วัฒนธรรมหลงชาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัฒนธรรมหลงชาน
Map showing the extent of the วัฒนธรรมหลงชาน
ชื่อภาษาท้องถิ่น龙山文化
ภูมิภาคตอนกลางและตอนปลายแม่น้ำหวง, ประเทศจีน
สมัยยุคหินใหม่
ช่วงเวลา3,000 ถึง 1,900 ปีก่อนคริสตกาล
แหล่งโบราณคดีต้นแบบChengziya
แหล่งโบราณคดีสำคัญTaosi
ก่อนหน้าวัฒนธรรมหย่างเฉา
ถัดไปErlitou culture, Yueshi culture

วัฒนธรรมหลงชาน (จีน: 龙山文化,อังกฤษ: Longshan culture) หรือเรียกว่า วัฒนธรรมดินเผาสีดำ เป็นวัฒนธรรมในช่วงปลายยุคหินใหม่ที่พบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำหวงตอนกลางและตอนปลายแม่น้ำ ในทางตอนเหนือของประเทศจีน ในช่วงประมาณ 3,000-1,900 ปีก่อนคริสตกาล การค้นพบทางโบราณคดีครั้งแรกของวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นที่แหล่งโบราณคดีเฉิงจื่อหยา (Chengziya, 城子崖) ในปีพ. ศ. 2471 เรื่มการขุดค้นในปี พ.ศ. 2473 และ พ.ศ. 2474 วัฒนธรรมนี้ตั้งชื่อตามหมู่บ้านหลงชานที่อยู่ใกล้เคียง (แปลว่า ''ภูเขามังกร'') ในเขตจางชิว ของนครระดับจังหวัดจี่หนาน มณฑลชานตง วัฒนธรรมนี้เป็นที่รู้จักดีจากเครื่องปั้นดินเผาสีดำขัดเงา (หรือเรียก เครื่องปั้นดินเผาเปลือกไข่ - จากความบางของภาชนะ) ช่วงเฟื่องฟูมีการขยายตัวของประชากรสูงสุดในช่วงประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล และสิ่งก่อสร้างหลายแห่งสร้างด้วยผนังดินอัด และเสื่อมลงในช่วงประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาลจนกระทั่งพื้นที่ตอนกลางพัฒนาไปสู่ วัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว (Erlitou culture, 二里头文化) ในยุคสำริด

ประวัติ[แก้]

เครื่องปั้นดินเผา(เปลือกไข่)สีดำ วัฒนธรรมหลงชานในมณฑลชานตง
เครื่องใช้ทำจากหินหยกในวัฒนธรรมหลงชาน

ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมหลงชาน คือ ทักษะระดับสูงใน การทำเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงรู้จักการใช้แป้นหมุนในการขึ้นรูป การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีผนังบาง และการขัดเงาสีดำ [1] เครื่องปั้นดินเผาสีดำรูปแบบนี้แพร่หลายในจีนตอนเหนือและยังพบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี และไกลถึงชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน [2]

กระทั่งคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เครื่องปั้นดินเผาสีดำนี้จึงได้ถูกระบุให้เป็นตัวชี้วัดหลักในการวินิจฉัยว่าแหล่งโบราณคดีใดถูกจัดให้เป็นแหล่งวัฒนธรรมหลงชาน [3] [4] ในการตีพิมพ์ครั้งแรกของรายงานสำรวจThe Archaeology of Ancient China ของ กวงจื้อ ชาง ปีพ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นฉบับที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในขณะนั้นได้อธิบายถึงแหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสีดำทั้งหมดว่าเป็น ขอบฟ้าแห่งหลงชาน (Longshanoid Horizon) โดยเสนอว่าการค้นพบในแหล่งโบราณคดีที่มีรูปแบบวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเหมือนกันเหล่านั้นเกิดจากการขยายตัวของวัฒนธรรมจากศูนย์กลางคือบริเวณที่ราบภาคกลางของจีน (จงหยวน) ออกไป[4] [5] แต่จากการค้นพบล่าสุดพบว่ามีความหลากหลายของรูปแบบวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคมากกว่าที่เคยคิดไว้ วัฒนธรรมท้องถิ่นจำนวนมากที่เคยรวมอยู่ในขอบฟ้าแห่งหลงชาน ถูกอธิบายใหม่ให้เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และคำว่า "วัฒนธรรมหลงชาน" จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเหลืองตอนกลางและตอนปลายแม่น้ำเท่านั้น [6] ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมร่วมสมัยเดียวกันในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำแยงซีถูกระบุเป็นวัฒนธรรมเหลียงจู [4] [6] ในขณะเดียวกันนักวิจัยโบราณคดีก็รับรู้ถึงความหลากหลายภายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่น้ำเหลืองโดยการแยกแยะความแตกต่างของภูมิภาคในมณฑลเหอหนาน มณฑลชานซี และ มณฑลฉ่านซี ออกจากมณฑลชานตง (หรือ ที่รวมอยู้ในการจำกัดความของวัฒนธรรมหลงชานแบบเดิม) [6] [7] โดยในรายงานฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สี่ของกวงจื้อ ชาง (พ.ศ. 2529) ได้เปลี่ยนจากแนวคิดแบบเดิมที่มีศูนย์กลางวัฒนธรรมจากที่ราบตอนกลางไปสู่แนวคิดที่ว่าวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคพัฒนาโดดเด่นขึ้นจากการได้รับการกระตุ้นจากปฏิสัมพันธ์กันระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่เรียกว่า "จักรวาลปฏิสัมพันธ์แบบจีน"[8] [1] นอกจากนี้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 Yan Wenming ได้เสนอคำว่า "ยุคหลงชาน" เพื่อหมายรวมวัฒนธรรมช่วงปลายยุคหินใหม่ (3 พันปีก่อนคริสต์ศักราช) ทั้งหมดทั่วบริเวณที่ราบภาคกลางเข้าในยุคเดียวกัน [8] [1]

