อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง

พิกัด: 11°37′33″N 99°36′50″E / 11.625839°N 99.613796°E / 11.625839; 99.613796
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง
ที่ตั้งอำเภอทับสะแกและอำเภอบางสะพาน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย
พิกัด11°37′33″N 99°36′50″E / 11.625839°N 99.613796°E / 11.625839; 99.613796
พื้นที่158.43
จัดตั้งพ.ศ. 2534[1]
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในอำเภอทับสะแกและอำเภอบางสะพานของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในประเทศไทย มีพื้นที่ 158.43 ตารางกิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติใน พ.ศ. 2534 เขตอุทยานเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ หย.1 (เขาล้าน) และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ หย.2 (ขาอ่อน)

ประวัติ[แก้]

ใน พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้ได้รับแจ้งว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับสะแก มีน้ำตก 2 แห่งซึ่งสมควรจัดตั้งเป็นวนอุทยาน จึงได้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ปจ.3 (ทับสะแก) ออกไปสำรวจ ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำตกขาอ่อน (ทับมอญ) และน้ำตกห้วยหินดาด เหมาะสมจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติจึงเสนอกรมป่าไม้เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมากองอุทยานแห่งชาติได้ให้หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกห้วยยางทำการสำรวจบริเวณน้ำตกทั้ง 2 แห่ง ต่อมาในช่วงกลางปี 2531 ได้มีข้อเสนอให้สำรวจพื้นที่หาดวนกรเพื่อผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย และใน พ.ศ. 2532 ได้ผนวกป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง (หาดวนกร) เข้ากับพื้นที่ทั้งหมดจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง[2] และใน พ.ศ. 2534 ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา[1]

อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

ภูมิประเทศ[แก้]

ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี โดยมียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด และยังเป็นสถานที่ที่พบปูเจ้าฟ้าอีกด้วย ป่าที่พบเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย และหินเป็นหินแกรนิตและหินลูกรัง นอกจากนี้ เขตอุทยานเป็นพื้นที่ให้กำเนิดต้นน้ำหลายสาย ได้แก่ คลองอ่างทอง คลองแก่ง คลองทับสะแก คลองจะกระ คลองไข่เน่า คลองตาเกล็ด คลองห้วยยาง คลองห้วยมา และคลองหินจวง[2]

จุดท่องเที่ยว[แก้]

  • น้ำตกเขาล้าน เป็นน้ำตก 5 ชั้น บางชั้นมีแอ่งน้ำที่สามารถลงเล่นได้
  • น้ำตกขาอ่อน (ทับมอญ) เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 9 ชั้น มีความสูงเกินกว่า 10 เมตร มีแอ่งน้ำตามชั้น สภาพทางเดินขึ้นน้ำตกค่อนข้างชุ่มชื้น
  • น้ำตกห้วยยาง เป็นน้ำตกที่ไหลลงจากยอดเขาหลวง มีทั้งหมด 7 ชั้น โดยในชั้นที่ 4 มีทางแยกขึ้นสู่จุดชมดวงอาทิตย์ขึ้น ส่วนในชั้นที่ 5 มองเห็นสายน้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 15 เมตร
  • ยอดเขาหลวง เป็นจุดที่สูงที่สุดในอุทยาน และเป็นแนวเขตธรรมชาติที่ใช้แบ่งเขตประเทศไทยและประเทศพม่า

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]