มะพร้าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มะพร้าว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 55–0Ma สมัยอีโอซีนตอนต้น – ปัจจุบัน
ต้นปาล์มมะพร้าว (Cocos nucifera)
ลูกมะพร้าว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: Arecales
วงศ์: ปาล์ม (พืช)
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยหมาก
เผ่า: Cocoseae
L.
สกุล: Cocos
L.
สปีชีส์: Cocos nucifera
ชื่อทวินาม
Cocos nucifera
L.
บริเวณพื้นถิ่นที่เป็นไปได้ของ Cocos nucifera ก่อนการทำการเพาะปลูกบริเวณอื่น

มะพร้าว เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae) และเป็นสปีชีส์เดียวของสกุล Cocos ที่ยังมีชีวิตอยู่[1] มะพร้าว เป็นพืชซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนี้มะพร้าวจัดเป็นพรรณไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อความสิริมงคล

เนื้อมะพร้าว
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน1,480 กิโลจูล (350 กิโลแคลอรี)
15.23 g
น้ำตาล6.23 g
ใยอาหาร9.0 g
33.49 g
อิ่มตัว29.698 g
ไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่เดี่ยว1.425 g
ไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่หลายคู่0.366 g
3.33 g
ทริปโตเฟน0.039 g
ทรีโอนีน0.121 g
ไอโซลิวซีน0.131 g
ลิวซีน0.247 g
ไลซีน0.147 g
เมไธโอนีน0.062 g
ซิสตีน0.066 g
ฟีนิลอะลานีน0.169 g
ไทโรซีน0.103 g
วาลีน0.202 g
อาร์จินีน0.546 g
ฮิสทิดีน0.077 g
อะลานีน0.170 g
กรดแอสปาร์ติก0.325 g
กลูตาเมต0.761 g
ไกลซีน0.158 g
โพรลีน0.138 g
ซีรีน0.172 g
วิตามิน
ไทอามีน (บี1)
(6%)
0.066 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(2%)
0.020 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(4%)
0.540 มก.
(6%)
0.300 มก.
วิตามินบี6
(4%)
0.054 มก.
โฟเลต (บี9)
(7%)
26 μg
วิตามินซี
(4%)
3.3 มก.
วิตามินอี
(2%)
0.24 มก.
วิตามินเค
(0%)
0.2 μg
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(1%)
14 มก.
เหล็ก
(19%)
2.43 มก.
แมกนีเซียม
(9%)
32 มก.
แมงกานีส
(71%)
1.500 มก.
ฟอสฟอรัส
(16%)
113 มก.
โพแทสเซียม
(8%)
356 มก.
โซเดียม
(1%)
20 มก.
สังกะสี
(12%)
1.10 มก.
องค์ประกอบอื่น
น้ำ47 g

ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งที่มา: USDA FoodData Central
น้ำมะพร้าว
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน19 กิโลแคลอรี (79 กิโลจูล)
3.71
น้ำตาล2.61
ใยอาหาร1.1
0.2
0.72
วิตามิน
ไทอามีน (บี1)
(3%)
0.03 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(5%)
0.057 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(1%)
0.08 มก.
วิตามินบี6
(2%)
0.032 มก.
วิตามินซี
(3%)
2.4 มก.
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(2%)
24 มก.
เหล็ก
(2%)
0.29 มก.
แมกนีเซียม
(7%)
25 มก.
ฟอสฟอรัส
(3%)
20 มก.
โพแทสเซียม
(5%)
250 มก.
สังกะสี
(1%)
0.1 มก.
องค์ประกอบอื่น
น้ำ95
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่

ลักษณะทั่วไป[แก้]

