ข้ามไปเนื้อหา

ทวารวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทราวดี)

ทวารวดี คือสมัยทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศไทย มีอายุอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–16 (พ.ศ. 1100–1500)[1] นอกจากนี้ทวารวดียังมีสถานะเป็น "วัฒนธรรมทวารวดี" โดยหมายถึงลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน อันสะท้อนผ่านหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ค้นพบตามชุมชนหรือเมืองโบราณสมัยทวารวดี วัฒนธรรมทวารวดีมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่หลายเข้ามายังภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมของผู้คนในแถบนี้ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการนับถือศาสนา การสร้างบ้านเมือง และระเบียบแบบแผนทางสังคม

ที่มาของชื่อทวารวดี

[แก้]

ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤต เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2427 โดยนายแซมมวล บีล (อังกฤษ: Samuel Beel) ได้แปลงมาจากคำว่า โตโลโปตี้ (อังกฤษ: Tolopoti) ที่มีอ้างอยู่ในบันทึกของภิกษุจีนจิ้นฮง (อังกฤษ: Hiuantsang) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า โตโลโปตี เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรอิศานปุระ และเขาได้สรุปด้วยว่าอาณาจักรนี้เดิมตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทย (สยาม) ปัจจุบัน และยังสันนิษฐานคำอื่น ๆ ที่มีสำเนียงคล้ายกันเช่น จวนโลโปติ (อังกฤษ: Tchouanlopoti) หรือ เชอโฮโปติ (อังกฤษ: Chohopoti) ว่าคืออาณาจักรทวารวดีด้วย

ต่อมาความคิดเห็นนี้ได้มีผู้รู้หลายท่านศึกษาต่อและให้การยอมรับเช่น นายเอดัวร์ ชาวาน (อังกฤษ: Edourd Chavannes) และ นายตากากุสุ (อังกฤษ: Takakusu) ผู้แปลจดหมายเหตุการเดินทางของภิกษุอี้จิงในปี พ.ศ. 2439 และ นายโปล เปลลิโอต์ (อังกฤษ: Paul Pelliot) ผู้ขยายความอาณาจักรทวารวดีเพิ่มอีกว่ามีประชาชนเป็นชาวมอญในปี พ.ศ. 2447 เป็นต้น ดังนั้นบรรดาเมืองโบราณรวมทั้งโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ที่พบมากมายโดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็นของขอม–เขมรหรือของไทย แต่มีลักษณะคล้ายกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ - หลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 9–13 ที่พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจองกีเยร์ (อังกฤษ: Lunet de Lajonguiere) เรียกว่า กลุ่มอิทธิพลอินเดียแต่ไม่ใช่ขอม–เขมร จึงถูกนำมาสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. 2468) และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2469) เป็นกลุ่มบุคคลแรกที่กำหนดเรียกชื่อดินแดนที่เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ รวมทั้งงานศิลปกรรมที่พบนั้นว่าทวารวดี โดยใช้เหตุผลของตำแหน่งที่ตั้งอาณาจักรและอายุตามบันทึกของจีน กับอายุของงานศิลปกรรมที่ตรงกัน อาณาจักรทวารวดีจึงกลายเป็นอาณาจักรแรกในดินแดนไทย กำหนดอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16

อาณาจักรทวารวดี เป็นที่น่าเชื่อถือขึ้นอีกเมื่อพบเหรียญเงิน 2 เหรียญ มีจารึกภาษาสันสกฤตอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 จากเมืองนครปฐมโบราณ มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ ซึ่งแปลได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือ บุญของผู้เป็นเจ้าแห่งศรีทวารวดี หรือ พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ อาณาจักรทวารวดีจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีอยู่จริง และยังเชื่อกันอีกด้วยว่าเมืองนครปฐมโบราณน่าจะเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักร แต่ขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านก็เชื่อว่าเป็นอำเภออู่ทอง หรืออาจเป็นจังหวัดลพบุรี ที่น่าจะเป็นเมืองหลวงมากกว่ากัน ปัจจุบันพบเหรียญลักษณะคล้ายกันอีก 2 เหรียญ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ความสำคัญของเมืองนครปฐมจึงเปลี่ยนไป

