ซอยจุ๊

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซอยจุ๊
แหล่งกำเนิดไทย
ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อุณหภูมิเสิร์ฟไม่ปรุงสุก
ส่วนผสมหลักเนื้อวัวและเครื่องในวัว น้ำจิ้มแจ่วขม ผัก

ซอยจุ๊ เป็นอาหารไทยภาคอีสาน เป็นการนำเนื้อวัวและเครื่องในเนื้อวัวดิบมาหั่นเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีการปรุงให้สุกหรือปรุงรส และจะนิยมนำมากินกับน้ำจิ้มแจ่วขม พร้อมผักสดกรอบ ๆ

ส่วนของเนื้อที่นิยมใช้กันคือ เนื้อส่วนสันใน ส่วนขาลาย ตลอดจนเนื้อน่องลาย คนท้องถิ่นนิยมใช้เนื้อวัวที่เลี้ยงเองหรือวัวธรรมชาติมากกว่าการซื้อตามร้าน เนื่องจากมีความสดเป็นพิเศษ ในส่วนของเครื่องในของเมนูซอยจุ๊จะนิยมใช้ตับวัว ผ้าขี้ริ้ว ขอบกระด้งหรือคันแทนา เลือดวัว ตลอดจนสไบนาง ส่วนน้ำจิ้มแจ่วขม มีส่วนผสมจากพริกป่น น้ำปลา ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี ดีวัว และเพลี้ยอ่อนต้ม เครื่องเคียงมีผักสด พริกสด หรือกระเทียม

คำว่า "ซอย" ในภาษาอีสานแปลว่า "หั่น" ส่วนคำว่า "จุ๊" แปลว่า "จิ้ม" ที่มาของซอยจุ๊มาจากวัฒนธรรมคนอีสาน เมื่อมีเทศกาลพิเศษหรือวันสำคัญจะมีการล้มสัตว์ใหญ่ โดยเฉพาะวัว เพื่อเตรียมอาหารมื้อพิเศษสำหรับจัดเลี้ยงพระ งานแต่งงาน งานบวช งานบุญข้าวสาก[1] ตลอดจนทำอาหารเลี้ยงแขก จนเกิดเป็นอาหาร "ซอยจุ๊เนื้อวัว" ในระยะแรกนิยมกินซอยจุ๊เนื้อวัวหรือซอยจุ๊ตับหวานเป็นกับแกล้ม แต่ภายหลังได้กลายมาเป็นอาหารมื้อหลัก จนต่อมาได้แพร่ขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ จนได้รับความนิยม[2]

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นอาหารไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อหรือปรุงสุก จึงเสี่ยงที่จะมีพยาธิเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรค เช่น พยาธิใบไม้ตับทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรนิต หิรัญพงษ์. "ซอยจุ๊ อาหารที่ไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นวัฒนธรรมของชาวอีสาน". เดอะสแตนดาร์ด.
  2. "เปิดที่มา "ซอยจุ๊" เมนูเด็ดสะท้อนวัฒนธรรมอีสานผ่านเนื้อดิบ". ไทยรัฐ.
  3. "รู้จักซอยจุ๊ เมนูดิบสุดเปิบ สรุปกินได้หรือไม่". ประชาชาติธุรกิจ.