ข้าวจี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวจี่
แหล่งกำเนิดภาคอีสาน / ภาคเหนือ (ประเทศไทย)
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว, เกลือ,ไข่, นํ้าอ้อย

ข้าวจี่ เป็นอาหารพื้นบ้านของภาคอีสานและภาคเหนือ ทำจากข้าวเหนียวนึ่งทาเกลือ ปั้นเป็นรูปกลมหรือรีเสียบไม้นำไปย่างบนเตาถ่าน ไฟอ่อนพอเกรียมนำมาชุบไข่ แล้วนำไปย่างใหม่จนเหลือง ดึงไม้ที่เสียบไว้ออก ยัดน้ำตาลอ้อยเข้าไปแทน น้ำตาลจะละลายเป็นไส้ และนิยมทำกันมากในช่วงเดือนสามของทุกปี ซึ่งจะมีการทำข้าวจี่ไปทำบุญในงานประเพณีบุญข้าวจี่ อาจเป็นเพราะข้าวเหนียวจะเสียเร็วในตอนกลางวัน สมัยก่อนข้าวเหนียวจึงถูกทำเป็นข้าวจี่แล้วห่อใบตองไปกินเป็นอาหารตอนทำนาหรือเดินทางไกล เพราะสามารถเก็บได้นานขึ้น

ทางภาคเหนือ มีข้าวจี่เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่นิยมทำเป็นก้อนกลมหรือชุบไข่ แต่จะนำข้าวเหนียวทาน้ำมันหมู เกลือ และอาจสอดใส้น้ำพริกตาแดงหรือใช้ทาภายนอกก็ได้ เดือนสี่ทางภาคเหนือซึ่งตรงกับราว ๆ เดือนมกราคมของภาคกลาง (การนับเดือนของทางภาคเหนือจะเร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน) จะนำข้าวจี่กับข้าวหลามไปทำบุญตักบาตร เรียกว่า บุญข้าวจี่ข้าวหลาม ข้าวจี่อีกชนิดหนึ่งของทางภาคเหนือ เป็นการอุ่นข้าวเหนียวเปล่า มักจะทำกินกันตอนน้ำท่วม โดยการนำข้าวเหนียวสุกที่เหลือจากมื้อก่อนหน้า (เรียกว่า ข้าวเย็น) มาเสียบไม้ ปั้นแผ่ให้บาง ปิ้งไฟพอเกรียมนิดหน่อยให้อุ่นหอม นิยมกินกับปลากระดี่ที่ควักไส้แล้วเสียบไม้ตากแห้ง (เรียกว่า ฮ้าแห้ง หรือ ปลาร้าแห้ง) ปิ้งไฟให้กรอบเกรียม นำมาโขลกป่นให้ละเอียด ผสมเกลือป่นเล็กน้อย หากเป็นเกลือเม็ดก็โขลกให้ป่นพร้อมปลาไปเลย เก็บใส่กระปุกไว้เป็นกับข้าวได้นาน การจี่ในภาษาเหนือจะไม่เหมือนกับภาษากลาง ซึ่งแบบภาคกลางจะหมายถึงการนาบอาหารกับกระทะ ในภาษาเหนือจะเรียก นาบ [1]

ประเทศลาวก็มีอาหารที่เรียกว่าข้าวจี่เช่นกัน ที่หลวงพระบางข้าวจี่คือขนมปังแท่งยาว ๆ แบบฝรั่งเศส นำมาผ่าซีก เสร็จแล้วนำไปใส่เครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น แตงกวา ไข่เจียวตัดเป็นเส้น ๆ หมูยอ หมูหย็อง (คนลาวเรียกหมูฝอย) และปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ ข้าวจี่ของลาวจะต่างจากข้าวจี่ทางภาคเหนือและอีสานของไทย

อ้างอิง[แก้]

  • ยูร กมลเสรีรัตน์. รสลายคราม: ข้าวจี่. ครัว. 1(8):108, กุมภาพันธ์ 2538
  1. "อาหารล้านนา: ข้าวจี่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-08. สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.