ร่องรอยกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี

[แก้]
อาณาเขตของอาณาจักร

ปัจจุบันร่องรอยเมืองโบราณ รวมทั้งศิลปะโบราณ[2] วัตถุสถานและจารึกต่าง ๆ ในสมัยทวารวดีนี้พบเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และที่สำคัญได้พบกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐานของการแผ่อำนาจทางการเมืองจากจุดศูนย์กลางเฉกเช่นรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรทั่วไป เช่น

จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณสมัยนี้ถึง 63 เมืองด้วยกัน นอกจากนี้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดียังพบว่าเมืองโบราณแทบทุกแห่งจะมีลักษณะของการต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาสู่ช่วงสมัยทวารวดีเมื่อมีการติดต่อกับอารยธรรมอินเดีย

ดังนั้นทฤษฎีของนักวิชาการรุ่นก่อนโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรและเมืองศูนย์กลางจึงเปลี่ยนไป ว่าน่าจะอยู่ในขั้นตอนของเมืองก่อนรัฐ (Proto-State) ในรูปของเมืองเบ็ดเสร็จหรือเมืองที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในตัวเองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อศาสนา หากจะมีอำนาจทางการเมืองก็หมายถึงมีอำนาจเหนือเมืองบริวารหรือชุมชนหมู่บ้านรอบ ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น เมืองใหญ่เหล่านี้แต่ละเมืองจะมีอิสระต่อกัน และเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันเพราะผลจากการติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมจากอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธแบบหินยาน รวมทั้งภาษาและรูปแบบศิลปกรรมแบบเดียวกัน

สภาพสังคมทวารวดีนั้นลักษณะไม่น่าจะเป็นอาณาจักร คงเป็นเมืองขนาดต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาขยายตัวจากสังคมครอบครัว และสังคมหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีชุมชนเล็ก ๆ ล้อมรอบ มีหัวหน้าปกครอง มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่อเมืองหรือรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยการเมือง แต่โดยการค้า ศาสนา และความเหมือนกันทางวัฒนธรรม

เศรษฐกิจของชุมชนทวารวดีคงจะมีพื้นฐานทางการเกษตรกรรม มีการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างเมือง หรือการค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุนชนภายนอก ชุมชนทวารวดีเริ่มต้นแนวความเชื่อแบบพุทธศาสนาในลัทธิเถรวาท ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกาย โดยศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู จะแพร่หลายในหมู่ชมชนชั้นปกครอง ในระยะหลังเมื่อเขมรเข้าสู่สมัยเมืองพระนคร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทวารวดีก็ถูกครอบงำโดยเขมร และในตอนท้ายคติความเชื่อเดิมก็ได้เปลี่ยนแปลงไป

ชาวทวารวดีได้มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีอันก้าวหน้าจากการจัดระบบชลประทานทั้งภายในและภายนอกเมือง มีการขุดคลอง สระน้ำ การทำคันบังคับน้ำหรือทำนบ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังในสมัยลพบุรี และสมัยอาณาจักรสุโขทัย ด้านการคมนาคม คนในสมัยทวารวดีมีการสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก นอกเหนือจากการติดต่อกับชาวเรือที่เดินทางค้าขายแล้ว ยังปรากฏร่องรอยของคันดินซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยหรือประติมากรรมล้วนแล้วแต่แสดงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และศิลปกรรม เช่น เทคนิคตัดศิลาแลง การสกัดหิน การทำประติมากรรม การหล่อสำริด การหลอมแก้ว

วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณจากประเทศกัมพูชา ที่มีคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมที่แตกต่างออกไปเข้ามาแทนที่

