เมืองเสมา
พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นหนึ่งในโบราณสถานภายในเมืองเสมา | |
ที่ตั้ง | ตำบลเสมา จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย |
---|---|
พิกัด | 14°55′21.5″N 101°47′57.2″E / 14.922639°N 101.799222°E |
ประเภท | โบราณสถาน |
ความเป็นมา | |
วัสดุ | อิฐ และหิน |
สร้าง | พุทธศตวรรษที่ 10 |
ละทิ้ง | พุทธศตวรรษที่ 18 |
สมัย | เริ่มประวัติศาสตร์ ทวารวดี เขมร |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | พ.ศ. 2533 |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | เมืองนครราชสีมาเก่า (เมืองเสมาปัจจุบัน) |
ขึ้นเมื่อ | 30 กันยายน พ.ศ. 2495 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา |
เลขอ้างอิง | 0001263 |
เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณอยู่ห่างจากอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร คาดว่ามีการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมขอม
ลักษณะทางกายภาพของเมืองนั้นมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แผนผังเมืองเป็นรูปกลมรีไม่สม่ำเสมอ มีกำแพงเมืองชั้นเดียว ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ ลำตะคองซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของเมือง และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง เมืองเสมามีลักษณะการสร้างเมืองซ้อนกันสองชั้น เรียกว่า เมืองนอก–เมืองใน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรได้สำรวจและขุดค้นเมืองเสมา พบโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองชั้นในและในเขตเมืองชั้นนอกจำนวน 11 แห่ง[1]: 9–15 ส่วนใหญ่เป็นซากวิหารที่สร้างโดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ฝ่ายไศวนิกาย ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]คูน้ำและคันดิน
[แก้]เมืองเสมามีคูน้ำคันดิน ซึ่งมีความยาวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณ 1,700 เมตร และจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร
สภาพคูน้ำคันดินของเมืองเสมาสามารถสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะคูน้ำคันดินของเมืองชั้นใน บริเวณคันดินและริมคูน้ำมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นเป็นบางช่วง คูเมืองด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีน้ำขังอยู่ ส่วนคูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองชั้นในมีสภาพตื้นเขินเป็นบางช่วงแนวคันดินทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกสังเกตเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนนักเนื่องจากมีชาวบ้านมาจับจองพื้นที่อยู่อาศัย ไถดินเพื่อเพาะปลูก และมีการตัดถนนผ่าน
ศาสนสถาน
[แก้]ศาสนาพุทธ
[แก้]ภายในเมืองเสมาพบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลศาสนาพุทธจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลาง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธคงเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 เป็นต้น[2]: 108 โดยพบศาสนาสถานกระจายอยู่ภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 2, โบราณสถานหมายเลข 3, โบราณสถานหมายเลข 4, โบราณสถานหมายเลข 5, โบราณสถานหมายเลข 7, โบราณสถานหมายเลข 8, และโบราณสถานหมายเลข 9 ลักษณะของศาสนสถานมีทั้งประเภทเจดีย์ วิหาร และอาคารทรงปราสาท[1]: 241–242 [3]: 44–46 นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานนอกเมือง คือ พระนอนที่วัดธรรมจักรเสมาราม และเจดีย์ที่วัดแก่นท้าว
ศาสนสถานประเภทเจดีย์ที่พบมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม (พบในโบราณสถานหมายเลข 2), ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส (พบในโบราณสถานหมายเลข 5), ผังรูปแปดเหลี่ยม (พบในโบราณสถานหมายเลข 3) และผังกลม (พบในโบราณสถานหมายเลข 8) ส่วนศาสนสถานประเภทวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (พบในโบราณสถานหมายเลข 4, โบราณสถานหมายเลข 3 หลังที่ 2, และโบราณสถานหมายเลข 9) มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งที่เป็นรูปสัตว์และรูปดอกไม้ ศาสนสถานอีกประเภทหนึ่ง คือ อาคารทรงปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนฐานประดับลวดลายปูนปั้น (พบในโบราณสถานหมายเลข 7)
