พระรามลงสรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระรามลงสรง
ชื่ออื่นซาแต๊ปึ่ง, ซาแต๊
มื้ออาหารจานเดียว
แหล่งกำเนิดจีน

พระรามลงสรง หรือชื่อในภาษาแต้จิ๋วว่า ซาแต๊ปึ่ง (จีน: 三茶反) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ซาแต๊ (จีน: 三茶) เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่งที่ ประกอบด้วยข้าวสวย ผักบุ้งลวก และเนื้อหมู ราดด้วยน้ำราดข้นคล้ายน้ำสะเต๊ะ เป็นอาหารที่นิยมในหมู่ชาวแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ปัจจุบันหารับประทานได้ยากในไทย[1]

ศัพทมูล[แก้]

"ซาแต๊ปึ่ง" (จีน: 三茶反) เป็นคำแต้จิ๋วที่ทับศัพท์คำว่าสะเต๊ะ (อักษรโรมัน: sate ซาเต) ที่เป็นคำมลายู-อินโดนีเซีย[2][3] รวมกับคำว่าปึ่งที่แปลว่าข้าว รวมกันมีความหมายว่า "ข้าวสะเต๊ะ"[1][2]

ส่วนชื่อ "พระรามลงสรง" เป็นคำเปรียบเปรยถึงผักบุ้งที่มีสีเขียวดั่งผิวกายพระราม ไปลวกในน้ำร้อนเสมือนการอาบน้ำ (คือลงสรง) จึงใช้ชื่อดังกล่าว[1][2][4] และยังไม่เป็นที่ทราบว่าใครตั้งชื่อนี้[2]

บางร้านที่ขายอาหารชนิดนี้ยังมีการเรียกที่แตกต่างกัน เช่น หากใส่เส้นหมี่จะเรียกว่า "พระลักษมณ์ลงสรง" หรือเป็นแบบไม่ใส่เส้นจะเรียก "สีดาลงสรง" ก็มี[4]

ประวัติ[แก้]

พระรามลงสรงหรือซาแต๊ปึ่งทำขึ้นครั้งแรกโดยชาวจีนเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู[5] บ้างก็ว่าเป็นของชาวแต้จิ๋ว[1] สำหรับรับประทานในครอบครัว ต่อมาได้แพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทย สันนิษฐานว่าอาจเข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[5] บ้างก็ว่าเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]

พระรามลงสรงมีพื้นฐานมาจากอาหารมุสลิม โดยได้ดัดแปลงการใช้เนื้อวัวเป็นเนื้อหมู ดัดแปลงและตัดทอนเครื่องเทศบางชนิดให้กลิ่นรสอ่อนลง[2] ดังสังเกตได้จากน้ำราดที่หอมมันและหวานเล็กน้อย ต่างจากน้ำราดสะเต๊ะที่กลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่า[1]

ช่วงเวลาที่พระรามลงสรงได้รับความนิยมสูงสุดน่าจะอยู่ราวช่วงปลาย พ.ศ. 2400 จนกระทั่งถึงตอนต้น พ.ศ. 2500 ในเวลานั้นพระรามลงสรงถือเป็นอาหารที่เสมือนกับข้าวแกง สามารถหารับประทานได้ง่ายในย่านชุมชนจีน เช่น เยาวราช, สะพานเหล็ก, วรจักร เป็นต้น[6]

ส่วนประกอบ[แก้]

พระรามลงสรงเป็นอาหารจานเดียว ประกอบไปด้วยข้าวสวยหุง โปะหน้าด้วยผักบุ้งลวกสุกและเนื้อหมูหั่นชิ้น จากนั้นราดด้วยน้ำจิ้มสะเต๊ะเข้มข้นที่ทำมาจากถั่วลิสงป่น และราดน้ำพริกเผาลงไป และบีบน้ำมะนาวลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย

โดยผักที่ใช้นั้นอาจใช้ผักบุ้งหรือผักคะน้าก็ได้ เนื้อหมูก็สามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อปลา เช่น ปลากะพง หรือเนื้อกุ้งแทนได้[7] รวมถึงใช้เส้นหมี่แทนข้าวสวยได้[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "พระรามลงสรง เมนูโบราณหากินยาก". All Magazine. 17 พฤศจิกายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-03. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 กฤช เหลือลมัย. "จาก "ซาแต๊ปึ่ง" ถึง "ข้าวพระรามลงสรง"". ศิลปวัฒนธรรม. 37:6 เมษายน 2559, หน้า 66-70
  3. "ชองกี่ โชยกลิ่นเครื่องเทศ หมูสะเต๊ะเนื้อนุ่ม". แนวหน้า. 16 เมษายน 2559. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี. "พระรามลงสรงท่าดินแดง อาหารจานเดียวแต่หลายสัญชาติ". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 "'พระรามลงสรง' เมนูใกล้ลืมเลือน ฟื้นอดีตเจาะกลุ่มอินเทรนด์". ผู้จัดการออนไลน์. 3 September 2010. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.[ลิงก์เสีย]
  6. "'ขรรค์ชัย-สุจิตต์' ทอดน่อง 'ล้ง 1919' เปิดตำนานชุมชนจีน 'กฤช' พากินพระรามลงสรง (คลิป)". มติชน. 2020-01-14. สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  7. ""พระรามลงสรง" เมนูเด็ดที่ต่างชาติรู้จักกันดี Swimming rama". โอเคเนชั่น. March 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.