มะพร้าว เป็นพืชยืนต้น ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ผลประกอบด้วยเอพิคาร์ป (epicarp) คือเปลือกนอก ถัดไปข้างในจะเป็นมีโซคาร์ป (mesocarp) หรือใยมะพร้าว ถัดไปข้างในเป็นส่วนเอนโดคาร์ป (endocarp) หรือกะลามะพร้าว ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วนเอนโดคาร์ปเข้าไปจะเป็นส่วนเอนโดสเปิร์ม หรือที่เรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าวซึ่งน้ำมะพร้าวเกิดจากเอนโดสเปิร์มของมะพร้าวซึ่งจะมีเอนโดสเปิร์มทั้งของแข็งและของเหลว คือ เอนโดสเปิร์มของแข็งจะเป็นเนื้อมะพร้าว และเอนโดสเปิร์มทั้งของเหลวจะเป็นน้ำมะพร้าว ซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่ เอนโดสเปิร์มก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด ขณะที่มะพร้าวยังอ่อน ชั้นเอนโดสเปิร์ม (เนื้อมะพร้าว) ภายในผลมีลักษณะบางและอ่อนนุ่ม ภายในมีน้ำมะพร้าว ซึ่งในระยะนี้เรามักสอยเอามะพร้าวลงมารับประทานน้ำและเนื้อ เมื่อมะพร้าวแก่ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เปลือกนอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชั้นเอนโดสเปิร์มก็จะหนาและแข็งขึ้น จนในที่สุดมะพร้าวก็หล่นลงจากต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

มะพร้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. อยู่ในตระกูล Palmae มีระบบรากเป็นรากฝอยมีขนาดเท่า ๆ กัน แผ่กระจายออกรอบต้น

ลำต้น มีลำต้นเดียว ไม่แตกแขนง มีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบตลอดลำต้น สามารถคำนวณอายุของต้นมะพร้าวได้จากรอยแผลนี้ คือ ในปีหนึ่งมะพร้าวจะสร้างใบประมาณ 12- 14 ใบ ดังนั้นใน 1 ปี จะมีรอยแผลที่ลำต้น 12 – 14 รอยแผล

ใบ เป็นใบประกอบ ออกอยู่ตามส่วนของลำต้น ประกอบด้วยก้านทาง ( rechis ) มีขนาดใหญ่และยาว และมีใบย่อย (leaflet) บนก้านทางประมาณ 200 – 250 ใบ

ดอก ออกเป็นช่อชนิดพานิเคิล มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ สีครีมหรือสีเหลืองนวล ไม่มีก้านดอกย่อยดอกตัวเมียจะมีกลีบดอกหนาและแข็งกว่ากลีบดอกตัวผู้

ผล มะพร้าวเป็นชนิดไฟบรัสดรุป (fibrous drupe) เรียกว่า นัท (nut) มีเปลือก 3 ชั้นคือ

  1. เปลือกชั้นนอก (exocarp) เป็นเส้นใยที่เหนียวและแข็ง เมื่อแก่อาจมีสีเขียว แดง เหลืองหรือน้ำตาล
  2. เปลือกชั้นกลาง (mesocarp) มีลักษณะเป็นเส้นใย มีความหนาพอประมาณ
  3. เปลือกชั้นใน (endocarp) มีลักษณะแข็งหรือที่เรียกกันว่า กะลา (shell)

เมล็ด (seed of kernel) คือ เนื้อมะพร้าว ภายในเมล็ดเป็นช่อกลวงขณะผลอ่อนจะมีน้ำอยู่เต็ม ผลแก่น้ำมะพร้าวจะแห้งไปบางส่วน

พันธุ์ มะพร้าวเป็นพืชผสมข้ามพันธุ์ แต่ละต้นจึงไม่เป็นพันธุ์แท้ อาศัยหลักทางการผสมพันธุ์ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ อาจแบ่งมะพร้าวออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทต้นเตี้ยและประเภทต้นสูง

ประเภทต้นเตี้ย มะพร้าวประเภทนี้ มีการผสมตัวเองค่อนข้างสูง จึงมักให้ผลดกและไม่ค่อยกลายพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมปลูกไว้เพื่อรับประทานผลอ่อน เพราะในขณะที่ผลยังไม่แก่ อายุประมาณ 4 เดือน เนื้อมีลักษณะอ่อนนุ่ม และน้ำมีรสหวาน บางพันธุ์น้ำมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม

ลักษณะทั่วไปของประเภทต้นเตี้ย ลำต้นเล็ก โคนต้นไม่มีสะโพก ต้นเตี้ย โตเต็มที่สูงประมาณ 12 เมตร ทางใบสั้น ถ้ามีการดูแลปานกลางจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 3-4 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 35-40 ปี มะพร้าวประเภทต้นเตี้ยมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น เปลือกสีเขียวเหลือง นวล (สีงาช้าง) น้ำตาลแดง หรือสีส้ม น้ำมีรสหวาน มีกลิ่นหอม มะพร้าวต้นเตี้ยทุกพันธุ์จะมีผลขนาดเล็ก เมื่อผลแก่มีเนื้อบางและน้อย ซึ่งได้แก่พันธุ์ นกคุ่ม หมูสีเขียว หมู่สีเหลือง หรือนาฬิกา มะพร้าวเตี้ย น้ำหอม และมะพร้าวไฟ แต่ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมใช้ในการบริโภคสดและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