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องทวารวดียังต้องการคำตอบอีกมากไม่ว่าปัญหาเรื่องของอาณาจักรหรือเมืองอิสระ ปัญหาเมืองศูนย์กลาง ปัญหาอาณาเขต หรือแม้แต่ชื่อ ทวารวดี จะเป็นชื่ออาณาจักร หรือชื่อกษัตริย์ หรือชื่อราชวงศ์หนึ่ง หรืออาจเป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มเมืองเจ้าของวัฒนธรรมแบบเดียวกันเฉกเช่นกลุ่มศรีวิชัยทางภาคใต้ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดและหาหลักฐานมาพิสูจน์กันต่อไป

เหรียญกษาปณ์โรมัน จักรพรรดิวิคโตรินุส (Victorinus) ราว ค.ศ.270 แม้ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี แต่มีผู้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แจ้งว่าพบจากเมืองโบราณอู่ทอง

โบราณสถานสมัยทวารวดี

[แก้]
ธรรมจักรในสมัยทวารวดี
เศียรพระพุทธรูป ศิลปะในสมัยทวารวดี

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้แม้ว่าชื่อทวารวดีจะเป็นชื่อของสิ่งใดก็ตาม หลักฐานโบราณสถานโบราณวัตถุที่พบมากมาย ซึ่งล้วนมีลักษณะฝีมือทางศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกันทุกแห่งทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมที่ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป, พระพิมพ์, ธรรมจักร, ใบเสมา, ภาพปูนปั้นและภาพดินเผาประดับที่มีลักษณะเฉพาะ หรือ งานสถาปัตยกรรมอันได้แก่ สถูปเจดีย์และวิหารที่มีแผนผัง รูปแบบ วัสดุ เทคนิคการสร้าง ตลอดจนคติทางศาสนาแบบเดียวกัน

ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะของความสัมพันธ์ร่วมกันเช่นนี้เป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแต่ละเมืองสามารถติดต่อถึงกันได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะเมืองในที่ราบภาคกลาง มักตั้งใกล้ชายฝั่งทะเลเดิม มีร่องรอยทางน้ำติดต่อกับเมืองในภูมิภาคภายในและยังมีทางน้ำเข้าออกกับฝั่งทะเลโดยตรงด้วย อันสะดวกต่อการติดต่อภายในกันเองและติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอินเดียได้เป็นอย่างดี

เมืองโบราณสมัยทวารวดีโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกันตั้งแต่พื้นที่ตั้งและผังเมือง คือมักตั้งอยู่บนดอนในที่ลุ่มใกล้ทางน้ำ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมนหรือค่อนข้างกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบหนึ่งหรือสองชั้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หรือป้องกันน้ำท่วม โบราณสถานขนาดใหญ่มักตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองเช่น เมืองนครปฐมโบราณ มีวัดพระประโทน และเจดีย์จุลประโทนตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี มีโบราณสถานหมายเลข 18 ในวัดโขลงสุวรรณคีรีตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองในของเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง เป็นต้น

โบราณสถานแทบทั้งหมดใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง อาจมีการใช้ศิลาแลงบ้างแต่ไม่ใช้หินก่อสร้างเลย อิฐเผาอย่างดีไส้สุกตลอด เนื้ออิฐแข็งพอสมควร ส่วนยาวจะเท่ากับสองเท่าของความกว้าง ส่วนกว้างเป็นสองเท่าของความหนา อิฐมีขนาดใหญ่ ขนาด 32x16x8 เซนติเมตรขึ้นไป ผสมแกลบมาก เป็นแกลบข้าวเหนียวปลูก การก่อใช้อิฐทั้งก้อนไม่ขัดผิวแต่ก็ประณีต รอยต่ออิฐแนบสนิท สอด้วยดินบาง ๆ เป็นส่วนผสมของดินเหนียวละเอียดผสมกับวัสดุยางไม้หรือน้ำอ้อยจนเหนียวคล้ายกาว ทำให้อิฐจับกันแน่นสนิทเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงถากเป็นลวดลายแล้วปั้นปูนประดับ

เนื่องจากสังคมทวารวดียอมรับพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทจากอินเดียเป็นหลัก (พบหลักฐานเนื่องในศาสนาฮินดูด้วยแต่ไม่มากนัก) ทำให้สังคมทวารวดีโดยทั่วไปเป็นสังคมพุทธ ดังนั้นอาคารโบราณสถานทั้งหลายจึงเป็นพุทธสถานแทบทั้งสิ้น โบราณสถานเหล่านี้แสดงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ และปาละเสนะตามลำดับ แต่ได้ดัดแปลงผสมผสานให้เข้ากับลักษณะท้องถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

