อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
พิกัด12°47′56″N 99°27′12″E / 12.79889°N 99.45333°E / 12.79889; 99.45333พิกัดภูมิศาสตร์: 12°47′56″N 99°27′12″E / 12.79889°N 99.45333°E / 12.79889; 99.45333
พื้นที่2,915 ตารางกิโลเมตร (1,822,000 ไร่)
จัดตั้ง13 มิถุนายน พ.ศ. 2524
ผู้เยี่ยมชม103,510 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์ธรรมชาติ: (x)
ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2564 (คณะกรรมการสมัยที่ 44)
เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจาน
เลขอ้างอิง1461
ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 อีกด้วย[1][2]

ความสำคัญ[แก้]

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม ทั้งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศ คือมีเนื้อที่ประมาณ 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,875 ไร่ 1.8 ล้านไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือยอดเขางะงันนิกยวงตอง อยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์เมืองไทย ประจำเดือนเมษายน โดยมีจุดเด่น คือ "ตระการตาลานผีเสื้อในป่าแก่งกระจาน"[3]

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

ประวัติ[แก้]

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 452/2523 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2523 ให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุด ที่ กส 0708/จช. 67 ลงวันที่ 15 เมษายน 2523 รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ตำบลน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ 1,548,750 ไร่ หรือ 2,478 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ

ต่อมาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2525 ถึงนายชวน หลีกภัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่าห้วยแร่ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย กรมป่าไม้ จึงให้ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายรุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0713(กจ) /78 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเนื้อที่ 273,125 ไร่ หรือ 437.00 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 194 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวมเนื้อที่ 1,821,875 ไร่ หรือ 2,915 ตารางกิโลเมตร

ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุดและจังหวัดเพชรบุรีได้ขอเพิกถอนพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เพรียง เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เนื้อที่ 158 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในท้องที่ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 187.16 ไร่ หรือ 0.30 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 กันยายน 2541 ทำให้ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงเหลือพื้นที่ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร[4]

ภูมิประเทศ[แก้]

ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ยอดสูงสุดได้แก่ เขางะงันนิกยวกตอง สูงประมาณ 1,513 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ลำห้วยสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แก่ ห้วยแม่ประโดน ห้วยบางกลอย ห้วยแม่เสลียง ห้วยหินเพิง ห้วยสาริกา ห้วยผาก ห้วยไผ่ และห้วยสามเขา ลำห้วยที่สำคัญของแม่น้ำปราณบุรีในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ห้วยคมกฤช ห้วยโสก แม่น้ำสัตว์ใหญ่ ห้วยป่าแดง และห้วยป่าเลา [5]

ภูมิอากาศ[แก้]

สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว ปริมาณน้ำฝนรวมรายปีระหว่าง 986-1,140 มิลลิเมตร ซึ่งในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว รวมทั้งให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัยปราศจากการรบกวนจากนักท่องเที่ยว [6]

พรรณไม้และสัตว์ป่า[แก้]

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีความโดดเด่น เป็นศูนย์รวมสภาพผืนป่าหลายแบบในบริเวณเดียวกัน คือ ผืนป่าภาคเหนือ ผืนป่าภาคตะวันออก และผืนป่า ภาคใต้ พันธุ์ไม้หายาก เช่น จำปีเพชร Magnolia mediocris (Dandy) Figlar โมลีสยาม Reevesia pubescens Mast. var. siamensis (Craib) Anthony แตงพะเนินทุ่ง และพบ กล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์ต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งการค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่พบครั้งแรกในโลกอยู่บ่อยครั้ง

นอกเหนือไปจากนี้ยังได้มีการสำรวจพบจระเข้น้ำจืด (En:Crocodylus Siamensis) ที่ยังมีชีวิตและมีการขยายพันธุ์เพิ่มประชากร อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งค้นพบและบันทึกภาพได้โดย แอล. บรู๊ซ แคคูลี นักถ่ายภาพชาวอเมริกัน หลังจากนั้นทางอุทยานจึงได้ปิดการล่องแพบริเวณต้นน้ำดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะไปรบกวนการขยายพันธุ์ของจระเข้ [7] แมวดาว Prionailurus bengalensis หนึ่งในแมวป่าและเสืออย่างน้อย ๖ ชนิดที่มีรายงานการพบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กระโถนพระราม (Sapria ram Banziger & B. Hansen) สามร้อยต่อใหญ่ Vanilla pilifera Holtum สมเสร็จ Tapirus indicus สัตว์ป่าหายาก มีเอกลักษณ์ตรงลำตัวสีขาวสลับดำ ปลายหูสีขาว จมูกยาวที่เคลื่อนไหวได้ ยังคงพบกระจายอยู่ในหลายบริเวณของป่าแก่งกระจาน[8] พบมากบนสันเขาในที่สูง นกเค้าหน้าผากขาว Otus sagittatus

อ้างอิง[แก้]

  1. แก่งกระจานขึ้น "มรดกโลก" ความหวังที่คนไทยรอคอย www.raorakpar.org/raorakparboard/index.php?topic=788.0
  2. แก่งกระจานขึ้น "มรดกโลก" ความหวังที่คนไทยรอคอย [18 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11514 มติชนรายวัน]
  3. http://www.1279thailand.com/
  4. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน http://www.relaxzy.com/province/phetchaburi/kaengkrajan.html เก็บถาวร 2009-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. ลักษณะภูมิประเทศ http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1028
  6. ลักษณะภูมิอากาศ http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1028
  7. ดันป่า ‘แก่งกระจาน’ มรดกโลก http://www.raorakpar.org/raorakparboard/index.php?topic=40.0 เก็บถาวร 2016-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. กลุ่มป่าแก่งกระจาน กับการผลักดันสู่การเป็นมรดกโลก http://samarn.multiply.com/journal/item/73[ลิงก์เสีย]


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]