ประเภทต้นสูง ตามปกติมะพร้าวต้นสูงจะผสมข้ามพันธุ์ คือ ในแต่ละช่อดอก (จั่น) หนึ่ง ๆ ดอกตัวผู้จะค่อย ๆ ทยอยบาน และร่วงหล่นไปหมดก่อนที่ดอกตัวเมียในจั่นนั้นจะเริ่มบาน จึงไม่มีโอกาสผสมตัวเอง มะพร้าวประเภทนี้เป็นมะพร้าวเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปลูกเป็นสวนอาชีพ เพื่อใช้เนื้อจากผลแก่ไปประกอบอาหาร หรือเพื่อทำมะพร้าวแห้งใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช

ลักษณะทั่วไปของประเภทต้นสูง ลำต้นใหญ่ โคนต้นมีสะโพกใหญ่ ต้นสูง โตเต็มที่สูงประมาณ 18 เมตร ทางใบใหญ่และยาว ถ้ามีการดูแลปานกลางจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 5-6 ปี อายุยืนให้ผลผลิตนานประมาณ 80 ปี มะพร้าวต้นสูงมีผลโตเนื้อหนาปริมาณเนื้อมาก มีลักษณะภายนอกหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ผลขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รูปผลกลม ผลรี บางพันธุ์เปลือกมีลักษณะพิเศษ คือ ในขณะที่ผลยังไม่แก่ เปลือกตอนส่วนหัวจะมีรสหวานใช้รับประทานได้ จึงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่พันธุ์กะโหลก มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวกลาง ปากจก ทะลายร้อย เปลือกหวานและมะแพร้ว มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมแม้ว่ามะพร้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกกันมาแต่ดั้งเดิม จะมีลักษณะดีหลายอย่าง เช่น มีขนาดผลค่อนข้างโต และทนทานต่อสภาพอากาศแล้งได้ดี แต่ในวงการอุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันได้พัฒนาทางด้านคุณภาพมะพร้าวมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่รับผิดชอบด้านวิจัยและพัฒนามะพร้าวได้ผลิตมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม ซึ่งได้ผ่านการรับรองพันธุ์ออกมาแล้ว 2 พันธุ์ ดังนี้

พันธุ์สวีลูกผสม 1 (Sawi Hybrid No.1) เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (MYD x WAT) ลักษณะเด่นของมะพร้าวพันธุ์นี้คือมีอายุการตกผลเร็ว สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 ผลผลิตเฉลี่ย 2,781 ผลต่อไร่ หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง 566 กก.ต่อไร่ จากจำนวนมะพร้าว 22 ต้นต่อไร่ เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นมะพร้าวที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวมาก

พันธุ์ชุมพรลูกผสม 60-1 (Chumphon Hybrid 60-1) เป็นมะพร้าวลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง x ไทยต้นสูง สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 หลังจากปลูก ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,257 ผลต่อไร่ หรือคิดเป็นน้ำหนักมะพร้าวแห้งสูงถึง 628 กก.ต่อไร่ เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง 63 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขนาดผลของมะพร้าวพันธุ์นี้ค่อนข้างโตกว่าพันธุ์สวีลูกผสม 1 จึงสามารถจำหน่ายได้ทั้งผลสดและในรูปมะพร้าวแห้งส่งโรงงานสกัดน้ำมัน มะพร้าวลูกผสมทั้ง 2 พันธุ์ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเกือบ 2 เท่า กล่าวคือ พันธุ์ไทยให้ผลผลิต 1,084 ผลต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตเนื้อมะพร้าวแห้ง 374 กก.ต่อไร่ และมีปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 59-60 เปอร์เซ็นต์

โรคและแมลงในมะพร้าว[แก้]

แมลงที่เป็นศัตรูพืชกับมะพร้าวคือ ด้วงแรด เป็นแมลงปีกแข็งตัวใหญ่มีสีน้ำตาลเข้ม บนหัวมีนอ เหมือนแรด ตัวแก่กัดกินยอดและใบอ่อนทำให้ด้วงงวงมาวางไข่