ประเภทและลักษณะของโบราณสถานสมัยทวารวดี

[แก้]

เชื่อกันว่าศิลปกรรมอินเดียได้มีอิทธิพลต่องานศิลปกรรมในดินแดนประเทศไทยมานานตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ (พ.ศ. 269–307) ที่ทรงส่งสมณทูต 9 สายออก เผยแพร่พระพุทธศาสนาทั่วประเทศและนอกประเทศอินเดีย และสมณทูตสายที่ 8 คือพระอุตตรเถระและพระโสณเถระผู้เดินทางมายังดินแดนที่ชื่อสุวรรณภูมินั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึง ดินแดนในประเทศพม่า ไทย ลาว และกัมพูชาในปัจจุบัน และยังเชื่อกันว่าเจดีย์องค์เดิมที่ พระปฐมเจดีย์ สร้างครอบทับไว้น่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขี้นในสมัยนั้น โดยอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกับเจดีย์สาญจีของอินเดีย ส่วนอาคารพุทธสถานอื่น ๆ ที่ไม่เหลือปรากฏในปัจจุบัน อาจจะสร้างด้วยไม้จึงปรักหักพังไปหมด

ร่องรอยของโบราณสถานปรากฏหลักฐานแน่ชัดอายุเก่าที่สุดคือ สมัยทวารวดีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ทุกแห่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ-หลังคุปตะ และราชวงศ์ปาละราวพุทธศตวรรษที่ 9–13 และ 14–16 ตามลำดับ โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างขึ้นเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา กำหนดอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11–16 เกือบทุกแห่งปรักหักพังเหลือแต่เฉพาะส่วนฐาน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ สถูปเจดีย์ วิหาร และ สีมา

สถูปเจดีย์

[แก้]
ฐานเจดีย์หมายเลข 1 กลุ่มโบราณสถานโคกไม้เดน บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ฐานเจดีย์หมายเลข 2 กลุ่มโบราณสถานโคกไม้เดน บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

สถูปเจดีย์สมัยทวารวดี คงจะสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นอุเทสิกเจดีย์ (เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์หรือบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว) มากที่สุด จากหลักฐานที่เหลืออยู่เพียงเฉพาะส่วนฐานนั้น สามารถแบ่งตามลักษณะแผนผังได้เป็น 4 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ ฐานรูปกลม ฐานรูปสี่เหลี่ยม ฐานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม และฐานแปดเหลี่ยม หรือสามารถแบ่งตามรายละเอียดที่ต่างกันได้เป็น 13 รูปแบบย่อย ซึ่งแต่ละแบบล้วนแสดงวิวัฒนาการที่ สืบทอดจากต้นแบบในอินเดียเป็นระยะ ๆ และยังเป็นต้นแบบให้สถูปเจดีย์ในยุคต่อ ๆ มาด้วย คือ