โบราณสถานทุกหลังก่อด้วยอิฐขนาดค่อนข้างใหญ่มีแกลบข้าวปนไม่สอปูนอันเป็นลักษณะของศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี
ประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธที่พบส่วนใหญ่เป็นใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลัก โดยปักอยู่เป็นคู่โดยรอบศาสนสถานประเภทวิหาร นอกจากนี้จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบประติมากรรมหลายชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 1 โดยถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ[3]: 172–173 ชิ้นส่วนธรรมจักรทำจากหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมาจักรเสมาราม[3]: 173
ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธที่พบในเมืองเสมาสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลายแห่งในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี, เมืองโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์, และเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
ศาสนาพราหมณ์
[แก้]ภายในเมืองเสมาพบหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เมื่อชุมชนเมืองเสมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร และพบข้อความจารึกในจารึกบ่ออีกา ที่กล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ระบุอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตาม ข้อความในจารึกดังกล่าว ทำให้ทราบว่ามีการนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กัน
ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่พบในเมืองเสมา คือ โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง ประกอบด้วยปราสาทประธานแบบเขมรก่อด้วยอิฐหนึ่งหลัง ขนาบข้างด้วยวิหารสอง หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีรูปแบบการก่อสร้างมีการใช้อิฐเนื้อค่อนข้างละเอียดไม่มีแกลบข้าวปนอันเป็นลักษณะของอิฐที่ใช้ก่อสร้างศาสนสถานในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร โดยไม่สอปูน[1]: 11–12 จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 พบประติมากรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ศิลา, เศียรเทวรูป, ชิ้นส่วนรูปเคารพ, ฐานรูปเคารพ, ชิ้นส่วนโคนนทิ, และท่อโสมสูตร[1]: 25–37
ศิลาจารึก
[แก้]จารึก | อักษร | ภาษา | สถานที่ค้นพบ | ประเภท | รายละเอียด | ขนาด | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|---|---|
จารึกบ่ออีกา | ขอมโบราณ | สันสกฤตและเขมร | บ้านบ่ออีกา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา | หินทรายสีแดง | ระบุปี พ.ศ. 1411 ด้านที่หนึ่ง กล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรศรีจนาศะทรงอุทิศปศุสัตว์และทาสทั้งหญิงและชายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนด้านที่สอง กล่าวสรรเสริญพระอิศวรและอังศเทพผู้ได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไปนอกกัมพุเทศ[4]: 23–29 | กว้าง 110 ซม. สูง 56 ซม. หนา 25 ซม. |
|
จารึกศรีจนาศะ | ขอมโบราณ | สันสกฤตและเขมร | บริเวณเทวสถานใกล้สะพานชีกุน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | หิน | ระบุปี พ.ศ. 1480 จารึกหลักนี้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระศังกร (พระศิวะ) และสรรเสริญพระนางปารพตีซึ่งรวมกับพระศิวะภายใต้รูปอรรถนารี ต่อจากนั้นกล่าวถึงรายพระนามพระราชาแห่งอาณาจักรจนาศปุระ[4]: 42–49 | กว้าง 22 ซม. สูง 45 ซม. |
|
จารึกเมืองเสมา | ขอมโบราณ | สันสกฤตและเขมร | เมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา | หินทรายสีเทา | ระบุปีมหาศักราช 893 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 1514 จารึกเริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระศิวะ, พระวิษณุ, พระพรหม, พระอุมา, และพระสรัสวดี จากนั้นกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบาทบรมวีรโลก ว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมัน และทรงสืบเชื้อสายมาจากจันทรวงศ์ และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 สุดท้ายกล่าวถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปไว้หลายองค์ พร้อมทั้งถวายทาสและสิ่งของมากอย่างแด่ศาสนสถาน[4]: 42–49 | กว้าง 46 ซม. สูง 99 ซม. หนา 10 ซม. |
|