สามารถจะป้องกันและกำจัดได้ทั้งในระยะที่เป็นตัวหนอนและตัวเต็มวัย โดยปฏิบัติดังนี้

รักษาสวนให้สะอาด เป็นการทำลายแหล่งวางไข่ เพราะด้วงแรดชอบวางไข่ในกองขยะ กองปุ๋ยหมัก กองเศษไม้ ตอไม้ผุ ฯลฯ ถ้าเห็นใบยอดขาดเป็นริ้วๆแสดงว่าถูกด้วงแรดกัดให้ใช้ตะขอหรือเหล็กแหลมแทง ดึงเอาตัวออกมาทำลาย ใช้สารเคมี เช่น

  1. ออลดริน ชนิดน้ำ 5 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บ ราดที่คอมะพร้าวทุก 2 เดือน
  2. อโซดริน 3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บ ราดที่คอมะพร้าวเดือนละครั้ง
  3. ออลดริน ชนิดผงคลุกกับขี้เลื่อยในอัตรา 1 ช้อนแกง ต่อขี้เลื่อย 8 กระป๋องนม โรยที่คอมะพร้าวต้นละ 1 กระป๋องนม ทุก 2 เดือน
  4. สำหรับต้นมะพร้าวที่มีลำต้นสูงมาก ใช้พวก นูวาครอนหรืออโซดรินฉีดเข้าลำต้น โดยเอาสว่านเจาะลำต้นให้เป็นรูจำนวน 2 รู อยู่ตรงข้ามกัน ใช้เข็มฉีดยาดูดสารเคมี 10 ซีซี ฉีดใส่ในรูที่เจาะไว้ข้างละ 5 ซีซี จะมีฤทธิ์อยู่นานประมาณ 30 วัน วิธีนี้ห้ามเก็บผลมะพร้าวก่อนครบกำหนดหลังจากฉีดสารเคมีแล้ว อย่างน้อย 30 วัน

ใช้วิธีชีวอินทรีย์โดยธรรมชาติจะมีเชื้อราและเชื้อไวรัสที่สามารถทำลายด้วงแรดได้ทั้งที่เป็นตัวหนอนและตัวเต็มวัย คือ

  1. เชื้อราเขียว Metarhizium anisophiae จะเข้าทำลายตัวหนอนมองเห็นเป็นเส้นใยสีขาวจับกันเป็นก้อนอยู่ที่ผิวภายนอกตัวหนอนต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ถ้าตัวหนอนของด้วงแรดมีลักษณะดังกล่าวควรนำไปใส่ให้กระจายตามกองขยะ กองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ตอหรือท่อนมะพร้าวผุๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ของด้วงแรด จะช่วยลดปริมาณด้วงแรดลงได้มาก
  2. เชื้อไวรัส Rhabdiomvirus oryctes หรือที่เรียกกันว่าแบคคูลาไวรัส (Baculavirus) จะเข้าทำลายตัวหนอนมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือ ส่วนท้ายของตัวหนอน (rectum) จะพองโตยื่นออกมาเห็นได้ชัด เมื่อพบหนอนที่มีลักษณะนี้ควรเก็บใส่ไว้ตามแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด จะทำให้ด้วงแรดเป็นโรคแพร่กระจายมากขึ้นปริมาณของด้วงแรดจะลดลง

แมลงอีกชนิดคือ ด้วงงวง มีขนาดเล็กกว่าด้วงแรด เข้าทำลายต้นมะพร้าวโดยการวางไข่ ตามรอยแผลที่มีอยู่แล้ว เช่น แผลที่เกิดจากด้วงแรดกัดทำลายเมื่อไข่ฟักตัวแล้วหนอนก็จะกัดกินส่วนที่อ่อนแล้วเจาะไชเข้าในลำต้น ทำให้ต้นมะพร้าวเหี่ยวเฉาและตายได้

การป้องกันและกำจัด[แก้]