  • แบบที่ 1 สถูปเจดีย์ฐานกลม น่าจะเป็นแบบที่เก่าที่สุด รับอิทธิพลต้นแบบมาจากสถูปสาญจีของอินเดียเช่น โบราณสถานหมายเลข 3 (ภูเขาทอง) ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี สถูปกลมที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และพระปฐมเจดีย์องค์เดิม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ลักษณะการก่อสร้างใช้ดินแลงอัดหรือก่ออิฐ สถูปเจดีย์ลักษณะนี้น่าจะเหมือนต้นแบบคือลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีเวทิกาหรือรั้วกั้นโดยรอบ บนองค์สถูปประดับด้วยหรรมิกาหรือบัลลังก์ และมีฉัตรซ้อนกันสามชั้น และอาจมีบันไดทางขึ้นเพื่อกระทำประทักษิณและมีประตูทางเข้าขนาดใหญ่สี่ทิศ (โตรณะ)
  • แบบที่ 2 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีองค์สถูปทรงกลมก่อข้างบน แต่ปัจจุบันสถูปกลมได้พังทลายหมด เช่น โบราณสถานหมายเลข 8, 9, 11 และ 15 ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ โบราณสถานหมายเลข 11 ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และโบราณสถานหมายเลข 6, 20 และ 23/2 ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น สันนิษฐานว่าองค์สถูปเดิมน่าจะมีลักษณะคล้ายหม้อน้ำหรือบาตรคว่ำ ตอนบนประดับด้วยฉัตรเป็นชั้น ๆ ปลายสุดมียอดรูปดอกบัวตูมและที่แท่น (หรรมิกา) ที่ตั้งก้านฉัตรมีคาถาเย ธมฺมา สลักอยู่
  • แบบที่ 3 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีองค์สถูปก่อข้างบน มีแนวบันไดเพียงด้านเดียว แนวบันไดบางครั้งก่ออิฐเป็นรูปอัฒจันทร์ เช่นโบราณสถานหมายเลข 13, 16 ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
  • แบบที่ 4 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านมีมุขยื่น เหนือขึ้นไปเป็นสถูปกลม พบที่ บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
  • แบบที่ 5 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานล่างแต่ละด้านมีสถูปจำลองประดับที่มุมทั้งสี่ พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม
  • แบบที่ 6 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานมีช่องประดิษฐานพระพุทธรุปปูนปั้น ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ เช่นโบราณสถานหมายเลข 1 ที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี
  • แบบที่ 7 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ฐานชั้นที่สองทำเป็นช่อง ๆ ให้สวยงาม เช่นโบราณสถานหมายเลข 4 ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
  • แบบที่ 8 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น มีลานประทักษิณรอบ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่เว้นช่องประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันตกอีกชั้นหนึ่ง ที่ลานประทักษิณมีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน (ยกเว้นทิศตะวันตก) เดิมอาจมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
  • แบบที่ 9 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อเก็จทุกด้าน ฐานแบ่งเป็นช่อง ๆ ใหญ่เล็กสลับกัน ประดับด้วยภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก และรูปสัตว์เช่น สิงห์ กินรี เช่นโบราณสถานหมายเลข 3 ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
  • แบบที่ 10 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อเก็จ ตั้งซ้อนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ใช้เป็นลานประทักษิณ ที่ลานมีบันไดยื่นทั้งสี่ทิศและมีอัฒจันทร์อยู่ทุกด้าน ท้องไม้ของลานประทักษิณมีเสาอิงแบ่งเป็นช่องประดับภาพชาดก องค์สถูปประดับด้วยพระพุทธรูปยืนในซุ้มแต่ละด้าน เช่นเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม
  • แบบที่ 11 สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนทับบนฐานแปดเหลี่ยม เช่นโบราณสถานหมายเลข 7 และ 10 ที่ บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์[3]
  • แบบที่ 12 สถูปเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม เช่นโบราณสถานหมายเลข 5 ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
  • แบบที่ 13 สถูปเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสองชั้น ฐานแต่ละด้านทำเป็นช่องแบบซุ้มพระด้านละสองซุ้ม นับเป็นแบบสวยพิเศษสุด พบที่โบราณสถานหมายเลข 13ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ฐานสถูปเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบได้กับสถูปอินเดียสมัยคุปตะเป็นต้นมา และแม้องค์สถูปจะหักพังไปหมดแล้ว แต่อาจสันนิษฐานรูปทรงตามรูปจำลองหรือภาพสลักสถูปเจดีย์ที่พบในประเทศได้ว่ามีด้วยกัน 3 แบบใหญ่ ๆ คือ

1. สถูปที่มีองค์ระฆังเป็นรูปโอคว่ำหรือครึ่งวงกลม มียอดเป็นกรวยแหลมเรียบอยู่ข้างบน ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยปาละ ซึ่งเจริญขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-17

