ข้ามไปเนื้อหา

หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) (21 มีนาคม พ.ศ. 2444 - 14 เมษายน พ.ศ. 2512)[1] เป็นอดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ 2 สมัย อดีตข้าหลวงเมืองมหาสารคาม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ประวัติ

[แก้]

หลวงอังคณานุรักษ์ เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เคยดำรงตำแหน่งข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เมืองมหาสารคาม[2] อ่างทอง และภูเก็ต[3] เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าหลวงเมืองมหาสารคาม ได้มีดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนประถมอาชีพการช่างปั้น อำเภอเมืองมหาสารคาม รับนักเรียนที่จบประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าเรียนหลักสูตร 2 ปี[4] และดำริให้มีการขุดคลองเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในเมืองมหาสารคาม จึงตั้งชื่อคลองว่า "คลองสมถวิล"[5]

งานการเมือง

[แก้]

หลวงอังคณานุรักษ์ ได้เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ในสัดส่วนของ ส.ส.)[6] และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ครั้งแรกในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 14 เมื่อปี พ.ศ. 2489 และครั้งที่สอง ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 19 เมื่อปี พ.ศ. 2490

ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 ซึ่งในการดำรงตำแหน่งวาระนี้ หลวงอังคณานุรักษ์ ได้มีส่วนร่วมในการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[7] จากนั้นในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน ได้มีการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 และมีการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 ซึ่งหลวงอังคณานุรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นด้วย[8]

ต่อมาย้ายมาลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

อ้างอิง

[แก้]
  1. ฮันเตอร์, เจ. เอ, อนุสรณ์จากหลวงอังคณานุรักษ์. พระนคร : แสงทองการพิมพ์, 2513
  2. "ทำเนียบเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
  3. ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-20. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
  5. คลองสมถวิล
  6. "วุฒิสภาชุดที่ 2" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-08. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
  7. วิทยายุทธ์แห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นไทย (1) จาก สยามรัฐ
  8. "ประกาศประธานวุฒิสภา เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.