ป้องกันกำจัดด้วงแรดอย่าให้เกิดระบาดทำลายต้นมะพร้าวเพราะแผลที่ด้วงแรดกัดเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้าไปวางไข่ ระวังอย่าให้ต้นมะพร้าวเกิดบาดแผล เช่น การใช้มีดฟันต้น เพราะด้วงงวงจะเข้าไปวางไข่ตามรอยแผล อย่าปลูกมะพร้าวตื้น เพราะรากจะลอย ด้วงงวงสามารถเข้าไปในรอยเปิดของเปลือกตรงส่วนของโคนต้นที่ติดกับพื้นดินได้ ถ้าพบต้นที่ถูกด้วงงวงทำลาย และต้นยังแข็งแรงอยู่ ให้ใช้ยาคาร์โบฟูราน (ฟูราดาน หรือ คูราแทร์ 3% G) โรยบริเวณโคนต้น เกลี่ยดินกลบ รดน้ำให้ชุ่ม สารเคมีจะซึมผ่านขึ้นไปจนถึงยอด ฆ่าหนอนที่กินอยู่ภายในได้ และอย่าเก็บผลไปรับประทานภายใน 30 วัน หลังจากใส่สารเคมีแล้ว ต้นที่ถูกด้วงงวงทำลายจนตาย ควรโค่นทิ้งแล้วเผาทำลาย

รายชื่อพันธุ์มะพร้าว[แก้]

ประโยชน์[แก้]

มะพร้าวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

  • นํ้ามะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเวน ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้ น้ำมะพร้าวสามารถนำไปทำ วุ้นมะพร้าว ได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว
  • เนื้อมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็ก ๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออกมาจากมะพร้าว
  • กากมะพร้าว ที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้
  • ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (coconut’s heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า “สลัดเจ้าสัว“ (millionaire's salad)
  • ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร และนำไปทำเป็นสครับขัดผิวกายได้
  • น้ำมันมะพร้าว ได้จากการบีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
  • กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ
  • ก้านใบ หรือ ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว ใบนำไปสารทำหมวก ฯลฯ
  • จาวมะพร้าว ใช้นำมาเป็นอาหารได้ ในจาวมะพร้าวมีฮอร์โมนออกซิน และฮอร์โมนอื่นๆแต่ มี ฮอร์โมนออกซินปริมาณมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำไปคั้น และนำน้ำที่ได้จากจาวมะพร้าว ไปรดต้นพืช จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้
ต้นมะพร้าว

มะพร้าวในประเทศไทย[แก้]

มะพร้าว เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากคนไทยรู้จักใช้เนื้อมะพร้าวในการบริโภคเป็นอาหารทั้งคาวและหวานในชีวิตประจำวัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เคยสำรวจพบว่า ประชากรไทย 1 คน จะบริโภคเนื้อมะพร้าวประมาณปีละ 8,273.2 กรัม หรือประมาณ 18 ผล/คน/ปี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพลเมืองประมาณ 55 ล้านคน จะใช้ผลมะพร้าวประมาณ 990 ล้านผล หรือประมาณ 65% ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลือประมาณ 35% ของผลผลิตทั้งหมด หรือ 489 ล้านผล ใช้ในรูปของอุตสาหกรรมหรือส่งออกต่อไป

อุตสาหกรรมมะพร้าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อการบริโภค เช่น อุตสาหกรรมมะพร้าวแห้งอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าว อุตสาหกรรมกะทิเข้มข้น อุตสาหกรรมมะพร้าวขูดแห้ง อุตสาหกรรมน้ำตาลมะพร้าว
  2. ผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภค เช่น อุตสาหกรรมเส้นใยมะพร้าว อุตสาหกรรมแท่งเพาะชำ อุตสาหกรรมเผาถ่านจากกะลามะพร้าว อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว

ผลผลิตมะพร้าวแต่ละปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2,700 ล้านบาท คิดแล้วมูลค่ามหาศาล ซึ่งเราไม่ควรที่จะละเลยและ ควรเร่งหาทางในการส่งเสริมและพัฒนามะพร้าวอีกต่อไป

มะพร้าวสามารถขึ้นได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ขึ้นได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อยคือ (pH ระหว่าง 6-7 ) ลักษณะดินร่วน หรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มีฝนตกกระจายสม่ำเสมอแทบทุกเดือน อากาศอบอุ่น หรือค่อนข้างร้อน และมีแสงแดดมาก

ภาคที่มีการปลูกมะพร้าวมากและปลูกเป็นอาชีพ คือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

พื้นที่ปลูก[แก้]

ความสามารถในการแข่งขันในตลาดมะพร้าวโลก[แก้]