2. สถูปที่มีองค์ระฆังคล้ายหม้อน้ำหรือบาตรคว่ำ ยอดทำเป็นแผ่นกลมเรียงซ้อนกันขึ้นไปตอนบน บนยอดสุดมีลูกแก้วหรือดอกบัวตูมประดับ ที่แท่น (หรรมิกา) ที่ตั้งฉัตรมีจารึกคาถา เย ธมมาอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยรอบ

3. สถูปที่มีองค์ระฆังคล้ายหม้อน้ำ ยอดสถูปคล้ายกรวยแต่มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ ซ้อนติดกัน

วิหาร

[แก้]

เป็นอาคารที่คู่มากับการสร้างวัดตั้งแต่สมัยพุทธกาลในอินเดีย เดิมหมายถึงอาคารที่เป็นที่อยู่ของพระภิกษุ สงฆ์ ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุเพิ่มขึ้นวิหารจึงเป็นที่ประชุมสังฆกรรม และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตัวแทนของพระพุทธองค์อันเป็นประธานของการประชุมนั้น

ในประเทศไทยวิหารพบตั้งแต่สมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นต้นมา แต่พบไม่มากนัก มักตั้งหน้าสถูปเจดีย์เพื่อใช้เป็นที่กราบสักการบูชาพระธาตุ ดังนั้นวิหารจึงสร้างไว้หน้าเจดีย์เสมอ จากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2507 ที่วัดโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และที่โบราณสถานหมายเลข 16 อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้พบพื้นอาคารปูอิฐและศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ด้านหน้าเจดีย์ ผนังและหลังคาไม่ปรากฏคงเป็นเครื่องไม้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารที่สร้างสมัยแรก ๆ แต่เนื่องจากพบน้อยเข้าใจว่าวิหารส่วนมากอาจจะสร้างด้วยไม้จึงผุพังไปหมด

อาคารที่คาดว่าน่าจะเป็นวิหารอีก พบที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีทั้งวิหารในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ วิหารในศาสนาพุทธมักอยู่นอกเมืองเช่น โบราณสถานหมายเลข 1, 5, 7 และ14 เป็นต้น ส่วนวิหารในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมักสร้างอยู่ในเมืองเช่น โบราณสถานหมายเลข 10 และ 22/1-5 เป็นต้น แผนผังของอาคารส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานเตี้ย ภายในมีแท่นประดิษฐานรูปเคารพ มีพื้นที่ว่างพอสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีทั้งวิหารผนังทึบและวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ยังพบวิหารกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นวิหารที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (มหาวิทยาลัยนาลันทา) ตามคติพุทธแบบมหายานลัทธิวัชรยานหรือตันตระที่กำลังแพร่หลายในขณะนั้น รูปแบบวิหารมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ

  1. วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานสูง เช่นวิหารวัดโขลง ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี มีบันไดขึ้นด้านทิศตะวันออกสู่ลานประทักษิณ ฐานประดับเสาอิงและซุ้ม แต่เดิมคงจะมีภาพปูนปั้นประดับอยู่
  2. วิหารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน คือวิหารที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม มีฐานรองรับ มีมุขทางเข้าทั้งสี่ทิศตรงกับพระพุทธรูปสี่องค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ด้านภายในวิหารผนังทึบตัน

สีมา

[แก้]

สีมาสมัยทวารวดี โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่บ้านกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ ที่ เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร ที่วัดพุทธมงคล อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น สีมาทวารวดีพบว่ามีการปักรอบสถูปเจดีย์ด้วย และบ่อยครั้งไม่พบซากอาคารเข้าใจว่าอาคารเดิมอาจสร้างด้วยไม้จึงผุพังไป บางแห่งปัก 3 ใบและบางแห่งพบถึง 15 ใบ นอกจากนี้บางครั้งยังพบปักรอบเพิงหินธรรมชาติ เช่น ที่หอนางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริเวณนี้อาจเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อผู้คนหันมานับถือศาสนาพุทธจึงนำคติการใช้วัฒนธรรมหินปักหินตั้งเข้าผสมกับคติทางศาสนา มีการปักสีมาขึ้นกลายเป็นวัดป่าหรืออรัญญวาสีไป สีมาสมัยทวารวดีพบหลายแบบทั้งเป็นแผ่นคล้ายเสมาปัจจุบัน เป็นเสากลมหรือแปดเหลี่ยมหรือรูปสี่เหลี่ยม โดยทั่วไปสลักจากหินทราย มีขนาดใหญ่สูงตั้งแต่ 0.80–3 เมตร มีภาพสลักโดยทั่วไปเป็นภาพสถูปยอดแหลม หรือสลักภาพเล่าเรื่องชาดก ภาพพุทธประวัติ และลายผักกูดก้านขด เป็นต้น