จารึกหลักที่ 4 | ขอมโบราณ | เขมร | บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้ โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา | หิน | ระบุปีมหาศักราช 849 ตรงกับปี พ.ศ.1470 กล่าวถึงบ้านเมืองที่ชื่อ “ศรีจนาศะ” หรือ “จนาศะปุระ” และกล่าวถึงรายพระนามของพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองนี้[3]: 42 ซึ่งยอร์จ เซเดย์ สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของบ้านเมืองที่ชื่อศรีจนาศะหรือจนาศะปุระนี้คงตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช และนักวิชาการหลายท่านก็เชื่อว่าคงมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา โดยพิจารณาจากหลักฐานโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองเสมา[2]: 102–113 | – | ยังไม่มีผลของการอ่านและแปล[3]: 42 |
โบราณสถาน
[แก้]กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเมืองเสมาเป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2495[5] หลังสำรวจ ขุดค้น และขุดแต่งในระหว่าง พ.ศ. 2533–2542 พบโบราณสถานรวมทั้งหมด 11 แห่ง 6 แห่งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน (คือ โบราณสถานหมายเลข 1–6) และ 3 แห่งอยู่ในเขตเมืองชั้นนอก (คือ โบราณสถานหมายเลข 7–9) แต่ขุดแต่งและบูรณะได้เพียง 8 แห่ง[1]: 9–15 นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองอีก 2 แห่ง คือ เจดีย์บ้านแก่นท้าว และวิหารพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม
โบราณสถานหมายเลข 1
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 1 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 1 หรือโบราณสถานบ่ออีกา ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาชั้นใน ทางด้านทิศเหนือของบ่ออีกา เป็นปราสาทในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร ก่อด้วยอิฐและหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 45 x 50 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ สภาพเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ 1 เมตร ประกอบด้วย ปราสาทประธานหนึ่งหลัง, วิหารสองหลัง, ฐานอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้หนึ่งหลัง, และกำแพงแก้ว
ปราสาทประธาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 8.8 x 22 เมตร มีสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน ซึ่งเป็นฐานบัวก่อด้วยอิฐ ด้านทิศใต้ซึ่งเป็นประตูทางเข้าออกของปราสาทประธานมีอันตลาระเชื่อมกับมณฑปรูปกากบาท มีบันไดทางขึ้นลงสามด้าน คือ ด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก โดยทางขึ้นลงด้านทิศใต้มีฉนวนก่ออิฐเชื่อมกับโคปุระของกำแพงแก้ว ขั้นบันไดทางขึ้นลงด้านข้างของมณฑปทำด้วยหินทราย ภายในห้องด้านหน้านี้พบชิ้นส่วนกรอบประตูทำด้วยหินทรายหลายชิ้นวางอยู่ตรงหน้าบันไดทางขึ้นลง
ส่วนห้องครรภคฤหะก่อเป็นห้องยกฐานสูงขึ้นผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ภายในประดิษฐานแท่นประติมากรรมซึ่งพบจากการขุดแต่ง บนพื้นห้องมีท่อโสมสูตรเป็นแนวยาวเริ่มจากใต้แท่นฐานประติมากรรมไปทางด้านทิศตะวันออก
วิหาร ด้านทิศตะวันตกและตะวันออกของปราสาทประธานขนาบข้างด้วยวิหารห่างไปประมาณ 4 เมตร ในแนวเดียวกัน สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานก่อด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6 x 12.30 เมตร ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาและมีทางเข้าออก 2 ทาง
ฐานอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวิหารด้านทิศตะวันออกห่างไปประมาณ 10 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานก่อด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3.8 x 5 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะเป็นฐานเรียบ
กำแพงแก้ว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 43.40 x 48.60 เมตร หนา 1.20 เมตร กำแพงแก้วด้านทิศใต้ก่อด้วยอิฐเหลือเฉพาะส่วนฐานบัวซึ่งก่อบนฐานเขียงที่ทำจากหินทราย จากการขุดแต่งพบว่าฐานเขียงบางส่วนทำจากศิลาจารึกในสมัยก่อนหน้า ตรงกึ่งกลางของกำแพงแก้วมีซุ้มโคปุระในผังรูปกากบาท สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนฐานซึ่งก่อด้วยหินทรายรองรับส่วนผนังก่อด้วยอิฐ มีบันไดทางขึ้นลง ทำด้วยหินทราย ด้านหน้าของโคปุระนอกกำแพงแก้วมีฉนวนก่อด้วยอิฐต่อยื่นออกไป ด้านข้างของซุ้มโคปุระทั้งสองด้านห่างออกไปประมาณ 4 เมตร ในแนวตรงกับวิหาร มีบันไดทางขึ้น-ลง ทำด้วยหินทราย ส่วนกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไม่พบทางเข้าออก
บริเวณมุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6.80 x 20 เมตร ยาวต่อเนื่องไปตามแนวกำแพง มีบันไดขึ้นลงตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้พบที่กำแพงแก้วของปราสาทเมืองแขกซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร
จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพหินทรายเป็นรูปวงกลมคล้ายฐานบัว จำนวนสองชิ้น ชิ้นส่วนเทวรูป ชิ้นส่วนโคนนทิ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว ลักษณะประทับยืน จีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย พระพาหายกขึ้นแต่ส่วนพระกรหักหายไป ลักษณะคล้ายคลึงพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ศิลาจารึก เครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น ชิ้นส่วนกลีบขนุนหินทราย ชิ้นส่วนฐานบัวขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม พบว่าแนวอิฐชั้นล่างด้านในของฐานประสาทประธานมีการใช้อิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปนเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี
จากหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลาจารึกที่พบบริเวณใกล้กับโบราณสถานทำให้สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 1 สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย โดยคงมีการปรับเปลี่ยนจากพุทธสถานมาเป็นเทวสถานเมื่อศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ และคงสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับปราสาทเมืองแขก และปราสาทโนนกู่ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของเมืองเสมา โดยปราสาททั้งสองหลังนี้กำหนดอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15 ตรงกับศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์[6]
โบราณสถานหมายเลข 2
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 2 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 2 เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ น่าจะเป็นส่วนของฐานเจดีย์ เนื่องจากซากอาคารที่เป็นเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดีส่วนใหญ่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส[7]: 110
โบราณสถานมีรูปแบบแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมไม้ 20 ขนาด 7.90 x 8 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ 1 เมตรเศษ ฐานทางด้านทิศใต้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานรองรับฐานบัวเพิ่มมุมไม้ 20 ตรงกึ่งกลางฐานมีทางเดินขึ้นบนอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานด้านทิศตะวันออกปรากฏทางเดินเล็กน้อย ส่วนฐานด้านทิศเหนือและทิศใต้มีสภาพชำรุดมาก ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบราณสถานมีแนวอิฐบาง แผ่เป็นลานกว้าง และในแนวเดียวกันนี้ห่างออกไปอีกประมาณ 15 เมตร มีแนวอิฐแบบเดียวกันแต่มีหลุมเสากลมประกอบอยู่หลายหลุม สันนิษฐานว่าอาจเป็นอาคารขนาดเล็ก
จากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2542 พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลาภายในฐานเจดีย์ แตกเป็น 2 ชิ้น สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทรกด้วยลายผักกูดภายในเส้นคู่ขนาน บริเวณซี่ธรรมจักรสลักเป็นแท่งยึดกงไว้ ปลายซี่สลักเป็นลายผักกูดคั่นด้วยลายจุดไข่ปลาภายในลายเส้นคู่ขนาน บริเวณระหว่างซี่ด้านแรกสลักเป็นลายดอกบัว ด้านที่สองสลักเป็นลายก้านต่อดอก[3]: 173 เป็นลักษณะศิลปกรรมที่เหมือนกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมจักรเสมาราม และสามารถเทียบได้กับธรรมจักรที่พบในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม, เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี, เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13[8]
นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนมือของประติมากรรมปูนปั้นสันนิษฐานว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสัตว์
แผนผังของโบราณสถานหมายเลข 2 มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 8, หมายเลข 10, หมายเลข 21, หมายเลข 22, หมายเลข 28, หมายเลข 29, หมายเลข 34 เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี
โบราณสถานหมายเลข 3