มะพร้าวอ่อน มะพร้าวอ่อนเป็นที่นิยมในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ กอปรกับมีงานวิจัยที่สนับสนุนคุณประโยชน์ของมะพร้าวที่มีมากมายต่อพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งมีสารให้ความสดชื่น (สารเหล่านี้มีมากในมะพร้าวอ่อนอายุไม่เกิน 8 เดือน แต่มีอยู่น้อยในมะพร้าวแก่) ทำให้มะพร้าวอ่อนไทยเป็นสินค้าส่งออกที่นิยมแพร่หลาย ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

ไทยส่งออกมะพร้าวอ่อนตามพิกัด 0801.190.007 ในปี 2546 รวม 266.4 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการส่งออก 26.55 พันตัน ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากปี 2545 โดยตลาดมะพร้าวน้ำหอมของไทยที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา บาร์เรน บรูไน และซาอุดิอาระเบีย

คู่แข่งมะพร้าวอ่อนของไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โดยไทยเสียเปรียบในแง่ต้นทุนการขนส่งในบางตลาด เช่น ตลาดฮ่องกง ไทยไกลกว่าฟิลิปปินส์ ตลาดสิงคโปร์ ไทยไกลกว่ามาเลเซีย แต่ในเรื่องรสชาติแล้ว มะพร้าวอ่อนของไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมะพร้าวอ่อนของประเทศอื่น ๆ ไม่มีพันธุ์เฉพาะอย่าง เช่น มะพร้าวน้ำหอมของไทย แต่เป็นมะพร้าวแกงซึ่งเก็บผลอ่อนมาขายกัน นอกจากนี้ ไทยยังมีการแปรรูปเป็นมะพร้าวน้ำหอมแช่แข็ง และน้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋องขาย

มะพร้าวแกง ในการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันมะพร้าวแกงและผลิตภัณฑ์ของไทย กับประเทศผู้ส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะเน้นที่รายการมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในข้อผูกพันและ การนำเข้ารายการสินค้าเกษตร 23 รายการของไทยกับ WTO ซึ่งมี 3 รายการดังนี้

1.มะพร้าวฝอยทำให้แห้ง มะพร้าวฝอยทำให้แห้งอยู่ในพิกัด 0801.110.000 ตามงานศึกษาของ สุภาวดี ภัทรโกศล (2540) พบว่า ต้นทุนการผลิตมะพร้าวของเกษตรกรไทยอยู่ที่ผลละ 3.08 บาท และหากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ประเทศไทยเปิดเสรีในกรอบ AFTA ซึ่งทำให้มะพร้าวไม่สามารถตั้งกำแพงภาษีนำเข้าได้ ไทยจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีราคามะพร้าวถูกกว่าของไทยมาก โดยราคาขายอยู่ที่ประมาณผลละ 1 บาท ขณะที่ตามรายงานในพิกัดสินค้าของกรมศุลกากร ไทยเก็บอัตราภาษีนำเข้ามะพร้าวที่ร้อยละ 5.0 ในกรอบ AFTA แต่ความจริงแล้ว ไทยไม่เคยเปิดตลาดมะพร้าวตามกรอบ AFTA แต่อย่างไร โดยสำหรับพิกัด 0801.110.000 ไทยเก็บอัตราภาษีที่ร้อยละ 54.6 ตามกรอบ WTO

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวจากกรมวิชาการเกษตร เห็นด้วยว่ามะพร้าวฝอยทำให้แห้งของไทยต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้นทุนของไทยจะสูงกว่า แต่เชื่อว่าราคามะพร้าวฝอยทำให้แห้ง เมื่อบวกค่าขนส่งของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาไทยจะไม่ถูกกว่าของไทย แต่อาจจะมีการนำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามและพม่าเข้ามาได้ เนื่องจากต้นทุนขนส่งไม่สูงนัก

2. เนื้อมะพร้าวแห้ง เนื้อมะพร้าวแห้งอยู่ในพิกัด 1203.000.005 ไม่มีการนำเข้ามาในไทย แต่มีการส่งออก โดยในปี 2546 มูลค่ารวม 840.9 แสนบาท ปริมาณส่งออก 108.5 ตัน

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวชี้ว่า เนื้อมะพร้าวแห้งในประเทศแข่งขันกับเนื้อมะพร้าวแห้งนำเข้าได้ แต่การพิจารณาในเชิงตัวเลขนำเข้า เพื่อเปรียบเทียบราคานำเข้ากับราคาในประเทศไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีการนำเข้า

