อุทยานแห่งชาติพุเตย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติพุเตย
The sunrise seen from the top of Khao Thevada ("Angel Mountain"; 1,123 m, 3,684 ft)
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย
พิกัด14°54′32″N 99°27′36″E / 14.909°N 99.46°E / 14.909; 99.46พิกัดภูมิศาสตร์: 14°54′32″N 99°27′36″E / 14.909°N 99.46°E / 14.909; 99.46[1]
พื้นที่317.48 ตารางกิโลเมตร (198,420 ไร่)
จัดตั้ง30 กันยายน พ.ศ. 2541
ผู้เยี่ยมชม8,830 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สุสานเลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004

อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในท้องที่ของอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 85 ของประเทศไทย

พุเตย เป็นอุทยานแห่งชาติที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินเลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004 ประสบอุบัติเหตุตก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน[2][3]

แหล่งท่องเที่ยว[แก้]

ด้านธรรมชาติ[แก้]

  • ถ้ำนาคี หมีน้อย ห้อยระย้า และผาใหญ่
  • น้ำตกตะเพินคี่
  • น้ำตกตาดใหญ่
  • น้ำตกพุกระทิง
  • ป่าสนสองใบ
  • ผาใหญ่

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ส่วนที่สูงที่สุดเรียกว่า “ยอดเขาเทวดา” มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย มีป่าสนสองใบธรรมชาติที่สวยงามเหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร

เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมเป็นวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง วนอุทยานเตรียมการตะเพินคลี่ และป่าไม้ข้างเคียงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นกรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง ที่ 1224/2537 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 ให้นายพันเทพ อันตระกูล นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และจัดตั้งวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ จังหวัดสุพรรณบุรี และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่า ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา เกาะ และน้ำตก ที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่ตำบลองค์พระ ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลนิคมกระเสียว ตำบลวังยาว และตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 85 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ประกอบด้วยเขาผาแดง เขาพุเตย เขาพุระกำ เขาปลักหมู เขาขโมย เขาม่วงเฒ่า เขาปะโลง และเขาห้วยพลู โดยมียอดเขาเทวดา สูงสุด มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ ลำตะเพิน ห้วยเหล็กไหล ห้วยองคต ห้วยองค์พระ ห้วยท่าเดื่อ ห้วยขมิ้น ซึ่งไหลลงเขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

สภาพอากาศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติพุเตย อากาศค่อนข้างร้อนในช่วงต้นปี และมีฝนตกชุกตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะมีปริมาณน้ำบริเวณน้ำตกไหลมากกว่าปกติ

พรรณไม้และสัตว์ป่า[แก้]

สภาพป่าโดยทั่วไปยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ประกอบด้วย ป่าสนสองใบธรรมชาติ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังผสมป่าดิบแล้ง พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เหียง พลวง แดง ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง ไผ่ป่าต่าง ๆ สนสองใบ

สัตว์ป่ามีอยู่ชุกชุมมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าทั่วไปได้แก่ เสือ เก้ง ชะนี หมี นางอาย หรือลิงลม เม่น งูจงอาง งูเห่า หมูป่า อีเห็น ลิง ฯลฯ

การเดินทาง[แก้]

โดยรถยนต์

  • จากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง-ชัยนาท) จนกระทั่งถึงทางแยก เข้าสู่อำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 733 มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองอำเภอด่านช้าง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
  • จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เข้าสู่ตัวจังหวัดนครปฐม จากนั้นให้เลี้ยวขวาที่สามแยกมาลัยแมน เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 321 มุ่งหน้าสู่อำเภออู่ทอง ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร และจากอำเภออู่ทอง ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 เข้าสู่อำเภอด่านช้าง อีก 50 กิโลเมตร

แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม[แก้]

