ขนมเนียล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขนมเนียล
มื้อขนม
แหล่งกำเนิดไทย
อุณหภูมิเสิร์ฟอุ่น
ส่วนผสมหลักแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อย มะพร้าวขูด

ขนมเนียล เป็นขนมพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ขนมเนียลทำจากแป้งข้าวเหนียว ผสมกับน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อย และมะพร้าวขูด นึ่งจนสุก ขนมจะมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสัมผัสหนึบ และมีรสหวานมัน[1] โดยชื่อขนม มาจากคำว่า "เนียล" ซึ่งเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย แปลว่า "ทะนาน" ซึ่งเป็นเครื่องมือตวงข้าวสารทำจากกะลานำมาผ่าครึ่ง เมื่อจะทำเป็นอุปกรณ์ทำขนมจึงนำ "เนียล" หรือทะนานมาเจาะรูสำหรับนึ่ง จึงได้ชื่อนี้มา[2][3]

เบื้องต้นนำแป้งข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อยบดผง อาจตัดเกลือลงเล็กน้อย จากนั้นใส่เนื้อเนื้อมะพร้าวแก่ขูดขุยและมะพร้าวทึนทึกขูดหยาบคลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมนึ่งในเนียล ซึ่งเนียลหรือทะนานที่ใช้ ทำจากกะลามะพร้าวซีกล่างให้ขนาดพอดีกับปากหม้อนึ่งขัดจนเงางาม เริ่มต้นด้วยการตั้งเตาถ่านและหม้อนึ่งโดยนำเนียลหรือทะนานเจาะรูตรงกลางมาตั้งไว้[3] หลังจากนั้นใส่แป้งข้าวเหนียวที่ผสมใส่ลงเนียลปิดฝาพักไว้ราว 2-3 นาที[1] บ้างว่า 3-5 นาที[2] ความร้อนจากไอน้ำพุ่งผ่านรูกะลาที่เจาะไว้ทำให้ขนมสุก[1] เมื่อสุกแล้วจึงนำขนมขึ้นใส่ด้วยใบตองแห้งหรือภาชนะที่เตรียมไว้[2]

บางท้องที่เชื่อว่า มีการทำขนมชนิดนี้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตา เพื่อขอขมาและขอบคุณผีปู่ตาที่ช่วยให้ดินน้ำอุดมสมบูรณ์[1] รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายเขมรนิยมปลูกต้นมะพร้าวบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "อร่อยพื้นบ้าน! 'ขนมเนียล' หรือ 'พิซซ่าเขมร' ขนมโบราณเมืองสุรินทร์ หากินยาก". Work Point Today. 24 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ขนมเนียล". ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 15 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "ขนมเนียล". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงวัฒนธรรม. 20 พฤศจิกายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-10. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)