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 3 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 3 เป็นกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วยส่วนฐานของเจดีย์และวิหารขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-15
เจดีย์ เป็นเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐไม่สอปูน สภาพเหลือเพียงส่วนฐาน สูงประมาณ 70 เซนติเมตร โดยฐานด้านทิศตะวันออกมีสภาพพังทลายลง ตรงกึ่งกลางของฐานเจดีย์แต่ละด้านทำเป็นทางขึ้น-ลง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม
แผนผังของเจดีย์ลักษณะนี้สามารถเทียบได้กับเจดีย์หมายเลข 10 ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี[8]: 46 และฐานเจดีย์แปดเหลี่ยมที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี[9]
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ สภาพชำรุดพังทลายเหลือเพียงแนวอิฐเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6.70 x 10.90 เมตร ภายในอาคารวิหารติดกับผนังด้านหลังเป็นเนินสูงกว่าบริเวณอื่นก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยม บริเวณโดยรอบวิหารปักใบเสมาคู่ทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ลักษณะใบเสมาไม่มีลวดลาย โกลนแต่งอย่างหยาบ โดยปักอยู่สี่ทิศ ได้แก่ ด้านทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และด้านทิศใต้ บางอันมีสภาพหักชำรุด สันนิษฐานว่าเดิมคงปักอยู่โดยรอบวิหารทั้งแปดทิศ
โบราณสถานหมายเลข 4
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 4 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 4 สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานประเภทวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 8.25 x 13.50 เมตร สภาพเหลือเพียงส่วนฐานก่อด้วยอิฐสูงประมาณ 1.20 เมตร วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งด้านหน้าทำเป็นบันไดทางขึ้นลงสามขั้น ขั้นล่างสุดทำเป็นอัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลม ส่วนขั้นบนสุดมีร่องรอยหลุมเสาอยู่ทั้งสองข้างของบันได ฐานด้านทิศเหนือและใต้ทำเป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเว้าลักษณะยกเก็จเข้าไปด้านละสองช่อง มีร่องรอยการประดับลวดลายด้วยปูนปั้น พื้นภายในวิหารมีการก่ออิฐซ้อนกันเป็นชั้นหนา บริเวณขอบด้านนอกของพื้นวิหารมีร่องรอยหลุมเสาทั้งสี่ด้าน
บริเวณโดยรอบวิหารปักใบเสมาคู่ ทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ลักษณะใบเสมาไม่มีลวดลาย โกลนแต่งอย่างหยาบ โดยปักอยู่ห้าทิศ ได้แก่ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และด้านทิศตะวันออก
จากการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ. 2542 พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ชิ้นส่วนปูนปั้น ชิ้นส่วนรูปเคารพ ฐานรูปเคารพหินทรายสลักเป็นลายกลีบบัว[1]: 87
แผนผังของโบราณสถานหมายเลข 4 สามารถเทียบได้กับโบราณสถานหมายเลข 4 ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และลักษณะทางขึ้นด้านหน้าที่ทำเป็นอัฒจันทร์ศิลาแบบที่นิยมในศิลปะลังกา[7]: 112 คล้ายกับบันไดทางขึ้นของวิหารหมายเลข 5 ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี[8]: 34
โบราณสถานหมายเลข 5
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 5 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 5 มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 6.12 x 6.40 เมตร สภาพเหลือเพียงส่วนฐานก่อด้วยอิฐสูงประมาณ 1 เมตร น่าจะเป็นเจดีย์ทรงกลม เนื่องจากซากอาคารที่เป็นเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดีส่วนใหญ่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส[7]: 110 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-15
อิฐที่ใช้ก่อสร้างมีลักษณะเป็นอิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปน เป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี ก่อซ้อนขึ้นมาโดยไม่สอปูนโดยก่อเป็นผนังอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหนาประมาณ 70 เซนติเมตร ล้อมรอบแกนกลางที่ถมทรายและก้อนหินสีม่วงขนาดเล็ก
แผนผังของโบราณสถานหมายเลข 5 สามารถเทียบได้กับโบราณสถานเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี และโบราณสถานหมายเลข 11 ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
โบราณสถานหมายเลข 7