ป่าสนสองใบ อยู่บนเทือกเขาพุเตย ห่างจากบ้านป่าขีด และที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ประมาณ 7 กิโลเมตร ทางไปจะผ่านศาลเลาด้าห์ ซึ่งเครื่องบินโดยสารเลาด้าห์แอร์ตก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน มีต้นสนสองใบขนาด 2-3 คนโอบ อายุประมาณ 200-300 ปี ขึ้นอยู่ทั้งหมด 1,376 ต้น เมื่อขึ้นไปถึงบนป่าสนสองใบจะสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล มองเห็นเหมือนทะเลภูเขาซึ่งมีลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่าชมความงามของพฤกษชาติ

น้ำตกตะเพินคลี่ อยู่เลยไปจากน้ำตกพุกระทิง โดยใช้เส้นทางจากทุ่งมะกอกไปบ้านป่าผาก แล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาไปบ้านตะเพินคลี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงเก่าแก่ อยู่ติดเขตแนวกันชนมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นหมู่บ้านปลอดอาวุธทุกประเภท น้ำตกตะเพินคลี่ ห่างจากหมู่บ้านเล็กน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดมีน้ำตกไหลตลอดปี มองจากน้ำตกจะเห็นยอดเขาเทวดาสูง 1,123 เมตร น้ำตกแห่งนี้เคยมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่สำคัญของทางจังหวัดสุพรรณบุรี

ถ้ำนาคี หมีน้อย ห้อยระย้า และผาใหญ่ อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย (บ้านป่าขี้) ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 30 กิโลเมตร มีหินงอก หินย้อย ที่สวยงามตามธรรมชาติ เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่าอาทิเช่น หมี งูจงอาง เม่น อ้น สุนัขจิ้งจอก หมูป่า และค้างคาวมากมาย ถ้ำแห่งนี้อยู่ในเขาตู่ตี่ซึ่งมีต้นจันผา บัวสวรรค์ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

น้ำตกตาดใหญ่ จากทางแยกศาลเลาด้าห์ไปป่าสนสองใบธรรมชาติอีกด้านหนึ่งเดินทางเข้าไปตามป่าสมบูรณ์ ธรรมชาติเต็มไปด้วย ต้นไม้ สัตว์ป่าชุกชุม เดินตามร่องห้วย ไปทางเท้าเข้าหมู่บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็พบน้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นมาก มีพืชชั้นล่างพันธุ์ไม้ เฟิร์น มอส เกาะตาม รากไม้กิ่งไม้ดูเขียวขจี น้ำตกมีหลายชั้นใกล้กันแต่ละชั้นมีแอ่งหรืออ่างธรรมชาติไม่ลึก นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำตกหรือตั้งแคมป์ พักผ่อน ได้อย่างสบายใจและปลอดภัย

ผาใหญ่ เป็นหน้าผาสูงบริเวณเขาตู่ตี่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร บนเขายังมีถ้ำย้อยระย้า ซึ่งมีหินงอกหินย้อยงดงาม ยามกระทบแสงจะส่องประกายแวววาว การเดินทางขึ้นสู่ถ้ำลำบากพอสมควร บางช่วงต้องปีนไต่ไปตามไหล่เขา

น้ำตกพุกระทิง อยู่ที่บ้านคลองเหล็กไหลใกล้บ้านวังโหรา จะมีทางลูกรังเข้าไปถึงน้ำตกพุกระทิง จากอำเภอด่านช้างถึงน้ำตกพุกระทิง มีอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พต. 2 (พุกระทิง) ประจำอยู่พร้อมที่จะบริการให้ความสะดวก และรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการ น้ำตกพุกระทิงแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็สวยงามด้วยสายน้ำ ที่ไหลลดหลั่นลงมาถึง 9 ชั้น มีน้ำเฉพาะในหน้าฝน

อ้างอิง[แก้]

  1. "Phu Toei". protectedplanet.net. สืบค้นเมื่อ 28 October 2022.
  2. พุเตย : สำนักอุทยานแห่งชาติ
  3. Wallace, Charles P. "'All Evidence' in Thai Air Crash Points to Bomb." ลอสแอนเจลิสไทมส์. May 28, 1991. 2. Retrieved on February 15, 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]