ขณะที่การตรวจสอบตัวเลขการส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้ง พบว่า ปริมาณการส่งออกมีน้อย และตัวเลขไม่ได้แสดงนัยการเติบโตที่น่าสนใจ จึงดูไม่มีความสามารถ ในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

3. น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะพร้าวอยู่ในพิกัด 1513.110.008 ไม่มีการนำเข้ามาในไทย แต่มีการส่งออก โดยในปี 2546 มูลค่ารวม 43.28 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 3,646.9 ตัน

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวชี้ว่าน้ำมันมะพร้าวในประเทศแข่งขันกับน้ำมันมะพร้าวนำเข้าได้ แต่การพิจารณาในเชิงตัวเลขนำเข้า เพื่อเปรียบเทียบราคานำเข้ากับราคาในประเทศไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีการนำเข้า

เมื่อตรวจดูความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศพบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยไทยสามารถส่งออกน้ำมันมะพร้าวได้ในมูลค่าสูง

การผลิตและเพาะปลูก[แก้]

การผลิตมะพร้าวใน ค.ศ. 2019
ประเทศ จำนวนที่ผลิต
(ล้านตัน)
ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย 17.1
ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ 14.8
ธงของประเทศอินเดีย อินเดีย 14.7
ธงของประเทศศรีลังกา ศรีลังกา 2.5
ธงของประเทศบราซิล บราซิล 2.3
ธงของประเทศเม็กซิโก เม็กซิโก 1.3
ทั่วโลก 62.5
ข้อมูล: FAOSTAT ของสหประชาชาติ[2]

ใน ค.ศ. 2019 จำนวนการผลิตมะพร้าวของโลกอยู่ที่ 62 ล้านตัน ซึ่งประเทศที่ผลิตมากที่สุดคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย[2]

วัฒนธรรม[แก้]

ความเชื่อและตำนาน[แก้]

ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวบริเวณทิศตะวันออกของบ้านเพื่อให้เป็นสิริมงคล คนที่เกิดปีชวด ปีเถาะ ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ก็จัดให้มะพร้าวเป็นมิ่งขวัญของคนที่เกิดในปีดังกล่าว นอกจากนี้ การล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว ก็เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ ในพิธีกรรมทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ จะจัดให้มีมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องสังเวย เพราะมีความเชื่อว่ามะพร้าวเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์เหมาะแก่การชำระล้างและการดื่มเพื่อเป็นสิริมงคล[ต้องการอ้างอิง]

วัฒนธรรมเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วนมีตำนานต้นกำเนิด (origin myth) ที่มะพร้าวมีบทบาทหลัก ในเรื่องราวไฮนูเวเลจากหมู่เกาะมาลูกู มีหญิงสาวที่เติบโตจากดอกของต้นมะพร้าว[3] ในคติชนมัลดีฟส์ หนึ่งในตำนานต้นกำเนิดหลักสะท้อนถึงการพึ่งพาต้นมะพร้าวของชาวมัลดีฟส์[4] ในเรื่องราวซีนากับปลาไหล ต้นกำเนิดของมะพร้าวมีส่วนเกี่ยวโยงถึงหญิงสาวสวยงามที่ชื่อซีนาฝังปลาไหล ซึ่งภายหลังกลายเป็นมะพร้าวต้นแรก[5]

ตามรายงานจากตำนานพื้นบ้าน ทุก ๆ ปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะพร้าวตกบนหัวมากกว่าฉลาม[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Royal Botanic Gardens, Kew. Cocos. World Checklist of Selected Plant Families.
  2. 2.0 2.1 "Coconut production in 2019, Crops/Regions/World list/Production Quantity (pick lists)". UN Food and Agriculture Organization, Corporate Statistical Database (FAOSTAT). 2020. สืบค้นเมื่อ 11 February 2021.
  3. Leeming, David (พฤศจิกายน 17, 2005). Hainuwele – Oxford Reference. oxfordreference.com. ISBN 978-0-19-515669-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 28, 2013.
  4. Romero-Frias, Xavier (2012) Folk tales of the Maldives, NIAS Press เก็บถาวร พฤษภาคม 28, 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ISBN 978-87-7694-104-8, ISBN 978-87-7694-105-5
  5. "Living Heritage -Marcellin College - Sina and the Eel". www.livingheritage.org.nz. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 29, 2012.
  6. "International Shark Attack File". Shark Research Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2013. สืบค้นเมื่อ January 9, 2014.

บรรณานุกรม[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]