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 7 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 7 เป็นอาคารทรงปราสาทก่อด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 9.60 x 9.60 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน สูงประมาณ 1.80 เมตร ลักษณะของฐานบริเวณมุมทั้งสี่ มีเสาขนาดใหญ่ก่อนูนสูงขึ้นมาลักษณะยกเก็จ ผนังด้านทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าทำเป็นฐานย่อมุมมีบันไดทางขึ้นลง ส่วนฐานอีกสามด้านที่เหลือ ตรงกึ่งกลางทำเป็นบันไดทางขึ้นสู่ประตูหลอกโดยทางทิศเหนือมีร่องรอยปูนปั้นว่าประตูหลอกนี้ก่อเป็นซุ้มประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนผนังสองข้างของบันไดทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าเว้าลงไปซึ่งคงประดับลวดลายปูนปั้น
ภายในอาคารก่อเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสถมอัดด้วยหินทรายเรียงเป็นชั้นขึ้นไปแล้วฉาบปูนขาวเป็นพื้น ถัดจากแนวหินทรายก่ออิฐล้อมรอบอีกชั้นหนึ่งอิฐที่ใช้ก่อสร้างมีลักษณะเป็นอิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปน เป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี ก่อซ้อนขึ้นมาโดยไม่สอปูนและประดับลวดลายปูนปั้น
จากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2542 พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นจำนวนมาก และชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย[1]: 102–106 ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ
โบราณสถานหมายเลข 7 อาจเป็นอาคารทรงปราสาทแบบอินเดียใต้ในวัฒนธรรมทวารวดี[3]: 171 มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานบ้านจาเละ หมายเลข 3 ที่เมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี[10]: 3–4
โบราณสถานหมายเลข 8
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 8 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 8 มีแผนผังรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.70 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน สูงประมาณ 0.50 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-15
ก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปน เป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี ก่อซ้อนขึ้นมาโดยไม่สอปูนแล้วฉาบปูนปิดผนัง ก่อเป็นผนังอาคารทรงกลมหนาประมาณ 0.70 เมตร ล้อมรอบแกนกลางที่ถมทรายและก้อนหินสีม่วงขนาดเล็ก
สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 8 คงเป็นเจดีย์ทรงกลม ลักษณะแผนผังคล้ายกับเจดีย์ฐานกลมที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี[9]: 52–54
โบราณสถานหมายเลข 9
[แก้]ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 9 | |
---|---|
โบราณสถานหมายเลข 9 มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4.10 x 8.10 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน สูงประมาณ 0.70 เมตร มีทางเข้า-ออกด้านทิศใต้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-15
ก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปน เป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี ก่อซ้อนขึ้นมาโดยไม่สอปูนแล้วฉาบปูนปิดผนัง ก่อเป็นผนังอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนาประมาณ 0.70 เมตร ล้อมรอบแกนกลางที่ถมทรายและก้อนหินสีม่วงขนาดเล็ก
สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 9 คงเป็นศาสนสถานประเภทวิหาร ลักษณะแผนผังคล้ายกับซากวิหารที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี[9]: 46–51
พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม
[แก้]ที่ตั้งวัดธรรมจักรเสมาราม | |
---|---|
พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นพระนอนหินทรายที่มีขนาดใหญ่ที่พบในประเทศไทย สร้างด้วยก้อนหินทรายแดงขนาดใหญ่หลายก้อนประกอบกันขึ้นตามแนวทิศเหนือใต้ มีการสลักหินทรายให้เป็นรูปทรงพระนอน สภาพโดยรวมชำรุด ความยาวตลอดองค์พระนอนประมาณ 13.3 เมตร สูง 2.8 เมตร นอนตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก[11][12]
