาจปลีกตัวไปรับตำแหน่งที่หนานจิงได้

วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1912 หยวนซื่อข่ายประกาศตนเป็นประธานาธิบดี โดยไม่ยอมมารับตำแหน่งที่หนานจิง ความตรึงเครียดระหว่างภาคเหนือและภาคใต้จึงปะทุขึ้น

วัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

  • ในภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1992 หวงเฟยหง ภาค 2 ตอน ถล่มมารยุทธจักร สะท้อนถึงเหตุการณ์การลุกฮือที่กวางโจว ในตอนท้ายของเรื่อง ลู่ เฮาตงถูกยิงตายโดยทหารชิงขณะพยายามหลบหนีจากกวางโจวด้วยความช่วยเหลือจากหวง เฟยหง เขาได้จัดการเผาทำลายเอกสารรายชื่อลับของคณะปฏิวัติซิ่งจงฮุ่ยจนหมด เหลือไว้เพียงผ้าห่อ ต่อมาเมื่อคลี่ผ้าออกมาดูจึงรู้ว่าผ้าผืนนั้นคือ "ธงท้องฟ้าสีครามกับดวงตะวันสาดส่อง" ซึ่งลู่เฮาตงเป็นผู้ออกแบบไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายของคณะปฏิวัติ
  • ภาพยนตร์เรื่อง ใหญ่ผ่าใหญ่ ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างขบวนการถงเหมิงฮุ่ยในการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งได้นำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบศักดินานับปีพันของจีน
    • ในเรื่อง 1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ ฉากแรกต้นเรื่อง เริ่มด้วยชิว จิ่นนักปฏิวัติสตรีนิยมถูกทหารราชสำนักชิงทำการประหารโดยการตัดหัว

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kit-ching (1978), pp. 49–52.
  2. Li Xing (2010). The Rise of China and the Capitalist World Order. Ashgate Publishing. p. 91. ISBN 978-0-7546-7913-4.
  3. Li Xiaobing (2007). A History of the Modern Chinese Army. University Press of Kentucky. pp. 13, 26–27. ISBN 978-0-8131-2438-4.
  4. 雙十節是? 陸民眾:「國民黨」國慶]. Tvbs.com.tw. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2011.
  5. 5.0 5.1 5.2 計秋楓; 朱慶葆 (2001). 中國近代史 [History of Modern China]. Vol. 1. Chinese University Press. p. 464. ISBN 978-962-201-987-4.
  6. "Waiting may be over at grave of an unsung hero". South China morning post. 6 เมษายน 2011.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Lu Xun; Nadolny, Kevin John (2009). Capturing Chinese: Short Stories from Lu Xun's Nahan. Capturing Chinese publishing. p. 51. ISBN 978-0-9842762-0-2.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]