อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน | |
---|---|
ต้นนางพญาเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน | |
ที่ตั้ง | อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ไทย |
พิกัด | 18°05′30″N 100°35′19″E / 18.09167°N 100.58861°E |
พื้นที่ | 364.67 ตารางกิโลเมตร (227,921.56 ไร่)[1] |
จัดตั้ง | 26 มีนาคม 2560 |
หน่วยราชการ | สำนักอุทยานแห่งชาติ |
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง นอกจากนี้ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานซึ่งจะบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปี
ภูมิประเทศ
[แก้]ลักษณะภูมิประเทศ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชันทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีแนวสันเขาของดอยแปรเมืองเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดแพร่กับจังหวัดน่าน ความสูงตั้งแต่ 120-1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำน่านเป็นแนวกันระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่าน มีลำธารและลำห้วยซึ่งเป็นต้นน้ำน่านอยู่หลายสาย เช่น ห้วยน้ำแหง ห้วยน้ำอูน ห้วยน้ำลี เป็นต้น ดอยที่สำคัญ เช่น ดอยจวงปราสาท สูง 1,193 เมตร ดอยแม่จอก สูง 1,469 เมตร ดอยกู่สถาน(ดอยธง) สูง 1,634 เมตร และดอยที่สูงที่สุดคือยอดดอยภูคา มีความสูง 1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ภูมิอากาศ
[แก้]ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเดือนพฤษภาคม 25 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเดือนมกราคม 2 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรป่าไม้
[แก้]อุทยานแห่งชาติขุนสถานสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น
- ป่าดิบเขา ขึ้นอยู่ตามสันเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เช่น บริเวณดอยขุนห้วยย่าทาย ดอยขุนห้วยหก ดอยขุนสถาน มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ก่อ สารภีดอย พะวา จำปีป่า เหมือด กำยาน เฟิน และ ปรงป่า และทีเฟริ์น เป็นต้น
- ป่าสนเขา ขึ้นกระจายตามยอดเขาที่ความสูงประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น บนดอยจวงปราสาท ดอยแปรเมือง มีอาณาบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก สนสองใบ สนสามใบ เหียง และ พะยอม เป็นต้น
- ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป สภาพป่ามีความชื้นสูง สภาพป่ารกทึบ มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างได้แก่ ยางปาย ยมหิน ม่วงก้อม ชมพูป่า เขืองแข้งม้า และ หนามเล็บเหยี่ยว เป็นต้น
- ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 250-1,000 เมตร ชนิดไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ ประดู่ ชิงชัน เก็ดแดง เก็ดดำ รกฟ้า มะเฟืองช้าง ตะแบกเลือด ปู่เจ้า มะกอกเกลื้อน ไผ่ไร่ ไผ่บง ไผ่ซาง เห็ดจั่น เห็ดมัน เห็ดซาง และ เห็ดขอน เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง พบตามสันเขาที่มีความสูงระหว่าง 700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พะยอม มะม่วงหัวแมงวัน กระโดน ติ้ว กระท่อมหมู ปรง เห็ดไข่ห่านเหลือง และเห็ดขมิ้นใหญ่ เป็นต้น
- ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป แต่เป็นบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ตะเคียนทอง ยมหอม เชียด เลือดม้า กระทุ่มบก ลำพูป่า เฟิน ผักกูด กีบแรด บอน เห็ดแดง และ เห็ดขมิ้นน้อย และยังพบกล้วยไม้นานาชนิด เช่น สิงโตสยามฯ เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
[แก้]สัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน ได้แก่ เสือโคร่ง หมีควาย กวางป่า เลียงผา หมูป่า ลิง อีเห็น หมูหริ่ง หมาหริ่ง กระต่ายป่า ตุ่น อ้น กระรอก นกขุนทอง นกแก้ว [[นกขมิ้น นกหัวขวาน นกแซงแซวหางบ่วง นกตะขาบทุ่ง แย้ ตะกวด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ สำหรับในบริเวณแหล่งน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำสิริกิตติ์ มีปลาอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียนแดง ปลาแรด ปลาชะโด ปลาไน ปลาช่อน ปลาบู่ทอง ปลาสลาก ปลาตะโกก ปลาหมอ และ ปลาสร้อย เป็นต้น
การเดินทาง
[แก้]- จากจังหวัดน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (น่าน - เวียงสา) ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1026 (เวียงสา - นาน้อย) ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร และจากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1216 (นาน้อย - ห้วยแก๊ต) ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร
- จากจังหวัดแพร่ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ประมาณ 66 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1216 ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร
- เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 จากจังหวัดน่านผ่านอำเภอเวียงสา มุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1216 ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน แสดงที่ตั้งและเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
แหล่งท่องเที่ยว
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติขุนสถาน
- เว็บไซต์อุทยานแห่งชาติขุนสถานของกรมอุทยาน[ลิงก์เสีย]
- สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เก็บถาวร 2013-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
- ขุนสถาน สำนักอุทยานแห่งชาติ