ส่วนพระพักตร์ประกอบด้วยด้วยหินทรายสี่แผ่นซ้อนกัน พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงสลักเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกค่อนข้างกว้าง มุมพระโอษฐ์ชี้ขึ้นแย้มพระสรวล พระศกขมวดเป็นก้นหอยสภาพแตกชำรุด ด้านหลังพระเศียรสลักโกลนไว้อย่างคร่าวๆ มีเฉพาะพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียร ส่วนพระศอเป็นหินกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร พระวรกายประกอบด้วยหินทรายขนาดใหญ่ยาวตลอดเป็นแผ่นเดียวกัน (ปัจจุบันมีการคลุมผ้าคลุมส่วนพระวรกาย) ส่วนพระนาภีลงมาถึงข้อพระบาทแตกหักชำรุดส่วนพระบาททั้งสองข้างชิดติดเสมอกัน มีสภาพดีเป็นรูปพระบาทและฝ่าพระบาทชัดเจน มีการก่อแท่นอิฐหนุนส่วนพระขนององค์พระ รูปแบบศิลปะของพระพุทธไสยาสน์นี้คงได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีปะปนกับศิลปะพื้นเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15
บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และคณะ กล่าวว่าคติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ของเมืองเสมานี้ เหมือนกับพระพุทธไสยาสน์เมืองโปโลนนารุวะ กล่าวคือ หันพระเศียรไปทางทิศใต้ และสร้างพระพุทธไสยาสน์ภายในคันธกุฎีที่เป็นอาคารแคบ[13]: 206–209
โบราณวัตถุที่ค้นพบภายในบริเวณพระนอนที่สำคัญ คือ ธรรมจักรหินทรายหรือเสมาธรรมจักร พบอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระพุทธไสยาสน์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร เป็นธรรมจักรแบบทึบ แกะสลักเป็นรูปสี่กงล้อ ตอนล่างของธรรมจักรมีลายสลักหน้ากาลหรือพนัสบดี ลักษณะทางศิลปกรรมเทียบได้กับธรรมจักรที่พบจากเมืองนครปฐม น่าจะสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์และเมืองเสมา[11][12]
การขุดแต่งของกรมศิลปากรยังพบหลักฐานเพิ่มเติมคือกวางหมอบและเสาเสมาธรรมจักร อาจแสดงให้เห็นว่าแต่เดิมเสมาธรรมจักรชิ้นนี้คงตั้งอยู่บนหัวเสา มีกวางหมอบอยู่ด้านหน้า และวางอยู่ด้านหน้าพระนอน[11][12]
ประวัติ
[แก้]การศึกษา
[แก้]เมืองเสมาเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ได้รับการกล่าวถึงในผู้สนใจโบราณคดีทั้งไทยและต่างชาติ โดยมีการกล่าวถึงครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]: 4–5 ดังนี้ คือในปี พ.ศ. 2428 นักสำรวจชาวฝรั่งเศส เอเตียน แอมอนิเยร์ ได้เข้ามาสำรวจทางโบราณคดีในประเทศไทย โดยบันทึกไว้ว่า "เมืองเสมาเป็นเมืองในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลอีสาน ได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับเมืองโบราณในเขตอำเภอสูงเนินไว้ว่า "เป็นที่ตั้งของเมืองนครราชสีมาเก่า โดยมีเมืองสองเมืองตั้งอยู่ใกล้กันคือ เมืองเสมา ซึ่งอยู่ทางฝั่งด้านทิศเหนือของลำตะคอง และเมืองโครามะประที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศใต้ของ ลำตะคอง ห่างกันประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ในบริเวณตัวจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบันพร้อมกับ นำชื่อเมืองทั้งสองคือเมืองเสมา และเมืองโครามะปุระหรือโคราชมารวมกันเป็นชื่อเมืองใหม่ นามว่า นครราชสีมา"[3]: 105
ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเนื้อที่ประมาณ 2,475 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 หน่วยศิลปากรที่ 6 การสำรวจเพื่อทำผังและปักหมุดเขตโบราณสถานเมืองเสมา พร้อมกับได้ทำการขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดี ขนาด 3 x 3 เมตร เพื่อศึกษาลำดับการอยู่อาศัยของมนุษย์และยุคสมัย จำนวน 1 หลุม ในบริเวณเมืองชั้นในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง และในปี พ.ศ. 2542 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา ได้ทำการขุดแต่งเสริมความมั่นคงโบราณสถาน จำนวน 9 หลังภายในเมืองเสมา ระหว่างเดือนมิถุนายน–กันยายน 2542
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เชื่อว่าเมืองเสมาคือเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง โดยได้กล่าวว่า "อย่างเมืองเสมา เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองในจารึกสุโขทัย ส่วนสูงเนินคือ เมืองโคราชเก่า..."[14]
พัฒนาการด้านวัฒนธรรม
[แก้]ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่เมืองเสมาได้ข้อสรุปว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในภูมิภาคอื่น โดยสามารถแบ่งพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองเสมาได้เป็น 3 ระยะดังนี้[3]: 157–182 [2]: 109–110 [15]: 140–147
ระยะที่ 1 : พุทธศตวรรษที่ 10-11