โบราณวัตถุ และ ศิลปะ

[แก้]

ดูได้ที่บทความหลัก ศิลปะทวารวดี

แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่สำคัญ

[แก้]

เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีมีหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ

อ้างอิง

[แก้]
  1. ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2542.
  2. "ประติมากรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-20. สืบค้นเมื่อ 2011-05-01.
  3. โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Robert L. Brown, The Dvaravati Wheels of the Law and the Indianization of South East Asia. Studies in Asian Art and Archaeology, Vol. 18, Fontein, Jan, ed. Leiden and New York: E. J. Brill, 1996.
  • Elizabeth Lyons, “Dvaravati, a Consideration of its Formative Period”, R. B. Smith and W. Watson (eds.), Early South East Asia: Essays in Archaeology, History and Historical Geography, Oxford University Press, New York, 1979, pp. 352–359.
  • Dhida Saraya, (Sri) Dvaravati: the Initial Phase of Siam's History, Bangkok, Muang Boran, 1999, ISBN 974-7381-34-6
  • Swearer, Donald K. and Sommai Premchit. The Legend of Queen Cama: Bodhiramsi's Camadevivamsa, a Translation and Commentary. New York: State University of New York Press, 1998. ISBN 0-7914-3776-0
  • สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2004, ISBN 974-7383-61-6.
  • Pierre Dupont, The Archaeology of the Mons of Dvāravatī, translated from the French with updates and additional appendices, figures and plans by Joyanto K.Sen, Bangkok, White Lotus Press, 2006.
  • Jean Boisselier, “Ū-Thòng et son importance pour l'histoire de Thaïlande [et] Nouvelles données sur l'histoire ancienne de Thaïlande”, Bōrānwitthayā rư̄ang MỮang ʻŪ Thō̜ng, Bangkok, Krom Sinlapakon, 2509 [1966], pp. 161–176.
  • Peter Skilling, "Dvaravati: Recent Revelations and Research", Dedications to Her Royal Highness Princess Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra on her 80th birthday, Bangkok, The Siam Society, 2003, pp. 87–112.
  • Natasha Eilenberg, M.C. Subhadradis Diskul, Robert L. Brown (editors), Living a Life in Accord with Dhamma: Papers in Honor of Professor Jean Boisselier on his Eightieth Birthday, Bangkok, Silpakorn University, 1997.
  • C. Landes, “Pièce de l’époque romaine trouvé à U-Thong, Thaïlande”, The Silpakorn Journal, vol.26, no.1, 1982, pp. 113–115.
  • John Guy, Lost Kingdoms: Hindu Buddhist Sculpture of Early Southeast, New York and Bangkok, Metropolitan Museum of Art and River Books, 2014, p. 32.
  • Wārunī ʻŌsathārom. Mư̄ang Suphan bon sēnthāng kan̄plīanplǣng thāng prawattisāt Phutthasattawat thī 8 - ton Phutthasattawat thī 25 (History, development, and geography of the ancient city of Suphan Buri Province, Central Thailand, 8th-25th B.E.), Samnakphim Mahāwitthayālai Thammasāt, Krung Thēp, 2547.
  • ปรีดี พิศภูมิวิถี และคนอื่นๆ. สยามรัถยา: เส้นทางความเจริญของสุวรรณภูมิและสยามประเทศ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงพุทธศักราช 2475. กรุงเทพฯ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), 2566. ISBN 978-974-326-706-2
  • พิริยะ ไกรฤกษ์. ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, 2566.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]