เกษตรกรรม[แก้]

พืชที่สำคัญที่สุดคือ ข้าวฟ่างหางหมา แต่ยังพบร่องรอยของ ข้าวฟ่าง Broomcorn ข้าว และ ข้าวสาลี พบเมล็ดข้าวในมณฑลชานตง และ มณฑลเหอหนานทางตอนใต้ พบนาข้าวขนาดเล็กบน คาบสมุทรเหลียวตง และเครื่องมือเฉพาะสำหรับขุด เก็บเกี่ยว และบดเมล็ด [3] [6]

เนื้อสัตว์ที่บริโภคส่วนใหญ่คือ หมู[3] และพบว่ามีการเลี้ยงแกะและแพะในบริเวณ ที่ราบสูงดินเหลือง ในช่วง 4,000 - 3,000 ก่อนคริสต์ศักราช พบทางตะวันตกของมณฑลเหอหนานเมื่อ 2800 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองตอนกลางและตอนล่าง [4] สุนัขก็ถูกใช้บริโภคเช่นกันโดยเฉพาะในบริเวณมณฑลชานตง วัวมีความสำคัญในการบริโภคน้อยกว่ามากในช่วงนั้น [3] [4]

และมีการผลิตผ้าไหมขนาดเล็กจากการเลี้ยงไหม ซึ่งอยู่ในยุคต้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม [2]

พิธีทางศาสนา[แก้]

พบซากของสัตว์จำพวกวัว หมู แกะ และกวาง ถูกเผาเพื่อการทำนายในมณฑลฉ่านซีและเหอหนานทางตอนใต้ [6] [4] พบหลักฐานการบูชายัญมนุษย์ในมณฑลฉ่านซีและที่ราบตอนกลางซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงปลายสมัยหลงชาน [6] [4]

ช่วงต้น[แก้]

การขุดสำรวจในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ในอำเภอฉ่าน ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน ระบุว่าระยะ เหมียวตี่โกวช่วงหลัง (Miaodigou II) (3000 ถึง 2600 BC) เป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมหย่างเฉาก่อนหน้า สู่วัฒนธรรมหลงชานในมณฑลเหอหนาน นักโบราณคดีส่วนน้อยเสนอว่าระยะช่วงปลายของวัฒนธรรม Dawenkou ในมณฑลชานตงควรกำหนดให้เป็นวัฒนธรรมหย่างเฉาแทน แต่ส่วนใหญ่อธิบายว่าเป็นช่วงแรกของวัฒนธรรมหลงชาน นักวิชาการบางคนยืนยันว่าวัฒนธรรม Dawenkou ตอนปลายควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของวัฒนธรรมหลงชาน

ในพื้นที่ระยะเหมียวตี่โกวช่วงหลังพบในมณฑลเหอหนานตอนกลางและตะวันตกมณฑลชานซีตอนใต้และหุบเขาแม่น้ำเว่ยในฉ่านซี [6] [9] เครื่องมือและเครื่องปั้นดินเผาที่พบในพื้นที่เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญจากวัฒนธรรมหย่างเฉาก่อนหน้านี้ การกสิกรรมทวีความเข้มข้นขึ้น(ของการใช้แรงงานและผลิตผล) และการบริโภคเนื้อสัตว์ (หมู สุนัข แกะ และ วัว) เพิ่มขึ้นอย่างมาก [9] ความคล้ายคลึงกันในรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาของ วัฒนธรรมหย่างเฉาระยะเหมียวตี่โกวช่วงหลัง กับ วัฒนธรรม Dawenkou ช่วงปลาย ในมณฑลเหอหนานทางตะวันออก และ วัฒนธรรม Qujialing ตอนปลาย ในทางใต้ของมณฑลเหอหนาน บ่งบอกถึงการติดต่อทางการค้าระหว่างภูมิภาค [6] นอกจากนี้ยังมีการขยายจากแหล่งโบราณคดี Dawenkou ตอนกลางและตอนปลาย (3500-2600 ปีก่อนคริสตกาล) ไปยังมณฑลเหอหนานตอนกลางและตอนเหนือของมณฑลอานฮุยซึ่งตรงกับยุคของขยายทางทะเลสูงสุด [4]

ช่วงปลาย[แก้]

ช่วงปลาย (2600 ถึง 2000 ปีก่อนคริสตกาล) ของวัฒนธรรมหลงชานในบริเวณแม่น้ำฮวงโหตอนกลางมีลักษณะร่วมกับวัฒนธรรมชานตงหลงชานแบบเดิม มีการระบุรูปแบบภูมิภาคหลายสายของแม่น้ำหวงตอนกลางว่าเป็น วัฒนธรรมหลงชาน รวมถึง Wangwan III ในมณฑลเหอหนานตะวันตก Hougang II ทางตอนเหนือของมณฑลเหอหนานและตอนใต้ของ Hebei Taosi ในลุ่มน้ำ Fen ทางตอนใต้ของ Shanxi และอีกหลายกลุ่มที่อยู่ทางตอนกลางของ Jing แม่น้ำและแม่น้ำ Wei เรียกรวมกันว่า Kexingzhuang II หรือ Shaanxi Longshan[6]

เมื่อประชากรยุคหินใหม่ในจีนถึงจุดสูงสุด ลำดับชั้นของการตั้งถิ่นฐานก็พัฒนาขึ้น [8] โดยเฉพาะในภูมิประเทศส่วนที่มีขอบเขตทางกายภาพ เช่น แอ่งที่ลุ่มของ แม่น้ำเฟิน ทางตอนใต้ของมณฑลชานซี แม่น้ำเหลืองทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน (ถูกห้อมล้อมด้วย เทือกเขาจงเตียว และ ภูเขาเสี่ยว ) และที่ราบริมชายฝั่ง Rizhao ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลชานตง ซึ่งสามารถพัฒนาศูนย์กลางชุมชนให้มีขนาดใหญ่มากได้ บางเแห่งมีขนาดมากกว่า 200 เฮกตาร์ (1300 ไร่)[4] แต่ในพื้นที่ที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น ส่วนที่เหลือของมณฑลชานตง ที่ราบตอนกลาง (จงหยวน - ในมณฑลเหอหนาน) และที่ลุ่มแม่น้ำเว่ย ในมณฑลฉ่านซี ศูนย์กลางชุมชนมีจำนวนมากขึ้น แต่มีขนาดเล็กลง (โดยทั่วไปคือ 20 ถึง 60 เฮกตาร์ - 130 ถึง 400 ไร่) และมีระยะห่างระหว่างกันพอสมควร [4] [8] กำแพง ดินแตก ของ 20 เมืองในมณฑลชานตง 9 แห่ง ในที่ราบตอนกลางและ อีกแห่ง ( เถาซี ) ทางตอนใต้ของมณฑลชานซี บ่งบอกถึงความขัดแย้งระหว่างศูนย์กลางชุมชนในพื้นที่เหล่านี้ [8]

แกลเลอรี[แก้]

หมายเหตุ – ในการสะกดตามระบบเวด-ไจลส์ วัฒนธรรมหลงชาน (Longshan culture) สะกดว่า วัฒนธรรมลุงชาน (Lungshan culture) ซึ่งยังปรากฏในเอกสารสมัยเก่าบางชิ้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Li (2013).
  2. 2.0 2.1 Fairbank & Goldman (2006).
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Sun (2013).
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 Liu (2005).
  5. Shelach-Lavi (2015).
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Zhao (2013).
  7. Shao (2005).
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Liu & Chen (2012).
  9. 9.0 9.1 Cohen & Murowchick (2014).