[แก้]พบหลักฐานว่ามีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเริ่มแรก โดยเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจากชุมชนในวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณร่วมสมัยบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลและชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันหรือแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนและพบการแพร่กระจายไปยังชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก, ภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาที่พบหนาแน่นบริเวณตอนกลางของแม่น้ำมูล
ระยะที่ 2 : พุทธศตวรรษที่ 12-15
[แก้]เป็นช่วงที่ชุมชนมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีหลักฐานแสดงถึงการรับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางอย่างเด่นชัด คือ การนับถือศาสนาพุทธ (คือ นิกายเถรวาทและมหายาน) ในช่วงเวลานี้ชุมชนได้สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธขึ้นทั้งภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ เจดีย์, วิหาร, ใบเสมาหินทราย, พระพุทธรูป, และธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีผสมศิลปะพื้นเมือง ส่วนหลักฐานโบราณคดีอื่นที่สำคัญ อาทิ หม้อน้ำมีพวย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมือนกับที่พบในชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย, ลูกปัดแก้วสีเดียว, ตะคันดินเผา เบี้ยดินเผา, หม้อมีสัน เป็นต้น
ระยะที่ 3 : พุทธศตวรรษที่ 15-18
[แก้]ชุมชนโบราณแห่งนี้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมทวารวดี เนื่องจากพบหลักฐานของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร และมีร่องรอยการปรับเปลี่ยนพุทธสถานเป็นเทวสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่าศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ศาสนาพุทธ สอดคล้องกับหลักฐานศิลาจารึกที่พบในเมืองเสมา นอกจากนี้ยังปรากฏรูปแบบภาชนะดินเผาแบบเขมรหรือเครื่องเคลือบแบบเขมรแทนที่ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงเวลานี้มีการขยายชุมชนขึ้นไปทางทิศเหนือของเมืองชั้นในและมีการขุดคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมขึ้นในส่วนของเมืองที่ขยายออกไป หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณนอกภูมิภาคที่พบในช่วงเวลานี้ คือ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป เมืองเสมาจึงถูกทิ้งร้าง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 หจก.ปุราณรักษ์. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. รายงานเสนอต่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา, 2542.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 มยุรี วีระประเสริฐ. ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง. : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 เขมิกา หวังสุข. พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 69 (60): 3283. 30 กันยายน 2495.
- ↑ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย : ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2537.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี.โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, 2545.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.
- ↑ พรทิพย์ พันธุโกวิท. การศึกษาวิเคราะห์โบราณสถานเมืองยะรัง: ศึกษากรณีกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. วันนี้ของโบราณคดีไทย, 2547.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. พระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม. ศิลปากร, 2534.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 ธวัช ปุณโณทก. เสมา, เมือง : ชุมชนโบราณ. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 11, 2542.
- ↑ บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และคณะ. รายงานผลการวิจัยเรื่องการประดิษฐานพระพุทธศาสนาจากลังกาทวีปในดินแดนประเทศไทยสมัยวัฒนธรรมทวารวดี. กรุงเทพฯ สมาพันธ์, 2553.
- ↑ พ่อขุนผาเมือง หายไปไหน? ‘ผมเชื่อว่าท่านมาเป็นกษัตริย์อยุธยา’ ขรรค์ชัย สุจิตต์ ทอดน่อง ‘เมืองเสมา’ ท้าพิสูจน์หลากปมประวัติศาสตร์
- ↑ ชลิต ชัยครรชิต. เมืองเสมาคือศูนย์กลางศรีจนาศะ. ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง, : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.